วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ค่าชดเชยและเงินบำเหน็จในสหกรณ์

 1. ประเด็นปัญหาและข้อเท็จจริง

          สหกรณ์จ้างลูกจ้างเป็นพนักงานบริการเติมน้ำมัน หรือเด็กปั้ม (เรียกอย่างไรดูสัญญาจ้าง) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2552 โดยทำสัญญาจ้างปีต่อปี (ต่อสัญญาทุกปี) ลูกจ้างดังกล่าวมีอายุงานถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 จำนวน 13 ปี 242 วัน เมื่อสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2566 สหกรณ์ไม่ประสงค์จะทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างดังกล่าวต่อไป จึงมีประเด็นให้วินิจฉัยว่า

1.1) กรณีดังกล่าว เป็นการเลิกจ้างตามระเบียบสหกรณ์ฯ หรือไม่

1.2) กรณีดังกล่าวสหกรณ์จะต้องจ่ายค่าชดเชย และ/หรือ เงินบำเหน็จ หรือไม่ อย่างไร จึงจะถูกต้องเป็นไปตามระเบียบสหกรณ์ ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และข้อบังคับว่าด้วยการทำงาน และ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไข

2. ข้อกฎหมาย

          สหกรณ์การเกษตร ก. จำกัด กำหนดระเบียบว่าด้วยเจ้าหน้าที่และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ตามมาตรา 108 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไข ในระเบียบดังกล่าว หมวดบำเหน็จ ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ กำหนดให้สหกรณ์จะจ่ายค่าชดเชยให้แก่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ชึ่งหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยสหกรณ์กำหนดสอดคล้องเป็นไปตามมาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกำหนดนิยามและเงื่อนไขการจ่าย ว่า

การเลิกจ้าง หมายความว่า การกระทําใดที่สหกรณ์ไม่ให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างทํางานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่และลูกจ้างไม่ได้ทํางานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดําเนินกิจการต่อไป

ความในวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้างที่มีกําหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกําหนดระยะเวลานั้น

การจ้างที่มีกําหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทําได้สําหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของสหกรณ์ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด ของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกําหนดการสิ้นสุด หรือความสําเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จ ภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยสหกรณ์และเจ้าหน้าที่และลูกจ้างได้ทําสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง ชึ่งข้อความดังกล่าวสอดคล้องเป็นไปตาม มาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

นอกจากค่าชดเชยแล้วสหกรณ์ยังกำหนดไว้ในระเบียบฯ ให้ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์คนใดทำงานในสหกรณ์ด้วยความเรียบร้อยเป็นเวลาติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าห้าปีขึ้นไปมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเมื่อออกจากตำแหน่ง โดยกำหนดว่า

การคำนวณเงินบำเหน็จให้เอาเงินเดือนเดือนสุดท้ายตั้งคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน ในสหกรณ์ เศษของปีถ้าถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันให้นับเป็นหนึ่งปี ถ้าต่ำกว่านี้ให้ปัดทิ้ง

จำนวนปีที่ทำงาน หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่วันบรรจุ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์เข้าทำงานในสหกรณ์จนถึงวันที่ออกจากงานหักด้วยวันลาของผู้นั้น ในกรณีคำนวณเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้มีจำนวนมากกว่าเงินชดเชยที่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์พึงได้รับ ตามข้อ ... (การจ่ายค่าชดเชย) ให้สหกรณ์จ่ายเงินบำเหน็จเพิ่มได้เฉพาะส่วนที่เกินกว่าเงินชดเชยเท่านั้น

เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ซึ่งออกจากตำแหน่งเพราะตาย สหกรณ์จะจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาท

สหกรณ์จะไม่จ่ายบำเหน็จให้เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ในกรณี ดังต่อไปนี้

          (1) ถูกไล่ออก

          (2) เลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอน

          (3) เงินชดเชยที่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์พึงได้รับมีจำนวนมากกว่าจำนวนเงินบำเหน็จที่คำนวณได้ตามระเบียบนี้

การกำหนดเรื่องการจ่ายเงินเหน็จของสหกรณ์ตามที่กล่าวมาจะเห็นว่า การที่สหกรณ์จะไม่จ่ายบำเหน็จให้เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ในกรณี (2) เลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอน ข้อความนี้สหกรณ์มิได้ให้คำนิยามไว้ ตลอดจนในบทเฉพาะการของระเบียบฯ กำหนดว่า

ข้อ...ในกรณีที่การบรรจุหรือแต่งตั้ง หรือเลื่อนตำแหน่ง และทางสหกรณ์ไม่ได้ทำสัญญาตกลงการจ้าง ก็ให้ถือว่าข้อบังคับการทำงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง หากมีการทำข้อตกลงการจ้าง ก็ให้ยึดถือข้อตกลงการจ้างนั้นเป็นการเฉพาะได้แต่ทั้งนี้ข้อตกลงการจ้างต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ โดยระเบียบสหกรณ์ ให้คำนิยามไว้ว่า “ลูกจ้าง” หมายถึง ลูกจ้างชั้นหนึ่ง และลูกจ้างชั้นสองหรือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้สหกรณ์โดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร) ซึ่งข้อความดังกล่าว สอดคล้องเป็นไปตาม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไข ที่กำหนดว่า นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง

(1) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง

(2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย

"ลูกจ้าง" หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

"สัญญาจ้าง" หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

"ค่าชดเชย" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

บทเฉพาะการของระเบียบฯ กำหนดอีกว่า

ข้อ...ข้อตกลงใดที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ

ข้อ...การแก้ไขระเบียบนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ โดยมีสาระสำคัญหลายประการที่เป็นคุณ และเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างเฉพาะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับและ ที่ได้รับสิทธิไปแล้วก่อนหน้านี้ถือว่าได้รับการคุ้มครองตามระเบียบนี้

“เลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอน” ในระเบียบฯ จึงมีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า “การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

อนึ่ง งานที่มีลักษณะเป็นการ “จ้างทำของ” ตาม มาตรา 587 ที่มิใช่การจ้างงานตาม มาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และระเบียบฯ ว่าด้วยการจัดซื้อและจัดจ้างของสหกรณ์ โดยระเบียบสหกรณ์ฯ ว่าด้วยการจัดซื้อและจัดจ้างของสหกรณ์ กำหนดว่า “การจ้าง” หมายความว่า “การจัดจ้างทำพัสดุ และหมายความรวมถึงการจัดจ้างทำของ การรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการจ้างเหมาบริการ”

การจ้างทำของในสหกรณ์ ต้องพึงระวังไม่ให้เข้าข่ายเป็นการหลีกเลี่ยงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณา ได้แก่ มาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดสาระสำคัญของการจ้างแรงงานว่า เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ให้ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ ผลสำเร็จของงานจึงไม่เป็นสาระสำคัญในการจ่ายค่าจ้าง และระหว่างการทำงานนายจ้างมีอำนาจสั่งการหรือบังคับบัญชาลูกจ้างได้ ส่วนการจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับจ้างทำการงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแก่การงานที่ทำนั้น ผลสำเร็จของการงานที่รับจ้างจึงเป็นสาระสำคัญในการรับสินจ้าง และระหว่างทำงานผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจสั่งการหรือบังคับบัญชาได้

เมื่อมีการจ้างทำของในสหกรณ์ สหกรณ์ก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น เรื่องการลา การทำงานล่วงเวลา เรื่องค่าชดเชย ฯลฯ และไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่สหกรณ์ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และระเบียบสหกรณ์ฯ ว่าด้วยการจัดซื้อและจัดจ้างของสหกรณ์ โดยดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำโครงการหรือแผนการดำเนินงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ (ยกเว้นกรณีเร่งด่วน ถ้าหากล่าช้าอาจเกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ อาจดำเนินการไปก่อนได้ และรายงานให้ที่ประชุมใหญ่ทราบในคราวประชุมใหญ่ฯ ครั้งต่อไป) การกำหนดวิธีการจัดจ้าง การจัดทำรายงานขอจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุผลและความจำเป็นในการจ้าง รายละเอียดของงานที่จะจ้าง วงเงินในการจ้าง กำหนดเวลาให้งานแล้วเสร็จ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทำหน้าที่พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวิธีการจัดจ้างต่าง ๆ เช่น การจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ การตรวจการจ้าง การทำสัญญาจ้าง และการกำหนดค่าปรับ เป็นต้น

3. ข้อวินิจฉัย

          3.1) กรณีตามประเด็นปัญหาและข้อเท็จจริง เข้าข่ายเป็นการเลิกจ้างตามระเบียบสหกรณ์ และตาม มาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไข เพราะสหกรณ์ฯ ดำเนินธุรกิจปั้มน้ำมัน (จัดหาสินค้ามาจำหน่าย) ซึ่งเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง การที่สหกรณ์จ้างลูกจ้างมาทำหน้าที่ให้บริการเติมน้ำมัน จึงเข้าข่ายเป็นการจ้างงานตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และไม่เข้าข่าย เลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอน เพราะธุรกิจปั้มน้ำมันของสหกรณ์ไม่ใช่การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง”

          3.2) เมื่อเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ใช่เลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอน สหกรณ์ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบฯ ที่กำหนด

          3.3) เมื่อเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ใช่เลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอน สหกรณ์ต้องจ่ายค่าเงินบำเหน็จตามระเบียบฯ ที่กำหนด

          อนึ่ง มาตรา 144 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไข กำหนดว่า นายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(1) มาตรา 118 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 147/2563

คําพิพากษาฎีกาที่ 1468/2562-ถือเป็นสัญญาจ้างแรงงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...