วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา

1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหกรณ์เพื่อขอรับเงินฝากคืน หรือในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุอื่น ๆ มิได้ไปติดต่อกับสหกรณ์เพื่อขอรับเงินฝากคืน ซึ่งทั้งสองกรณี สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพไม่มีภาระผูกพันที่สหกรณ์ต้องหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ สหกรณ์จะดำเนินการเกี่ยวกับเงินฝากค้างนานอย่างไรจึงจะถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย และไม่เกิดข้อพิพาทในภายหน้า

1.2 กรณีที่สมาชิกยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพแต่ไม่มาติดต่อสหกรณ์เลย

2. ข้อกฎหมาย

2.1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 2 วิธีเฉพาะการฝากเงิน

มาตรา 672  ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน

อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น

มาตรา 673  เมื่อใดผู้รับฝากจำต้องคืนเงินแต่เพียงเท่าจำนวนที่ฝาก ผู้ฝากจะเรียกถอนเงินคืนก่อนถึงเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ไม่ได้ หรือฝ่ายผู้รับฝากจะส่งคืนเงินก่อนถึงเวลานั้นก็ไม่ได้ดุจกัน

มาตรา 193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/30  อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี

2.2 พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 42/2 สมาชิกอาจทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่า หุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้ให้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน

2.3 ระเบียบสหกรณ์ฯ ว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ พ.ศ. …. กำหนดเรื่อง วิธีการคิดดอกเบี้ย และการจ่ายดอกเบี้ย ไว้ว่า ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้คำนวณเป็นรายวันตามยอดเงินคงเหลือและสหกรณ์จะนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินเข้าบัญชีเงินฝากในวันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ ให้ผู้ฝากรีบยื่นสมุดคู่ฝาก ณ สำนักงานสหกรณ์ เพื่อสหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ยให้และ ถ้าผู้ฝากไม่ถอนเงินฝากประจำเมื่อครบกำหนดพร้อมดอกเบี้ย จนพ้นกำหนดไปอีกเจ็ดวันก็เป็นอันถือว่าผู้ฝากตกลงฝากต้นเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยต่อไปอีกเท่าระยะเวลาเดิม

3. ข้อวินิจฉัย

3.1 ในกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต โดยไม่มีภาระผูกพันที่สหกรณ์ต้องหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ สหกรณ์จะจ่ายคืนเงินคงเหลือทั้งหมดในบัญชีเงินฝากให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจต่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น

3.2 ในกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกหรืออื่น ๆ โดยไม่มีภาระผูกพันที่สหกรณ์ต้องหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ ให้สหกรณ์แจ้งสมาชิกดำเนินการการถอนเงินฝากเพื่อปิดบัญชี

3.3 ในกรณีที่สมาชิก (ขาดจากสมาชิกภาพ) ทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ ไม่มาติดต่อขอถอนเงิน หรือกรณีที่สมาชิกยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพแต่ไม่มาติดต่อสหกรณ์เลย เป็นระยะเวลานานเกินกว่า 10 ปี จะถือว่าขาดอายุความในการเรียกคืนเงินฝากหรือไม่

หากสหกรณ์ยังคงนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินเข้าบัญชีเงินฝากในวันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ แม้สมาชิกตาม 3.3 จะไม่ได้มาติดต่อนานเกิน 10 ปี ก็จะไม่ถือว่าขาดอายุความ เพราะถือว่าสหกรณ์ได้ปฏิบัติการชำระดอกเบี้ยทุกระยะเวลา 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อผู้ฝากซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและอายุความจะสะดุดหยุดลงเรื่อยไปทุกระยะเวลา 1 ปี

ข้อสังเกต กรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ตามข้อบังคับ สมาชิกย่อมไม่มีสิทธิฝากเงินในสหกรณ์ ตามมาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สหกรณ์ต้องโอนบัญชีเงินรับฝากไปยังบัญชีเงินรอจ่ายคืน (เพื่องดคิดดอกเบี้ย) เมื่อสมาชิก (ขาดจากสมาชิกภาพ) ทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ ไม่ได้มาติดต่อนานเกิน 10 ปี จะถือว่าขาดอายุความในการเรียกคืนเงินฝาก

3.3 กรณีที่สมาชิกยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพแต่ไม่มาติดต่อสหกรณ์เลย หากสหกรณ์กำหนดเงื่อนไขบางประการ เพื่อระงับการคิดดอกเบี้ย (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ระเบียบสหกรณ์ฯ ว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ พ.ศ. …. กำหนดว่า

 

ในการส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากทุกครั้ง ให้ทำใบส่งเงินตามแบบพิมพ์ที่สหกรณ์กำหนดยื่นพร้อมด้วยสมุดคู่ฝากและจำนวนเงินฝากต่อเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ณ สำนักงานสหกรณ์ ทั้งนี้ ผู้ฝากหรือผู้อื่นจะเป็นผู้ส่งเงินก็ได้ เมื่อสหกรณ์ได้ลงบันทึกรายการจำนวนเงินฝากที่ได้รับนั้นในสมุดคู่ฝาก และตรวจสอบเป็นการถูกต้องแล้ว สหกรณ์จะคืนสมุดคู่ฝากให้ผู้ฝาก...

ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้คำนวณเป็นรายวันตามยอดเงินคงเหลือและสหกรณ์จะนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินเข้าบัญชีเงินฝากในวันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ ให้ผู้ฝากรีบยื่นสมุดคู่ฝาก ณ สำนักงานสหกรณ์ เพื่อสหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ยให้

เนื้อหาของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้สมาชิกต้องมาติดต่อสหกรณ์ทุกครั้งที่มีการฝาก-ถอนเงิน แต่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ย สหกรณ์จึงอาจกำหนดเนื้อหาในระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการไม่มาติดต่อสหกรณ์เป็นระยะเวลานาน เช่น การโอนบัญชีเงินรับฝากไปยังบัญชีเงินรอจ่ายคืน (เพื่องดคิดดอกเบี้ย) ทั้งนี้ ระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์จึงจะมีผลบังคับ

การใช้ FinTect ในสหกรณ์ โดยสหกรณ์มี Application ให้สมาชิกใช้บริการก็อาจแก้ไขปัญหาได้

การเก็บเงินค่ารักษาบัญชี (สำหรับบัญชีที่สมาชิกขาดการติดต่อเป็นระยะเวลานาน) ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง แต่ต้องกำหนดในระเบียบฯ ว่าด้วยการรับฝากเงินฯ และต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์จึงจะมีผลบังคับ

บทความนี้มีเจตนาเพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝากค้างนานเท่านั้น โดยเฉพาะกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพแล้วสำหรับเงินฝากจำนวนน้อย ๆ แต่สมาชิกยังติดต่อสหกรณ์เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะผู้เขียนเองก็มีเงินฝากในสหกรณ์จำนวนน้อยมาก ๆ แต่มีความเคลื่อนไหวตลอด ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ที่โอนเข้ามา เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืนที่สหกรณ์โอนเข้าบัญชีเงินฝากหลังจากประชุมใหญ่แล้ว

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2475

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6861/2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6885/2543

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...