วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2567

การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ ในงานพัฒนาสหกรณ์

หลักการสหกรณ์ หลักการที่ 5 ว่าด้วย การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ (Education, Training and Information) สหกรณ์พึงให้การศึกษา และการฝึกอบรมแก่บรรดาสมาชิก ผู้แทนจากการเลือกตั้ง ผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถช่วยพัฒนาสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิผล สหกรณ์จึงให้ข่าวสาร ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน และผู้นําทางความคิด เกี่ยวกับคุณลักษณะ และประโยชน์ของการสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์, 2552)

หลักการสหกรณ์ หลักการที่ 5 ประกอบกับหลักการสหกรณ์อื่น ๆ ทั้งหกหลักการ เพื่อการบรรลุเป้าหมายให้คุณค่าของสหกรณ์และอุดมการณ์สหกรณ์เกิดผลเป็นรูปธรรม อันได้แก่ การช่วยตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกัน ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ จะนําไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

Robert Owen คิดค้นวิธีการสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชนชั้นกรรมมาชีพที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ได้รับแรงหนุนเสริมจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มขึ้นในปี 1760 Robert Owen คิดและวางรากฐานด้านการสหกรณ์ขึ้น เนื่องจากชนชั้นกรรมาชีพ ณ ขณะนั้นถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน เพราะนายทุนใช้เครื่องจักรเครื่องกลมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์และต่อรองกับชนชั้นกรรมมาชีพโดยการลดค่าจ้างแรงงาน Robert Owen จึงคิดค้นวิธีการสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชนชั้นกรรมมาชีพที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ได้รับแรงหนุนเสริมจากการปฏิบัติอุตสาหกรรม

Robert Owen ใช้วิธีการก่อร่างสร้างแนวคิดการสหกรณ์อย่างไร การสหกรณ์จึงได้แพร่หลาย กระจายไปทั่วโลก อาจสรุปได้ว่า เริ่มต้นจาก Co-operative Magazine ของชมรมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า A London Co-operative Society ในปี ค.ศ. 1824 การวางรากฐานความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ผ่าน New Harmony community ในปี ค.ศ. 1826 และการเกิด Rochdale Pioneers ในปี ค.ศ. 1844

ผมสรุปเอาว่า Robert Owen ใช้กระบวนการสร้างความรู้ที่มีเป้าหมายเพื่อการยกระดับจิตสำนึกของประชาชนผู้ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ให้มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง เน้นการสร้างความรู้ด้วยการกระทำ โดยใช้ความเชื่อ และอคติเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความรู้และความเป็นจริง ซึ่งเป็นวิธีการของมุมมองต่อโลกหรือกรอบแนวคิดที่เรียกว่า กระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์ (Critical Paradigm)

Robert Owen ใช้วิธีการวิพากษ์เชิงลึกเพื่อเผยให้เห็นคุณค่าเชิงอุดมการณ์ที่แฝงเร้นอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคม มุ่งสร้างพื้นฐานแนวความคิดสหกรณ์ในการทำความเข้าใจกับสภาพความเป็นจริง ความรู้ และการพรรณนาอรรถาธิบายให้ความหมายของสิ่งต่าง ๆ ในสังคม และการสะท้อนตัวตนของผู้แสวงหาความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง 

การศึกษาและการฝึกอบรมอย่างไร ? ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า การพัฒนา

การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ ทางสหกรณ์ เพื่อการพัฒนาสหกรณ์ให้บรรลุเป้าหมายคุณค่าและอุดมการณ์สหกรณ์ ต้องมีอะไรมากกว่า เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษา อบรม...มีความรู้ ความเข้าใจเพิ่มขึ้นสิ่งที่มากกว่า คือ ผู้เข้ารับการศึกษา อบรม จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง?

นักจิตวิทยากล่าวไว้ว่า บทบาทของทัศนคติเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดการกระทำหรือพฤติกรรมของบุคคลหากหวังให้พฤติกรรมของบุคคลเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติให้ได้ก่อน ซึ่งการเปลี่ยนแปลง 3 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ

1) การตั้งคำถาม (สมมุติฐาน) และแนวคิดต่าง ๆ มีผลต่อกระบวนการคิด ความเข้าใจ และความรู้สึกของตนต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

2) บุคคลเริ่มปรับเปลี่ยนกรอบความคิด ลักษณะนิสัย ที่จะช่วยให้เกิดมโนทัศนใหม่ที่มีความครอบคลุมชัดเจน

3) บุคคลปฏิบัติหรือทำการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ โดยใช้ความรู้ความเข้าใจที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ หรือใช้มโนทัศน์ใหม่เป็นแนวทางการปฏิบัติ

การศึกษาและการฝึกอบรมทางสหกรณ์เพื่อการพัฒนา อาจประกอบด้วยขึ้นตอนที่สำคัญ ได้แก่

1) กระบวนการที่ทำให้เกิดการเข้าใจเข้าถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องการพัฒนา

2) กระบวนการสนทนาเพื่อการโต้ตอบซักถาม

3) การสำรวจทัศนคติ

4) การปรับเปลี่ยนทัศนคติ

แนวคิดสหกรณ์ไม่ใช่ลัทธิความเชื่อที่ใช้กำหนดระบบความคิดความเชื่อของผู้คน แต่การสหกรณ์เป็นทฤษฎีที่พิสูจน์ได้ ด้วยการดำเนินการตามหลักการสหกรณ์ ที่เรียกว่าวิธีการสหกรณ์ วิธีการที่จะทำให้อุดมการณ์ดำรงอยู่ได้จะต้องใช้กลไกทางสังคม ที่ทำงานในเชิงอุดมการณ์หรือกำหนดกรอบพฤติกรรมความเชื่อของคนในสังคมให้รู้สึกเต็มใจที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมสหกรณ์


หลักการสหกรณ์ที่ 5 เป็นหลักการสำคัญที่จะทำให้ผู้คนในขบวนการสหกรณ์และผู้คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ที่ถูกต้อง การศึกษาทางสหกรณ์จึงเป็นแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาการสหกรณ์ และรักษาคุ้มครองระบบสหกรณ์ ฉะนั้น การศึกษาและการฝึกอบรมทางสหกรณ์ จึงจะต้องมีเป้าหมายสำคัญในการเปลี่ยนทัศนคติต่อสหกรณ์ให้ถูกต้อง เพื่อการเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปตามหลักการและวิธีการสหกรณ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในเชิงคุณค่าและอุดมการณ์สหกรณ์

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2567

การบริหารจัดการธุรกิจการให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกของสหกรณ์

สหกรณ์ คือ คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกสหกรณ์ผู้มีสัญชาติไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก    โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ มีอำนาจกระทำการ ดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้า การบริการ และอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ของสมาชิก ให้สวัสดิการหรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก ขอหรือรับความช่วยเหลือทางวิชาการ        จากทางราชการ หน่วยงานของต่างประเทศ หรือบุคคลอื่นใด รับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากสมาชิกหรือสหกรณ์อื่น หรือสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งมีสมาชิกของสมาคมนั้นไม่น้อยกว่า      กึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคลากรหรือลูกจ้างไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ     นิติบุคคลนั้น เป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน ทั้งนี้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจาก    นายทะเบียนสหกรณ์ ให้กู้ ให้สินเชื่อ ให้ยืม ให้เช่า ให้เช่าซื้อ โอน รับจำนองหรือรับจำนำ ซึ่งทรัพย์สิน          แก่สมาชิกหรือของสมาชิก จัดให้ได้มา ซื้อ ถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิ ครอบครอง กู้ ยืม เช่า เช่าซื้อ รับโอนสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ จำนอง หรือจำนำ ขาย หรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่นใดซึ่งทรัพย์สิน ให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงินได้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ ตลอดจนดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับ หรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์

การดำเนินงานในฐานะสหกรณ์ ดำเนินการโดยคณะกรรมการสหกรณ์ หรือผู้จัดการสหกรณ์           ซึ่งสหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ข้อบังคับของสหกรณ์ และมติที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก

ธุรกิจการให้เงินกู้ยืมแก่ของสหกรณ์ เป็นไปตามอำนาจกระทำการให้กู้ ให้สินเชื่อ ให้ยืม ให้เช่า ให้เช่าซื้อ โอน รับจำนองหรือรับจำนำ ซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือของสมาชิก เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์           เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ โดยคณะกรรมการเงินกู้ มีอำนาจหน้าที่ใน         การพิจารณาวินิจฉัยอนุมัติการให้เงินกู้แก่สมาชิกตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ ซึ่งต้องตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ให้เงินกู้นั้น ตรวจสอบและควบคุมให้เงินกู้มีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ และเมื่อเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องก็ต้องกำหนดให้ผู้กู้จัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่กำหนด ดูแลและติดตามการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา และรายงานและสอบสวนเบื้องต้นให้ได้ข้อความจริง ในกรณีสมาชิกผู้กู้ขอผ่อนเวลาการส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้ หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ เพื่อเสนอความเห็นให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาผ่อนผันหรือเรียกคืนเงินกู้ หรือสอบสวนลงโทษให้สมาชิกออกจากสหกรณ์ หรือพิจารณาว่าตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยจะต้องรายงานเป็นประจำทุกเดือน

หลักการสำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจการให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกของสหกรณ์ นอกจากพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจกระทำการเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของสหกรณ์แล้ว จะต้องคำนึงว่า       การให้สินเชื่อทุกประเภทมีความเสี่ยง ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) เป็นความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันหรือในภายหน้าที่มีต่อรายได้และส่วนทุนของกลุ่มเกษตรกรอันเกิดจากการที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ตามเงื่อนไขและ/หรือข้อตกลงในสัญญา เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ลูกหนี้หรือคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามภาระที่ตกลงไว้     เช่น ลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้ในสัญญา เป็นต้น รวมถึงโอกาสที่คู่ค้าจะถูก    ปรับลดอันดับความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้และเงินทุนของสหกรณ์

สหกรณ์สามารถนำหลักการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk Management)      มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดการการเงิน โดยการกำหนดแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อป้องกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของสมาชิกและแผนในการแก้ไขกรณีที่สมาชิก           ขาดความสามารถในการชำระหนี้จนผิดนัดชำระหนี้ โดยมีเครื่องมือสำคัญ ได้แก่

1) การกำหนดแหล่งที่มา-ใช้ไปของทุน ในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อ โดยพิจารณาถึงแหล่งที่มาของทุนว่ามาจากแหล่งภายใน - ภายนอกสหกรณ์ เป็นแหล่งที่มาระยะสั้น - ระยะยาว เพื่อวางแผนใช้ทุนดังกล่าวให้สอดคล้องเหมาะสมกับแหล่งที่ใช้ไปคือการให้เงินกู้แก่สมาชิกว่าเป็นการให้เงินกู้ระยะสั้นหรือระยะยาว

2) หลักการวิเคราะห์สินเชื่อ 5C ได้แก่

(1) Character ลักษณะและความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อ

(2) Capacity ความสามารถในการชำระหนี้คืน

(3) Capital เงินทุน สินทรัพย์ เพื่อเป็นหลักประกันการให้กู้ยืม

(4) Collateral ผู้ค้ำประกันหรือหลักประกันที่ผู้ขอสินเชื่อนำมาจำนำ หรือจำนอง เพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจและลดความเสี่ยงหากผู้ขอสินเชื่อไม่ชำระหนี้ตามกำหนด

3) หลักการวิเคราะห์สินเชื่อ 3P ได้แก่

(1) วัตถุประสงค์ในการกู้เงิน (Purpose)

(2) การชำระเงินกู้ (Payment)

(3) การป้องกันความเสี่ยง (Protection)

4) การตรวจสอบติดตาม ได้แก่ ตรวจสอบการใช้เงินกู้ ตรวจสอบและควบคุมให้เงินกู้มีหลักประกันตามที่กำหนด และดูแลและติดตามการชำระหนี้ของผู้กู้ให้เป็นไปตามที่กำหนด

นายทะเบียนสหกรณ์ ได้ให้คำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์การให้เงินกู้แก่สมาชิก อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ให้ไว้ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งคำแนะนำดังกล่าวสอดคล้องกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกช. 7/2566 เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ประกาศ ณ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุป ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

หลักเกณฑ์

ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

คำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์

เรื่องหลักเกณฑ์การให้เงินกู้แก่สมาชิกอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ/การให้บริการเงินให้กู้แก่สมาชิก

ผู้ให้บริการต้องมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการ ความสามารถในการชำระหนี้ และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร โดยควรผลักดันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าหรือกลุ่มลูกค้าและลักษณะสินเชื่อ (risk-based pricing) รวมทั้งเงื่อนไขสัญญามีความเป็นธรรมต่อลูกค้า

การให้บริการเงินให้กู้แก่สมาชิก ควรกำหนดให้เหมาะสมกับความต้องการของสมาชิก ความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิก และไม่กระตุ้นให้สมาชิกก่อหนี้เกินควร โดยควรผลักดันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ให้สอดคล้องกับประเภทของเงินกู้ รวมทั้งเงื่อนไขสัญญาจะต้องมีความเป็นธรรมต่อสมาชิกผู้กู้

2. การโฆษณา/การประชาสัมพันธ์

ผู้ให้บริการต้องจัดทำและควบคุมโฆษณาให้มีเนื้อหาที่ ถูกต้องและชัดเจน” “ครบถ้วนและปรียบเทียบเงื่อนไข อัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้และ ไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร เพื่อให้ลูกค้าได้รับและเข้าใจข้อมูลที่จำเป็นจากโฆษณาอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจและส่งเสริมการมีวินัยทางการเงิน

การประชาสัมพันธ์ สหกรณ์ต้องจัดให้มีการอธิบายข้อมูลรายละเอียดของบริการเงินกู้แก่สมาชิกและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้สมาชิกรับทราบและเข้าใจได้ง่าย โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการหรือมีเหตุอื่นทำให้ให้ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้เปิดเผยข้อมูลนั้น ณ สำนักงานใหญ่ และสำนักงกงานสาขาของสหกรณ์นั้นทุกแห่ง ข้อมูลรายละเอียดของบริการเงินให้กู้แก่สมาชิก ต้องมีการแสดงเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ และข้อควรระวังอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและชัดเจน เพื่อการตัดสินใจของสมาชิกในการเลือกใช้บริการเงินให้กู้ของสหกรณ์แต่ละประเภท

3. กระบวนการขาย/การเสนอเพื่อให้บริการเงินให้กู้แก่สมาชิก

ผู้ให้บริการต้องดูแลให้ลูกค้าได้รับข้อมูลสำคัญครบถ้วนไม่เกินจริง ไม่บิดเบือนเพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือความต้องการในการใช้เงินของลูกค้าและไม่ถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร

การเสนอเพื่อให้บริการเงินให้กู้แก่สมาชิก สหกรณ์ต้องดูแลให้สมาชิกได้รับข้อมูลสำคัญครบถ้วน ไม่เกินจริง ไม่บิดเบือน เพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับการเสนอบริการเงินให้กู้แก่สมาชิกที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือความต้องการในการใช้เงินของสมาชิกและไม่ถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร

4. การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability)

ผู้ให้บริการต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยพิจารณาให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และคำนึงถึงเงินเหลือสุทธิหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด (residual income) ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกค้า อย่างเต็มที่เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ (best effort)

การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ สหกรณ์ต้องประเมินความสามารถ ในการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ โดยพิจารณาให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และคำนึงถึงเงินเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของสมาชิกผู้กู้อย่างเต็มที่เท่าที่สหกรณ์สามารถทำได้ โดยการให้กู้แก่สมาชิกสหกรณ์ควรต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

(2) ความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้

(3) พฤติกรรมทางการเงินของผู้กู้ เช่น ประวัติการชำระหนี้ ประวัติการผิดนัดชำระหนี้การถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นต้น เพื่อให้สหกรณ์มีข้อมูลการเป็นหนี้ของสมาชิกผู้กู้อย่างครบถ้วน สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างถูกต้อง และให้สหกรณ์พิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือกรณีการให้กู้แก่สมาชิกที่รวมกันทุกสัญญาแล้วตั้งแต่ห้าแสนบาทขึ้นไป สหกรณ์ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้สมาชิกผู้กู้ส่งข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สำหรับประกอบการพิจารมา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการให้กู้อย่างรับผิดชอบ

(4) การกำหนดจำนวนงวดชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ที่มีอายุสัญญามากกว่า 3 ปี ขึ้นไปควรกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้แต่ละราย โดยกำหนดชำระงวดสุดท้ายให้แล้วเสร็จ โดยที่สมาชิกผู้กู้ยังมีอายุไม่เกิน 75 ปี เว้นแต่การกู้เงินนั้นเมื่อรวมทุกสัญญาแล้วมีจำนวนไม่เกินค่าหุ้นและเงินฝากที่สมาชิกผู้กู้มีอยู่กับสหกรณ์

(5) เงินเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ ควรมีเงินเหลือสุทธิเพียงพอต่อการดำรงชีพของสมาชิก สำหรับสหกรณ์อออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ควรมีเงินเหลือสุทธิหลังหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตลอดอายุสัญญา

5. การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในระหว่างเป็นหนี้

ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลและคำเตือนสำคัญที่ลูกหนี้ควรรู้ รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ (nudge) เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น และสามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง (responsible borrowing)

การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในระหว่างการเป็นหนี้ สหกรณ์ต้องให้ข้อมูลและคำเตือนสำคัญที่สมาชิกผู้กู้ควรรู้ รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนการกระตุกพฤติกรรมสมาชิกผู้กู้เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกผู้กู้มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้นและสามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง

6. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD)

ผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลสำคัญให้ลูกหนี้ตระหนักถึงผลเสียของการเป็นหนี้ที่เรื้อรัง รวมทั้งมีแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นมาตรฐานเพื่อให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้อย่างเหมาะสม

การให้ความช่วยเหลือสมาชิกผู้กู้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง สหกรณ์ต้องแจ้งข้อมูลสำคัญให้สมาชิกผู้กู้ตระหนักถึงผลเสียของการเป็นหนี้ที่เรื้อรัง รวมทั้ง มีแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นมาตรฐานเพื่อให้สมาชิกผู้กู้เห็นทางหมดภาระหนี้สินได้

7. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้

ผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้โดยเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังประสบปัญหาชำระหนี้ ตลอดจนเมื่อเป็นหนี้เสียแล้ว โดยเฉพาะก่อนการดำเนินการตามกฎหมาย โอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญา หรือยึดทรัพย์

การให้ความช่วยเหลือสมาชิกผู้กู้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ สหกรณ์ต้องเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ของสมาชิกผู้กู้โดยเร็ว ตั้งแต่เมื่อมีสัญญาณว่าสมาชิกผู้กู้กำลังประสบปัญหาในการชำระหนี้ ตลอดจนเมื่อเป็นหนี้เสียแล้ว ก่อนที่จะการดำเนินการตามกฎหมาย

8. การดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายลูกหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น/การดำเนินการตามกฎหมายเมื่อสมาชิกผู้กู้ผิดชำระหนี้

ผู้ให้บริการต้องแจ้งให้ลูกหนี้ได้รับทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วนเมื่อถูกดำเนินการตามกฎหมายในกรณีที่ลูกหนี้สอบถาม ตลอดจนควรเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ รวมถึงภายหลังจากการโอนขายหนี้ ลูกหนี้ได้รับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสม

การดำเนินการตามกฎหมายเมื่อสมาชิกผู้กู้ผิดชำระหนี้ สหกรณ์ต้องแจ้งให้สมาชิกผู้กู้ได้รับทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วนเมื่อถูกดำเนินการตามกฎหมาย ตลอดจนควรเปิดโอกาสให้สมาชิกผู้กู้ได้ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้

ที่มา:

1. ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกช. 7/2566 เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ประกาศ ณ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566

2. คำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์การให้เงินกู้แก่สมาชิก อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ให้ไว้ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

กล่าวโดยสรุป การบริหารจัดการธุรกิจการให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกของสหกรณ์ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจกระทำการของสหกรณ์ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ คือ ส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ ทั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ต้องพิจารณาปรับใช้มาตรการต่าง ๆ โดยอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ต่อสหกรณ์ และการช่วยเหลือสมาชิก ต้องคำนึงถึงการสร้างวินัยทางการเงินและความเป็นธรรมแก่สมาชิกอื่น เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กฎกระทรวง ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ คำแนะนำ    นายทะเบียนสหกรณ์ ข้อบังคับสหกรณ์ ระเบียบสหกรณ์ มติที่ประชุมใหญ่ มติคณะกรรมการดำเนินการ และคำสั่งหรือประกาศสหกรณ์

การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ ในงานพัฒนาสหกรณ์

หลักการสหกรณ์ หลักการที่ 5 ว่าด้วย การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ ( Education, Training and Information) สหกรณ์พึงให้การศึกษา และการฝึกอบรมแก่...