คาร์ล
มาร์กซ์ (Karl
Mark, 1818-1883) ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมมากที่สุดคนหนึ่งของโลก
โดยเฉพาะการอธิบายวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ไว้ได้อย่างลึกซึ้งซึ่งแนวทางการอธิบายดังกล่าวเรียกว่า
มโนทัศน์วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ โดยในการพิจารณาประวัติศาสตร์จะต้องแยกออกเป็น 3
ส่วนคือ พลังการผลิต (Productive Forces) ความสัมพันธ์ในการผลิต
(Relations of Production) และโครงสร้างส่วนบน (Superstructure)
มาร์กซ์อธิบายว่า
พลังการผลิต (Productive
Forces) คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หมายถึงวิธีการที่มนุษย์ขัดแย้งเอาชนะธรรมชาติเรียกว่าวิธีการผลิตหรือเทคโนโลยี
(ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2546: 153)
จากแนวคิดดังกล่าวของมาร์กจะเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อพลังการผลิต
การพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้มนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ในยุคแรก
และวิวัฒนาการของเทคโนโลยีจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ช่วยให้มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติได้บางส่วน เป็นการเอาชนะเพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์มีความสะดวกสบายขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกสบาย ทั้งด้านการผลิต การบริโภค การติดต่อสื่อสาร
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของสังคม และด้านอื่นๆ
ปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีพัฒนาไปมากและเมื่อผนวกกับระบบสารสนเทศ
กลายเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศ กลายเป็นพลังแห่งคลื่นลูกที่สาม
ซึ่งความก้าวหน้าดังกล่าวถึงกับมีคนพูดถึงพลังของเทคโนโลยีสารสนเทศว่ามันสามารถทำให้โลกแบนได้อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่
เมื่อ 500 ปีกว่าผ่านมา
กาลิเลโอเป็นคนแรกเสนอแนวคิดว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล
แต่หมุนรอบดวงอาทิตย์พร้อมกับดาวดวงอื่นๆอีกหลายดวง ส่วนแมกแจลแลนได้พิสูจน์ว่าโลกกลมด้วยการเดินทางรอบโลกโดยใช้เวลากว่า
3 ปีในการเดินทางรอบโลก (ค.ศ.1519-1522) ซึ่งผ่านมาแล้วถึง 487 ปี แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้คนสามารถเดินทางรอบโลกได้เพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง
และติดต่อกันข้ามโลกได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ โธมัส ฟริดแมน
(Thomas
L Friedman) กล่าวว่าเทคโนโลยีทำให้โลกแบน ในหนังสือชื่อ The
World Is Flat: A Brief History of the Twenty-first Century
แม้ระบบสารสนเทศจะก้าวหน้าไปอย่างมาก
สร้างประโยชน์แก่มวลมนุษย์มากมาย แต่ขณะเดียวกันระบบสารสนเทศก็สร้างผลกระทบทางลบให้กับสังคมมนุษย์และระบบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากมายเช่นกัน
แม้ไม่ได้เกิดจากตัวระบบสารสนเทศเอง แต่เกิดจากผู้ใช้ระบบสารสนเทศเป็นตัวการสำคัญ
ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของระบบสารสนเทศ
องค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศ และผลกระทบของระบบสารสนเทศ
เพื่อให้มนุษย์ในสังคมดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมดุล โดยมีระบบสารสนเทศเป็นพลังการผลิตที่สำคัญในการสร้างสรรค์ความสมดุลและยั่งยืนของสังคมมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสืบไปนานเท่านาน
ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสานสนเทศ
เพื่อทำความเข้าใจระบบสารสนเทศอันเป็นพลังการผลิตที่สำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต
จึงควรได้ทำความเข้าใจความเป็นมาเป็นไป และองค์ประกอบพื้นฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศ
อันประกอบไปด้วย ข้อมูล สารสนเทศ ระบบสารสนเทศ เทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ซึ่งรายละเอียดพอสังเขปดังต่อไปนี้
ข้อมูล
(Data)
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(2547:
6) สรุปว่า ข้อมูล
คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง
จะเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับ คน วัตถุ สิ่งของ หรือสถานการณ์
ตามสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏ โดยข้อมูลจะแสดงคุณลักษณะที่เกิดขึ้นของกิจกรรมนั้นๆ
และถูกนำมาจัดเรียบเรียงให้อยู่ในรูปแบบที่คนทั่วไปเข้าใจและนำไปใช้ได้
สารสนเทศ
(Information)
S.M.H. Collin. (1988: 106) ได้ให้ความหมายของ Information ไว้ว่า หมายถึง
ความรู้ที่ถูกทำให้คนสามารถเข้าใจได้ เป็นข้อมูลที่ผ่านการประมวลแล้ว
สอดคล้องกับ
Turban,
Malean and Wetherbe (2001: 45) ที่ให้ความหมายของคำว่า Information
ไว้ว่าหมายถึง
ข้อมูลที่ถูกจัดกระทำแล้วโดยทำให้ข้อมูลดังกล่าวมีความหมายและมีคุณค่าแก่ผู้รับข้อมูล
โดยผู้รับข้อมูลจะตีความหมาย สรุป และนำสารสนเทศไปใช้
สอดคล้องกับศรีไพร
ศักดิ์รุ่งพงศากุล และเจษฏาพร ยุทธนวิบูลย์ชัย (2549: 17)
ที่สรุปไว้ว่า สารสนเทศ หมายถึง
สิ่งที่ได้จาการประมวลผลข้อมูลและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน การตัดสินใจ
และการคาดการณ์ในอนาคตได้ ซึ่งสารสนเทศอาจแสดงได้ในรูปแบบของข้อความ ตาราง แผนภูมิ
หรือรูปภาพ
ส่วนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(2549:
1-5) ได้ให้ความหมายของสารสนเทศไว้ว่า หมายถึง
ข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ
ทั้งที่ไม่ได้ผ่านการประมวลหรือข้อมูลดิบและข้อมูลที่ได้
นำไปผ่านการประมวลเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับข้อมูลนั้น
ซึ่งจะทำให้ได้สารสนเทศในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ในแต่ละลำดับขั้นของการปฏิบัติงาน
รวมทั้งการนำไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารในกระบวนการทางธุรกิจ
หรืออาจกล่าวได้ว่า สารสนเทศก็คือ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ (Useful Data) หรือข้อมูลที่ตรงประเด็นและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์นั่นเอง
นั่นคือข้อมูลจะแปรสภาพเป็นสารสนเทศก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในรูปที่มีความหมาย
ตรงตามความต้องการและผู้ใช้สามารถเข้าใจได้ในเวลา สถานที่
และตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดขึ้น
ขณะที่พนิดา
พานิชกุล (2549: 3) ให้ความหมายของสารสนเทศไว้ว่า หมายถึง
ข้อมูลที่ผ่านกระบวนการเก็บรวบรวมและเรียบเรียงเพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้
จากความหมายที่กล่าวมาทั้งหมดอาจสรุปได้ว่า
สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลที่ผ่านกระบวนการคัดกรองมาแล้ว
ทำให้กลายเป็นข้อมูลที่มีคุณค่า นำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าว
ได้คัดสรรเฉพาะข้อมูลที่เอื้อต่อการนำไปใช้ของผู้ใช้
โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ข้อมูลเป็นสำคัญ
ระบบสารสนเทศ
(Information
System)
ศรีสมรัก
อินทุจันทร์ยง (2549:
6) ได้สรุปไว้ว่า ระบบสารสนเทศ (Information System หรือ IS) เป็นระบบที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล
เพื่อนำมาประมวลผล วิเคราะห์ เพื่อสร้างสารสนเทศสำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน
และนำเสนอสารสนเทศให้กับผู้ที่ต้องการซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับสารสนเทศ
รวมทั้งการจัดเก็บบันทึกข้อมูลที่นำเข้ามาสู่ระบบไว้เพื่อการใช้งานในอนาคต
การดำเนินงานของระบบสารสนเทศจะเป็นไปตามหลักการของระบบ
โดยมีข้อมูลเป็นสิ่งที่นำเข้า เพื่อผลิตสารสนเทศเป็นสิ่งที่ส่งออกให้ผู้ใช้
ระบบสารสนเทศแต่ละระบบจะถูกสร้างขึ้นมาด้วยเป้าหมายในการตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันไป
ส่วนกิตติ
ภักดีวัฒนะกุล (2546:
281) สรุปว่า ระบบสารสนเทศ หมายถึง การรวบรวมองค์ประกอบต่างๆ
ซึ่งได้แก่ ข้อมูล การประมวลผล การเชื่อมโยง และระบบเครือข่าย เพื่อนำเข้า
สู่ระบบใดๆ แล้วนำมาผ่านกระบวนการบางอย่าง ที่อาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วย
เพื่อเรียบเรียง เปลี่ยนแปลง และจัดเก็บ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ คือสารสนเทศที่สามารถใช้สนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจได้
เทคโนโลยี
(Technology)
มาร์กซ์
อธิบายว่า เทคโนโลยี คือ พลังการผลิต (Productive Forces) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
หมายถึงวิธีการที่มนุษย์ขัดแย้งเอาชนะธรรมชาติเรียกว่าวิธีการผลิต (ฉัตรทิพย์
นาถสุภา, 2546: 153)
พนิดา พานิชกุล (2549: 3) ให้ความหมายของ เทคโนโลยีว่า หมายถึง
การนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์หรือความรู้ด้านอื่นๆ
ที่ได้จัดระเบียบดีแล้วมาประยุกต์ใช้งานในด้านใดด้านหนึ่ง
เพื่อให้งานนั้นมีความสามารถและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศ
(Information
Technology)
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(2547:
6) สรุปไว้ว่าเทคโนโลยีและการสื่อสาร
หมายถึงเทคโนโลยีที่ใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน
โดยอาศัยเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารเพื่อการรวบรวมข้อมูล จัดเก็บ บันทึก
ประมวลผล ค้นหาและค้นคืน แสดงผล สื่อสารข้อมูลหรือเผยแพร่สารสนเทศเพื่อการใช้ประโยชน์
ณัฏฐพันธ์
เขจรนันน์ และไพบูลย์ เกียรติโกมล (2542: 4) สรุปว่า
เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีทุกรูปแบบที่นำมาประยุกต์ใช้ในการ ประมวลผล จัดเก็บ
การสื่อสาร และการส่งผ่านสารสนเทศด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
โดยที่ระบบทางกายภาพประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร และระบบเครือข่าย
ขณะที่ระบบนามธรรมเกี่ยวข้องกับการจัดรูปแบบของการมีปฏิสัมพันธ์ด้านสารสนเทศทั้งภายในและภายนอกระบบให้สามารถดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ชุมพล
ศฤงคารศิริ (2540:
167) กล่าวว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ
หมายถึงเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร
ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยให้นักวิเคราะห์ระบบสามารถสร้างระบบสารสนเทศที่ทันสมัยและมีความสลับซับซ้อนได้
พนิดา
พานิชกุล (2549: 4) สรุปว่า เทคโนโลยีสานสนเทศ หมายถึง
การนำเทคโนโลยีมาใช้งานที่เกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลเพื่อให้ได้เป็นสารสนเทศ
ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้นั้นจะต้องสนับสนุนการทำงานตั้งแต่การนำเข้า การจัดเก็บ
การจัดการ การป้องกัน การสื่อสาร และการค้นคืนสารสนเทศ
โดยจะต้องผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัวจึงจะช่วยให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพได้
ส่วนพรรณี
สวนแตง (2552:
83) สรุปไว้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศหมายถึง
การประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาจัดการสารสนเทศที่ต้องการ
โดยอาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ประกอบด้วยเทคโนโลยีแกนหลักสองสาขา ได้แก่
เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม
กระบวนการดำเนินงานจัดการสารสนเทศ ตั้งแต่การเสาะแสวงหา การวิเคราะห์ การจัดเก็บ
การจัดการ และการเผยแพร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความถูกต้อง ความแม่นยำ
และความรวดเร็ว ทันต่อการนำไปใช้ประโยชน์
และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะช่วยทำงานด้านการจัดเก็บ บันทึก และประมวลผลข้อมูลให้รวดเร็วและถูกต้อง
ก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ
Turban, Malean and Wetherbe (2001:
18) และ ศรีสมรัก อินทุจันทร์ยง (2549: 7-16)
ได้สรุปไว้อย่างใกล้เคียงกันว่า องค์ประกอบของระบบสารสนเทศประกอบไปด้วย ฮาร์ดแวร์
ซอฟต์แวร์ ฐานข้อมูล (ศรีสมรัก อินทุจันทร์ยง ใช้คำว่าข้อมูล) บุคลากร
กระบวนการและระบบเครือข่าย ซึ่งความหมายขององค์ประกอบต่างๆของระบบสารสนเทศ
สามารถอธิบายได้พอสังเขปดังนี้
ฮาร์ดแวร์ (Hardware) หมายถึง อุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีที่ช่วยให้ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการประมวลผล อุปกรณ์นำเข้าข้อมูล
อุปกรณ์ส่งออกข้อมูล และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล
ซอฟต์แวร์
(Software)
หมายถึง ชุดคำสั่งที่ใช้ในการสั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย
ซอฟต์แวร์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) และซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software)
ข้อมูล (Data) หมายถึง สิ่งนำเข้าสู่ระบบสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ
ฐานข้อมูล
(Database)
หมายถึง กลุ่มของข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน มีความเกี่ยวข้องกัน
มีเนื้อหาตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน
กระบวนการ (Procedure) หมายถึง กลยุทธ์ นโยบาย วิธีการ หลักเกณฑ์ ขั้นตอนในการใช้ระบบสารสนเทศ
บุคลากร
(People
ware) หมายถึง
ผู้ใช้องค์ประกอบต่างๆให้ทำงานร่วมกันตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
ระบบเครือข่าย (Network) คือเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์เพื่อทำให้เกิดการสื่อสารทางไกล
(Telecommunication) เป็นการส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง
โดยใช้อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ ตัวกลางนำสัญญาณ และซอฟต์แวร์สำหรับการสื่อสาร
โดยสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์จะนำพาข้อมูลสารสนเทศไปยังผู้รับ
วิวัฒนาการของระบบสารสนเทศ
(Information
Revolution)
ศรีสมรัก
อินทุจันทร์ยง (2549:
23-25) ได้สรุปไว้ว่า ระบบสารสนเทศถูกพัฒนาในช่วงกลางทศวรรษที่
1950-1960 ระบบสารสนเทศระบบแรกที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950s คือ
ระบบประมวลผลรายการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองความต้องการเพิ่มความสามารถในการประมวลผลรายการจากงานธุรกรรมด้านต่างๆขององค์กร
ซึ่งรายงานส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมและการประมวลผลทางการบัญชี ต่อมาในช่วงปี
1960s ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้รับจากระบบประมวลผลการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารในรูปแบบของรายงานเพื่อการควบคุมการบริหาร
ในระหว่างปี 1970-1980 มีการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision
Support System) ซึ่งมีแนวคิดมาจากการให้ผู้ใช้เข้ามามีบทบาทในการใช้งานระบบด้วยตนเอง
สามารถทำงานตอบโต้กับระบบได้ เพื่อช่วยให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
ในปี 1980s เกิดแนวคิดในการพัฒนาระบบสารสนเทศเฉพาะผู้บริหารระดับสูง
เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
เรียกดูข้อมูลในรูปแบบที่ต้องการได้ในทุกเวลา
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองได้เกิดระบบผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของการศึกษาปัญญาประดิษฐ์มีผลงานในเชิงพาณิชย์ออกมา
ระบบผู้เชี่ยวชาญเป็นระบบสารสนเทศที่พัฒนาเป็นระบบสำหรับให้คำปรึกษา
คำแนะนำในความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในองค์กร
เพื่อให้องค์กรสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาและเป็นการเก็บรักษาความรู้ที่มีผู้รู้น้อยรายไว้ได้
จนกระทั่งปี 1990s ระบบสารสนเทศองค์กร
(Enterprise Information System) จึงถูกพัฒนาขึ้นประกอบไปด้วยระบบย่อยต่างๆ
เช่น ระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management System) ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Recourse Planning) ระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management) เป็นต้น
เนื่องจากมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอินเตอร์เน็ต
ในช่วงปี 2000s
จึงมีแนวโน้มของการพัฒนาโดยใช้เว็บเป็นพื้นฐาน (Web-based
Application) มากขึ้น
จากวิวัฒนาการของระบบสารสนเทศดังที่กล่าวมาสามารถสรุปให้เห็นถึงช่วงเวลา
และแนวคิดการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1
วิวัฒนาการของระบบสารสนเทศ
ทศวรรษ
|
ระบบสารสนเทศ
|
กลาง
1950s
|
ระบบประมวลผลรายการเปลี่ยนแปลง
(Transaction
Processing Systems)
|
1960s
|
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
(Management
Information Systems)
|
1970s
|
ระบบจัดการสำนักงานอัตโนมัติ
(Office
Automation Systems)
|
1970s-1980s
|
ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ
(Decision
Support Systems)
|
1980s
|
ระบบผู้เชี่ยวชาญ
(Expert
System)
ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร
(Executive
Information Systems)
ระบบสนับสนุนการตัดสินใจแบบกลุ่ม
(Group
Decision Support Systems)
|
1990s
|
การประมวลผลนิวรอน
(Neural
Computing)
ระบบสารสนเทศองค์กร
(Enterprise Information
Systems)
|
2000s
|
ระบบงานประยุกต์ที่ใช้เว็บเป็นพื้นฐาน
(Web-based
Application)
ระบบบริหารความรู้
(Knowledge
Management System)
|
ที่มา: ศรีสมรัก
อินทุจันทร์ยง (2549: 25)
ขณะที่นิภาภรณ์
คำเจริญ (2545:
15-18) สรุปไว้ว่า
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการได้ก่อตัวและพัฒนาผ่านมา 4 ศตวรรษแล้ว
ผลของการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการส่งผลให้มีการพัฒนาอุปกรณ์ที่สนับสนุนระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
เช่น การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ การพัฒนาระบบการสื่อสาร โทรคมนาคมเป็นต้น
วิวัฒนาการของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการสามารถแบ่งได้
4 ช่วง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1954 ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
ระยะที่ 1
การประมวลผลข้อมูลจากศูนย์กลาง
คอมพิวเตอร์เครื่องแรกได้ติดตั้งโปรแกรมทางด้านธุรกิจในปี 1954
ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการมาจนถึงปัจจุบันนี้
ต่อมาประมาณกลางปี 1960
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลทางด้านเงินเดือน
การลงบิล การทำบัญชี และงานของเสมียน เนื่องมาจากความรับผิดชอบของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการได้ถูกควบคุมโดยฝ่ายการเงิน
ระยะที่ 2
การจัดการเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูล ในช่วงปี 1965-1979
การประมวลผลข้อมูลจากศูนย์กลางได้ขยายตัว
โดยมีสารสนเทศต่างๆมาช่วยในด้านการจัดการและด้านกิจกรรมต่างๆ
มีการแยกส่วนของระบบข้อมูลออกและมีการนำเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่ายเข้ามาช่วยในการทำงาน
ต่อมาในปี 1960 ผู้จัดการในฝ่ายต่างๆ เริ่มมองเห็นว่าคอมพิวเตอร์สามารถช่วยทำงานได้ดีขึ้น
มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการจัดการและการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก
ระยะที่ 3 การกระจายงานไปให้ผู้ใช้
ข้อมูลจากส่วนกลางจะถูกส่งไปให้ส่วนต่างๆ
ในองค์กรเพื่อให้มีการนำไปใช้ในการทำงาน ผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ
ระยะที่ 4
การจัดการทางด้านเครือข่าย ระยะนี้จะเน้นสร้างอุปกรณ์ต่างๆ
เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง
รวมถึงการใช้งานระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Mail: E-mail) ระบบการจัดสรรอุปกรณ์สำนักงานให้สามารถใช้ร่วมกันได้
เช่น เครื่องพิมพ์ ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เป็นต้น
ระยะต่อไป ระบบผู้เชี่ยวชาญ ปัญญาประดิษฐ์
(Artificial
Intelligence: AI) เป็นระบบที่นำมาใช้เพื่อช่วยในการตัดสินใจ
ระบบผู้เชี่ยวชาญจะมีการนำเอาโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ
พัฒนาระบบทำให้ระบบมีการทำงานเหมือนกับผู้เชี่ยวชาญ
ในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่ไม่มีโครงสร้างได้
ตารางที่ 2
วิวัฒนาการของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
ระยะ
|
ปี ค.ศ.
|
รายละเอียด
|
1.
การประมวลผลข้อมูลจากศูนย์กลาง
|
1954-1964
|
ใช้ทำบัญชีต่างๆขององค์กร
|
2.
การจัดการเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูล
|
1965-1979
|
สนับสนุนทางด้านการจัดการโดยตรง
|
3.
การกระจายงานไปยังผู้ใช้
|
1980-1985
|
ใช้เครื่อง
PC ที่มี User เป็นคนควบคุม
|
4.
การจัดการทางด้านเครือข่าย
|
1986-ปัจจุบัน
|
เชื่อมโยงไปยัง
User
แต่ละคน
|
ที่มา: นิภาภรณ์
คำเจริญ (2545: 16)
ส่วนสมจิตร
อาจอินทร์ (2539,
13-15) สรุปว่าเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วยสองส่วนได้แก่เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์
และ เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร
โดยวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์เริ่มต้นด้วยการใช้ลูกคิดในการคำนวณอย่างง่ายและพัฒนาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกเมื่อปี
ค.ศ.1832 และพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก
ส่วนวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารนั้นเริ่มตั้งแต่การติดต่อสื่อสารแบบใช้สาย
ได้แก่ สายโคเอกเชียล สายใยแก้วนำแสง และการติดต่อสื่อสารแบบไร้สาย ได้แก่
คลื่นวิทยุ ระบบผ่านดาวเทียม เป็นต้น ดังรายละเอียดในตารางที่ 3
ตารางที่
3
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร
ช่วงเวลา
|
เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์
|
เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร
|
3000
ปี ก่อน ค.ศ.
|
ใช้เครื่องคิดเลขในการคำนวณ
|
|
ค.ศ.1832
|
เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกชื่อ
Babbage’s analytical
|
สามารถพิมพ์หนังสือเป็นรูปเล่ม
|
ค.ศ.1890
|
มีบัตรเจาะรูสำหรับการประมวลผลข้อมูล
|
มีโทรศัพท์
|
ค.ศ.1946
|
คอมพิวเตอร์
ENIAC เครื่องแรกใช้ในอเมริกา
|
มีการส่งสัญญาณทีวีสี
|
ค.ศ.1950
|
|
มีทีวีตามสาย
(Cable TV)
|
ค.ศ.1957
|
|
มีดาวเทียมโดยประเทศรัสเซีย
|
ค.ศ.1964
|
เครื่อง
IBM mainframe เปิดตัว
|
|
ค.ศ.1970
|
-
มีไมโครโปรเซสเซอร์
-
มีการใช้แผ่นจานแม่เหล็กแบบอ่อน
|
มีการบันทึกภาพวีดีโอ
|
ค.ศ.1977
|
มีเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์
Apple II
|
มีระบบโต้ตอบในทีวีตามสาย
|
ค.ศ.1981
|
เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์
IBM เปิดตัว
|
มี
Compact Disk
|
ค.ศ.1984
|
เครื่อง
Macintosh เปิดตัว มี Laser Printer
|
มีโทรศัพท์ระบบเซลลูลาร์
|
ค.ศ.1993
|
มีระบบ
Multi-media
|
ฒีเกมส์ที่บรรจุใน
CD-ROM
|
ค.ศ.1994
|
-
บริษัท Apple และ IBM เปิดตัวเครื่อง PC ที่มีความเร็วในการแสดงผลสูง
-
มีการรับส่งข้อมูลแบบไร้สาย
|
FCC เลือก HDTV เป็นมารตฐาน
|
ค.ศ.1995
|
|
-
มีระบบทรศัพท์พร้อมภาพที่สมบูรณ์
-
มีระบบให้บริการซื้อ-ขายผ่านเครือข่ายการสื่อสาร
|
ค.ศ.1996
|
มีการใช้คอมพิวเตอร์ในบ้านมากขึ้น
|
ระบบวิดีโอจะเปลี่ยนจากเทปเป็นซีดี
|
ค.ศ.2000
|
มีการประชุมทางไกล
(Teleconferencing) แทนการเดินทาง
|
ระบบโทรศัพท์จะเป็น
Digital
|
ค.ศ.2009
|
การทำงานจากที่บ้านโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์
|
ระบบโทรศัพท์จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
|
ค.ศ.2012
|
สหรัฐอเมริกาจะสามารถลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีที่บ้านโดยใช้ระบบ
Online
|
|
ค.ศ.2015
|
|
ญี่ปุ่นจะติดตั้งสายใยแก้วนำแสงได้ทั่วทั้งประเทศ
|
ค.ศ.2030
|
|
สหรัฐอเมริกาจะติดตั้งสายใยแก้วนำแสงได้ทั่วทุกรัฐ
|
ที่มา: สมจิตร
อาจอินทร์ (2539: 14-15)
และพรรณี สวนแตง (2552: 84-92) สรุปไว้ว่า
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศมีความเป็นมายาวนานนับพันปี มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว
ซึ่งสามารถแบ่งวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศออกเป็นสองด้านคือ
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม
ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์เริ่มตั้งแต่การที่มนุษย์รู้จักการใช้นิ้วมือในการนับตัวเลข
การใช้ไม้ขีดเขียนสัญลักษณ์บนพื้นดิน
หรือใช้ลูกหินมาเรียงต่อกันแทนตัวเลขในแต่ละหลัก
พัฒนาดัดแปลงจนกลายมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการคำนวณ
ต่อมาในปี ค.ศ.1822 ชาร์ลส์ แบ็บเบจ
ได้ออกแบบเครื่อง Different
Engine และมีการพัฒนาเครื่องใหม่ที่น่าเชื่อถือภายใต้ชื่อว่า Analytical
Engine ซึ่งประกอบด้วยหน่วยความจำ (Memory Unit) ที่สามารถจัดเก็บตัวเลขและนำไปคำนวณ สามารถพิมพ์ข้อมูลได้อัตโนมัติ
สามารถนำเข้าข้อมูลด้วยบัตรเจาะรู (Punched Cards) และใช้ชุดคำสั่งในการควบคุม
ทำให้ชาร์ลส์ แบ็บเบจ ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งคอมพิวเตอร์
บุคคลอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนช่วยออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ของแบ็บเบจคือ เลดี้
ออกุสต้า ไบรอน และเป็นผู้เขียนโปรแกรมชิ้นแรกเพื่อใช้กับเครื่องดังกล่าว
ต่อมาเขาได้รับการยกย่องให้เป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก
การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งยุคของคอมพิวเตอร์ตามวิวัฒนาการได้เป็น
5 ยุคดังนี้คือ ยุคที่หนึ่งยุคหลอดสุญญากาศ (1951-1958) ยุคที่สอง
ยุคของทรานซิสเตอร์ (1959-1964) ยคที่สาม ยุคของแผนวงจรรวม (1965-1970)
ยุคที่สี่ ยุคของแผนวงจรรวมขนาดใหญ่ (1971-1989) และยุคที่ 5 ยุคปัจจุบัน (1990-ปัจจุบัน)
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารโทรคมนาคมสามารถแบ่งออกได้เป็น
5 ยุค ได้แก่ ยุคที่ 1 การสื่อสารด้วยท่าทาง ภาษาพูด และภาพวาด ยุคที่ 2
การสื่อสารด้วยภาษาเขียน ยุคที่ 3 การสื่อสารด้วยการพิมพ์ ยุคที่ 4
การสื่อสารด้วยระบบโทรคมนาคม และยุคที่ 5 การสื่อสารสมัยใหม่
หรือยุคปฏิวัติทางการสื่อสาร
แนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศในอนาคต
พรรณี สวนเพลง
(2552,
110-115) สรุปว่า โลกแห่งอนาคตจะเข้าสู่ยุค “นิเวศอิเล็กทรอนิกส์
(Digital Ecosystem)” บนสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้
มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของมนุษย์ให้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
มีการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศระหว่างกลุ่ม มีลักษณะกลุ่มแบบกลุ่มเสมือน (Virtue)
เพื่อก้าวเข้าสู่นิเวศอิเล็กทรอนิกส์ในที่สุด
ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นของหน่วยงานระหว่างองค์กร
ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีมากขึ้น เกิดการวิจัยและพัฒนา
นำมาซึ่งการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ๆมากขึ้น
ขณะที่ ศรีสมรัก อินทุจันทร์ยง (2549: 26-27) ได้สรุปไว้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในด้านต่างๆให้ดีขึ้นในด้านต่างๆ ได้แก่
การพัฒนาอัตราส่วนระหว่างต้นทุนกับความสามารถในการปฏิบัติงานจะลดลง
เทคโนโลยีจะมีราคาถูกลง มีระบบการคำนวณด้วยหน่วยที่เล็กที่สุด (Quantum
Computer) เป็นการพัฒนาพื้นฐานการปฏิบัติงานของคอมพิวเตอร์ด้วยกลไกของของเหลวแทนที่การใช้ทรานซิสเตอร์
(Transistors) และ ชิป (Chip) มีการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างหรือประกอบอุปกรณ์จากการจัดเรียงของอะตอมหรือโมเลกุลด้วยความถูกต้องแม่นยำในระดับนาโน
เรียกว่าเทคโนโลยีนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) ขณะที่หน่วยบันทึกความจำ (Storage) จะมีรูปแบบที่หลากหลาย
มีขนาดที่เล็กลง มีความสามารถในการบันทึกสูงขึ้น จะมีความจุในระดับกิกะไบต์
ส่วนตัวคอมพิวเตอร์เองจะพัฒนาไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์เชิงแสง (Optical
Computer) มีระบบการทำงานด้วยแสง
เช่นการรับส่งข้อมูลในหน่วยขับซีดี-รอม (CD-ROM Drives) เครื่องพิมพ์เลเซอร์
(Laser Printer) เครื่องอัดสำเนาภาพ (Photocopier) เครื่องกวาดภาพ (Scanner) รวมไปถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ลำแสงอินฟาเรดในการคำนวณทางดิจิทัล
(Digital Computer) เพื่อเพิ่มอัตราความเร็วในการทำงาน ส่วนโปรแกรมประยุกต์จะมีการพัฒนาให้ใช้งานง่ายมากขึ้น
เพิ่มความเป็นธรรมชาติให้มากขึ้น
มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาธรรมชาติที่มนุษย์ใช้สื่อสารระหว่างกัน รวมไปถึงระบบโปรแกรมประยุกต์อัจฉริยะ
(Intelligent Agents) จะถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมประยุกต์อื่นๆ
ระบบอัจฉริยะจะมีบทบาทมากขึ้น
ทางด้านการใช้งานอินเตอร์เน็ตจะพัฒนาไปสู่ระบบซูเปอร์บรอดแบรนด์ (Super
Broadband) ที่มีแถบความถี่กว้างมากขึ้น ทำให้ปริมาณข่าวสารเดินทางได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น
ขณะที่ปัจจุบันใช้เคเบิลแถบความถี่แบบกว้าง (Broadband) ส่วนบริการทางเว็บจะพัฒนาระบบงานประยุกต์
(Application) ให้สามารถใช้บริการผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้โดยมีค่าใช้จ่ายไม่แพง
ด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงานจะถูกปรับปรุงให้เพิ่มผลิตภาพในการทำงานมากขึ้น
มีเทคโนโลยีที่สามารถเคลื่อนที่ได้ (Mobile Technology) พัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น
ทำให้กลุ่มผู้ใช้มีโอกาสในการใช้งานอุปกรณ์เครื่องทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้น
มีการทำธุรกรรม และธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ที่ใช้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น
ประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ศรีไพร
ศักดิ์รุ่งพงศากุล และเจษฏาพร ยุทธนวิบูลย์ชัย (2549: 29) สรุปไว้ว่า
ระบบสารสนเทศที่มีคุณภาพจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร
ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ การช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
ช่วยสร้างทางเลือกในการแข่งขัน ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ
และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับมนุษย์
ปัญหาของเทคโนโลยีสารสนเทศ
แม้เทคโนโลยีสารสนเทศจะมีประโยชน์มากมายต่อมวลมนุษยชาติ
แต่ผลทางด้านลบของเทคโนโลยีสารสนเทศก็มีไม่น้อยเช่นกัน เช่น
ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital Divide) ทั้งในระดับประเทศ ระดับชุมชน และบุคคล รวมถึงประเด็นเรื่องกรอบจริยธรรม
ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีสารสนเทศ
เป็นต้น
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทย
การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทยอย่างจริงจังเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี
พ.ศ.2539 เป็นต้นมา กล่าวคือ ในปี พ.ศ.2539
รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติฉบับแรก (IT 2000) ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมการมีการใช้
และการผลิตเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2539-2543 (ระยะเวลา 5 ปี)
ซึ่งนโยบายนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ
เรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ การลงทุนในการศึกษาที่มีคุณภาพ
และการลงทุนเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธรรมาภิบาล
ผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้สังคมไทยเกิดความตื่นตัวทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและสูง แต่นโยบายดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จดังที่วางไว้เนื่องจากรัฐบาลมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ
ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกลางปี พ.ศ.2540
จนทำให้โครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศถูกระงับไป
นอกจากนี้นโยบายดังกล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเท่าที่ควร
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทยจึงไม่มีการขยายตัวเหมือนกับประเทศอื่นๆที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
ซึ่งประเทศเหล่านั้นมักจะให้บทบาทแก่ภาคเอกชนใกล้เคียงกับภาครัฐในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
(สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549: 1)
ในปี พ.ศ.2544 รัฐบาลมีนโยบายให้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(เนคเทค)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
ในฐานะเป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (กทสช.)
และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติสร้าง “แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย
พ.ศ.2545-2549” ซึ่งเป็นแผนงานระดับชาติที่ถ่ายทอดนโยบายและหลักการสำคัญของ “นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ.2544-2553 ของประเทศไทย”
แผนฯดังกล่าวมีสาระและใจความสำคัญที่กล่าวถึงความจำเป็นและแนวทางของประเทศไทยที่จะสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ
ในยุคโลกาภิวัตน์ ด้วยการพัฒนาสังคมไทยและประชากรไทยให้เป็นสังคมของการเรียนรู้ที่สามารถใช้ภูมิปัญญามาพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า
กลายเป็นสังคมที่พัฒนาแล้วในทุกด้าน เกิดความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืน
ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขทั่วกัน ทั้งนี้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัยเป็นแรงขับเคลื่อนกิจกรรมห้าแขนงหลักให้เกิดผลเป็นรูปธรรมของการพัฒนาเศรษฐกิจ
สังคม และความมั่นคงที่ยั่งยืนและก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก
โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
และคุณธรรมของศาสนาและวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทยเป็นพื้นฐาน
สาระโดยรวมของนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ
พ.ศ.2544-2553 มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ด้าน คือ
การบริหารงานของรัฐบาล (e-Government)
พาณิชยกรรม (e-Commerce) อุตสาหกรรม (e-Industry) การศึกษา (e-Education) และสังคม (e-Society) เพื่อให้นโยบายเหล่านี้สามารถแปรไปสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและมีความเป็นไปได้
แผนแม่บทฯฉบับปี พ.ศ.2545-2549 จึงนำกรอบยุทธศาสตร์สำคัญสามเรื่องมาพิจารณาเป็นอันดับเร่งด่วนก่อนและถือเป็นประเด็นหลักของแผนแม่บทฯ
ได้แก่การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทย การพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
และการบริหารงานและบริการของภาครัฐ เพื่อก้าวสู่ e-Government นอกจากนี้ แผนแม่บทฯ ยังได้นำเสนอยุทธศาสตร์สำคัญอีก 4 ยุทธศาสตร์
(นอกเหนือจาก 3 ยุทธศาสตร์ที่กล่าวแล้วข้างต้น)
ซึ่งมีความสำคัญสำหรับการริเริ่มการพัฒนาสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
ซึ่งจะต้องใช้ความพยายาม ทรัพยากรต่างๆ และเวลาอีกมากพอสมควร
ผลที่จะเกิดจากการนำแผนแม่บทฯฉบับนี้ไปปฏิบัติ
จะเป็นปัจจัยสำคัญในการวางรากฐานที่จะทำให้การดำเนินการของกลยุทธ์อื่นๆ
ซึ่งกำหนดไว้ในนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ พ.ศ.2544-2553 ที่จะเริ่มดำเนินการในช่วง 5
ปีหลัง (พ.ศ. 2550-2554)
นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมของภูมิปัญญาและการเรียนรู้
สำหรับช่วงเวลา พ.ศ.2544-2553 ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักสามองค์ประกอบ ได้แก่
1) การลงทุนในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ที่เหมาะสมและทันการ
2) การส่งเสริมให้มีนวัตกรรมที่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในระบบเศรษฐกิจและสังคม
3) การลงทุนและการส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ
และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
กรอบนโยบายนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายสำคัญสามประการ
คือ
1) เพิ่มขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศ
โดยมีเป้าหมายในการเลื่อนสถานภาพของประเทศไทยจากประเทศ ในกลุ่มผู้ตามที่มีพลวัต (Dynamic
adopters) อันดับต้นๆ
ไปสู่ประเทศในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพเป็นผู้นำ (Potential leaders) อันดับต้นๆ
โดยใช้ดัชนีผลสัมฤทธิ์ทางเทคโนโลยีของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
เป็นเครื่องประเมินวัด
2) เพิ่มจำนวนแรงงานความรู้ของประเทศไทยจากประมาณร้อยละ 12 ของแรงงานทั้งหมด ให้เป็นร้อยละ 30 ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยของแรงงานความรู้ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
(OECD) ใน พ.ศ.2544
ตามสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
3) พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
โดยเพิ่มสัดส่วนของมูลค่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรู้เป็นพื้นฐานให้มีมูลค่าถึงร้อยละ
50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)
จากวิสัยทัศน์และนโยบายดังกล่าว
นำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญไว้ 5 กลุ่ม คือ 1) เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านภาครัฐ (e-Government) 2) เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านพาณิชย์ (e-Commerce) 3) เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม (e-Industry) 4) เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา (e-Education) และ 5) เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านสังคม (e-Society) (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, 2545: 5-6)
ผลจากแผนดังกล่าวทำให้สังคมไทยมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
รวมถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของการใช้บริการและการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน
แต่เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาทางการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ.2548
ถึงปัจจุบันทำให้ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีแผนแม่บทฯฉบับที่สองมารองรับนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ
ฉบับ พ.ศ.2544-2553
จากข้อมูลในภาพที่ 1-3
จะเห็นว่าตั้งปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้งาน
และการให้บริการพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเป็นแนวโน้มซึ่งสูงขึ้นมาก เช่น ในปี พ.ศ.2542 มีผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ
1.38 ล้านคน ขณะที่ในปี พ.ศ.2551 มีผู้ใช้งานมากถึง 16.99 ล้านคน ส่วนการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในปี
พ.ศ.2542 มีจำนวน 1.3 ล้านคน ขณะที่มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 10.96 ล้านคน ในปี
พ.ศ.2551 โดยตัวชี้วัดอื่นๆ เช่น การใช้งานโทรศัพท์มือถือ การให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ปริมาณการเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากปี พ.ศ.2542
ภาพที่ 1
แนวโน้มการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์และการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของประชากรไทย
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2551), International
Telecommunication Union (2006), United Nations Development Programme (2008)
ภาพที่
2 แนวโน้มการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์พื้นฐานของประชากรไทย
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2551), International
Telecommunication Union (2006), United Nations Development Programme (2008)
ภาพที่
3 แนวโน้มการใช้งานโทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์มือถือของประชากรไทย
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2551), International
Telecommunication Union (2006), United Nations Development Programme (2008)
ผลกระทบต่อสังคมจากการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
(Information
Revolution and Social Implications)
จากวิวัฒนาการของการพัฒนาระบบสารสนเทศต่างๆดังที่กล่าวมา
จะเห็นว่าการพัฒนาดังกล่าวถูกกำหนดด้วยความต้องการใช้งานของมนุษย์ทั้งในแง่การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
การเอาชนะธรรมชาติ การพัฒนาสังคม การแก่งแย่งแข่งขันกันทางการค้า เป็นต้นเหล่านี้
ล้วนเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาของระบบสารสนเทศอย่างก้าวหน้าแบบรวดเร็ว
ซึ่งผลของการพัฒนาดังกล่าวทำให้ด้านหนึ่งของมนุษย์ได้รับผลทางด้านการส่งเสริม
สร้างสรรค์ ต่อการดำรงชีวิต
ขณะที่อีกด้านหนึ่งการพัฒนาของระบบสารสนเทศกลับไปลดทอนศักยภาพในการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ซึ่งผลกระทบต่างๆ เหล่านั้น ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อผู้ที่ใช้ระบบสารสนเทศเท่านั้น
แต่ยังส่งผลกระทบทางอ้อมไปสู่ผู้ที่เข้าไม่ถึงระบบสารสนเทศอีกด้วย
ทั้งผลทางตรงและผลกระทบทางอ้อมของระบบสารสนเทศที่มีต่อวิถีชีวิตของผู้คนนั้น
หากกล่าวโดยรวมสามารถกล่าวได้ว่าส่งผลไปทุกด้าน
ปัจจุบันผู้คนในสังคมโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยดำเนินชีวิตภายใต้อิทธิพลของโลกาภิวัตน์
(Globalization)
เป็นยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ซึ่งเป็นสังคมคลื่นลูกที่สามที่เปลี่ยนผ่านมาจากคลื่นลูกที่หนึ่งสังคมแบบเกษตรกรรม
และคลื่นลูกที่สองสังคมแบบอุตสาหกรรม ตามลำดับ (Toffler, Alvin, 1980: 26) การเปลี่ยนผ่านของสังคมดังกล่าวทำให้สังคมโลกในปัจจุบันเป็นสังคมที่ทันสมัย
ถูกครอบงำด้วยลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม
ซึ่งเป็นเครื่องมือของลัทธิจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ ที่ใช้การค้า
และเงินเป็นอาวุธโดยไม่ต้องใช้กำลังทหารเหมือนการล่าอาณานิคมในอดีต
(มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2551: 195-196)
ผลของโลกาภิวัตน์และความทันสมัยทำให้ผู้คนในสังคมโลกบางส่วนตกเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ให้แก่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และชาติตะวันตก
ทำให้สังคมกำลังพัฒนาหลงลืมรากเหง้าทางสังคมและวัฒนธรรมที่ดีงามของตนเองจนขาดภูมิคุ้มกัน
โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันทางด้านศีลธรรมจริยธรรม
การแก่งแย่งแข่งขันกันบริโภคและสะสมทรัพย์ของผู้คนในสังคมก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน
และความไม่เท่าเทียมกันนั้นส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ทั้งปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง
ปัญหายาเสพติดสิ่งให้โทษ ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาโสเภณี ปัญหาความมั่นคงของชาติ
ปัญหาการศึกษา ไปจนกระทั่งปัญหาครอบครัว (โกศล วงศ์สวรรค์ และ สถิต วงศ์สวรรค์, 2543)
เพื่อให้เห็นผลด้านต่างๆชัดเจนขึ้น
จึงได้สรุปผลกระทบของระบบสารสนเทศที่มีต่อสังคมมนุษย์ในด้านต่างๆ ดังนี้ คือด้าน สังคม
วัฒนธรรม การศึกษา เศรษฐกิจและระบบธุรกิจ การเมืองการปกครอง ความมั่นคงของประเทศ สาธารณสุข
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จริยธรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
สังคม
พรรณี สวนเพลง
(2552,
108-109) สรุปว่า เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยพัฒนาสังคมให้เกิดการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์
ทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้น
มีการช่วยเหลือกันทางด้านเทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม
หากมีการขยายความจากการสรุปของพรรณี
จะพบว่าปัจจุบันสังคมมีความก้าวหน้าและปัญหาต่างๆอยู่รวมกันอย่างเป็นองค์ประกอบที่อยู่คู่กัน
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมและขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดปัญหาสังคมด้านต่างๆ
เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยเพิ่มการจ้างงานในสังคม เนื่องจากการเติบโตของทางเศรษฐกิจประกอบกับการขยายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปในกิจกรรมต่างของสังคมทำให้มีความต้องการแรงงานที่มีความรู้
ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งผู้ใช้ ผู้ออกแบบ
ผู้ดูแลระบบรวมไปถึงผู้สร้างโปรแกรมสำเร็จรูป ทำให้มีการจ้างงานในสาขานี้เพิ่มขึ้น
ช่วยให้ผู้คนในสังคมที่มีความรู้ความสามรถและทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีงานทำเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศยังเข้ามามีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนทั้งทางตรงและทางอ้อม
ในทางตรงที่เห็นเป็นรูปธรรมน่าจะเป็นกรณีของประเทศไทยที่มีการทำฐานข้อมูลคนจนทั่วประเทศเพื่อวางแผนการแก้ปัญหาความยากจน
โดยการจัดคนจนออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มคนจนที่ไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ดินทำกิน
เป็นหนี้สิน เป็นต้น ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ปี พ.ศ.2546
และลงมือเก็บข้อมูลทั่วประเทศในปี พ.ศ.2547
แม้โครงการดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนให้เห็นเป็นรูปธรรมได้
แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะนำระบบฐานข้อมูลดังกล่าวมาเป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ปัญหาความยากจน
และหาทางแก้ไขอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้ต่อไป
ส่วนผลทางด้านลบพบว่า การมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นของผู้คนที่ใช้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
เช่น ค่าอุปกรณ์สื่อสารของ โทรศัพท์มือถือ จานรับสัญญาณดาวเทียม
เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์
รวมไปถึงค่าซ่อมบำรุง เป็นต้น ส่วนค่าใช้จ่ายด้านค่าบริการ เช่น
ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ค่าบริการอินเตอร์เน็ต ค่าบริการเคเบิ้ลทีวี เป็นต้น
ก็เป็นรายจ่ายอีกทางหนึ่งที่ต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน
เกิดการล่อลวงทางอินเตอร์เน็ต
ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมามักจะมีข่าวทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์
และทางโทรทัศน์ว่ามีการล่อลวงกันทางอินเตอร์เน็ต
ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหลอกเอาทรัพย์สินของผู้ชาย หรือผู้ชายหลอกพาผู้หญิงไปทำมิดีมิร้ายต่างๆ
เป็นผลของการมีอิสระในการใช้งานอินเตอร์เน็ตมากเกินไปของผู้ใช้งาน
โดยที่ยังมีภูมิคุ้มกันทางสังคมน้อย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเด็กและเยาวชน
เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ยากที่จะแก้ไขเยียวยา
ตลอดจนมีการค้าประเวณีทางอินเตอร์เน็ต
ทั้งชายและหญิง
มีการโพสข้อความผ่านเว็บไซต์ที่ให้บริการเว็บบอร์ดชื่อดังที่มีผู้เข้าใช้งานเป็นจำนวนมาก
โดยที่ผู้ดูแลเว็บบอร์ดเหล่านั้นปล่อยให้ข้อความโฆษณาขายตัวดังกล่าวเผยแพร่ออกมาอย่างขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
รวมทั้งการเล่นการพนันทางอินเตอร์เน็ตนับว่าเป็นปัญหาสังคมอย่างหนึ่งที่ยากแก่การแก้ไข
และผลกระทบของปัญหาดังกล่าวยังมีมากมายลุกลามไปยังปัญหาอื่นๆ เช่น
ปัญหาการทวงหนี้พนัน การเกิดคดีฆ่าเพื่อล้างหนี้
การพนันทำให้เด็กและเยาวชนบางส่วนต้องเสียอนาคต ซึ่งปัจจุบันการพนันบอล
(การทายผลการแข่งขันกีฬาฟุตบอล) เป็นที่นิยมกันมากในหมู่วัยรุ่นทั้งชายและหญิง
แต่ก่อนนิยมไปแทงพนันกันตามร้านที่เปิดให้แทง
แต่ปัจจุบันเมื่อมีการปรามปรามจากเจ้าหน้าที่เจ้ามือรับแทงก็เปลี่ยนช่องทางการรับแทงโดยใช้ช่องทางผ่านเว็บไซต์
ซึ่งเป็นการยากที่จะทำการปราบปรามของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เกี่ยวข้อง
นับเป็นภัยร้ายแรงที่เกิดจากผู้ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศไปในทางที่ไม่เหมาะสม
วัฒนธรรม
เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้กระแสโลกาภิวัตน์มีพลังมากขึ้น
ผู้คนต่างๆทั่วโลกถูกครอบงำด้วยกระแสวัฒนธรรมหลัก ขณะที่หลงลืมรากเหง้าของตนเอง
เช่น กระบวนการเปลี่ยนประเพณีวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า
ผู้คนจากอีกมุมโลกหนึ่งสามารถบริโภควัฒนธรรมของอีกมุมโลกได้ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
เมื่อประเพณี วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้า
ทำให้มีการปรับเปลี่ยนระบบวัฒนธรรมประเพณีอันดีให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
เช่น การโหมกระแสของประเพณีการลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ ให้กลายเป็นสินค้า
ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา มากกว่าการจัดงานดังกล่าวเพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามของไทย
เป็นต้น
นอกจากนั้นยังเกิดการแสดงออกทางพฤติกรรมผ่านภาษาทางโลกไซเบอร์อย่างไร้ขีดจำกัด
เนื่องจากการควบคุมการแสดงออกทางความคิดเห็นผ่านภาษาและรูปภาพเป็นเรื่องที่ทำยาก
จึงทำให้มีข้อมูลบางส่วนที่ส่อไปในทางการทำลายประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม เช่น
การเผยแพร่ภาพอันไม่พึงประสงค์ การแสดงความคิดเห็นที่ไร้สาระ และส่อเสียด
การใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง เช่น ระบบภาษาไทยถูกผู้คนสมัยใหม่ทำให้กลายเป็นภาษาวิบัติ
มีการใช้ภาษาไทยอย่างผิดๆ การนำภาษาไทยไปบัญญัติใช้ร่วมกับภาษาต่างประเทศ
ทำให้คนรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยอย่างไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมากในโลกไซเบอร์
ขณะเดียวกันระบบเทคโนโลยีสารสนเทศก็มีส่วนช่วยส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมในมิติต่างๆ
เช่น การช่วยในการเผยแพร่วัฒนธรรม การเผยแผ่ศาสนา เช่น
กรณีวัดธรรมกายที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น รวมทั้งมีการนำเอาระบบภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics) ช่วยในการบริหารจัดการโบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมถึงแหล่งอารยธรรมต่างๆ เช่น
การใช้ข้อมูลดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ ในการค้นหาพื้นที่ รวมถึงระบุขอบเขตของแหล่งอารยธรรม
การใช้ระบบ สารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ในการวางแผนการอนุรักษ์ ดูแลแหล่งอารยธรรมต่างๆ เป็นต้น
การศึกษา
พรรณี
สวนเพลง (2552,
109) สรุปว่า
เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น
มีการถ่ายทอดรายการสอนผ่านสัญญาณผ่านดาวเทียมให้แก่นักเรียนที่อยู่ในท้องที่ห่างไกล
ขาดแคลนครูผู้สอน เทคโนโลยีสารสนเทศยังมีบทบาทในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ทางการศึกษา
เช่นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไทยสาร เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย
และเครือข่ายคอมพิวเตอร์กาญจนาพิเศษ เป็นต้น
ขณะที่ปทีป
เมธาคุณวุฒิ (2544:
27-36) กล่าวถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มีต่อระบบการศึกษาไว้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา
เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา
ช่วยพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยี เอื้อต่อการศึกษาทั้งในด้านการเรียนการสอน
การวิจัย การบริหาร และการบริการสังคม
ส่วนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(2547:
7) สรุปว่า เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญทางด้านการศึกษา
โดยช่วยให้ทรัพยากรมนุษย์สามารถเรียนรู้ได้จากสื่อต่างๆ เช่น
การศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเลิร์นนิ่ง (Electronic-Learning หรือ E-Learning) การเข้าถึงสื่อการศึกษาในรูปแบบของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
(Computer Assisted Instruction – CAI)
การเข้าถึงแหล่งสารสนเทศที่ให้ทรัพยากรเพื่อการแสวงหาความรู้และการเรียนรู้
เช่น ส่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเครื่องมือช่วยค้นคว้าต่างๆ เช่น
ฐานข้อมูลออนไลน์ของสาขาวิชาต่างๆ เป็นต้น รวมถึงระบบบริการการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการบริการศึกษา
เช่น การจัดทำระบบระเบียนศึกษา การลงทะเบียนออนไลน์
ฐานข้อมูลผู้เรียนที่เรียกค้นได้สะดวกรวดเร็วขึ้น การบริการการศึกษา
การบริหารงานบุคคล ฐานข้อมูลคณาจารย์ การบริหารงบประมาณ
ช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน การขยายสถานศึกษา
รวมทั้งการพัฒนาและเปิดหลักสูตรใหม่ เป็นต้น
กรณีประเทศไทย
โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2551: iii-ix) ได้จัดทำการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานศึกษา
พ.ศ. 2551 นี้ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อให้ทราบสถานการณ์การมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานศึกษา
ซึ่งภาครัฐสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย วางแผน ส่งเสริม
และพัฒนาศักยภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ
เพื่อให้ผู้เรียน ผู้สอน บุคลากรทางการศึกษารวมทั้งประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จาก ICT
และเข้าถึงบริการทางการศึกษาได้เต็มศักยภาพ ผลจากการสำรวจ สรุปได้ดังนี้
1) โครงสร้างพื้นฐาน ICT ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้
มีร้อยละ 99.7ส่วนระดับอื่นๆ
มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ทุกสถานศึกษา สำหรับห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
ระดับอุดมศึกษา และระดับอาชีวศึกษามีเกือบทั้งหมด (ประมาณร้อยละ 99.0) และระดับพื้นฐาน มีร้อยละ 72.8
สำหรับการศึกษานอกโรงเรียนมีร้อยละ 52.1
สำหรับการจัดสรรคอมพิวเตอร์ในสถานศึกษาเพื่อใช้ในการเรียนการสอนพบว่า ร้อยละ 72.6 ของเครื่องคอมพิวเตอร์ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ร้อยละ 77.0 ในระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 55.0 ในระดับอุดมศึกษา
และร้อยละ 43.9 ในการศึกษานอกโรงเรียน
จัดไว้สำหรับใช้ในการเรียนการสอนอัตราส่วนนักเรียน/นักศึกษาต่อเครื่องคอมพิวเตอร์
สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 14 คนต่อเครื่อง ระดับอาชีวศึกษา 8 คนต่อเครื่อง ระดับอุดมศึกษา 11 คนต่อเครื่อง และ
การศึกษานอกโรงเรียน 109
คนต่อเครื่องอัตราส่วนครู/อาจารย์/ผู้สอนต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ ระดับอุดมศึกษา 3 คนต่อเครื่อง ระดับอาชีวศึกษา 5 คนต่อเครื่อง
การศึกษาขั้นพื้นฐาน 10 คนต่อเครื่อง และ
การศึกษานอกโรงเรียน 12 คนต่อเครื่อง
สถานศึกษาเกือบทุกแห่งมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยร้อยละ 97.2 ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ระดับอาชีวศึกษาและการศึกษานอกโรงเรียนประมาณร้อยละ 99.0
และสำหรับอุดมศึกษาร้อยละ100.0 สำหรับการเชื่อมต่อแบบไร้สาย
ร้อยละ 93.3 ของสถานศึกษา
ระดับอุดมศึกษามีระบบการเชื่อมต่อไร้สาย สำหรับระดับอาชีวศึกษามีระบบไร้สาย ร้อยละ
70.2 การศึกษานอกโรงเรียนมีระบบไร้สายร้อยละ 30.8 ระดับพื้นฐานมีระบบไร้สาย ร้อยละ 19.6
โดยเฉลี่ยสถานศึกษาในระดับพื้นฐานมีสัดส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ร้อยละ 66.7 ในจำนวนนี้อนุญาตให้นักเรียนใช้ ร้อยละ 80.0 สถานศึกษาในระดับอาชีวศึกษามีสัดส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ร้อยละ 85.7 ในจำนวนนี้อนุญาตให้นักเรียนใช้ ร้อยละ 81.3
สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษามีสัดส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ร้อยละ 96.3 ในจำนวนนี้อนุญาตให้นักเรียนใช้ ร้อยละ 67.9
สถานศึกษาการศึกษานอกโรงเรียนมีสัดส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ร้อยละ 60.5 ในจำนวนนี้อนุญาตให้นักเรียนใช้ร้อยละ 50.0สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 99.3
และระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 85.5 มีเว็บไซต์ของตนเอง
สำหรับระดับพื้นฐาน ร้อยละ 34.2 และการศึกษานอกโรงเรียน ร้อยละ
47.0 มีเว็บไซต์ของตนเอง
2) การใช้ ICT เป็นฐานในการเรียนรู้ครู/อาจารย์/ผู้สอนส่วนใหญ่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเอง
และมีอีเมล์ ยกเว้นครู/อาจารย์/ผู้สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีอีเมล์ของตนเอง
ร้อยละ 37.9
ครู/อาจารย์/ผู้สอนส่วนใหญ่ไม่มีเว็บไซต์ของตนเองโดยครู/อาจารย์/ผู้สอนระดับอุดมศึกษามีเว็บไซต์ของตนเองร้อยละ
34.7 ครู/อาจารย์/ผู้สอนระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 16.9 ครู/อาจารย์/ผู้สอนการศึกษานอกโรงเรียน ร้อยละ 15.4
และครู/อาจารย์/ผู้สอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ6.6
มีเว็บไซต์ของตนเอง สำหรับการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษานอกโรงเรียน
โดยเฉลี่ยครู/อาจารย์/ผู้สอนมีการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน 8-9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา
ครู/อาจารย์/ผู้สอนมีการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนโดยเฉลี่ย 11.7 และ 18.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ตามลำดับครู/อาจารย์/ผู้สอนระดับอุดมศึกษามีประมาณร้อยละ 53.6 และอาชีวศึกษา ร้อยละ 45.8 ที่ผลิตสื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการเรียนการสอน
สำหรับการศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีร้อยละ 27.6 และ 22.8 ตามลำดับ สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 73.7 ระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 64.9
และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 43.6
มีรายวิชาที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการเรียนการสอน
ส่วนการศึกษานอกโรงเรียนมีสถานศึกษาที่มีรายวิชาที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการเรียนการสอน
ร้อยละ 20.0
3) ด้านหลักสูตร ICTโดยเฉลี่ย
สถานศึกษาในระดับอาชีวศึกษาเปิดสอนรายวิชาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และ IT จำนวนแห่งละ 17 รายวิชา
สถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
และการศึกษานอกโรงเรียนเปิดสอนรายวิชาทางคอมพิวเตอร์แห่งละ 2
รายวิชา
4) การพัฒนาบุคลากร ICT
โดยเฉลี่ยสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษามีครู/อาจารย์/ผู้สอนที่มีวุฒิด้านคอมพิวเตอร์หรือ
IT 23 คนต่อสถานศึกษา ระดับอาชีวศึกษา 5 คนต่อสถานศึกษา การศึกษานอกโรงเรียน 1
คนต่อสถานศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1
คนต่อสถานศึกษาครู/อาจารย์/ผู้สอนเคยผ่านการอบรมด้านคอมพิวเตอร์และ IT มาแล้วไม่เกินร้อยละ 80.0 และ
มีแผนที่จะไปอบรมเพิ่มเติมในปี 2552 ประมาณร้อยละ 20
– 30
5) ด้านงบประมาณ ประมาณครึ่งหนึ่งของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (ร้อยละ 47.2)
และการศึกษานอกโรงเรียน (ร้อยละ 54.9 ) ได้งบประมาณด้าน
ICT น้อยกว่า 5%ของงบประมาณทั้งหมด
สำหรับสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 37.2
และระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 39.2 ได้งบประมาณด้าน ICT ระหว่าง 5-10% ของงบประมาณทั้งหมด
6) ด้านแผน ICT สถานศึกษาส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 75-86)
มีการวางแผนด้าน ICT ในปี 2552 แต่สำหรับการศึกษานอกโรงเรียน มีสถานศึกษาร้อยละ 64.4 ที่มีการวางแผน ICT สำหรับปี 2552
7) ICT เพื่อการบริหารจัดการสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่
(ร้อยละ 89.4) ใช้ระบบ MIS
ในการบริหารจัดการ สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีสถานศึกษาร้อยละ 24.1 ที่มีการใช้ระบบ MIS โดยส่วนใหญ่ใช้ MIS สำหรับระบบลงทะเบียน/วัดผลและห้องสมุด ยกเว้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ที่สถานศึกษามีการนำ MIS ไปใช้กับระบบห้องสมุดน้อย
8) การวิจัยด้าน ICT สำหรับงานวิจัยด้าน ICT ครู/อาจารย์/ผู้สอนระดับอุดมศึกษามีงานวิจัยด้าน ICT สูงสุด ร้อยละ 22.1 รองลงมาเป็นระดับอาชีวศึกษา
ร้อยละ 17.1ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 10.8 และการศึกษานอกโรงเรียน ร้อยละ 7.2 ตามลำดับด้านการผลิตสื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์
ครู/อาจารย์/ผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 22.8
ระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 45.8 ระดับอุดมศึกษาร้อยละ 53.6 และการศึกษานอกโรงเรียน ร้อยละ 27.6
มีการผลิตสื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์ในรายวิชาเพื่อใช้ในการสอน
โดยครู/อาจารย์/ผู้สอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่จะผลิตในรูปบทเรียนสำเร็จรูป CAI
ครู/อาจารย์/ผู้สอนในสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาจะผลิตสื่อการสอนทั้งในรูปบทเรียนสำเร็จรูป
CAI e-Learning และ VDO/VCD/DVD ครู/อาจารย์/ผู้สอนในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา
ส่วนใหญ่นิยมทำในรูป e-Learning และWebsite ส่วนการศึกษานอกโรงเรียน ครู/อาจารย์/ผู้สอนนิยมทำ ในรูป VDO/VCD/DVD
9) ความสำคัญของ ICT และความพร้อมของสถานศึกษาและบุคลากร
ด้าน ICTสถานศึกษาให้ความสำคัญแก่ปัจจัยด้าน ICT ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน/นักศึกษาด้านโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุด
รองลงมาคือด้านงบประมาณ ด้านบุคลากร ด้านการใช้สื่อเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์
และด้านการวิจัยตามลำดับ สำหรับความพร้อมของสถานศึกษา
พบว่าในทุกปัจจัยสถานศึกษามีความพร้อมน้อยกว่าที่สถานศึกษาให้ความสำคัญ
ปัจจัยที่สถานศึกษามีความพร้อมมากที่สุดคือปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน
รองลงมาคือด้านบุคลากร ตามด้วยด้านงบประมาณ ด้านการใช้สื่อเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์และด้านการวิจัยทาง
ICT ตามลำดับ จากการวิเคราะห์ Gap Analysis พบว่าจุดที่ต้องปรับปรุงของสถานศึกษาในภาพรวมมี 4
เรื่อง คือ 1) ความไม่พอเพียงของซอฟต์แวร์ใช้งานในด้านต่างๆ 2)
ความไม่พอเพียงของงบประมาณด้าน ICT 3) การขาดแคลนครู/ผู้สอนที่มีวุฒิทางคอมพิวเตอร์และ
IT และ 4) การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการใช้และซ่อมบำรุงเครื่องมือ
ครู/อาจารย์/ผู้สอนให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านบุคลากร
ซึ่งได้แก่การสนับสนุนด้าน ICT ของผู้บริหารและการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนวิชาการเป็นอันดับแรก
รองลงมาได้แก่ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านผู้เรียน
ด้านการผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์และด้านการใช้สื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์ตามลำดับ
สำหรับความพร้อมของครู/อาจารย์/ผู้สอนในการใช้ICT ในการสอน
พบว่าในทุกปัจจัย
ครู/อาจารย์/ผู้สอนมีความพร้อมน้อยกว่าที่ครู/อาจารย์/ผู้สอนให้ความสำคัญ
ปัจจัยที่ครู/อาจารย์/ผู้สอนมีความพร้อมมากที่สุดคือปัจจัยด้านบุคลากร
รองลงมาคือด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตามด้วยด้านผู้เรียน
ด้านการผลิตสื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์ และด้านการใช้สื่อเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์
ตามลำดับ จากการวิเคราะห์ Gap Analysis พบว่า
จุดที่ต้องปรับปรุงของครู/อาจารย์/ผู้สอนในภาพรวมมี 1 เรื่อง
คือ การใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
10) ข้อเสนอแนะ
ผู้บริหารสถานศึกษาและครู/อาจารย์/ผู้สอนได้ให้ข้อเสนอแนะที่ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือ/สนับสนุนด้าน
ICT แก่สถานศึกษา ดังนี้ จัดสรรคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ
ให้สถานศึกษามากขึ้น สนับสนุนงบประมาณด้าน ICT ให้เพียงพอ
จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรในสถานศึกษาเกี่ยวกับ ICT จัดทำสื่อคู่มือการเรียนรู้โปรแกรมและนวัตกรรมใหม่ ๆ
รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนทุนการวิจัยด้าน ICT
เศรษฐกิจและระบบธุรกิจ
ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ข้อมูลข่าวสารสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกและรวดเร็วจนกระทั่งมนุษย์ผู้รับข้อมูลข่าวสารตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของข้อมูลข่าวสาร
กระแสทุนนิยมแบบแข่งขันเพื่อหวังผลกำไรสูงสุดได้ใช้โลกาภิวัตน์เป็นเครื่องมือในการเร่งสร้างผลกำไร
ผู้มีอำนาจมากกว่า ผู้ที่เข้มแข็งกว่าเป็นผู้กำหนดทิศทางของกระแสโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมก้าวหน้า
ช่วยให้การผลิต การแปรรูป และการแลกเปลี่ยนสินค้าสะดวกรวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันขึ้นระหว่างผู้ที่เข้าถึงกับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ
พรรณี
สวนเพลง (2552,
108) สรุปว่า
เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในแวดวงธุรกิจที่เกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร
ธุรกิจต่างๆมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยขับเคลื่อนการดำเนินการของธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้
ส่วนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(2547:
7-8) เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการดำเนินธุรกิจอย่างมาก
การดำเนินธุรกิจมีการแข่งขันกันสูง เพื่อความได้เปรียบทางธุรกิจ
เทคโนโลยีสารสนเทศจึงเข้ามามีบทบาทในด้านต่างๆได้แก่
การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร การพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
รวมถึงการเพิ่มและพัฒนาผลิตผลของอุตสาหกรรม เป็นต้น
แต่ขณะเดียวกันการดำเนินการทางเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยสร้างความสามารถในการผลิต
การแข่งขันของธุรกิจก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
มีการลดแรงงานในภาคส่วนที่เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้
ทำให้เกิดการว่างงานในบางสาขา รวมถึงความไม่เท่าเทียมทางการแข่งขันทางธุรกิจ
ในกรณีที่ผู้ผลิตรายอื่นไม่สามารถเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้
การเมืองการปกครอง
ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทต่อระบบการเมืองการปกครองมากขึ้นทั้งในด้านการส่งเสริมมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอย่างกว้างขวาง
การทำความเข้าใจในบทบาทของประชาชนในทางการเมือง เช่น
มีการเผยแพร่กฎหมายรัฐธรรมนูญทางเว็บไซต์
มีการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นต้น
ทางด้านพรรคการเมืองก็สามารถก่อตั้งเว็บไซต์ของตนเองขึ้นมา
ช่วยในการหาเสียงระดมทุนและรับสมัครสมาชิกพรรคการเมือง
ช่วยให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลมีโอกาสมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
ด้านประชาชนสามารถแสดงออกทางความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ผ่านทางเว็บบอร์ด เว็บบล็อก เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็มีผู้คนบางส่วนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยกเพื่อหวังผลทางการเมืองในหลายลักษณะ
เช่น มีการโจมตีกันทางการเมืองอย่างรุนแรง ผ่านระบบการสื่อสารที่ทันสมัย เช่น
ระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านช่องทางเว็บไซต์
เมื่อมีการกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรง หรือมีการละเมิดกันขึ้น
ก็ยากแก่การตรวจสอบหาคนทำผิดมาลงโทษ
ซ้ำคนที่ทำผิดยังสามารถไปเปิดเว็บไซต์ขึ้นใหม่ได้อย่างง่ายดาย อย่างไร้พรมแดน
ความมั่นคงของประเทศ
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(2547:
6-7) สรุปว่า เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนช่วยปรับปรุงระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความมั่นคงปลอดภัยของทั้งประชาชนและการป้องกันประเทศ
มีการนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในด้านการทำทะเบียนประวัติอาชญากร
การเก็บประวัติบุคคล การพิมพ์ลายนิ้วมือแบบอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อการตรวจพิสูจน์ในการสืบสวนสอบสวนคดีต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์
ยานพาหนะต่างๆทางการทหาร ระบบการติดต่อสื่อสาร การดักฟัง
ต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยให้กับประชาชนและประเทศ
สาธารณสุข
พรรณี
สวนเพลง (2552,
109) สรุปว่า
เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยสนับสนุนระบบสารธารณสุขในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาผู้ป่วย
เช่น โครงการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เป็นการนำความก้าวหน้าด้านการสื่อสารโทรคมนาคมมาประยุกต์ใช้กับงานด้านการแพทย์
โดยใช้การส่งสัญญาณผ่านสื่อโทรคมนาคมอันทันสมัย
ช่วยให้แพทย์ต้นทางกับแพทย์ปลายทางสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยภาพเคลื่อนไหวและเสียง
เสมือนอยู่ห้องเดียวกับคนไข้ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น
ลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในถิ่นธุรกันดาร
ส่วนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(2547:
6) สรุปว่า เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข
เนื่องจากมีการเชื่อมโยงการทำงานกันระหว่างระบบต่างๆ เพิ่มความสามารถในการตัดสินใจ
ในการวินิจฉัยและการรักษาพยาบาล การจัดระบบสาธารณสุข และการรักษาพยาบาลที่ดี
นอกจากนั้นยังช่วยลดการสูญเสียทั้งทรัพยากรมนุษย์และทรัพย์สินอีกด้วย
ขณะเดียวกันเทคโนโลยีสารสนเทศก็เป็นโทษกับผู้ใช้งานที่ไม่ระมัดระวังสุขภาพของตนเอง
เช่น การใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานานๆ ทำให้มีอาการปวดหัว
การใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานๆทำให้สายตาเมื่อยล้า เกิดความเครียดจากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน
อันตรายจากรังสีที่มาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ อาการปวดเมื่อยนิ้ว มือ ข้อมือ และแขน
รวมทั้งอาการปวดหลังด้วย เป็นต้น
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พรรณี
สวนเพลง (2552,
110) สรุปว่า ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน
โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information
System: GIS) โดยการกำหนดข้อมูลด้านตำแหน่งที่ตั้งบนผิวโลก
ซึ่งรวบรวมจากแหล่งต่างๆ ทั้งข้อมูลพื้นที่ แผนที่ รูปถ่ายทางอากาศ
และภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาระบบผังเมือง
ประยุกต์ใช้งานด้านธรณีวิทยา การพยากรณ์อากาศ และการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ก้าวหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม
ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ระบบภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics)
อันประกอบไปด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic
Information System: GIS) การสำรวจข้อมูลจากระยะไกล (Remote
Sensing) และระบบการระบุพิกัดภูมิศาสตร์ภาคพื้นดิน (Global
Positioning System: GPS) และอาจรวมไปถึงสารสนเทศทางภูมิศาสตร์อื่นๆ
ทั้งแผนที่ (Map) ภาพถ่ายทางอากาศ (Aerial Photo) เป็นต้น มีบทบาทเป็นอย่างมากในการถูกนำไปใช้ในการ วิเคราะห์
เพื่อการวางแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งในบริบทเชิงพื้นที่เฉพาะ และบริบทเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น การวางผังเมือง
การสำรวจการใช้ที่ดิน การวางแผนป้องกันการเกิดไฟป่า
การสำรวจและประเมินพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น ปัญหาอุทกภัย
ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการวางแผนเพื่อกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ เช่น
พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่า เป็นต้น
ความสามารถในการวิเคาระห์เชิงพื้นที่และเชิงคุณลักษณะของระบบภูมิสารสนเทศก่อให้เกิดประโยชน์มากมายด้านการบริหารจัดการ
และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
ขณะเดียวกันเทคโนโลยีสารสนเทศก็ส่งผลทางลบต่อระบบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
เช่น การปนเปื้อนสารพิษจากขยะคอมพิวเตอร์
การนำขยะคอมพิวเตอร์ไปทิ้งแล้วไม่ย่อยสลาย หรือใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลายเป็นต้น
ก่อให้เกิดมลพิษ และมีค่าใช้จ่ายสูงในการทำลาย รวมถึงอาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บในมนุษย์และสัตว์ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย
จริยธรรม
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ผู้คนมีอำนาจมากขึ้นในการแสดงบทบาทความคิดของตนเองผ่านระบบสัญลักษณ์และภาษา
โดยใช้ช่องทางของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อ ทั้งระบบการสื่อสารผ่านโทรศัพท์
สัญญาณผ่านดาวเทียม รวมถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
การมีอำนาจดังกล่าวในการแสดงออกทางพฤติกรรม ความคิดของผู้คนบางส่วน
ให้บทเรียนข้อคิดแก่ผู้คนในสังคม ทั้งการนำเสนอบทเรียนที่ดีเพื่อให้ผู้คนทำตาม
ทั้งนำเสนอบทเรียนที่ไม่ดีให้ผู้คนได้เห็นเป็นอุทาหรณ์ ไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง
แต่ผู้คนบางส่วนใช้ช่องทางของเทคโนโลยีสารสนเทศในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เอาเปรียบผู้อื่นทั้งทางสุจริต
(แต่เอาเปรียบ) และทุจริต เช่น
การให้ข้อมูลที่ไม่ครบทั้งหมดเพื่อให้ผู้คนตัดสินใจผิดในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด
อันได้แก่การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการ
การโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ทางการเงิน
เช่นการขโมยหมายเลขบัตรเครดิต การนำข้อมูลของผู้อื่นไปทำธุรกรรมทางการเงินเป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการแสดงออกทางความคิดเห็นที่ขัดต่อหลักศีลธรรมจริยธรรม เช่น
การเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร การจัดตั้งกลุ่มที่มั่วสุมเรื่องเพศที่ขัดต่อหลักจริยธรรม
การเผยแพร่ข้อความส่อเสียดให้ร้ายผู้อื่น การนำข้อมูลภาพ เสียง อันเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดความเสียหาย
เป็นต้น ต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นข้อที่พึงระวังทางด้านจริยธรรมของผู้ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือ
สอดคล้องกับศรีไพร
ศักดิ์รุ่งพงศากุล และเจษฏาพร ยุทธนวิบูลย์ชัย (2549: 367-374) ที่สรุปไว้ว่า
เทคโนโลยีสารสนเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
และเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตผู้คนมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต
แนวโน้มดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Computer Crime หรือ Cyber Crime) ขึ้น
ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ เช่น
การโจรกรรมข้อมูลหรือความลับของบริษัท การบิดเบือนข้อมูล การฉ้อโกง การฟอกเงิน
การถอดรหัสโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (การใช้งานโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์) การขโมยหมายเลขบัตรเครดิต
การแอบอ้างตัว การส่งอีเมล์รบกวน การก่อกวนทำลายข้อมูล รวมถึงไวรัสคอมพิวเตอร์เป็นต้น
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนเป็นแนวคิดการพัฒนาที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ
กล่าวคือ เป็นการพัฒนาที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมิติต่างๆ ทางด้านการศึกษา
สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม
เนื่องจากมนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ใช้องค์ประกอบต่างๆเหล่านั้นเพื่อการดำเนินชีวิตในสังคม
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์มีศักยภาพในการดำเนินวิถีชีวิตไปตามสภาพแวดล้อมและสังคมอย่างเหมาะสม
โดยใช้วิธีการต่างๆที่เหมาะสมกับความเชื่อ ทัศนคติ วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ใน
ภูมิสังคมต่างๆ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนควรเป็นการพัฒนาที่สมดุล
ให้คุณค่ากับแนวทางการพัฒนาทุกรูปแบบที่มีประโยชน์
โดยยึดความต้องการของหน่วยย่อยต่างๆในสังคมเป็นพื้นฐาน
แนวทางหลักในการพัฒนาสังคมโดยรวมต้องบูรณาการความหลากหลายต่างๆมีอยู่
ให้สามารถตอบสนองมนุษย์และชุมชนที่หลากหลายในสังคมได้อย่างเท่าเทียม
ดังนั้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อตอบสนองการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน
จึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆดังกล่าว
เพื่อให้เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถตอบสนองการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
และมีผลกระทบน้อยที่สุด
ซึ่งจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผ่านมาพบว่าได้ก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนในบริบทต่างๆ
อันได้แก่ คน ชุมชน องค์กร พอสังเขปดังนี้
มนุษย์
กิตติ
ภักดีวัฒนะกุล (2549:
8-10) สรุปไว้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศมีผลกระทบบางอย่างต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น
อาจมีทั้งด้านดีและไม่ดี
ซึ่งผลกระทบทางด้านดีนั้นคือการช่วยพัฒนาการทำงานของคนให้ง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การเรียนรู้ และการใช้ชีวิตของผู้คน
ขณะเดียวกันก็อาจเกิดผลกระทบทางลบต่อผู้คนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่บางครั้งคนอาจขาดความมั่นใจในตนเองในการตัดสินใจถ้าปราศจากความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทางด้านจิตวิทยาพบว่าเกิดช่องว่างระหว่างตัวบุคคลมากขึ้นทั้งในระดับ ครอบครัว องค์กร
และสังคม เนื่องจากช่องทางการสื่อสารมีความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น
การสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์แบบซึ่งๆหน้าระหว่างกันน้อยลง
แต่มีการสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมเสมือนจริงในโลกไซเบอร์
การที่ผู้คนอยู่ในโลกไซเบอร์มากๆนานๆ อาจส่งผลให้บุคคลดังกล่าวเกิดภาวะซึมเศร้าได้
นอกจากนั้นผู้ที่ใช้ข้อมูลข่าวสารจากอินเตอร์เน็ตอย่างเข้มข้นอาจเกิดความกังวลเกี่ยวกับสารสนเทศ
คือตั้งคำถามกับตนเองว่าข้อมูลที่นำเสนอบนอินเตอร์เน็ตนั้นถูกต้องหรือไม่
ทันสมัยหรือไม่ เชื่อถือได้หรือไม่เป็นต้น เพราะอาจส่งผลกระทบไปยังผลการวิเคราะห์
และการนำข้อมูลนั้นไปใช้งาน
ชุมชน
ศูนย์สารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน
(2551:
ออนไลน์) กล่าวไว้ว่า การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้
ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์
ข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาองค์ความรู้
ยังหมายถึงการนำไปปรับใช้สำหรับการวางกลยุทธ์
เพื่อรับมือกับการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชน
ตัวอย่างสารสนเทศชุมชนได้แก่
โครงการ “เว็บไซต์หมู่บ้านไทย” เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายดังกล่าว
ในลักษณะของการจัดการความรู้ของชุมชนให้อยู่ในระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้การใช้
และการแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับชุมชนกับชุมชน เป็นไปอย่างกว้างขวาง
เป็นการนำข้อมูลมาสร้างให้เกิดสารสนเทศ องค์ความรู้ การประยุกต์การใช้งาน ประโยชน์กับชุมชน
และเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้กรมการพัฒนาชุมชนยังได้กำหนดให้โครงการนี้เป็นตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ
ประจำปีงบประมาณ 2551 ตัวชี้วัดที่ 3.6
ร้อยละของหมู่บ้านต้นแบบที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของชุมชนบนระบบ อินเตอร์เน็ต
ได้กำหนดเป้าหมายหมู่บ้านต้นแบบ 877 หมู่บ้าน/ชุมชน
โดยเว็บไซต์ของหมู่บ้าน/ชุมชนดังกล่าว
ศูนย์สารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชนจะต้องโอนสิทธิ์ ให้กับคนในหมู่บ้าน/ชุมชน
หรือเจ้าหน้าที่พัฒนากรประจำตำบล เพื่อปรับปรุงเพิ่มเติมข้อมูลใน
เว็บไซต์หมู่บ้าน/ชุมชนดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูล
ของชุมชนให้เป็นระเบียบและพร้อมใช้อย่างสะดวก รวดเร็ว เพื่อพัฒนาช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล
ความรู้ของแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชน
เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ของชุมชนให้กับคนในชุมชนสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง
และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และนำไปประยุกต์ใช้
องค์กร
เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานภายในองค์กร
ทั้งด้านการลดเวลาในการปฏิบัติงาน การลดกระบวนการในการปฏิบัติงาน การเพิ่มผลผลิต
การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพของการตัดสินใจ
เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น (ศรีสมรัก อินทุจันทร์ยง, 2549: 18-20)
การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรในด้านต่างๆทำให้โครงสร้างขององค์กรมีขนาดเล็กลง
เนื่องจากสามารถช่วยให้ผู้บริหารองค์กรสามารถเพิ่มผลผลิตในการทำงานและควบคุมการทำงานได้มากขึ้น
การขยายความสามารถในการควบคุมงาน ทำให้สามารถลดจำนวนผู้บริหารลงได้
และยังช่วยทำให้องค์กรสามารถลดจำนวนผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคได้ (กิตติ
ภักดีวัฒนะกุล,
2549: 7-8)
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของโลก
เนื่องจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญในระดับโลก ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก
โดยจากการประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2543
ประเทศไทยร่วมกับประเทศต่างๆทั่วโลก 189 ประเทศ ได้ให้การรับรองปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ
(Millennium Declaration) โดยถือเป็นพันธกิจของประชาคมโลก
ที่กำหนดวาระการพัฒนาเพื่อ ส่งเสริมการพัฒนาคนและลดช่องว่างการพัฒนา
ปฏิญญาดังกล่าวซึ่งเป็นที่มาของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium
Development Goals – MDG) ประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 8 ข้อ
เป้าหมายย่อย 18 ข้อ และตัวชี้วัด 48 ตัว ซึ่งมีกรอบเวลาการสัมฤทธิ์ผลภายในปี 2558
เป้าหมาย MDG เป็นเป้าหมายสากลที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนอย่างรอบด้าน
โดยเฉพาะเรื่องพื้นฐานที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต
พร้อมเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียม
(โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ, 2551)
องค์การสหประชาติโดยผ่านหน่วยงานหลักสองหน่วยงานได้แก่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Development Programme: UNDP) และองค์การยูนิเซฟ (United
Nationa Development Programme: UNICEF) ได้ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมประยุกต์เพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผลการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ
ชื่อว่า DevInfo (Development Information)
โปรแกรมประยุกต์ DevInfo
แบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่ ระบบสืบค้นข้อมูล (User
Module) กับ ระบบบริหารจัดการข้อมูล (Administration Module)
ซึ่งผู้ที่ใช้ระบบสืบค้นข้อมูล ได้แก่
บุคคลที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้เพื่อการวางแผน การติดตามผลการพัฒนา
เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน เป็นต้น ส่วนผู้ใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูล
ได้แก่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลระบบฐานข้อมูลทั้งระบบ ตั้งแต่การกำหนดตัวชี้วัด
การระบุแหล่งข้อมูล การนำเข้าข้อมูล การปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้อง และมีความทันสมัย
รวมไปถึงการเผยแพร่ฐานข้อมูลไปสู่ผู้ใช้ในระดับสืบค้นข้อมูล
โปรแกรมประยุกต์ DevInfo
เป็นโปรแกรมที่พัฒนามากว่า 10 ปี
แต่ก็ยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป
ส่วนใหญ่จะใช้ในหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติและพันธมิตร เช่น องค์การยูนิเซฟ (UNICEF)
และหน่วยงานทางด้านการบริหารจัดการข้อมูลของรัฐบาลประเทศต่างๆ
ที่เข้าร่วมโครงการกับหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ เป็นต้น
สรุป
จากการศึกษาวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศและผลกระทบที่มีต่อสังคมดังที่กล่าวมาทำให้เห็นว่าในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก
และจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
รวดเร็ว
และสามารถตอบสนองการดำเนินชีวิตของผู้คนได้อย่างกว้างขวางครอบคลุมการดำเนินชีวิตแทบทุกมิติ
ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา ระบบสาธารณสุข
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ถึงแม้เทคโนโลยีสารสนเทศจะมีประโยชน์มากมายต่อการดำรงชีวิตของผู้คน
แต่ก็อาจมีโทษหากผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ขาดความรู้ความเข้าใจ
นำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม ละเลยระบบศีลธรรมจริยธรรมกำกับ
การที่จะทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศให้ประโยชน์แก่ผู้คนในสังคมได้มากที่สุด
และเกิดผลกระทบทางลบน้อยที่สุด
จึงต้องมีกระบวนการสร้างวัฒนธรรมที่ดีงามขึ้นมารองรับสังคมบนฐานความรู้ที่มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อน
วัฒนธรรมดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับลักษณะทางภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่
ความรู้ความเข้าใจของผู้คนที่มีความแตกต่างกัน
ตลอดจนคำนึงถึงระบบศีลธรรมจริยธรรมอันดีงาม
ขจัดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ
เพื่อให้เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถตอบสนองวิถีชีวิตผู้คนได้อย่างเท่าเทียมและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
และยั่งยืนตลอดไป
ดังนั้นการพิจารณาว่าจะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดผลดังกล่าวจึงต้องคำนึงถึงความหลากหลายของสังคม
โดยยึดหลักการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์และชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน คือจะต้องพิจารณาว่าความยั่งยืนดังกล่าวเป็นความยั่งยืนในมิติใด
หากความยั่งยืนดังกล่าวคือความสุข ความสมบูรณ์ในความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน
ความยั่งยืนคือการที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง สังคมโดยรวมมีความสงบสุข
ปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายดังกล่าวได้จะต้องมีแนวทางการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจ
คือ เข้าใจตนเอง เข้าใจชุมชน เข้าใจสังคม
เข้าใจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นบริบท เข้าใจรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเอง
ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศจะสามารถตอบสนองแนวทางการพัฒนาดังที่กล่าวมาได้ถ้ามีการนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม
มีเหตุผล มีความรู้เท่าทัน และมีจริยธรรมกำกับ
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
กิตติ ภักดีวัฒนะกุล. 2546. คัมภีร์ ระบบสารสนเทศ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เคทีพี.
กิตติ ภักดีวัฒนะกุล. 2549. เทคโนโลยีสารสนเทศ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เคทีพี.
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย. 2551. รายงานการติดตามผลตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษจังหวัดตรัง พ.ศ. 2551.
กรุงเทพฯ: โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย.
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. 2546. ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชุมพล ศฤงคารศิริ. 2540. ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ป. สัมพันธ์พาณิชย์.
ณัฏฐพันธ์ เขจรนันน์ และไพบูลย์ เกียรติโกมล. 2542. ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บุญมี แท่นแก้ว. 2550. จริยศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานครฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง
เฮ้าส์
ปทีป เมธาคุณวุฒิ. 2544. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารสถาบันอุดมศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พนิดา พานิชกุล. 2549. เทคโนโลยีสารสนเทศ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
เคทีพี.
พรรณี สวนเพลง. 2552. เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้. กรุงเทพฯ: บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น
จำกัด (มหาชน).
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2547. เทคโนโลยีสารสนเทศเบื้องต้น
(หน่วยที่ 1-7). พิมพ์ครั้งที่
2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2547. เทคโนโลยีสารสนเทศเบื้องต้น
(หน่วยที่ 8-15). พิมพ์ครั้งที่
2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2549. สารสนเทศและการวิจัยทางธุรกิจการเกษตร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ยุพาวดี
วงศ์เพ็ญ. 2549. ประวัติศาสตร์การศึกษา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ศรีไพร ศักดิ์รุ่งพงศากุล และเจษฏาพร
ยุทธนวิบูลย์ชัย. 2549. ระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการจัดการความรู้. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
ศรีสมรัก อินทุจันทร์ยง. 2549. ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. 2545. แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย
พ.ศ. 2545-2549. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรรัชการพิมพ์.
ศูนย์สารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน
. 2551. หมู่บ้านไทย (ออนไลน์). http://www.moobanthai.com/th/index.php?option=com_content&task=view&id=76&Itemid=4, 5 สิงหาคม
2552.
สถาบันทรัพยากรมนุษย์
มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์. 2549. รายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่อง
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจบนฐานความรู้ของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สมจิตร อาจอินทร์. 2539. “เทคโนโลยีสารสนเทศ”. วิทยาศาสตร์ มข. 24 (1):
13-15.
สุรพงษ์ ชัยนาม. 2517. มากซ์และสังคมนิยม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เคล็ดไทย.
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. 2552. เกี่ยวกับห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์. (ออนไลน์).
http://elibrary.nfe.go.th/about.php, 13 มกราคา 2552.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และทีมงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย.
2547. รายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของประเทศไทย
พ.ศ.2547. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ.
2551. รายงานผลที่สำคัญ
สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานศึกษา พ.ศ. 2551. กรุงเทพมหานครฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ.
ภาษาอังกฤษ
S.M.H. Collin.
1988. Dictionary of Computing. Great Britain: Peter Collin
Publishing Ltd.
Turban, Malean and Wetherbe. 2001. Information
Technology for management: Making Connections for Strategic Advantage. Second Edition. United States of America: Wiley.
United
Nations Development Programme.
2008. Human Development Report
2007/2008, Fighting climate change: Human
solidarity in divided world. New
York: Palgrave Macmillan