วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มติสวรรค์ โมฆะ และสัตยาบัน

 ครั้งแรก ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็น “เจ้าหน้าที่” (ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง หรือตำแหน่งอื่นใดในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ข้อ 6 แห่งระเบียบกรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ พ.ศ. 2562)) ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมสหกรณ์ (ข้อ 7 แห่ง ระเบียบฯ ที่อ้างถึงแล้ว) ซึ่งต้องไปเข้าร่วมประชุมต่าง ๆ ของสหกรณ์ เพื่อแนะนำและให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการดำเนินการ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ ขอถอดบทเรียนในอดีตของตนเองว่าไปร่วมประชุมแบบ กาแฟรสดี ขนมเบรกอร่อย” ข้อบังคับและบรรดาระเบียบสหกรณ์ ไปหาเอาข้างหน้า หนังสือหารือบรรดากฎต่าง ๆ ของนายทะเบียนสหกรณ์ไม่เคยอ่าน เขาถามมาทีอ่านที อ่านเอาตรงนั้นแหละ อาศัยว่าใจสู้ ตอบ ๆ ไป 

ครั้งหนึ่งคณะกรรมการดำเนินการลงมติแบบแปลก ๆ คือลงมติไม่เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ ผมก็แนะนำว่า ไม่เป็นไปตามระเบียบฯ นะครับ กรรมการท่านว่า เป็นระเบียบที่กรรมการกำหนดถือใช้กันเองนายทะเบียนแค่รับทราบ ฉะนั้นจะลงมติอย่างไรก็เป็นเรื่องของกรรมการ เอาไงดีละ ตอนนั้นพูดได้คำเดียวว่า “ครับ” ยังดีที่ว่ามติดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอะไร และเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์ จึงรอดตัวไป 

กาลต่อมาประสบการณ์สอนให้ขยันหมั่นเพียรอ่านหนังสือเตรียมตัวและเก็งข้อสอบ (เรื่องสำคัญที่เขาจะพิจารณากัน) เพราะต้องเข้าร่วมประชุมกลุ่มสมาชิก ร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และร่วมประชุมใหญ่ ทั้งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรหลากหลายประเภท หลากหลายขนาด ผู้คนที่เข้าประชุมก็มีความหลากหลาย และในที่สุดก็พอเข้าใจคำว่า “มติสวรรค์” คำ ๆ นี้ต้องขอบพระคุณผู้สอบบัญชีท่านหนึ่ง ท่านเทศนาผมพอสมควรในเรื่องนี้ ลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการตามกฎหมายสหกรณ์ ดังต่อไปนี้นะครับ 

สหกรณ์เป็นนิติบุคคล (มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คน (ทั้งนี้สหกรณ์จะกำหนดให้มีจำนวนคณะกรรมการดำเนินการจำนวนเท่าใดก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนในข้อบังคับของสหกรณ์) ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกเป็นผู้แทนสหกรณ์ (มาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ (มาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ข้อบังคับของสหกรณ์ และมติที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก (มาตรา 51/1 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

ถ้าที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ลงมติอันเป็นการ ฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ ให้นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งยับยั้งหรือเพิกถอนมตินั้นได้ (มาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) สำหรับสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน กฎหมายยังกำหนดว่า “ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นว่าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 89/2 ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง หรือระงับการดำเนินการนั้นได้ ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นว่าการกระทำตามวรรคหนึ่งนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสหกรณ์หรือสมาชิก ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการนั้น พ้นจากตำแหน่ง หรือสั่งให้เลิกสหกรณ์ดังกล่าวได้ แล้วแต่กรณี และให้นำมาตรา 24 มาตรา 25 และมาตรา 73 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” (มาตรา 89/3 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายต่อสหกรณ์ (มาตรา 51/2 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ทั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 51/2 หากพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ร่วมกระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ หรือได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยปรากฏในรายงานการประชุมหรือได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม (มาตรา 51/3 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

จากข้อกฎหมายดังกล่าว จะเห็นว่า ที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะลงมติอันเป็นการ ฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ ไม่ได้ ถ้าฝ่าฝืนนายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งยับยั้งหรือเพิกถอนมตินั้นได้ สรุป ไม่มีมติสวรรค์ 

แต่ทว่าก็มีข้อกฎหมายที่พอจะเป็นทางออกได้ ถ้ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ทำแล้วไม่เกิดความเสียหาย หรือเกิดประโยชน์อย่างฉบับพลันทันที แบบที่รอไม่ได้ เช่น สหกรณ์ผู้ใช้น้ำแห่งหนึ่งติดหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการสูบน้ำให้บริการสมาชิก เนื่องจากเพิ่งติดตั้งหม้อแปลงใหม่ จึงไม่ได้ตั้งงบประมาณในการจัดซื้อหม้อแปลไฟฟ้าใหม่ไว้ในแผนงานและแผนงบประมาณประจำปี ซึ่งอนุมัติโดยที่ประชุมใหญ่ ปรากฏว่าหม้อแปลงเกิดระเบิด ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดภัยแล้งและมีการกำหนดระยะเวลาในการสูบน้ำของทางราชการ ข้าวในนาของสมาชิกส่วนใหญ่ต้องการน้ำพอดี หากไม่สูบน้ำภายใน 7 วันข้าวตายแน่ สหกรณ์จะประชุมใหญ่วิสามัญก็มีค่าใช้จ่าย และอาจไม่ทันการ จะซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าราคาประมาณ 120,000 บาท ไปก่อนได้ไหม แล้วค่อยไปขออนุมัติในคราวประชุมใหญ่ครั้งต่อไป แบบนี้ทำได้หรือไม่ เหตุการณ์แบบนี้ถ้ารักตัวกลัวมีความผิดก็ต้องยืนกระต่ายขาเดียวให้สหกรณ์เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ แต่ถ้าเข้าใจทุกข์ชาวบ้านและเชื่อในเจตนาบริสุทธิ์ ผมก็จะแนะนำว่าซื้อไปเลยเดี่ยวค่อยให้ที่ประชุมใหญ่รับทราบในคราวประชุมครั้งต่อไป ซึ่งเรื่องนี้มีข้อกฎหมายให้พิจารณา ดังนี้ 

ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ (มาตรา 823 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) 

แต่การจะให้สัตยาบันแก่การนั้น ไม่ใช่ว่าจะให้ได้ทุกเรื่องทุกกรณี ให้พิจารณาด้วยว่า โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ … (มาตรา 172 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ฉะนั้นคณะกรรมการดำเนินการพึงตระหนักว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) และนิติกรรมใดมีเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา 188 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

 ทางที่ดีที่สุดการลงมติต่าง ๆ อย่าฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ กระทำการด้วยความรอบคอบเพื่อประโยชน์ของหมู่มวลสมาชิก ไม่กระทบต่อชุมชน และสังคม ตลอดจนไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการดีที่สุดครับ การกำหนดแผนงานและแผนงบประมาณเพื่อเสนอที่ประชุมใหญ่อนุมัติก็ควรกำหนดให้รอบคอบรัดกุม ประเมินความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินงานต่าง ๆ ซึ่งอันงบประมาณนั้น กำหนดแล้วไม่ได้ใช้ หรือใช้แล้วเหลือ ดีกว่าไม่ได้กำหนดแล้วจำเป็นจะต้องใช้ หรือกำหนดแล้วไม่พอจะใช้ 

อนึ่ง อำนาจใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ คณะกรรมการดำเนินการจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติให้ดำเนินการแล้วเท่านั้น เช่น การสมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือลาออกจากการเป็นสมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ อนุมัติงบการเงินประจำปีและจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ กำหนดค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่หรือค่าตอบแทนอื่นของผู้ตรวจสอบกิจการ อนุมัติแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์ หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ การกำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก และค่าเบี้ยประชุมของกรรมการดำเนินการ กรรมการอื่น ๆ อนุกรรมการ และที่ปรึกษา ตลอดจนการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของสหกรณ์ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ อำนาจใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ ในบางกรณีต้องแจ้งให้นายทะเบียนสหกรณ์ทราบ หรือได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ หรือนายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนก่อน จึงจะมีผลให้ดำเนินการได้ หรือมีผลบังคับได้ เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ การเลิกสหกรณ์ การควบสหกรณ์ การแยกสหกรณ์ การจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรในระบบสหกรณ์

ปัญหาสำคัญของเกษตรกรไทย

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรา นี่แสนอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองราบคาบ ด้วยอานุภาพพ่อขุน รามคำแหงค้ำจุน ให้ชาติไทยไพศาล สร้างทำนาไร่ ทั่วแคว้นแดนไทย เราไถเราหว่าน หมากม่วงหมากขาม หมากพร้าวหมากลาง พืชผลต่าง ๆ ล้วนงามตระการ” (หลวงวิจิตรวาทการ, 2497) 

สมัยเด็ก ๆ ได้ยินเพลงนี้บ่อย ๆ จนร้องตามได้ พอโตเป็นหนุ่มก็ไม่ค่อยได้ยินเพลงนี้แล้ว แต่ได้ยินมีคนประชดว่า “ในน้ำมียา ในนามีหนี้” แทน 

ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นการพัฒนาแบบทุนนิยม แบบที่ถ่ายโอนทรัพย์ออกจากชุมชนหมู่บ้าน เพื่อเลี้ยงดูเมืองและเพื่อส่งออกต่างประเทศ ไม่ใช่การพัฒนาทุนนิยมแบบที่เพิ่มประสิทธิผลในกิจการอุตสาหกรรมแบบที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุโรป การพัฒนาของทุนนิยมในประเทศไทยจึงเป็นไปในลักษณะที่ผลประโยชน์หรือผลได้ของการพัฒนาตกเป็นของคนเพียงกลุ่มเดียว เมืองกับชนบท ชนชั้นนายทุนและข้าราชการกับชนชั้นชาวนา มีความแตกต่างกันมากด้านความเจริญ จนมีคำกล่าวที่ว่าที่แสดงถึงความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชนบทก็ถูกทำลายไปมาก (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2545: 115-116) 

พิสัณฑ์ โบว์สุวรรณ และคณะ (2565) สรุปว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตของเกษตรกรที่เปลี่ยนไปในทิศทางวัตถุนิยมตามกระแสสังคมที่อิงสังคม วัฒนธรรมชาติตะวันตกมาก นโยบายของภาครับที่ผิดพลาดในการสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ และการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรแบบนโยบายประชานิยมก่อให้เกิดหนี้สินที่สะสม 

ขณะที่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2565) สรุปว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้และยากจน ใด้แก่ เกษตรกรเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต เงินทุน ความรู้และทักษะด้านต่างๆ (lack of access) เช่น เกษตรกรยากจนเข้าไม่ถึงสินเชื่อ และไม่มีเงินออม เกษตรกรขาดศักยภาพ (lack of capacity) ด้านต่างๆ เช่น ขาดความสามารถด้านการเพาะปลูกด้านการจัดการความเสี่ยงภาคเกษตร ตลอดจนเกษตรกรขาดความพยายาม (lack of effort) เช่น เกษตรกรอยากรวยแต่ไม่อยากทำงานหนัก โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ การดำเนินมาตรการหรือนโยบายของรัฐที่ช่วยเหลือนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีความหวังและความเชื่อที่ภาครัฐจะยื่นมือเข้าช่วยเสมอ 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2562) รายงานหนี้สินของครัวเรือนเกษตร ปี 2562 ว่า ครัวเรือนที่มีรายได้หลักจากการทำเกษตร ในปี 2562 จำนวน 2,857,625 ครัวเรือน หนี้สินของครัวเรือนเกษตรที่เป็นหนี้ พ.ศ. 2554 – 2562 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ปี 2554 จำนวน 140,404 บาท/ครัวเรือน ปี 2556 จำนวน 168,119 บาท/ครัวเรือน ปี 2558 จำนวน 200,689 บาท/ครัวเรือน ปี 2560 จำนวน 239,034 บาท/ครัวเรือน และ ปี 2562 จำนวน 253,295 บาท/ครัวเรือน 

เดชรัต สุขกำเนิด (2565) สรุปว่า รายได้ของเกษตรกรไทยลดลงร้อยละ 27 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 หรือเพิ่มขึ้นจาก 221,490 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 269,159 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2564 ในจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีเกษตรกรลูกหนี้ถึงร้อยละ 41 ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำ และยังมีเกษตรกรลูกหนี้ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) อีกเกือบ 1.4 ล้านราย และในจำนวนลูกหนี้สูงอายุดังกล่าว มีเกือบ 180,000 ราย ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หรือ NPL) 

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2565) วิเคราะห์ว่า ร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรไทยมีหนี้สิน และมีหนี้ปริมาณมากเฉลี่ยถึง 450,000 บาทต่อครัวเรือน อันดับหนี้คงค้างต่อครัวเรือนแยกตามวัตถุประสงค์ในการกู้ พบว่าร้อยละ 30 ของครัวเรือนมีหนี้คงค้างเกิน 500,000 บาท และครัวเรือนใช้หนี้สินในหลายวัตถุประสงค์ รวมถึงการกู้เพื่อชำระหนี้อื่น แสดงให้เห็นว่าการก่อหนี้สินเป็นเครื่องมือจัดการทางการเงินอย่างรอบด้านของครัวเรือนจริง ๆ 

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2566) ได้รายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร ระหว่าง ปี 2561 – 2565 พบว่าในปี 2565 ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสด จำนวน 420,198 บาท มาจาก รายได้เงินสดทางการเกษตร จำนวน 206,310 บาท/ครัวเรือน และรายได้เงินสดนอกภาคการเกษตร จำนวน 213,888 บาท/ครัวเรือน มีรายจ่ายเงินสด จำนวน 306,608 บาท โดยมีรายจ่ายเงินสดทางการเกษตร จำนวน 126,039 บาท/ครัวเรือน และรายจ่ายเงินสดนอกภาคการเกษตร จำนวน 180,569 บาท โดยรายจ่ายเงินสดนอกภาคการเกษตรจำแนกเป็น เพื่อการการบริโภค จำนวน 65,996 บาท และเพื่อการการอุปโภค และอื่น ๆ จำนวน 114,572 บาท รายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตร จำนวน 80,271 บาท รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือน จำนวน 294,159 บาท เงินสดคงเหลือก่อนชำระระหนี้ จำนวน 113,590 บาท อายุเฉลี่ยหัวหน้าครัวเรือน 59.44 ปี ขนาดครัวเรือน 3.68 คน/ครัวเรือน ขนาดแรงงาน อายุ 15-64 ปี 2.48 คน/ครัวเรือน ขนาดเนื้อที่ถือครอง จำนวน 24.92 ไร่/ครัวเรือน 

สาเหตุของปัญหาหนี้สินภาคการเกษตรที่กล่าวมาส่งผลให้ ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้น้อย รายได้ไม่แน่นอนสูง และมีปัญหาสภาพคล่อง โดยร้อยละ 27 ของครัวเรือนมีรายได้รวมทั้งปีไม่พอรายจ่ายจำเป็น ร้อยละ 42 มีรายได้เหลือจากการใช้จ่ายจำเป็นไม่พอชำระหนี้ และไม่พอลงทุนในการทำเกษตรรอบต่อไป รายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจบริหารจัดการได้ยาก (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2565) การที่หนี้สินของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อการจำกัดอำนาจซื้อของครัวเรือน การจำกัดทางเลือกในการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างการผลิตของเกษตรกร การส่งต่อหนี้สินไปยังคนรุ่นลูกหลาน และการขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้กว้างขึ้นอีกในระยะยาว (เดชรัต สุขกำเนิด, 2565) 

การส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรคืออะไร มีเป้าหมายอย่างไร

จากการศึกษาพบว่ามีผู้ให้นิยามความหมายของคำว่า “การส่งเสริมการเกษตร หรือการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร” ไว้จำนวนมาก แต่ที่ผมเห็นว่าครอบคลุมและทันสมัยคือการนิยามของ พัฒนา สุขประเสริฐ (2557) ซึ่งอธิบายว่า การส่งเสริมการเกษตรเป็นการบูรณาการความรู้เพื่อให้เกษตรกรได้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสะอาดได้อย่างมั่นใจ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว ร่วมกับการพัฒนาให้ชุมชนและสังคมได้มีอาหารที่ปลอดภัยอย่างมั่นคง และมีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเพียงพอ จากการได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมั่นใจ 

นิยามความหมายดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาการเกษตรตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (หลัก) ประเด็น: 1 การเกษตรสร้างมูลค่า เน้นเกษตรคุณภาพสูงและขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างฐานอนาคตใหม่ที่สร้างรายได้สูง ทั้งเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัยเกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูปและเกษตรอัจฉริยะเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 

สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น ประเด็นการเกษตร (หลัก) ที่มีแนวทางการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเครือข่าย ความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ รวมถึงเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ตลอดจนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดทิศทางว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยกำหนดหมุดหมายการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 

หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

กลยุทธ์ที่ 11 การยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

กลยุทธ์ย่อยที่ 11.2 ยกระดับความเข้มแข็งและความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพิ่มมูลค่าของสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสนับสนุนบทบาทภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาทั้งระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาในพื้นที่ ในการเป็นผู้ให้บริการ ผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และที่ปรึกษาทางธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยีกับการปรับเปลี่ยนและต่อยอดธุรกิจการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ที่ 12 การพัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยงภาคีต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกร และนักวิชาการในพื้นที่ ในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในการพัฒนาภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน 

กลยุทธ์ย่อยที่ 12.1 สนับสนุนบทบาทองค์กรหรือสภาเกษตรกรในกลไกความร่วมมือภาครัฐภาคเอกชน และภาควิชาการในแต่ละจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงการผลิตของเกษตรกรและการดำเนินธุรกิจการเกษตรของสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ความต้องการของภาคเอกชนในระดับจังหวัดการดำเนินภารกิจของส่วนราชการระดับจังหวัด และความเชี่ยวชาญของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการแบ่งปันข้อมูล องค์ความรู้ ทักษะ และผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเหมาะสมกับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ 

กลยุทธ์ย่อยที่ 12.2 ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรในรูปแบบธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด โดยมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม 

สถาบันเกษตรกรอย่างสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรมีบทบาทในการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรอย่างไร

สหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์สหกรณ์ (มาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งมีอำนาจกระทำการดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้า การบริการ และอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ของสมาชิก ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก รับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากสมาชิก ให้กู้ ให้สินเชื่อ ให้ยืม ให้เช่า ให้เช่าซื้อ โอน รับจำนองหรือรับจำนำ ซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือของสมาชิก (มาตรา 46 (1) (3) (5) (6) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ตลอดจนมีวัตถุประสงค์เพื่อการขายหรือแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่สมาชิกผลิตขึ้น (มาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

จากวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการดังกล่าวสหกรณ์ภาคการเกษตรจึงสามารถดำเนินธุรกิจต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสมาชิก ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจให้เงินกู้ยืม ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ธุรกิจแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร 

การดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ดังกล่าวของสหกรณ์ถือว่าเป็นการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเกษตรกรร่วมกันเป็นเจ้าของสหกรณ์ ดังนั้นจึงสามารถกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจของตนเองได้โดยอิสระ ขจัดข้อจำกัดเรื่องการขูดรีดกำไรส่วนเกิน และการครอบงำต่าง ๆ จากภายนอกสหกรณ์ได้ดีที่สุด เกิดระบบการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรระหว่างสมาชิกกับสหกรณ์ได้อย่างแท้จริงโดยสหกรณ์ต้องกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรของสมาชิกอย่างครบวงจรในทุกขั้นตอนของกิจกรรมการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมการผลิต การจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การผลิต การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการจำหน่ายผลผลิต 

การเชื่อมโยงธุรกิจสหกรณ์กับกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรของสมาชิกดังกล่าวจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากสหกรณ์ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การผลิตทางการเกษตรของสมาชิก ซึ่งเริมต้นตั้งแต่กิจกรรมต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีแนวทางดังนี้ 

กิจกรรมต้นทาง

สหกรณ์ช่วยสมาชิกวางแผนการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์แนวโน้มราคาผลผลิตทางการเกษตร ความต้องการผลผลิตทางการเกษตรของตลาด การจัดหาทุนให้แก่สมาชิก การบริหารจัดการพื้นที่การผลิต (Zoning) การสำรวจความต้องการปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร (Motor Pool) การจัดตั้งกลุ่มการผลิตของสมาชิก ช่วยสนับสนุนการผลิตของสมาชิกโดยการจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมาจำหน่ายแก่สมาชิก การให้เงินกู้ยืมเพื่อการผลิตแก่สมาชิก การจัดหาระบบประกันภัยทางการเกษตร การตรวจเยี่ยมแปลง การให้การศึกษาอบรมทางการผลิตทางการเกษตรแก่สมาชิก ตลอดจนการให้บริการและการส่งเสริมทางการเกษตรต่าง ๆ เพื่อการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแก่สมาชิก 

กิจกรรมกลางทาง

สหกรณ์ดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจากสมาชิกและเกษตรกรในชุมชน เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านกลไกราคาผลผลิตทางการเกษตรในตลาด และเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกและชุมชน เช่น กิจกรรมการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร การปรับปรุงสภาพ การลดความชื้น การจัดเก็บ การขนส่ง และการแปรรูปเป็นวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายตามความต้องการของสมาชิก ชุมชน และตลาดภายนอก 

กิจกรรมปลายทาง

สหกรณ์บริหารจัดการด้านการตลาด เช่น การสร้างเครือข่ายตลาดสินค้าผลผลิตทางการเกษตรเพื่อส่งต่อผลผลิตทางการเกษตรสู่ตลาด การผลิตสินค้าและบริการตามความต้องการของตลาดในระดับต่าง ๆ มีการบริหารจัดการด้านราคาสินค้าเกษตร เช่น ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า การสร้างความยุติธรรมด้านรายได้ในการส่งต่อมูลค่าเพิ่มในแต่ละห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์และคุณค่าให้แก่สินค้าสหกรณ์ 

ส่งท้าย

ผมว่าประเทศไทยมีลักษณะของการพัฒนาเศรฐกิจ 2 รูปแบบควบคู่กันไป ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพใหญ่โดยการพึ่งพาการส่งออก การลงทุนเพื่อการผลิตทางอุตสาหกรรม และภาคบริการ ขณะเดียวกันก็มีการเชื่อมโยงมายังเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชนซึ่งพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นหลัก แม้ในช่วงยุคแรก ๆ มีการตั้งสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนด้วยการขูดรีดแรงงานส่วนเกินและให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยสูง แต่ปัจจุบันสหกรณ์มีการปรับตัวเปลี่ยนบทบาทของตัวเองให้มีบทบาทในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจส่วนบนมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับบทบาทของสหกรณ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นหากสหกรณ์ภาคการเกษตรให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรของสมาชิกอย่างจริงจังตามหลักการสหกรณ์และหลักประสิทธิภาพ คงไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก แต่จะช่วยหนุนเสริมให้เศรษฐกิจระดับฐานรากเข้มแข็ง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติให้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2566

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ (Central Financial Organization: CFO) ตอนที่ 2: องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ บทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์

ความเดิมตอนที่ 1: การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินของขบวนการสหกรณ์ (สหกรณ์ที่มีเงินเหลือและสหกรณ์ที่ขาดเงินทุน) โดยการให้เงินกู้ยืม-การกู้ยืม การฝาก-การรับฝาก และการถือหุ้นในชุมนุมสหกรณ์ ซึ่งการเชื่อมโยงทางการเงินดังกล่าวทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากภายนอกระบบสหกรณ์ แต่ในบางกรณียังขาดการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอ จนไม่สามารถถอนเงินฝากกันได้ ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ตามกำหนด หรือมูลค่าหุ้นของชุมนุมฯ ด้อยค่าลง ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ทั้งสองฝ่าย 

การนำเสนอในตอนที่ 2: องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ บทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ เป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ บทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ และความเป็นไปได้ที่องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ จะช่วยหนุนเสริมให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ มีความเสี่ยงลดลง และมีความเข้มแข็งมากขึ้นและสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ 

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ (Central Financial Organization: CFO) คืออะไร

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ คือ องค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ มีอำนาจกระทำการในการรับฝากเงินจากสหกรณ์สมาชิก ให้เงินกู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิก ออกหุ้นให้สหกรณ์สมาชิกถือ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ออกตราสารการเงิน และอื่น ๆ ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ในประเทศไทยมีดังนี้ 

แนวคิดเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์

1) ชุมนุมสหกรณ์ (Cooperative Federations)

กฎหมายกำหนดให้มีชุมนุมสหกรณ์ครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ พุทธศักราช 2471 โดยมาตรา 10 (2) กำหนดว่า ถ้าเป็นสมาคมซึ่งเป็นชุมนุมสหกรณ์ ต้องมีผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนสหกรณ์นั้น ๆ ลงนามแทนทุกสหกรณ์...สมาคมซึ่งมีสหกรณ์เป็นสมาชิกนั้นให้จดทะเบียนได้แต่จำกัดสินใช้เท่านั้น... 

ต่อมาพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 กำหนดให้สหกรณ์ตั้งแต่สามสหกรณ์ขึ้นไป ที่ประสงค์จะร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ที่เข้าร่วมกันนั้น อาจรวมกันจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ได้ (มาตรา 72) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ให้ชุมนุมสหกรณ์กระทำการตามมาตรา 21 (รายละเอียดใน พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2511) ได้ และจะกระทำการออกหุ้นกู้เพื่อประโยชน์ของชุมนุมสหกรณ์ก็ได้ในการออกหุ้นกู้นี้ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันว่าด้วยหุ้นกู้มาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 80) 

ในปัจจุบันชุมนุมสหกรณ์จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยชุมนุมสหกรณ์สหกรณ์ตั้งแต่ห้าสหกรณ์ขึ้นไปที่ประสงค์จะร่วมกันดำเนินกิจการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ที่เข้าร่วมกันนั้น อาจรวมกันจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ได้ ชุมนุมสหกรณ์ใดจะมีฐานะเป็นชุมนุมสหกรณ์ระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ จะต้องตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยประโยชน์แก่บรรดาสหกรณ์ในภูมิภาคหรือทั่วประเทศที่เป็นสหกรณ์ประเภทเดียวกัน หรือต่างประเภทกัน เพื่อประกอบธุรกิจของสหกรณ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด (มาตรา 101) และให้ชุมนุมสหกรณ์มีอำนาจกระทำการได้ตามมาตรา 46 (รายละเอียดใน พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (มาตรา 105) ตลอดจนให้ชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศมีอำนาจร่วมกับสหกรณ์สมาชิกของตน จัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ของสมาชิกสหกรณ์และครอบครัวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด (มาตรา 105/1) 

ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 มีชุมนุมสหกรณ์ทั้งสิ้นจำนวน 135 แห่ง จำแนกเป็นชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจำนวน 110 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ประมงจำนวน 2 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์นิคมจำนวน 1 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 11 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ร้านค้าจำนวน 2 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์บริการจำนวน 5 แห่ง และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำนวน 4 แห่ง ทั้งนี้เป็นชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังไม่เริ่มดำเนินการจำนวน 1 แห่ง และเป็นชุมนุมสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชีจำนวน 33 แห่ง จำแนกเป็น ชุมนุมสหกรร์การเกษตรจำนวน 30 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ร้านค้าจำนวน 1 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์บริการจำนวน 1 แห่ง และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำนวน 1 แห่ง (กรมส่งเสริมสหกรณ์, ออนไลน์) 

2) ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ (Bank for Cooperative)

รัฐบาลได้ตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2490 โดยธนาคารเพื่อการสหกรณ์ให้บริการทางการเงินแก่สหกรณ์ทั่วไปเพื่อนำเงินทุนไปให้สมาชิกสหกรณ์กู้อีกต่อหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 รัฐบาลได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยได้รับโอนกิจการจากธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2509 - 2519 ธ.ก.ส. กำหนดบทบาทไปสู่ธนาคารพัฒนาชนบท มุ่งลดบทบาทเงินกู้นอกระบบ ให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่อเพื่อการผลิต (ศิริลักษณ์ นามวงศ์ และประเสริฐ จรรยาสุภาพ, 161-164) 

3) ธนาคารสหกรณ์ (Cooperative Bank)

ในปี พ.ศ. 2494 และ พ.ศ. 2496 มีการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์ในจังหวัด 2 จังหวัด คือ ธนาคารสหกรณ์เชียงใหม่ ฯ และ ธนาคารสหกรณ์อุตรดิตถ์ ฯ โดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ซึ่งมีธนาคารเพื่อการสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางให้แก่ธนาคารสหกรณ์จังหวัดทั้งสอง ธนาคารสหกรณ์จังหวัด มีลักษณะเป็นชุมนุมสหกรณ์ชนิดผสม มีสมาชิกประกอบด้วยสหกรณ์ท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่สหกรณ์หาทุนชนิดไม่จำกัดสินใช้และสหกรณ์ประเภทอื่น เช่น สหกรณ์ขายข้าว ร้านสหกรณ์รวมทั้งบุคคลธรรมดาเข้าเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งผลการดำเนินงานของธนาคารสหกรณ์ทั้งสองธนาคารได้ผลเป็นที่พอใจ เป็นธนาคารของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน เป็นลักษณะธนาคารสหกรณ์อย่างแท้จริง 

กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ กระทรวงสหกรณ์ในสมัยนั้น มีนโยบายขยายธนาคารสหกรณ์ไปในทุกจังหวัด แต่ระบบสถาบันการเงินของสหกรณ์ซึ่งกำลังจะขยายตัวต้องหยุดดำเนินธุรกิจลง จากผลของพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งมีบทบัญญัติว่า "ธนาคารพาณิชย์จะตั้งขึ้นได้ก็แต่ในรูปบริษัทจำกัด" (ปัจจุบัน พ.ร.บ. ธนาคาร พ.ศ. 2505 ถูกยกเลิกไปโดย มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551) มีผลให้ธนาคารสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง ต้องเปลี่ยนประเภทเป็นสหกรณ์ประเภทชุมนุมสหกรณ์การเกษตรตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2511 ส่งผลให้ชุมนุมสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง เปลี่ยนไปทำธุรกิจด้านการตลาด และธุรกิจบริการให้แก่สหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอ (กรมส่งเสริมสหกรณ์, 2559: 77) 

นโยบายของรัฐเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์

วาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี การสหกรณ์ไทย (พ.ศ. 2559) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์และแนวทางในการดำเนินงานตามข้อเสนอสาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบการผลิตการตลาดและการเงินสหกรณ์ กลยุทธ์ที่ 3.3 เชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินของสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์, 2559: 4-5) 

ในปี พ.ศ. 2558 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำโครงการ ประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์โดยเครือข่ายทางการเงินในระบบสหกรณ์เป็นแนวคิดสำคัญในการสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ มีการนำเสนอรูปแบบเครือข่ายทางการเงินในระบบสหกรณ์ 4 รูปแบบ ได้แก่

1) กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมกิจการและคุ้มครองเงินฝากของสหกรณ์สมาชิกสมาชิก คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์มีแหล่งเงินทุนมาจากเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์ทุนสำรอง (ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (ร้อยละ 1 ของเงินรับฝาก) ทั้งนี้สหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโรด้วย 

2) สถาบันระดับยอด (APEX): เครือข่ายการเงินระหว่างสหกรณ์ประเภทเดียวกัน เพื่อส่งเสริมกิจการ คุ้มครองเงินฝาก และให้ชุมนุมสหกรณ์ ที่ได้รับการยกระดับเป็น APEX จัดสรรเงินเป็นทุนเสริมสภาพคล่องของสหกรณ์สมาชิกได้ คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์มีแหล่งเงินทุนมาจากเงิน กพส. เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์ทุนสำรอง (ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (ร้อยละ 1 ของเงินรับฝาก) ทั้งนี้สหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร และได้รับการประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จากกรมส่งเสริมสหกรณ์หรือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ไม่ต่ำกว่าระดับหนี้ด้อยคุณภาพ (Sub Prime) 

3) ศูนย์กลางการเงินสหกรณ์ (CFF) เพื่อส่งเสริมกิจการ คุ้มครองเงินฝาก จัดสรรเงินเป็นทุนเสริมสภาพคล่องของสหกรณ์สมาชิก และนำเงินกองทุนไปฝากหรือลงทุนได้ตามที่คณะกรรมการกำหนด คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์มีแหล่งเงินทุนมาจากเงิน กพส. เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์ทุนสำรอง (ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (ร้อยละ 1 ของเงินรับฝาก) ทั้งนี้สหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร และได้รับการประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จากกรมส่งเสริมสหกรณ์หรือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ไม่ต่ำกว่าระดับหนี้ด้อยคุณภาพ (Sub Prime) 

4) ธนาคารสหกรณ์ (Cooperative Bank) โดยมีวิธีการจัดตั้ง 2 แนวทางได้แก่

4.1) สหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ ขอจัดตั้งและขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถาบันการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย แหล่งที่มาของเงินทุนมาจากเงินของสหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี

4.2) สหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ เข้าเป็นสมาชิก Co-op Fund Window ใน ธ.ก.ส. โดย ธ.ก.ส. ประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของสหกรณ์สมาชิก และเป็นแหล่งเงินทุนให้สหกรณ์สมาชิก ต่อมารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังถ่ายโอนความเป็นเจ้าของของ ธ.ก.ส. สู่สหกรณ์ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูง โดยแหล่งเงินมาจากเงินของสหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี 

แนวคิดองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ ช่วยให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์เข้มแข็ง และสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ ได้อย่างไร 

1) มีหลักการและเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคง ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มข้น การบริหารจัดการความเสี่ยงจะมีความชัดเจนเนื่องเป็นกฎที่ต้องปฏิบัติ ช่วยให้บริหารจัดการความเสี่ยงมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยมีการบริหารจัดการความเสี่ยงหลัก 5 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operation Risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) และความเสี่ยงด้านการตลาด (Market Risk) 

2) สร้างความเชื่อมั่นให้แก่สหกรณ์สมาชิก และสมาชิกสหกรณ์ เนื่องจากมีหลักเกณฑ์การคุ้มครองเงินฝากที่ชัดเจนและเข้มข้นกว่าการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ ประกาศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 และกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ที่ออกตามความในมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

3) ลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพของการให้สินเชื่อ เนื่องจากสหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร และต้องได้รับการประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ตลอดจนองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ต้องพิจารณาการให้เงินกู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) 

4) การลงทุนของสหกรณ์สมาชิกจะมีความเสี่ยงลดลงและมีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์จะทำหน้าที่เป็นผู้ลงทุนแทนสหกรณ์สมาชิก มีการบริหารจัดการโดยมืออาชีพ 

สรุป

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ไทยในปัจจุบันที่มีบทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ ได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์ต่าง ๆ ที่มีสถานะดำเนินงานทั้งสิ้นจำนวน 101 แห่ง มีสหกรณ์สมาชิกจำนวน 4,612 แห่ง (กรมส่งเสริมสหกรณ์, ออนไลน์) 

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้จัดทำสารสนเทศทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ปี 2565 พบว่าชุมนุมสหกรณ์ทั้งหมด มีทุนดำเนินงานรวมกันทั้งสิ้น 189,764.51 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้สินจำนวน 149,040.58 ล้านบาท หรือร้อยละ 78.54 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น และทุนของสหกรณ์จำนวน 40,723.93 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.46 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 

สินทรัพย์ของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเงินให้กู้ยืม 79,258.09 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.77 ของสินทรัพย์ทั้งสิ้น โดยเป็นเงินให้กู้ยืมระยะยาวสุทธิ ร้อยละ 84.92 ของเงินให้กู้ยืมทั้งสิ้น สินทรัพย์รองลงมาเป็นเงินลงทุนของสหกรณ์ 78,175.28 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.19 ของสินทรัพย์ทั้งสิ้น โดยเป็นเงินลงทุนระยะยาว ร้อยละ 81.23 ของเงินลงทุนทั้งสิ้น แสดงว่าในภาพรวมชุมนุมสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการปล่อยเงินให้กู้ยืมซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์ 

หนี้สินของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝาก 125,701.04 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.24 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น หรือร้อยละ 84.34 ของหนี้สินทั้งสิ้น เป็นเงินรับฝากจากสมาชิก ร้อยละ 95.60 ของเงินรับฝากทั้งสิ้น หนี้สินรองลงมาเป็นเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารและเงินกู้ยืมระยะสั้น 20,899.12 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.01 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้นหรือร้อยละ 14.02 ของหนี้สินทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าการก่อหนี้ของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝากสมาชิกซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนภายใน ซึ่งช่วยลดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของชุมนุมสหกรณ์และลดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระจากการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้อื่น 

ทุนของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นทุนเรือนหุ้น 37,926.33 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.99 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น หรือร้อยละ 93.13 ของทุนของชุมนุมสหกรณ์ รองลงมาเป็นทุนสำรองจำนวนเงิน 3,817.55 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.01 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น ส่วนที่เหลือเป็นกำไร (ขาดทุน) สุทธิประจำปี ทุนสะสมตามข้อบังคับ ระเบียบและอื่น ๆ ส่วนเกินจากการตีราคาสินทรัพย์ กำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น และขาดทุนสะสม ตามลำดับ 

รายได้ชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่มาจากรายได้ธุรกิจหลัก ร้อยละ 97.16 รองลงมาเป็นรายได้อื่น ร้อยละ 2.14 และรายได้เฉพาะธุรกิจ ร้อยละ 0.70 ของรายได้ทั้งสิ้น ส่วนค่าใช้จ่ายของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนธุรกิจหลัก ร้อยละ 77.53 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 5.02 และค่าใช้จ่ายเฉพาะธุรกิจ 3.18 ของรายได้ทั้งสิ้น สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง จึงส่งผลให้ชุมนุมสหกรณ์มีกำไรเพียง ร้อยละ 14.27 ของรายได้ทั้งสิ้นการดำเนินงานของชุมนุมสหกรณ์มีกำไรสุทธิ จำนวน 61 แห่ง หรือร้อยละ 61.00 ของจำนวนชุมนุมสหกรณ์ที่รวบรวมข้อมูลได้ทั้งสิ้น มีชุมนุมสหกรณ์ จำนวน 39 แห่ง หรือร้อยละ 39.00 ของจำนวนสหกรณ์รวบรวมข้อมูลได้ทั้งสิ้นที่ประสบผลขาดทุนสุทธิ (กรมตรวจบัญชีสหกรณ์: 2566, 116-126) 

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่าชุมนุมสหกรณ์ทั้งหมดที่มีสถานะดำเนินงาน ต่างก็ได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ และการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการของแต่ละชุมนุมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่บริหารงานมีประสิทธิภาพช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเงินและด้านอื่น ๆ ให้แก่บรรดาสหกรณ์สมาชิก แต่ก็ยังมีชุมนุมสหกรณ์บางส่วนที่ยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารงาน เช่น บางแห่งมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิประจำปี บางแห่งมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมจนทุนของชุมนุมสหกรณ์ติดลบ และมีชุมนุมสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชีจำนวน 33 แห่ง เป็นต้น

 

ฉะนั้น เพื่อให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ และความเป็นไปได้ที่องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ จะช่วยหนุนเสริมให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ มีความเสี่ยงลดลง และมีความเข้มแข็งมากขึ้นและสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ จะต้องขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อยกระดับความเข้มแข็งขององค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการพิจารณารูปแบบองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์แบบอื่น ๆ ที่หนุนเสริมต่อการสร้างความเข้มแข็งและสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ เพื่อให้ขบวนการสหกรณ์ในประเทศไทยมีความมั่นคงปลอดภัยในการเชื่อมโยงธุรกิจทางการเงิน สร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ตลอดจนเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และสังคมมีความเชื่อมั่นในระบบการเงินของสหกรณ์ไทย

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ...