วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา

1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหกรณ์เพื่อขอรับเงินฝากคืน หรือในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุอื่น ๆ มิได้ไปติดต่อกับสหกรณ์เพื่อขอรับเงินฝากคืน ซึ่งทั้งสองกรณี สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพไม่มีภาระผูกพันที่สหกรณ์ต้องหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ สหกรณ์จะดำเนินการเกี่ยวกับเงินฝากค้างนานอย่างไรจึงจะถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย และไม่เกิดข้อพิพาทในภายหน้า

1.2 กรณีที่สมาชิกยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพแต่ไม่มาติดต่อสหกรณ์เลย

2. ข้อกฎหมาย

2.1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 2 วิธีเฉพาะการฝากเงิน

มาตรา 672  ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน

อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น

มาตรา 673  เมื่อใดผู้รับฝากจำต้องคืนเงินแต่เพียงเท่าจำนวนที่ฝาก ผู้ฝากจะเรียกถอนเงินคืนก่อนถึงเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ไม่ได้ หรือฝ่ายผู้รับฝากจะส่งคืนเงินก่อนถึงเวลานั้นก็ไม่ได้ดุจกัน

มาตรา 193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/30  อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี

2.2 พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 42/2 สมาชิกอาจทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่า หุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้ให้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน

2.3 ระเบียบสหกรณ์ฯ ว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ พ.ศ. …. กำหนดเรื่อง วิธีการคิดดอกเบี้ย และการจ่ายดอกเบี้ย ไว้ว่า ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้คำนวณเป็นรายวันตามยอดเงินคงเหลือและสหกรณ์จะนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินเข้าบัญชีเงินฝากในวันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ ให้ผู้ฝากรีบยื่นสมุดคู่ฝาก ณ สำนักงานสหกรณ์ เพื่อสหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ยให้และ ถ้าผู้ฝากไม่ถอนเงินฝากประจำเมื่อครบกำหนดพร้อมดอกเบี้ย จนพ้นกำหนดไปอีกเจ็ดวันก็เป็นอันถือว่าผู้ฝากตกลงฝากต้นเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยต่อไปอีกเท่าระยะเวลาเดิม

3. ข้อวินิจฉัย

3.1 ในกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต โดยไม่มีภาระผูกพันที่สหกรณ์ต้องหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ สหกรณ์จะจ่ายคืนเงินคงเหลือทั้งหมดในบัญชีเงินฝากให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจต่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น

3.2 ในกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกหรืออื่น ๆ โดยไม่มีภาระผูกพันที่สหกรณ์ต้องหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ ให้สหกรณ์แจ้งสมาชิกดำเนินการการถอนเงินฝากเพื่อปิดบัญชี

3.3 ในกรณีที่สมาชิก (ขาดจากสมาชิกภาพ) ทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ ไม่มาติดต่อขอถอนเงิน หรือกรณีที่สมาชิกยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพแต่ไม่มาติดต่อสหกรณ์เลย เป็นระยะเวลานานเกินกว่า 10 ปี จะถือว่าขาดอายุความในการเรียกคืนเงินฝากหรือไม่

หากสหกรณ์ยังคงนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินเข้าบัญชีเงินฝากในวันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ แม้สมาชิกตาม 3.3 จะไม่ได้มาติดต่อนานเกิน 10 ปี ก็จะไม่ถือว่าขาดอายุความ เพราะถือว่าสหกรณ์ได้ปฏิบัติการชำระดอกเบี้ยทุกระยะเวลา 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อผู้ฝากซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและอายุความจะสะดุดหยุดลงเรื่อยไปทุกระยะเวลา 1 ปี

ข้อสังเกต กรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ตามข้อบังคับ สมาชิกย่อมไม่มีสิทธิฝากเงินในสหกรณ์ ตามมาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สหกรณ์ต้องโอนบัญชีเงินรับฝากไปยังบัญชีเงินรอจ่ายคืน (เพื่องดคิดดอกเบี้ย) เมื่อสมาชิก (ขาดจากสมาชิกภาพ) ทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ ไม่ได้มาติดต่อนานเกิน 10 ปี จะถือว่าขาดอายุความในการเรียกคืนเงินฝาก

3.3 กรณีที่สมาชิกยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพแต่ไม่มาติดต่อสหกรณ์เลย หากสหกรณ์กำหนดเงื่อนไขบางประการ เพื่อระงับการคิดดอกเบี้ย (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ระเบียบสหกรณ์ฯ ว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ พ.ศ. …. กำหนดว่า

 

ในการส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากทุกครั้ง ให้ทำใบส่งเงินตามแบบพิมพ์ที่สหกรณ์กำหนดยื่นพร้อมด้วยสมุดคู่ฝากและจำนวนเงินฝากต่อเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ณ สำนักงานสหกรณ์ ทั้งนี้ ผู้ฝากหรือผู้อื่นจะเป็นผู้ส่งเงินก็ได้ เมื่อสหกรณ์ได้ลงบันทึกรายการจำนวนเงินฝากที่ได้รับนั้นในสมุดคู่ฝาก และตรวจสอบเป็นการถูกต้องแล้ว สหกรณ์จะคืนสมุดคู่ฝากให้ผู้ฝาก...

ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้คำนวณเป็นรายวันตามยอดเงินคงเหลือและสหกรณ์จะนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินเข้าบัญชีเงินฝากในวันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ ให้ผู้ฝากรีบยื่นสมุดคู่ฝาก ณ สำนักงานสหกรณ์ เพื่อสหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ยให้

เนื้อหาของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้สมาชิกต้องมาติดต่อสหกรณ์ทุกครั้งที่มีการฝาก-ถอนเงิน แต่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ย สหกรณ์จึงอาจกำหนดเนื้อหาในระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการไม่มาติดต่อสหกรณ์เป็นระยะเวลานาน เช่น การโอนบัญชีเงินรับฝากไปยังบัญชีเงินรอจ่ายคืน (เพื่องดคิดดอกเบี้ย) ทั้งนี้ ระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์จึงจะมีผลบังคับ

การใช้ FinTect ในสหกรณ์ โดยสหกรณ์มี Application ให้สมาชิกใช้บริการก็อาจแก้ไขปัญหาได้

การเก็บเงินค่ารักษาบัญชี (สำหรับบัญชีที่สมาชิกขาดการติดต่อเป็นระยะเวลานาน) ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง แต่ต้องกำหนดในระเบียบฯ ว่าด้วยการรับฝากเงินฯ และต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์จึงจะมีผลบังคับ

บทความนี้มีเจตนาเพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝากค้างนานเท่านั้น โดยเฉพาะกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพแล้วสำหรับเงินฝากจำนวนน้อย ๆ แต่สมาชิกยังติดต่อสหกรณ์เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะผู้เขียนเองก็มีเงินฝากในสหกรณ์จำนวนน้อยมาก ๆ แต่มีความเคลื่อนไหวตลอด ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ที่โอนเข้ามา เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืนที่สหกรณ์โอนเข้าบัญชีเงินฝากหลังจากประชุมใหญ่แล้ว

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2475

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6861/2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6885/2543

กลุ่มเกษตรกรไทย

ประเทศไทยได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140 และ 141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 (ส่วนที่ 8 กลุ่มเกษตรกร มาตรา 118 ทวิ - มาตรา 118 ฉ) ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนตามประกาศคณะปฏิวัติมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย วันที่ 1 พฤษภาคม 2515 จึงนับเป็นวันที่รัฐกำหนดให้กลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนตามกฎหมายมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งกลุ่มเกษตรกรไทยมีประวัติความเป็นมาและสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้

กลุ่มเกษตรกรกลุ่มแรกได้จัดตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ที่อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร โดยเรียกชื่อว่า "กลุ่มชาวนา" ชาวนาในสมัยนั้นส่วนมากเป็นผู้มีทุนทรัพย์น้อยและประสบอุปสรรคในการผลิตและการจำหน่าย นายจุล สิทธิพรหม ครูโรงเรียนประชาบาลจิตติวิทยาคารตำบลวังไทร อำเภอดลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพเสริมจากอาชีพครู มีความปรารถนาที่จะขจัดความเสียเปรียบของชาวนาที่ถูกพ่อค้าคนกลางบีบบังคับด้วยกลวิธีต่าง ๆ ในการซื้อ ขายข้าว และต้องการปรับปรุงวิธีการทำนาให้ดีขึ้น ถูกตามหลักวิชาการ รวมทั้งเชิดชูเกียรติและสิทธิ์ของชาวนา จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพ ขจัดความเสียเปรียบที่เกี่ยวกับการซื้อปัจจัยการผลิตและขายผลผลิตเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้สูงขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

ต่อมารัฐบาลได้ส่งสริมให้กลุ่มชาวนาขยายไปทั่วประเทศ โดยใช้การจดทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน แต่ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จนเมื่อมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงเกษตรและได้จัดตั้งกรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นในสังกัดกระทรวงเกษตร เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2510 จึงได้รวมเอางานของกลุ่มชาวสวน ชาวไร่ ซึ่งในขณะนั้นยังมีจำนวนไม่มากที่อยู่ในความดูแลของกรมกสิกรรมมารวมอยู่ในกลุ่มชาวนาของกรมส่งเสริมการเกษตร และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กลุ่มเกษตรกร"

ในปี พ.ศ. 2509 ประเทศไทยมีกลุ่มเกษตรกรในรูปต่าง ๆ คือกลุ่มชาวนา 1,647 กลุ่ม กลุ่มกสิกร 357 กลุ่ม และสมาคมชลประทานราษฎร์ 64 สมาคม รวมจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 86,660 ครอบครัว

การพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515 – 2519) รัฐบาลได้กำหนดแผนงานส่งเสริมสถาบันเกษตรกร มีโครงการสำคัญ คือ โครงการกลุ่มเกษตรซึ่งมีเป้าหมายจะขยายกลุ่มเกษตรกรระดับอำเภอได้ปีละ 1 ศูนย์ จะรวมกลุ่มระดับอำเภอได้ปีละ 5 อำเภอ และจะรวมกลุ่มระดับตำบลและหมู่บ้านปีละ 500 กลุ่ม โดยส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรในรูปต่าง ๆ ให้เหลือแต่เพียงกลุ่มเกษตรกรรูปเดียว โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและแพร่หลาย ในขั้นระดับอำเภอเป็นอย่างสูงเท่านั้น และให้สามารถแปรสภาพเป็นสหกรณ์ได้ต่อไป

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140 และ 141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนตามประกาศคณะปฏิวัติมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพและให้มีอำนาจหน้าที่แสวงหาทุนจากสถาบันการเงินของรัฐหรือของเอกชนมาดำเนินการให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น อันจะมีผลให้กลุ่มเกษตรกรเจริญเป็นปึกแผ่น และสามารถแปรสภาพเป็นสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการสหกรณ์ได้ หลังจากที่ได้มีประกาศคณะปฏิวัติแล้วในปีแรกได้มีการจดทะเบียนกลุ่มเกษตรกรเป็นนิติบุคคล 8 กลุ่ม มีสมาชิก 1,130 ครอบครัว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการส่งมอบภารกิจด้านการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคลจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ในการดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนจนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2542 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140 โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยมาตรา 119 กำหนดให้ในกรณีที่คณะบุคคลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแต่ยังไม่อาจรวมกันขัดตั้งเป็นสหกรณ์ตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ได้ จะจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาก็ได้ และให้กลุ่มเกษตรกรมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542

ในปี พ.ศ. 2547 ได้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 141 และได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2547 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542

ปัจจุบัน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) ประเทศไทยมีจำนวนกลุ่มเกษตรกรทั้งสิ้น 3,995 กลุ่ม โดยแยกเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีสถานะยังไม่เริ่มดำเนินการและดำเนินการ เรียกรวมเป็น สถานะ Active จำนวน 3,415 กลุ่ม และสถานะเลิกกลุ่มเกษตรกร (อยู่ระหว่างชำระบัญชี) เรียก สถานะ Non Active จำนวน 580 กลุ่ม จำนวนสมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั้งหมด 339,162 คน

ปริมาณธุรกิจกลุ่มเกษตรกรทั้งประเทศ ปี 2566 (ก.ย. 65 - ส.ค. 66) รวม 7,790.43 ล้านบาท โดยธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณธุรกิจมากที่สุด จำนวน 3,454.23 ล้านบาท รองลงมาคือธุรกิจให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิก จำนวน 2,365.10 ล้านบาท ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย จำนวน 1,002.93 ล้านบาท ธุรกิจแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 611.52 ล้านบาท ธุรกิจรับฝากเงิน จำนวน 301.34 ล้านบาท และธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร จำนวน 55.32 ล้านบาท ตามลำดับ

การพัฒนากลุ่มเกษตรกรไทยในปัจจุบันและอนาคต โดยแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566 – 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ประเด็นการเกษตร แผนย่อยการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เป้าหมายสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร) ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเข้มแข็งในระดับมาตรฐานเพิ่มขึ้น ได้กำหนดตัวชี้วัดสถาบันเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเข้มแข็งในระดับมาตรฐาน โดยกำหนดให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งในระดับที่ 1 และ 2 ร้อยละ 35 ในปี 2570 ร้อยละ 40 ในปี 2575 และร้อยละ 45 ในปี 2580 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) กำหนดให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งในระดับ 1 เพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 6 ในปี 2570 โดยเกณฑ์การประเมินระดับความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกร ประกอบด้วย 4 มิติ ซึ่งพิจารณาจาก (1) ความสามารถในการให้บริการสมาชิก (2) ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ (3) ประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร และ (4) ประสิทธิภาพของการบริหารงาน

ที่มา:

กฤษฎา ประศาสน์วุฒิ. 2548. การเพิ่มสมรรถนะนักส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร Module 2 กลุ่มและการบริหารงานกลุ่ม: ตำราชุดฝึกอบรมทางไกลผ่านดาวเทียม. ภาควิชาสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

กรมส่งเสริมสหกรณ์.  2567.  สารสนเทศกลุ่มเกษตรกร ปี พ.ศ. 2566.  ออนไลน์ https://itc.office.cpd.go.th/?view=article&id=323:farmer-groups-2023&catid=185:farmergroup-2566

กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์.  2566.  เกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกร.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.  2548 (พิมพ์ครั้งที่ 13).  เอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารแผนงานโครงการพัฒนาท้องถิ่นและชนบท.  ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...