วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2566

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ (Central Financial Organization: CFO) ตอนที่ 2: องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ บทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์

ความเดิมตอนที่ 1: การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินของขบวนการสหกรณ์ (สหกรณ์ที่มีเงินเหลือและสหกรณ์ที่ขาดเงินทุน) โดยการให้เงินกู้ยืม-การกู้ยืม การฝาก-การรับฝาก และการถือหุ้นในชุมนุมสหกรณ์ ซึ่งการเชื่อมโยงทางการเงินดังกล่าวทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากภายนอกระบบสหกรณ์ แต่ในบางกรณียังขาดการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอ จนไม่สามารถถอนเงินฝากกันได้ ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ตามกำหนด หรือมูลค่าหุ้นของชุมนุมฯ ด้อยค่าลง ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ทั้งสองฝ่าย 

การนำเสนอในตอนที่ 2: องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ บทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ เป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ บทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ และความเป็นไปได้ที่องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ จะช่วยหนุนเสริมให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ มีความเสี่ยงลดลง และมีความเข้มแข็งมากขึ้นและสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ 

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ (Central Financial Organization: CFO) คืออะไร

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ คือ องค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ มีอำนาจกระทำการในการรับฝากเงินจากสหกรณ์สมาชิก ให้เงินกู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิก ออกหุ้นให้สหกรณ์สมาชิกถือ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ออกตราสารการเงิน และอื่น ๆ ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ในประเทศไทยมีดังนี้ 

แนวคิดเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์

1) ชุมนุมสหกรณ์ (Cooperative Federations)

กฎหมายกำหนดให้มีชุมนุมสหกรณ์ครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ พุทธศักราช 2471 โดยมาตรา 10 (2) กำหนดว่า ถ้าเป็นสมาคมซึ่งเป็นชุมนุมสหกรณ์ ต้องมีผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนสหกรณ์นั้น ๆ ลงนามแทนทุกสหกรณ์...สมาคมซึ่งมีสหกรณ์เป็นสมาชิกนั้นให้จดทะเบียนได้แต่จำกัดสินใช้เท่านั้น... 

ต่อมาพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 กำหนดให้สหกรณ์ตั้งแต่สามสหกรณ์ขึ้นไป ที่ประสงค์จะร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ที่เข้าร่วมกันนั้น อาจรวมกันจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ได้ (มาตรา 72) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ให้ชุมนุมสหกรณ์กระทำการตามมาตรา 21 (รายละเอียดใน พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2511) ได้ และจะกระทำการออกหุ้นกู้เพื่อประโยชน์ของชุมนุมสหกรณ์ก็ได้ในการออกหุ้นกู้นี้ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันว่าด้วยหุ้นกู้มาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 80) 

ในปัจจุบันชุมนุมสหกรณ์จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยชุมนุมสหกรณ์สหกรณ์ตั้งแต่ห้าสหกรณ์ขึ้นไปที่ประสงค์จะร่วมกันดำเนินกิจการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ที่เข้าร่วมกันนั้น อาจรวมกันจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ได้ ชุมนุมสหกรณ์ใดจะมีฐานะเป็นชุมนุมสหกรณ์ระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ จะต้องตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยประโยชน์แก่บรรดาสหกรณ์ในภูมิภาคหรือทั่วประเทศที่เป็นสหกรณ์ประเภทเดียวกัน หรือต่างประเภทกัน เพื่อประกอบธุรกิจของสหกรณ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด (มาตรา 101) และให้ชุมนุมสหกรณ์มีอำนาจกระทำการได้ตามมาตรา 46 (รายละเอียดใน พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (มาตรา 105) ตลอดจนให้ชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศมีอำนาจร่วมกับสหกรณ์สมาชิกของตน จัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ของสมาชิกสหกรณ์และครอบครัวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด (มาตรา 105/1) 

ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 มีชุมนุมสหกรณ์ทั้งสิ้นจำนวน 135 แห่ง จำแนกเป็นชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจำนวน 110 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ประมงจำนวน 2 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์นิคมจำนวน 1 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 11 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ร้านค้าจำนวน 2 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์บริการจำนวน 5 แห่ง และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำนวน 4 แห่ง ทั้งนี้เป็นชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังไม่เริ่มดำเนินการจำนวน 1 แห่ง และเป็นชุมนุมสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชีจำนวน 33 แห่ง จำแนกเป็น ชุมนุมสหกรร์การเกษตรจำนวน 30 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ร้านค้าจำนวน 1 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์บริการจำนวน 1 แห่ง และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำนวน 1 แห่ง (กรมส่งเสริมสหกรณ์, ออนไลน์) 

2) ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ (Bank for Cooperative)

รัฐบาลได้ตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2490 โดยธนาคารเพื่อการสหกรณ์ให้บริการทางการเงินแก่สหกรณ์ทั่วไปเพื่อนำเงินทุนไปให้สมาชิกสหกรณ์กู้อีกต่อหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 รัฐบาลได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยได้รับโอนกิจการจากธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2509 - 2519 ธ.ก.ส. กำหนดบทบาทไปสู่ธนาคารพัฒนาชนบท มุ่งลดบทบาทเงินกู้นอกระบบ ให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่อเพื่อการผลิต (ศิริลักษณ์ นามวงศ์ และประเสริฐ จรรยาสุภาพ, 161-164) 

3) ธนาคารสหกรณ์ (Cooperative Bank)

ในปี พ.ศ. 2494 และ พ.ศ. 2496 มีการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์ในจังหวัด 2 จังหวัด คือ ธนาคารสหกรณ์เชียงใหม่ ฯ และ ธนาคารสหกรณ์อุตรดิตถ์ ฯ โดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ซึ่งมีธนาคารเพื่อการสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางให้แก่ธนาคารสหกรณ์จังหวัดทั้งสอง ธนาคารสหกรณ์จังหวัด มีลักษณะเป็นชุมนุมสหกรณ์ชนิดผสม มีสมาชิกประกอบด้วยสหกรณ์ท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่สหกรณ์หาทุนชนิดไม่จำกัดสินใช้และสหกรณ์ประเภทอื่น เช่น สหกรณ์ขายข้าว ร้านสหกรณ์รวมทั้งบุคคลธรรมดาเข้าเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งผลการดำเนินงานของธนาคารสหกรณ์ทั้งสองธนาคารได้ผลเป็นที่พอใจ เป็นธนาคารของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน เป็นลักษณะธนาคารสหกรณ์อย่างแท้จริง 

กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ กระทรวงสหกรณ์ในสมัยนั้น มีนโยบายขยายธนาคารสหกรณ์ไปในทุกจังหวัด แต่ระบบสถาบันการเงินของสหกรณ์ซึ่งกำลังจะขยายตัวต้องหยุดดำเนินธุรกิจลง จากผลของพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งมีบทบัญญัติว่า "ธนาคารพาณิชย์จะตั้งขึ้นได้ก็แต่ในรูปบริษัทจำกัด" (ปัจจุบัน พ.ร.บ. ธนาคาร พ.ศ. 2505 ถูกยกเลิกไปโดย มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551) มีผลให้ธนาคารสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง ต้องเปลี่ยนประเภทเป็นสหกรณ์ประเภทชุมนุมสหกรณ์การเกษตรตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2511 ส่งผลให้ชุมนุมสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง เปลี่ยนไปทำธุรกิจด้านการตลาด และธุรกิจบริการให้แก่สหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอ (กรมส่งเสริมสหกรณ์, 2559: 77) 

นโยบายของรัฐเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์

วาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี การสหกรณ์ไทย (พ.ศ. 2559) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์และแนวทางในการดำเนินงานตามข้อเสนอสาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบการผลิตการตลาดและการเงินสหกรณ์ กลยุทธ์ที่ 3.3 เชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินของสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์, 2559: 4-5) 

ในปี พ.ศ. 2558 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำโครงการ ประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์โดยเครือข่ายทางการเงินในระบบสหกรณ์เป็นแนวคิดสำคัญในการสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ มีการนำเสนอรูปแบบเครือข่ายทางการเงินในระบบสหกรณ์ 4 รูปแบบ ได้แก่

1) กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมกิจการและคุ้มครองเงินฝากของสหกรณ์สมาชิกสมาชิก คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์มีแหล่งเงินทุนมาจากเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์ทุนสำรอง (ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (ร้อยละ 1 ของเงินรับฝาก) ทั้งนี้สหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโรด้วย 

2) สถาบันระดับยอด (APEX): เครือข่ายการเงินระหว่างสหกรณ์ประเภทเดียวกัน เพื่อส่งเสริมกิจการ คุ้มครองเงินฝาก และให้ชุมนุมสหกรณ์ ที่ได้รับการยกระดับเป็น APEX จัดสรรเงินเป็นทุนเสริมสภาพคล่องของสหกรณ์สมาชิกได้ คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์มีแหล่งเงินทุนมาจากเงิน กพส. เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์ทุนสำรอง (ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (ร้อยละ 1 ของเงินรับฝาก) ทั้งนี้สหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร และได้รับการประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จากกรมส่งเสริมสหกรณ์หรือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ไม่ต่ำกว่าระดับหนี้ด้อยคุณภาพ (Sub Prime) 

3) ศูนย์กลางการเงินสหกรณ์ (CFF) เพื่อส่งเสริมกิจการ คุ้มครองเงินฝาก จัดสรรเงินเป็นทุนเสริมสภาพคล่องของสหกรณ์สมาชิก และนำเงินกองทุนไปฝากหรือลงทุนได้ตามที่คณะกรรมการกำหนด คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์มีแหล่งเงินทุนมาจากเงิน กพส. เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์ทุนสำรอง (ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (ร้อยละ 1 ของเงินรับฝาก) ทั้งนี้สหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร และได้รับการประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จากกรมส่งเสริมสหกรณ์หรือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ไม่ต่ำกว่าระดับหนี้ด้อยคุณภาพ (Sub Prime) 

4) ธนาคารสหกรณ์ (Cooperative Bank) โดยมีวิธีการจัดตั้ง 2 แนวทางได้แก่

4.1) สหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ ขอจัดตั้งและขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถาบันการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย แหล่งที่มาของเงินทุนมาจากเงินของสหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี

4.2) สหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ เข้าเป็นสมาชิก Co-op Fund Window ใน ธ.ก.ส. โดย ธ.ก.ส. ประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของสหกรณ์สมาชิก และเป็นแหล่งเงินทุนให้สหกรณ์สมาชิก ต่อมารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังถ่ายโอนความเป็นเจ้าของของ ธ.ก.ส. สู่สหกรณ์ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูง โดยแหล่งเงินมาจากเงินของสหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี 

แนวคิดองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ ช่วยให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์เข้มแข็ง และสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ ได้อย่างไร 

1) มีหลักการและเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคง ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มข้น การบริหารจัดการความเสี่ยงจะมีความชัดเจนเนื่องเป็นกฎที่ต้องปฏิบัติ ช่วยให้บริหารจัดการความเสี่ยงมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยมีการบริหารจัดการความเสี่ยงหลัก 5 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operation Risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) และความเสี่ยงด้านการตลาด (Market Risk) 

2) สร้างความเชื่อมั่นให้แก่สหกรณ์สมาชิก และสมาชิกสหกรณ์ เนื่องจากมีหลักเกณฑ์การคุ้มครองเงินฝากที่ชัดเจนและเข้มข้นกว่าการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ ประกาศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 และกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ที่ออกตามความในมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

3) ลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพของการให้สินเชื่อ เนื่องจากสหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร และต้องได้รับการประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ตลอดจนองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ต้องพิจารณาการให้เงินกู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) 

4) การลงทุนของสหกรณ์สมาชิกจะมีความเสี่ยงลดลงและมีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์จะทำหน้าที่เป็นผู้ลงทุนแทนสหกรณ์สมาชิก มีการบริหารจัดการโดยมืออาชีพ 

สรุป

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ไทยในปัจจุบันที่มีบทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ ได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์ต่าง ๆ ที่มีสถานะดำเนินงานทั้งสิ้นจำนวน 101 แห่ง มีสหกรณ์สมาชิกจำนวน 4,612 แห่ง (กรมส่งเสริมสหกรณ์, ออนไลน์) 

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้จัดทำสารสนเทศทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ปี 2565 พบว่าชุมนุมสหกรณ์ทั้งหมด มีทุนดำเนินงานรวมกันทั้งสิ้น 189,764.51 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้สินจำนวน 149,040.58 ล้านบาท หรือร้อยละ 78.54 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น และทุนของสหกรณ์จำนวน 40,723.93 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.46 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 

สินทรัพย์ของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเงินให้กู้ยืม 79,258.09 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.77 ของสินทรัพย์ทั้งสิ้น โดยเป็นเงินให้กู้ยืมระยะยาวสุทธิ ร้อยละ 84.92 ของเงินให้กู้ยืมทั้งสิ้น สินทรัพย์รองลงมาเป็นเงินลงทุนของสหกรณ์ 78,175.28 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.19 ของสินทรัพย์ทั้งสิ้น โดยเป็นเงินลงทุนระยะยาว ร้อยละ 81.23 ของเงินลงทุนทั้งสิ้น แสดงว่าในภาพรวมชุมนุมสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการปล่อยเงินให้กู้ยืมซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์ 

หนี้สินของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝาก 125,701.04 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.24 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น หรือร้อยละ 84.34 ของหนี้สินทั้งสิ้น เป็นเงินรับฝากจากสมาชิก ร้อยละ 95.60 ของเงินรับฝากทั้งสิ้น หนี้สินรองลงมาเป็นเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารและเงินกู้ยืมระยะสั้น 20,899.12 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.01 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้นหรือร้อยละ 14.02 ของหนี้สินทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าการก่อหนี้ของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝากสมาชิกซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนภายใน ซึ่งช่วยลดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของชุมนุมสหกรณ์และลดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระจากการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้อื่น 

ทุนของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นทุนเรือนหุ้น 37,926.33 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.99 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น หรือร้อยละ 93.13 ของทุนของชุมนุมสหกรณ์ รองลงมาเป็นทุนสำรองจำนวนเงิน 3,817.55 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.01 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น ส่วนที่เหลือเป็นกำไร (ขาดทุน) สุทธิประจำปี ทุนสะสมตามข้อบังคับ ระเบียบและอื่น ๆ ส่วนเกินจากการตีราคาสินทรัพย์ กำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น และขาดทุนสะสม ตามลำดับ 

รายได้ชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่มาจากรายได้ธุรกิจหลัก ร้อยละ 97.16 รองลงมาเป็นรายได้อื่น ร้อยละ 2.14 และรายได้เฉพาะธุรกิจ ร้อยละ 0.70 ของรายได้ทั้งสิ้น ส่วนค่าใช้จ่ายของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนธุรกิจหลัก ร้อยละ 77.53 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 5.02 และค่าใช้จ่ายเฉพาะธุรกิจ 3.18 ของรายได้ทั้งสิ้น สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง จึงส่งผลให้ชุมนุมสหกรณ์มีกำไรเพียง ร้อยละ 14.27 ของรายได้ทั้งสิ้นการดำเนินงานของชุมนุมสหกรณ์มีกำไรสุทธิ จำนวน 61 แห่ง หรือร้อยละ 61.00 ของจำนวนชุมนุมสหกรณ์ที่รวบรวมข้อมูลได้ทั้งสิ้น มีชุมนุมสหกรณ์ จำนวน 39 แห่ง หรือร้อยละ 39.00 ของจำนวนสหกรณ์รวบรวมข้อมูลได้ทั้งสิ้นที่ประสบผลขาดทุนสุทธิ (กรมตรวจบัญชีสหกรณ์: 2566, 116-126) 

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่าชุมนุมสหกรณ์ทั้งหมดที่มีสถานะดำเนินงาน ต่างก็ได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ และการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการของแต่ละชุมนุมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่บริหารงานมีประสิทธิภาพช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเงินและด้านอื่น ๆ ให้แก่บรรดาสหกรณ์สมาชิก แต่ก็ยังมีชุมนุมสหกรณ์บางส่วนที่ยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารงาน เช่น บางแห่งมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิประจำปี บางแห่งมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมจนทุนของชุมนุมสหกรณ์ติดลบ และมีชุมนุมสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชีจำนวน 33 แห่ง เป็นต้น

 

ฉะนั้น เพื่อให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ และความเป็นไปได้ที่องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ จะช่วยหนุนเสริมให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ มีความเสี่ยงลดลง และมีความเข้มแข็งมากขึ้นและสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ จะต้องขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อยกระดับความเข้มแข็งขององค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการพิจารณารูปแบบองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์แบบอื่น ๆ ที่หนุนเสริมต่อการสร้างความเข้มแข็งและสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ เพื่อให้ขบวนการสหกรณ์ในประเทศไทยมีความมั่นคงปลอดภัยในการเชื่อมโยงธุรกิจทางการเงิน สร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ตลอดจนเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และสังคมมีความเชื่อมั่นในระบบการเงินของสหกรณ์ไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...