วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2566

การงดออกเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์

 จากประสบการณ์การเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ พบว่ามีหลายครั้งที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ต้องลงมติในวาระพิจารณาที่สำคัญ และปรากฏว่า มีกรรมการบางส่วนงดออกเสียง ในฐานะเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ที่เข้าร่วมประชุมจะแนะนำเรื่องนี้อย่างไรดี

 

สหกรณ์ที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายสหกรณ์ (ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มีฐานะเป็นนิติบุคคล (มาตรา 37) มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้แทนสหกรณ์ โดยเมื่อแรกตั้งสหกรณ์คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ได้รับมอบหมายการทั้งปวงจากคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ภายหลังการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก (มาตรา 40)

 

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คนซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก (มาตรา 50 วรรคแรก) คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ (มาตรา 51) ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ข้อบังคับของสหกรณ์ และมติที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก (มาตรา 51/1)

 

สหกรณ์ต้องกำหนดประเภทสหกรณ์ (มาตรา 43 (2)) วัตถุประสงค์ (มาตรา 43 (3)) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน (มาตรา 43 (6)) ตลอดจนการเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งและการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (มาตรา 43 (9)) ไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์

 

เพื่อให้เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ (มาตรา 43 (3)) และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน (มาตรา 43 (6)) ให้สหกรณ์กำหนดอำนาจกระทำการไว้ให้ขัดเจนในข้อบังคับ (มาตรา 46)

 

จากข้อกฎหมายดังที่กล่าวมาจะเห็นว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้แทนสหกรณ์ในการดำเนินการต่าง ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ซึ่งการใช้อำนาจของคณะกรรมการดำเนินการนั้นต้องใช้ในนามคณะกรรมการดำเนินการ ไม่ใช่ใช้อำนาจโดยกรรมการคนหนึ่งคนใด กฎหมายจึงกำหนดเรื่อง การประชุมของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (มาตรา 43 (9))

 

การประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เป็นการดำเนินที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของผู้แทนสหกรณ์ ในเรื่องสำคัญต่าง ๆ อาทิ การรับทราบผลการดำเนินงาน การติดตามผลการดำเนินงาน การพิจารณาเพื่อดำเนินการ การพิจารณาอนุมัติงบประมาณ การพิจารณาถือใช้ระเบียบ การอนุมัติเงินกู้ การนำเงินไปลงทุน การอนุมัติงบประมาณรายจ่าย การพิจารณาเกี่ยวกับวินัยของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ และดำเนินการต่าง ๆ (ดูอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการในข้อบังคับของสหกรณ์) บางเรื่องเป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ แต่ที่ประชุมใหญ่ก็ได้อนุมัติเป็นกรอบอย่างกว้าง ๆ ไว้ เมื่อจะดำเนินการจริง ๆ ก็ต้องอาศัยมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการก่อน

 

การลงมติของคณะกรรมการดำเนินการในวาระพิจารณาเพื่อตัดสินใจกระทำการต่าง ๆ ในฐานะผู้แทนสหกรณ์จึงต้องเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของที่ประชุมใหญ่ อยู่บนพื้นฐานเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก

 

วิธีการออกเสียงเพื่อลงมติของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ จะอาศัยแนวทางตามกฎหมายใด ๆ ให้พึงตระหนักว่ากฎหมายสหกรณ์กำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างไร ข้อบังคับของสหกรณ์กำหนดไว้อย่างไร ดังนี้

 

ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ทั้งนี้ กรรมการผู้ใดขาดประชุมคณะกรรมการดำเนินการติดต่อกันสามครั้งโดยไม่มีเหตุอันควร กรรมการดำเนินผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความจำเริญแก่สหกรณ์ ในกรณีคณะกรรมการดำเนินการกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ หรือกระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก อันเป็นเหตุให้สหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการหรือฐานะการเงิน ตามรายงานการสอบบัญชีหรือตามรายงานการตรวจสอบ เป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่ในกรณี การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ การควบสหกรณ์ การแยกสหกรณ์ การเลิกสหกรณ์ ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมาประชุม ทั้งนี้ ถ้าในปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเฉพาะตัว ผู้นั้นจะออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้ (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”

 

มีคำถามว่า กรรมการผู้หนึ่งผู้ใดจะงดออกเสียงในวาระพิจารณาเพื่อการวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ได้หรือไม่ และหากกรรมการงดออกเสียงจะส่งผลประการใด มีข้อกฎหมายให้พิจารณา ดังนี้

 

มาตรา 51/2 บัญญัติว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายต่อสหกรณ์ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

(2) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์

(3) ดำเนินกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ หรือขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการ ที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์

เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้ใดมีส่วนร่วมในการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้นั้นต้องรับผิดร่วมกันกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ในความเสียหายต่อสหกรณ์

 

มาตรา 51/3 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 51/2 ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) พิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ร่วมกระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์

(2) ได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยปรากฏในรายงานการประชุมหรือได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม

 

จากข้อกฎหมายดังกล่าว สมมติว่า ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการครั้งหนึ่ง คณะกรรมการลงมติอันเป็นการดำเนินกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ โดย สหกรณ์แห่งนี้ข้อบังคับกำหนดให้มีกรรมการ 15 คน (ประธาน 1 คน และกรรมการ 14 คน) ปรากฏว่าวันประชุมมีกรรมการมาประชุม 14 คน (เป็นวาระการประชุมกรรมการฯ ที่ไม่มีวาระการเสนอให้ที่ประชุมใหญ่แก้ไขข้อบังคับ) มีกรรมการลงมติให้ดำเนินการ 8 คน กรรมการลงมติไม่เห็นด้วย 3 คน กรรมการงดออกเสียง 3 คน และกรรมการไม่มาประชุมเนื่องจากป่วยหนัก 1 คน (มีใบลาหรือหลักฐานการป่วย) ผลของมติกรรมการ ที่ส่งผลต่อการดำเนินการของสหกรณ์ จะส่งผลอย่างไรต่อกรรมการที่ลงมติครั้งนี้

1) กรรมการที่ลงมติให้ดำเนินการ 8 คน ต้องรับผิดตามมาตรา 51/2

2) กรรมการที่ลงมติไม่เห็นด้วย 3 คน ไม่ต้องรับผิด แต่ต้องบันทึกรายงานการประชุมให้ชัดเจน (มาตรา 51/3)

3) กรรมการที่ไม่มาประชุมเพราะป่วย ไม่ต้องรับผิด

4) กรรมการที่งดออกเสียง 3 คน ต้องร่วมรับผิด เพราะมิได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (รู้ว่าผิดก็ยังเฉย) แต่หากได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม ก็ไม่ต้องรับผิด

 

ทั้งนี้จะเห็นว่า การจดบันทึกรายงานการประชุมของสหกรณ์มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมใหญ่ก็ดี หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือการประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ตลอดจนการประชุมอื่น ๆ เช่น การประชุมกลุ่มสมาชิก การจดบันทึกรายงานการประชุมต้องมีรายละเอียดที่ครบถ้วน มีการอ้างอิงข้อกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติที่ประชุมใหญ่ มีการอ้างถึงความจำเป็น วิธีการ และผลที่จะเกิด แสดงให้เห็นเจตนาที่ชัดแจ้ง

 

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ในแต่ละปีมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เนื่องจากกรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้ง ให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของกรรมการ ดำเนินการสหกรณ์ทั้งหมดโดยวิธีจับฉลาก และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ (วรรค 2 มาตรา 50) ฉะนั้น หากจดบันทึกรายงานการประชุมไว้ไม่ชัดแจ้ง และหากมีข้อสงสัยที่จะต้องวินิจฉัย ก็จะต้องเสียเวลาในการสืบหาเจตนาที่แท้จริง หากจะต้องดำเนินการทางกฎหมายก็ใช้เป็นหลักฐานที่ไม่มีน้ำหนัก

 

อนึ่ง หากพิจารณาจากวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการของสหกรณ์ ตามประเภทสหกรณ์ที่จัดตั้งและจดทะเบียนตามกฎหมาย ผมมองไม่เห็นเลยว่ามีเรื่องใดบ้างที่กรรมการจะงดออกเสียง เพราะมันมีแต่เรื่องที่ทำได้กับทำไม่ได้ ประกอบกับสหกรณ์มีบรรดาระเบียบต่าง ๆ ซึ่งกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการ ยิ่งช่วยให้การลงมติออกเสียงต่าง ๆ ง่ายมากกว่าที่จะงดออกเสียง ทั้งนี้หากไม่แน่ใจจริง ๆ ก็อาจหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะดำเนินการลงมติก็ยิ่งป้องกันความผิดพลาดเสียหาย

 

ทั้งนี้ การงดออกเสียงในการประชุมอื่น ๆ ในองค์กรอื่น ๆ จะทำได้หรือไม่ได้ให้พิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และข้อบังคับการประชุมของแต่ละองค์กร ใช่ว่าการงดออกเสียงจะเป็นการแสดงเจตนาที่เป็นสากล นำมาใช้ได้ในทุก ๆ องค์กร โดยเฉพาะในสหกรณ์ ผมเห็นว่าการงดออกเสียงไม่ได้เกิดประโยชน์อันใดต่อสหกรณ์เลย อาจเข้าข่าย “งดเว้นกระทำการ” เสียด้วยซ้ำ (ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ)

ตัวอย่างข้อบังคับการประชุมขององค์กรอื่น ๆ และข้อวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับ “การงดออกเสียง”

 

1) ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 57 (1) กำหนดการออกเสียงลงคะแนน 3 ความเห็น คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และไม่ออกเสียง ทั้งนี้รัฐสภาได้อธิบายเพิ่มเติมว่า งดเว้นการออกเสียง หมายถึง การที่สมาชิกสภาไม่ออกเสียงหรืองดการแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติหรือข้อปรึกษาที่ต้องมีการลงมติในที่ประชุมสภา คะแนนเสียงของสมาชิกสภาที่งดเว้นการออกเสียงไม่นำมานับรวมเป็นเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จึงไม่มีผลในทางสนับสนุนหรือคัดค้านฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีที่ใช้เสียงข้างมากธรรมดาในการชี้ขาดญัตติหรือข้อปรึกษานั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการชี้ขาด การงดเว้นการออกเสียงก็อาจมีผลเท่ากับเป็นการไม่เห็นด้วยกับญัตตินั้นได้ เช่น ในกรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 151 ซึ่งกำหนดให้มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การงดเว้นการออกเสียงจึงทำให้เกิดผลเท่ากับว่าไม่เห็นด้วยกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนั้นนั่นเอง (https://library.parliament.go.th/th/node/4180)

 

2) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การหามติของ ก.อบต.จังหวัด กรณีกรรมการลงมติเห็นชอบ น้อยกว่าจํานวนกรรมการที่งดออกเสียง (เรื่องเสร็จที่ 1178/2558) สรุปว่า การนับคะแนนเสียงต้องนับจากเสียงที่ลงคะแนนโดยให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นมติของคณะกรรมการ ส่วนการงดออกเสียงเป็นการไม่ลงคะแนนเสียงจึงไม่อาจนับเป็นเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยมีการอธิบายเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียง ว่า

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า โดยทั่วไปหลักการหามติของคณะกรรมการโดยการนับคะแนนเสียงนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ

 

(1) เสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple Majority) หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของผู้ซึ่งประกอบเป็นองค์ประชุมและได้ออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในเรื่องนั้น การงดออกเสียงลงคะแนนหรือไม่อยู่ในที่ประชุมไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมไม่ถือว่าเป็นการออกเสียงจึงไม่อาจนับคะแนนเหล่านั้นไปรวมกับการออกเสียงลงคะแนนของฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้

 

(2) เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (Absolute Majority) หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนทั้งหมด ซึ่งอาจกำหนดให้เกินกึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น เช่น สองในสาม หรือสามในสี่ของสมาชิกหรือกรรมการทั้งหมดหรือเท่าที่มีอยู่ ในกรณีนี้การหามติของที่ประชุมจึงต้องให้ได้คะแนนเสียงตามที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะมีผู้ลงคะแนนเสียงเท่าใด มาประชุมเท่ใด หรืองดออกเสียงเท่าใด คะแนนเสียงที่จะถือเป็นมติได้ต้องได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้เท่านั้น

 

3) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การลงมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องเสร็จที่ 263/2565 สรุปว่า แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ประกอบกับข้อ 21 แห่งระเบียบคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เนื่องจากกฎหมายและระเบียบดังกล่าวมิได้บัญญัติให้มีการนับคะแนนเสียงข้างมากไว้เป็นอย่างอื่น การนับคะแนนเสียงในกรณีนี้จึงต้องถือหลักการนับคะแนนเสียงข้างมากธรรมดาที่จะต้องนับคะแนนเสียงเฉพาะแต่กรรมการผู้ซึ่งออกเสียงลงคะแนนในเรื่องดังกล่าวเท่านั้น ส่วนกรรมการที่งดออกเสียงย่อมไม่อาจนำมานับเป็นคะแนนเสียงได้ อนึ่ง คณะกรรมการเป็นองค์กรกลุ่ม ประกอบด้วยบุคคลซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและมีความรู้ความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน การทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการก็เพื่อให้มีองค์ประกอบที่มาจากบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันปรึกษาหารือ ระดมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกันเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นมติ ซึ่งเมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ แล้ว

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า กฎหมายประสงค์ที่่จะให้มีคณะกรรมการที่มีความคล่องตัวและเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม ประกอบกับมาตรา 17 (9) และมาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯกำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจหน้าที่พิจารณากำหนดโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 80 มาตรา 81 มาตรา 82 และมาตรา 83 รวมทั้งฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตลอดจนมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง โดยคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทำผิด ดังนั้น กรรมการเสียงข้างน้อยและกรรมการที่งดออกเสียงจึงมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาลงมติในวาระพิจารณาการกำหนดจำนวนค่าปรับทางปกครอง…

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 57 (1) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การหามติของ ก.อบต.จังหวัด กรณีกรรมการลงมติเห็นชอบ น้อยกว่าจํานวนกรรมการที่งดออกเสียง (เรื่องเสร็จที่ 1178/2558) จะเห็นว่า การกำหนดเรื่องการออกเสียงเป็นเรื่องที่ต้องกำหนดไว้ในข้อบังคับ หรือข้อบังคับการประชุมของแต่ละองค์กร แต่หากไม่ได้กำหนดเรื่อง “การงดออกเสียงไว้” หรือกำหนดเพียง “ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก” หากมีกรณีปัญหาให้ต้องวินิจฉัย เช่น คะแนนเสียงข้างมากน้อยกว่าคะแนนงดออกเสียง จะต้องวินิจฉัยตามแนวทาง เรื่องเสร็จที่ 1178/2558 แต่ในกรณีของสหกรณ์ก็ให้พิจารณาตามข้อกฎหมายที่ได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...