วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2567

การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ ในงานพัฒนาสหกรณ์

หลักการสหกรณ์ หลักการที่ 5 ว่าด้วย การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ (Education, Training and Information) สหกรณ์พึงให้การศึกษา และการฝึกอบรมแก่บรรดาสมาชิก ผู้แทนจากการเลือกตั้ง ผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถช่วยพัฒนาสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิผล สหกรณ์จึงให้ข่าวสาร ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน และผู้นําทางความคิด เกี่ยวกับคุณลักษณะ และประโยชน์ของการสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์, 2552)

หลักการสหกรณ์ หลักการที่ 5 ประกอบกับหลักการสหกรณ์อื่น ๆ ทั้งหกหลักการ เพื่อการบรรลุเป้าหมายให้คุณค่าของสหกรณ์และอุดมการณ์สหกรณ์เกิดผลเป็นรูปธรรม อันได้แก่ การช่วยตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกัน ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ จะนําไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

Robert Owen คิดค้นวิธีการสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชนชั้นกรรมมาชีพที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ได้รับแรงหนุนเสริมจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มขึ้นในปี 1760 Robert Owen คิดและวางรากฐานด้านการสหกรณ์ขึ้น เนื่องจากชนชั้นกรรมาชีพ ณ ขณะนั้นถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน เพราะนายทุนใช้เครื่องจักรเครื่องกลมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์และต่อรองกับชนชั้นกรรมมาชีพโดยการลดค่าจ้างแรงงาน Robert Owen จึงคิดค้นวิธีการสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชนชั้นกรรมมาชีพที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ได้รับแรงหนุนเสริมจากการปฏิบัติอุตสาหกรรม

Robert Owen ใช้วิธีการก่อร่างสร้างแนวคิดการสหกรณ์อย่างไร การสหกรณ์จึงได้แพร่หลาย กระจายไปทั่วโลก อาจสรุปได้ว่า เริ่มต้นจาก Co-operative Magazine ของชมรมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า A London Co-operative Society ในปี ค.ศ. 1824 การวางรากฐานความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ผ่าน New Harmony community ในปี ค.ศ. 1826 และการเกิด Rochdale Pioneers ในปี ค.ศ. 1844

ผมสรุปเอาว่า Robert Owen ใช้กระบวนการสร้างความรู้ที่มีเป้าหมายเพื่อการยกระดับจิตสำนึกของประชาชนผู้ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ให้มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง เน้นการสร้างความรู้ด้วยการกระทำ โดยใช้ความเชื่อ และอคติเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความรู้และความเป็นจริง ซึ่งเป็นวิธีการของมุมมองต่อโลกหรือกรอบแนวคิดที่เรียกว่า กระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์ (Critical Paradigm)

Robert Owen ใช้วิธีการวิพากษ์เชิงลึกเพื่อเผยให้เห็นคุณค่าเชิงอุดมการณ์ที่แฝงเร้นอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคม มุ่งสร้างพื้นฐานแนวความคิดสหกรณ์ในการทำความเข้าใจกับสภาพความเป็นจริง ความรู้ และการพรรณนาอรรถาธิบายให้ความหมายของสิ่งต่าง ๆ ในสังคม และการสะท้อนตัวตนของผู้แสวงหาความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง 

การศึกษาและการฝึกอบรมอย่างไร ? ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า การพัฒนา

การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ ทางสหกรณ์ เพื่อการพัฒนาสหกรณ์ให้บรรลุเป้าหมายคุณค่าและอุดมการณ์สหกรณ์ ต้องมีอะไรมากกว่า เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษา อบรม...มีความรู้ ความเข้าใจเพิ่มขึ้นสิ่งที่มากกว่า คือ ผู้เข้ารับการศึกษา อบรม จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง?

นักจิตวิทยากล่าวไว้ว่า บทบาทของทัศนคติเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดการกระทำหรือพฤติกรรมของบุคคลหากหวังให้พฤติกรรมของบุคคลเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติให้ได้ก่อน ซึ่งการเปลี่ยนแปลง 3 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ

1) การตั้งคำถาม (สมมุติฐาน) และแนวคิดต่าง ๆ มีผลต่อกระบวนการคิด ความเข้าใจ และความรู้สึกของตนต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

2) บุคคลเริ่มปรับเปลี่ยนกรอบความคิด ลักษณะนิสัย ที่จะช่วยให้เกิดมโนทัศนใหม่ที่มีความครอบคลุมชัดเจน

3) บุคคลปฏิบัติหรือทำการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ โดยใช้ความรู้ความเข้าใจที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ หรือใช้มโนทัศน์ใหม่เป็นแนวทางการปฏิบัติ

การศึกษาและการฝึกอบรมทางสหกรณ์เพื่อการพัฒนา อาจประกอบด้วยขึ้นตอนที่สำคัญ ได้แก่

1) กระบวนการที่ทำให้เกิดการเข้าใจเข้าถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องการพัฒนา

2) กระบวนการสนทนาเพื่อการโต้ตอบซักถาม

3) การสำรวจทัศนคติ

4) การปรับเปลี่ยนทัศนคติ

แนวคิดสหกรณ์ไม่ใช่ลัทธิความเชื่อที่ใช้กำหนดระบบความคิดความเชื่อของผู้คน แต่การสหกรณ์เป็นทฤษฎีที่พิสูจน์ได้ ด้วยการดำเนินการตามหลักการสหกรณ์ ที่เรียกว่าวิธีการสหกรณ์ วิธีการที่จะทำให้อุดมการณ์ดำรงอยู่ได้จะต้องใช้กลไกทางสังคม ที่ทำงานในเชิงอุดมการณ์หรือกำหนดกรอบพฤติกรรมความเชื่อของคนในสังคมให้รู้สึกเต็มใจที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมสหกรณ์


หลักการสหกรณ์ที่ 5 เป็นหลักการสำคัญที่จะทำให้ผู้คนในขบวนการสหกรณ์และผู้คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ที่ถูกต้อง การศึกษาทางสหกรณ์จึงเป็นแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาการสหกรณ์ และรักษาคุ้มครองระบบสหกรณ์ ฉะนั้น การศึกษาและการฝึกอบรมทางสหกรณ์ จึงจะต้องมีเป้าหมายสำคัญในการเปลี่ยนทัศนคติต่อสหกรณ์ให้ถูกต้อง เพื่อการเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปตามหลักการและวิธีการสหกรณ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในเชิงคุณค่าและอุดมการณ์สหกรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ ในงานพัฒนาสหกรณ์

หลักการสหกรณ์ หลักการที่ 5 ว่าด้วย การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ ( Education, Training and Information) สหกรณ์พึงให้การศึกษา และการฝึกอบรมแก่...