วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

การวิจัยเชิงปฏิบัติการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน

 การวิจัยเชิงปฏิบัติการ

 

การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เป็นกระบวนการตรวจสอบ ค้นหาความจริง อย่างมีส่วนร่วม อย่างเป็นระบบ และอย่างระมัดระวัง โดยใช้ระเบียบวิธีทางการวิจัย หลักสำคัญของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ คือ การใช้ความคิดริเริ่มของสมาชิกองค์การที่เอาการเอางานเพื่อจูงใจให้ทีมนักวิจัยได้วิจัยแนวคิดใหม่ๆ และทักษะการแก้ปัญหา โดยมีพื้นฐานอยู่ที่การปฏิบัติงานร่วมกันและพยายามทำให้กระบวนการวิจัยมีผลในทางปฏิบัติ (วิทยากร เชียงกูล, 2550: 7)

 

การวิจัยปฏิบัติการ (action research) หมายถึงกระบวนการที่ผู้ประกอบวิชาชีพดำเนินการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติงานของตน เพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงานของตนให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดีมากขึ้นกว่าเดิม คำว่า การวิจัยนี้ หมายถึงวิธีการศึกษาที่มีระเบียบวิธีการเฉพาะ ประกอบด้วย การกำหนดปัญหาในการปฏิบัติงาน การแสวงหาลู่ทางการแก้ปัญหา การใช้วิธีการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา การบันทึกรายละเอียดผลการปฏิบัติการ การสรุปและการเสนอผลการแก้ปัญหา ในขั้นตอนของการดำเนินการวิจัยนี้นักวิจัยต้องมีการปฏิบัติการใช้วิธีการต่าง ๆ ที่คาดว่าจะแก้ปัญหาได้ และเมื่อพบว่าวิธีการนั้น ๆ แก้ปัญหาได้จริง ก็ต้องมีการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานเดิมตามวิธีการใหม่ อันจะส่งผลให้การดำเนินงานมีคุณภาพ และประสิทธิภาพดีมากยิ่งขึ้น การวิจัยปฏิบัติการจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาคุณภาพงาน และผู้ปฏิบัติต้องทำการวิจัยปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเพื่อพัฒนางานของตน (นงลักษณ์  วิรัชชัย, ออนไลน์, 2548)

 

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน

 

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ และบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมนุษย์ ซึ่งได้แก่บริบททางด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์มีศักยภาพในการดำเนินวิถีชีวิตไปตามสภาพแวดล้อมและสังคมอย่างเหมาะสม โดยใช้วิธีการต่างๆที่เหมาะสมกับความเชื่อ ทัศนคติ วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ใน ภูมิ-สังคมต่างๆ เช่น การเรียนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา การฝึกอบรม การทดลองเป็นต้น ที่ผ่านมามนุษย์ได้ใช้วิธีการต่างๆเพื่อการพัฒนาตนเองและผู้คนในสังคม ซึ่งรวมถึงสังคมโลกด้วย แต่การพัฒนาที่ผ่านมาผู้คนได้ยึดแนวทางการพัฒนาที่เป็นกระแสหลักมากเกินไป โดยทำตามๆกันไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้แนวคิดการพัฒนาที่ไม่ใช่กระแสหลักถูกเบียดขับ กลายเป็นแนวทางชายขอบ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ และไม่ให้คุณค่า ทำให้แนวทางการพัฒนาชายขอบขาดการพัฒนาต่อยอดและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตกับผู้คนในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้คนในสังคมได้รับการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมด้านการให้คุณค่าของผู้คนในสังคม เช่น องค์ความรู้ท้องท้องถิ่นต่างๆ ที่แม้จะมีประโยชน์ มีคุณค่า แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งผู้คนในสังคมและผู้คนในท้องถิ่นเอง ขณะที่เครื่องมือการพัฒนาในแนวทางหลักยังไม่สามารถตอบสนองต่อผู้คนได้อย่างทั่วถึงครอบคลุม เกิดภาวะที่เรียกว่าชุมชนอ่อนแอ ชุมชนล่มสลาย เพราะสมาชิกในชุมชนที่เข้าไม่ถึงเครื่องมือการพัฒนากระแสหลักได้ละทิ้งแนวทางพื้นฐานของตนเอง เพื่อแสดงหาการพัฒนากระแสหลักที่ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับ

            การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนจึงควรเป็นการพัฒนาที่สมดุล ให้คุณค่ากับแนวทางการพัฒนาทุกรูปแบบที่มีประโยชน์ โดยยึดความต้องการของหน่วยย่อยต่างๆในสังคมเป็นพื้นฐาน แนวทางหลักในการพัฒนาสังคมโดยรวมต้องบูรณาการความหลากหลายต่างๆมีอยู่ ให้สามารถตอบสนองมนุษย์และชุมชนที่หลากหลายในสังคมได้อย่างเท่าเทียม ผู้มีหน้าที่บริหารสังคมต้องกล้าชี้ให้เห็นว่าแนวทางใดที่เป็นการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม และต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เลือกใช้แนวทางการพัฒนาที่เชื่อว่าจะสามารถตอบสนองต่อผู้คนทุกๆคน ทุกๆกลุ่มในสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ยึดถือแนวทางการพัฒนากระแสหลักแต่เพียงอย่างเดียว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แผนภาพที่ 1. แสดงกรอบแนวคิดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน

Text Box: การมีส่วนร่วมทางการเมืองText Box: นโยบายของรัฐText Box: กำหนดText Box: กำหนด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ปรับจากทฤษฎีวัตถุนิยมแบบประวัติศาสตร์ ของ คาร์ล มาร์ก (Karl Mark, 1818-1883) (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2546: 153)

 

การวิจัยเชิงปฏิบัติการกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน

 

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนมีความเป็นพลวัตร วิถีชีวิตและความคิดของผู้คนมีการเปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการเรื่อยมา โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่กระแสโลกาภิวัตน์ และเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสับสน ไร้ระเบียบ ส่งผลให้ผู้คนที่ขาดภูมิคุ้มกันตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผู้ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองตามกระแสของสังคมได้ก็จะกลายเป็นคนชายขอบของการพัฒนาในสายตาของผู้ที่สามารถก้าวทันกระแสโลกาภิวัตน์ กระบวนการกลายเป็นชายของของผู้คนที่ไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียความมั่นใจในหลักยึดของตนเอง อันได้แก่ค่านิยมและวัฒนธรรมชุมชนที่ยึดถือปฏิบัติกันมา เช่น วิถีชีวิติความเป็นอยู่แบบพอเพียงในอดีตถูกมองว่าล้าหลังไม่สามารถแข่งขันได้ หากไม่สามารถเรียนรู้และรับเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่วิถีการผลิตแบบดั้งเดิม

การแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมที่ผ่านมา นโยบายและมาตรการส่วนนใหญ่มักถูกกำหนดมาจากโครงสร้างส่วนบน อันได้แก่รัฐบาล และกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจในการบริหารประเทศและระดับท้องถิ่น แนวทางการพัฒนาดังกล่าวมักถูกวิพากษ์จากนักพัฒนากระแสทางเลือกว่า เป็นการพัฒนาที่เป็นแนวดิ่งจากบนลงล่าง ชาวบ้าน ชุมชน เป็นแค่ผู้รับการพัฒนา แต่ไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาชีวิตและชุมชนของตนเอง การพัฒนาที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนจึงไม่ระสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะในด้านความเท่าเทียมของผู้คน ยิ่งพัฒนาความเหลื่อมล้ำแตกต่างของผู้คนก็ยิ่งมีมากขึ้น จนมีผู้เสนอแนวคิดในการพัฒนาใหม่ ซึ่งเน้นการพัฒนาโดยเอาคนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเป็นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของผู้คนในภาคส่วนต่างๆที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนา

การวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นวิธีการศึกษาเพื่อวางแผนการพัฒนาวิธีหนึ่งที่มีแนวทางที่ชัดเจนและตอบสนองต่อข้อเสนอเรื่องการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม โดยเฉพาะการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) ที่เน้นการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่าง ชุมชน นักพัฒนา ตลอดจนนักวิจัย เพื่อวางแผน พัฒนา แก้ปัญหา โดยชุมชนเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของหมู่คณะ คือระหว่างชาวบ้านกับผู้วิจัย โดยจะเริ่มตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมประเมินผลและร่วมรับผลที่เกิดจากการดำเนินงานและสรุปบทเรียนตลอดจน ร่วมหาวิธีแก้ไขปัญหา และร่วมพัฒนาต่อไป โดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม จะเน้นการยอมรับ หรือความเห็นพ้องจากชาวบ้านเป็นสำคัญ

จุดเด่นของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยเฉพาะการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม อันได้แก่ การ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมประเมินผล ร่วมรับผลที่เกิดจากการดำเนินงาน การสรุปบทเรียน ตลอดจนร่วมหาวิธีแก้ไขปัญหา และร่วมพัฒนา จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่น่าจะสามารถช่วยให้ผู้คนที่ถูกผลักดันให้หลายเป็นชายขอบสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนของตนเองได้ ซึ่งภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะเป็นดั่งเครื่องป้องกันคลื่นแห่งกระแสโลกาภิวัตน์ ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานตามบริบทของตนเองอย่างเหมาะสมได้อย่างยั่งยืนต่อไป 

เอกสารอ้างอิง 

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา.  2546.  ลัทธิเศรษฐกิจการเมืองกรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นงลักษณ์  วิรัชชัย.  2548.  การสังเคราะห์งานวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (ออนไลน์).  www.ksp.or.th/upload/301/files/280-9056.doc, 17 มิถุนายน 2552.

วิทยากร เชียงกูล.  2550.  อธิบายศัพท์สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์สายธาร.

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว

“ ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ มีมติจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีเป็นเงินปันผลตามหุ้นอัตราร้อยละ 5 ” หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ร้อยละ 5 ต่อหุ้น หรือ ...