วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2567

หน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์

 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

มาตรา 42 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อการป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด

มาตรา 75 วรรคสาม รัฐพึงส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ และกิจการวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของประชาชนและชมชน

มาตรา 258 ฉ. ด้านเศรษฐกิจ (4) สร้างกลไกเพื่อส่งเสริมสหกรณ์และผู้ประกอบการแต่ละขนาดให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคมและวิสาหกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างกลไกเพิ่มโอกาสในการทำงานและการประกอบอาชีพของประชาชน 

2. พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 16 ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) รับจดทะเบียน ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ และกำกับดูแลสหกรณ์ให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น

(9) กระทำการอื่นใดตามที่ พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย บรรดาอำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์ในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติหรือการดำเนินการอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนสหกรณ์อาจมอบอำนาจให้รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายให้ปฏิบัติการแทนได้ 

3. กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2557

ข้อ 2 ให้กรมส่งสริมสหกรณ์ มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริม เผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง โดยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ เพิ่มขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ และมีการเชื่อมโยงธุรกิจสหกรณ์สู่ระดับสากล เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ กฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

(2) ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการตามที่นายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายในการรับจดทะเบียน ส่งเสริม แนะนำ กำกับ และดูแลสหกรณ์ รวมทั้งอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

(3) ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และคุ้มครองระบบสหกรณ์

(4) ส่งเสริม เผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป

(5) ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสหกรณ์ การบริหารจัดการองค์กรและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

(6) ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ให้กับคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ

(7) ศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของตลาดสินค้าสหกรณ์และสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างสหกรณ์กับสหกรณ์ สหกรณ์กับเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

( 8 ) ส่งเสริมและสนับสนุนด้านเงินทุน ข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยี และทรัพยากรอื่น ๆ ที่เหมาะสมในการดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร

(9) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย 

4. ระเบียบกรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ พ.ศ. 2562

ข้อ 6

"เจ้าหน้าที่" หมายความว่า ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง หรือตำแหน่งอื่นใดในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์

"สหกรณ์" หมายรวมถึง ชุมนุมสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร

ข้อ 7 เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมสหกรณ์ ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องอำนวยความสะดวก สนับสนุน ช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษา ให้การศึกษา และฝึกอบรม แก่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ภายใต้อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์

การปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคแรก ห้ามมิให้เข้าเป็นผู้กระทำการ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการเข้าไปใช้อำนาจกระทำการของสหกรณ์ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เปิดโอกาสให้คณะกรรมการดำเนินการผู้แทนสหกรณ์ หรือผู้จัดการสหกรณ์ มีอิสระในการใช้ดุลพินิจได้ตามความเหมาะสม ภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ และตามบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อบังคับของสหกรณ์ หรือระเบียบของสหกรณ์ 

5. คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ 2/2562 เรื่อง มอบอำนาจให้รองนายทะเบียนสหกรณ์ปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์

ข้อ 2 (4) รองนายทะเบียนสหกรณ์ที่แต่งตั้งจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 2 หรือสหกรณ์จังหวัด มีอำนาจปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เฉพาะสหกรณ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 - 2 หรือสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ในกรณีดังต่อไปนี้

(4.1) ส่งเสริม แนะนำ และกำกับดูแลสหกรณ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่น ตามมาตรา 16 (1)

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2567

ภูมิศาสตร์สหกรณ์: ตอนแรก ว่าด้วยความเข้าใจทั่วไป

วงศาวิทยาว่าด้วยการสหกรณ์ มีผู้อธิบายเรื่องการสหกรณ์ไว้หลากหลายแง่มุม อาทิ ด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง เป็นต้น ด้วยการสหกรณ์มีการขยายตัวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนสหกรณ์กว่า 3 ล้านแห่ง กว่าร้อยละ 12 ของประชากรโลกมีความเกี่ยวข้องกับสหกรณ์ (ICA, online)

การศึกษาเรื่องการสหกรณ์ในบริบทที่แตกต่างกันจะช่วยให้เกิดมุมมองที่ลึกและกว้างสามารถนำบทเรียนการพัฒนาสหกรณ์ในบริบทที่แตกต่างกันใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ให้ประสบความสำเร็จ โดยการนำผลการศึกษาเรื่องการสหกรณ์ในบริบทที่แตกต่างกันไปใช้อธิบายเรื่องเดียวกันในบริบทอื่น ๆ ทั้งด้านประชากรและพื้นที่ (Generalization of Findings)

ภูมิศาสตร์ใช้อธิบายสหกรณ์อย่างไร

การมองสหกรณ์ผ่านกรอบคิดอย่างภูมิศาสตร์ (Geographic) จะช่วยให้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสาเหตุการจัดตั้งสหกรณ์ รูปแบบของสหกรณ์ วิธีการดำเนินงาน การมีส่วนร่วมของสมาชิก และความสำเร็จของสหกรณ์ ว่ามีความสัมพันธ์ มีความเกี่ยวข้อง โดยสามารถอธิบายความสัมพันธ์ได้ในเชิงพื้นที่ (Spatial) กับทัศนะคติและพฤติกรรมของคน ด้วยภูมิศาสตร์ เป็นศาสตร์เชิงพื้นที่ซึ่งมีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับการอธิบายการปรากฏของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นโลก ซึ่งนักภูมิศาสตร์ไม่ได้มองสิ่งที่ปรากฏเท่าที่มันปรากฏแต่พยายามหาคำอธิบายว่าทำไมมันจึงปรากฏ ที่อื่นมีปรากฏด้วยหรือไม่และอะไรคือเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นปรากฏในบางพื้นที่แต่ไม่ปรากฏในอีกบางพื้นที่ ซึ่ง Alfred Hettner และ Otter Schluter นิยามไว้ว่าเป็นเรื่องของความแตกต่างเชิงพื้นที่ (Areal differentiation) (James, 1972 อ้างใน มนัส สุวรรณ, 2557)

สหภาพภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Geographical Union : IGU) มีข้อเสนอว่าวิชาภูมิศาสตร์ควรมีบทบาทที่สำคัญในฐานะวิชาหลัก (Key discipline) ในกระบวนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา เนื่องจาก วิชาภูมิศาสตร์จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ (to understand) การปรากฏของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นโลกได้ดีขึ้นความรู้ในวิชาภูมิศาสตร์จะเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนหรือผู้ที่ใฝ่รู้ให้สามารถต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ (to cope) รอบตัวได้ดีขึ้น ภูมิศาสตร์จะทำให้ผู้เรียนมีความสามารถมากขึ้นในการสังเคราะห์ (to synthesize) และ/หรือเชื่อมโยง (to bridge) ปรากฎการณ์ที่เกิดบนพื้นโลกด้วยธรรมชาติของสาระที่ครอบคลุมทั้งศาสตร์ธรรมชาติศาสตร์บริสุทธิ์ และศาสตร์สังคม ตลอดจนความรู้ในวิชาภูมิศาสตร์จะเป็นพื้นฐานความรู้ (to share) สำหรับการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในศาสตร์อื่นต่อไป (Holt-Jensen, 1999 อ้างใน มนัส สุวรรณ, 2557)

การสหกรณ์ เกี่ยวข้องกับบริบททางด้านเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ ว่ากันด้วยเรื่องการร่วมมือกันในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายในการกินดีอยู่ดี ร่วมกัน อย่างผาสุก

กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ สามารถจำแนกได้ตามประเภทของสหกรณ์ ซึ่งในประเทศไทยอาจจำแนกได้เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร (สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง และสหกรณ์นิคม) และสหกรณ์นอกภาคการเกษตร (สหกรณ์บริการ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน) ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหกรณ์ภาคการเกษตรจะเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์เศรษฐกิจในเรื่อง การผลิต รูปแบบการกระจายตัวของการผลิตทางการเกษตร การแลกเปลี่ยน การรวบรวม การแปรรูป การตลาด และใช้บริการต่าง ๆ ของสหกรณ์ ตลอดจนการให้บริการทางด้านสวัสดิการและบริการทางสังคมต่าง ๆ ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหกรณ์นอกภาคการเกษตรภูมิศาสตร์เศรษฐกิจในเรื่อง รูปแบบการใช้บริการทางการเงินและการค้า การกระจายตัวของสมาชิกในพื้นที่ต่าง ๆ การจัดตั้งสำนักงานและสาขา ตลอดจนการให้บริการทางด้านสวัสดิการและบริการทางสังคมต่าง ๆ

ภูมิศาสตร์สามารถอธิบายสหกรณ์ได้ โดยช่วยวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกายภาพของพื้นที่ที่ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ในพื้นที่หนึ่ง ๆ ช่วยให้มองเห็นปรากฏการณ์ทางกายภาพกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ ที่เกิดขึ้น ณ บริเวณที่ทำการศึกษา ว่ามีรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงที่มีความสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร สามารถอธิบายได้ว่ารูปแบบการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจปัญหาทางด้านกายภาพกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ที่ทำการศึกษา เช่น รูปแบบด้านการรวมกลุ่ม การมีส่วนร่วมของสมาชิกในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ ความรู้สึกผูกพันต่อสหกรณ์ ความเหมาะสมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์กับสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเมื่อเข้าใจบริบทของสหกรณ์ในเชิงพื้นที่แล้ว ภูมิศาสตร์ยังสามารถช่วยพัฒนาสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นได้ ด้วยเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า ภูมิสารสนเทศศาสตร์

ภูมิสารสนเทศศาสตร์ (Geoinformatics) คือศาสตร์สารสนเทศที่เน้นการบูรณาการเทคโนโลยีทางด้านการสำรวจ การทำแผนที่ และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เข้าด้วยกัน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่บนโลกประกอบด้วย ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) กรรับรู้จากระยะไกล (RS) และระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) เทคโนโลยีทั้งสามประเภทนี้สามารถทำงานเป็นอิสระต่อกัน หรือสามารถนำมาเชื่อมโยงร่วมกัน ทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นสมารถนำมาใช้ประโยซน์ได้หลายด้าน เช่น กิจการทหาร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ  การวางผังเมืองและชุมชน หรือแม้แต่ในเชิงธุรกิจก็ได้มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศศาสตร์มาประยุกต์ใช้และประกอบการวางแผนการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ (ศูนย์กิจการอวกาศ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม, ออนไลน์)

ภูมิสารสนเทศศาสตร์ ช่วยสร้างระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Database) ช่วยวิเคราะห์ให้พบข้อมูลเชิงลึก ในมิติต่าง ๆ เช่น เพื่อช่วยในการชี้ให้เห็นถึงปัญหา เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง เพื่อจัดการกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อการคาดการณ์ เพื่อการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อทำความเข้าใจทิศทาง (trend) (ESRI Thailand, ออนไลน์) ซึ่งรูปแบบการเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ จะช่วยในการตัดสินใจได้ ช่วยในการวางแผน หรือออกแบบระบบต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงเพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง การวางผังหมู่บ้าน การวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา ท่อน้ำทิ้ง บ่อบำบัดน้ำเสีย การจัดการทรัพยากรการเกษตร เช่น การจัดการระบบชลประทาน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การวางแผนการผลิตพืชตามความเหมาะสม (Zoning) การวางแผนโลจิสติกส์ เช่น การหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างตลาดกลางสินค้าเกษตร การกำหนดเส้นทางการขนส่งสินค้า ตลอดจนการวางแผนการเชื่อมโยงสินค้า เป็นต้น

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ...