วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ที่การสหกรณ์ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลก จนปัจจุบันโลกมีสหกรณ์กว่า 3 ล้านแห่ง และมีสมาชิกมากกว่าร้อย 12 ของประชากรโลก (ICA,ออนไลน์) 

มีคำถามหนึ่งเกิดขึ้นเสมอว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจแสวงหากำไรหรือไม่อย่างสหกรณ์ในบ้านเราก็มีการหยิบยกเอามาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาเป็นเหตุผลในการอธิบายว่า ถ้าสหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร แล้วจะมีการจัดสรรกำไรไปทำไม” “หากสหกรณ์ไม่แสวงหากำไร ไม่จัดสรรกำไร แล้วสมาชิกจะยังศรัทธาสหกรณ์อยู่หรือไม่อะไรประมาณนี้ 

ลองมาดูกันครับ ว่า Robert Owen บิดาแห่งลัทธิสังคมนิยมอังกฤษ และบิดาแห่งการสหกรณ์โลก มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของ กำไรว่าอย่างไร 

Robert Owen มีกิจสิ่งเดียวที่จะต้องกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงฐานะทางเศรษฐกิจของคนงาน คือ กำจัดผลกำไรให้สูญสิ้นไป เนื่องจากเขามองว่า กำไรคือสิ่งซึ่งล้ำค่าและอยู่เหนือราคาซื้อ ซึ่งตามลักษณะของกำไรแล้วเป็นสิ่งอยุติธรรม เพราะว่าราคาซื้อของสิ่งของสิ่งหนึ่งเท่านั้นที่เป็นราคาอันชอบธรรม สิ่งของจะต้องขายตามราคาที่ซื้อมากำไรเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยภยันตราย เช่น คนงานจะซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคได้จำนวนที่พวกเขาทำการผลิตได้อย่างไร ถ้าผลผลิตเหล่านั้นมีราคาเพิ่มขึ้นโดยบวกผลกำไรเข้าไป 

การกำจัดผลกำไรให้สูญสิ้นไป 

Robert Owen มองว่า เงินตราเข้ามาแทรกแซงในเรื่องการซื้อขายเป็นเหตุให้การขายสินค้าเกินกว่าราคาอันแท้จริง ซึ่งความลับของการทำผลกำไรคือ การซื้ออย่างถูกที่สุดที่พึงจะซื้อได้ แล้วขายไปอย่างแพงที่สุดที่พึงจะขายได้ โดยอาศัยเงินตรา 

ช่วงปี ค.ศ. 1800 – 1824 Robert Owen ได้ใช้แนวคิดสังคมนิยมโดยการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่คนงานในโรงงานทอผ้าและชุมชน ในเมือง New Lanark ประเทศสกอตแลนด์ จนแนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับไปทั่วยุโรป เนื่องจาก Robert Owen พิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กรอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องขูดรีดแรงงานส่วนเกินเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งเหมือนองค์กรอุตสาหกรรมทั่วไป แต่สามารถดำเนินธุรกิจอย่างมีกำไรที่เพียงพอได้โดยการแบ่งปันกำไรส่วนเกินกลับไปสู่แรงงานด้วยระบบสวัสดิการสังคม อันนำมาซี่งความเป็นอยู่ที่ดีของชนชั้นแรงงาน และชุมชนในเมือง New Lanark 

ในปี ค.ศ. 1832 ได้มีการก่อตั้งห้างสรรพสินค้าในกรุงลอนดอน ชื่อ The National Equitable Labour Exchange โดยวิธีการซื้อขายในห้างนี้ ไม่ใช้เงินตราเป็นสื่อกลาง แต่ใช้ บัตรแรงงานมูลค่าของบัตรคำนวณจากระยะเวลาที่ใช้แรงงานในการผลิตสินค้าหนึ่ง ๆ เช่น ใช้แรงงานผลิตสินค้าจำนวน 1 ชั่วโมง จะได้ 1 บัตร แล้วสามารถนำบัตรนั้นไปแลกสินค้าอื่น ๆ ได้ 

แนวคิดของ Robert Owen ดังกล่าว สอดคล้องกับทฤษฎีมูลค่าของ Karl Mark ที่ว่า ผลผลิตจากแรงงานมนุษย์ทุกอย่างจะต้องมี มูลค่า (Value) ในการใช้ อย่างไรก็ตาม คำว่ามูลค่าในการใช้ ก็มีความหมาย 2 แบบ เราอาจจะพูดถึง มูลค่าในการใช้ ของสินค้าหนึ่งและอาจจะพูดถึง มูลค่าในการใช้ ต่าง ๆ ได้อีกเมื่อเราหมายถึงสังคมหนึ่ง ๆ ที่มีการผลิต แต่มูลค่าการใช้เท่านั้น นั่นคือในสังคมที่ผลิตผลผลิตขึ้นมาเพื่อบริโภคโดยตรง ไม่ว่าจะบริโภคโดยผู้ผลิตเอง หรือโดยชนชั้นปกครองที่ได้ผลผลิตไปก็ตาม นอกจากผลผลิตจากแรงงานมนุษย์จะมีมูลค่าในการใช้แล้ว ก็ยังมีมูลค่าในการแลกเปลี่ยนได้อีกด้วย…” 

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา เมื่อสหกรณ์มีกำไรสุทธิประจำปี แล้วนำกำไรสุทธิดังกล่าวมาจัดสรร เหตุใดจึงบอกว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร 

ท่านอาจารย์ อาบ นคะจัด ได้อธิบายเรื่องกำไรในสหกรณ์ ไว้อย่างลุ่มลึกว่า สหกรณ์คือองค์กรธุรกิจประเภทหนึ่งในระบบเศรษฐกิจการตลาดของประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับหุ้นส่วนและบริษัท ตามมาตรา 1012 (อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ องค์การธุรกิจนิติบุคคลตามกฎหมายสหกรณ์ต่างจากองค์กรธุรกิจตาม ป.พ.พ. ในเรื่องสำคัญคือ วัตถุประสงค์และหลักการขององค์การธุรกิจต่างกัน และตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ต่างกัน สหกรณ์มีวัตถุประสงค์ “เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ส่วนวัตถุประสงค์ของหุ้นส่วนและบริษัทคือ “ประสงค์จะแบ่งกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น” แม้กฎหมายสหกรณ์จะกำหนดเรื่องการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ แต่คำว่ากำไรสุทธิที่บัญญัตินั้นเป็นเพียงคำศัพท์ทางการบัญชี ไม่ใช่กำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 เพราะในสหกรณ์เจ้าของและลูกค้าคือบุคคลคนเดียวกัน ราคาสินค้าและบริการที่สหกรณ์กำหนดขึ้น คือค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สหกรณ์เรียกจากสมาชิก เมื่อสิ้นปีการบัญชี หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว มีเงินเหลือจ่ายสุทธิ (กำไรสุทธิ) เท่าใด จึงต้องจัดสรรตามกฎหมายสหกรณ์ 

ท่านอาจารย์ นุกูล กรยืนยงค์ (2554) อธิบายว่า สหกรณ์มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นตรงที่การรวมตัวกันของประชาชนเพื่อ ก่อตั้งสหกรณ์ และนำเงินมาลงทุนร่วมกันนั้น มิใช่เพื่อทำการค้ากับบุคคลอื่น หากแต่เป็นเพราะต้องการใช้สินค้าหรือบริการนั้นสำหรับตนเองเป็นประการสำคัญ มุ่งให้บริการแก่สมาชิกเป็นหลัก เป็นการสร้างประโยชน์ขึ้นแก่ตนเอง บริการตนเองโดยการร่วมกันทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เป็นการเรียกร้องจากผู้อื่น สหกรณ์ผู้บริโภคไม่จำเป็นที่จะต้องแสวงหาผลกำไรจากการทำธุรกิจ เนื่องจากทั้งเจ้าของและผู้ใช้บริการ (ลูกค้า) เป็นคนเดียวกัน หรือในกรณีที่เป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อการผลิตโดยมีสมาชิกเป็นเจ้าของและผู้ใช้แรงงาน ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่เจ้าของจะเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานเพราะเป็นคนเดียวกัน ไม่ว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะตกแก่เจ้าของ หรือแรงงาน ก็ย่อมเป็นของคนเดียวกันทั้งหมด กำไรจึงเป็นของสมาชิก (ไม่ใช่ของสหกรณ์) เนื่องจากสหกรณ์มีเป้าหมายหลักในการทำธุรกิจกับสมาชิก และมักใช้นโยบายราคาตลาดด้วยเหตุผลสำคัญ คือการหลีกเลี่ยงสงครามราคา ดังนั้น "กำไร" จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการดำเนินงานตามปกติ ของสหกรณ์ และถือว่าเป็นของสมาชิกทุกคนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ ผู้ที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์มากก็มีส่วนทำให้เกิดผลกำไรมากตามส่วน ดังนั้น สหกรณ์จึงมีวิธีการคืนกำไรนั้นกลับไปให้สมาชิกตามส่วนของการใช้บริการ โดยให้ที่ประชุมใหญ่ของบรรดาสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาตัดสินใจ 

การจัดสรรตามกฎหมายสหกรณ์ในปัจจุบัน จำแนกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่กฎหมายบังคับให้จัด ได้แก่ การจัดสรรเป็นทุนสำรองของสหกรณ์เองเพื่อความมั่นคงของสหกรณ์ (ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10) จัดสรรเป็นเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (ร้อยละ 1 ไม่เกิน 30,000.00 บาท) กำไรส่วนที่เหลือเป็นการจัดสรรกลับคืนสู่สมาชิกผู้เป็นเจ้าของสหกรณ์ร่วมกัน ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินธุรกิจในสหกรณ์ โดยการจัดสรรเป็นเงินเฉลี่ยคืน (เป็นหลัก) และเงินปันผล กำไรส่วนที่เหลือ ก็จัดสรรเป็นทุนต่าง ๆ เพื่อสวัสดิการสมาชิกและครอบครัว เพื่อชุมชน เพื่อสังคม 

ทำไมเราต้องเชื่อว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร 

นั่นนะสิ ตอบยากนะ ... ผมว่า ถ้าเราเข้าใจว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร การดำเนินงานของสหกรณ์จะมีแค่เป้าหมายเดียวเลยคือ จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมโดยการ ช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์ถ้าเข้าใจถูกต้องและเชื่อเหมือนกัน สหกรณ์ก็จะดำเนินงานตามแนวทางของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ การขูดรีดกำไรส่วนเกิน การแสวงหากำไรในสหกรณ์ก็จะไม่เกิดขึ้น ผมว่าสิ่งนี้แหละที่จะส่งผลให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง 

เอกสารอ้างอิง 

นุกูล กรยืนยงค์. 2554.  หลักและวิธีการสหกรณ์ Co-operative Principles and Practices.  เอกสารประกอบการบรรยายวิชาหลักและวิธีการสหกรณ์. 

อาบ นคะจัด.  2536.  คำอธิบายกฎหมายสหกรณ์ในฐานะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเกษตรและสถาบันเกษตรกรโดยย่อ.  สถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก) 

อำไพ รุ่งอรุณ.  2519.  ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเฌศ. 

ฮัด เจสสัน.  2477.  หนังสือคำสอนขั้นปริญญาตรี เรื่อง ลัทธิเศรษฐกิจ. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

ไม่มีความคิดเห็น:

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ...