วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2566

การรับสมาชิกสมทบของสหกรณ์

 สหกรณ์อาจรับสมาชิกสมทบได้ โดยสมาชิกสมทบต้องเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งบรรลุนิติภาวะ เว้นแต่สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่ตั้งอยู่ในสถานศึกษาอาจรับผู้ศึกษาในสถานศึกษานั้นซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะให้เป็นสมาชิกสมทบได้ (พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 41)

ด้วยกฎหมายกำหนดให้สมาชิกสมทบต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น สหกรณ์จึงไม่อาจรับนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น เป็นสมาชิกสมทบได้ เช่น วัด โรงเรียน ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ตลอดจนคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งหมายถึงบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการที่มีเงินได้พึงประเมินร่วมกันแต่ไม่มีวัตถุประสงค์จะแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากกิจการที่ทำนั้น

สมาชิกสมทบต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด สหกรณ์ต้องกำหนดคุณสมบัติอื่น วิธีรับสมัคร และการขาดจากสมาชิกภาพ ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสมทบไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ และห้ามมิให้สหกรณ์ให้สิทธิแก่สมาชิกสมทบในการนับชื่อของสมาชิกสมทบเข้าเป็นองค์ประชุมในการประชุมใหญ่ การออกเสียงในเรื่องใด ๆ หรือเป็นกรรมการดำเนินการ หรือกู้ยืมเงินเกินกว่าเงินฝากและทุนเรือนหุ้นของตนเองจากสหกรณ์ (พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 41)

ความสัมพันธ์ของสมาชิกสมทบกับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ ต้องเป็นไปตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง ความสัมพันธ์ของสมาชิกสมทบกับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ ดังนี้

1) ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสมทบของสหกรณ์จะต้องเป็นผู้ที่มีความสะดวกที่จะดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์

2) สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สมาชิกสมทบจะต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเป็น เป็นบิดา มารดา สามี ภรรยาหรือบุตรของสมาชิก หรือเป็นบุคลากรหรือลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานต้นสังกัดเดียวกันกับสมาชิกและได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากหน่วยงานต้นสังกัดนั้น แต่ข้อบังคับไม่ได้กำหนดคุณสมบัติให้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้

3) สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์บริการ และสหกรณ์ร้านค้าสมาชิกสมทบจะต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเป็น เป็นบิดา มารดา สามี ภรรยาหรือบุตรของสมาชิก หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ที่ขาดคุณสมบัติเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหลักที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับ

สหกรณ์จะต้องกำหนดสิทธิที่สมาชิกสมทบพึงได้รับจากสหกรณ์ไว้ในข้อบังคับอย่างชัดเจนและต้องไม่มีสิทธิดีกว่าสมาชิก หากสหกรณ์ไม่กำหนดสิทธิที่สมาชิกสมทบพึงได้รับในเรื่องใดไว้ให้ชัดเจน ก็ให้ถือว่าสมาชิกสมทบไม่สามารถได้รับสิทธิในเรื่องนั้นจากสหกรณ์ ทั้งนี้สหกรณ์จะต้องกำหนดให้สิทธิแก่สมาชิกสมทบอย่างน้อย ได้แก่ (1) การถือหุ้น สมาชิกสมทบแต่ละรายจะต้องถือหุ้นในสหกรณ์อย่างน้อยหนึ่งหุ้น แต่ไม่เกินหนึ่งในห้าของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด และให้ได้รับเงินปันผลในอัตราเดียวกันกับสมาชิก และ (2) เงินเฉลี่ยคืน สมาชิกสมทบมีสิทธิได้รับเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจได้ในอัตราเดียวกันกับสมาชิก ส่วนสิทธิอื่น ๆ ของสมาชิกสมทบสหกรณ์ต้องกำหนดให้ชัดเจน อาทิ การรับฝากเงิน สามารถกำหนดให้สมาชิกสมทบมีสิทธิฝากเงินกับสหกรณ์ได้ทั้งเงินฝากประเภทออมทรัพย์และประเภทประจำ การให้เงินกู้ สามารถกำหนดให้สมาชิกสมทบมีสิทธิกู้เงินจากสหกรณ์ได้ตามระเบียบของสหกรณ์ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกว่าจำนวนเงินฝากรวมกับทุนเรือนหุ้นที่ตนเองมีอยู่ในสหกรณ์


การที่สหกรณ์รับสมาชิกสบทบไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายแล้ว หากคณะกรรมการดำเนินการหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่กระทำการเป็นตัวแทนของสหกรณ์ หรือกระทำการในนามสหกรณ์ กระทำการโดยประมาทเลินเล่อและก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอก ตัวแทนนั้นย่อมทำกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกและมีความรับผิดต่องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหาย ซึ่งหากการละเมิดนั้นเกิดจากการที่ตัวแทนกระทำตามคำสั่ง และการนั้นก่อให้เกิดความเสียหายเป็นการทำการแทนสหกรณ์เพื่อประโยชน์ของสหกรณ์ สหกรณ์ย่อมต้องร่วมรับผิดต่อบุคคลภายนอกในผลแห่งละเมิดด้วย (ป.พ.พ. ม. 420, 427) ทั้งนี้ย่อมไม่ตัดสิทธิของสหกรณ์ในการเรียกค่าเสียหายต่อตัวแทนเนื่องจากตัวแทนย่อมมีความรับผิดต่อสหกรณ์ (ป.พ.พ. ม. 812) แต่หากการทำละเมิดมิได้เกิดจากการทำการเป็นตัวแทน หรือเกิดจากการที่ตัวแทนทำโดยปราศจากหรือนอกขอบอำนาจตัวแทน ซึ่งจะไม่ใช่การที่ตัวแทนทำการในฐานะแทนสหกรณ์ ตัวแทนต้องรับผิดโดยลำพังต่อบุคคลภายนอก

สหกรณ์ไม่สามารถกำหนดให้สมาชิกสหกรณ์ใช้ “เงินสงเคราะห์ที่จะได้รับจากสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์” มาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้สหกรณ์ได้ เนื่องจากขัดต่อวัตถุประสงค์ของการฌาปนกิจสงเคราะห์

“การฌาปนกิจสงเคราะห์” หมายความว่า กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้าร่วมกันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ตกลงเข้าร่วมกันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรหรือรายได้เพื่อแบ่งปันกัน “สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์” หมายความว่า สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ต้องมีข้อบังคับและต้องจดทะเบียนเมื่อได้จดทะเบียนแล้วให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล

"สหกรณ์" หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกสหกรณ์ผู้มีสัญชาติไทย โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

สหกรณ์มีอำนาจกระทำการ “ให้สวัสดิการหรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว” (มาตรา 46 (2)) ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น ๆ เช่น การฌาปนกิจสงเคราะห์ การประกันภัย การประกันชีวิต และเพื่อส่งเสริมระบบสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ ให้ชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศมีอำนาจร่วมกับสหกรณ์สมาชิกของตน จัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ของสมาชิกสหกรณ์และครอบครัวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด (มาตรา 105/1)

สหกรณ์กับการฌาปนกิจสงเคราะห์ จะมีความเกี่ยวข้องกันเพียงกรณีเดียวคือ “สหกรณ์รับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งมีสมาชิกของสมาคมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน ทั้งนี้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์” (มาตรา 46 (5))

สหกรณ์ไม่สามารถกำหนดให้สมาชิกสหกรณ์ใช้ “เงินสงเคราะห์” (เงินที่สมาชิกร่วมกันออกช่วยเหลือเป็นค่าจัดการศพ หรือค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของสมาชิกซึ่งถึงแก่ความตาย รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจการของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์) มาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้สหกรณ์ได้เนื่องจากขัดต่อวัตถุประสงค์ของการฌาปนกิจสงเคราะห์

อนึ่ง หากสมาชิกสหกรณ์จะร่วมกันจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ก็จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสหกรณ์ เป็นการดำเนินงานแยกต่างหาก เพราะทั้งสหกรณ์และสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ต่างก็มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่อ้างถึง

วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2566

การสืบค้นข้อมูลงานวิจัยเพื่อใช้ทบทวนวรรณกรรม

            การทบทวนวรรณกรรม (Literature review) คือ การค้นคว้า ศึกษา รวบรวม และประมวลผลงานทางวิชาการ เช่น ผลงานวิจัย บทความ เอกสารทางวิชาการ และตำราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหรือประเด็นที่จะทำการวิจัย เพื่อประเมินประเด็น แนวความคิด ระเบียบวิธีการวิจัย สมมุติฐาน ข้อสรุป ข้อเสนอแนะจากผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

          การทบทวนวรรณกรรม ช่วยทำไห้ไม่ทำวิจัยซ้ำกับผู้อื่น ทำให้ทราบถึงอุปสรรค หรือข้อบกพร่องในการทำวิจัยเรื่องนั้นๆ ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการพิจารณากำหนดขอบเขต และตัวแปรการวิจัย ใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดกรอบแนวคิด ช่วยในการกำหนดสมมติฐานการวิจัย ช่วยกำหนดรูปแบบและวิธีการวิจัย ช่วยในการเชื่อมโยงสิ่งที่ค้นพบในการวิจัยครั้งนี้กับที่พบจากการวิจัยที่ผ่านมา

การทบทวนวรรณกรรม ที่ดีต้องอาศัยแหล่งค้นหางานวิจัย วิทยานิพนธ์ หรือบทความวิชาการที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ไม่ใช่ค้นแค่ใน Search Engine แต่ต้องไปค้นในระบบฐานข้อมูลเฉพาะ

วิธีการใช้งานฐานข้อมูลงานวิจัย มีขั้นตอนง่าย ๆ โดยไปสมัครสมาชิกก่อนแล้วจึงเข้าไปค้นหาพร้อมเข้าถึงไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ การค้นหาให้ใช้คำสำคัญ (Keyword) เช่น สหกรณ์ สภาพคล่อง วิเคราะห์การเงิน การมีส่วนร่วม เป็นต้น

ตัวอย่างระบบฐานข้อมูลงานวิจัย (Research Database)

1. ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ https://digital.library.tu.ac.th

2. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแหล่งรวมวิทยานิพนธ์ และงานวิจัย ในรูปแบบเอกสารฉบับเต็ม จากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทย http://tdc.thailis.or.th/tdc/basic.php

3. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) http://www.researchgateway.in.th

4. ฐานข้อมูลวารสารวิชาการ Thai Journals Online (ThaiJO) https://www.tci-thaijo.org

5. ศูนย์ข้อมูลการวิจัย Digital (วช.) http://dric.nrct.go.th/Index

6. คลังปัญญาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://cuir.car.chula.ac.th

7. ฐานข้อมูลงานวิจัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง http://library.lib.ru.ac.th/screens/mainmenu_thx.html

8. ฐานข้อมูลงานวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร http://nuir.lib.nu.ac.th/dspace

9. ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ มธบ. อิเล็กทรอนิกส์  https://lib.dpu.ac.th/

10. ฐานข้อมูล Dspace มหาวิทยาลัยศิลปากร http://www.graduate.su.ac.th/dspace/index.php

11. คลังปัญญามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ http://kb.psu.ac.th/psukb

12. ฐานข้อมูลสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ https://library.nida.ac.th/th/

13. ฐานข้อมูลงานวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) https://elibrary.trf.or.th/

14. งานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา https://www.krisdika.go.th/home

15. ฐานข้อมูลงานวิจัยด้านแรงงาน กลุ่มงานวิจัยและวางแผนกำลังแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน http://research.mol.go.th/

16. ฐานข้อมูลงานวิจัย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช https://iru2.stou.ac.th/database/

17. งานวิจัย สถาบันพระปกเกล้า http://www.kpi.ac.th

18. หอสมุดแห่งชาติ https://www.nlt.go.th/

19. ProQuest Dissertations & Theses http://search.proquest.com

          20. Emerald Insight https://www.emerald.com/insight/

วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2566

ทศวรรษแห่งเส้นทางการปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (พ.ศ. 2555 - 2565)

 1. วาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์

วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการประกาศให้สหกรณ์เป็นวาระ แห่งชาติ วันที่ 22 ตุลาคม 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์และแนวทางในการดำเนิน งานตามข้อเสนอวาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ โดยยุทธศาสตร์วาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างและพัฒนาการเรียนรู้และทักษะการสหกรณ์ สู่วิถีชีวิตประชาชนในชาติ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนและพัฒนาการรวมกลุ่มของประชาชน ด้วยวิธีการสหกรณ์ให้เป็นฐานรากสำคัญใน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบ การผลิตการตลาดและการเงินของสหกรณ์

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สนับสนุนแผน พัฒนาการสหกรณ์ให้เป็นเครื่องมือ ในการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐขบวนการ สหกรณ์และปรับปรุงกฎหมายสหกรณ์ให้เอื้อต่อการพัฒนา

2. ทางการปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

เมื่อปี 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยมุ่ง

(1) ยกระดับการกำกับดูแลระบบสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นและความมั่นคงของระบบ และกำหนดให้ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลมีอำนาจและความรับผิดชอบต่อผลการกำกับดูแลอย่างชัดเจน

(2) ส่งเสริมให้สมาชิกมีความรู้ความเข้าใจในหลักการสหกรณ์อย่างกว้างขวาง มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อตนเองและมีความเอื้อเฟื้อต่อสมาชิกอื่น ๆ เพื่อความสงบสุขร่วมกัน

(3) ยกระดับการบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนให้มีประสิทธิภาพ มีความรู้ความสามารถในการบริหารทั้งด้านการเงิน การจัดทำบัญชีที่มีมาตรฐาน มีความโปร่งใส และมีระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

(4) สร้างความเชื่อมั่นของสมาชิกและผู้ฝากเงินในสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนียนเพื่อให้เป็นแหล่งระดมเงินออมและให้สินเชื่อแก่สมาชิก สามารถเติมเต็มช่องว่างของบริการทางการเงินให้บริการทางการเงินเคียงคู่กับธนาคารพาณิชย์

สาเหตุที่มาของการกำหนดแนวทางการปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รายละเอียดดังนี้

(1) ระบบกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ขาดความเข้มงวดและไม่เอื้อต่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด แสดงให้เห็นว่าสมาชิกมิได้มีความเข้าใจในหน้าที่ของตนเอง ตั้งแต่การใช้สิทธิและหน้าที่ในการเลือกตั้งกรรมการ การตรวจสอบธุรกรรมต่าง ๆ ที่อาจมีความเสี่ยงสูงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย การทวงถามรายงานตามกำหนดเวลา การละเลยหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของตนเองจึงเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับสหกรณ์อื่น ๆ ในด้านหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ ซึ่งได้แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ก็มีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น มีการชักชวนหรือส่งเสริมให้จัดตั้งสหกรณ์โดยมิได้ให้ความรู้แก่ผู้ขอจดทะเบียนจัดตั้งให้เข้าใจหลักการสหกรณ์ที่ถูกต้อง การอนุญาตให้ธุรกิจต่าง ๆ แอบแฝงจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี มิได้ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลโดยเคร่งครัด และเมื่อได้รับรายงานความบกพร่องกลับไม่มีความมั่นใจในอำนาจหน้าที่ของตน ทำให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างล่าช้า

(2) สมาชิกสหกรณ์ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาและหลักการสหกรณ์ซึ่งเน้นความสำคัญของการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทรัพยากรส่วนใหญ่ควรได้จากเงินออมของสมาชิกมิใช่การกู้ยืมจากสหกรณ์อื่นหรือจากแหล่งเงินภายนอก เงินที่ระดมได้จากเงินออมและการซื้อหุ้นของสมาชิกควรให้กู้ยืมระหว่างสมาชิกที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้เป็นหลัก หากสหกรณ์ยังมีเงินเหลือก็ควรนำไปให้กู้ยืมระหว่างสหกรณ์ด้วยกันเป็นอันดับแรกและลงทุนในตราสารต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำตามที่กฎหมายกำหนดสมาชิกจึงควรถือเป็นภาระหน้าที่ของตนในการตรวจสอบให้คณะกรรมการ และผู้บริหารดำเนินงานภายใต้กรอบของกฎหมาย มิใช่สร้างผลตอบแทนทางการเงินสูงเหมือนการลงทุนในเชิงพาณิชย์ โดยอาศัยสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากสหกรณ์มีการเบี่ยงเบนไปทำกิจการที่ห่างไกลจากหลักการสหกรณ์มากขึ้นทุกที จะมีความเสี่ยงสูงจนเกินขีดความสามารถในการบริหารความเสี่ยงนั้นได้

ประเด็นการปฏิรูป

(1) จัดตั้ง "สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน" เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยโอนภารกิจในส่วนที่เกี่ยวกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มด และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และโอนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทั้งสองตามความสมัครใจ และความรู้ความสามารถ

(2) ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานดังกล่าวโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้บรรดากฎระเบียบใด ๆ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ใช้บังคับต่อไป ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติฉบับนี้

(3) ให้มีคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินหกคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การบัญชี การเงินการบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ หรือด้านสหกรณ์ เป็นกรรมการ ให้เลขาธิการสำนักงานเป็นกรรมการ

(4) ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย ส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลการประกอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน รวมถึงกำหนดอัตราเงินสมทบที่จะเรียกเก็บจากสหกรณ์สมาชิก

(5) ให้สำนักงานมีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

(5.1) การส่งเสริมและพัฒนา

ให้จัดหลักสูตรฝึกอบรม  ระดับ ได้แก่

- พัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมด้านวิชาการและความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแก่กรรมการของสหกรณ์เช่นเดียวกับสถาบันกรรมการบริษัท (Institute of Directors)

- พัฒนาหลักสูตรด้านการเงิน การบัญชีและการบริหาร เพื่อพัฒนาทักษะของผู้บริหารสหกรณ์ให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ

- จัดฝีกอบรมแก่สมาชิกสหกรณ์ให้เข้าใจหลักการสหกรณ์และความรับผิดชอบของสมาชิกในการตรวจสอบและกำกับการบริหารของสหกรณ์เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเองอย่างถูกต้อง

- ในการฝึกอบรม ให้สำนักงานฯ ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีมาตรฐาน

(5.2) การกำกับดูแล

- ให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน มีอำนาจหน้าที่ทำนองเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สามารถกำหนดกฎเกณฑ์การบริหารความเสี่ยง กำหนดคุณสมบัติและให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารสหกรณ์สมาชิก มีมาตรฐานธรรมาภิบาล กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสหกรณ์ทั้งประเภทสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ หลักเกณฑ์การควบรวมและยกเลิกสหกรณ์ พิจารณาหลักเกณฑ์การลงทุนที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และรายได้ของสหกรณ์

(5.3) ทุนและทรัพย์สินของสำนักงาน

สำนักงานฯ จะต้องมีรายได้ที่เพียงพอต่อการบริหารและพัฒนา มีทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานประกอบด้วย

(1) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม

(2) เงินสมทบจากสหกรณ์สมาชิกตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

(3) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน

(4) อื่น ๆ

(6) ส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนที่มีขนาดเล็กให้พัฒนาขึ้นเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ หรือสามารถควบรวมกันได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

(7) ในระยะยาว สนับสนุนให้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีความเข้มแข็งรวมกันจัดตั้ง "ธนาคารสหกรณ์" เพื่อเพิ่มความหลากหลายของบริการทางกรเงินและสร้างความมั่นคงให้แก่สหกรณ์ที่เข้าร่วมก่อตั้ง โดยศึกษาจากประสบการณ์ในประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น Rabobank ของเนเธอร์แลนด์ และ DZ Bank ของเยอรมนี เป็นต้น

(8) การศึกษาและข้อเสนอในการปฏิรูปนี้ จะเน้นเฉพาะกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์และเครดิตยูเนียน ซึ่งมีการดำเนินงานคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ แต่มีขอบเขตการดำเนินงานที่แคบกว่า และเน้นการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม

3. พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

3.1 21 มีนาคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติ

(1) รับทราบข้อสังเกตและผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ ซึ่งพลเรือเอก ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง กับคณะเป็นผู้เสนอ) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

(2) ให้ส่งคืนร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ... พ.ศ. (พลเรือเอก ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมืองกับคณะ เป็นผู้เสนอ ที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในกำหนดเวลาพร้อมให้แจ้งข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปด้วยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้นำไปรวมกับร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..พ.ศ. ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงสมควรชะลอร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ที่เสนอโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พลเรือเอก ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง กับคณะเป็นผู้เสนอ) เพื่อรอร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่.. พ.ศ.... .ของคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาไปพร้อมกันต่อไป

3.2 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

3.3 พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562

4. กฎกระทรวง ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ และประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

4.1 กฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

4.2 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการรับจดทะเบียนข้อบังคับเกี่ยวกับสมาชิกสมทบของสหกรณ์ พ.ศ.2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

4.3 ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง ความสัมพันธ์ของสมาชิกสมทบกับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

4.4 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ.2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

4.5 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ พ.ศ. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563

4.6 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยขั้นตอน วิธีการ ดำเนินการถอดถอนคณะกรรมการหรือกรรมการดำเนินการสหกรณ์และการยื่นอุทธรณ์ของสมาชิก กรณีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ มีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ พ.ศ.2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

4.7 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการรับจดทะเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะอนุกรรมการการลงทุน พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

4.8 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนสมาชิกและทะเบียนหุ้นของสหกรณ์ พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564

4.9 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่สมาชิกสหกรณ์และครอบครัวโดยชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศร่วมกับสหกรณ์สมาชิก พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

4.10 ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง การจัดเก็บและรายงานข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2564

4.11 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำหนดรายการในข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายคืนค่าหุ้นบางส่วนระหว่างเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

4.12 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่สมาชิกสหกรณ์และครอบครัวโดยชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศร่วมกับสหกรณ์สมาชิก แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565


4.13 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ.2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 28 ธันวาคม 2565

วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566

ความสำคัญของแผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ในปัจจุบัน

 1. แผนกลยุทธ์สหกรณ์และแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ คืออะไร

1.1 แผนกลยุทธ์สหกรณ์ เป็นแผนระยะกลาง (3 - 5 ปี) หรือแผนระยะยาวของสหกรณ์ (มากกว่า 5 ปี) จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานของสหกรณ์ในอนาคต มีการกำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมของสหกรณ์ มีการทบทวนนโยบายการบริหารงานสหกรณ์ กำหนดแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดนโยบาย แผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ซึ่งแผนกลยุทธ์สหกรณ์ต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ นำไปดำเนินการโดยคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ โดยการมีส่วนร่วมของสมาชิก มีการติดตาม ประเมินผล และทบทวนแผนงาน โดยคณะกรรมการดำเนินการ ฝ่ายจัดการ และที่ประชุมใหญ่

1.2 แผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ ก็จัดเป็นแผนกลยุทธ์สหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน แต่ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงหรือฟื้นฟูการดำเนินงานของสหกรณ์ที่อยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่สหกรณ์มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมเกินกึ่งหนึ่งของทุนเรือนหุ้น ซึ่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 (4) ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่ ออกคำสั่งให้มีการตรวจสอบ หรือไต่สวนเกี่ยวกับการจัดตั้งการดำเนินงาน หรือฐานะการเงินของสหกรณ์ หรือให้จัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ มาตรา 55 วรรคแรกกำหนดว่า

“…ในกรณีที่สหกรณ์ขาดทุนเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว ต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิชักช้าแต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่สหกรณ์ทราบ

ส่วนระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ พ.ศ. 2561 ข้อ 7.2.1 วรรคสองกำหนดว่า

“…กรณีสหกรณ์มีผลขาดทุนสะสมตามงบการเงินปีปัจจุบัน ให้พิจารณาจากทุนเรือนหุ้นหลังหักผลขาดทุนสะสมแล้ว กรณีสหกรณ์ใดมีผลขาดทุนสะสมเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้น ในการกำหนดวงเงินการกู้ยืมจะต้องเสนอแผนฟื้นฟูการดำเนินงานของสหกรณ์ให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาเห็นชอบด้วย และในการพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินการกู้ยืม ให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูการดำเนินงานของสหกรณ์ แต่ต้องไม่เกินกว่าหลักเกณฑ์กำหนดค่าสัมประสิทธิ์ในการคำนวณวงเงินการกู้ยืมของสหกรณ์ (รายละเอียด ข้อ 7.2.2) หรือเท่ากับที่สหกรณ์ก่อหนี้ภาระผูกพันไว้แล้ว

และระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 ข้อ 16 (2) กำหนดว่า

กรณีสหกรณ์ผู้รับฝากมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมเกินกึ่งหนึ่งของทุนเรือนหุ้นและงบแสดงฐานะการเงินมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า สหกรณ์ผู้รับฝากขาดสภาพคล่องไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายคืนเงินฝากได้ และไม่ได้ดำเนินการจัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานแต่อย่างใดให้สหกรณ์ผู้ฝากบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญเต็มจำนวนของเงินฝากนั้น แต่หากสหกรณ์ผู้รับฝากอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ให้สหกรณ์ผู้ฝากทยอยบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนปรับปรุงการดำเนินงานนั้น ถ้าสหกรณ์ผู้รับฝากมีฐานะการเงินดีขึ้นโดยงบแสดงฐานะการเงินของสหกรณ์ผู้รับฝากไม่ปรากฎผลขาดทุนสะสมแล้ว หรือสหกรณ์ผู้ฝากได้รับเงินฝากคืน ให้สหกรณ์ผู้ฝากระงับการบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญ…”

2. แผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ มีความสำคัญอย่างไรในปัจจุบันและอนาคต

2.1 แผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ มีความสัมพันธ์และความสำคัญต่อแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้วยตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 กำหนดให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งในปี 2570 โดยสหกรณ์ภาคการเกษตรชั้น 1 และ ชั้น 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยมีสหกรณ์ระดับชั้น 1 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 สหกรณ์นอกภาคการเกษตรชั้น 1 และ ชั้น 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 โดยมีสหกรณ์ระดับชั้น 1 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 45 กำหนดให้สหกรณ์ที่มีสมรรถนะสูง ในปี 2570 โดยสหกรณ์ภาคการเกษตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 สหกรณ์นอกภาคการเกษตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 กำหนดให้สหกรณ์ที่สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรมให้บริการสมาชิก มีจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 10 ต่อปี กำหนดให้สหกรณ์ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในปี 2570 และกำหนดให้ความพึงพอใจของสมาชิกต่อการให้บริการของสหกรณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสมาชิก มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ในปี 2570

2.2 แผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ มีความสัมพันธ์และความสำคัญต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้วยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีวัตถุประสงค์เพื่อ “พลิกโฉมประเทศไทยสู่ สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ให้ความสำคัญกับบทบาทของสหกรณ์ โดยกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายการพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ตามหมุดหมายการพัฒนา ดังนี้หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง เป้าหมายที่ 3  เพิ่มศักยภาพและบทบาทของผู้ประกอบการเกษตรในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจของห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับส่วนแบ่งประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ตัวชี้วัดที่ 3.1 จำนวนสหกรณ์ภาคเกษตรในชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์เพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 18 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตัวชี้วัดที่ 3.2 จำนวนกลุ่มเกษตรกรในชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 6 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

2.3 กฎหมายกำหนดให้สหกรณ์แผนกลยุทธ์สหกรณ์ กฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ข้อ 5 ให้คณะกรรมการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ (สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป) และชุมนุมสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ (1) กำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมของสหกรณ์เพื่อเสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ รวมทั้งกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

3. สถานการณ์การจัดทำแผนกลยุทธ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ในปัจจุบัน สหกรณ์ขนาดใหญ่ตามกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ต้องจัดทำแผนกลยุทธ์ของสหกรณ์ตาม ข้อ 5 (1) ส่วนสหกรณ์ที่มีสถานะทางการเงินมีผลขาดทุนสะสมเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้น ต้องดำเนินการจัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ ตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 (4) และเรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามมาตรา 55ส่วนสหกรณ์ที่มีผลการดำเนินงานปกติทั่วไป ที่ไม่ใช่สหกรณ์ขนาดใหญ่ตามกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2564 และไม่เป็นสหกรณ์ที่มีสถานะทางการเงินมีผลขาดทุนสะสมเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้น ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการจัดทำแผนกลยุทธ์สหกรณ์

4. แผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์กับการจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์

การจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ตามระดับชั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพของสหกรณ์ให้สอดคล้องในแต่ละระดับชั้น และเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของสหกรณ์ โดยการจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ตามระดับชั้นได้จำแนกสหกรณ์เป็น 4 ระดับชั้น ได้แก่

ชั้นที่ 1 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการให้บริการสมาชิกได้มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70 มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับมาตรฐานขึ้นไป มีชั้นคุณภาพการควบคุมภายในดีถึงดีมาก ไม่มีข้อบกพร่องจากการดำเนินงาน หรือมีข้อบกพร่องแต่ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จสมบูรณ์

ชั้นที่ 2 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการให้บริการสมาชิกได้ระหว่างร้อยละ 60 – 69 มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน มีชั้นคุณภาพการควบคุมภายในระดับพอใช้ มีข้อบกพร่องซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จแต่ต้องติดตามหรืออยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข

ชั้นที่ 3 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการให้บริการสมาชิกได้ต่ำกว่าร้อยละ 60 มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับต้องปรับปรุง มีชั้นคุณภาพภายในต้องปรับปรุงหรือไม่มีระบบควบคุมภายใน เป็นสหกรณ์ที่เกิดข้อบกพร่อง และยังไม่เริ่มดำเนินการแก้ไข

ชั้นที่ 4 เป็นสหกรณ์ที่นายทะเบียนสั่งเลิกกิจการแล้ว อยู่ในระหว่างการชำระบัญชี

การประเมินผลการดำเนินงานตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่

1) ความสามารถในการให้บริการสมาชิก จะเป็นการประเมินว่าสหกรณ์มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้บริการแก่สมาชิกในด้านต่าง ๆ เช่น การรับฝากเงิน การให้เงินกู้ การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย การแปรรูปผลผลิต และการรวบรวมผลผลิต

2) ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เป็นการประเมินจากอัตราส่วนทางการเงินของสหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจและการบริหารงานของสหกรณ์ โดยพิจารณาจาก (1) อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (2) อัตราผลตอบแทนต่อทุน (3) อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (4) อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (5) อัตราค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (6) อัตราส่วนทุนสำรองต่อสินทรัพย์ และ (7) อัตราส่วนหนี้ระยะสั้นที่ชำระได้ตามกำหนด

3) ประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร จะประเมินจากชั้นคุณภาพของการควบคุมภายในของสหกรณ์

4) ประสิทธิภาพของการบริหารงาน จะประเมินถึงการบริหารงานของคณะกรรมการ โดยพิจารณาจากการเกิดข้อบกพร่องในการบริหารงานของสหกรณ์ประกอบด้วย (1) การเกิดการทุจริต และ (2) การเกิดข้อบกพร่อง จำแนกประเภทได้ดังนี้ (1) ข้อบกพร่องทางบัญชี (2) ข้อบกพร่องทางการเงิน (3) การดำเนินการนอกกรอบวัตถุประสงค์ (4) พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย และ (5) ข้อบกพร่องอื่น ๆ

ดังนั้น แผนกลยุทธ์สหกรณ์หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์จะช่วยให้การจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์มีความเป็นไปได้มากขึ้นในการยกระดับชั้นสหกรณ์ไปสู่สหกรณ์ชั้น 1 หรือยกระดับชั้นสหกรณ์ให้สูงขึ้น เพราะแผนกลยุทธ์สหกรณ์จะช่วยกำหนดนโยบาย แผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ให้สอดคล้องกับการประเมินผลการดำเนินงานตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์

5. สรุป สหกรณ์ทุกขนาดทุกประเภทที่มีสถานะทางการเงินปกติควรให้ความสำคัญต่อการจัดทำแผนกลยุทธ์สหกรณ์ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการและการดำเนินงานของสหกรณ์ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมของสหกรณ์ มีส่วนร่วมในการทบทวนนโยบายการบริหารงานสหกรณ์ มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ มีส่วนร่วมในการอนุมัติแผนกลยุทธ์สหกรณ์ในที่ประชุมใหญ่ มีการนำแผนกลยุทธ์สหกรณ์ไปดำเนินการโดยคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ โดยการมีส่วนร่วมของสมาชิก ตลอดจนมีการติดตาม ประเมินผล และทบทวนแผนงาน โดยคณะกรรมการดำเนินการ ฝ่ายจัดการ และที่ประชุมใหญ่

การจัดทำแผนกลยุทธ์สหกรณ์จะช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ให้บรรลุเป้าหมายของแผนดังกล่าว และประการสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดแผนกลยุทธ์สหกรณ์จะช่วยให้สหกรณ์มีนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมของสหกรณ์ อันจะนําไปสู่การกินดี อยู่ดี ของสมาชิก สร้างความเป็นธรรมและสันติสุขในสังคม

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ...