วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

การจัดสรรกำไรของวิสาหกิจที่ไม่แสวงหากำไรอย่างสหกรณ์

 สหกรณ์คืออะไร

องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์สากล (International Cooperative Alliance: ICA) อธิบายไว้ว่า สหกรณ์เป็นสมาคมอิสระของบุคคลที่รวมกันด้วยความสมัครใจ เพื่อตอบสนองความต้องการและแรงบันดาลใจทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมร่วมกันผ่านวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของร่วมกันและควบคุมกันเองตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยค่านิยมของสหกรณ์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าของการช่วยเหลือตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตามประเพณีของผู้ก่อตั้ง สมาชิกสหกรณ์เชื่อในคุณค่าทางจริยธรรมของความซื่อสัตย์ ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และการเอื้ออาทรต่อผู้อื่น

 

ICA ยังอธิบายว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจที่มีสมาชิกเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นเจ้าของ ควบคุม และดำเนินการโดยสมาชิก เพื่อให้สมาชิกตระหนักถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ร่วมกัน สหกรณ์นำผู้คนมารวมกันในวิถีทางประชาธิปไตยและเท่าเทียมกัน สหกรณ์บริหารจัดการตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักการ หนึ่งคน หนึ่งเสี่ยงสมาชิกมีสิทธิออกเสียงเท่ากันโดยไม่คำนึงถึงจำนวนหุ้นที่สมาชิกถือไว้ในสหกรณ์

 

วิสาหกิจแบบสหกรณ์ขับเคลื่อนด้วยคุณค่าสหกรณ์ ไม่ใช่แค่เรื่องผลกำไร ความเป็นธรรม ความเสมอภาค และความยุติธรรมทางสังคมเป็นหัวใจของสหกรณ์ สมาชิกร่วมกันกำหนดอนาคตทางเศรษฐกิจของพวกเขา การถือหุ้นของสมาชิกไม่ได้แสดงความเป็นเจ้าของสหกรณ์อย่างเด่นชัด แต่การร่วมกันดำเนินธุรกิจจนเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการแสดงความเป็นเจ้าของสหกรณ์ ผลกำไรที่เกิดขึ้นจะถูกนำกลับไปลงทุนในสหกรณ์ และกลับคืนให้กับสมาชิกเพื่อเป็นสิ่งตอบแทน

 

NEBRASKA COOPERATIVE DEVELOPMENT CENTER แห่ง UNIVERSITY of NEBRASKA–LINCOLN ให้ความหมายว่า สหกรณ์คือสมาคมของบุคคล (องค์กร) ที่ประชาชนเป็นเจ้าของและควบคุมเพื่อตอบสนองความต้องการและแรงบันดาลใจทางเศรษฐกิจ สังคม และ/หรือวัฒนธรรมร่วมกันผ่านธุรกิจ (องค์กร) ที่เป็นเจ้าของร่วมกันและควบคุมตามระบอบประชาธิปไตย คนของสหกรณ์คือผู้ใช้สินค้า พัสดุ และ/หรือบริการของสหกรณ์ ผลกำไรมักจะถูกส่งคืนให้กับสมาชิกของสหกรณ์ อย่างไรก็ตาม สหกรณ์มักจะเน้นการบริการสำหรับสมาชิกมากกว่าการลงทุน

 

UNIVERSITY of ALASKA ANCHORAGE อธิบายว่า สหกรณ์เป็นกิจการของสมาชิกผู้เป็นเจ้าของสหกรณ์ สหกรณ์ถูกควบคุมตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมาชิก สหกรณ์ดำเนินธุรกิจโดยให้บริการแก่สมาชิกเท่านั้น รายได้ที่สหกรณ์สร้างขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกร่วมกัน

 

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภการเกื้อหนุนประชาราษฎร์ ซึ่งประกอบกสิกรรมการค้าขาย ทรงพระราชดำริว่า สหกรณ์คือสมาคมชนิดที่ราษฎรผู้ทำการเพาะปลูกแลหากินด้วยการทำของขายรวบรวมกันตั้งขึ้นเพื่อยังความจำเริญให้เกิดแก่หมู่ด้วยวิธีรวมกำลังกันทำการบำรุงตนเองแลประหยัดการใช้จ่ายแต่ที่พอควร มิใช่ตั้งขึ้นเพื่อจะหากำไรมาจำแนกในหมู่สมาชิกนั้น (พ.ร.บ. สมาคมเพิ่มเติม พ.ศ. 2459)

 

อาบ นคะจัด (2536) อธิบายว่า สหกรณ์คือองค์กรธุรกิจประเภทหนึ่งในระบบเศรษฐกิจการตลาดของประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับหุ้นส่วนและบริษัท ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ องค์การธุรกิจนิติบุคคลตามกฎหมายสหกรณ์ต่างจากองค์กรธุรกิจตาม ป.พ.พ. ในเรื่องสำคัญคือ วัตถุประสงค์และหลักการขององค์การธุรกิจต่างกัน และตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ต่างกัน สหกรณ์มีวัตถุประสงค์ “เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ส่วนวัตถุประสงค์ของหุ้นส่วนและบริษัทคือ “ประสงค์จะแบ่งกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น” แม้กฎหมายสหกรณ์จะกำหนดเรื่องการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ แต่คำว่ากำไรสุทธิที่บัญญัตินั้นเป็นเพียงคำศัพท์ทางการบัญชี ไม่ใช่กำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 เพราะในสหกรณ์เจ้าของและลูกค้าคือบุคคลคนเดียวกัน ราคาสินค้าและบริการที่สหกรณ์กำหนดขึ้น คือค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สหกรณ์เรียกจากสมาชิก เมื่อสิ้นปีการบัญชี หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว มีเงินเหลือจ่ายสุทธิ (กำไรสุทธิ) เท่าใด จึงต้องจัดสรรตามกฎหมายสหกรณ์

 

นุกูล กรยืนยงค์ (2554) อธิบายว่า สหกรณ์มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นตรงที่การรวมตัวกันของประชาชนเพื่อ ก่อตั้งสหกรณ์ และนำเงินมาลงทุนร่วมกันนั้น มิใช่เพื่อทำการค้ากับบุคคลอื่น หากแต่เป็นเพราะต้องการใช้สินค้าหรือบริการนั้นสำหรับตนเองเป็นประการสำคัญ มุ่งให้บริการแก่สมาชิกเป็นหลัก เป็นการสร้างประโยชน์ขึ้นแก่ตนเอง บริการตนเองโดยการร่วมกันทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เป็นการเรียกร้องจากผู้อื่น สหกรณ์ผู้บริโภคไม่จำเป็นที่จะต้องแสวงหาผลกำไรจากการทำธุรกิจ เนื่องจากทั้งเจ้าของและผู้ใช้บริการ (ลูกค้า) เป็นคนเดียวกัน หรือในกรณีที่เป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อการผลิตโดยมีสมาชิกเป็นเจ้าของและผู้ใช้แรงงาน ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่เจ้าของจะเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานเพราะเป็นคนเดียวกัน ไม่ว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะตกแก่เจ้าของ หรือแรงงาน ก็ย่อมเป็นของคนเดียวกันทั้งหมด

 

จากความหมายและคำอธิบายเกี่ยวกับสหกรณ์ สรุปได้ว่า สหกรณ์ไม่ใช่วิสาหกิจแสวงหากำไรสูงสุดแบบองค์กรที่ดําเนินกิจกรรมเพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน ที่มุ่งผลกำไรสูงสุดเพื่อความมั่งคั่ง แต่สหกรณ์เป็นรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้คนที่มารวมตัวกันเป็นองค์กรธุรกิจ โดยผู้คนที่มารวมตัวกันเป็นสหกรณ์นั้น เป็นผู้ที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม มีความต้องการเหมือนกัน คล้ายกัน มีความเชื่อร่วมกันเกี่ยวกับการพึ่งพาช่วยเหลือตนเองและระหว่างกัน มุ่งใช้การสหกรณ์ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจในสังคม ให้ความสำคัญของพลังการรวมคนมากกว่าพลังการรวมเงินหรือทรัพย์สิน เน้นการดำเนินธุรกิจระหว่างกันเองของสมาชิก

 

ด้วยสหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร จึงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร (ม. 39 ประกอบกับมาตรา 69 ทวิ) เพราะสหกรณ์ดำเนินธุรกิจระหว่างสมาชิกด้วยกันเองภายในสหกรณ์ ตามหลักการสหกรณ์ หลักการที่ 3 ที่กำหนดว่า การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจไตยของสมาชิก (Member Economic Participation) มวลสมาชิกพึงร่วมทุนกับสหกรณ์ของตนอย่างเท่าเทียมกัน และควบคุมการใช้เงินทุนตามวิถีประชาธิปไตย โดยปกติอย่างน้อยส่วนหนึ่งของทุนต้องมีทรัพย์สินส่วนรวมของสหกรณ์ และสมาชิกพึงได้รับผลตอบแทนจากเงินทุน (ถ้ามี) อย่างจํากัด ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นสมาชิก เหล่าสมาชิก จะจัดสรรเงินส่วนเกินเพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างหรือทั้งหมดดังต่อไปนี้ คือ เพื่อพัฒนาสหกรณ์ของตนโดยอาจจัดเป็นกองทุนสํารองซึ่งอย่างน้อยส่วนหนึ่งจะไม่นํามาแบ่งปันกัน เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ให้สมาชิกตามส่วนธุรกรรมที่ตนทํากับสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ ที่มวลสมาชิกเห็นชอบ

 

เจตนารมณ์การจัดสรรกำไรในสหกรณ์

 

ปรีชา สุวรรณทัต และทรงพล พนาวงศ์ (2555) อธิบายเรื่องการกำไรและการจัดสรรกำไรในสหกรณ์ ซึ่งการอธิบายดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่สำคัญของกฎหมายสหกรณ์ มาตราที่ว่าด้วยการจัดสรรกำไรของสหกรณ์ โดยอธิบายว่า การจัดสรรกําไรสุทธิตามหลักการของการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยสมาชิก จะต้องคํานึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและด้วยความเป็นธรรมในหมู่สมาชิก เพราะสหกรณ์นั้นตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหวังที่จะร่วมมือกันในการช่วยแก้ไขปัญหาในด้านเศรษฐกิจ มิได้มุ่งดําเนินการเพื่อแสวงหากําไรมาแบ่งปันกัน ดังนั้น ตามหลักการสหกรณ์จึงกําหนดแนวทางการจัดสรรกําไรหรือเงินส่วนเกิน เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่าง ดังนี้คือ

1) เพื่อการพัฒนาสหกรณ์โดยอาจกันเงินเป็นเงินสํารอง ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีส่วนหนึ่งที่นํามาแบ่งปันกันไม่ได้

2) เพื่อตอบแทนแก่สมาชิกตามสัดส่วนของปริมาณธุรกิจที่สมาชิกได้ทํากับสหกรณ์

3) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่มวลสมาชิกเห็นชอบ

ปรีชา สุวรรณทัต และทรงพล พนาวงศ์ ยังอธิบายเรื่องการจัดสรรกำไรสุทธิเป็นเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืน ว่าจัดสรรเป็นเงินปันผลตามหุ้นของสมาชิกที่ชําระแล้ว เพื่อเป็นการตอบแทนสมาชิกที่ลงทุนถือหุ้นในสหกรณ์ แต่โดยเหตุที่ตามหลักสหกรณ์ไม่มีจุดมุ่งหมายให้สมาชิกมาแสวงหากําไรจากการนําเงินมาลงทุนในสหกรณ์เหมือนกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ดังนั้น หลักสหกรณ์ โดยทั่วไปจะจํากัดดอกเบี้ยที่ให้กับทุนเรือนหุ้น ซึ่งโดยปกติสหกรณ์ควรจ่ายเงินปันผลตามหุ้นให้แก่ สมาชิกในอัตราไม่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ สําหรับกฎหมายสหกรณ์กําหนดให้สหกรณ์จ่ายเงินปันผลตามหุ้นไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวงสําหรับสหกรณ์แต่ละประเภท ซึ่งปัจจุบันกำหมายกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละสิบต่อปี

 

ทั้งนี้การคำนวณเงินปันผลต้องคิดตามส่วนแห่งระยะเวลาการถือหุ้นของสมาชิกแต่ละคนด้วยจึงจะเกิดความเป็นธรรมสูงสุด

 

ส่วนจัดสรรเป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้ทําไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปี เพื่อเป็นการจัดสรรรายได้สุทธิ (กําไร) โดยคํานึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและความเป็นธรรมในหมู่สมาชิก เพราะสมาชิกทําธุรกิจกับสหกรณ์ จึงทําให้เกิดกําไรหรือเงินส่วนเกินขึ้น ดังนั้น การแบ่งกําไรของสหกรณ์จึงเท่ากับการจ่ายคืนส่วนที่สหกรณ์รับเกินให้สมาชิกในรูปการจ่ายเงินคืนตามส่วนปริมาณธุรกิจที่สมาชิกทําไว้กับสหกรณ์

 

อนึ่ง หากสหกรณ์มีกำไรกฎหมายกำหนดให้ (บังคับ) สหกรณ์ต้องจัดสรรเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิ ปัจจุบันกฎกระทรวงกำหนดอัตราไม่เกินร้อยละหนึ่งของกำไรสุทธิ แตไม่เกินสามหมื่นบาท

 

สรุป

ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ มีแนวทางชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการสะสมกำไรส่วนเกินที่มาจากการสร้างกำไรจากการลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะด้านแรงงาน ด้านการแย่งชิงเอาทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นปัจจัยการผลิตให้ได้มากที่สุด ตลอดจนด้านการขายสินค้าและบริการให้ได้มากที่สุด ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์มุ่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นอกจากสหกรณ์มุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการสะสมกำไรส่วนเกินดังกล่าวแล้ว ยังหนุนเสริมความเท่าเทียม ความเป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจ โดยไม่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกในด้านความสัมพันธ์ทางการผลิต กล่าวคือปัจจัยการผลิตทั้งหมด เช่น เครื่องจักร ป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ฯลฯ ของบรรดาสมาชิก ยังคงเป็นกรรมสิทธิของสมาชิก ขณะเดียวกันปัจจัยการผลิตทั้งหมด เช่น เครื่องจักร ป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ของสหกรณ์ก็นับว่าเป็นของสมาชิก โดยสมาชิกทั้งหมดร่วมกันเป็นเจ้าของ สมาชิกทั้งหมดมีอำนาจในการบริหารจัดการบรรดาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ตลอดจนบริหารกำไรส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานและดำเนินธุรกิจของสหกรณ์

 

กำไรส่วนเกินที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ส่วนหนึ่งนำกลับเข้าสู่สหกรณ์ในลักษณะเป็นทุนสำรองเพื่อความมั่นคงของสหกรณ์ ส่วนที่เหลือใช้แบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมตามสัดส่วนที่สมาชิกแต่ละคนดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ เป็นค่าตอบแทนการถือหุ้นของสมาชิกที่ช่วยให้สหกรณ์มีทุนดำเนินงานภายในของตนเอง และอีกส่วนหนึ่งจัดสรรเป็นทุนสะสมต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมให้แก่สมาชิก และสังคมภายนอก เจตนารมณ์การจัดสรรกำไรในสหกรณ์จึงไม่ใช่เพื่อความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น แต่เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ตามอุดมการณ์สหกรณ์ที่เชื่อว่า การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...