วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรในระบบสหกรณ์

ปัญหาสำคัญของเกษตรกรไทย

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรา นี่แสนอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองราบคาบ ด้วยอานุภาพพ่อขุน รามคำแหงค้ำจุน ให้ชาติไทยไพศาล สร้างทำนาไร่ ทั่วแคว้นแดนไทย เราไถเราหว่าน หมากม่วงหมากขาม หมากพร้าวหมากลาง พืชผลต่าง ๆ ล้วนงามตระการ” (หลวงวิจิตรวาทการ, 2497) 

สมัยเด็ก ๆ ได้ยินเพลงนี้บ่อย ๆ จนร้องตามได้ พอโตเป็นหนุ่มก็ไม่ค่อยได้ยินเพลงนี้แล้ว แต่ได้ยินมีคนประชดว่า “ในน้ำมียา ในนามีหนี้” แทน 

ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นการพัฒนาแบบทุนนิยม แบบที่ถ่ายโอนทรัพย์ออกจากชุมชนหมู่บ้าน เพื่อเลี้ยงดูเมืองและเพื่อส่งออกต่างประเทศ ไม่ใช่การพัฒนาทุนนิยมแบบที่เพิ่มประสิทธิผลในกิจการอุตสาหกรรมแบบที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุโรป การพัฒนาของทุนนิยมในประเทศไทยจึงเป็นไปในลักษณะที่ผลประโยชน์หรือผลได้ของการพัฒนาตกเป็นของคนเพียงกลุ่มเดียว เมืองกับชนบท ชนชั้นนายทุนและข้าราชการกับชนชั้นชาวนา มีความแตกต่างกันมากด้านความเจริญ จนมีคำกล่าวที่ว่าที่แสดงถึงความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชนบทก็ถูกทำลายไปมาก (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2545: 115-116) 

พิสัณฑ์ โบว์สุวรรณ และคณะ (2565) สรุปว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตของเกษตรกรที่เปลี่ยนไปในทิศทางวัตถุนิยมตามกระแสสังคมที่อิงสังคม วัฒนธรรมชาติตะวันตกมาก นโยบายของภาครับที่ผิดพลาดในการสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ และการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรแบบนโยบายประชานิยมก่อให้เกิดหนี้สินที่สะสม 

ขณะที่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2565) สรุปว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้และยากจน ใด้แก่ เกษตรกรเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต เงินทุน ความรู้และทักษะด้านต่างๆ (lack of access) เช่น เกษตรกรยากจนเข้าไม่ถึงสินเชื่อ และไม่มีเงินออม เกษตรกรขาดศักยภาพ (lack of capacity) ด้านต่างๆ เช่น ขาดความสามารถด้านการเพาะปลูกด้านการจัดการความเสี่ยงภาคเกษตร ตลอดจนเกษตรกรขาดความพยายาม (lack of effort) เช่น เกษตรกรอยากรวยแต่ไม่อยากทำงานหนัก โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ การดำเนินมาตรการหรือนโยบายของรัฐที่ช่วยเหลือนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีความหวังและความเชื่อที่ภาครัฐจะยื่นมือเข้าช่วยเสมอ 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2562) รายงานหนี้สินของครัวเรือนเกษตร ปี 2562 ว่า ครัวเรือนที่มีรายได้หลักจากการทำเกษตร ในปี 2562 จำนวน 2,857,625 ครัวเรือน หนี้สินของครัวเรือนเกษตรที่เป็นหนี้ พ.ศ. 2554 – 2562 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ปี 2554 จำนวน 140,404 บาท/ครัวเรือน ปี 2556 จำนวน 168,119 บาท/ครัวเรือน ปี 2558 จำนวน 200,689 บาท/ครัวเรือน ปี 2560 จำนวน 239,034 บาท/ครัวเรือน และ ปี 2562 จำนวน 253,295 บาท/ครัวเรือน 

เดชรัต สุขกำเนิด (2565) สรุปว่า รายได้ของเกษตรกรไทยลดลงร้อยละ 27 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 หรือเพิ่มขึ้นจาก 221,490 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 269,159 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2564 ในจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีเกษตรกรลูกหนี้ถึงร้อยละ 41 ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำ และยังมีเกษตรกรลูกหนี้ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) อีกเกือบ 1.4 ล้านราย และในจำนวนลูกหนี้สูงอายุดังกล่าว มีเกือบ 180,000 ราย ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หรือ NPL) 

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2565) วิเคราะห์ว่า ร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรไทยมีหนี้สิน และมีหนี้ปริมาณมากเฉลี่ยถึง 450,000 บาทต่อครัวเรือน อันดับหนี้คงค้างต่อครัวเรือนแยกตามวัตถุประสงค์ในการกู้ พบว่าร้อยละ 30 ของครัวเรือนมีหนี้คงค้างเกิน 500,000 บาท และครัวเรือนใช้หนี้สินในหลายวัตถุประสงค์ รวมถึงการกู้เพื่อชำระหนี้อื่น แสดงให้เห็นว่าการก่อหนี้สินเป็นเครื่องมือจัดการทางการเงินอย่างรอบด้านของครัวเรือนจริง ๆ 

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2566) ได้รายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร ระหว่าง ปี 2561 – 2565 พบว่าในปี 2565 ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสด จำนวน 420,198 บาท มาจาก รายได้เงินสดทางการเกษตร จำนวน 206,310 บาท/ครัวเรือน และรายได้เงินสดนอกภาคการเกษตร จำนวน 213,888 บาท/ครัวเรือน มีรายจ่ายเงินสด จำนวน 306,608 บาท โดยมีรายจ่ายเงินสดทางการเกษตร จำนวน 126,039 บาท/ครัวเรือน และรายจ่ายเงินสดนอกภาคการเกษตร จำนวน 180,569 บาท โดยรายจ่ายเงินสดนอกภาคการเกษตรจำแนกเป็น เพื่อการการบริโภค จำนวน 65,996 บาท และเพื่อการการอุปโภค และอื่น ๆ จำนวน 114,572 บาท รายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตร จำนวน 80,271 บาท รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือน จำนวน 294,159 บาท เงินสดคงเหลือก่อนชำระระหนี้ จำนวน 113,590 บาท อายุเฉลี่ยหัวหน้าครัวเรือน 59.44 ปี ขนาดครัวเรือน 3.68 คน/ครัวเรือน ขนาดแรงงาน อายุ 15-64 ปี 2.48 คน/ครัวเรือน ขนาดเนื้อที่ถือครอง จำนวน 24.92 ไร่/ครัวเรือน 

สาเหตุของปัญหาหนี้สินภาคการเกษตรที่กล่าวมาส่งผลให้ ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้น้อย รายได้ไม่แน่นอนสูง และมีปัญหาสภาพคล่อง โดยร้อยละ 27 ของครัวเรือนมีรายได้รวมทั้งปีไม่พอรายจ่ายจำเป็น ร้อยละ 42 มีรายได้เหลือจากการใช้จ่ายจำเป็นไม่พอชำระหนี้ และไม่พอลงทุนในการทำเกษตรรอบต่อไป รายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจบริหารจัดการได้ยาก (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2565) การที่หนี้สินของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อการจำกัดอำนาจซื้อของครัวเรือน การจำกัดทางเลือกในการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างการผลิตของเกษตรกร การส่งต่อหนี้สินไปยังคนรุ่นลูกหลาน และการขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้กว้างขึ้นอีกในระยะยาว (เดชรัต สุขกำเนิด, 2565) 

การส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรคืออะไร มีเป้าหมายอย่างไร

จากการศึกษาพบว่ามีผู้ให้นิยามความหมายของคำว่า “การส่งเสริมการเกษตร หรือการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร” ไว้จำนวนมาก แต่ที่ผมเห็นว่าครอบคลุมและทันสมัยคือการนิยามของ พัฒนา สุขประเสริฐ (2557) ซึ่งอธิบายว่า การส่งเสริมการเกษตรเป็นการบูรณาการความรู้เพื่อให้เกษตรกรได้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสะอาดได้อย่างมั่นใจ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว ร่วมกับการพัฒนาให้ชุมชนและสังคมได้มีอาหารที่ปลอดภัยอย่างมั่นคง และมีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเพียงพอ จากการได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมั่นใจ 

นิยามความหมายดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาการเกษตรตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (หลัก) ประเด็น: 1 การเกษตรสร้างมูลค่า เน้นเกษตรคุณภาพสูงและขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างฐานอนาคตใหม่ที่สร้างรายได้สูง ทั้งเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัยเกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูปและเกษตรอัจฉริยะเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 

สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น ประเด็นการเกษตร (หลัก) ที่มีแนวทางการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเครือข่าย ความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ รวมถึงเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ตลอดจนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดทิศทางว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยกำหนดหมุดหมายการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 

หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

กลยุทธ์ที่ 11 การยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

กลยุทธ์ย่อยที่ 11.2 ยกระดับความเข้มแข็งและความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพิ่มมูลค่าของสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสนับสนุนบทบาทภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาทั้งระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาในพื้นที่ ในการเป็นผู้ให้บริการ ผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และที่ปรึกษาทางธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยีกับการปรับเปลี่ยนและต่อยอดธุรกิจการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ที่ 12 การพัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยงภาคีต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกร และนักวิชาการในพื้นที่ ในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในการพัฒนาภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน 

กลยุทธ์ย่อยที่ 12.1 สนับสนุนบทบาทองค์กรหรือสภาเกษตรกรในกลไกความร่วมมือภาครัฐภาคเอกชน และภาควิชาการในแต่ละจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงการผลิตของเกษตรกรและการดำเนินธุรกิจการเกษตรของสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ความต้องการของภาคเอกชนในระดับจังหวัดการดำเนินภารกิจของส่วนราชการระดับจังหวัด และความเชี่ยวชาญของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการแบ่งปันข้อมูล องค์ความรู้ ทักษะ และผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเหมาะสมกับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ 

กลยุทธ์ย่อยที่ 12.2 ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรในรูปแบบธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด โดยมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม 

สถาบันเกษตรกรอย่างสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรมีบทบาทในการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรอย่างไร

สหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์สหกรณ์ (มาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งมีอำนาจกระทำการดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้า การบริการ และอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ของสมาชิก ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก รับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากสมาชิก ให้กู้ ให้สินเชื่อ ให้ยืม ให้เช่า ให้เช่าซื้อ โอน รับจำนองหรือรับจำนำ ซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือของสมาชิก (มาตรา 46 (1) (3) (5) (6) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ตลอดจนมีวัตถุประสงค์เพื่อการขายหรือแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่สมาชิกผลิตขึ้น (มาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

จากวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการดังกล่าวสหกรณ์ภาคการเกษตรจึงสามารถดำเนินธุรกิจต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสมาชิก ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจให้เงินกู้ยืม ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ธุรกิจแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร 

การดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ดังกล่าวของสหกรณ์ถือว่าเป็นการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเกษตรกรร่วมกันเป็นเจ้าของสหกรณ์ ดังนั้นจึงสามารถกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจของตนเองได้โดยอิสระ ขจัดข้อจำกัดเรื่องการขูดรีดกำไรส่วนเกิน และการครอบงำต่าง ๆ จากภายนอกสหกรณ์ได้ดีที่สุด เกิดระบบการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรระหว่างสมาชิกกับสหกรณ์ได้อย่างแท้จริงโดยสหกรณ์ต้องกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรของสมาชิกอย่างครบวงจรในทุกขั้นตอนของกิจกรรมการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมการผลิต การจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การผลิต การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการจำหน่ายผลผลิต 

การเชื่อมโยงธุรกิจสหกรณ์กับกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรของสมาชิกดังกล่าวจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากสหกรณ์ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การผลิตทางการเกษตรของสมาชิก ซึ่งเริมต้นตั้งแต่กิจกรรมต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีแนวทางดังนี้ 

กิจกรรมต้นทาง

สหกรณ์ช่วยสมาชิกวางแผนการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์แนวโน้มราคาผลผลิตทางการเกษตร ความต้องการผลผลิตทางการเกษตรของตลาด การจัดหาทุนให้แก่สมาชิก การบริหารจัดการพื้นที่การผลิต (Zoning) การสำรวจความต้องการปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร (Motor Pool) การจัดตั้งกลุ่มการผลิตของสมาชิก ช่วยสนับสนุนการผลิตของสมาชิกโดยการจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมาจำหน่ายแก่สมาชิก การให้เงินกู้ยืมเพื่อการผลิตแก่สมาชิก การจัดหาระบบประกันภัยทางการเกษตร การตรวจเยี่ยมแปลง การให้การศึกษาอบรมทางการผลิตทางการเกษตรแก่สมาชิก ตลอดจนการให้บริการและการส่งเสริมทางการเกษตรต่าง ๆ เพื่อการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแก่สมาชิก 

กิจกรรมกลางทาง

สหกรณ์ดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจากสมาชิกและเกษตรกรในชุมชน เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านกลไกราคาผลผลิตทางการเกษตรในตลาด และเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกและชุมชน เช่น กิจกรรมการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร การปรับปรุงสภาพ การลดความชื้น การจัดเก็บ การขนส่ง และการแปรรูปเป็นวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายตามความต้องการของสมาชิก ชุมชน และตลาดภายนอก 

กิจกรรมปลายทาง

สหกรณ์บริหารจัดการด้านการตลาด เช่น การสร้างเครือข่ายตลาดสินค้าผลผลิตทางการเกษตรเพื่อส่งต่อผลผลิตทางการเกษตรสู่ตลาด การผลิตสินค้าและบริการตามความต้องการของตลาดในระดับต่าง ๆ มีการบริหารจัดการด้านราคาสินค้าเกษตร เช่น ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า การสร้างความยุติธรรมด้านรายได้ในการส่งต่อมูลค่าเพิ่มในแต่ละห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์และคุณค่าให้แก่สินค้าสหกรณ์ 

ส่งท้าย

ผมว่าประเทศไทยมีลักษณะของการพัฒนาเศรฐกิจ 2 รูปแบบควบคู่กันไป ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพใหญ่โดยการพึ่งพาการส่งออก การลงทุนเพื่อการผลิตทางอุตสาหกรรม และภาคบริการ ขณะเดียวกันก็มีการเชื่อมโยงมายังเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชนซึ่งพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นหลัก แม้ในช่วงยุคแรก ๆ มีการตั้งสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนด้วยการขูดรีดแรงงานส่วนเกินและให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยสูง แต่ปัจจุบันสหกรณ์มีการปรับตัวเปลี่ยนบทบาทของตัวเองให้มีบทบาทในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจส่วนบนมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับบทบาทของสหกรณ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นหากสหกรณ์ภาคการเกษตรให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรของสมาชิกอย่างจริงจังตามหลักการสหกรณ์และหลักประสิทธิภาพ คงไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก แต่จะช่วยหนุนเสริมให้เศรษฐกิจระดับฐานรากเข้มแข็ง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติให้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...