วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2566

การงดออกเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์

 จากประสบการณ์การเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ พบว่ามีหลายครั้งที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ต้องลงมติในวาระพิจารณาที่สำคัญ และปรากฏว่า มีกรรมการบางส่วนงดออกเสียง ในฐานะเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ที่เข้าร่วมประชุมจะแนะนำเรื่องนี้อย่างไรดี

 

สหกรณ์ที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายสหกรณ์ (ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มีฐานะเป็นนิติบุคคล (มาตรา 37) มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้แทนสหกรณ์ โดยเมื่อแรกตั้งสหกรณ์คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ได้รับมอบหมายการทั้งปวงจากคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ภายหลังการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก (มาตรา 40)

 

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คนซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก (มาตรา 50 วรรคแรก) คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ (มาตรา 51) ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ข้อบังคับของสหกรณ์ และมติที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก (มาตรา 51/1)

 

สหกรณ์ต้องกำหนดประเภทสหกรณ์ (มาตรา 43 (2)) วัตถุประสงค์ (มาตรา 43 (3)) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน (มาตรา 43 (6)) ตลอดจนการเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งและการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (มาตรา 43 (9)) ไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์

 

เพื่อให้เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ (มาตรา 43 (3)) และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน (มาตรา 43 (6)) ให้สหกรณ์กำหนดอำนาจกระทำการไว้ให้ขัดเจนในข้อบังคับ (มาตรา 46)

 

จากข้อกฎหมายดังที่กล่าวมาจะเห็นว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้แทนสหกรณ์ในการดำเนินการต่าง ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ซึ่งการใช้อำนาจของคณะกรรมการดำเนินการนั้นต้องใช้ในนามคณะกรรมการดำเนินการ ไม่ใช่ใช้อำนาจโดยกรรมการคนหนึ่งคนใด กฎหมายจึงกำหนดเรื่อง การประชุมของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (มาตรา 43 (9))

 

การประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เป็นการดำเนินที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของผู้แทนสหกรณ์ ในเรื่องสำคัญต่าง ๆ อาทิ การรับทราบผลการดำเนินงาน การติดตามผลการดำเนินงาน การพิจารณาเพื่อดำเนินการ การพิจารณาอนุมัติงบประมาณ การพิจารณาถือใช้ระเบียบ การอนุมัติเงินกู้ การนำเงินไปลงทุน การอนุมัติงบประมาณรายจ่าย การพิจารณาเกี่ยวกับวินัยของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ และดำเนินการต่าง ๆ (ดูอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการในข้อบังคับของสหกรณ์) บางเรื่องเป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ แต่ที่ประชุมใหญ่ก็ได้อนุมัติเป็นกรอบอย่างกว้าง ๆ ไว้ เมื่อจะดำเนินการจริง ๆ ก็ต้องอาศัยมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการก่อน

 

การลงมติของคณะกรรมการดำเนินการในวาระพิจารณาเพื่อตัดสินใจกระทำการต่าง ๆ ในฐานะผู้แทนสหกรณ์จึงต้องเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของที่ประชุมใหญ่ อยู่บนพื้นฐานเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก

 

วิธีการออกเสียงเพื่อลงมติของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ จะอาศัยแนวทางตามกฎหมายใด ๆ ให้พึงตระหนักว่ากฎหมายสหกรณ์กำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างไร ข้อบังคับของสหกรณ์กำหนดไว้อย่างไร ดังนี้

 

ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ทั้งนี้ กรรมการผู้ใดขาดประชุมคณะกรรมการดำเนินการติดต่อกันสามครั้งโดยไม่มีเหตุอันควร กรรมการดำเนินผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความจำเริญแก่สหกรณ์ ในกรณีคณะกรรมการดำเนินการกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ หรือกระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก อันเป็นเหตุให้สหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการหรือฐานะการเงิน ตามรายงานการสอบบัญชีหรือตามรายงานการตรวจสอบ เป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่ในกรณี การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ การควบสหกรณ์ การแยกสหกรณ์ การเลิกสหกรณ์ ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมาประชุม ทั้งนี้ ถ้าในปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเฉพาะตัว ผู้นั้นจะออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้ (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”

 

มีคำถามว่า กรรมการผู้หนึ่งผู้ใดจะงดออกเสียงในวาระพิจารณาเพื่อการวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ได้หรือไม่ และหากกรรมการงดออกเสียงจะส่งผลประการใด มีข้อกฎหมายให้พิจารณา ดังนี้

 

มาตรา 51/2 บัญญัติว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายต่อสหกรณ์ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

(2) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์

(3) ดำเนินกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ หรือขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการ ที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์

เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้ใดมีส่วนร่วมในการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้นั้นต้องรับผิดร่วมกันกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ในความเสียหายต่อสหกรณ์

 

มาตรา 51/3 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 51/2 ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) พิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ร่วมกระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์

(2) ได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยปรากฏในรายงานการประชุมหรือได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม

 

จากข้อกฎหมายดังกล่าว สมมติว่า ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการครั้งหนึ่ง คณะกรรมการลงมติอันเป็นการดำเนินกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ โดย สหกรณ์แห่งนี้ข้อบังคับกำหนดให้มีกรรมการ 15 คน (ประธาน 1 คน และกรรมการ 14 คน) ปรากฏว่าวันประชุมมีกรรมการมาประชุม 14 คน (เป็นวาระการประชุมกรรมการฯ ที่ไม่มีวาระการเสนอให้ที่ประชุมใหญ่แก้ไขข้อบังคับ) มีกรรมการลงมติให้ดำเนินการ 8 คน กรรมการลงมติไม่เห็นด้วย 3 คน กรรมการงดออกเสียง 3 คน และกรรมการไม่มาประชุมเนื่องจากป่วยหนัก 1 คน (มีใบลาหรือหลักฐานการป่วย) ผลของมติกรรมการ ที่ส่งผลต่อการดำเนินการของสหกรณ์ จะส่งผลอย่างไรต่อกรรมการที่ลงมติครั้งนี้

1) กรรมการที่ลงมติให้ดำเนินการ 8 คน ต้องรับผิดตามมาตรา 51/2

2) กรรมการที่ลงมติไม่เห็นด้วย 3 คน ไม่ต้องรับผิด แต่ต้องบันทึกรายงานการประชุมให้ชัดเจน (มาตรา 51/3)

3) กรรมการที่ไม่มาประชุมเพราะป่วย ไม่ต้องรับผิด

4) กรรมการที่งดออกเสียง 3 คน ต้องร่วมรับผิด เพราะมิได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (รู้ว่าผิดก็ยังเฉย) แต่หากได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม ก็ไม่ต้องรับผิด

 

ทั้งนี้จะเห็นว่า การจดบันทึกรายงานการประชุมของสหกรณ์มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมใหญ่ก็ดี หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือการประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ตลอดจนการประชุมอื่น ๆ เช่น การประชุมกลุ่มสมาชิก การจดบันทึกรายงานการประชุมต้องมีรายละเอียดที่ครบถ้วน มีการอ้างอิงข้อกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติที่ประชุมใหญ่ มีการอ้างถึงความจำเป็น วิธีการ และผลที่จะเกิด แสดงให้เห็นเจตนาที่ชัดแจ้ง

 

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ในแต่ละปีมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เนื่องจากกรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้ง ให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของกรรมการ ดำเนินการสหกรณ์ทั้งหมดโดยวิธีจับฉลาก และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ (วรรค 2 มาตรา 50) ฉะนั้น หากจดบันทึกรายงานการประชุมไว้ไม่ชัดแจ้ง และหากมีข้อสงสัยที่จะต้องวินิจฉัย ก็จะต้องเสียเวลาในการสืบหาเจตนาที่แท้จริง หากจะต้องดำเนินการทางกฎหมายก็ใช้เป็นหลักฐานที่ไม่มีน้ำหนัก

 

อนึ่ง หากพิจารณาจากวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการของสหกรณ์ ตามประเภทสหกรณ์ที่จัดตั้งและจดทะเบียนตามกฎหมาย ผมมองไม่เห็นเลยว่ามีเรื่องใดบ้างที่กรรมการจะงดออกเสียง เพราะมันมีแต่เรื่องที่ทำได้กับทำไม่ได้ ประกอบกับสหกรณ์มีบรรดาระเบียบต่าง ๆ ซึ่งกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการ ยิ่งช่วยให้การลงมติออกเสียงต่าง ๆ ง่ายมากกว่าที่จะงดออกเสียง ทั้งนี้หากไม่แน่ใจจริง ๆ ก็อาจหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะดำเนินการลงมติก็ยิ่งป้องกันความผิดพลาดเสียหาย

 

ทั้งนี้ การงดออกเสียงในการประชุมอื่น ๆ ในองค์กรอื่น ๆ จะทำได้หรือไม่ได้ให้พิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และข้อบังคับการประชุมของแต่ละองค์กร ใช่ว่าการงดออกเสียงจะเป็นการแสดงเจตนาที่เป็นสากล นำมาใช้ได้ในทุก ๆ องค์กร โดยเฉพาะในสหกรณ์ ผมเห็นว่าการงดออกเสียงไม่ได้เกิดประโยชน์อันใดต่อสหกรณ์เลย อาจเข้าข่าย “งดเว้นกระทำการ” เสียด้วยซ้ำ (ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ)

ตัวอย่างข้อบังคับการประชุมขององค์กรอื่น ๆ และข้อวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับ “การงดออกเสียง”

 

1) ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 57 (1) กำหนดการออกเสียงลงคะแนน 3 ความเห็น คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และไม่ออกเสียง ทั้งนี้รัฐสภาได้อธิบายเพิ่มเติมว่า งดเว้นการออกเสียง หมายถึง การที่สมาชิกสภาไม่ออกเสียงหรืองดการแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติหรือข้อปรึกษาที่ต้องมีการลงมติในที่ประชุมสภา คะแนนเสียงของสมาชิกสภาที่งดเว้นการออกเสียงไม่นำมานับรวมเป็นเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จึงไม่มีผลในทางสนับสนุนหรือคัดค้านฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีที่ใช้เสียงข้างมากธรรมดาในการชี้ขาดญัตติหรือข้อปรึกษานั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการชี้ขาด การงดเว้นการออกเสียงก็อาจมีผลเท่ากับเป็นการไม่เห็นด้วยกับญัตตินั้นได้ เช่น ในกรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 151 ซึ่งกำหนดให้มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การงดเว้นการออกเสียงจึงทำให้เกิดผลเท่ากับว่าไม่เห็นด้วยกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนั้นนั่นเอง (https://library.parliament.go.th/th/node/4180)

 

2) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การหามติของ ก.อบต.จังหวัด กรณีกรรมการลงมติเห็นชอบ น้อยกว่าจํานวนกรรมการที่งดออกเสียง (เรื่องเสร็จที่ 1178/2558) สรุปว่า การนับคะแนนเสียงต้องนับจากเสียงที่ลงคะแนนโดยให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นมติของคณะกรรมการ ส่วนการงดออกเสียงเป็นการไม่ลงคะแนนเสียงจึงไม่อาจนับเป็นเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยมีการอธิบายเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียง ว่า

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า โดยทั่วไปหลักการหามติของคณะกรรมการโดยการนับคะแนนเสียงนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ

 

(1) เสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple Majority) หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของผู้ซึ่งประกอบเป็นองค์ประชุมและได้ออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในเรื่องนั้น การงดออกเสียงลงคะแนนหรือไม่อยู่ในที่ประชุมไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมไม่ถือว่าเป็นการออกเสียงจึงไม่อาจนับคะแนนเหล่านั้นไปรวมกับการออกเสียงลงคะแนนของฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้

 

(2) เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (Absolute Majority) หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนทั้งหมด ซึ่งอาจกำหนดให้เกินกึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น เช่น สองในสาม หรือสามในสี่ของสมาชิกหรือกรรมการทั้งหมดหรือเท่าที่มีอยู่ ในกรณีนี้การหามติของที่ประชุมจึงต้องให้ได้คะแนนเสียงตามที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะมีผู้ลงคะแนนเสียงเท่าใด มาประชุมเท่ใด หรืองดออกเสียงเท่าใด คะแนนเสียงที่จะถือเป็นมติได้ต้องได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้เท่านั้น

 

3) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การลงมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องเสร็จที่ 263/2565 สรุปว่า แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ประกอบกับข้อ 21 แห่งระเบียบคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เนื่องจากกฎหมายและระเบียบดังกล่าวมิได้บัญญัติให้มีการนับคะแนนเสียงข้างมากไว้เป็นอย่างอื่น การนับคะแนนเสียงในกรณีนี้จึงต้องถือหลักการนับคะแนนเสียงข้างมากธรรมดาที่จะต้องนับคะแนนเสียงเฉพาะแต่กรรมการผู้ซึ่งออกเสียงลงคะแนนในเรื่องดังกล่าวเท่านั้น ส่วนกรรมการที่งดออกเสียงย่อมไม่อาจนำมานับเป็นคะแนนเสียงได้ อนึ่ง คณะกรรมการเป็นองค์กรกลุ่ม ประกอบด้วยบุคคลซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและมีความรู้ความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน การทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการก็เพื่อให้มีองค์ประกอบที่มาจากบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันปรึกษาหารือ ระดมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกันเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นมติ ซึ่งเมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ แล้ว

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า กฎหมายประสงค์ที่่จะให้มีคณะกรรมการที่มีความคล่องตัวและเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม ประกอบกับมาตรา 17 (9) และมาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯกำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจหน้าที่พิจารณากำหนดโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 80 มาตรา 81 มาตรา 82 และมาตรา 83 รวมทั้งฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตลอดจนมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง โดยคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทำผิด ดังนั้น กรรมการเสียงข้างน้อยและกรรมการที่งดออกเสียงจึงมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาลงมติในวาระพิจารณาการกำหนดจำนวนค่าปรับทางปกครอง…

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 57 (1) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การหามติของ ก.อบต.จังหวัด กรณีกรรมการลงมติเห็นชอบ น้อยกว่าจํานวนกรรมการที่งดออกเสียง (เรื่องเสร็จที่ 1178/2558) จะเห็นว่า การกำหนดเรื่องการออกเสียงเป็นเรื่องที่ต้องกำหนดไว้ในข้อบังคับ หรือข้อบังคับการประชุมของแต่ละองค์กร แต่หากไม่ได้กำหนดเรื่อง “การงดออกเสียงไว้” หรือกำหนดเพียง “ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก” หากมีกรณีปัญหาให้ต้องวินิจฉัย เช่น คะแนนเสียงข้างมากน้อยกว่าคะแนนงดออกเสียง จะต้องวินิจฉัยตามแนวทาง เรื่องเสร็จที่ 1178/2558 แต่ในกรณีของสหกรณ์ก็ให้พิจารณาตามข้อกฎหมายที่ได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน

ปัญหาทางการเงินที่สำคัญของสังคมไทยในปัจจุบันคือปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต ปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเทียบกับในอดีตหรือเทียบกับต่างประเทศ โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 1/65 พบว่าสถาบันรับฝากเงินและสถาบันการเงินอื่น มียอดเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) รวมทั้งสิ้น 14.64 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแล้ว จะพบว่า ไตรมาส 1/65 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 89.2% ต่อจีดีพี ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/64 ซึ่งหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 90.0% ต่อจีดีพี (ประชาชาติธุรกิจ, 25 สิงหาคม 2565) ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ชี้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 89.3% และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้

 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนดังกล่าว หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาสำคัญจนกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทย หนี้ครัวเรือนคือหนี้ที่ประชาชนกู้ยืมจากผู้ให้กู้ สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการนอกระบบ หรือแหล่งเงินกู้อื่น ๆ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายตามความต้องการที่แตกต่างกันไป โดยการก่อหนี้หรือการกู้ยืมเงินนั้นช่วยให้เราสามารถใช้จ่ายได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และยามจำเป็นเกินกว่ารายได้และเงินออมที่มีอยู่ อย่างไรก็ดี การก่อหนี้เปรียบเสมือนการนำรายได้ในอนาคตมาใช้ แม้จะทำให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในปัจจุบัน แต่ในอนาคตผู้กู้จำเป็นต้องทยอยชำระหนี้คืนทำให้รายได้ที่หามาเหลือใช้น้อยลง และหากครัวเรือนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจก่อหนี้มากเกินไปก็จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจผ่านทางการบริโภคของครัวเรือนในอนาคตจะลดลง และความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดน้อยลง ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ยืม ในกรณีที่การผิดนัดชำระหนี้มีจำนวนมาก ระบบการเงินจะได้รับความเสียหายจนไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติและกระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2562)

 

ด้านสถานการณ์ทางการเงินของสมาชิกสหกรณ์ในระบบสหกรณ์พบว่า สัดส่วนเงินออมต่อสมาชิกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มีอัตราต่ำกว่าสัดส่วนหนี้สินต่อสมาชิกซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า แสดงให้เห็นว่าสมาชิกส่วนใหญ่ยังมีปัญหาหนี้สินเช่นเดียวกับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของประเทศ

 

นอกจากปัญหาหนี้สินที่กล่าวมา ปัญหาที่สำคัญอีกประการคือปัญหาอาชญากรรมทางการเงิน เช่น การทุจริต หลอกลวง ยักยอก หากเกิดขึ้นในระบบสหรณ์ ก็จะส่งผลให้สมาชิกเดือดร้อน ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการให้บริการทางการเงินของสหกรณ์ และหากปัญหาดังกล่าวมีความถี่สูง มีความเสียหายจำนวนมาก ก็อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสหกรณ์โดยรวม

 

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงินให้แก่สมาชิกได้อย่างไร

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน ขับเคลื่อนภายใต้กรอบแนวคิดการวางแผนการเงินส่วนบุคคล และกรอบแนวคิดเทคโนโลยีทางการเงิน

 

กรอบแนวคิดการวางแผนการเงินส่วนบุคคล

เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเงินหรือรายได้ที่ได้มาและวางแผนใช้เงินนั้นให้ตรงตามจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ทางการเงินที่ได้มาอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนทางการเงินประกอบด้วย การวางแผนกระแสเงินสด (รายรับ-รายจ่าย) การวางแผนการออม การวางแผนการลงทุน การวางแผนภาษี การวางแผนประกันภัย การวางแผนเกษียณ และการวางแผนมรดก โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ของครัวเรือน สร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้กับครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนเกิดการใช้จ่ายและการก่อหนี้ที่เกินตัว ให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุน รวมถึงรู้จักวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยง การปลดเปลื้องหนี้เดิม และช่วยส่งเสริมความมั่นคงและปลอดภัยในระบบการเงินของสหกรณ์โดยรวม

 

กรอบแนวคิดเทคโนโลยีการเงิน

เทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: Fintech) มักถูกนำมาใช้ในการเรียกบริษัท กลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการให้บริการด้านการเงินและการลงทุนให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น Fintech อาจจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ Traditional Fintech และ Emergent Fintech

 

Traditional Fintech เป็นธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่ภาคการเงินโดยทั่วไป เช่น บริษัทผู้พัฒนาบริการ Internet Banking หรือ Mobile Banking ให้แก่สถาบันการเงินเป็นต้น

 

ส่วน Emergent Fintech เป็นธุรกิจหรือกลุ่มผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโยลีเพื่อลดบทบาท หรือกำจัดตัวกลางทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น Paypal เป็นต้น Fintech ช่วยลดต้นทุนและเวลาในการทำธรุกรรมทางการเงินและการลงทุน ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน (พิมรักษ์ พรหมปาลิต, ออนไลน์)

 

เทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech) กำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันจนแทบจะขาดไม่ได้ หนึ่งในพัฒนาการด้าน FinTech ที่เด่นชัดที่สุดของไทยคือ การพัฒนามาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงินที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment) ให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถรับชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการขยายช่องทางการรับชำระเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ทำให้ร้านค้ามีต้นทุนต่ำลง ประชาชนยังสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือได้ (Mobile Banking) โดยไม่ต้องจำชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านให้ยุ่งยาก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล หรือ Biometrics ที่เพียงแค่สแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้า ผู้ใช้บริการก็สามารถยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งาน Mobile Banking ได้ นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังเริ่มใช้ Biometrics ในการเปิดบัญชีเงินฝาก เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความถูกต้องแม่นยำของการยืนยันตัวลูกค้า เป็นส่วนเสริมนอกเหนือจากการตรวจสอบโดยพนักงาน ด้วยเทคโนโลยีการใช้ข้อมูล Biometrics ที่กำลังจะมีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต การพัฒนาระบบ National Digital Identity (NDID) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลการพิสูจน์ยืนยันตัวตนลูกค้าระหว่างหน่วยงาน ด้วยวิธีที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง จะช่วยให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานหลายครั้งเช่น การเปิดบัญชีและการขอสินเชื่อกับผู้ให้บริการรายใหม่ได้สะดวกมากขึ้น โดยใช้หลักการตรวจสอบยืนยันข้อมูลกับหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือผู้ให้บริการที่เคยรู้จักตัวตนของผู้ขอใช้บริการแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดการให้บริการใหม่อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น Digital Lending หรือ Bio-Payment อาทิ การชำระเงินด้วยใบหน้าและลายนิ้วมือ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, ออนไลน์)

 

นอกจากเทคโนโลยีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้งานโดยตรงที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ยังมีเทคโนโลยีเบื้องหลัง หรือ เทคโนโลยี “หลังบ้าน” ที่จะเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานของผู้ให้บริการ ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ถูกลง ได้แก่

1) เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) เช่น เทคโนโลยี Blockchain ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินมากที่สุด ด้วยคุณลักษณะเด่นของ Blockchain ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลชุดเดียวกัน โดยข้อมูลไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ที่เดียว มี ระบบ Consensus ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องรับทราบและยอมรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล ทำให้ข้อมูลในระบบมีความโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือสูง สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา และมั่นคงปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ โดยในภาคการเงินไทย ได้เริ่มมีการนำ Blockchain มาใช้ในการให้บริการหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) ที่ช่วยให้สถาบันการเงินมีกระบวนการผลิต จัดเก็บ และนำส่งหนังสือค้ำประกันที่รวดเร็ว ปลอดภัย และน่าเชื่อถือได้ดีกว่าในรูปแบบกระดาษ ซึ่งนั่นหมายถึงประโยชน์ต่อภาคธุรกิจที่จะสามารถมั่นใจได้ว่าหนังสือค้ำประกันมีความถูกต้อง แม่นยำและลดต้นทุนในการจัดเก็บและนำส่งหนังสือค้ำประกันไปให้กับคู่ค้าอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำเอา Blockchain เข้ามาใช้เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง และรวดเร็วมากขึ้นด้วย

 

2) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) คือการสร้างความฉลาด ความเข้าใจ ความรู้ ที่มีในมนุษย์ให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดย AI นั้นสามารถประยุกต์ใช้ในการให้ บริการทางการเงินได้หลากหลาย อาทิ การรู้จำตัวอักษร (Optical Character Recognition: OCR) เช่น การอ่านข้อมูลบัตรประชาชน ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว และลดความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลผิด การรู้จำคำพูด (Speech Recognition) เช่น การพูดคำสั่งเมื่อโทรเข้า Call Center ที่เป็นระบบอัตโนมัติที่เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และการเรียนรู้ของเครื่อง หรือ Machine Learning ที่สามารถเรียนรู้ และทำนายข้อมูลได้ผ่านการศึกษาและสร้างอัลกอริทึม (Algorithm) ในภาคการเงินได้เริ่มมีการนำ AI เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ โปรแกรมตอบกลับการสนทนาผ่านตัวอักษรแบบอัตโนมัติ (Chatbot) ซึ่งช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการและลดการใช้แรงงานมนุษย์ลง การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินคุณภาพของลูกค้าผู้ขอกู้เงินด้วย AI ที่ใช้ Machine Learning ในการเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต ลักษณะการใช้จ่ายและการชำระเงิน เพื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ วงเงินปล่อยกู้ที่เหมาะสม มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

 

3) เทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลแอปพลิเคชัน (Application Programming Interface: API) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลแอปพลิเคชัน (Application) หรือระบบงานต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทั้งสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้นตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการบนพื้นฐานของความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการจัดการความปลอดภัยที่เหมาะสม (ธนาคารแห่งประเทศไทย, ออนไลน์)

 

กิจกรรมสร้างสุขทางการเงิน

1. กิจกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน กิจกรรมส่งเสริมการออม กิจกรรมคลินิกแก้หนี้ กิจกรรมที่ปรึกษาทางการเงิน ให้แก่สมาชิก

 

2. กิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินสหกรณ์ (Cooperative FinTech) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก พัฒนาระบบการให้บริการทางการเงินแก่สมาชิกที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง และสร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิกในการใช้บริการทางการเงินของสหกรณ์ เกิดความพึงพอใจในความสะดวก รวดเร็ว และความถูกต้องแม่นยำของการให้บริการทางการเงิน อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของสมาชิก ช่วยให้สมาชิกสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมั่นใจ ลดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของสหกรณ์ (Operation Risk) ช่วยให้สหกรณ์มีต้นทุนการบริการทางการเงินที่ต่ำลง

 

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน มีเป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้แก่สมาชิกสหกรณ์ ป้องกันไม่ให้สมาชิกก่อภาระหนี้ที่เกินตัว ส่งเสริมให้สมาชิกให้ความสำคัญกับการออมทรัพย์ ช่วยให้สมาชิกรู้จักวางแผนการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน สร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิกในการใช้บริการทางการเงินของสหกรณ์ ให้เกิดความพึงพอใจในความสะดวก รวดเร็ว และความถูกต้องแม่นยำของการให้บริการทางการเงิน อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของสมาชิก ช่วยให้สมาชิกสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมั่นใจ ลดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของสหกรณ์ ช่วยให้สหกรณ์มีต้นทุนการบริการทางการเงินที่ต่ำลง ช่วยให้สหกรณ์บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก โดยวิธีร่วมกันดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ร่วมกัน อันจะนำมาซึ่งการกินดี อยู่ดี ของสมาชิกอย่างยั่งยืนต่อไป

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ...