วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2567

วาทกรรมการพัฒนาว่าด้วยการสหกรณ์ไทย: บทแรก ว่าด้วยความเข้าใจเบื้องต้น

 การสหกรณ์มีความสำคัญต่อสังคมไทยในหลากหลายมติ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ตลอดจนเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยไทย วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสหกรณ์ไทยส่วนใหญ่มุ่งพรรณนาให้เห็นถึงความเป็นมา จากจุดเริ่มต้นที่มีการศึกษาเรื่องการสหกรณ์ในปี พ.ศ. 2457 การก่อตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ในปี พ.ศ. 2459 และเรื่องราวระหว่างเส้นทางพัฒนาในแง่มุมหลากหลาย วรรณกรรมหลายเรื่องได้อธิบายให้เห็นถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อผลการพัฒนาสหกรณ์ไทยในแต่ละยุคสมัยของการพัฒนาสหกรณ์ 

การศึกษาการสหกรณ์ไทยด้วยแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ โดยการวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนา อาจช่วยให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างไปจากวรรณกรรมว่าด้วยการสหกรณ์ที่ผ่านมา โดยการวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทย จะช่วยให้เห็นถึงกระบวนการในการสร้างวาทกรรม การปฏิบัติการของวาทกรรม การต่อสู้ทางวาทกรรม ผลของวาทกรรม และกระบวนทัศน์ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาสหกรณ์ไทย ช่วยเผยให้เห็นถึงคุณค่าเชิงอุดมการณ์ และผลประโยชน์ในการพัฒนาการสหกรณ์ไทย อันจะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการพัฒนาการสหกรณ์ไทยในปัจจุบันและอนาคต 

คำถามสำคัญในวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทย คือ มีวาทกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการสหกรณ์ไทย กระบวนการในการสร้างวาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทยเป็นอย่างไร การปฏิบัติการของวาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทยเป็นอย่างไร มีการต่อสู้ทางวาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทยอย่างไรบ้าง ผลการต่อสู้ทางวาทกรรมเป็นอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาการสหกรณ์ไทย อุดมการณ์และผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาการสหกรณ์ไทยเป็นอย่างไร กระบวนทัศน์การพัฒนาการสหกรณ์ไทยที่ผ่านมามีความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของการสหกรณ์ไทยหรือไม่ อย่างไร และมีทางเลือกอื่นใดหรือไม่ 

การวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทย จะช่วยให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องและผู้คนทั่วไปที่สนใจเรื่องการสหกรณ์ มีความเข้าใจการสหกรณ์ไทยในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างข้อเสนอเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับกระบวนทัศน์การพัฒนา ที่สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขของการพัฒนาการสหกรณ์ไทยต่อไป 

ความเข้าใจเบื้องต้น 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ (Critical Postmodern Concept) 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ เกิดขึ้นจากการบูรณาการระหว่างทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Paradigm) ของสำนักคิด Frankfurt School โดยมี Jurgern Harbermas เป็นบุคลที่นำเสนอแนวคิดดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism) โดยมี Michel Foucault เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลสูงมากต่อการนำเสนอแนวคิดดังกล่าว แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาต่อจากทฤษฎีวิพากษ์ ลัทธิล่าอาณานิคม แนวคิดการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy) และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Boje, 2001 อ้างใน Koscianski, 2003) หลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์สร้างช่องว่างที่สำคัญระหว่างปัจเจกกับสังคม สนใจในการตรวจสอบทางจริยธรรมต่อสภาวะเชิงวัตถุในสังคมโลกหลังสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังตระหนักถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ในการตรวจสอบจริยธรรมเหล่านั้นด้วย (Koscianski, 2003) 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์เป็นแนวคิดที่มองความเป็นจริงว่าไม่ใช่สิ่งที่คงที่หรือมีอยู่แล้วอย่างกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยม (Positivism) แต่มองว่าความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดสร้างขึ้น เป็นอัตวิสัย (Subjective) แปรผันไปตามสภาพการณ์และบริบทของแต่ละปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งอาจส่องสะท้อนให้เห็นความจริงได้หลากหลายจากผู้คนที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเข้าถึงความจริงของแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์จึงต้องใช้ระบบคุณค่า การตีความ การรับรู้ ความรู้สึก ประสบการณ์ของบุคคลเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริง โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมพลังและปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการต่างๆ ด้วยวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ทางความคิด วิเคราะห์ระบบคุณค่า สัญลักษณ์ต่างๆ การส่องสะท้อนตนเอง เมื่อเผยให้เห็นความเป็นจริงต่างๆ แล้วจึงลงมือปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ชุมชน และสังคม ซึ่งการบูรณาการทฤษฎีวิพากษ์กับแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมให้กลายเป็นแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์นั้นมีรายละเอียดเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ วิธีการแสวงหาความรู้ และคุณค่าของความรู้ 

แนวคิดเรื่องวาทกรรม (Discourse) และการวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) 

แนวคิดเรื่องวาทกรรม และการวิเคราะห์วาทกรรม เป็นแนวคิดที่กลุ่มนักปรัชญาและกลุ่มนักคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ให้ความสำคัญว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่สามารถสะท้อนความเป็นจริงของสังคมได้ เนื่องจากนักคิดในกลุ่มนี้เชื่อว่าภาษามีความสำคัญที่สามารถกำหนดความเป็นไปของมนุษย์ได้ 

นักคิดชาวฝรั่งเศส Michel Foucault และนักคิดชาวเยอรมัน Jurgens Habermas ของสำนักแฟรงค์เฟิร์ต เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามีอิทธิพลมากต่อการเสนอทฤษฎีการสื่อสารในทวีปยุโรป Foucault  มีแนวคิดที่โดดเด่นมากใน 3 เรื่อง คือ 1) ความรู้เฉพาะยุค (Episteme) หรือการฟอร์มตัวของวาทกรรม (Discursive Formations) 2) ระเบียบวิธีศึกษาแนววงศาวิทยา (Archaeological – Genealogical Method of Inquiry) และ 3) แนวคิดเรื่องอำนาจ ส่วน Habermas มีความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเป็นวิธีการที่ไม่เพียงพอที่จะศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ เขาจึงเน้นการสื่อสารและการให้เหตุผล เขาเสนอทฤษฎีประสิทธิผลของการสื่อสาร (Communication Competence) หรือชื่อทางการว่า Universal Pragmatics (อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท, 2550: 224-226) 

จากการสรุปของ จันทนี เจริญศรี (2545) ประกอบกับการสรุปของ กาญจนา แก้วเทพ และสมสุข หินวิมาน (2551) พบว่าพื้นฐานของแนวคิดการวิเคราะห์วาทกรรม ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดวิภาษวิธี หรือ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอาเล็คติค (Dialectical Materialism) แนวคิดหรือกระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์ (Critical Sciences Paradigm) และแนวคิดการรื้อสร้าง (Deconstruction) ซึ่งการรื้อสร้าง (Deconstruction) คือวิธีการอ่านตัวบท (Text) ที่ทำให้ค้นพบความหมายอื่นๆ ที่ตัวบทกดทับเอาไว้ เป็นการหาความหมายหรือความหมายอื่นๆ (Polysemy) ซึ่งความหมายอื่นๆ หมายถึง ความคลุมเครือของคำหรือวลีที่มีความหมายมากกว่าสองอย่างขึ้นไปเมื่อใช้ในบริบทที่ต่างกัน วิธีการรื้อถอนจะแสวงหารายละเอียดว่าตัวบทได้บดบังเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของตัวมันเองเอาไว้โดยไม่รู้ตัว เงื่อนไขเหล่านี้แย้งกับตรรกะที่ตัวบทนั้นเสนอออกมา การวิเคราะห์หาจุดที่ระบบกดทับไว้พบแล้วดึงออกมาให้เห็นจะเป็นการรื้อสร้างของตัวบทนั้นๆ เผยให้เห็นความย้อนแย้งในโครงสร้างเดิม วิธีการรื้อสร้างคือ การรื้อให้เห็นความหมายที่ถูกกดไว้ (Ward, 1977: 211-212 อ้างใน สุภางค์ จันทวานิช, 2551: 234-235) 

วาทกรรม (Discourse) 

Discourse เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน โดยมาจากคำว่า Discursus เป็นคำนามที่ผันมาจากคำว่า Discurrere ซึ่งเป็นคำกิริยา แปลว่า การวิ่งไปมาระหว่างที่ตรงนี้กับที่ซึ่งไกลออกไป Discourse คือการพูด การคุย ที่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีความยาวของคำเหล่านั้นเท่าไร เป็นการพูดที่เป็นไปโดยธรรมชาติ มีเจตนาตรงไปตรงมาไม่มีนัยแอบแฝง ซึ่ง Discourse หรือวาทกรรมในที่นี่มีความหมายแตกต่างไปจากการสัมมนาหรือการพูดในที่ประชุมที่ต้องการผลจากการพูด (Conference) ในสังคมฝรั่งเศส วาทกรรม มีความหมายใกล้เคียงกับ การพูดคุย (Chat) การสนทนา (Chinwag) การสนทนาอย่างอิสระ (Free Conversation) การสื่อสารที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน (Improvisation) การแสดงออก (Expose) การเล่าเรื่อง (Narration) บทสรุป (Perolation) ภาษา (Langage) หรือคำสาบาน (Parole) วาทกรรมในความหมายต่างๆ เหล่าเป็นวาทกรรมในความหมายทางภาษาที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งห่างไกลมากจากการให้ความหมายของ Habermas เขาได้ให้ความหมายของวาทกรรมไว้ว่า วาทกรรมคือการสื่อสารที่อ้างถึงเกี่ยวกับเหตุผลที่ค้นพบ โดยการให้ความหมายดังกล่าวของ Habermas ใกล้เคียงกับการให้ความหมายของ Foucault ที่กล่าวว่าวาทกรรมเป็นสิ่งที่ออกมาจากความรู้สึกต่อต้านแข็งขืนต่อกฎระเบียบต่างๆ เป็นสิ่งที่อยู่ท่ามกลางระหว่างรูปแบบของภาษาศาสตร์และเหตุผลส่วนตัวของบุคคลในการใช้ภาษา (Timothy J. Armstrong, 1992: 99-100) วาทกรรม จึงเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการสร้างความหมาย เป็นภาษาชนิดหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารลึกกว่าภาษาโดยทั่วไป วาทกรรมใช้สื่อความหมายเชิงสัญญะออกมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอิทธิพลต่อทัศนคติ วิธีคิด ของผู้คนในสังคม 

การวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) 

การวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) คือการพยายามศึกษาและสืบค้นถึงกระบวนการ ขั้นตอน ลำดับเหตุการณ์ และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในการสร้างเอกลักษณ์และความหมายให้กับสรรพสิ่งที่ห่อหุ้มเราอยู่ในสังคมในรูปแบบของวาทกรรมและภาคปฏิบัติการของวาทกรรม (Discursive Practice) ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำ (Hegemony) ในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ อย่างไรบ้าง มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคล สถาบัน สถานที่ เหตุการณ์อะไรบ้าง และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้าง ตลอดจนรวมไปถึงการเก็บกด ปิดกั้น สิ่งเหล่านี้ของวาทกรรมมีอย่างไร หัวใจของวิเคราะห์วาทกรรมอยู่ที่การพิจารณาค้นหาว่าด้วยวิธีการหรือกระบวนการใดที่สิ่งต่างๆ ในสังคมถูกทำให้กลายเป็นวัตถุเพื่อการศึกษาหรือการพูดถึงของวาทกรรม (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2551: 98) 

วิธีการวิเคราะห์วาทกรรมตามแนวคิดของ Foucalt มี 2 วิธี ได้แก่ วิธีการ Archaeology และ Genealogy ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ขุดค้นและแกะรอยไปตามช่วงชั้นและเครือข่ายของบริบททางประวัติศาสตร์เพื่อหาความจริงที่ถูกปิดบังอำพรางด้วยอำนาจแห่งวาทกรรม (เยาวนุช เวศร์ภาดา , 2545: 19) 

Archaeology เยาวนุช เวศร์ภาดา (2545) สรุปไว้ว่า เครื่องมือวิเคราะห์วาทกรรมที่เรียกว่า Archaeology เป็นวิธีการวิเคราะห์ปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นวาทกรรมหนึ่งๆ ทีละชิ้นทีละส่วนที่มาประมวลกันเข้าแล้วเกิดเป็นวาทกรรมใหม่ๆ เท่ากับเป็นการทำความเข้าใจเงื่อนไขกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดให้วาทกรรมดำรงอยู่ วิธีการวิเคราะห์วาทกรรมแบบ Archaeology จึงเป็นวิธีที่ช่วยเผยให้เห็นเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นวาทกรรมนั้นๆ ในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละบริบท ดังนั้นประวัติศาสตร์ในมุมมองของ Foucalt จึงไม่ใช่เรื่องของกระแสเวลาที่ก้าวต่อเนื่อง แต่เป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ใหม่ของกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายในวาทกรรมต่างๆ ขณะที่ ธีรยุทธ บุญมี (2551) สรุปไว้ว่า Foucault กล่าวถึง การวิเคราะห์วาทกรรมในแนวโบราณคดีทางความรู้ (Archeology of Knowledge) แทนที่จะใช้แนวประวัติศาสตร์ทางความคิด (History of Idea) ว่าแนวประวัติศาสตร์ความคิดปกติมักมองพัฒนาการความคิดอย่างเป็นของสูง เป็นพัฒนาการของสิ่งดีงาม หรือเป็นเหตุเป็นผลมากเกินไป ประวัติศาสตร์ความคิดปกติมองพัฒนาการความคิดเป็นความต่อเนื่อง เป็นเส้นทางเดียวที่ละเอียดอ่อนหรือก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ มากเกินไป ไม่มองเป็นการก้าวกระโดดที่เกิดจากความหลากหลายเหตุปัจจัยที่ต้องการการวิเคราะห์พิจารณาอย่างถี่ถ้วนในช่วงประวัติศาสตร์หนึ่งๆ  การศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดแนวปกติ ความผิดพลาดที่แฝงฝังอยู่ นั่นคือ ภายใต้ความคิดหนึ่งยังมีสิ่งหรือความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง การค้นหาสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังต้องทำผ่านภาษาหรือวาทกรรม การศึกษาแนวนี้จึงเป็นการขยายตัวของวาทกรรมต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ส่วนแนวทาง Archeology ต้องการศึกษาวาทกรรมแบบให้จำกัดอยู่ในตัวของมันเองให้มากที่สุด 

Genealogy ธีรยุทธ บุญมี (2551) สรุปว่า Genealogy เป็นวิธีวิทยาในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่ง Foucault พัฒนาต่อมาจากวิธีแบบ Archeology ซึ่งถ้ามองว่า Archeology คือการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ความคิดในรูปแบบใหม่ ก็อาจมองได้ว่า Genealogy เป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ซึ่งกว้างกว่าประวัติศาสตร์ของความคิด Genealogy สืบเนื่องวิธีคิดแบบ Archeology คือไม่มองว่าสิ่งใดเป็นแก่นแท้ เป็นสิ่งสากลแน่นอนคงตัว หรือมีสิ่งที่เป็นประจักษ์ชัดเจนอยู่แล้ว แต่มองว่าทุกประเด็นแนวคิดที่เราศึกษาถูกสร้างขึ้น สังเคราะห์ขึ้น โดยวาทกรรมและอำนาจ ทั้งยังมีลักษณะไม่ต่อเนื่อง แต่มีลักษณะกลายรูป แปรรูปด้วย การสรุปดังกล่าวสอดคล้องกับ เยาวนุช เวศร์ภาดา (2545) สรุปว่า Genealogy เป็นวิธีแก้ไขจุดอ่อนของ Archaeology ที่ให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์รูปแบบ ทฤษฎี และระบบกฎเกณฑ์ จนละเลยอำนาจบางอย่างที่ถูกผลิตควบคู่กันไปกับวาทกรรมนั้นๆ นั่นคือ การสถาปนาอำนาจแห่งความจริง หรือที่เรียกว่า ระบอบของสัจจะ (Regime of Truth) ที่ค้ำจุนวาทกรรมนั้นๆ ให้ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นสัจจะ Genealogy มุ่งเผยให้เห็นว่าวาทกรรมที่ได้รับการสถาปนาให้กลายเป็นสัจจะนั้น มีกลวิธีในการกำราบ ปราบปราม ปิดกั้นวาทกรรมย่อยอื่นๆ ไม่ให้ปรากฏตัวอย่างไร ขณะเดียวกันวาทกรรมย่อยต่างๆ ก็พยายามดิ้นรนที่จะเผยตัวเองหรือต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ในการสถาปนาวาทกรรมของตนขึ้นมาบ้าง 

โดยสรุปแล้วการวิเคราะห์วาทกรรมคือ การพยายามจะที่เปิดเผยให้เห็นถึงกระบวนการในการสร้างวาทกรรมและผลของการปฏิบัติการของวาทกรรมว่ามีความเป็นมาอย่างไร เกี่ยวข้องกับใครและอะไรบ้าง และสร้างผลกระทบอย่างไร โดยมีวิธีการวิเคราะห์วาทกรรมสองวิธีตามแนวคิดของ Foucalt ได้แก่ วิธีการ Archaeology และ Genealogy การวิเคราะห์วาทกรรมมุ่งอธิบายปรากฏการทางสังคม โดยเชื่อว่าปรากฏการทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งถูกสร้างขึ้นมาจากกระบวนการทางภาษาที่มีจุดมุ่งหมายให้วาทกรรมที่ถูกสร้างมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนในสังคม โดยเฉพาะทางด้านความเชื่อ ซึ่งมักเรียกกันว่า วาทกรรมหลัก” (Dominant Discourse) หรือที่ Foucalt เรียกว่า “Episteme” การวิเคราะห์วาทกรรมดังกล่าวจะเผยให้เห็นวัตถุประสงค์ของผู้สร้างวาทกรรม และอาจสร้างวาทกรรมอีกชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้วาทกรรมหลัก โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ความคิดของผู้คน ไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวาทกรรมหลัก 

บทบาทและความสำคัญของการวิเคราะห์วาทกรรม 

จากความหมายของวาทกรรม และการวิเคราะห์วาทกรรมดังที่กล่าวมา ทำให้เห็นว่าการการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์ด้วยการวิเคราะห์วาทกรรมนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ซ่อนอยู่ในกระบวนทัศน์ต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนทัศน์การพัฒนา ซึ่งสามารถสรุปบทบาทและความสำคัญของการวิเคราะห์วาทกรรม โดยสรุปจากงานเขียนของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2549) ได้ดังต่อไปนี้ 

1) ช่วยให้มองเห็นประเด็นปัญหาอื่นที่ไม่ได้พูดถึงกันหรือสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นอื่นซึ่งหมายถึงเอกลักษณ์หรือตัวตนของสิ่งนั้นๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพื่อนำไปสู่การพูดถึงสิ่งที่ไม่ได้มีการพูดถึง ที่เป็นผลมาจากระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่วาทกรรมนั้นๆ กำหนดขึ้น 

2) ทำให้เห็นถึงฐานของการเป็นวาทกรรมของสิ่งนั้น การวิเคราะห์วาทกรรมจึงเป็นความพยายามเผยให้เห็นถึงฐานะการเป็นวาทกรรมในเรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องของการพัฒนาแห่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสร้างเอกลักษณ์หรือตัวตนชนิดหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า ความด้อยพัฒนาในฐานะที่เป็นความเป็นอื่นหรือคู่ตรงข้ามของ การพัฒนาด้วยการผูกขาดรูปแบบ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงสังคมว่ามีเพียงแบบเดียว คือ แบบของสังคมตะวันตก และทำหน้าที่กดทับ ปิดกั้น วัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาพื้นบ้านในประเทศโลกที่สามไว้ ภายใต้เอกลักษณ์หรือตัวตนที่เรียกว่า ความด้อยพัฒนา 

3) สามารถทำให้มนุษย์ฉีกออกไปจากกระแสหลักหรือวาทกรรมหลัก เพื่อแสวงหารูปแบบอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องผูกยึดติดกับเรื่องที่ถูกครอบงำหรือกำลังจะถูกครอบงำ 

4) เป็นการเปิดโปงเผยให้เห็นธาตุแท้ หรือฐานะความเป็นวาทกรรมของสรรพสิ่งในสังคม โดยแสดงให้เห็นว่าวาทกรรมคือระบบของอำนาจ ระบบของการผลิตหรือสร้าง และการเก็บกดปิดกั้นที่ยิ่งใหญ่ วาทกรรมเป็นเรื่องของระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ เงื่อนไขและความเป็นไปได้ของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง วาทกรรมพยายามปิดบังฐานะของตัวเองในรูปของความรู้ ความจริง ความเป็นธรรมชาติ หรือความเป็นปกติธรรมดา เพื่อช่วงชิงการนำในการสร้างหรือกำหนดกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกรอบในการพูด เขียนถึง อธิบาย ทำความเข้าใจ ตลอดทั้งการตัดสินสิ่งนั้นๆ  

5) การวิเคราะห์วาทกรรมช่วยให้เรามอง ความรู้ในฐานะที่เป็นทัศนะหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงสูงสุดหรือสัจธรรม แต่เป็นเพียงทัศนะหนึ่งว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่มีความเป็นสากลหรือเป็นธรรมชาติแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่การที่วาทกรรมชุดหนึ่งสามารถกลายสภาพเป็น ความรู้และ ความจริงได้นั้น ก็เพราะมีกระบวนการเฉพาะบางอย่างทำให้กลายเป็นเช่นนั้น ดังนั้นการวิเคราะห์วาทกรรมจึงทำให้มองเห็นถึงอำนาจ ความรุนแรง มากกว่าเรื่องของข้อเท็จจริง 

6) การวิเคราะห์วาทกรรมช่วยให้เราเห็นว่า งานเขียนทางวิชาการต่างๆ มิได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางหรือเป็นวิทยาศาสตร์อย่างที่มักนิยมเข้าใจกัน แต่งานเขียนเหล่านี้ทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง คือ ประการแรก สร้างและตรึงเอกลักษณ์ภาพลักษณ์ รวมตลอดถึงความหมายของสิ่งที่เป็นวาทกรรมชุดหนึ่งขึ้นมา  ดังนั้น การวิเคราะห์วาทกรรมจึงช่วยให้เราเห็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าธรรมดาสามัญ และไม่มีปัญหา อย่างหนังสือ ตำรา หรืองานเขียนทางวิชาการ รวมถึงตัวนักวิชาการเองในฐานะที่เป็นผู้เขียนผู้แต่งนั้น จริงๆ แล้วมีปัญหาและความยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก ประการที่สอง ในฐานะที่เป็นวาทกรรมชุดหนึ่ง ย่อมมิใช่เรื่องของความรู้ เทคนิค วิทยาการ ความจริงล้วนๆ อย่างที่นิยมเข้าใจกัน แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำในการสร้าง และกำหนดกฎเกณฑ์ว่าอะไรเป็นและอะไรไม่เป็น ในรูปของวาทกรรม และการทำให้วาทกรรมที่สร้างขึ้นมาเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากกว่าเป็นมันจะเป็นจริงโดยตัวของมันเอง ในทำนองเดียวกัน การวิเคราะห์วาทกรรมทำให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดชัดแจ้งหรือชัดเจนในตัวของมันเอง มีแต่ถูกทำให้ชัดแจ้งผ่านมาตรฐาน กฎเกณฑ์ เงื่อนไขบางชนิด การวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า เหตุการณ์และ การทำให้เป็นประเด็นปัญหาทำให้เห็นว่า สรรพสิ่งในสังคมเป็นเรื่องของการสร้าง หรือสถาปนาขึ้นของวาทกรรมมากกว่าเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วล้วนแต่เป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากเรื่องของอำนาจในการสร้างความรู้ และความจริง 

7) การวิเคราะห์วาทกรรมช่วยให้เราสามารถสงสัย ตั้งคำถาม และตรวจสอบบรรดาสรรพสิ่งในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายสภาพเป็น ประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างวิพากษ์รุนแรง มากกว่าเป็นสิ่งที่คุ้นเคย เคยชิน และยอมรับโดยปราศจากการตั้งคำถาม ตรวจสอบ ดังนั้น สำหรับการวิเคราะห์วาทกรรมแล้วไม่มีสิ่งใดที่ได้รับการยกเว้นหรือยอมรับโดยปราศจากการตั้งคำถามหรือตรวจสอบ ขณะเดียวกันก็ไม่มองสรรพสิ่งในฐานะที่หยุดนิ่ง เป็นเอกภาพ แน่นอน และตายตัว แต่ลื่นไหลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นกับการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำในการนิยาม สร้างความหมายให้กับสิ่งนั้นๆ 

8) การวิเคราะห์วาทกรรมเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับการต่อสู้ในสังคมและระหว่างสังคมให้กว้างไกลไปจากเดิมที่วนเวียนอยู่แต่เรื่องของการเมืองแบบสถาบัน เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเพิ่มพื้นที่การต่อสู้ในเรื่องของวาทกรรมเข้าไป 

วาทกรรมกับ อำนาจ ความรู้ ความจริง อุดมการณ์ และผลประโยชน์ 

วาทกรรมมีความเชื่อมโยงกับ อำนาจ ความรู้ ความจริง อัตลักษณ์ และผลประโยชน์ เพราะภาษาและวาทกรรมที่ถูกเลือกมาใช้ในการสื่อสารล้วนแฝงไว้ด้วยความคิดบางประการของสังคมผ่านผู้ใช้ภาษา และผ่านการกระทำทางสังคมที่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อัตลักษณ์ และอุดมการณ์ทางสังคมบางประการย่อมแทรกและทอดตัวอยู่ท่ามกลางภาษาที่ถูกใช้เหล่านั้น การศึกษาตีความข้อมูลทางภาษาในเชิงวาทกรรมย่อมทำให้เห็นอำนาจ อัตลักษณ์และอุดมการณ์ที่แฝงอยู่เบื้องหลัง (กฤษดาวรรณ หงศ์ดารมภ์ และ จันทิมา เอียมานนท์, 2549: 10) 

วาทกรรมการพัฒนา (Development Discourse) 

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2549) อธิบายไว้ว่า การพัฒนา (Development) เป็นประดิษฐกรรมทางประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่ได้รับความนิยมกันอย่างรวดเร็วและแพร่หลายในสังคมยุคปัจจุบัน การพัฒนาถูกสร้างขึ้นมาโดยประเทศมหาอำนาจตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหมายของการพัฒนาค่อนข้างมีความเป็นพลวัตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ในยุคเริ่มแรกของการพัฒนานั้น การพัฒนาหมายถึงการทำให้ทันสมัยอย่างสังคมตะวันตกโดยให้น้ำหนักไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาการเมือง ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย” (Modernization Theory) เมื่อเวลาผ่านมาจนผลของการพัฒนาได้ปรากฏให้ผู้คนในสังคมได้เห็นชัดว่าการพัฒนาได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เทียมกันในสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ผู้คนในสังคมจำนวนมากยากจนลง แต่ผู้คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา จนมีที่มาของคำว่า ด้อยพัฒนา จึงทำให้เริ่มมีผู้คนในแวดวงการพัฒนาเริ่มออกมาต่อต้านแนวคิดการพัฒนาตามแบบของทฤษฎีความทันสมัย ก่อให้เกิดการต่อสู้กันทั้งทางแนวคิด ทฤษฎี และวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามากมายในปัจจุบัน เช่น การก่อเกิดของทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) ทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) และแนวความคิดว่าด้วยความด้อยพัฒนาแนวมาร์กซิสต์ใหม่ (Neo-Marxist) ทั้งหลายเป็นต้น

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ...