วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2566

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน

ปัญหาทางการเงินที่สำคัญของสังคมไทยในปัจจุบันคือปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต ปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเทียบกับในอดีตหรือเทียบกับต่างประเทศ โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 1/65 พบว่าสถาบันรับฝากเงินและสถาบันการเงินอื่น มียอดเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) รวมทั้งสิ้น 14.64 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแล้ว จะพบว่า ไตรมาส 1/65 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 89.2% ต่อจีดีพี ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/64 ซึ่งหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 90.0% ต่อจีดีพี (ประชาชาติธุรกิจ, 25 สิงหาคม 2565) ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ชี้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 89.3% และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้

 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนดังกล่าว หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาสำคัญจนกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทย หนี้ครัวเรือนคือหนี้ที่ประชาชนกู้ยืมจากผู้ให้กู้ สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการนอกระบบ หรือแหล่งเงินกู้อื่น ๆ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายตามความต้องการที่แตกต่างกันไป โดยการก่อหนี้หรือการกู้ยืมเงินนั้นช่วยให้เราสามารถใช้จ่ายได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และยามจำเป็นเกินกว่ารายได้และเงินออมที่มีอยู่ อย่างไรก็ดี การก่อหนี้เปรียบเสมือนการนำรายได้ในอนาคตมาใช้ แม้จะทำให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในปัจจุบัน แต่ในอนาคตผู้กู้จำเป็นต้องทยอยชำระหนี้คืนทำให้รายได้ที่หามาเหลือใช้น้อยลง และหากครัวเรือนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจก่อหนี้มากเกินไปก็จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจผ่านทางการบริโภคของครัวเรือนในอนาคตจะลดลง และความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดน้อยลง ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ยืม ในกรณีที่การผิดนัดชำระหนี้มีจำนวนมาก ระบบการเงินจะได้รับความเสียหายจนไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติและกระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2562)

 

ด้านสถานการณ์ทางการเงินของสมาชิกสหกรณ์ในระบบสหกรณ์พบว่า สัดส่วนเงินออมต่อสมาชิกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มีอัตราต่ำกว่าสัดส่วนหนี้สินต่อสมาชิกซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า แสดงให้เห็นว่าสมาชิกส่วนใหญ่ยังมีปัญหาหนี้สินเช่นเดียวกับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของประเทศ

 

นอกจากปัญหาหนี้สินที่กล่าวมา ปัญหาที่สำคัญอีกประการคือปัญหาอาชญากรรมทางการเงิน เช่น การทุจริต หลอกลวง ยักยอก หากเกิดขึ้นในระบบสหรณ์ ก็จะส่งผลให้สมาชิกเดือดร้อน ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการให้บริการทางการเงินของสหกรณ์ และหากปัญหาดังกล่าวมีความถี่สูง มีความเสียหายจำนวนมาก ก็อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสหกรณ์โดยรวม

 

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงินให้แก่สมาชิกได้อย่างไร

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน ขับเคลื่อนภายใต้กรอบแนวคิดการวางแผนการเงินส่วนบุคคล และกรอบแนวคิดเทคโนโลยีทางการเงิน

 

กรอบแนวคิดการวางแผนการเงินส่วนบุคคล

เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเงินหรือรายได้ที่ได้มาและวางแผนใช้เงินนั้นให้ตรงตามจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ทางการเงินที่ได้มาอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนทางการเงินประกอบด้วย การวางแผนกระแสเงินสด (รายรับ-รายจ่าย) การวางแผนการออม การวางแผนการลงทุน การวางแผนภาษี การวางแผนประกันภัย การวางแผนเกษียณ และการวางแผนมรดก โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ของครัวเรือน สร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้กับครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนเกิดการใช้จ่ายและการก่อหนี้ที่เกินตัว ให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุน รวมถึงรู้จักวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยง การปลดเปลื้องหนี้เดิม และช่วยส่งเสริมความมั่นคงและปลอดภัยในระบบการเงินของสหกรณ์โดยรวม

 

กรอบแนวคิดเทคโนโลยีการเงิน

เทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: Fintech) มักถูกนำมาใช้ในการเรียกบริษัท กลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการให้บริการด้านการเงินและการลงทุนให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น Fintech อาจจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ Traditional Fintech และ Emergent Fintech

 

Traditional Fintech เป็นธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่ภาคการเงินโดยทั่วไป เช่น บริษัทผู้พัฒนาบริการ Internet Banking หรือ Mobile Banking ให้แก่สถาบันการเงินเป็นต้น

 

ส่วน Emergent Fintech เป็นธุรกิจหรือกลุ่มผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโยลีเพื่อลดบทบาท หรือกำจัดตัวกลางทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น Paypal เป็นต้น Fintech ช่วยลดต้นทุนและเวลาในการทำธรุกรรมทางการเงินและการลงทุน ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน (พิมรักษ์ พรหมปาลิต, ออนไลน์)

 

เทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech) กำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันจนแทบจะขาดไม่ได้ หนึ่งในพัฒนาการด้าน FinTech ที่เด่นชัดที่สุดของไทยคือ การพัฒนามาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงินที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment) ให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถรับชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการขยายช่องทางการรับชำระเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ทำให้ร้านค้ามีต้นทุนต่ำลง ประชาชนยังสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือได้ (Mobile Banking) โดยไม่ต้องจำชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านให้ยุ่งยาก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล หรือ Biometrics ที่เพียงแค่สแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้า ผู้ใช้บริการก็สามารถยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งาน Mobile Banking ได้ นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังเริ่มใช้ Biometrics ในการเปิดบัญชีเงินฝาก เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความถูกต้องแม่นยำของการยืนยันตัวลูกค้า เป็นส่วนเสริมนอกเหนือจากการตรวจสอบโดยพนักงาน ด้วยเทคโนโลยีการใช้ข้อมูล Biometrics ที่กำลังจะมีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต การพัฒนาระบบ National Digital Identity (NDID) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลการพิสูจน์ยืนยันตัวตนลูกค้าระหว่างหน่วยงาน ด้วยวิธีที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง จะช่วยให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานหลายครั้งเช่น การเปิดบัญชีและการขอสินเชื่อกับผู้ให้บริการรายใหม่ได้สะดวกมากขึ้น โดยใช้หลักการตรวจสอบยืนยันข้อมูลกับหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือผู้ให้บริการที่เคยรู้จักตัวตนของผู้ขอใช้บริการแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดการให้บริการใหม่อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น Digital Lending หรือ Bio-Payment อาทิ การชำระเงินด้วยใบหน้าและลายนิ้วมือ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, ออนไลน์)

 

นอกจากเทคโนโลยีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้งานโดยตรงที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ยังมีเทคโนโลยีเบื้องหลัง หรือ เทคโนโลยี “หลังบ้าน” ที่จะเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานของผู้ให้บริการ ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ถูกลง ได้แก่

1) เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) เช่น เทคโนโลยี Blockchain ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินมากที่สุด ด้วยคุณลักษณะเด่นของ Blockchain ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลชุดเดียวกัน โดยข้อมูลไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ที่เดียว มี ระบบ Consensus ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องรับทราบและยอมรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล ทำให้ข้อมูลในระบบมีความโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือสูง สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา และมั่นคงปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ โดยในภาคการเงินไทย ได้เริ่มมีการนำ Blockchain มาใช้ในการให้บริการหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) ที่ช่วยให้สถาบันการเงินมีกระบวนการผลิต จัดเก็บ และนำส่งหนังสือค้ำประกันที่รวดเร็ว ปลอดภัย และน่าเชื่อถือได้ดีกว่าในรูปแบบกระดาษ ซึ่งนั่นหมายถึงประโยชน์ต่อภาคธุรกิจที่จะสามารถมั่นใจได้ว่าหนังสือค้ำประกันมีความถูกต้อง แม่นยำและลดต้นทุนในการจัดเก็บและนำส่งหนังสือค้ำประกันไปให้กับคู่ค้าอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำเอา Blockchain เข้ามาใช้เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง และรวดเร็วมากขึ้นด้วย

 

2) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) คือการสร้างความฉลาด ความเข้าใจ ความรู้ ที่มีในมนุษย์ให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดย AI นั้นสามารถประยุกต์ใช้ในการให้ บริการทางการเงินได้หลากหลาย อาทิ การรู้จำตัวอักษร (Optical Character Recognition: OCR) เช่น การอ่านข้อมูลบัตรประชาชน ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว และลดความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลผิด การรู้จำคำพูด (Speech Recognition) เช่น การพูดคำสั่งเมื่อโทรเข้า Call Center ที่เป็นระบบอัตโนมัติที่เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และการเรียนรู้ของเครื่อง หรือ Machine Learning ที่สามารถเรียนรู้ และทำนายข้อมูลได้ผ่านการศึกษาและสร้างอัลกอริทึม (Algorithm) ในภาคการเงินได้เริ่มมีการนำ AI เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ โปรแกรมตอบกลับการสนทนาผ่านตัวอักษรแบบอัตโนมัติ (Chatbot) ซึ่งช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการและลดการใช้แรงงานมนุษย์ลง การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินคุณภาพของลูกค้าผู้ขอกู้เงินด้วย AI ที่ใช้ Machine Learning ในการเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต ลักษณะการใช้จ่ายและการชำระเงิน เพื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ วงเงินปล่อยกู้ที่เหมาะสม มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

 

3) เทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลแอปพลิเคชัน (Application Programming Interface: API) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลแอปพลิเคชัน (Application) หรือระบบงานต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทั้งสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้นตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการบนพื้นฐานของความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการจัดการความปลอดภัยที่เหมาะสม (ธนาคารแห่งประเทศไทย, ออนไลน์)

 

กิจกรรมสร้างสุขทางการเงิน

1. กิจกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน กิจกรรมส่งเสริมการออม กิจกรรมคลินิกแก้หนี้ กิจกรรมที่ปรึกษาทางการเงิน ให้แก่สมาชิก

 

2. กิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินสหกรณ์ (Cooperative FinTech) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก พัฒนาระบบการให้บริการทางการเงินแก่สมาชิกที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง และสร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิกในการใช้บริการทางการเงินของสหกรณ์ เกิดความพึงพอใจในความสะดวก รวดเร็ว และความถูกต้องแม่นยำของการให้บริการทางการเงิน อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของสมาชิก ช่วยให้สมาชิกสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมั่นใจ ลดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของสหกรณ์ (Operation Risk) ช่วยให้สหกรณ์มีต้นทุนการบริการทางการเงินที่ต่ำลง

 

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน มีเป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้แก่สมาชิกสหกรณ์ ป้องกันไม่ให้สมาชิกก่อภาระหนี้ที่เกินตัว ส่งเสริมให้สมาชิกให้ความสำคัญกับการออมทรัพย์ ช่วยให้สมาชิกรู้จักวางแผนการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน สร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิกในการใช้บริการทางการเงินของสหกรณ์ ให้เกิดความพึงพอใจในความสะดวก รวดเร็ว และความถูกต้องแม่นยำของการให้บริการทางการเงิน อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของสมาชิก ช่วยให้สมาชิกสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมั่นใจ ลดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของสหกรณ์ ช่วยให้สหกรณ์มีต้นทุนการบริการทางการเงินที่ต่ำลง ช่วยให้สหกรณ์บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก โดยวิธีร่วมกันดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ร่วมกัน อันจะนำมาซึ่งการกินดี อยู่ดี ของสมาชิกอย่างยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...