วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน

 แนวคิดพื้นฐาน 

คำว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน มีคำสำคัญ 3 คำ คือคำว่า การพัฒนาคำว่า ทรัพยากรมนุษย์และคำว่า ชุมชนโดยคำทั้งสามครอบคลุมใน 3 มิติ คือ มิติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับปัจเจก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับองค์กร และการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีแนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคำสำคัญดังกล่าวโดยสังเขปดังนี้ 

            แนวคิดเรื่องการการพัฒนา

การพัฒนา (Development) เป็นประดิษฐกรรมทางประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่ได้รับความนิยมกันอย่างรวดเร็วและแพร่หลายในสังคมยุคปัจจุบัน การพัฒนาถูกสร้างขึ้นมาโดยประเทศมหาอำนาจตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหมายของการพัฒนาค่อนข้างมีความเป็นพลวัตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ในยุคเริ่มแรกของการพัฒนานั้น การพัฒนาหมายถึงการทำให้ทันสมัยอย่างสังคมตะวันตกโดยให้น้ำหนักไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาการเมือง ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย” (Modernization Theory) เมื่อเวลาผ่านมาจนผลของการพัฒนาได้ปรากฏให้ผู้คนในสังคมได้เห็นชัดว่าการพัฒนาได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เทียมกันในสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ผู้คนในสังคมจำนวนมากยากจนลง แต่ผู้คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา จนมีที่มาของคำว่า ด้อยพัฒนา จึงทำให้เริ่มมีผู้คนในแวดวงการพัฒนาเริ่มออกมาต่อต้านแนวคิดการพัฒนาตามแบบของทฤษฎีความทันสมัย ก่อให้เกิดการต่อสู้กันทั้งทางแนวคิด ทฤษฎี และวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามากมายในปัจจุบัน เช่น การก่อเกิดของทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) ทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) และแนวความคิดว่าด้วยความด้อยพัฒนาแนวมาร์กซิสต์ใหม่ (Neo-Marxist) ทั้งหลายเป็นต้น (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2549: 17-18) 

          แนวคิดเรื่องทรัพยากรมนุษย์

แนวคิดด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชื่อว่า มนุษย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จัดอยู่ในทรัพยากรประเภทเกิดขึ้นและทดแทนใหม่ได้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติได้เช่นเดียวกับทรัพยากรอื่นๆ กำลังงานมนุษย์แบ่งออกได้เป็นสองทางคือ กำลังทางด้านร่างกาย และกำลังทางจิต โดยกำลังทางกายและกำลังทางจิตสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ หรือถูกลดทอนทำลายให้กลายเป็นกำลังที่ขาดประสิทธิภาพได้ (นิวัติ เรื่องพานิช, 2542: 287-289)

ในมิติด้านชุมชนเชื่อว่า มนุษย์คือมนุษย์ มนุษย์เป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์มีความคิด มีจิตใจ มนุษย์มีเหตุผลมีวิจารณญาณ มนุษย์สามารถตัดสินใจเองได้ มนุษย์เรียนรู้สิ่งต่างๆได้ทั้งทางนามธรรมและรูปธรรม มนุษย์สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองได้ตามความคิดของตน มนุษย์สามารถสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของตนให้เหมาะสม และสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ (นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์, 2550: 33)

ในมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า มนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ และเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์และความมั่งคั่งของประเทศชาติ (บุญคง หันจางสิทธิ์, 2549: 2) ทรัพยากรมนุษย์ในทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญได้แก่ แรงงาน และ ผู้ประกอบการ            โดยแรงงาน หรือทรัพยากรมนุษย์ (Human Research) หรือทุนมนุษย์ (Human Capital) ได้แก่ แรงกาย แรงใจ ตลอดจนสติปัญญา ความรู้ และความคิด ที่มนุษย์ทุ่มเทให้แก่การผลิตสินค้าและบริการ โดยทั่วไปแบ่งแรงงานเป็น 3 ประเภท คือ 1) แรงงานฝีมือ 2) แรงงานกึ่งฝีมือ และ 3) แรงงานไร้ฝีมือ ผลตอบแทนของแรงงานเรียกว่าค่าจ้างและเงินเดือน (Wage and Salary) ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) คือผู้ทำหน้าที่รวบรวมปัจจัยการผลิต 3 ประเภท คือ ที่ดิน แรงงาน และทุน เพื่อทำการผลิตสินค้าและบริการ ค่าตอบแทนของผู้ประกอบการเรียกว่ากำไร (Profit) (วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2539: 3)

 

          แนวคิดเรื่องชุมชน

นักสังคมวิทยา (Olsen, 1968: 91) ได้นิยามความหมายของชุมชนว่า หมายถึงองค์กรทางสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของสมาชิก แต่ยังสามารถช่วยให้สมาชิกสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆที่มีอยู่ร่วมกันได้ โดยทั่วไปชุมชนจะประกอบด้วยครอบครัวหลายครอบครัวมารวมกัน ด้วยความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพากันในด้านต่างๆ เช่น การทำมาหากิน การดูแลรักษาโรค สันทนาการ พิธีกรรมความเชื่อ  อย่างไรก็ตามอาจมีชุมชนของเผ่าบางแห่ง ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากครอบครัวขยายหรือวงศ์วานเดียวกันเท่านั้น (อ้างใน นภาภรณ์ หะวานนท์, เพ็ญสิริ จีระเดชากุล และ สุรวุฒิ ปัดไธสง, 2550: 34) 

แนวคิดเรื่ององค์กร

ในสังคมขนาดใหญ่ มักมีความซับซ้อนในการจัดระเบียบ มีความหลากหลายทั้งในแง่วิธีการและการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม การที่บุคคลแต่ละกลุ่มมีเป้าหมาย มีความต้องการที่แตกต่างกัน สังคมจึงจำเป็นต้องมีการจัดองค์กร (Organizations) เพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างโดยยึดหลักที่เป็นสากล เพื่อให้สามารถสนองประโยชน์แก่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งองค์กรในสังคมประกอบด้วย องค์กรแบบราชการ และองค์กรสมัครใจ

องค์กรแบบราชการ เป็นองค์กรที่เป็นทางการ มีความหมายกว้างกว่าหน่วยราชการ ได้แก่กระทรวง กรม กองต่างๆ ที่เป็นของรัฐ รวมถึงบริษัท ห้างร้าน ธนาคาร รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ มีลักษณะการบริหารหรือการจัดองค์กร โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการจัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามส่วนสายบังคับบัญชา มีกฎระเบียบที่จะต้องยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ มีสิทธิอำนาจตามข้อกฎหมาย มีความชำนาญเฉพาะทางทางด้านอาชีพ และมีอำนาจในการตัดสินใจ

องค์กรที่มีลักษณะเป็นสมาคมสมัครใจ มีทั้งกลุ่มที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสมาคมอาจยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์มีลักษณะที่สำคัญคือ สนองความต้องการหรือผลประโยชน์ส่วนบุคคล หรือของกลุ่มที่มีความสนใจร่วมกัน (ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544: 89-91) 

แนวคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ครอบคลุมใน 3 มิติ คือ 1) มนุษย์ในฐานะปัจเจกชน 2) มนุษย์ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชน และ 3) มนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรขององค์กร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

แนวคิดเรื่องการพัฒนามนุษย์ในระดับปัจเจก

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึงกระบวนการส่งเสริมการพัฒนาทั้งกำลังทางกายและกำลังทางจิตของมนุษย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องพัฒนามนุษย์ให้มีความเป็นอยู่ดี มีการศึกษา มีอนามัยที่ดี มีความรู้ ความชำนาญ และได้รับการพัฒนาทางด้านคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กันไป (นิวัติ เรื่องพานิช, 2542: 287-289) โดยวิธีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเรียน การอบรม การฝึกหัด และการฝึกปฏิบัติ เป็นต้น (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 13) 

แนวคิดเรื่องการพัฒนาชุมชน

การพัฒนาชุมชนหมายถึง กระบวนการทำงานอย่างหนึ่ง และเป็นกลยุทธ์ กลยุทธ์หนึ่ง ซึ่งมีจุดหมายปลายทางสูงสุดอยู่ที่การพัฒนาคนให้มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม (วิรัช เตียงหงษากุล, 2529: 3) การพัฒนาชุมชน (Community Development) มีที่มาจากคำว่า การศึกษามวลชน” (Mass Education) เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1948 อันเป็นผลมาจากรายงานเกี่ยวกับการศึกษามวลชนในสังคมแอฟริกัน (Mass Education in African Society) รายงานฉบับนี้เสนอแนะให้รัฐบาลอังกฤษกำหนดนโยบายการปกครองอาณานิคมในทวีปแอฟริกา ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ร่วมควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาตินำวิธีการพัฒนาชุมชนไปใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้การพัฒนาชุมชนมีความเป็นสากล โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี ค.ศ.1960-1969 เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนา และกำหนดให้ปี ค.ศ.1970-1979 เป็นทศวรรษที่ 2 แห่งการพัฒนา ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนมาจากหลักการเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันทั้งรูปร่าง มันสมอง และจิตใจ มนุษย์จึงไม่มีความเท่าเทียมกัน แต่โดยข้อเท็จจริงมนุษย์ทุกคนมีสิทธิและความเสมอภาคในการมีโอกาสที่จะกระทำสิ่งต่างๆ สิทธิและโอกาสที่จะก้าวหน้า ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนเกิดจากการผสมผสานหลักการเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์เข้ากับความหมายของการพัฒนาชุมชนที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและโอกาสในการประสบผลสำเร็จในชีวิตของคน (สนธยา พลศรี, 2547: 41-43) 

แนวคิดเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือ กระบวนการที่พนักงานขององค์กรได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในแนวทางที่ได้วางแผนให้ได้มาซึ่งความสามารถ หรือทำให้ความสามารถแหลมคมขึ้นซึ่งจำเป็นต่อการทำหน้าที่ต่างๆที่สัมพันธ์กับบทบาทที่คาดหวังในปัจจุบันและอนาคต เพื่อพัฒนาความสามารถทั่วไปในฐานะปัจเจกบุคคลเพื่อที่เขาจะได้สามารถค้นพบและสำรวจศักยภาพภายในของเขา และวัตถุประสงค์ของการพัฒนาองค์การ วัฒนธรรมองค์การที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับผู้บังคับบัญชา ทีมงาน และความร่วมมือของหน่วยย่อยต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งทำประโยชน์ให้กับองค์กร เกิดพลัง และความภาคภูมิใจของพนักงาน (ที วี ราว อ้างใน ชาญชัย อาจินสมาจาร, 2550: 28) 

ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนกับมิติด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม 

          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนเป็นแนวคิดการพัฒนาที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ กล่าวคือ เป็นการพัฒนาที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมิติต่างๆทางด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม เนื่องจากมนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ใช้องค์ประกอบต่างๆเหล่านั้นเพื่อการดำเนินชีวิตในสังคม ซึ่งมีรายละเอียดของความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงต่างๆดังนี้ 

          1) การศึกษา

          การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้เพราะการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างความรู้ความสามารถให้แก่ทรัพยากรมนุษย์ โดยที่สามารถจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัยในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ใช้การศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน และการให้การศึกษาจะเป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมและประเทศอย่างได้ผล การศึกษาจะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ดังนั้นเป้าหมายของทุก ๆ ประเทศจึงมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้กระบวนการทางการศึกษาเป็นสำคัญ การลงทุนทางการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลในทุก ๆ ประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 20) 

          2) สังคมและวัฒนธรรม

          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทัศนะทางสังคมวิทยานั้นมีมิติการพัฒนาที่แตกต่างกัน ทั้ง

ในระดับบุคคลและสังคม โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ตามสภาพประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของสังคม เพื่อให้สมาชิกของสังคมสามารถอยู่รอด ภายใต้การควบคุมทางสังคมอย่างเหมาะสม (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 15) 

          3) เศรษฐกิจ

          ในทางเศรษฐศาสตร์มักจะให้ความสำคัญกับระบบการผลิต โดยพยายามให้เกิดผลผลิตสูงมากที่สุด ในกระบวนการผลิตนั้น ประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ คือที่ดิน (Land) แรงงาน (Labour) และ ทุน (Capital) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ต่างยอมรับว่าแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เป็นหนทางนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของชาติ แรงงานนั้นจะต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะและความชำนาญในการทำงานมี ความสามารถในการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยมีที่ดินและทุน เป็นปัจจัย สนับสนุนให้การผลิตนั้นประสบผลสำเร็จมากขึ้น (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 53) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติทางเศรษฐศาสตร์ จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคนเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการผลิตสินค้าและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามความต้องการของผู้ประกอบการ และตลาดซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดความต้องการในระดับสูงสุด 

          4) การเมือง

          ในทางรัฐศาสตร์นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพราะการเมือง การปกครอง เป็นตัวจักรที่สำคัญในการบริหารประเทศ โดยเกี่ยวข้องกับการกำหนด กฎเกณฑ์ นโยบาย หลักการต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารและพัฒนาประเทศ สาขารัฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับมนุษย์ในฐานะที่มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเมือง การปกครองได้แนวคิดทฤษฎีทางรัฐศาสตร์มีหลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีการเมือง คลาสสิค ทฤษฎีการเมืองปัจจุบัน ทฤษฎีประชาธิปไตยสมัยปัจจุบัน ทฤษฎีองค์การและการตัดสินใจ ทฤษฎีมนุษยสัมพันธ์ในองค์การ และทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น ในแต่ละทฤษฏีดังกล่าวข้างต้นต่างมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการพัฒนาความรู้ความเข้าใจให้ทุกคนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยมุ่งเน้นให้เข้าใจในสิทธิของตนเองต่อการปกครอง (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 14) 

          5) สิ่งแวดล้อม

          ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกกำหนดมาจากสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์แตกต่างกัน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะแตกต่างกันด้วย มนุษย์เป็นผู้ที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิตในแทบจะทุกด้าน และจะขาดแคลนสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เลย เช่น อากาศ น้ำ แสงอาทิตย์ ป่าไม้ แผ่นดิน เป็นต้น พฤติกรรมความเชื่อของมนุษย์จึงมักถูกกำหนดด้วยปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ให้มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เช่น วิถีชีวิตของชาวเขาที่อาศัยอยู่บนดอย มักจะแตกต่างจากการดำรงชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่ม เป็นต้น และเมื่อจำนวนมนุษย์เพิ่มมากขึ้นดังเช่นในปัจจุบัน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยิ่งมีความสำคัญต่อมนุษย์มากขึ้น เพราะความต้องการใช้ของมนุษย์มากขึ้น แต่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรมนุษย์จึงมีความสำคัญมากในปัจจุบัน โดยมนุษย์ในฐานะผู้บริโภคจะบริหารจัดการอย่างไรให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด สามารถตอบสนองความต้องการใช้ของมนุษย์ต่อไปได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงให้มีพอใช้ไปจนถึงคนรุ่นต่อไปด้วย

แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์เกิดความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยยึดแนวทางและวิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้แก่ การถนอมรักษา การฟื้นฟู การลดปริมาณของเสีย การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน การสงวนและนำสิ่งอื่นมาใช้ทดแทน การสำรวจทรัพยากร และการประดิษฐ์ของเทียมขึ้นใช้ (ศศินา ภารา, 2550: 284-285) 

          6) จริยธรรม

          มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีสัญชาติญาณต้องการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การที่มนุษย์ที่มีความแตกต่างกันมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน หรือสังคม จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับร่วมกันเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ซึ่งเนื้อหาของกฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการปฏิบัติต่อกันของผู้คน หลักจริยธรรมถือเป็นกฎเกณฑ์หนึ่งที่สำคัญในการหล่อหลอมให้มนุษย์เชื่อและปฏิบัติตาม ซึ่งหลักจริยธรรมส่วนใหญ่มีที่มาจากศาสนา โดยทุกศาสนาต่างมีปรัชญาแนวคิดต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ แตกต่างกัน เช่น ศาสนาพุทธเชื่อว่า มนุษย์ต้องการแสวงหาหนทางที่หลุดพ้นและความสงบสุขทางด้านอารมณ์และจิตใจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวพุทธศาสตร์นั้นเน้นในเรื่องการพัฒนาอารมณ์ จิตใจ คุณธรรม จริยธรรม ให้อยู่ในสังคมไว้อย่างมีความสุข มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อไปเพื่อให้สังคมน่าอยู่ สงบสุข (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 14) 

          จากความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนกับมิติด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อมและจริยธรรมดังที่กล่าวมา จะเห็นว่าแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบริบทต่างๆดังกล่าวอย่างมาก และมีอิทธิพลต่อกันซึ่งสามารถสรุปความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างกันได้ดังแผนภาพที่ 1.

จากแผนภาพที่ 1. แสดงกรอบแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน ซึ่งวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีวัตถุนิยมแบบประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) ของ คาร์ล มาร์ก เป็นแนวทาง ซึ่งในการพิจารณาประวัติศาสตร์จะต้องแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ

            1) พลังการผลิต (Productive Forces) คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เป็นวิธีการที่มนุษย์ขัดแย้งเอาชนะธรรมชาติเรียกว่า วิธีการผลิตหรือเทคโนโลยี

            2) ความสัมพันธ์ในการผลิต (Relations of Production) คือโครงสร้างเศรษฐกิจหรือระบบกรรมสิทธิ์ ซึ่งกำหนดว่าใครเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตนี้จะกำหนดต่อไปว่า ใครจะได้ส่วนเกินที่เหลือจากการบริโภค

            3) โครงสร้างส่วนบน (Superstructure) คือระบบกฎหมาย ระบบการเมือง วัฒนธรรม และระบบความคิด (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2546: 153)

จากแผนภาพจะเห็นว่าทรัพยากรมนุษย์ในฐานะพลังการผลิตของสังคม อาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชน หลายๆชุมชนรวมเป็นสังคม และภายในสังคมมีการแบ่งงานกันทำ โดยจัดตั้งเป็นองค์กรต่างๆ โดยใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าและบริการ มีการพัฒนาพลังการผลิตของตนเอง (การศึกษา การอบรม เทคโนโลยี) เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนและสังคมได้ ในด้านความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่อกัน และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เกิดวัฒนธรรมชุมชนในชุมชน และวัฒนธรรมองค์กรภายในองค์กร และก่อให้เกิดระบบความสัมพันธ์ทางการผลิต (ระบบเศรษฐกิจ) ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เกิดขึ้นก็จะกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งอาจจะถูกกำหนดมาจากพลังการผลิต หรือโครงสร้างส่วนบนผ่านนโยบายของรัฐ ซึ่งโครงสร้างส่วนบนก็ถูกกำหนดมาจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลังการผลิตทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม (การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย)

ในระบบความสัมพันธ์ดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการของมนุษย์ ที่เป็นพลังการผลิตพื้นฐานของชุมชนและสังคม ความสัมพันธ์ทางการผลิต ตลอดจนนโยบายของรัฐ จะต้องสอดคล้องอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นพลังการผลิต สังคมโดยรวมจึงจะเกิดความสมดุลและสงบสุข แต่หากการพัฒนาไม่มีความสมดุลจนส่งผลให้พลังการผลิตเปลี่ยน จะทำให้ความสัมพันธ์ในการผลิตและระบบกรรมสิทธิ์เปลี่ยน จะเกิดการขัดแย้งกับโครงสร้างส่วนบนซึ่งพยายามรักษาสถานะเดิมไว้ ทำให้เกิดการปฏิวัติสังคม และโครงสร้างส่วนบนจะต้องเปลี่ยนจนสอดคล้องกับพลังการผลิตในที่สุด 

แนวทางและเป้าหมายของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน 

แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนจะต้องมีความสอดคล้องกับสภาพภูมิ-สังคมของแต่ละพื้นที่ คำนึงถึงฐานทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายของคน ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม การเคารพในสิทธิมนุษยชน และหลักประชาธิปไตย โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการพัฒนา เช่น การศึกษา การฝึกอบรม การสนับสนุนด้านงบประมาณ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างชุมชน ระหว่างองค์กร การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ เป็นต้น โดยเป้าหมายของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ละดับบุคคล องค์กร และชุมชน เพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์ในระดับต่างๆ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า มีศักยภาพในการผลิตเพื่อการบริโภคของตนเอง และทำประโยชน์ให้กับองค์กรและชุมชน เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีจริยธรรมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมโดยรวมเกิดความเจริญงอกงาม มีความมั่นคง และผาสุก ตลอดไปอย่างยั่งยืน 

สรุป 

          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ และบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมนุษย์ ซึ่งได้แก่บริบททางด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์มีศักยภาพในการดำเนินวิถีชีวิตไปตามสภาพแวดล้อมและสังคมอย่างเหมาะสม โดยใช้วิธีการต่างๆที่เหมาะสมกับความเชื่อ ทัศนคติ วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ใน ภูมิ-สังคมต่างๆ เช่น การเรียนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา การฝึกอบรม การทดลองเป็นต้น ที่ผ่านมามนุษย์ได้ใช้วิธีการต่างๆเพื่อการพัฒนาตนเองและผู้คนในสังคม ซึ่งรวมถึงสังคมโลกด้วย แต่การพัฒนาที่ผ่านมาผู้คนได้ยึดแนวทางการพัฒนาที่เป็นกระแสหลักมากเกินไป โดยทำตามๆกันไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้แนวคิดการพัฒนาที่ไม่ใช่กระแสหลักถูกเบียดขับ กลายเป็นแนวทางชายขอบ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ และไม่ให้คุณค่า ทำให้แนวทางการพัฒนาชายขอบขาดการพัฒนาต่อยอดและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตกับผู้คนในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้คนในสังคมได้รับการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมด้านการให้คุณค่าของผู้คนในสังคม เช่น องค์ความรู้ท้องท้องถิ่นต่างๆ ที่แม้จะมีประโยชน์ มีคุณค่า แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งผู้คนในสังคมและผู้คนในท้องถิ่นเอง ขณะที่เครื่องมือการพัฒนาในแนวทางหลักยังไม่สามารถตอบสนองต่อผู้คนได้อย่างทั่วถึงครอบคลุม เกิดภาวะที่เรียกว่าชุมชนอ่อนแอ ชุมชนล่มสลาย เพราะสมาชิกในชุมชนที่เข้าไม่ถึงเครื่องมือการพัฒนากระแสหลักได้ละทิ้งแนวทางพื้นฐานของตนเอง เพื่อแสดงหาการพัฒนากระแสหลักที่ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับ

            การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนจึงควรเป็นการพัฒนาที่สมดุล ให้คุณค่ากับแนวทางการพัฒนาทุกรูปแบบที่มีประโยชน์ โดยยึดความต้องการของหน่วยย่อยต่างๆในสังคมเป็นพื้นฐาน แนวทางหลักในการพัฒนาสังคมโดยรวมต้องบูรณาการความหลากหลายต่างๆมีอยู่ ให้สามารถตอบสนองมนุษย์และชุมชนที่หลากหลายในสังคมได้อย่างเท่าเทียม ผู้มีหน้าที่บริหารสังคมต้องกล้าชี้ให้เห็นว่าแนวทางใดที่เป็นการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม และต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เลือกใช้แนวทางการพัฒนาที่เชื่อว่าจะสามารถตอบสนองต่อผู้คนทุกๆคน ทุกๆกลุ่มในสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ยึดถือแนวทางการพัฒนากระแสหลักแต่เพียงอย่างเดียว 

บรรณานุกรม 

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา.  2546.  ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชาญชัย อาจินสมาจาร.  2550.  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.  2549.  วาทกรรมการพัฒนา.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา.

นภาภรณ์ หะวานนท์, เพ็ญสิริ จีระเดชากุล และ สุรวุฒิ ปัดไธสง.  2550.  ทฤษฎีฐานรากในเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ บรรณาธิการ.  2550.  กถา พัฒนากร.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพมหานครฯ: บริษัท รำไทยเพรส จำกัด.

นิวัติ เรื่องพานิช.  2542.  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานครฯ: ลินคอร์น โปรโมชั่น.

บุญคง หันจางสิทธิ์.  2549.  เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานครฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

ภัทรธิรา ผลงาม.  2548.  เอกสารประกอบการสอนรายวิชา ทรัพยากรมนุษย์กับการพัฒนา (ออนไลน์).  http://www.rds.phd.lru.ac.th/Dr.patthira/tomra04/, 28 กันยายน 2551.

ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  2544.  สังคมและวัฒนธรรม.  พิมพ์ครั้งที่ 7.  กรุงเทพมหานครฯ: บริษัทด่านสุธาการพิมพ์ จำกัด.

วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน.  2539.  เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เศรษฐศาสตร์สำหรับบุคคลทั่วไป.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพมหานครฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิรัช เตียงหงษากุล.  2529.  หลักการพัฒนาชุมชน: บทบาทของสถาบันการศึกษากับการพัฒนาชุมชนชนบท.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

สนธยา พลศรี, 2547.  ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพมหานครฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

ศศินา ภารา.  2550.  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  กรุงเทพมหานครฯ: บริษัท ส.เอเซียเพรส (1989) จำกัด.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.  2551.  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 พ.ศ.2550-2554 (ออนไลน์).  http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=90, 28 กันยายน 2551.


ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ...