วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ที่การสหกรณ์ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลก จนปัจจุบันโลกมีสหกรณ์กว่า 3 ล้านแห่ง และมีสมาชิกมากกว่าร้อย 12 ของประชากรโลก (ICA,ออนไลน์) 

มีคำถามหนึ่งเกิดขึ้นเสมอว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจแสวงหากำไรหรือไม่อย่างสหกรณ์ในบ้านเราก็มีการหยิบยกเอามาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาเป็นเหตุผลในการอธิบายว่า ถ้าสหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร แล้วจะมีการจัดสรรกำไรไปทำไม” “หากสหกรณ์ไม่แสวงหากำไร ไม่จัดสรรกำไร แล้วสมาชิกจะยังศรัทธาสหกรณ์อยู่หรือไม่อะไรประมาณนี้ 

ลองมาดูกันครับ ว่า Robert Owen บิดาแห่งลัทธิสังคมนิยมอังกฤษ และบิดาแห่งการสหกรณ์โลก มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของ กำไรว่าอย่างไร 

Robert Owen มีกิจสิ่งเดียวที่จะต้องกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงฐานะทางเศรษฐกิจของคนงาน คือ กำจัดผลกำไรให้สูญสิ้นไป เนื่องจากเขามองว่า กำไรคือสิ่งซึ่งล้ำค่าและอยู่เหนือราคาซื้อ ซึ่งตามลักษณะของกำไรแล้วเป็นสิ่งอยุติธรรม เพราะว่าราคาซื้อของสิ่งของสิ่งหนึ่งเท่านั้นที่เป็นราคาอันชอบธรรม สิ่งของจะต้องขายตามราคาที่ซื้อมากำไรเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยภยันตราย เช่น คนงานจะซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคได้จำนวนที่พวกเขาทำการผลิตได้อย่างไร ถ้าผลผลิตเหล่านั้นมีราคาเพิ่มขึ้นโดยบวกผลกำไรเข้าไป 

การกำจัดผลกำไรให้สูญสิ้นไป 

Robert Owen มองว่า เงินตราเข้ามาแทรกแซงในเรื่องการซื้อขายเป็นเหตุให้การขายสินค้าเกินกว่าราคาอันแท้จริง ซึ่งความลับของการทำผลกำไรคือ การซื้ออย่างถูกที่สุดที่พึงจะซื้อได้ แล้วขายไปอย่างแพงที่สุดที่พึงจะขายได้ โดยอาศัยเงินตรา 

ช่วงปี ค.ศ. 1800 – 1824 Robert Owen ได้ใช้แนวคิดสังคมนิยมโดยการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่คนงานในโรงงานทอผ้าและชุมชน ในเมือง New Lanark ประเทศสกอตแลนด์ จนแนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับไปทั่วยุโรป เนื่องจาก Robert Owen พิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กรอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องขูดรีดแรงงานส่วนเกินเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งเหมือนองค์กรอุตสาหกรรมทั่วไป แต่สามารถดำเนินธุรกิจอย่างมีกำไรที่เพียงพอได้โดยการแบ่งปันกำไรส่วนเกินกลับไปสู่แรงงานด้วยระบบสวัสดิการสังคม อันนำมาซี่งความเป็นอยู่ที่ดีของชนชั้นแรงงาน และชุมชนในเมือง New Lanark 

ในปี ค.ศ. 1832 ได้มีการก่อตั้งห้างสรรพสินค้าในกรุงลอนดอน ชื่อ The National Equitable Labour Exchange โดยวิธีการซื้อขายในห้างนี้ ไม่ใช้เงินตราเป็นสื่อกลาง แต่ใช้ บัตรแรงงานมูลค่าของบัตรคำนวณจากระยะเวลาที่ใช้แรงงานในการผลิตสินค้าหนึ่ง ๆ เช่น ใช้แรงงานผลิตสินค้าจำนวน 1 ชั่วโมง จะได้ 1 บัตร แล้วสามารถนำบัตรนั้นไปแลกสินค้าอื่น ๆ ได้ 

แนวคิดของ Robert Owen ดังกล่าว สอดคล้องกับทฤษฎีมูลค่าของ Karl Mark ที่ว่า ผลผลิตจากแรงงานมนุษย์ทุกอย่างจะต้องมี มูลค่า (Value) ในการใช้ อย่างไรก็ตาม คำว่ามูลค่าในการใช้ ก็มีความหมาย 2 แบบ เราอาจจะพูดถึง มูลค่าในการใช้ ของสินค้าหนึ่งและอาจจะพูดถึง มูลค่าในการใช้ ต่าง ๆ ได้อีกเมื่อเราหมายถึงสังคมหนึ่ง ๆ ที่มีการผลิต แต่มูลค่าการใช้เท่านั้น นั่นคือในสังคมที่ผลิตผลผลิตขึ้นมาเพื่อบริโภคโดยตรง ไม่ว่าจะบริโภคโดยผู้ผลิตเอง หรือโดยชนชั้นปกครองที่ได้ผลผลิตไปก็ตาม นอกจากผลผลิตจากแรงงานมนุษย์จะมีมูลค่าในการใช้แล้ว ก็ยังมีมูลค่าในการแลกเปลี่ยนได้อีกด้วย…” 

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา เมื่อสหกรณ์มีกำไรสุทธิประจำปี แล้วนำกำไรสุทธิดังกล่าวมาจัดสรร เหตุใดจึงบอกว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร 

ท่านอาจารย์ อาบ นคะจัด ได้อธิบายเรื่องกำไรในสหกรณ์ ไว้อย่างลุ่มลึกว่า สหกรณ์คือองค์กรธุรกิจประเภทหนึ่งในระบบเศรษฐกิจการตลาดของประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับหุ้นส่วนและบริษัท ตามมาตรา 1012 (อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ องค์การธุรกิจนิติบุคคลตามกฎหมายสหกรณ์ต่างจากองค์กรธุรกิจตาม ป.พ.พ. ในเรื่องสำคัญคือ วัตถุประสงค์และหลักการขององค์การธุรกิจต่างกัน และตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ต่างกัน สหกรณ์มีวัตถุประสงค์ “เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ส่วนวัตถุประสงค์ของหุ้นส่วนและบริษัทคือ “ประสงค์จะแบ่งกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น” แม้กฎหมายสหกรณ์จะกำหนดเรื่องการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ แต่คำว่ากำไรสุทธิที่บัญญัตินั้นเป็นเพียงคำศัพท์ทางการบัญชี ไม่ใช่กำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 เพราะในสหกรณ์เจ้าของและลูกค้าคือบุคคลคนเดียวกัน ราคาสินค้าและบริการที่สหกรณ์กำหนดขึ้น คือค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สหกรณ์เรียกจากสมาชิก เมื่อสิ้นปีการบัญชี หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว มีเงินเหลือจ่ายสุทธิ (กำไรสุทธิ) เท่าใด จึงต้องจัดสรรตามกฎหมายสหกรณ์ 

ท่านอาจารย์ นุกูล กรยืนยงค์ (2554) อธิบายว่า สหกรณ์มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นตรงที่การรวมตัวกันของประชาชนเพื่อ ก่อตั้งสหกรณ์ และนำเงินมาลงทุนร่วมกันนั้น มิใช่เพื่อทำการค้ากับบุคคลอื่น หากแต่เป็นเพราะต้องการใช้สินค้าหรือบริการนั้นสำหรับตนเองเป็นประการสำคัญ มุ่งให้บริการแก่สมาชิกเป็นหลัก เป็นการสร้างประโยชน์ขึ้นแก่ตนเอง บริการตนเองโดยการร่วมกันทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เป็นการเรียกร้องจากผู้อื่น สหกรณ์ผู้บริโภคไม่จำเป็นที่จะต้องแสวงหาผลกำไรจากการทำธุรกิจ เนื่องจากทั้งเจ้าของและผู้ใช้บริการ (ลูกค้า) เป็นคนเดียวกัน หรือในกรณีที่เป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อการผลิตโดยมีสมาชิกเป็นเจ้าของและผู้ใช้แรงงาน ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่เจ้าของจะเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานเพราะเป็นคนเดียวกัน ไม่ว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะตกแก่เจ้าของ หรือแรงงาน ก็ย่อมเป็นของคนเดียวกันทั้งหมด กำไรจึงเป็นของสมาชิก (ไม่ใช่ของสหกรณ์) เนื่องจากสหกรณ์มีเป้าหมายหลักในการทำธุรกิจกับสมาชิก และมักใช้นโยบายราคาตลาดด้วยเหตุผลสำคัญ คือการหลีกเลี่ยงสงครามราคา ดังนั้น "กำไร" จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการดำเนินงานตามปกติ ของสหกรณ์ และถือว่าเป็นของสมาชิกทุกคนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ ผู้ที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์มากก็มีส่วนทำให้เกิดผลกำไรมากตามส่วน ดังนั้น สหกรณ์จึงมีวิธีการคืนกำไรนั้นกลับไปให้สมาชิกตามส่วนของการใช้บริการ โดยให้ที่ประชุมใหญ่ของบรรดาสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาตัดสินใจ 

การจัดสรรตามกฎหมายสหกรณ์ในปัจจุบัน จำแนกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่กฎหมายบังคับให้จัด ได้แก่ การจัดสรรเป็นทุนสำรองของสหกรณ์เองเพื่อความมั่นคงของสหกรณ์ (ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10) จัดสรรเป็นเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (ร้อยละ 1 ไม่เกิน 30,000.00 บาท) กำไรส่วนที่เหลือเป็นการจัดสรรกลับคืนสู่สมาชิกผู้เป็นเจ้าของสหกรณ์ร่วมกัน ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินธุรกิจในสหกรณ์ โดยการจัดสรรเป็นเงินเฉลี่ยคืน (เป็นหลัก) และเงินปันผล กำไรส่วนที่เหลือ ก็จัดสรรเป็นทุนต่าง ๆ เพื่อสวัสดิการสมาชิกและครอบครัว เพื่อชุมชน เพื่อสังคม 

ทำไมเราต้องเชื่อว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร 

นั่นนะสิ ตอบยากนะ ... ผมว่า ถ้าเราเข้าใจว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร การดำเนินงานของสหกรณ์จะมีแค่เป้าหมายเดียวเลยคือ จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมโดยการ ช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์ถ้าเข้าใจถูกต้องและเชื่อเหมือนกัน สหกรณ์ก็จะดำเนินงานตามแนวทางของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ การขูดรีดกำไรส่วนเกิน การแสวงหากำไรในสหกรณ์ก็จะไม่เกิดขึ้น ผมว่าสิ่งนี้แหละที่จะส่งผลให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง 

เอกสารอ้างอิง 

นุกูล กรยืนยงค์. 2554.  หลักและวิธีการสหกรณ์ Co-operative Principles and Practices.  เอกสารประกอบการบรรยายวิชาหลักและวิธีการสหกรณ์. 

อาบ นคะจัด.  2536.  คำอธิบายกฎหมายสหกรณ์ในฐานะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเกษตรและสถาบันเกษตรกรโดยย่อ.  สถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก) 

อำไพ รุ่งอรุณ.  2519.  ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเฌศ. 

ฮัด เจสสัน.  2477.  หนังสือคำสอนขั้นปริญญาตรี เรื่อง ลัทธิเศรษฐกิจ. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2567

หน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์

 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

มาตรา 42 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อการป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด

มาตรา 75 วรรคสาม รัฐพึงส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ และกิจการวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของประชาชนและชมชน

มาตรา 258 ฉ. ด้านเศรษฐกิจ (4) สร้างกลไกเพื่อส่งเสริมสหกรณ์และผู้ประกอบการแต่ละขนาดให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคมและวิสาหกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างกลไกเพิ่มโอกาสในการทำงานและการประกอบอาชีพของประชาชน 

2. พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 16 ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) รับจดทะเบียน ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ และกำกับดูแลสหกรณ์ให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น

(9) กระทำการอื่นใดตามที่ พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย บรรดาอำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์ในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติหรือการดำเนินการอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนสหกรณ์อาจมอบอำนาจให้รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายให้ปฏิบัติการแทนได้ 

3. กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2557

ข้อ 2 ให้กรมส่งสริมสหกรณ์ มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริม เผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง โดยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ เพิ่มขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ และมีการเชื่อมโยงธุรกิจสหกรณ์สู่ระดับสากล เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ กฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

(2) ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการตามที่นายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายในการรับจดทะเบียน ส่งเสริม แนะนำ กำกับ และดูแลสหกรณ์ รวมทั้งอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

(3) ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และคุ้มครองระบบสหกรณ์

(4) ส่งเสริม เผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป

(5) ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสหกรณ์ การบริหารจัดการองค์กรและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

(6) ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ให้กับคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ

(7) ศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของตลาดสินค้าสหกรณ์และสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างสหกรณ์กับสหกรณ์ สหกรณ์กับเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

( 8 ) ส่งเสริมและสนับสนุนด้านเงินทุน ข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยี และทรัพยากรอื่น ๆ ที่เหมาะสมในการดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร

(9) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย 

4. ระเบียบกรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ พ.ศ. 2562

ข้อ 6

"เจ้าหน้าที่" หมายความว่า ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง หรือตำแหน่งอื่นใดในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์

"สหกรณ์" หมายรวมถึง ชุมนุมสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร

ข้อ 7 เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมสหกรณ์ ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องอำนวยความสะดวก สนับสนุน ช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษา ให้การศึกษา และฝึกอบรม แก่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ภายใต้อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์

การปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคแรก ห้ามมิให้เข้าเป็นผู้กระทำการ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการเข้าไปใช้อำนาจกระทำการของสหกรณ์ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เปิดโอกาสให้คณะกรรมการดำเนินการผู้แทนสหกรณ์ หรือผู้จัดการสหกรณ์ มีอิสระในการใช้ดุลพินิจได้ตามความเหมาะสม ภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ และตามบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อบังคับของสหกรณ์ หรือระเบียบของสหกรณ์ 

5. คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ 2/2562 เรื่อง มอบอำนาจให้รองนายทะเบียนสหกรณ์ปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์

ข้อ 2 (4) รองนายทะเบียนสหกรณ์ที่แต่งตั้งจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 2 หรือสหกรณ์จังหวัด มีอำนาจปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เฉพาะสหกรณ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 - 2 หรือสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ในกรณีดังต่อไปนี้

(4.1) ส่งเสริม แนะนำ และกำกับดูแลสหกรณ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่น ตามมาตรา 16 (1)

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2567

ภูมิศาสตร์สหกรณ์: ตอนแรก ว่าด้วยความเข้าใจทั่วไป

วงศาวิทยาว่าด้วยการสหกรณ์ มีผู้อธิบายเรื่องการสหกรณ์ไว้หลากหลายแง่มุม อาทิ ด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง เป็นต้น ด้วยการสหกรณ์มีการขยายตัวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนสหกรณ์กว่า 3 ล้านแห่ง กว่าร้อยละ 12 ของประชากรโลกมีความเกี่ยวข้องกับสหกรณ์ (ICA, online)

การศึกษาเรื่องการสหกรณ์ในบริบทที่แตกต่างกันจะช่วยให้เกิดมุมมองที่ลึกและกว้างสามารถนำบทเรียนการพัฒนาสหกรณ์ในบริบทที่แตกต่างกันใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ให้ประสบความสำเร็จ โดยการนำผลการศึกษาเรื่องการสหกรณ์ในบริบทที่แตกต่างกันไปใช้อธิบายเรื่องเดียวกันในบริบทอื่น ๆ ทั้งด้านประชากรและพื้นที่ (Generalization of Findings)

ภูมิศาสตร์ใช้อธิบายสหกรณ์อย่างไร

การมองสหกรณ์ผ่านกรอบคิดอย่างภูมิศาสตร์ (Geographic) จะช่วยให้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสาเหตุการจัดตั้งสหกรณ์ รูปแบบของสหกรณ์ วิธีการดำเนินงาน การมีส่วนร่วมของสมาชิก และความสำเร็จของสหกรณ์ ว่ามีความสัมพันธ์ มีความเกี่ยวข้อง โดยสามารถอธิบายความสัมพันธ์ได้ในเชิงพื้นที่ (Spatial) กับทัศนะคติและพฤติกรรมของคน ด้วยภูมิศาสตร์ เป็นศาสตร์เชิงพื้นที่ซึ่งมีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับการอธิบายการปรากฏของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นโลก ซึ่งนักภูมิศาสตร์ไม่ได้มองสิ่งที่ปรากฏเท่าที่มันปรากฏแต่พยายามหาคำอธิบายว่าทำไมมันจึงปรากฏ ที่อื่นมีปรากฏด้วยหรือไม่และอะไรคือเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นปรากฏในบางพื้นที่แต่ไม่ปรากฏในอีกบางพื้นที่ ซึ่ง Alfred Hettner และ Otter Schluter นิยามไว้ว่าเป็นเรื่องของความแตกต่างเชิงพื้นที่ (Areal differentiation) (James, 1972 อ้างใน มนัส สุวรรณ, 2557)

สหภาพภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Geographical Union : IGU) มีข้อเสนอว่าวิชาภูมิศาสตร์ควรมีบทบาทที่สำคัญในฐานะวิชาหลัก (Key discipline) ในกระบวนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา เนื่องจาก วิชาภูมิศาสตร์จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ (to understand) การปรากฏของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นโลกได้ดีขึ้นความรู้ในวิชาภูมิศาสตร์จะเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนหรือผู้ที่ใฝ่รู้ให้สามารถต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ (to cope) รอบตัวได้ดีขึ้น ภูมิศาสตร์จะทำให้ผู้เรียนมีความสามารถมากขึ้นในการสังเคราะห์ (to synthesize) และ/หรือเชื่อมโยง (to bridge) ปรากฎการณ์ที่เกิดบนพื้นโลกด้วยธรรมชาติของสาระที่ครอบคลุมทั้งศาสตร์ธรรมชาติศาสตร์บริสุทธิ์ และศาสตร์สังคม ตลอดจนความรู้ในวิชาภูมิศาสตร์จะเป็นพื้นฐานความรู้ (to share) สำหรับการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในศาสตร์อื่นต่อไป (Holt-Jensen, 1999 อ้างใน มนัส สุวรรณ, 2557)

การสหกรณ์ เกี่ยวข้องกับบริบททางด้านเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ ว่ากันด้วยเรื่องการร่วมมือกันในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายในการกินดีอยู่ดี ร่วมกัน อย่างผาสุก

กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ สามารถจำแนกได้ตามประเภทของสหกรณ์ ซึ่งในประเทศไทยอาจจำแนกได้เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร (สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง และสหกรณ์นิคม) และสหกรณ์นอกภาคการเกษตร (สหกรณ์บริการ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน) ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหกรณ์ภาคการเกษตรจะเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์เศรษฐกิจในเรื่อง การผลิต รูปแบบการกระจายตัวของการผลิตทางการเกษตร การแลกเปลี่ยน การรวบรวม การแปรรูป การตลาด และใช้บริการต่าง ๆ ของสหกรณ์ ตลอดจนการให้บริการทางด้านสวัสดิการและบริการทางสังคมต่าง ๆ ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหกรณ์นอกภาคการเกษตรภูมิศาสตร์เศรษฐกิจในเรื่อง รูปแบบการใช้บริการทางการเงินและการค้า การกระจายตัวของสมาชิกในพื้นที่ต่าง ๆ การจัดตั้งสำนักงานและสาขา ตลอดจนการให้บริการทางด้านสวัสดิการและบริการทางสังคมต่าง ๆ

ภูมิศาสตร์สามารถอธิบายสหกรณ์ได้ โดยช่วยวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกายภาพของพื้นที่ที่ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ในพื้นที่หนึ่ง ๆ ช่วยให้มองเห็นปรากฏการณ์ทางกายภาพกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ ที่เกิดขึ้น ณ บริเวณที่ทำการศึกษา ว่ามีรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงที่มีความสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร สามารถอธิบายได้ว่ารูปแบบการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจปัญหาทางด้านกายภาพกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ที่ทำการศึกษา เช่น รูปแบบด้านการรวมกลุ่ม การมีส่วนร่วมของสมาชิกในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ ความรู้สึกผูกพันต่อสหกรณ์ ความเหมาะสมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์กับสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเมื่อเข้าใจบริบทของสหกรณ์ในเชิงพื้นที่แล้ว ภูมิศาสตร์ยังสามารถช่วยพัฒนาสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นได้ ด้วยเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า ภูมิสารสนเทศศาสตร์

ภูมิสารสนเทศศาสตร์ (Geoinformatics) คือศาสตร์สารสนเทศที่เน้นการบูรณาการเทคโนโลยีทางด้านการสำรวจ การทำแผนที่ และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เข้าด้วยกัน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่บนโลกประกอบด้วย ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) กรรับรู้จากระยะไกล (RS) และระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) เทคโนโลยีทั้งสามประเภทนี้สามารถทำงานเป็นอิสระต่อกัน หรือสามารถนำมาเชื่อมโยงร่วมกัน ทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นสมารถนำมาใช้ประโยซน์ได้หลายด้าน เช่น กิจการทหาร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ  การวางผังเมืองและชุมชน หรือแม้แต่ในเชิงธุรกิจก็ได้มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศศาสตร์มาประยุกต์ใช้และประกอบการวางแผนการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ (ศูนย์กิจการอวกาศ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม, ออนไลน์)

ภูมิสารสนเทศศาสตร์ ช่วยสร้างระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Database) ช่วยวิเคราะห์ให้พบข้อมูลเชิงลึก ในมิติต่าง ๆ เช่น เพื่อช่วยในการชี้ให้เห็นถึงปัญหา เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง เพื่อจัดการกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อการคาดการณ์ เพื่อการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อทำความเข้าใจทิศทาง (trend) (ESRI Thailand, ออนไลน์) ซึ่งรูปแบบการเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ จะช่วยในการตัดสินใจได้ ช่วยในการวางแผน หรือออกแบบระบบต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงเพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง การวางผังหมู่บ้าน การวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา ท่อน้ำทิ้ง บ่อบำบัดน้ำเสีย การจัดการทรัพยากรการเกษตร เช่น การจัดการระบบชลประทาน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การวางแผนการผลิตพืชตามความเหมาะสม (Zoning) การวางแผนโลจิสติกส์ เช่น การหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างตลาดกลางสินค้าเกษตร การกำหนดเส้นทางการขนส่งสินค้า ตลอดจนการวางแผนการเชื่อมโยงสินค้า เป็นต้น

วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2567

วาทกรรมการพัฒนาว่าด้วยการสหกรณ์ไทย: บทแรก ว่าด้วยความเข้าใจเบื้องต้น

 การสหกรณ์มีความสำคัญต่อสังคมไทยในหลากหลายมติ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ตลอดจนเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยไทย วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสหกรณ์ไทยส่วนใหญ่มุ่งพรรณนาให้เห็นถึงความเป็นมา จากจุดเริ่มต้นที่มีการศึกษาเรื่องการสหกรณ์ในปี พ.ศ. 2457 การก่อตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ในปี พ.ศ. 2459 และเรื่องราวระหว่างเส้นทางพัฒนาในแง่มุมหลากหลาย วรรณกรรมหลายเรื่องได้อธิบายให้เห็นถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อผลการพัฒนาสหกรณ์ไทยในแต่ละยุคสมัยของการพัฒนาสหกรณ์ 

การศึกษาการสหกรณ์ไทยด้วยแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ โดยการวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนา อาจช่วยให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างไปจากวรรณกรรมว่าด้วยการสหกรณ์ที่ผ่านมา โดยการวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทย จะช่วยให้เห็นถึงกระบวนการในการสร้างวาทกรรม การปฏิบัติการของวาทกรรม การต่อสู้ทางวาทกรรม ผลของวาทกรรม และกระบวนทัศน์ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาสหกรณ์ไทย ช่วยเผยให้เห็นถึงคุณค่าเชิงอุดมการณ์ และผลประโยชน์ในการพัฒนาการสหกรณ์ไทย อันจะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการพัฒนาการสหกรณ์ไทยในปัจจุบันและอนาคต 

คำถามสำคัญในวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทย คือ มีวาทกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการสหกรณ์ไทย กระบวนการในการสร้างวาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทยเป็นอย่างไร การปฏิบัติการของวาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทยเป็นอย่างไร มีการต่อสู้ทางวาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทยอย่างไรบ้าง ผลการต่อสู้ทางวาทกรรมเป็นอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาการสหกรณ์ไทย อุดมการณ์และผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาการสหกรณ์ไทยเป็นอย่างไร กระบวนทัศน์การพัฒนาการสหกรณ์ไทยที่ผ่านมามีความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของการสหกรณ์ไทยหรือไม่ อย่างไร และมีทางเลือกอื่นใดหรือไม่ 

การวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทย จะช่วยให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องและผู้คนทั่วไปที่สนใจเรื่องการสหกรณ์ มีความเข้าใจการสหกรณ์ไทยในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างข้อเสนอเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับกระบวนทัศน์การพัฒนา ที่สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขของการพัฒนาการสหกรณ์ไทยต่อไป 

ความเข้าใจเบื้องต้น 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ (Critical Postmodern Concept) 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ เกิดขึ้นจากการบูรณาการระหว่างทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Paradigm) ของสำนักคิด Frankfurt School โดยมี Jurgern Harbermas เป็นบุคลที่นำเสนอแนวคิดดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism) โดยมี Michel Foucault เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลสูงมากต่อการนำเสนอแนวคิดดังกล่าว แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาต่อจากทฤษฎีวิพากษ์ ลัทธิล่าอาณานิคม แนวคิดการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy) และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Boje, 2001 อ้างใน Koscianski, 2003) หลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์สร้างช่องว่างที่สำคัญระหว่างปัจเจกกับสังคม สนใจในการตรวจสอบทางจริยธรรมต่อสภาวะเชิงวัตถุในสังคมโลกหลังสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังตระหนักถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ในการตรวจสอบจริยธรรมเหล่านั้นด้วย (Koscianski, 2003) 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์เป็นแนวคิดที่มองความเป็นจริงว่าไม่ใช่สิ่งที่คงที่หรือมีอยู่แล้วอย่างกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยม (Positivism) แต่มองว่าความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดสร้างขึ้น เป็นอัตวิสัย (Subjective) แปรผันไปตามสภาพการณ์และบริบทของแต่ละปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งอาจส่องสะท้อนให้เห็นความจริงได้หลากหลายจากผู้คนที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเข้าถึงความจริงของแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์จึงต้องใช้ระบบคุณค่า การตีความ การรับรู้ ความรู้สึก ประสบการณ์ของบุคคลเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริง โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมพลังและปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการต่างๆ ด้วยวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ทางความคิด วิเคราะห์ระบบคุณค่า สัญลักษณ์ต่างๆ การส่องสะท้อนตนเอง เมื่อเผยให้เห็นความเป็นจริงต่างๆ แล้วจึงลงมือปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ชุมชน และสังคม ซึ่งการบูรณาการทฤษฎีวิพากษ์กับแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมให้กลายเป็นแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์นั้นมีรายละเอียดเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ วิธีการแสวงหาความรู้ และคุณค่าของความรู้ 

แนวคิดเรื่องวาทกรรม (Discourse) และการวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) 

แนวคิดเรื่องวาทกรรม และการวิเคราะห์วาทกรรม เป็นแนวคิดที่กลุ่มนักปรัชญาและกลุ่มนักคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ให้ความสำคัญว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่สามารถสะท้อนความเป็นจริงของสังคมได้ เนื่องจากนักคิดในกลุ่มนี้เชื่อว่าภาษามีความสำคัญที่สามารถกำหนดความเป็นไปของมนุษย์ได้ 

นักคิดชาวฝรั่งเศส Michel Foucault และนักคิดชาวเยอรมัน Jurgens Habermas ของสำนักแฟรงค์เฟิร์ต เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามีอิทธิพลมากต่อการเสนอทฤษฎีการสื่อสารในทวีปยุโรป Foucault  มีแนวคิดที่โดดเด่นมากใน 3 เรื่อง คือ 1) ความรู้เฉพาะยุค (Episteme) หรือการฟอร์มตัวของวาทกรรม (Discursive Formations) 2) ระเบียบวิธีศึกษาแนววงศาวิทยา (Archaeological – Genealogical Method of Inquiry) และ 3) แนวคิดเรื่องอำนาจ ส่วน Habermas มีความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเป็นวิธีการที่ไม่เพียงพอที่จะศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ เขาจึงเน้นการสื่อสารและการให้เหตุผล เขาเสนอทฤษฎีประสิทธิผลของการสื่อสาร (Communication Competence) หรือชื่อทางการว่า Universal Pragmatics (อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท, 2550: 224-226) 

จากการสรุปของ จันทนี เจริญศรี (2545) ประกอบกับการสรุปของ กาญจนา แก้วเทพ และสมสุข หินวิมาน (2551) พบว่าพื้นฐานของแนวคิดการวิเคราะห์วาทกรรม ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดวิภาษวิธี หรือ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอาเล็คติค (Dialectical Materialism) แนวคิดหรือกระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์ (Critical Sciences Paradigm) และแนวคิดการรื้อสร้าง (Deconstruction) ซึ่งการรื้อสร้าง (Deconstruction) คือวิธีการอ่านตัวบท (Text) ที่ทำให้ค้นพบความหมายอื่นๆ ที่ตัวบทกดทับเอาไว้ เป็นการหาความหมายหรือความหมายอื่นๆ (Polysemy) ซึ่งความหมายอื่นๆ หมายถึง ความคลุมเครือของคำหรือวลีที่มีความหมายมากกว่าสองอย่างขึ้นไปเมื่อใช้ในบริบทที่ต่างกัน วิธีการรื้อถอนจะแสวงหารายละเอียดว่าตัวบทได้บดบังเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของตัวมันเองเอาไว้โดยไม่รู้ตัว เงื่อนไขเหล่านี้แย้งกับตรรกะที่ตัวบทนั้นเสนอออกมา การวิเคราะห์หาจุดที่ระบบกดทับไว้พบแล้วดึงออกมาให้เห็นจะเป็นการรื้อสร้างของตัวบทนั้นๆ เผยให้เห็นความย้อนแย้งในโครงสร้างเดิม วิธีการรื้อสร้างคือ การรื้อให้เห็นความหมายที่ถูกกดไว้ (Ward, 1977: 211-212 อ้างใน สุภางค์ จันทวานิช, 2551: 234-235) 

วาทกรรม (Discourse) 

Discourse เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน โดยมาจากคำว่า Discursus เป็นคำนามที่ผันมาจากคำว่า Discurrere ซึ่งเป็นคำกิริยา แปลว่า การวิ่งไปมาระหว่างที่ตรงนี้กับที่ซึ่งไกลออกไป Discourse คือการพูด การคุย ที่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีความยาวของคำเหล่านั้นเท่าไร เป็นการพูดที่เป็นไปโดยธรรมชาติ มีเจตนาตรงไปตรงมาไม่มีนัยแอบแฝง ซึ่ง Discourse หรือวาทกรรมในที่นี่มีความหมายแตกต่างไปจากการสัมมนาหรือการพูดในที่ประชุมที่ต้องการผลจากการพูด (Conference) ในสังคมฝรั่งเศส วาทกรรม มีความหมายใกล้เคียงกับ การพูดคุย (Chat) การสนทนา (Chinwag) การสนทนาอย่างอิสระ (Free Conversation) การสื่อสารที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน (Improvisation) การแสดงออก (Expose) การเล่าเรื่อง (Narration) บทสรุป (Perolation) ภาษา (Langage) หรือคำสาบาน (Parole) วาทกรรมในความหมายต่างๆ เหล่าเป็นวาทกรรมในความหมายทางภาษาที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งห่างไกลมากจากการให้ความหมายของ Habermas เขาได้ให้ความหมายของวาทกรรมไว้ว่า วาทกรรมคือการสื่อสารที่อ้างถึงเกี่ยวกับเหตุผลที่ค้นพบ โดยการให้ความหมายดังกล่าวของ Habermas ใกล้เคียงกับการให้ความหมายของ Foucault ที่กล่าวว่าวาทกรรมเป็นสิ่งที่ออกมาจากความรู้สึกต่อต้านแข็งขืนต่อกฎระเบียบต่างๆ เป็นสิ่งที่อยู่ท่ามกลางระหว่างรูปแบบของภาษาศาสตร์และเหตุผลส่วนตัวของบุคคลในการใช้ภาษา (Timothy J. Armstrong, 1992: 99-100) วาทกรรม จึงเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการสร้างความหมาย เป็นภาษาชนิดหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารลึกกว่าภาษาโดยทั่วไป วาทกรรมใช้สื่อความหมายเชิงสัญญะออกมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอิทธิพลต่อทัศนคติ วิธีคิด ของผู้คนในสังคม 

การวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) 

การวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) คือการพยายามศึกษาและสืบค้นถึงกระบวนการ ขั้นตอน ลำดับเหตุการณ์ และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในการสร้างเอกลักษณ์และความหมายให้กับสรรพสิ่งที่ห่อหุ้มเราอยู่ในสังคมในรูปแบบของวาทกรรมและภาคปฏิบัติการของวาทกรรม (Discursive Practice) ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำ (Hegemony) ในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ อย่างไรบ้าง มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคล สถาบัน สถานที่ เหตุการณ์อะไรบ้าง และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้าง ตลอดจนรวมไปถึงการเก็บกด ปิดกั้น สิ่งเหล่านี้ของวาทกรรมมีอย่างไร หัวใจของวิเคราะห์วาทกรรมอยู่ที่การพิจารณาค้นหาว่าด้วยวิธีการหรือกระบวนการใดที่สิ่งต่างๆ ในสังคมถูกทำให้กลายเป็นวัตถุเพื่อการศึกษาหรือการพูดถึงของวาทกรรม (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2551: 98) 

วิธีการวิเคราะห์วาทกรรมตามแนวคิดของ Foucalt มี 2 วิธี ได้แก่ วิธีการ Archaeology และ Genealogy ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ขุดค้นและแกะรอยไปตามช่วงชั้นและเครือข่ายของบริบททางประวัติศาสตร์เพื่อหาความจริงที่ถูกปิดบังอำพรางด้วยอำนาจแห่งวาทกรรม (เยาวนุช เวศร์ภาดา , 2545: 19) 

Archaeology เยาวนุช เวศร์ภาดา (2545) สรุปไว้ว่า เครื่องมือวิเคราะห์วาทกรรมที่เรียกว่า Archaeology เป็นวิธีการวิเคราะห์ปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นวาทกรรมหนึ่งๆ ทีละชิ้นทีละส่วนที่มาประมวลกันเข้าแล้วเกิดเป็นวาทกรรมใหม่ๆ เท่ากับเป็นการทำความเข้าใจเงื่อนไขกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดให้วาทกรรมดำรงอยู่ วิธีการวิเคราะห์วาทกรรมแบบ Archaeology จึงเป็นวิธีที่ช่วยเผยให้เห็นเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นวาทกรรมนั้นๆ ในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละบริบท ดังนั้นประวัติศาสตร์ในมุมมองของ Foucalt จึงไม่ใช่เรื่องของกระแสเวลาที่ก้าวต่อเนื่อง แต่เป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ใหม่ของกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายในวาทกรรมต่างๆ ขณะที่ ธีรยุทธ บุญมี (2551) สรุปไว้ว่า Foucault กล่าวถึง การวิเคราะห์วาทกรรมในแนวโบราณคดีทางความรู้ (Archeology of Knowledge) แทนที่จะใช้แนวประวัติศาสตร์ทางความคิด (History of Idea) ว่าแนวประวัติศาสตร์ความคิดปกติมักมองพัฒนาการความคิดอย่างเป็นของสูง เป็นพัฒนาการของสิ่งดีงาม หรือเป็นเหตุเป็นผลมากเกินไป ประวัติศาสตร์ความคิดปกติมองพัฒนาการความคิดเป็นความต่อเนื่อง เป็นเส้นทางเดียวที่ละเอียดอ่อนหรือก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ มากเกินไป ไม่มองเป็นการก้าวกระโดดที่เกิดจากความหลากหลายเหตุปัจจัยที่ต้องการการวิเคราะห์พิจารณาอย่างถี่ถ้วนในช่วงประวัติศาสตร์หนึ่งๆ  การศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดแนวปกติ ความผิดพลาดที่แฝงฝังอยู่ นั่นคือ ภายใต้ความคิดหนึ่งยังมีสิ่งหรือความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง การค้นหาสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังต้องทำผ่านภาษาหรือวาทกรรม การศึกษาแนวนี้จึงเป็นการขยายตัวของวาทกรรมต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ส่วนแนวทาง Archeology ต้องการศึกษาวาทกรรมแบบให้จำกัดอยู่ในตัวของมันเองให้มากที่สุด 

Genealogy ธีรยุทธ บุญมี (2551) สรุปว่า Genealogy เป็นวิธีวิทยาในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่ง Foucault พัฒนาต่อมาจากวิธีแบบ Archeology ซึ่งถ้ามองว่า Archeology คือการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ความคิดในรูปแบบใหม่ ก็อาจมองได้ว่า Genealogy เป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ซึ่งกว้างกว่าประวัติศาสตร์ของความคิด Genealogy สืบเนื่องวิธีคิดแบบ Archeology คือไม่มองว่าสิ่งใดเป็นแก่นแท้ เป็นสิ่งสากลแน่นอนคงตัว หรือมีสิ่งที่เป็นประจักษ์ชัดเจนอยู่แล้ว แต่มองว่าทุกประเด็นแนวคิดที่เราศึกษาถูกสร้างขึ้น สังเคราะห์ขึ้น โดยวาทกรรมและอำนาจ ทั้งยังมีลักษณะไม่ต่อเนื่อง แต่มีลักษณะกลายรูป แปรรูปด้วย การสรุปดังกล่าวสอดคล้องกับ เยาวนุช เวศร์ภาดา (2545) สรุปว่า Genealogy เป็นวิธีแก้ไขจุดอ่อนของ Archaeology ที่ให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์รูปแบบ ทฤษฎี และระบบกฎเกณฑ์ จนละเลยอำนาจบางอย่างที่ถูกผลิตควบคู่กันไปกับวาทกรรมนั้นๆ นั่นคือ การสถาปนาอำนาจแห่งความจริง หรือที่เรียกว่า ระบอบของสัจจะ (Regime of Truth) ที่ค้ำจุนวาทกรรมนั้นๆ ให้ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นสัจจะ Genealogy มุ่งเผยให้เห็นว่าวาทกรรมที่ได้รับการสถาปนาให้กลายเป็นสัจจะนั้น มีกลวิธีในการกำราบ ปราบปราม ปิดกั้นวาทกรรมย่อยอื่นๆ ไม่ให้ปรากฏตัวอย่างไร ขณะเดียวกันวาทกรรมย่อยต่างๆ ก็พยายามดิ้นรนที่จะเผยตัวเองหรือต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ในการสถาปนาวาทกรรมของตนขึ้นมาบ้าง 

โดยสรุปแล้วการวิเคราะห์วาทกรรมคือ การพยายามจะที่เปิดเผยให้เห็นถึงกระบวนการในการสร้างวาทกรรมและผลของการปฏิบัติการของวาทกรรมว่ามีความเป็นมาอย่างไร เกี่ยวข้องกับใครและอะไรบ้าง และสร้างผลกระทบอย่างไร โดยมีวิธีการวิเคราะห์วาทกรรมสองวิธีตามแนวคิดของ Foucalt ได้แก่ วิธีการ Archaeology และ Genealogy การวิเคราะห์วาทกรรมมุ่งอธิบายปรากฏการทางสังคม โดยเชื่อว่าปรากฏการทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งถูกสร้างขึ้นมาจากกระบวนการทางภาษาที่มีจุดมุ่งหมายให้วาทกรรมที่ถูกสร้างมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนในสังคม โดยเฉพาะทางด้านความเชื่อ ซึ่งมักเรียกกันว่า วาทกรรมหลัก” (Dominant Discourse) หรือที่ Foucalt เรียกว่า “Episteme” การวิเคราะห์วาทกรรมดังกล่าวจะเผยให้เห็นวัตถุประสงค์ของผู้สร้างวาทกรรม และอาจสร้างวาทกรรมอีกชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้วาทกรรมหลัก โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ความคิดของผู้คน ไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวาทกรรมหลัก 

บทบาทและความสำคัญของการวิเคราะห์วาทกรรม 

จากความหมายของวาทกรรม และการวิเคราะห์วาทกรรมดังที่กล่าวมา ทำให้เห็นว่าการการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์ด้วยการวิเคราะห์วาทกรรมนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ซ่อนอยู่ในกระบวนทัศน์ต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนทัศน์การพัฒนา ซึ่งสามารถสรุปบทบาทและความสำคัญของการวิเคราะห์วาทกรรม โดยสรุปจากงานเขียนของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2549) ได้ดังต่อไปนี้ 

1) ช่วยให้มองเห็นประเด็นปัญหาอื่นที่ไม่ได้พูดถึงกันหรือสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นอื่นซึ่งหมายถึงเอกลักษณ์หรือตัวตนของสิ่งนั้นๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพื่อนำไปสู่การพูดถึงสิ่งที่ไม่ได้มีการพูดถึง ที่เป็นผลมาจากระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่วาทกรรมนั้นๆ กำหนดขึ้น 

2) ทำให้เห็นถึงฐานของการเป็นวาทกรรมของสิ่งนั้น การวิเคราะห์วาทกรรมจึงเป็นความพยายามเผยให้เห็นถึงฐานะการเป็นวาทกรรมในเรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องของการพัฒนาแห่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสร้างเอกลักษณ์หรือตัวตนชนิดหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า ความด้อยพัฒนาในฐานะที่เป็นความเป็นอื่นหรือคู่ตรงข้ามของ การพัฒนาด้วยการผูกขาดรูปแบบ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงสังคมว่ามีเพียงแบบเดียว คือ แบบของสังคมตะวันตก และทำหน้าที่กดทับ ปิดกั้น วัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาพื้นบ้านในประเทศโลกที่สามไว้ ภายใต้เอกลักษณ์หรือตัวตนที่เรียกว่า ความด้อยพัฒนา 

3) สามารถทำให้มนุษย์ฉีกออกไปจากกระแสหลักหรือวาทกรรมหลัก เพื่อแสวงหารูปแบบอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องผูกยึดติดกับเรื่องที่ถูกครอบงำหรือกำลังจะถูกครอบงำ 

4) เป็นการเปิดโปงเผยให้เห็นธาตุแท้ หรือฐานะความเป็นวาทกรรมของสรรพสิ่งในสังคม โดยแสดงให้เห็นว่าวาทกรรมคือระบบของอำนาจ ระบบของการผลิตหรือสร้าง และการเก็บกดปิดกั้นที่ยิ่งใหญ่ วาทกรรมเป็นเรื่องของระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ เงื่อนไขและความเป็นไปได้ของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง วาทกรรมพยายามปิดบังฐานะของตัวเองในรูปของความรู้ ความจริง ความเป็นธรรมชาติ หรือความเป็นปกติธรรมดา เพื่อช่วงชิงการนำในการสร้างหรือกำหนดกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกรอบในการพูด เขียนถึง อธิบาย ทำความเข้าใจ ตลอดทั้งการตัดสินสิ่งนั้นๆ  

5) การวิเคราะห์วาทกรรมช่วยให้เรามอง ความรู้ในฐานะที่เป็นทัศนะหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงสูงสุดหรือสัจธรรม แต่เป็นเพียงทัศนะหนึ่งว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่มีความเป็นสากลหรือเป็นธรรมชาติแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่การที่วาทกรรมชุดหนึ่งสามารถกลายสภาพเป็น ความรู้และ ความจริงได้นั้น ก็เพราะมีกระบวนการเฉพาะบางอย่างทำให้กลายเป็นเช่นนั้น ดังนั้นการวิเคราะห์วาทกรรมจึงทำให้มองเห็นถึงอำนาจ ความรุนแรง มากกว่าเรื่องของข้อเท็จจริง 

6) การวิเคราะห์วาทกรรมช่วยให้เราเห็นว่า งานเขียนทางวิชาการต่างๆ มิได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางหรือเป็นวิทยาศาสตร์อย่างที่มักนิยมเข้าใจกัน แต่งานเขียนเหล่านี้ทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง คือ ประการแรก สร้างและตรึงเอกลักษณ์ภาพลักษณ์ รวมตลอดถึงความหมายของสิ่งที่เป็นวาทกรรมชุดหนึ่งขึ้นมา  ดังนั้น การวิเคราะห์วาทกรรมจึงช่วยให้เราเห็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าธรรมดาสามัญ และไม่มีปัญหา อย่างหนังสือ ตำรา หรืองานเขียนทางวิชาการ รวมถึงตัวนักวิชาการเองในฐานะที่เป็นผู้เขียนผู้แต่งนั้น จริงๆ แล้วมีปัญหาและความยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก ประการที่สอง ในฐานะที่เป็นวาทกรรมชุดหนึ่ง ย่อมมิใช่เรื่องของความรู้ เทคนิค วิทยาการ ความจริงล้วนๆ อย่างที่นิยมเข้าใจกัน แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำในการสร้าง และกำหนดกฎเกณฑ์ว่าอะไรเป็นและอะไรไม่เป็น ในรูปของวาทกรรม และการทำให้วาทกรรมที่สร้างขึ้นมาเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากกว่าเป็นมันจะเป็นจริงโดยตัวของมันเอง ในทำนองเดียวกัน การวิเคราะห์วาทกรรมทำให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดชัดแจ้งหรือชัดเจนในตัวของมันเอง มีแต่ถูกทำให้ชัดแจ้งผ่านมาตรฐาน กฎเกณฑ์ เงื่อนไขบางชนิด การวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า เหตุการณ์และ การทำให้เป็นประเด็นปัญหาทำให้เห็นว่า สรรพสิ่งในสังคมเป็นเรื่องของการสร้าง หรือสถาปนาขึ้นของวาทกรรมมากกว่าเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วล้วนแต่เป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากเรื่องของอำนาจในการสร้างความรู้ และความจริง 

7) การวิเคราะห์วาทกรรมช่วยให้เราสามารถสงสัย ตั้งคำถาม และตรวจสอบบรรดาสรรพสิ่งในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายสภาพเป็น ประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างวิพากษ์รุนแรง มากกว่าเป็นสิ่งที่คุ้นเคย เคยชิน และยอมรับโดยปราศจากการตั้งคำถาม ตรวจสอบ ดังนั้น สำหรับการวิเคราะห์วาทกรรมแล้วไม่มีสิ่งใดที่ได้รับการยกเว้นหรือยอมรับโดยปราศจากการตั้งคำถามหรือตรวจสอบ ขณะเดียวกันก็ไม่มองสรรพสิ่งในฐานะที่หยุดนิ่ง เป็นเอกภาพ แน่นอน และตายตัว แต่ลื่นไหลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นกับการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำในการนิยาม สร้างความหมายให้กับสิ่งนั้นๆ 

8) การวิเคราะห์วาทกรรมเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับการต่อสู้ในสังคมและระหว่างสังคมให้กว้างไกลไปจากเดิมที่วนเวียนอยู่แต่เรื่องของการเมืองแบบสถาบัน เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเพิ่มพื้นที่การต่อสู้ในเรื่องของวาทกรรมเข้าไป 

วาทกรรมกับ อำนาจ ความรู้ ความจริง อุดมการณ์ และผลประโยชน์ 

วาทกรรมมีความเชื่อมโยงกับ อำนาจ ความรู้ ความจริง อัตลักษณ์ และผลประโยชน์ เพราะภาษาและวาทกรรมที่ถูกเลือกมาใช้ในการสื่อสารล้วนแฝงไว้ด้วยความคิดบางประการของสังคมผ่านผู้ใช้ภาษา และผ่านการกระทำทางสังคมที่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อัตลักษณ์ และอุดมการณ์ทางสังคมบางประการย่อมแทรกและทอดตัวอยู่ท่ามกลางภาษาที่ถูกใช้เหล่านั้น การศึกษาตีความข้อมูลทางภาษาในเชิงวาทกรรมย่อมทำให้เห็นอำนาจ อัตลักษณ์และอุดมการณ์ที่แฝงอยู่เบื้องหลัง (กฤษดาวรรณ หงศ์ดารมภ์ และ จันทิมา เอียมานนท์, 2549: 10) 

วาทกรรมการพัฒนา (Development Discourse) 

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2549) อธิบายไว้ว่า การพัฒนา (Development) เป็นประดิษฐกรรมทางประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่ได้รับความนิยมกันอย่างรวดเร็วและแพร่หลายในสังคมยุคปัจจุบัน การพัฒนาถูกสร้างขึ้นมาโดยประเทศมหาอำนาจตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหมายของการพัฒนาค่อนข้างมีความเป็นพลวัตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ในยุคเริ่มแรกของการพัฒนานั้น การพัฒนาหมายถึงการทำให้ทันสมัยอย่างสังคมตะวันตกโดยให้น้ำหนักไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาการเมือง ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย” (Modernization Theory) เมื่อเวลาผ่านมาจนผลของการพัฒนาได้ปรากฏให้ผู้คนในสังคมได้เห็นชัดว่าการพัฒนาได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เทียมกันในสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ผู้คนในสังคมจำนวนมากยากจนลง แต่ผู้คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา จนมีที่มาของคำว่า ด้อยพัฒนา จึงทำให้เริ่มมีผู้คนในแวดวงการพัฒนาเริ่มออกมาต่อต้านแนวคิดการพัฒนาตามแบบของทฤษฎีความทันสมัย ก่อให้เกิดการต่อสู้กันทั้งทางแนวคิด ทฤษฎี และวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามากมายในปัจจุบัน เช่น การก่อเกิดของทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) ทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) และแนวความคิดว่าด้วยความด้อยพัฒนาแนวมาร์กซิสต์ใหม่ (Neo-Marxist) ทั้งหลายเป็นต้น

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ...