แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ แผนกลยุทธ์สหกรณ์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ แผนกลยุทธ์สหกรณ์ แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566

ความสำคัญของแผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ในปัจจุบัน

 1. แผนกลยุทธ์สหกรณ์และแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ คืออะไร

1.1 แผนกลยุทธ์สหกรณ์ เป็นแผนระยะกลาง (3 - 5 ปี) หรือแผนระยะยาวของสหกรณ์ (มากกว่า 5 ปี) จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานของสหกรณ์ในอนาคต มีการกำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมของสหกรณ์ มีการทบทวนนโยบายการบริหารงานสหกรณ์ กำหนดแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดนโยบาย แผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ซึ่งแผนกลยุทธ์สหกรณ์ต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ นำไปดำเนินการโดยคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ โดยการมีส่วนร่วมของสมาชิก มีการติดตาม ประเมินผล และทบทวนแผนงาน โดยคณะกรรมการดำเนินการ ฝ่ายจัดการ และที่ประชุมใหญ่

1.2 แผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ ก็จัดเป็นแผนกลยุทธ์สหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน แต่ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงหรือฟื้นฟูการดำเนินงานของสหกรณ์ที่อยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่สหกรณ์มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมเกินกึ่งหนึ่งของทุนเรือนหุ้น ซึ่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 (4) ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่ ออกคำสั่งให้มีการตรวจสอบ หรือไต่สวนเกี่ยวกับการจัดตั้งการดำเนินงาน หรือฐานะการเงินของสหกรณ์ หรือให้จัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ มาตรา 55 วรรคแรกกำหนดว่า

“…ในกรณีที่สหกรณ์ขาดทุนเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว ต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิชักช้าแต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่สหกรณ์ทราบ

ส่วนระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ พ.ศ. 2561 ข้อ 7.2.1 วรรคสองกำหนดว่า

“…กรณีสหกรณ์มีผลขาดทุนสะสมตามงบการเงินปีปัจจุบัน ให้พิจารณาจากทุนเรือนหุ้นหลังหักผลขาดทุนสะสมแล้ว กรณีสหกรณ์ใดมีผลขาดทุนสะสมเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้น ในการกำหนดวงเงินการกู้ยืมจะต้องเสนอแผนฟื้นฟูการดำเนินงานของสหกรณ์ให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาเห็นชอบด้วย และในการพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินการกู้ยืม ให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูการดำเนินงานของสหกรณ์ แต่ต้องไม่เกินกว่าหลักเกณฑ์กำหนดค่าสัมประสิทธิ์ในการคำนวณวงเงินการกู้ยืมของสหกรณ์ (รายละเอียด ข้อ 7.2.2) หรือเท่ากับที่สหกรณ์ก่อหนี้ภาระผูกพันไว้แล้ว

และระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 ข้อ 16 (2) กำหนดว่า

กรณีสหกรณ์ผู้รับฝากมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมเกินกึ่งหนึ่งของทุนเรือนหุ้นและงบแสดงฐานะการเงินมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า สหกรณ์ผู้รับฝากขาดสภาพคล่องไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายคืนเงินฝากได้ และไม่ได้ดำเนินการจัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานแต่อย่างใดให้สหกรณ์ผู้ฝากบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญเต็มจำนวนของเงินฝากนั้น แต่หากสหกรณ์ผู้รับฝากอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ให้สหกรณ์ผู้ฝากทยอยบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนปรับปรุงการดำเนินงานนั้น ถ้าสหกรณ์ผู้รับฝากมีฐานะการเงินดีขึ้นโดยงบแสดงฐานะการเงินของสหกรณ์ผู้รับฝากไม่ปรากฎผลขาดทุนสะสมแล้ว หรือสหกรณ์ผู้ฝากได้รับเงินฝากคืน ให้สหกรณ์ผู้ฝากระงับการบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญ…”

2. แผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ มีความสำคัญอย่างไรในปัจจุบันและอนาคต

2.1 แผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ มีความสัมพันธ์และความสำคัญต่อแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้วยตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 กำหนดให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งในปี 2570 โดยสหกรณ์ภาคการเกษตรชั้น 1 และ ชั้น 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยมีสหกรณ์ระดับชั้น 1 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 สหกรณ์นอกภาคการเกษตรชั้น 1 และ ชั้น 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 โดยมีสหกรณ์ระดับชั้น 1 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 45 กำหนดให้สหกรณ์ที่มีสมรรถนะสูง ในปี 2570 โดยสหกรณ์ภาคการเกษตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 สหกรณ์นอกภาคการเกษตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 กำหนดให้สหกรณ์ที่สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรมให้บริการสมาชิก มีจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 10 ต่อปี กำหนดให้สหกรณ์ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในปี 2570 และกำหนดให้ความพึงพอใจของสมาชิกต่อการให้บริการของสหกรณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสมาชิก มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ในปี 2570

2.2 แผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ มีความสัมพันธ์และความสำคัญต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้วยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีวัตถุประสงค์เพื่อ “พลิกโฉมประเทศไทยสู่ สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ให้ความสำคัญกับบทบาทของสหกรณ์ โดยกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายการพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ตามหมุดหมายการพัฒนา ดังนี้หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง เป้าหมายที่ 3  เพิ่มศักยภาพและบทบาทของผู้ประกอบการเกษตรในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจของห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับส่วนแบ่งประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ตัวชี้วัดที่ 3.1 จำนวนสหกรณ์ภาคเกษตรในชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์เพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 18 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตัวชี้วัดที่ 3.2 จำนวนกลุ่มเกษตรกรในชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 6 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

2.3 กฎหมายกำหนดให้สหกรณ์แผนกลยุทธ์สหกรณ์ กฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ข้อ 5 ให้คณะกรรมการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ (สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป) และชุมนุมสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ (1) กำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมของสหกรณ์เพื่อเสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ รวมทั้งกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

3. สถานการณ์การจัดทำแผนกลยุทธ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ในปัจจุบัน สหกรณ์ขนาดใหญ่ตามกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ต้องจัดทำแผนกลยุทธ์ของสหกรณ์ตาม ข้อ 5 (1) ส่วนสหกรณ์ที่มีสถานะทางการเงินมีผลขาดทุนสะสมเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้น ต้องดำเนินการจัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ ตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 (4) และเรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามมาตรา 55ส่วนสหกรณ์ที่มีผลการดำเนินงานปกติทั่วไป ที่ไม่ใช่สหกรณ์ขนาดใหญ่ตามกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2564 และไม่เป็นสหกรณ์ที่มีสถานะทางการเงินมีผลขาดทุนสะสมเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้น ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการจัดทำแผนกลยุทธ์สหกรณ์

4. แผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์กับการจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์

การจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ตามระดับชั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพของสหกรณ์ให้สอดคล้องในแต่ละระดับชั้น และเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของสหกรณ์ โดยการจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ตามระดับชั้นได้จำแนกสหกรณ์เป็น 4 ระดับชั้น ได้แก่

ชั้นที่ 1 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการให้บริการสมาชิกได้มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70 มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับมาตรฐานขึ้นไป มีชั้นคุณภาพการควบคุมภายในดีถึงดีมาก ไม่มีข้อบกพร่องจากการดำเนินงาน หรือมีข้อบกพร่องแต่ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จสมบูรณ์

ชั้นที่ 2 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการให้บริการสมาชิกได้ระหว่างร้อยละ 60 – 69 มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน มีชั้นคุณภาพการควบคุมภายในระดับพอใช้ มีข้อบกพร่องซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จแต่ต้องติดตามหรืออยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข

ชั้นที่ 3 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการให้บริการสมาชิกได้ต่ำกว่าร้อยละ 60 มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับต้องปรับปรุง มีชั้นคุณภาพภายในต้องปรับปรุงหรือไม่มีระบบควบคุมภายใน เป็นสหกรณ์ที่เกิดข้อบกพร่อง และยังไม่เริ่มดำเนินการแก้ไข

ชั้นที่ 4 เป็นสหกรณ์ที่นายทะเบียนสั่งเลิกกิจการแล้ว อยู่ในระหว่างการชำระบัญชี

การประเมินผลการดำเนินงานตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่

1) ความสามารถในการให้บริการสมาชิก จะเป็นการประเมินว่าสหกรณ์มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้บริการแก่สมาชิกในด้านต่าง ๆ เช่น การรับฝากเงิน การให้เงินกู้ การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย การแปรรูปผลผลิต และการรวบรวมผลผลิต

2) ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เป็นการประเมินจากอัตราส่วนทางการเงินของสหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจและการบริหารงานของสหกรณ์ โดยพิจารณาจาก (1) อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (2) อัตราผลตอบแทนต่อทุน (3) อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (4) อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (5) อัตราค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (6) อัตราส่วนทุนสำรองต่อสินทรัพย์ และ (7) อัตราส่วนหนี้ระยะสั้นที่ชำระได้ตามกำหนด

3) ประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร จะประเมินจากชั้นคุณภาพของการควบคุมภายในของสหกรณ์

4) ประสิทธิภาพของการบริหารงาน จะประเมินถึงการบริหารงานของคณะกรรมการ โดยพิจารณาจากการเกิดข้อบกพร่องในการบริหารงานของสหกรณ์ประกอบด้วย (1) การเกิดการทุจริต และ (2) การเกิดข้อบกพร่อง จำแนกประเภทได้ดังนี้ (1) ข้อบกพร่องทางบัญชี (2) ข้อบกพร่องทางการเงิน (3) การดำเนินการนอกกรอบวัตถุประสงค์ (4) พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย และ (5) ข้อบกพร่องอื่น ๆ

ดังนั้น แผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์จะช่วยให้การจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์มีความเป็นไปได้มากขึ้นในการยกระดับชั้นสหกรณ์ไปสู่สหกรณ์ชั้น 1 หรือยกระดับชั้นสหกรณ์ให้สูงขึ้น เพราะแผนกลยุทธ์สหกรณ์จะช่วยกำหนดนโยบาย แผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ให้สอดคล้องกับการประเมินผลการดำเนินงานตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์

5. สรุป สหกรณ์ทุกขนาดทุกประเภทที่มีสถานะทางการเงินปกติควรให้ความสำคัญต่อการจัดทำแผนกลยุทธ์สหกรณ์ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการและการดำเนินงานของสหกรณ์ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมของสหกรณ์ มีส่วนร่วมในการทบทวนนโยบายการบริหารงานสหกรณ์ มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ มีส่วนร่วมในการอนุมัติแผนกลยุทธ์สหกรณ์ในที่ประชุมใหญ่ มีการนำแผนกลยุทธ์สหกรณ์ไปดำเนินการโดยคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ โดยการมีส่วนร่วมของสมาชิก ตลอดจนมีการติดตาม ประเมินผล และทบทวนแผนงาน โดยคณะกรรมการดำเนินการ ฝ่ายจัดการ และที่ประชุมใหญ่

การจัดทำแผนกลยุทธ์สหกรณ์จะช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ให้บรรลุเป้าหมายของแผนดังกล่าว และประการสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดแผนกลยุทธ์สหกรณ์จะช่วยให้สหกรณ์มีนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมของสหกรณ์ อันจะนําไปสู่การกินดี อยู่ดี ของสมาชิก สร้างความเป็นธรรมและสันติสุขในสังคม

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ...