วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2566

การงดออกเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์

 จากประสบการณ์การเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ พบว่ามีหลายครั้งที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ต้องลงมติในวาระพิจารณาที่สำคัญ และปรากฏว่า มีกรรมการบางส่วนงดออกเสียง ในฐานะเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ที่เข้าร่วมประชุมจะแนะนำเรื่องนี้อย่างไรดี

 

สหกรณ์ที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายสหกรณ์ (ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มีฐานะเป็นนิติบุคคล (มาตรา 37) มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้แทนสหกรณ์ โดยเมื่อแรกตั้งสหกรณ์คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ได้รับมอบหมายการทั้งปวงจากคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ภายหลังการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก (มาตรา 40)

 

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คนซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก (มาตรา 50 วรรคแรก) คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ (มาตรา 51) ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ข้อบังคับของสหกรณ์ และมติที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก (มาตรา 51/1)

 

สหกรณ์ต้องกำหนดประเภทสหกรณ์ (มาตรา 43 (2)) วัตถุประสงค์ (มาตรา 43 (3)) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน (มาตรา 43 (6)) ตลอดจนการเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งและการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (มาตรา 43 (9)) ไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์

 

เพื่อให้เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ (มาตรา 43 (3)) และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน (มาตรา 43 (6)) ให้สหกรณ์กำหนดอำนาจกระทำการไว้ให้ขัดเจนในข้อบังคับ (มาตรา 46)

 

จากข้อกฎหมายดังที่กล่าวมาจะเห็นว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้แทนสหกรณ์ในการดำเนินการต่าง ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ซึ่งการใช้อำนาจของคณะกรรมการดำเนินการนั้นต้องใช้ในนามคณะกรรมการดำเนินการ ไม่ใช่ใช้อำนาจโดยกรรมการคนหนึ่งคนใด กฎหมายจึงกำหนดเรื่อง การประชุมของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (มาตรา 43 (9))

 

การประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เป็นการดำเนินที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของผู้แทนสหกรณ์ ในเรื่องสำคัญต่าง ๆ อาทิ การรับทราบผลการดำเนินงาน การติดตามผลการดำเนินงาน การพิจารณาเพื่อดำเนินการ การพิจารณาอนุมัติงบประมาณ การพิจารณาถือใช้ระเบียบ การอนุมัติเงินกู้ การนำเงินไปลงทุน การอนุมัติงบประมาณรายจ่าย การพิจารณาเกี่ยวกับวินัยของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ และดำเนินการต่าง ๆ (ดูอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการในข้อบังคับของสหกรณ์) บางเรื่องเป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ แต่ที่ประชุมใหญ่ก็ได้อนุมัติเป็นกรอบอย่างกว้าง ๆ ไว้ เมื่อจะดำเนินการจริง ๆ ก็ต้องอาศัยมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการก่อน

 

การลงมติของคณะกรรมการดำเนินการในวาระพิจารณาเพื่อตัดสินใจกระทำการต่าง ๆ ในฐานะผู้แทนสหกรณ์จึงต้องเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของที่ประชุมใหญ่ อยู่บนพื้นฐานเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก

 

วิธีการออกเสียงเพื่อลงมติของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ จะอาศัยแนวทางตามกฎหมายใด ๆ ให้พึงตระหนักว่ากฎหมายสหกรณ์กำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างไร ข้อบังคับของสหกรณ์กำหนดไว้อย่างไร ดังนี้

 

ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ทั้งนี้ กรรมการผู้ใดขาดประชุมคณะกรรมการดำเนินการติดต่อกันสามครั้งโดยไม่มีเหตุอันควร กรรมการดำเนินผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความจำเริญแก่สหกรณ์ ในกรณีคณะกรรมการดำเนินการกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ หรือกระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก อันเป็นเหตุให้สหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการหรือฐานะการเงิน ตามรายงานการสอบบัญชีหรือตามรายงานการตรวจสอบ เป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่ในกรณี การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ การควบสหกรณ์ การแยกสหกรณ์ การเลิกสหกรณ์ ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมาประชุม ทั้งนี้ ถ้าในปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเฉพาะตัว ผู้นั้นจะออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้ (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”

 

มีคำถามว่า กรรมการผู้หนึ่งผู้ใดจะงดออกเสียงในวาระพิจารณาเพื่อการวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ได้หรือไม่ และหากกรรมการงดออกเสียงจะส่งผลประการใด มีข้อกฎหมายให้พิจารณา ดังนี้

 

มาตรา 51/2 บัญญัติว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายต่อสหกรณ์ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

(2) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์

(3) ดำเนินกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ หรือขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการ ที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์

เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้ใดมีส่วนร่วมในการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้นั้นต้องรับผิดร่วมกันกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ในความเสียหายต่อสหกรณ์

 

มาตรา 51/3 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 51/2 ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) พิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ร่วมกระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์

(2) ได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยปรากฏในรายงานการประชุมหรือได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม

 

จากข้อกฎหมายดังกล่าว สมมติว่า ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการครั้งหนึ่ง คณะกรรมการลงมติอันเป็นการดำเนินกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ โดย สหกรณ์แห่งนี้ข้อบังคับกำหนดให้มีกรรมการ 15 คน (ประธาน 1 คน และกรรมการ 14 คน) ปรากฏว่าวันประชุมมีกรรมการมาประชุม 14 คน (เป็นวาระการประชุมกรรมการฯ ที่ไม่มีวาระการเสนอให้ที่ประชุมใหญ่แก้ไขข้อบังคับ) มีกรรมการลงมติให้ดำเนินการ 8 คน กรรมการลงมติไม่เห็นด้วย 3 คน กรรมการงดออกเสียง 3 คน และกรรมการไม่มาประชุมเนื่องจากป่วยหนัก 1 คน (มีใบลาหรือหลักฐานการป่วย) ผลของมติกรรมการ ที่ส่งผลต่อการดำเนินการของสหกรณ์ จะส่งผลอย่างไรต่อกรรมการที่ลงมติครั้งนี้

1) กรรมการที่ลงมติให้ดำเนินการ 8 คน ต้องรับผิดตามมาตรา 51/2

2) กรรมการที่ลงมติไม่เห็นด้วย 3 คน ไม่ต้องรับผิด แต่ต้องบันทึกรายงานการประชุมให้ชัดเจน (มาตรา 51/3)

3) กรรมการที่ไม่มาประชุมเพราะป่วย ไม่ต้องรับผิด

4) กรรมการที่งดออกเสียง 3 คน ต้องร่วมรับผิด เพราะมิได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (รู้ว่าผิดก็ยังเฉย) แต่หากได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม ก็ไม่ต้องรับผิด

 

ทั้งนี้จะเห็นว่า การจดบันทึกรายงานการประชุมของสหกรณ์มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมใหญ่ก็ดี หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือการประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ตลอดจนการประชุมอื่น ๆ เช่น การประชุมกลุ่มสมาชิก การจดบันทึกรายงานการประชุมต้องมีรายละเอียดที่ครบถ้วน มีการอ้างอิงข้อกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติที่ประชุมใหญ่ มีการอ้างถึงความจำเป็น วิธีการ และผลที่จะเกิด แสดงให้เห็นเจตนาที่ชัดแจ้ง

 

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ในแต่ละปีมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เนื่องจากกรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้ง ให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของกรรมการ ดำเนินการสหกรณ์ทั้งหมดโดยวิธีจับฉลาก และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ (วรรค 2 มาตรา 50) ฉะนั้น หากจดบันทึกรายงานการประชุมไว้ไม่ชัดแจ้ง และหากมีข้อสงสัยที่จะต้องวินิจฉัย ก็จะต้องเสียเวลาในการสืบหาเจตนาที่แท้จริง หากจะต้องดำเนินการทางกฎหมายก็ใช้เป็นหลักฐานที่ไม่มีน้ำหนัก

 

อนึ่ง หากพิจารณาจากวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการของสหกรณ์ ตามประเภทสหกรณ์ที่จัดตั้งและจดทะเบียนตามกฎหมาย ผมมองไม่เห็นเลยว่ามีเรื่องใดบ้างที่กรรมการจะงดออกเสียง เพราะมันมีแต่เรื่องที่ทำได้กับทำไม่ได้ ประกอบกับสหกรณ์มีบรรดาระเบียบต่าง ๆ ซึ่งกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการ ยิ่งช่วยให้การลงมติออกเสียงต่าง ๆ ง่ายมากกว่าที่จะงดออกเสียง ทั้งนี้หากไม่แน่ใจจริง ๆ ก็อาจหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะดำเนินการลงมติก็ยิ่งป้องกันความผิดพลาดเสียหาย

 

ทั้งนี้ การงดออกเสียงในการประชุมอื่น ๆ ในองค์กรอื่น ๆ จะทำได้หรือไม่ได้ให้พิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และข้อบังคับการประชุมของแต่ละองค์กร ใช่ว่าการงดออกเสียงจะเป็นการแสดงเจตนาที่เป็นสากล นำมาใช้ได้ในทุก ๆ องค์กร โดยเฉพาะในสหกรณ์ ผมเห็นว่าการงดออกเสียงไม่ได้เกิดประโยชน์อันใดต่อสหกรณ์เลย อาจเข้าข่าย “งดเว้นกระทำการ” เสียด้วยซ้ำ (ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ)

ตัวอย่างข้อบังคับการประชุมขององค์กรอื่น ๆ และข้อวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับ “การงดออกเสียง”

 

1) ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 57 (1) กำหนดการออกเสียงลงคะแนน 3 ความเห็น คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และไม่ออกเสียง ทั้งนี้รัฐสภาได้อธิบายเพิ่มเติมว่า งดเว้นการออกเสียง หมายถึง การที่สมาชิกสภาไม่ออกเสียงหรืองดการแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติหรือข้อปรึกษาที่ต้องมีการลงมติในที่ประชุมสภา คะแนนเสียงของสมาชิกสภาที่งดเว้นการออกเสียงไม่นำมานับรวมเป็นเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จึงไม่มีผลในทางสนับสนุนหรือคัดค้านฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีที่ใช้เสียงข้างมากธรรมดาในการชี้ขาดญัตติหรือข้อปรึกษานั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการชี้ขาด การงดเว้นการออกเสียงก็อาจมีผลเท่ากับเป็นการไม่เห็นด้วยกับญัตตินั้นได้ เช่น ในกรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 151 ซึ่งกำหนดให้มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การงดเว้นการออกเสียงจึงทำให้เกิดผลเท่ากับว่าไม่เห็นด้วยกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนั้นนั่นเอง (https://library.parliament.go.th/th/node/4180)

 

2) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การหามติของ ก.อบต.จังหวัด กรณีกรรมการลงมติเห็นชอบ น้อยกว่าจํานวนกรรมการที่งดออกเสียง (เรื่องเสร็จที่ 1178/2558) สรุปว่า การนับคะแนนเสียงต้องนับจากเสียงที่ลงคะแนนโดยให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นมติของคณะกรรมการ ส่วนการงดออกเสียงเป็นการไม่ลงคะแนนเสียงจึงไม่อาจนับเป็นเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยมีการอธิบายเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียง ว่า

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า โดยทั่วไปหลักการหามติของคณะกรรมการโดยการนับคะแนนเสียงนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ

 

(1) เสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple Majority) หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของผู้ซึ่งประกอบเป็นองค์ประชุมและได้ออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในเรื่องนั้น การงดออกเสียงลงคะแนนหรือไม่อยู่ในที่ประชุมไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมไม่ถือว่าเป็นการออกเสียงจึงไม่อาจนับคะแนนเหล่านั้นไปรวมกับการออกเสียงลงคะแนนของฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้

 

(2) เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (Absolute Majority) หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนทั้งหมด ซึ่งอาจกำหนดให้เกินกึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น เช่น สองในสาม หรือสามในสี่ของสมาชิกหรือกรรมการทั้งหมดหรือเท่าที่มีอยู่ ในกรณีนี้การหามติของที่ประชุมจึงต้องให้ได้คะแนนเสียงตามที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะมีผู้ลงคะแนนเสียงเท่าใด มาประชุมเท่ใด หรืองดออกเสียงเท่าใด คะแนนเสียงที่จะถือเป็นมติได้ต้องได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้เท่านั้น

 

3) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การลงมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องเสร็จที่ 263/2565 สรุปว่า แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ประกอบกับข้อ 21 แห่งระเบียบคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เนื่องจากกฎหมายและระเบียบดังกล่าวมิได้บัญญัติให้มีการนับคะแนนเสียงข้างมากไว้เป็นอย่างอื่น การนับคะแนนเสียงในกรณีนี้จึงต้องถือหลักการนับคะแนนเสียงข้างมากธรรมดาที่จะต้องนับคะแนนเสียงเฉพาะแต่กรรมการผู้ซึ่งออกเสียงลงคะแนนในเรื่องดังกล่าวเท่านั้น ส่วนกรรมการที่งดออกเสียงย่อมไม่อาจนำมานับเป็นคะแนนเสียงได้ อนึ่ง คณะกรรมการเป็นองค์กรกลุ่ม ประกอบด้วยบุคคลซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและมีความรู้ความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน การทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการก็เพื่อให้มีองค์ประกอบที่มาจากบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันปรึกษาหารือ ระดมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกันเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นมติ ซึ่งเมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ แล้ว

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า กฎหมายประสงค์ที่่จะให้มีคณะกรรมการที่มีความคล่องตัวและเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม ประกอบกับมาตรา 17 (9) และมาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯกำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจหน้าที่พิจารณากำหนดโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 80 มาตรา 81 มาตรา 82 และมาตรา 83 รวมทั้งฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตลอดจนมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง โดยคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทำผิด ดังนั้น กรรมการเสียงข้างน้อยและกรรมการที่งดออกเสียงจึงมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาลงมติในวาระพิจารณาการกำหนดจำนวนค่าปรับทางปกครอง…

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 57 (1) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การหามติของ ก.อบต.จังหวัด กรณีกรรมการลงมติเห็นชอบ น้อยกว่าจํานวนกรรมการที่งดออกเสียง (เรื่องเสร็จที่ 1178/2558) จะเห็นว่า การกำหนดเรื่องการออกเสียงเป็นเรื่องที่ต้องกำหนดไว้ในข้อบังคับ หรือข้อบังคับการประชุมของแต่ละองค์กร แต่หากไม่ได้กำหนดเรื่อง “การงดออกเสียงไว้” หรือกำหนดเพียง “ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก” หากมีกรณีปัญหาให้ต้องวินิจฉัย เช่น คะแนนเสียงข้างมากน้อยกว่าคะแนนงดออกเสียง จะต้องวินิจฉัยตามแนวทาง เรื่องเสร็จที่ 1178/2558 แต่ในกรณีของสหกรณ์ก็ให้พิจารณาตามข้อกฎหมายที่ได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน

ปัญหาทางการเงินที่สำคัญของสังคมไทยในปัจจุบันคือปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต ปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเทียบกับในอดีตหรือเทียบกับต่างประเทศ โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 1/65 พบว่าสถาบันรับฝากเงินและสถาบันการเงินอื่น มียอดเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) รวมทั้งสิ้น 14.64 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแล้ว จะพบว่า ไตรมาส 1/65 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 89.2% ต่อจีดีพี ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/64 ซึ่งหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 90.0% ต่อจีดีพี (ประชาชาติธุรกิจ, 25 สิงหาคม 2565) ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ชี้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 89.3% และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้

 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนดังกล่าว หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาสำคัญจนกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทย หนี้ครัวเรือนคือหนี้ที่ประชาชนกู้ยืมจากผู้ให้กู้ สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการนอกระบบ หรือแหล่งเงินกู้อื่น ๆ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายตามความต้องการที่แตกต่างกันไป โดยการก่อหนี้หรือการกู้ยืมเงินนั้นช่วยให้เราสามารถใช้จ่ายได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และยามจำเป็นเกินกว่ารายได้และเงินออมที่มีอยู่ อย่างไรก็ดี การก่อหนี้เปรียบเสมือนการนำรายได้ในอนาคตมาใช้ แม้จะทำให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในปัจจุบัน แต่ในอนาคตผู้กู้จำเป็นต้องทยอยชำระหนี้คืนทำให้รายได้ที่หามาเหลือใช้น้อยลง และหากครัวเรือนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจก่อหนี้มากเกินไปก็จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจผ่านทางการบริโภคของครัวเรือนในอนาคตจะลดลง และความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดน้อยลง ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ยืม ในกรณีที่การผิดนัดชำระหนี้มีจำนวนมาก ระบบการเงินจะได้รับความเสียหายจนไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติและกระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2562)

 

ด้านสถานการณ์ทางการเงินของสมาชิกสหกรณ์ในระบบสหกรณ์พบว่า สัดส่วนเงินออมต่อสมาชิกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มีอัตราต่ำกว่าสัดส่วนหนี้สินต่อสมาชิกซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า แสดงให้เห็นว่าสมาชิกส่วนใหญ่ยังมีปัญหาหนี้สินเช่นเดียวกับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของประเทศ

 

นอกจากปัญหาหนี้สินที่กล่าวมา ปัญหาที่สำคัญอีกประการคือปัญหาอาชญากรรมทางการเงิน เช่น การทุจริต หลอกลวง ยักยอก หากเกิดขึ้นในระบบสหรณ์ ก็จะส่งผลให้สมาชิกเดือดร้อน ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการให้บริการทางการเงินของสหกรณ์ และหากปัญหาดังกล่าวมีความถี่สูง มีความเสียหายจำนวนมาก ก็อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสหกรณ์โดยรวม

 

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงินให้แก่สมาชิกได้อย่างไร

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน ขับเคลื่อนภายใต้กรอบแนวคิดการวางแผนการเงินส่วนบุคคล และกรอบแนวคิดเทคโนโลยีทางการเงิน

 

กรอบแนวคิดการวางแผนการเงินส่วนบุคคล

เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเงินหรือรายได้ที่ได้มาและวางแผนใช้เงินนั้นให้ตรงตามจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ทางการเงินที่ได้มาอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนทางการเงินประกอบด้วย การวางแผนกระแสเงินสด (รายรับ-รายจ่าย) การวางแผนการออม การวางแผนการลงทุน การวางแผนภาษี การวางแผนประกันภัย การวางแผนเกษียณ และการวางแผนมรดก โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ของครัวเรือน สร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้กับครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนเกิดการใช้จ่ายและการก่อหนี้ที่เกินตัว ให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุน รวมถึงรู้จักวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยง การปลดเปลื้องหนี้เดิม และช่วยส่งเสริมความมั่นคงและปลอดภัยในระบบการเงินของสหกรณ์โดยรวม

 

กรอบแนวคิดเทคโนโลยีการเงิน

เทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: Fintech) มักถูกนำมาใช้ในการเรียกบริษัท กลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการให้บริการด้านการเงินและการลงทุนให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น Fintech อาจจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ Traditional Fintech และ Emergent Fintech

 

Traditional Fintech เป็นธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่ภาคการเงินโดยทั่วไป เช่น บริษัทผู้พัฒนาบริการ Internet Banking หรือ Mobile Banking ให้แก่สถาบันการเงินเป็นต้น

 

ส่วน Emergent Fintech เป็นธุรกิจหรือกลุ่มผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโยลีเพื่อลดบทบาท หรือกำจัดตัวกลางทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น Paypal เป็นต้น Fintech ช่วยลดต้นทุนและเวลาในการทำธรุกรรมทางการเงินและการลงทุน ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน (พิมรักษ์ พรหมปาลิต, ออนไลน์)

 

เทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech) กำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันจนแทบจะขาดไม่ได้ หนึ่งในพัฒนาการด้าน FinTech ที่เด่นชัดที่สุดของไทยคือ การพัฒนามาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงินที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment) ให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถรับชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการขยายช่องทางการรับชำระเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ทำให้ร้านค้ามีต้นทุนต่ำลง ประชาชนยังสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือได้ (Mobile Banking) โดยไม่ต้องจำชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านให้ยุ่งยาก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล หรือ Biometrics ที่เพียงแค่สแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้า ผู้ใช้บริการก็สามารถยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งาน Mobile Banking ได้ นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังเริ่มใช้ Biometrics ในการเปิดบัญชีเงินฝาก เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความถูกต้องแม่นยำของการยืนยันตัวลูกค้า เป็นส่วนเสริมนอกเหนือจากการตรวจสอบโดยพนักงาน ด้วยเทคโนโลยีการใช้ข้อมูล Biometrics ที่กำลังจะมีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต การพัฒนาระบบ National Digital Identity (NDID) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลการพิสูจน์ยืนยันตัวตนลูกค้าระหว่างหน่วยงาน ด้วยวิธีที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง จะช่วยให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานหลายครั้งเช่น การเปิดบัญชีและการขอสินเชื่อกับผู้ให้บริการรายใหม่ได้สะดวกมากขึ้น โดยใช้หลักการตรวจสอบยืนยันข้อมูลกับหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือผู้ให้บริการที่เคยรู้จักตัวตนของผู้ขอใช้บริการแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดการให้บริการใหม่อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น Digital Lending หรือ Bio-Payment อาทิ การชำระเงินด้วยใบหน้าและลายนิ้วมือ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, ออนไลน์)

 

นอกจากเทคโนโลยีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้งานโดยตรงที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ยังมีเทคโนโลยีเบื้องหลัง หรือ เทคโนโลยี “หลังบ้าน” ที่จะเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานของผู้ให้บริการ ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ถูกลง ได้แก่

1) เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) เช่น เทคโนโลยี Blockchain ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินมากที่สุด ด้วยคุณลักษณะเด่นของ Blockchain ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลชุดเดียวกัน โดยข้อมูลไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ที่เดียว มี ระบบ Consensus ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องรับทราบและยอมรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล ทำให้ข้อมูลในระบบมีความโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือสูง สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา และมั่นคงปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ โดยในภาคการเงินไทย ได้เริ่มมีการนำ Blockchain มาใช้ในการให้บริการหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) ที่ช่วยให้สถาบันการเงินมีกระบวนการผลิต จัดเก็บ และนำส่งหนังสือค้ำประกันที่รวดเร็ว ปลอดภัย และน่าเชื่อถือได้ดีกว่าในรูปแบบกระดาษ ซึ่งนั่นหมายถึงประโยชน์ต่อภาคธุรกิจที่จะสามารถมั่นใจได้ว่าหนังสือค้ำประกันมีความถูกต้อง แม่นยำและลดต้นทุนในการจัดเก็บและนำส่งหนังสือค้ำประกันไปให้กับคู่ค้าอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำเอา Blockchain เข้ามาใช้เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง และรวดเร็วมากขึ้นด้วย

 

2) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) คือการสร้างความฉลาด ความเข้าใจ ความรู้ ที่มีในมนุษย์ให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดย AI นั้นสามารถประยุกต์ใช้ในการให้ บริการทางการเงินได้หลากหลาย อาทิ การรู้จำตัวอักษร (Optical Character Recognition: OCR) เช่น การอ่านข้อมูลบัตรประชาชน ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว และลดความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลผิด การรู้จำคำพูด (Speech Recognition) เช่น การพูดคำสั่งเมื่อโทรเข้า Call Center ที่เป็นระบบอัตโนมัติที่เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และการเรียนรู้ของเครื่อง หรือ Machine Learning ที่สามารถเรียนรู้ และทำนายข้อมูลได้ผ่านการศึกษาและสร้างอัลกอริทึม (Algorithm) ในภาคการเงินได้เริ่มมีการนำ AI เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ โปรแกรมตอบกลับการสนทนาผ่านตัวอักษรแบบอัตโนมัติ (Chatbot) ซึ่งช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการและลดการใช้แรงงานมนุษย์ลง การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินคุณภาพของลูกค้าผู้ขอกู้เงินด้วย AI ที่ใช้ Machine Learning ในการเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต ลักษณะการใช้จ่ายและการชำระเงิน เพื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ วงเงินปล่อยกู้ที่เหมาะสม มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

 

3) เทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลแอปพลิเคชัน (Application Programming Interface: API) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลแอปพลิเคชัน (Application) หรือระบบงานต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทั้งสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้นตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการบนพื้นฐานของความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการจัดการความปลอดภัยที่เหมาะสม (ธนาคารแห่งประเทศไทย, ออนไลน์)

 

กิจกรรมสร้างสุขทางการเงิน

1. กิจกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน กิจกรรมส่งเสริมการออม กิจกรรมคลินิกแก้หนี้ กิจกรรมที่ปรึกษาทางการเงิน ให้แก่สมาชิก

 

2. กิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินสหกรณ์ (Cooperative FinTech) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก พัฒนาระบบการให้บริการทางการเงินแก่สมาชิกที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง และสร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิกในการใช้บริการทางการเงินของสหกรณ์ เกิดความพึงพอใจในความสะดวก รวดเร็ว และความถูกต้องแม่นยำของการให้บริการทางการเงิน อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของสมาชิก ช่วยให้สมาชิกสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมั่นใจ ลดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของสหกรณ์ (Operation Risk) ช่วยให้สหกรณ์มีต้นทุนการบริการทางการเงินที่ต่ำลง

 

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน มีเป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้แก่สมาชิกสหกรณ์ ป้องกันไม่ให้สมาชิกก่อภาระหนี้ที่เกินตัว ส่งเสริมให้สมาชิกให้ความสำคัญกับการออมทรัพย์ ช่วยให้สมาชิกรู้จักวางแผนการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน สร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิกในการใช้บริการทางการเงินของสหกรณ์ ให้เกิดความพึงพอใจในความสะดวก รวดเร็ว และความถูกต้องแม่นยำของการให้บริการทางการเงิน อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของสมาชิก ช่วยให้สมาชิกสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมั่นใจ ลดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของสหกรณ์ ช่วยให้สหกรณ์มีต้นทุนการบริการทางการเงินที่ต่ำลง ช่วยให้สหกรณ์บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก โดยวิธีร่วมกันดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ร่วมกัน อันจะนำมาซึ่งการกินดี อยู่ดี ของสมาชิกอย่างยั่งยืนต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มติสวรรค์ โมฆะ และสัตยาบัน

 ครั้งแรก ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็น “เจ้าหน้าที่” (ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง หรือตำแหน่งอื่นใดในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ข้อ 6 แห่งระเบียบกรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ พ.ศ. 2562)) ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมสหกรณ์ (ข้อ 7 แห่ง ระเบียบฯ ที่อ้างถึงแล้ว) ซึ่งต้องไปเข้าร่วมประชุมต่าง ๆ ของสหกรณ์ เพื่อแนะนำและให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการดำเนินการ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ ขอถอดบทเรียนในอดีตของตนเองว่าไปร่วมประชุมแบบ กาแฟรสดี ขนมเบรกอร่อย” ข้อบังคับและบรรดาระเบียบสหกรณ์ ไปหาเอาข้างหน้า หนังสือหารือบรรดากฎต่าง ๆ ของนายทะเบียนสหกรณ์ไม่เคยอ่าน เขาถามมาทีอ่านที อ่านเอาตรงนั้นแหละ อาศัยว่าใจสู้ ตอบ ๆ ไป 

ครั้งหนึ่งคณะกรรมการดำเนินการลงมติแบบแปลก ๆ คือลงมติไม่เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ ผมก็แนะนำว่า ไม่เป็นไปตามระเบียบฯ นะครับ กรรมการท่านว่า เป็นระเบียบที่กรรมการกำหนดถือใช้กันเองนายทะเบียนแค่รับทราบ ฉะนั้นจะลงมติอย่างไรก็เป็นเรื่องของกรรมการ เอาไงดีละ ตอนนั้นพูดได้คำเดียวว่า “ครับ” ยังดีที่ว่ามติดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอะไร และเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์ จึงรอดตัวไป 

กาลต่อมาประสบการณ์สอนให้ขยันหมั่นเพียรอ่านหนังสือเตรียมตัวและเก็งข้อสอบ (เรื่องสำคัญที่เขาจะพิจารณากัน) เพราะต้องเข้าร่วมประชุมกลุ่มสมาชิก ร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และร่วมประชุมใหญ่ ทั้งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรหลากหลายประเภท หลากหลายขนาด ผู้คนที่เข้าประชุมก็มีความหลากหลาย และในที่สุดก็พอเข้าใจคำว่า “มติสวรรค์” คำ ๆ นี้ต้องขอบพระคุณผู้สอบบัญชีท่านหนึ่ง ท่านเทศนาผมพอสมควรในเรื่องนี้ ลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการตามกฎหมายสหกรณ์ ดังต่อไปนี้นะครับ 

สหกรณ์เป็นนิติบุคคล (มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คน (ทั้งนี้สหกรณ์จะกำหนดให้มีจำนวนคณะกรรมการดำเนินการจำนวนเท่าใดก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนในข้อบังคับของสหกรณ์) ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกเป็นผู้แทนสหกรณ์ (มาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ (มาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ข้อบังคับของสหกรณ์ และมติที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก (มาตรา 51/1 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

ถ้าที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ลงมติอันเป็นการ ฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ ให้นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งยับยั้งหรือเพิกถอนมตินั้นได้ (มาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) สำหรับสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน กฎหมายยังกำหนดว่า “ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นว่าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 89/2 ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง หรือระงับการดำเนินการนั้นได้ ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นว่าการกระทำตามวรรคหนึ่งนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสหกรณ์หรือสมาชิก ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการนั้น พ้นจากตำแหน่ง หรือสั่งให้เลิกสหกรณ์ดังกล่าวได้ แล้วแต่กรณี และให้นำมาตรา 24 มาตรา 25 และมาตรา 73 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” (มาตรา 89/3 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายต่อสหกรณ์ (มาตรา 51/2 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ทั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 51/2 หากพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ร่วมกระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ หรือได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยปรากฏในรายงานการประชุมหรือได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม (มาตรา 51/3 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

จากข้อกฎหมายดังกล่าว จะเห็นว่า ที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะลงมติอันเป็นการ ฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ ไม่ได้ ถ้าฝ่าฝืนนายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งยับยั้งหรือเพิกถอนมตินั้นได้ สรุป ไม่มีมติสวรรค์ 

แต่ทว่าก็มีข้อกฎหมายที่พอจะเป็นทางออกได้ ถ้ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ทำแล้วไม่เกิดความเสียหาย หรือเกิดประโยชน์อย่างฉบับพลันทันที แบบที่รอไม่ได้ เช่น สหกรณ์ผู้ใช้น้ำแห่งหนึ่งติดหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการสูบน้ำให้บริการสมาชิก เนื่องจากเพิ่งติดตั้งหม้อแปลงใหม่ จึงไม่ได้ตั้งงบประมาณในการจัดซื้อหม้อแปลไฟฟ้าใหม่ไว้ในแผนงานและแผนงบประมาณประจำปี ซึ่งอนุมัติโดยที่ประชุมใหญ่ ปรากฏว่าหม้อแปลงเกิดระเบิด ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดภัยแล้งและมีการกำหนดระยะเวลาในการสูบน้ำของทางราชการ ข้าวในนาของสมาชิกส่วนใหญ่ต้องการน้ำพอดี หากไม่สูบน้ำภายใน 7 วันข้าวตายแน่ สหกรณ์จะประชุมใหญ่วิสามัญก็มีค่าใช้จ่าย และอาจไม่ทันการ จะซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าราคาประมาณ 120,000 บาท ไปก่อนได้ไหม แล้วค่อยไปขออนุมัติในคราวประชุมใหญ่ครั้งต่อไป แบบนี้ทำได้หรือไม่ เหตุการณ์แบบนี้ถ้ารักตัวกลัวมีความผิดก็ต้องยืนกระต่ายขาเดียวให้สหกรณ์เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ แต่ถ้าเข้าใจทุกข์ชาวบ้านและเชื่อในเจตนาบริสุทธิ์ ผมก็จะแนะนำว่าซื้อไปเลยเดี่ยวค่อยให้ที่ประชุมใหญ่รับทราบในคราวประชุมครั้งต่อไป ซึ่งเรื่องนี้มีข้อกฎหมายให้พิจารณา ดังนี้ 

ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ (มาตรา 823 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) 

แต่การจะให้สัตยาบันแก่การนั้น ไม่ใช่ว่าจะให้ได้ทุกเรื่องทุกกรณี ให้พิจารณาด้วยว่า โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ … (มาตรา 172 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ฉะนั้นคณะกรรมการดำเนินการพึงตระหนักว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) และนิติกรรมใดมีเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา 188 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

 ทางที่ดีที่สุดการลงมติต่าง ๆ อย่าฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ กระทำการด้วยความรอบคอบเพื่อประโยชน์ของหมู่มวลสมาชิก ไม่กระทบต่อชุมชน และสังคม ตลอดจนไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการดีที่สุดครับ การกำหนดแผนงานและแผนงบประมาณเพื่อเสนอที่ประชุมใหญ่อนุมัติก็ควรกำหนดให้รอบคอบรัดกุม ประเมินความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินงานต่าง ๆ ซึ่งอันงบประมาณนั้น กำหนดแล้วไม่ได้ใช้ หรือใช้แล้วเหลือ ดีกว่าไม่ได้กำหนดแล้วจำเป็นจะต้องใช้ หรือกำหนดแล้วไม่พอจะใช้ 

อนึ่ง อำนาจใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ คณะกรรมการดำเนินการจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติให้ดำเนินการแล้วเท่านั้น เช่น การสมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือลาออกจากการเป็นสมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ อนุมัติงบการเงินประจำปีและจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ กำหนดค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่หรือค่าตอบแทนอื่นของผู้ตรวจสอบกิจการ อนุมัติแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์ หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ การกำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก และค่าเบี้ยประชุมของกรรมการดำเนินการ กรรมการอื่น ๆ อนุกรรมการ และที่ปรึกษา ตลอดจนการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของสหกรณ์ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ อำนาจใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ ในบางกรณีต้องแจ้งให้นายทะเบียนสหกรณ์ทราบ หรือได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ หรือนายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนก่อน จึงจะมีผลให้ดำเนินการได้ หรือมีผลบังคับได้ เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ การเลิกสหกรณ์ การควบสหกรณ์ การแยกสหกรณ์ การจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรในระบบสหกรณ์

ปัญหาสำคัญของเกษตรกรไทย

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรา นี่แสนอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองราบคาบ ด้วยอานุภาพพ่อขุน รามคำแหงค้ำจุน ให้ชาติไทยไพศาล สร้างทำนาไร่ ทั่วแคว้นแดนไทย เราไถเราหว่าน หมากม่วงหมากขาม หมากพร้าวหมากลาง พืชผลต่าง ๆ ล้วนงามตระการ” (หลวงวิจิตรวาทการ, 2497) 

สมัยเด็ก ๆ ได้ยินเพลงนี้บ่อย ๆ จนร้องตามได้ พอโตเป็นหนุ่มก็ไม่ค่อยได้ยินเพลงนี้แล้ว แต่ได้ยินมีคนประชดว่า “ในน้ำมียา ในนามีหนี้” แทน 

ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นการพัฒนาแบบทุนนิยม แบบที่ถ่ายโอนทรัพย์ออกจากชุมชนหมู่บ้าน เพื่อเลี้ยงดูเมืองและเพื่อส่งออกต่างประเทศ ไม่ใช่การพัฒนาทุนนิยมแบบที่เพิ่มประสิทธิผลในกิจการอุตสาหกรรมแบบที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุโรป การพัฒนาของทุนนิยมในประเทศไทยจึงเป็นไปในลักษณะที่ผลประโยชน์หรือผลได้ของการพัฒนาตกเป็นของคนเพียงกลุ่มเดียว เมืองกับชนบท ชนชั้นนายทุนและข้าราชการกับชนชั้นชาวนา มีความแตกต่างกันมากด้านความเจริญ จนมีคำกล่าวที่ว่าที่แสดงถึงความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชนบทก็ถูกทำลายไปมาก (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2545: 115-116) 

พิสัณฑ์ โบว์สุวรรณ และคณะ (2565) สรุปว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตของเกษตรกรที่เปลี่ยนไปในทิศทางวัตถุนิยมตามกระแสสังคมที่อิงสังคม วัฒนธรรมชาติตะวันตกมาก นโยบายของภาครับที่ผิดพลาดในการสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ และการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรแบบนโยบายประชานิยมก่อให้เกิดหนี้สินที่สะสม 

ขณะที่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2565) สรุปว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้และยากจน ใด้แก่ เกษตรกรเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต เงินทุน ความรู้และทักษะด้านต่างๆ (lack of access) เช่น เกษตรกรยากจนเข้าไม่ถึงสินเชื่อ และไม่มีเงินออม เกษตรกรขาดศักยภาพ (lack of capacity) ด้านต่างๆ เช่น ขาดความสามารถด้านการเพาะปลูกด้านการจัดการความเสี่ยงภาคเกษตร ตลอดจนเกษตรกรขาดความพยายาม (lack of effort) เช่น เกษตรกรอยากรวยแต่ไม่อยากทำงานหนัก โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ การดำเนินมาตรการหรือนโยบายของรัฐที่ช่วยเหลือนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีความหวังและความเชื่อที่ภาครัฐจะยื่นมือเข้าช่วยเสมอ 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2562) รายงานหนี้สินของครัวเรือนเกษตร ปี 2562 ว่า ครัวเรือนที่มีรายได้หลักจากการทำเกษตร ในปี 2562 จำนวน 2,857,625 ครัวเรือน หนี้สินของครัวเรือนเกษตรที่เป็นหนี้ พ.ศ. 2554 – 2562 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ปี 2554 จำนวน 140,404 บาท/ครัวเรือน ปี 2556 จำนวน 168,119 บาท/ครัวเรือน ปี 2558 จำนวน 200,689 บาท/ครัวเรือน ปี 2560 จำนวน 239,034 บาท/ครัวเรือน และ ปี 2562 จำนวน 253,295 บาท/ครัวเรือน 

เดชรัต สุขกำเนิด (2565) สรุปว่า รายได้ของเกษตรกรไทยลดลงร้อยละ 27 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 หรือเพิ่มขึ้นจาก 221,490 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 269,159 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2564 ในจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีเกษตรกรลูกหนี้ถึงร้อยละ 41 ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำ และยังมีเกษตรกรลูกหนี้ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) อีกเกือบ 1.4 ล้านราย และในจำนวนลูกหนี้สูงอายุดังกล่าว มีเกือบ 180,000 ราย ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หรือ NPL) 

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2565) วิเคราะห์ว่า ร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรไทยมีหนี้สิน และมีหนี้ปริมาณมากเฉลี่ยถึง 450,000 บาทต่อครัวเรือน อันดับหนี้คงค้างต่อครัวเรือนแยกตามวัตถุประสงค์ในการกู้ พบว่าร้อยละ 30 ของครัวเรือนมีหนี้คงค้างเกิน 500,000 บาท และครัวเรือนใช้หนี้สินในหลายวัตถุประสงค์ รวมถึงการกู้เพื่อชำระหนี้อื่น แสดงให้เห็นว่าการก่อหนี้สินเป็นเครื่องมือจัดการทางการเงินอย่างรอบด้านของครัวเรือนจริง ๆ 

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2566) ได้รายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร ระหว่าง ปี 2561 – 2565 พบว่าในปี 2565 ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสด จำนวน 420,198 บาท มาจาก รายได้เงินสดทางการเกษตร จำนวน 206,310 บาท/ครัวเรือน และรายได้เงินสดนอกภาคการเกษตร จำนวน 213,888 บาท/ครัวเรือน มีรายจ่ายเงินสด จำนวน 306,608 บาท โดยมีรายจ่ายเงินสดทางการเกษตร จำนวน 126,039 บาท/ครัวเรือน และรายจ่ายเงินสดนอกภาคการเกษตร จำนวน 180,569 บาท โดยรายจ่ายเงินสดนอกภาคการเกษตรจำแนกเป็น เพื่อการการบริโภค จำนวน 65,996 บาท และเพื่อการการอุปโภค และอื่น ๆ จำนวน 114,572 บาท รายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตร จำนวน 80,271 บาท รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือน จำนวน 294,159 บาท เงินสดคงเหลือก่อนชำระระหนี้ จำนวน 113,590 บาท อายุเฉลี่ยหัวหน้าครัวเรือน 59.44 ปี ขนาดครัวเรือน 3.68 คน/ครัวเรือน ขนาดแรงงาน อายุ 15-64 ปี 2.48 คน/ครัวเรือน ขนาดเนื้อที่ถือครอง จำนวน 24.92 ไร่/ครัวเรือน 

สาเหตุของปัญหาหนี้สินภาคการเกษตรที่กล่าวมาส่งผลให้ ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้น้อย รายได้ไม่แน่นอนสูง และมีปัญหาสภาพคล่อง โดยร้อยละ 27 ของครัวเรือนมีรายได้รวมทั้งปีไม่พอรายจ่ายจำเป็น ร้อยละ 42 มีรายได้เหลือจากการใช้จ่ายจำเป็นไม่พอชำระหนี้ และไม่พอลงทุนในการทำเกษตรรอบต่อไป รายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจบริหารจัดการได้ยาก (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2565) การที่หนี้สินของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อการจำกัดอำนาจซื้อของครัวเรือน การจำกัดทางเลือกในการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างการผลิตของเกษตรกร การส่งต่อหนี้สินไปยังคนรุ่นลูกหลาน และการขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้กว้างขึ้นอีกในระยะยาว (เดชรัต สุขกำเนิด, 2565) 

การส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรคืออะไร มีเป้าหมายอย่างไร

จากการศึกษาพบว่ามีผู้ให้นิยามความหมายของคำว่า “การส่งเสริมการเกษตร หรือการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร” ไว้จำนวนมาก แต่ที่ผมเห็นว่าครอบคลุมและทันสมัยคือการนิยามของ พัฒนา สุขประเสริฐ (2557) ซึ่งอธิบายว่า การส่งเสริมการเกษตรเป็นการบูรณาการความรู้เพื่อให้เกษตรกรได้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสะอาดได้อย่างมั่นใจ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว ร่วมกับการพัฒนาให้ชุมชนและสังคมได้มีอาหารที่ปลอดภัยอย่างมั่นคง และมีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเพียงพอ จากการได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมั่นใจ 

นิยามความหมายดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาการเกษตรตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (หลัก) ประเด็น: 1 การเกษตรสร้างมูลค่า เน้นเกษตรคุณภาพสูงและขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างฐานอนาคตใหม่ที่สร้างรายได้สูง ทั้งเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัยเกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูปและเกษตรอัจฉริยะเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 

สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น ประเด็นการเกษตร (หลัก) ที่มีแนวทางการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเครือข่าย ความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ รวมถึงเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ตลอดจนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดทิศทางว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยกำหนดหมุดหมายการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 

หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

กลยุทธ์ที่ 11 การยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

กลยุทธ์ย่อยที่ 11.2 ยกระดับความเข้มแข็งและความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพิ่มมูลค่าของสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสนับสนุนบทบาทภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาทั้งระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาในพื้นที่ ในการเป็นผู้ให้บริการ ผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และที่ปรึกษาทางธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยีกับการปรับเปลี่ยนและต่อยอดธุรกิจการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ที่ 12 การพัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยงภาคีต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกร และนักวิชาการในพื้นที่ ในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในการพัฒนาภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน 

กลยุทธ์ย่อยที่ 12.1 สนับสนุนบทบาทองค์กรหรือสภาเกษตรกรในกลไกความร่วมมือภาครัฐภาคเอกชน และภาควิชาการในแต่ละจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงการผลิตของเกษตรกรและการดำเนินธุรกิจการเกษตรของสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ความต้องการของภาคเอกชนในระดับจังหวัดการดำเนินภารกิจของส่วนราชการระดับจังหวัด และความเชี่ยวชาญของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการแบ่งปันข้อมูล องค์ความรู้ ทักษะ และผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเหมาะสมกับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ 

กลยุทธ์ย่อยที่ 12.2 ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรในรูปแบบธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด โดยมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม 

สถาบันเกษตรกรอย่างสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรมีบทบาทในการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรอย่างไร

สหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์สหกรณ์ (มาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งมีอำนาจกระทำการดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้า การบริการ และอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ของสมาชิก ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก รับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากสมาชิก ให้กู้ ให้สินเชื่อ ให้ยืม ให้เช่า ให้เช่าซื้อ โอน รับจำนองหรือรับจำนำ ซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือของสมาชิก (มาตรา 46 (1) (3) (5) (6) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ตลอดจนมีวัตถุประสงค์เพื่อการขายหรือแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่สมาชิกผลิตขึ้น (มาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

จากวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการดังกล่าวสหกรณ์ภาคการเกษตรจึงสามารถดำเนินธุรกิจต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสมาชิก ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจให้เงินกู้ยืม ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ธุรกิจแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร 

การดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ดังกล่าวของสหกรณ์ถือว่าเป็นการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเกษตรกรร่วมกันเป็นเจ้าของสหกรณ์ ดังนั้นจึงสามารถกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจของตนเองได้โดยอิสระ ขจัดข้อจำกัดเรื่องการขูดรีดกำไรส่วนเกิน และการครอบงำต่าง ๆ จากภายนอกสหกรณ์ได้ดีที่สุด เกิดระบบการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรระหว่างสมาชิกกับสหกรณ์ได้อย่างแท้จริงโดยสหกรณ์ต้องกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรของสมาชิกอย่างครบวงจรในทุกขั้นตอนของกิจกรรมการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมการผลิต การจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การผลิต การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการจำหน่ายผลผลิต 

การเชื่อมโยงธุรกิจสหกรณ์กับกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรของสมาชิกดังกล่าวจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากสหกรณ์ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การผลิตทางการเกษตรของสมาชิก ซึ่งเริมต้นตั้งแต่กิจกรรมต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีแนวทางดังนี้ 

กิจกรรมต้นทาง

สหกรณ์ช่วยสมาชิกวางแผนการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์แนวโน้มราคาผลผลิตทางการเกษตร ความต้องการผลผลิตทางการเกษตรของตลาด การจัดหาทุนให้แก่สมาชิก การบริหารจัดการพื้นที่การผลิต (Zoning) การสำรวจความต้องการปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร (Motor Pool) การจัดตั้งกลุ่มการผลิตของสมาชิก ช่วยสนับสนุนการผลิตของสมาชิกโดยการจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมาจำหน่ายแก่สมาชิก การให้เงินกู้ยืมเพื่อการผลิตแก่สมาชิก การจัดหาระบบประกันภัยทางการเกษตร การตรวจเยี่ยมแปลง การให้การศึกษาอบรมทางการผลิตทางการเกษตรแก่สมาชิก ตลอดจนการให้บริการและการส่งเสริมทางการเกษตรต่าง ๆ เพื่อการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแก่สมาชิก 

กิจกรรมกลางทาง

สหกรณ์ดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจากสมาชิกและเกษตรกรในชุมชน เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านกลไกราคาผลผลิตทางการเกษตรในตลาด และเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกและชุมชน เช่น กิจกรรมการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร การปรับปรุงสภาพ การลดความชื้น การจัดเก็บ การขนส่ง และการแปรรูปเป็นวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายตามความต้องการของสมาชิก ชุมชน และตลาดภายนอก 

กิจกรรมปลายทาง

สหกรณ์บริหารจัดการด้านการตลาด เช่น การสร้างเครือข่ายตลาดสินค้าผลผลิตทางการเกษตรเพื่อส่งต่อผลผลิตทางการเกษตรสู่ตลาด การผลิตสินค้าและบริการตามความต้องการของตลาดในระดับต่าง ๆ มีการบริหารจัดการด้านราคาสินค้าเกษตร เช่น ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า การสร้างความยุติธรรมด้านรายได้ในการส่งต่อมูลค่าเพิ่มในแต่ละห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์และคุณค่าให้แก่สินค้าสหกรณ์ 

ส่งท้าย

ผมว่าประเทศไทยมีลักษณะของการพัฒนาเศรฐกิจ 2 รูปแบบควบคู่กันไป ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพใหญ่โดยการพึ่งพาการส่งออก การลงทุนเพื่อการผลิตทางอุตสาหกรรม และภาคบริการ ขณะเดียวกันก็มีการเชื่อมโยงมายังเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชนซึ่งพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นหลัก แม้ในช่วงยุคแรก ๆ มีการตั้งสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนด้วยการขูดรีดแรงงานส่วนเกินและให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยสูง แต่ปัจจุบันสหกรณ์มีการปรับตัวเปลี่ยนบทบาทของตัวเองให้มีบทบาทในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจส่วนบนมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับบทบาทของสหกรณ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นหากสหกรณ์ภาคการเกษตรให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรของสมาชิกอย่างจริงจังตามหลักการสหกรณ์และหลักประสิทธิภาพ คงไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก แต่จะช่วยหนุนเสริมให้เศรษฐกิจระดับฐานรากเข้มแข็ง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติให้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ...