วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2566

ทศวรรษแห่งเส้นทางการปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (พ.ศ. 2555 - 2565)

 1. วาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์

วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการประกาศให้สหกรณ์เป็นวาระ แห่งชาติ วันที่ 22 ตุลาคม 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์และแนวทางในการดำเนิน งานตามข้อเสนอวาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ โดยยุทธศาสตร์วาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างและพัฒนาการเรียนรู้และทักษะการสหกรณ์ สู่วิถีชีวิตประชาชนในชาติ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนและพัฒนาการรวมกลุ่มของประชาชน ด้วยวิธีการสหกรณ์ให้เป็นฐานรากสำคัญใน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบ การผลิตการตลาดและการเงินของสหกรณ์

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สนับสนุนแผน พัฒนาการสหกรณ์ให้เป็นเครื่องมือ ในการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐขบวนการ สหกรณ์และปรับปรุงกฎหมายสหกรณ์ให้เอื้อต่อการพัฒนา

2. ทางการปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

เมื่อปี 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยมุ่ง

(1) ยกระดับการกำกับดูแลระบบสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นและความมั่นคงของระบบ และกำหนดให้ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลมีอำนาจและความรับผิดชอบต่อผลการกำกับดูแลอย่างชัดเจน

(2) ส่งเสริมให้สมาชิกมีความรู้ความเข้าใจในหลักการสหกรณ์อย่างกว้างขวาง มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อตนเองและมีความเอื้อเฟื้อต่อสมาชิกอื่น ๆ เพื่อความสงบสุขร่วมกัน

(3) ยกระดับการบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนให้มีประสิทธิภาพ มีความรู้ความสามารถในการบริหารทั้งด้านการเงิน การจัดทำบัญชีที่มีมาตรฐาน มีความโปร่งใส และมีระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

(4) สร้างความเชื่อมั่นของสมาชิกและผู้ฝากเงินในสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนียนเพื่อให้เป็นแหล่งระดมเงินออมและให้สินเชื่อแก่สมาชิก สามารถเติมเต็มช่องว่างของบริการทางการเงินให้บริการทางการเงินเคียงคู่กับธนาคารพาณิชย์

สาเหตุที่มาของการกำหนดแนวทางการปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รายละเอียดดังนี้

(1) ระบบกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ขาดความเข้มงวดและไม่เอื้อต่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด แสดงให้เห็นว่าสมาชิกมิได้มีความเข้าใจในหน้าที่ของตนเอง ตั้งแต่การใช้สิทธิและหน้าที่ในการเลือกตั้งกรรมการ การตรวจสอบธุรกรรมต่าง ๆ ที่อาจมีความเสี่ยงสูงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย การทวงถามรายงานตามกำหนดเวลา การละเลยหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของตนเองจึงเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับสหกรณ์อื่น ๆ ในด้านหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ ซึ่งได้แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ก็มีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น มีการชักชวนหรือส่งเสริมให้จัดตั้งสหกรณ์โดยมิได้ให้ความรู้แก่ผู้ขอจดทะเบียนจัดตั้งให้เข้าใจหลักการสหกรณ์ที่ถูกต้อง การอนุญาตให้ธุรกิจต่าง ๆ แอบแฝงจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี มิได้ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลโดยเคร่งครัด และเมื่อได้รับรายงานความบกพร่องกลับไม่มีความมั่นใจในอำนาจหน้าที่ของตน ทำให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างล่าช้า

(2) สมาชิกสหกรณ์ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาและหลักการสหกรณ์ซึ่งเน้นความสำคัญของการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทรัพยากรส่วนใหญ่ควรได้จากเงินออมของสมาชิกมิใช่การกู้ยืมจากสหกรณ์อื่นหรือจากแหล่งเงินภายนอก เงินที่ระดมได้จากเงินออมและการซื้อหุ้นของสมาชิกควรให้กู้ยืมระหว่างสมาชิกที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้เป็นหลัก หากสหกรณ์ยังมีเงินเหลือก็ควรนำไปให้กู้ยืมระหว่างสหกรณ์ด้วยกันเป็นอันดับแรกและลงทุนในตราสารต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำตามที่กฎหมายกำหนดสมาชิกจึงควรถือเป็นภาระหน้าที่ของตนในการตรวจสอบให้คณะกรรมการ และผู้บริหารดำเนินงานภายใต้กรอบของกฎหมาย มิใช่สร้างผลตอบแทนทางการเงินสูงเหมือนการลงทุนในเชิงพาณิชย์ โดยอาศัยสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากสหกรณ์มีการเบี่ยงเบนไปทำกิจการที่ห่างไกลจากหลักการสหกรณ์มากขึ้นทุกที จะมีความเสี่ยงสูงจนเกินขีดความสามารถในการบริหารความเสี่ยงนั้นได้

ประเด็นการปฏิรูป

(1) จัดตั้ง "สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน" เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยโอนภารกิจในส่วนที่เกี่ยวกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มด และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และโอนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทั้งสองตามความสมัครใจ และความรู้ความสามารถ

(2) ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานดังกล่าวโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้บรรดากฎระเบียบใด ๆ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ใช้บังคับต่อไป ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติฉบับนี้

(3) ให้มีคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินหกคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การบัญชี การเงินการบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ หรือด้านสหกรณ์ เป็นกรรมการ ให้เลขาธิการสำนักงานเป็นกรรมการ

(4) ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย ส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลการประกอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน รวมถึงกำหนดอัตราเงินสมทบที่จะเรียกเก็บจากสหกรณ์สมาชิก

(5) ให้สำนักงานมีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

(5.1) การส่งเสริมและพัฒนา

ให้จัดหลักสูตรฝึกอบรม  ระดับ ได้แก่

- พัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมด้านวิชาการและความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแก่กรรมการของสหกรณ์เช่นเดียวกับสถาบันกรรมการบริษัท (Institute of Directors)

- พัฒนาหลักสูตรด้านการเงิน การบัญชีและการบริหาร เพื่อพัฒนาทักษะของผู้บริหารสหกรณ์ให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ

- จัดฝีกอบรมแก่สมาชิกสหกรณ์ให้เข้าใจหลักการสหกรณ์และความรับผิดชอบของสมาชิกในการตรวจสอบและกำกับการบริหารของสหกรณ์เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเองอย่างถูกต้อง

- ในการฝึกอบรม ให้สำนักงานฯ ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีมาตรฐาน

(5.2) การกำกับดูแล

- ให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน มีอำนาจหน้าที่ทำนองเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สามารถกำหนดกฎเกณฑ์การบริหารความเสี่ยง กำหนดคุณสมบัติและให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารสหกรณ์สมาชิก มีมาตรฐานธรรมาภิบาล กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสหกรณ์ทั้งประเภทสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ หลักเกณฑ์การควบรวมและยกเลิกสหกรณ์ พิจารณาหลักเกณฑ์การลงทุนที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และรายได้ของสหกรณ์

(5.3) ทุนและทรัพย์สินของสำนักงาน

สำนักงานฯ จะต้องมีรายได้ที่เพียงพอต่อการบริหารและพัฒนา มีทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานประกอบด้วย

(1) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม

(2) เงินสมทบจากสหกรณ์สมาชิกตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

(3) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน

(4) อื่น ๆ

(6) ส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนที่มีขนาดเล็กให้พัฒนาขึ้นเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ หรือสามารถควบรวมกันได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

(7) ในระยะยาว สนับสนุนให้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีความเข้มแข็งรวมกันจัดตั้ง "ธนาคารสหกรณ์" เพื่อเพิ่มความหลากหลายของบริการทางกรเงินและสร้างความมั่นคงให้แก่สหกรณ์ที่เข้าร่วมก่อตั้ง โดยศึกษาจากประสบการณ์ในประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น Rabobank ของเนเธอร์แลนด์ และ DZ Bank ของเยอรมนี เป็นต้น

(8) การศึกษาและข้อเสนอในการปฏิรูปนี้ จะเน้นเฉพาะกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์และเครดิตยูเนียน ซึ่งมีการดำเนินงานคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ แต่มีขอบเขตการดำเนินงานที่แคบกว่า และเน้นการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม

3. พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

3.1 21 มีนาคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติ

(1) รับทราบข้อสังเกตและผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ ซึ่งพลเรือเอก ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง กับคณะเป็นผู้เสนอ) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

(2) ให้ส่งคืนร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ... พ.ศ. (พลเรือเอก ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมืองกับคณะ เป็นผู้เสนอ ที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในกำหนดเวลาพร้อมให้แจ้งข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปด้วยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้นำไปรวมกับร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..พ.ศ. ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงสมควรชะลอร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ที่เสนอโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พลเรือเอก ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง กับคณะเป็นผู้เสนอ) เพื่อรอร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่.. พ.ศ.... .ของคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาไปพร้อมกันต่อไป

3.2 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

3.3 พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562

4. กฎกระทรวง ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ และประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

4.1 กฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

4.2 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการรับจดทะเบียนข้อบังคับเกี่ยวกับสมาชิกสมทบของสหกรณ์ พ.ศ.2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

4.3 ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง ความสัมพันธ์ของสมาชิกสมทบกับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

4.4 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ.2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

4.5 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ พ.ศ. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563

4.6 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยขั้นตอน วิธีการ ดำเนินการถอดถอนคณะกรรมการหรือกรรมการดำเนินการสหกรณ์และการยื่นอุทธรณ์ของสมาชิก กรณีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ มีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ พ.ศ.2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

4.7 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการรับจดทะเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะอนุกรรมการการลงทุน พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

4.8 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนสมาชิกและทะเบียนหุ้นของสหกรณ์ พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564

4.9 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่สมาชิกสหกรณ์และครอบครัวโดยชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศร่วมกับสหกรณ์สมาชิก พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

4.10 ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง การจัดเก็บและรายงานข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2564

4.11 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำหนดรายการในข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายคืนค่าหุ้นบางส่วนระหว่างเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

4.12 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่สมาชิกสหกรณ์และครอบครัวโดยชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศร่วมกับสหกรณ์สมาชิก แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565


4.13 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ.2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 28 ธันวาคม 2565

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...