วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2567

ภูมิศาสตร์สหกรณ์: ตอนแรก ว่าด้วยความเข้าใจทั่วไป

วงศาวิทยาว่าด้วยการสหกรณ์ มีผู้อธิบายเรื่องการสหกรณ์ไว้หลากหลายแง่มุม อาทิ ด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง เป็นต้น ด้วยการสหกรณ์มีการขยายตัวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนสหกรณ์กว่า 3 ล้านแห่ง กว่าร้อยละ 12 ของประชากรโลกมีความเกี่ยวข้องกับสหกรณ์ (ICA, online)

การศึกษาเรื่องการสหกรณ์ในบริบทที่แตกต่างกันจะช่วยให้เกิดมุมมองที่ลึกและกว้างสามารถนำบทเรียนการพัฒนาสหกรณ์ในบริบทที่แตกต่างกันใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ให้ประสบความสำเร็จ โดยการนำผลการศึกษาเรื่องการสหกรณ์ในบริบทที่แตกต่างกันไปใช้อธิบายเรื่องเดียวกันในบริบทอื่น ๆ ทั้งด้านประชากรและพื้นที่ (Generalization of Findings)

ภูมิศาสตร์ใช้อธิบายสหกรณ์อย่างไร

การมองสหกรณ์ผ่านกรอบคิดอย่างภูมิศาสตร์ (Geographic) จะช่วยให้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสาเหตุการจัดตั้งสหกรณ์ รูปแบบของสหกรณ์ วิธีการดำเนินงาน การมีส่วนร่วมของสมาชิก และความสำเร็จของสหกรณ์ ว่ามีความสัมพันธ์ มีความเกี่ยวข้อง โดยสามารถอธิบายความสัมพันธ์ได้ในเชิงพื้นที่ (Spatial) กับทัศนะคติและพฤติกรรมของคน ด้วยภูมิศาสตร์ เป็นศาสตร์เชิงพื้นที่ซึ่งมีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับการอธิบายการปรากฏของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นโลก ซึ่งนักภูมิศาสตร์ไม่ได้มองสิ่งที่ปรากฏเท่าที่มันปรากฏแต่พยายามหาคำอธิบายว่าทำไมมันจึงปรากฏ ที่อื่นมีปรากฏด้วยหรือไม่และอะไรคือเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นปรากฏในบางพื้นที่แต่ไม่ปรากฏในอีกบางพื้นที่ ซึ่ง Alfred Hettner และ Otter Schluter นิยามไว้ว่าเป็นเรื่องของความแตกต่างเชิงพื้นที่ (Areal differentiation) (James, 1972 อ้างใน มนัส สุวรรณ, 2557)

สหภาพภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Geographical Union : IGU) มีข้อเสนอว่าวิชาภูมิศาสตร์ควรมีบทบาทที่สำคัญในฐานะวิชาหลัก (Key discipline) ในกระบวนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา เนื่องจาก วิชาภูมิศาสตร์จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ (to understand) การปรากฏของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นโลกได้ดีขึ้นความรู้ในวิชาภูมิศาสตร์จะเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนหรือผู้ที่ใฝ่รู้ให้สามารถต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ (to cope) รอบตัวได้ดีขึ้น ภูมิศาสตร์จะทำให้ผู้เรียนมีความสามารถมากขึ้นในการสังเคราะห์ (to synthesize) และ/หรือเชื่อมโยง (to bridge) ปรากฎการณ์ที่เกิดบนพื้นโลกด้วยธรรมชาติของสาระที่ครอบคลุมทั้งศาสตร์ธรรมชาติศาสตร์บริสุทธิ์ และศาสตร์สังคม ตลอดจนความรู้ในวิชาภูมิศาสตร์จะเป็นพื้นฐานความรู้ (to share) สำหรับการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในศาสตร์อื่นต่อไป (Holt-Jensen, 1999 อ้างใน มนัส สุวรรณ, 2557)

การสหกรณ์ เกี่ยวข้องกับบริบททางด้านเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ ว่ากันด้วยเรื่องการร่วมมือกันในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายในการกินดีอยู่ดี ร่วมกัน อย่างผาสุก

กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ สามารถจำแนกได้ตามประเภทของสหกรณ์ ซึ่งในประเทศไทยอาจจำแนกได้เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร (สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง และสหกรณ์นิคม) และสหกรณ์นอกภาคการเกษตร (สหกรณ์บริการ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน) ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหกรณ์ภาคการเกษตรจะเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์เศรษฐกิจในเรื่อง การผลิต รูปแบบการกระจายตัวของการผลิตทางการเกษตร การแลกเปลี่ยน การรวบรวม การแปรรูป การตลาด และใช้บริการต่าง ๆ ของสหกรณ์ ตลอดจนการให้บริการทางด้านสวัสดิการและบริการทางสังคมต่าง ๆ ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหกรณ์นอกภาคการเกษตรภูมิศาสตร์เศรษฐกิจในเรื่อง รูปแบบการใช้บริการทางการเงินและการค้า การกระจายตัวของสมาชิกในพื้นที่ต่าง ๆ การจัดตั้งสำนักงานและสาขา ตลอดจนการให้บริการทางด้านสวัสดิการและบริการทางสังคมต่าง ๆ

ภูมิศาสตร์สามารถอธิบายสหกรณ์ได้ โดยช่วยวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกายภาพของพื้นที่ที่ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ในพื้นที่หนึ่ง ๆ ช่วยให้มองเห็นปรากฏการณ์ทางกายภาพกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ ที่เกิดขึ้น ณ บริเวณที่ทำการศึกษา ว่ามีรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงที่มีความสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร สามารถอธิบายได้ว่ารูปแบบการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจปัญหาทางด้านกายภาพกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ที่ทำการศึกษา เช่น รูปแบบด้านการรวมกลุ่ม การมีส่วนร่วมของสมาชิกในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ ความรู้สึกผูกพันต่อสหกรณ์ ความเหมาะสมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์กับสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเมื่อเข้าใจบริบทของสหกรณ์ในเชิงพื้นที่แล้ว ภูมิศาสตร์ยังสามารถช่วยพัฒนาสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นได้ ด้วยเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า ภูมิสารสนเทศศาสตร์

ภูมิสารสนเทศศาสตร์ (Geoinformatics) คือศาสตร์สารสนเทศที่เน้นการบูรณาการเทคโนโลยีทางด้านการสำรวจ การทำแผนที่ และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เข้าด้วยกัน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่บนโลกประกอบด้วย ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) กรรับรู้จากระยะไกล (RS) และระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) เทคโนโลยีทั้งสามประเภทนี้สามารถทำงานเป็นอิสระต่อกัน หรือสามารถนำมาเชื่อมโยงร่วมกัน ทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นสมารถนำมาใช้ประโยซน์ได้หลายด้าน เช่น กิจการทหาร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ  การวางผังเมืองและชุมชน หรือแม้แต่ในเชิงธุรกิจก็ได้มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศศาสตร์มาประยุกต์ใช้และประกอบการวางแผนการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ (ศูนย์กิจการอวกาศ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม, ออนไลน์)

ภูมิสารสนเทศศาสตร์ ช่วยสร้างระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Database) ช่วยวิเคราะห์ให้พบข้อมูลเชิงลึก ในมิติต่าง ๆ เช่น เพื่อช่วยในการชี้ให้เห็นถึงปัญหา เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง เพื่อจัดการกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อการคาดการณ์ เพื่อการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อทำความเข้าใจทิศทาง (trend) (ESRI Thailand, ออนไลน์) ซึ่งรูปแบบการเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ จะช่วยในการตัดสินใจได้ ช่วยในการวางแผน หรือออกแบบระบบต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงเพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง การวางผังหมู่บ้าน การวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา ท่อน้ำทิ้ง บ่อบำบัดน้ำเสีย การจัดการทรัพยากรการเกษตร เช่น การจัดการระบบชลประทาน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การวางแผนการผลิตพืชตามความเหมาะสม (Zoning) การวางแผนโลจิสติกส์ เช่น การหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างตลาดกลางสินค้าเกษตร การกำหนดเส้นทางการขนส่งสินค้า ตลอดจนการวางแผนการเชื่อมโยงสินค้า เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว

“ ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ มีมติจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีเป็นเงินปันผลตามหุ้นอัตราร้อยละ 5 ” หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ร้อยละ 5 ต่อหุ้น หรือ ...