วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

การศึกษาตามอัธยาศัยในบริบทสังคมไทย

 

ในสังคมมนุษย์ยุคบุพกาลมนุษย์ซึ่งวิวัฒนาการมาจากมนุษย์วานรดำรงชีวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาธรรมชาติ ต่อมามนุษย์เหล่านั้นเรียนรู้ที่จะเอาชนะธรรมชาติ เช่น รู้จักวิธีการจุดไฟ การเปลี่ยนจากการล่าสัตว์ มาเป็นการเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้เป็นอาหาร การรู้จักทำการเพาะปลูกแทนการหาของป่า การสร้างที่อยู่อาศัยแทนการอาศัยอยู่ตามถ้ำ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชนเล็กๆ เพื่อช่วยเหลือกัน จากสังคมบุพกาลวิวัฒนาการมาเป็นสังคมยุคทาส สังคมศักดินา และสังคมทุนนิยมในยุคปัจจุบัน (บุญศักดิ์ แสงระวี, 2548) การเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดจนมีวิวัฒนาการมาจนถึงสังคมมนุษย์ในปัจจุบันนี้นับได้ว่าเป็นการศึกษาเพื่อชีวิตอย่างแท้จริง กระทั่งต่อมาการศึกษาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจ ผู้รู้คือผู้มีอำนาจ ผู้รู้มากกว่าย่อมมีอำนาจมากกว่า เช่น ในสมัยกำเนิดศาสนาคริสต์ (พ.ศ.543-576) ผู้ที่ไม่รู้หลักศาสนาจนทำผิดหลักคริสต์ศาสนาจะต้องโทษรุนแรงสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต (ยุพาวดี วงศ์เพ็ญ, 2549: 111) ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เกิดภัยคุกคามอันเนื่องมาจากการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตก เกิดผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา การที่ประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกมีอำนาจเหนือประเทศอื่นๆทั่วโลกก็เพราะการศึกษาที่พัฒนาด้านอาวุธที่ทันสมัยกว่า ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน

แต่เดิมสังคมไทยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมแบบชุมชนบุพกาล (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2545: 16) มีการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษาของไทยสมัยนั้นตอบสนองต่อการดำรงชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง ตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัยจนถึงสมัยรัตโกสินทร์ตอนต้น การศึกษาของคนไทยยังคงอาศัย บ้าน วัด วัง เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นการศึกษาที่ไม่มีแบบแผนตายตัว (Informal Education) (ยุพาวดี วงศ์เพ็ญ, 2549: 280) จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งประเทศไทยได้รับภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมดังที่กล่าวมา ผู้นำของไทยในสมัยนั้นจึงใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนของประเทศเพื่อให้รอดพ้นจากภัยดังกล่าว ซึ่งนับเป็นยุคที่การศึกษาของไทยเปลี่ยนแปลงจากการศึกษาที่ไม่มีแบบแผน ไปสู่รูปแบบการศึกษาที่มีแบบแผนตามอย่างตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากระบบความคิด ประเพณี วัฒนธรรมของสังคมไทยในยุคนั้นเป็นอย่างมาก และสังคมไทยในยุคต่อมาก็ได้ยึดแนวทางการศึกษาสมัยดังกล่าวพัฒนาระบบการศึกษาไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาการศึกษาแบบไม่มีแบบแผนถูกลดบทบาท และไม่ให้ความสำคัญ จนในที่สุดก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาครั้งสำคัญในสังคมไทย โดยมีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปี พ.ศ.2542 ขึ้นมา เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มีข้อความที่กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาและอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม[1] ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการศึกษาของไทยมีผลต่อการพัฒนาประเทศ คน และ ชุมชนโดยสังเขปดังนี้

ผลกระทบต่อคน ด้านบวก การศึกษาทำให้คนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้รับการศึกษา (ในทางกฎหมาย) ทำให้ทุกคนได้รับการพัฒนา อย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้คนมีศักยภาพสามารถประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ เกิดวิทยาการและอาชีพใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง และการศึกษาทำให้คนได้มีโอกาสเลื่อนฐานะทางสังคม ขณะที่ด้านลบ การศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาในระบบสามารถรับคนเข้าไปสู่ระบบการศึกษาได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถตอบสนองผู้คนได้ทั้งหมด ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ที่ได้รับการศึกษากับผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษา (การศึกษาในระบบและนอกระบบ) ทำให้เกิดวาทกรรม ผู้มีการศึกษา และผู้ไร้การศึกษาซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้คนในสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านอื่นๆตามมา

ผลกระทบต่อชุมชนและสังคม ด้านบวก การศึกษามีการจัดรูปแบบองค์กรที่รับผิดชอบอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาวิทยาการด้านการศึกษา มีกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิต ชุมชนมีส่วนร่วมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต มีการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยี วัฒนธรรมการเรียนรู้ นอกจากมีการสร้างความรู้ความเข้าใจแล้ว ส่วนด้านลบพบว่า จากการที่นโยบายด้านการศึกษามุ่งเน้นเพื่อสนองตอบภาคเศรษฐกิจ ความรู้เป็นการหยิบยืมมาจากต่างประเทศ ทำให้ชุมชนมีความอ่อนแอ เนื่องจากไม่ได้พัฒนาความรู้ที่เหมาะสมกับชุมชน เป็นความรู้ที่ต้อง พึ่งพิง จากภายนอกชุมชน ประกอบกับเมื่อคนในชุมชนจบจากการศึกษาในระบบก็จะเข้าทำงานในสถานประกอบการไม่ได้นำความรู้กลับมาพัฒนาชุมชนของตน เพราะชุมชนไม่มีงานที่ตรงกับการศึกษาของตน

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จึงถูกปรับปรุงให้การศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กลับมาให้ความสำคัญกับการศึกษาที่ไม่มีแบบแผนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ถูกละเลยมานานหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ให้ความหมายของการการศึกษาไว้ว่า  การศึกษาคือกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยในพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดรูปแบบการศึกษาของไทยไว้ 3 รูปแบบได้แก่ การศึกษาในระบบ (Formal Education) การศึกษานอกระบบ (Non-Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยรูปแบบการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบเป็นองค์ประกอบของการศึกษาตลอดชีวิต[2]เพื่อตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลตามความสามารถในการเรียนรู้ ตามเงื่อนไข ปัจจัยต่างๆที่ทั้งเอื้ออำนวยและจำกัด

           

สาเหตุที่ต้องมีการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย

 

กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน กรมการศึกษานอกโรงเรียน (2542) กล่าวว่า ที่มาของแนวความคิดเกี่ยวกับการศึกษาตามอัธยาศัยของไทย เกิดจากวิกฤตของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าทางระบบสารสนเทศ ส่งผลกระทบให้มีการปรับแนวทางการจัดการศึกษาที่ต้องการให้การศึกษากับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อให้บุคคลสามารถศึกษาจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ทั้งจากคน บ้าน สถานที่ทำงาน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสื่อประเภทต่างๆ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ชุมชน และสังคมโดยรวมอย่างเหมาะสม

การศึกษาตามอัธยาศัยในแนวคิดดังกล่าวต้องมีการบริหารจัดการอย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย เนื่องจากในความเป็นจริงมีปัจจัยต่างๆ มากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองของบุคคล ดังนี้

1) ความไม่เท่าเทียมกันทางด้านเศรษฐกิจ ผู้มีฐานะดีกว่าจะมีโอกาสในการแสวงหาความรู้และประสบการณ์ให้กับตนเองได้มากกว่าคนยากจน ทำให้บุคคลมีอำนาจในการบริโภคความรู้ต่างกัน การลงทุนเพื่อการศึกษา การแสวงหาความรู้ด้วยตนเองแตกต่างกัน

2) ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ชุมชนเมืองมีระบบการบริการ มีแหล่งความรู้ มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ และมีเทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนรู้มากกว่าสังคมในชนบทโดยสิ้นเชิง ทำให้สังคมเมืองมีโอกาสทางการศึกษาดีกว่าสังคมชนบท

3) ความแตกต่างกันในด้านทักษะความสามารถของบุคคล ประชาชนจำนวนมากยังมีระดับการศึกษาต่ำ ขาดทักษะการแสวงหาความรู้ และการเรียนรู้ด้วยตนเอง อยู่ในครอบครัวหรือชุมชนที่ด้อยการศึกษา ไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้ตามรูปแบบของการศึกษาตามอัธยาศัยที่เหมาะสม

 

ขณะที่รายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2547ในเป้าหมายที่ 3 ที่ระบุว่าให้เด็กทุกคนทั้งหญิงและชายสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาภายในปี 2558 นั้นพบว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน (พ.ศ.2547) ประเทศไทยใกล้จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในไม่ช้านี้ แต่รายงานดังกล่าวระบุว่าความท้าทายที่แท้จริงของระบบการศึกษาไทย คือ เด็กไทยมีจุดอ่อนทางวิชาการ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ รวมทั้งขาดการฝึกฝนให้คิดเชิงสร้างสรรค์และคิดในเชิงวิพากษ์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ทุกเพศ ทุกวัย ดังนั้นประเทศไทยควรปฏิรูปการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาครู โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการขยายโอกาสการเรียนรู้นอกชั้นเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างทักษะชีวิต (Office of the National Economic and Social Development Board and United Nations Country Team in Thailand, 2004: 3)

 

การศึกษาตามอัธยาศัย

 

การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) เป็นวาทกรรมใหม่ของการศึกษาเรียนรู้ในสังคมไทยที่เพิ่งจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อไม่นานมานี้ โดยปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งได้กำหนดรูปแบบการศึกษาของไทยไว้ 3 แบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ (Formal Education) การศึกษานอกระบบ (Non-Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) ต่อมาในปี พ.ศ.2551 ได้มีการออกกฎหมายที่มีชื่อว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการศึกษาตามอัธยาศัยโดยสังเขปดังนี้

มาตรา 6 การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้ยึดหลัก () การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและวิถีชีวิตของผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย () การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายทั้งส่วนที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่วนที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษาและ () การจัดกรอบหรือแนวทางการเรียนรู้ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อผู้เรียน

มาตรา 11 เพื่อประโยชน์ในการจัดและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้ 1) จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ เช่น แหล่งการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนชุมชนสื่อและเทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ 3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีเครือข่าย ได้รับโอกาสในการจัดสรรทรัพยากรและเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการดำเนินงาน

 

แนวคิด ที่มา ปรัชญาการศึกษา และความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัย

 

แนวคิดและที่มาของการศึกษาตามอัธยาศัย

การศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้จากการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เป็นการเรียนรู้ตามความสนใจของมนุษย์โดยแท้จริงไม่มีระบบหรือระเบียบตายตัว แต่ปรับเปลี่ยนไปตามความสนใจของแต่ละบุคล เพื่อการดำรงชีวิตของแต่ละบุคคล แต่เมื่อมนุษย์ได้พยายามจัดการศึกษาโดยแยกเอากระบวนการศึกษาออกจากวิถีชีวิตของมนุษย์ กลายเป็นกระบวนการเพื่อเตรียมมนุษย์ให้มีศักยภาพเพื่อตอบสนองการผลิตในสาขาต่างๆ ผ่านระบบการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ ผลของการจัดการศึกษาดังกล่าวทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้มีโอกาสทางการศึกษากับผู้ที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา จึงมีการเรียกร้องให้มีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์อีกครั้ง โดยหันมาฟื้นฟูและพัฒนาการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมให้มนุษย์สามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความเหมาะ ความต้องการของตนเอง (อุดม เชยกีวงศ์, 2551: 74)

สำหรับประเทศไทยการเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยได้ถูกผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยปรากฏใน บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ ปีพ.ศ.2550 ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

มาตรา 303 ในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

(2) กฎหมายเพื่อการพัฒนาการศึกษาของชาติตามมาตรา 80 โดยส่งเสริมการศึกษาในระบบการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ตลอดชีวิต วิทยาลัยชุมชนหรือรูปแบบอื่น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับระบบการศึกษาทุกระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 176

 

            ปรัชญาการศึกษาที่อยู่เบื้องหลังของการศึกษาตามอัธยาศัย

ปรัชญาการศึกษาคือ แนวความคิด หลักการ และกฎเกณฑ์ ในการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษา ซึ่งนักการศึกษาได้ยึดเป็นหลักในการดำเนินการทางการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ปรัชญาการศึกษายังพยายามทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาของการศึกษาได้อย่างชัดเจน ปรัชญาการศึกษาจึงเปรียบเหมือนเข็มทิศนำทางให้นักการศึกษาดำเนินการทางศึกษาอย่างเป็นระบบ ชัดเจน และสมเหตุสมผล (นิรนาม, 2551: 8) ปรัชญาการศึกษาตะวันตกที่สำคัญได้แก่ ลัทธิจิตนิยม นิรันตรนิยม (Perennialism) สารัตถนิยม (Essentialism) พิพัฒนาการนิยม (Progressivism) บูรณาการนิยมหรือปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) และอัตภาวะนิยม (Existentialism) ซึ่งปรัชญาที่น่าจะอยู่เบื้องหลังของการศึกษาตามอัธยาศัยคือ ปรัชญาอัตภาวะนิยม ซึ่งมีแนวคิดของปรัชญาโดยสังเขปดังนี้

 

อัตภาวะนิยม (Existentialism) เป็นปรัชญาการศึกษาที่เน้นให้ความเป็นตัวของตัวเองของผู้เรียนรู้จักเลือกและรับผิดชอบทางเลือกตัวเอง (responsible for his own fate) ผู้มีอิทธิพลในปรัชญาการศึกษานี้คือ เอ เอส นีล (A.S. Neil) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.. 1883 – .. 1973 นักปรัชญาที่บุกเบิกมีความสำคัญต่อปรัชญาการศึกษานี้คือ นีล 

 

หลักการสำคัญของอัตภาวะนิยม

1) การศึกษาจะต้องมุ่งให้เด็กมีวินัยในตนเอง (Self discipline)

2) ปรัชญาการศึกษานี้เน้นให้แต่ละคนพัฒนาศักยภาพของตน เพื่อความสำเร็จ (to develop is fullest potential for self fulfillment)

3) ครูของปรัชญาการศึกษานี้ ไม่เพียงแต่จะต้องเป็นผู้มีความสำเร็จเท่านั้น แต่จะ ต้องมีความซื่อสัตย์ด้วย Existentialism insists not that the teacher be “successful” but that the teacher be honest) เพราะถ้าครูมีความซื่อสัตย์ ความเชื่อและไว้วางใจจะเกิดขึ้น

4) โรงเรียนต้องสนับสนุนให้นักเรียนมีความเป็นตัวของตัวเอง มีโอกาสและรู้จัก เลือกโดยอิสระ (พรรณอร อุชุภาพ, 2546: 8-15)

 

ความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัย

การศึกษาตามอัธยาศัยหมายความว่า กิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิตประจำวันของบุคคลซึ่งบุคคลสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาสความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล[3]

 

การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) คือ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันโดยปราศจากการกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้ที่ชัดเจน การศึกษาตามอัธยาศัยเป็นกระบวนการหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยวิธีการส่วนบุคคล ทั้งทางด้านทัศนคติ ความเชื่อ ทักษะ และความรู้ จากประสบการณ์ที่ได้รับจากการดำรงชีวิตประจำวัน และจากอิทธิพลของสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัว (UNESCO, 2008: 410)

 

การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นขณะที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาตามความต้องการของผู้เรียน (Independent and not-for-profit site created by a small group of educators, Online, 2008)

 

การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) หมายถึง การศึกษาที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการทำงาน บุคคล ครอบครัว สื่อ ชุมชน แหล่งความรู้ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความบันเทิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน และไม่มีการสอบ ไม่มีการรับประกาศนียบัตร มีหรือไม่มีสถานที่แน่นอนเรียนที่ไหนก็ได้ ลักษณะการเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อความรู้และนันทนาการ อีกทั้งไม่จำกัดเวลาเรียน สามารถเรียนได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นในทุกช่วงวัยตลอดชีวิต (สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2551: 108)

 

การศึกษาตามอัธยาศัยเป็นกระบวนการส่งเสริม ให้คนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อ พัฒนาความรู้ความคิดของตนได้อย่างกว้างขวาง และช่วยส่งเสริมการ เรียนรู้ของประชาชนให้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตัวอย่างแหล่งที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ประเพณีประจำท้องถิ่น ประจำชาติ ครอบครัว ศูนย์บริการการศึกษา (เช่น ห้องสมุด ศูนย์การเรียน สถานศึกษา) สถานที่สาธารณะ (เช่น หอศิลป พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สวน สาธารณะ ศูนย์การค้า) ซึ่งล้วนเป็นแหล่งกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วย ตนเอง (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2551)

 

การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การศึกษาที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการทำงาน จากบุคคล จากครอบครัว จากชุมชน จากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความบันเทิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน และไม่มีการสอน ไม่มีการรับประกาศนียบัตร มีหรือไม่มีสถานที่แน่นอน เรียนที่ไหนก็ได้ ลักษณะการเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อความรู้และนันทนาการ อีกทั้งยังไม่จำกัดเวลาเรียน สามารถเรียนได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นในทุกช่วงวัยตลอดชีวิต (กรมการศึกษานอกโรงเรียน, 2538: 83)

 

จากความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัยที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่า การศึกษาตามอัธยาศัยคือ การศึกษาที่เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะเรียนรู้ของมนุษย์แต่ละคนเพื่อตอบสนองการดำรงชีวิตของตนเองให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางสังคม และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยเป็นการศึกษาที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบของกฎระเบียบต่างๆ ไม่มีตัวชี้วัดจากผู้อื่นว่าการศึกษานั้นมีคุณค่าแค่ไหน อย่างไร เพราะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นจากความสนใจของแต่ละคน แต่การศึกษาเรียนรู้ดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับระบบคุณธรรม จริยธรรม ความเชื่อ ของสังคม ไม่สร้างความเดือนร้อนให้กับสังคม

 

ความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย

          การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียนที่ต้องการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว เป็นการเรียนรู้จากบุคคล จากแหล่งเรียนรู้ ในเวลา และโอกาสต่าง ๆ ดังนั้น ในกระบวนการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยจึงมีบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยแต่ละส่วนจะมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน ดังนี้

1) ผู้เรียน  เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ และสามารถเลือกรับ

บริการได้หลากหลายตามความต้องการของตน เมื่อพิจารณาในด้านผู้เรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ( 2549: 27) ได้จำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

ลักษณะแรก เป็นการพิจารณาในเชิงจิตวิทยาพัฒนาการ ซึ่งแบ่งกลุ่มคนออกเป็นช่วงวัยและภารกิจ คือ วัยเด็กแรกเกิด วัยเด็กเริ่มต้น วันเด็กตอนปลาย วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ตอนต้น วัยผู้ใหญ่ตอนปลาย และวัยผู้สูงอายุ

ลักษณะที่สอง เป็นการพิจารณาในเชิงของบทบาทและสถานภาพ เช่น กลุ่มเด็ก สตรี ผู้นำท้องถิ่น พระภิกษุ ผู้ดำเนินงานระดับอาชีพ (อาทิ หมอ วิศวกร ครู ฯลฯ)  ชนกลุ่มน้อย เป็นต้น

ดังนั้นในการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น การสร้างและปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้ ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเยาว์ และปลูกฝังเริ่มจากที่บ้าน และโรงเรียน รวมทั้งที่ทำงานในกรณีของผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน เป็นต้น

2) ผู้จัดแหล่งการเรียนรู้  ต้องมีการดำเนินการที่หลากลายตามศักยภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน โดยมีการบูรณาการความรู้ ปลูกฝังคุณธรรม และค่านิยมที่ดีงาม กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ประสานงานและส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย ควรมีบทบาทและหน้าที่ต่อผู้จัดการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนี้

2.1) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสร้างกรอบความคิดเกี่ยวกับการศึกษาตามอัธยาศัยกับกลุ่มเจ้าของเรื่องหรือเจ้าของเนื้อหาและเจ้าของสถานที่ โดยการสร้างกรอบความคิดของการศึกษาตามอัธยาศัยให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของบุคคลและองค์กรที่เป็นเจ้าของเรื่องหรือเจ้าของเนื้อหาหรือเจ้าของสถานที่หรือเจ้าของบริบทพื้นฐานของความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะทางที่จะจัดการศึกษาตามอัธยาศัยในเรื่องใด

2.2) กระตุ้นและสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มเจ้าของเรื่อง หรือเจ้าของเนื้อหาและเจ้าของสถานที่ ให้เห็นความสำคัญของตนเอง/หรือองค์กรที่มีต่อการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยในเนื้อหาสาระที่เป็นบทบาทและภารกิจหรือมีความเชี่ยวชาญชำนาญการเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน

2.3) ร่วมพัฒนาแนวทางและวิธีการเพื่อการถ่ายทอด หรือจัดการศึกษาตามอัธยาศัยสู่กลุ่มเป้าหมายผู้เรียน (รู้) ตามอัธยาศัย

2.4) จัดให้มีระบบ และมาตรฐานเพื่อการประเมินการยอมรับประสบการณ์และการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับผู้เรียน

3) ผู้ส่งเสริมและผู้สนับสนุน  ซึ่งเป็นผู้เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เรียนและผู้จัดการเรียนรู้ มีการดำเนินการที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศนั้น หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งคงไม่สามารถดำเนินการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยได้เพียงลำพัง ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายเพื่อการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการระดมทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งในระดับชุมชน และระดับประเทศ เพื่อบูรณาการทรัพยากรขององค์การเพื่อการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถจำแนกเครือข่ายการศึกษาตามอัธยาศัยออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

ลักษณะแรก เป็นเครือข่ายบุคคล ได้แก่ กลุ่มผู้รู้ในชุมชนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งบุคคลที่ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชุมชน เป็นต้น

ลักษณะที่สอง เป็นเครือข่ายที่เป็นองค์กร หรือเป็นสถาบัน ได้แก่ สถาบันขนาดเล็กที่สุกในชุมชนคือสถาบันครอบครัว สถาบันทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ฯ สถาบันการปกครอง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล ฯ มูลนิธิ  ชมรม สมาคม องค์กรเอกชนต่าง ๆ เป็นต้น

            สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ( 2549: 27) ได้กำหนดแนวทางในการแสวงหา พัฒนาและส่งเสริมเครือข่ายให้สามารถจัดและให้บริการการศึกษาตามอัธยาศัยให้สอดคล้องกับบทบาทภารกิจ ประสบการณ์และความชำนาญสามารถดำเนินการได้ ดังนี้

1) แสวงหาเครือข่าย โดยการสำรวจและศึกษากิจกรรมที่เครือข่ายต่าง ๆ ดำเนินการและ

จัดระบบข้อมูลเครือข่ายเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายอย่างเป็นระบบ

2) ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่าย โดยการวิเคราะห์บทบาทและภารกิจของเครือข่ายแต่ละ

เครือข่าย รวมทั้งความพร้อม และศักยภาพที่จะจัดและให้บริการการศึกษาตามอัธยาศัยทั้งในแง่เนื้อหา และองค์ความรู้ที่มีเทคนิคและกระบวนการถ่ายทอด ตลอดจนความพร้อมอื่น ๆ เพื่อดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพแต่ละเครือข่าย โดย

2.1) การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ทั้งในแง่ของการพัฒนาองค์ความรู้หรือเทคนิคการถ่ายทอดและกิจกรรม รวมทั้งการบริหารและจัดการ

2.2) การสนับสนุนงบประมาณ โดยตั้งงบประมาณเพื่ออุดหนุนแก่เครือข่าย หรือเป็นการระดมทุนและการบริจาคทรัพย์เพื่อสนับสนุนแก่เครือข่าย

2.3) การสร้างขวัญและกำลังใจ โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการให้รางวัลหรือประกาศเกียรติคุณแก่เครือข่าย

 

ประเภทของการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย

 

          จากคำนิยามของการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีหลักการสำคัญที่เป็นการเรียนรู้ด้วยผู้เรียนเองเป็นหลักในการกำหนดวิธีเรียน รวมทั้งเนื้อหาที่ต้องการเรียน  ดังนั้น การศึกษาตามอัธยาศัยจึงเป็นการเรียนที่มีการสอดแทรกในวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน ถึงแม้เป็นการเรียนที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าการศึกษาในระบบ หรือการศึกษานอกระบบ แต่การศึกษาตามอัธยาศัยก็ยังมีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้เรียน ผู้จัดแหล่งการเรียนรู้ รวมทั้งเครือข่ายผู้ส่งเสริมและสนับสนุน และเมื่อพิจารณาร่วมกับความหมายหลักของคำว่า การศึกษา ซึ่งครอบคลุมการจัดและส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เกิดความรู้ ทั้ง ทองปลิว  ชมชื่น (2546) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ( 2549) มีความเห็นสอดคล้องกันในการศึกษาตามอัธยาศัยสามารถจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ดังนี้

1) การศึกษาตามอัธยาศัยในวิถีชีวิต มีลักษณะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แม้มีการจัดกระทำก็มิใช่เพื่อการศึกษาโดยตรง ได้แก่ ครอบครัว สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ฯลฯ

2) การศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยโดยองค์กร สถาบัน เพื่อจุดประสงค์ของการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม  ได้แก่ งานและโปรแกรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา แหล่งความรู้ในชุมชน เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสนสถานและแหล่งศิลปวัฒนธรรม เช่น วัด โบสถ์ สุเหร่า หอศิลปะ อุทยานประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ศูนย์วิทยาศาสตร์ อุทยานการศึกษา พิพิธภัณฑ์เด็ก ศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ สื่อมวลชน สื่อสารสนเทศ แหล่งนันทนาการ สนามเด็กเล่น ศูนย์กีฬา สวนสาธารณ แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ หน่วยงานบริการองรัฐ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ตั้งอยู่ในชุมชน ศูนย์การแพทย์และการสาธารณสุข องค์กรเอกชน ซึ่งได้จัดส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ

3) การศึกษาตามอัธยาศัยตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกิจกรรมการเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในรูปแบบของเวทีชาวบ้าน การส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง และกิจกรรมการสำรวจชุมชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น กิจกรรมประเภทใช้สภาพแวดล้อมเป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น โครงการรักษ์แม่น้ำคูคลอง

4) การศึกษาตามอัธยาศัยโดยอาศัยงานวัฒนธรรม เกิดจากการผสมผสานการละเล่น การแสดงออก การเลียนแบบท่าทาง ซึ่งสามารถถ่ายทอดผ่านงานศิลปะการแสดงได้ตามแนวคิดเรื่องการเรียนเล่น (Play + Learn = PLEARN) ของ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวาณิช และการศึกษาปนความบันเทิง (Edutainment) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น สื่อพื้นบ้าน สื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการแสดงแบบจำลอง(Animation) กิจกรรมการแสดงละครใบ้ กราฟิก การ์ตูน เป็นต้น

            ในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น มีแนวคิดที่สำคัญประการหนึ่งคือ การที่ต้องการให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนตามอัธยาศัยด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้จัดกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัยต้องมีความเข้าใจหลักการของการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นอย่างดี รวมทั้งต้องมีการฝึกผู้ดำเนินการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการเฉพาะ และต้องมีการออกแบบวิธีการ รูปแบบการเรียนรู้ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของผู้เรียนด้วย

 

กิจกรรมการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย

          ในสภาพปัจจุบัน การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของประเทศไทยได้ดำเนินการในหลายรูปแบบ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ(2541: 196-198) ได้รวบรวมกิจกรรมการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยจำแนกออกเป็น

1) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของห้องสมุดต่าง ๆ ห้องสมุดเป็นแหล่งบริการความรู้ ข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ให้กับประชาชนที่สนใจและใฝ่แสวงหาความรู้ ห้องสมุดได้ทำหน้าที่ในการให้บริหารด้านการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกเพศทุกวัน ห้องสมุดในปัจจุบันมีหลายประเภท เช่น ห้องสมุดในสถาบันการศึกษา ห้องสมุดของหน่วยงานเอกชน ซึ่งห้องสมุดเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเรียนการสอนของโรงเรียน ตลอดจนการเรียนรู้ด้วยตนเองของประชาชนในลักษณะการศึกษาตามอัธยาศัย

2) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน  เครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน หมายถึง  แหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน เป็นทั้งแหล่งความรู้ที่เกิดจากการจัดตั้งหรือการจัดการ มีการจัดระบบการให้บริการความรู้ที่มีคุณค่า เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน สถานีอนามัยตำบล ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรประจำตำบล ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน รวมทั้งแหล่งความรู้ในชุมชนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น วัด บ่อเลี้ยงปลา สวนสมุนไพร เป็นต้น

3) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยโดยสื่อสารมวลชน สื่อสารมวลชนปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เนื่องจากปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ประกอบกับข้อมูลข่าวสารมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ สังคม จึงทำให้สื่อสารมวลชนเพิ่มความสำคัญยิ่งขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปสื่อสารมวลชนมีหน้าที่ให้การศึกษาตามอัธยาศัย ให้ความรู้ต่างๆ ทั้งในด้าน การเมือง อาชีพ เศรษฐกิจ สุขภาพอนามัย วิทยาศาสตร์ และการบันเทิง เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการทำงาน จากประสบการณ์ จากการฟัง จากการอ่าน และการศึกษาค้นคว้า โยมีสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ที่สำคัญ คือ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น

4) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของชุมชน เป็นแหล่งวิทยาการที่มีคุณค่าต่อบุคคลและสังคมเป็นอย่างยิ่ง ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ประกอบด้วย ภูมิปัญญาของผู้รู้ทางวัฒนธรรม และองค์ความรู้ของชุมชน ซึ่งได้รับการสั่งสมและการถ่ายทอดสืบมา

5) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยจากสื่อพื้นบ้าน การเรียนรู้จากสื่อพื้นบ้านเป็นการเรียนรู้จากการแสดงหรือการละเล่นที่แฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมชาวบ้านที่ได้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อความบันเทิง ความสนุกสนานเพลิดเพลิน  ตลอดจนการจรรโลงไว้ซึ่งแบบแผนประเพณีของสังคมและชุมชน สื่อพื้นบ้านมีบทบาทหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ คติค่านิยม และคุณธรรมอันดีงามโดยผ่านการแสดงของตัวละครต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมการแสดง ตัวอย่างสื่อพื้นบ้าน เช่น ลิเก หมอลำ ลำตัด เพลงลูกทุ่ง เป็นต้น

 

เป้าหมายของการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย

          การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น มีเป้าหมายที่สำคัญใน  2 ประการ คือ

1) ผู้เรียนได้รับความรู้และทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต กล่าวคือ แม้หลักการสำคัญของการศึกษาตามอัธยาศัย จะเป็นการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ เป็นการเรียนโดยไม่ได้กำหนดสถานที่ ไม่ได้กำหนดรูปแบบ  ไม่มีการระบุขั้นตอนการศึกษาไว้อย่างชัดเจน เป็นการเรียนที่ขึ้นอยู่กับผู้เรียนเป็นหลัก ทำให้การเรียนเป็นไปด้วยความสมัครใจ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพของการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น  หรือมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปได้ และในการประเมินและวัดผลการเรียนนอกจากสามารถวัดได้จากการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์แล้ว  ในหลักการผู้เรียนสามารถนำความรู้ในลักษณะผลการเรียนมาทำการเทียบโอนความรู้กับการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบได้อีกด้วย

2) ผู้เรียนได้เรียนรู้สาระที่สอดคล้องกับความสนใจและความจำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การศึกษาตามอัธยาศัย การเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนในภาคปฏิบัติในเรื่องที่ผู้เรียนมีความสนใจ เช่น ชาวนา มีความสนใจเทคนิควิธีการเพิ่มผลผลิตข้าว อาจเข้ามาศึกษาวิธีการเพิ่มผลผลิตข้าวจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชน หรือจากการพูดคุยกับเพื่อนชาวนาด้วยกัน และนำไปทดลองปฏิบัติ  ดังนั้น ผลการเรียนผู้เรียนสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองได้ทันที และมีความกลมกลืนกับวิถีชีวิตของตน จึงถือได้ว่าเป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพ

 

องค์กรที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย

          เนื่องจากการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้นองค์กรที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัยจึงมีความหลากหลายตามความต้องการของผู้เรียนรู้ โดยองค์กรที่สำคัญได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันสื่อมวลชน แหล่งนันทนาการ แหล่งชุมชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานให้บริการต่างๆของรัฐ สถานที่ทำงาน แหล่งภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงองค์กรเอกชนต่างๆ เป็นต้น (อุดม เชยกีวงศ์, 2551: 67-71)

 

เปรียบเทียบการศึกษาตามอัธยาศัยกับการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ

 

          แนวคิดการปฏิรูปการศึกษาของไทยได้ถูกตราเป็นกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี พ.ศ.2542 ซึ่งในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กล่าวถึงรูปแบบการจัดการศึกษาของไทยไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีความหมายโดยสังเขปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวดังนี้

          1) การศึกษาในระบบ หมายถึง เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน[4]

            2) การศึกษานอกระบบ หมายถึง หมายความว่า กิจกรรมการศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีรูปแบบ หลักสูตร วิธีการจัดและระยะเวลาเรียนหรือฝึกอบรมที่ยืดหยุ่นและหลากหลายตามสภาพความต้องการและศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายนั้นและมีวิธีการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานเพื่อรับคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเพื่อจัดระดับผลการเรียนรู้[5]

            3) การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง กิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิตประจำวันของบุคคลซึ่งบุคคลสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาส

ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล[6]

           

          จากความหมายโดยสังเขปดังกล่าวพบว่าการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบมีความเหมือนและต่างกันที่โครงสร้างของระบบการศึกษาของแต่ละรูปแบบ เช่น การการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบจำเป็นมีหลักสูตร มีการลงทะเบียนเรียน มีการสอบเพื่อประเมินและวัดผล ส่วนการศึกษาตามอัธยาศัยไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตรที่แน่นอนตายตัว และไม่จำเป็นต้องมีการสอบวัดผล เป็นต้น ดังข้อมูลเปรียบเทียบการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบในตารางที่ 1 และ 2

 

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย

 

การศึกษาในระบบ

การศึกษานอกระบบ

การศึกษาตามอัธยาศัย

มีหลักสูตร

มีหลักสูตร

ไม่มีหลักสูตร

มีเวลาเรียนที่แน่นอน

มีเวลาเรียนแน่นอน

ไม่จำกัดเวลาเรียน

จำกัดอายุ

ไม่จำกัดอายุ

ไม่จำกัดอายุ

มีการลงทะเบียน

มีการลงทะเบียน

ไม่มีการลงทะเบียน

มีการสอบ

มีการสอบหรือไม่มีการสอบก็ได้

ไม่มีการสอบ

มีประกาศนียบัตร

มีประกาศนียบัตร

ไม่มีประกาศนียบัตร

มีสถานที่เรียนแน่นอน

สถานที่เรียนไม่แน่นอน

สถานที่เรียนไม่แน่นอน

ที่มา: ปรับจาก อุดม เชยกีวงศ์ (2551)

 

 

 

 

 

 

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบการศึกษาในระบบโรงเรียนกับระบบการเรียนรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เป็นผลมาจากการศึกษาตามอัธยาศัย

 

 

ระบบโรงเรียน

ระบบการเรียนรู้

ภูมิปัญญาของชาวบ้าน

องค์กร

โรงเรียน/สถานศึกษา

องค์กรชุมชน ครอบครัว

กลุ่มเป้าหมาย

นักเรียน

คนในชุมชนทุกวัย

ผู้สอน

ครู

ปราชญ์ชาวบ้าน พระ วิทยากรท้องถิ่น ปู่ย่าตายาย

วิธีการจัดการเรียนการสอน

ในชั้นเรียน

ไม่มีชั้นเรียน

การสอน

เอาเนื้อหาวิชาในหลักสูตรเป็นตัวตั้ง

เอาปัญหาของชุมชนและปัญหาในชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้ง

การวัดผล

การสอบ

วัดผลด้วยตัวเองว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่

ระยะเวลา

มีระยะเวลาเรียนจบหลักสูตรที่แน่นอน

ไม่มีระยะเวลาที่แน่นอน การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

รูปแบบ

การศึกษาในระบบ

การศึกษาตามอัธยาศัย

การศึกษาหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ที่มา: สีลาภรณ์ นาครทรรพ (2538)

 ข้อเสนอแนะสำหรับกระบวนการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของประเทศไทย

 

1) พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ โดยการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบให้เกิดขึ้นในชุมชน และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ แหล่งที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ศาสนสถาน ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน สวนสาธารณะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น  สถานประกอบการ  ฯลฯ แหล่งการเรียนรู้ควรมีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในการให้การศึกษาและความรู้

2) ต้องคืนการจัดการศึกษาให้กับชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการจัดการศึกษาที่ผ่านมาคือ การที่ผู้จัดการศึกษาและผู้เรียนมีมุมมองที่แตกต่างกัน การให้ความสำคัญกับหน่วยงานผู้จัดมากทำให้เกิดนัยของการเป็นเจ้าของในการจัดการศึกษา ทำให้เกิดการครอบงำความคิด รวมทั้งเนื้อหาการเรียน การสอนไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ดังนั้น การคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้ชุมชน ทั้งการกำหนดกิจกรรมการศึกษา วิธีการเรียนการสอน ที่มีลักษณะเป็นการเฉพาะของชุมชน ซึ่งหากสามารถฟื้นฟูความรู้ รวมทั้งสามารถประยุกต์ภูมิปัญญาที่มีค่าของชุมชนมาสร้างเป็นกิจกรรมสำหรับการเรียนการสอนจะสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้เหมาะสมตามสภาพเหตุการณ์

3) ให้ความสำคัญกับบ้าน  ชุมชน  และสถานประกอบการ เพื่อทำให้การศึกษาตามอัธยาศัยสามารถเกิดได้ทุกที่ ต่อเนื่อง และตลอดเวลา เนื่องจากการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเนื้อหา เวลา สถานที่สำหรับการศึกษาด้วยตนเอง ดังนั้น องค์กรหรือสถาบันที่จัดการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจในวิถีชีวิตของผู้เรียน และองค์กรผู้จัดแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญที่ใกล้ชิดกับผู้เรียนมากที่สุด ได้แก่ บ้าน ชุมชน รวมทั้งสถานประกอบการที่บุคคลใช้เป็นสถานที่ประกอบอาชีพ ดังนั้น ในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย จึงให้ความสำคัญ พัฒนาศักยภาพด้านการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับกลุ่มหรือสถาบันดังกล่าวให้มีความสามารถจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4) พัฒนาสื่อ เทคโนโลยีในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ เป็นการพัฒนาทั้งตัวสื่อการเรียน การสอน และเครื่องมือ  อุปกรณ์ในการสื่อสาร เช่น สถานีวิทยุ  เป็นต้น เนื่องจากในปัจจุบันการสื่อสารมวลชนถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อประชาชนในระดับกว้าง ข้อมูลข่าวสารหารสื่อสารผ่านระบบสื่อสารมวลชนจะถึงผู้รับได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย จึงต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาสื่อทั้งในส่วนที่เป็นวัสดุ เช่น การผลิตรายการส่งเสริมการเรียนการสอน หรือในส่วนที่เป็นครุภัณฑ์ เช่น ระบบการส่งสัญญาณ  เป็นต้น

5) แสวงหามาตรการทางสังคม รวมทั้งกฎหมายเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนตามอัธยาศัย เช่น การเชิดชูผู้รู้ที่มีในท้องถิ่น,  การลดภาษีสำหรับหน่วยงาน  องค์กรที่ดำเนินการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อจูงใจให้ลงทุนเรื่องการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

6) สร้างกระแสสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้รู้ในชุมชน รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ของชุมชน ปรับทัศนคติทั้งฝ่ายผู้จัดแหล่งเรียนรู้ และประชาชนผู้รับการศึกษา นอกจากจะมีการสร้างความรู้ความเข้าใจแล้วยังต้องมีการกระตุ้นสร้างแรงจูงใจใฝ่รู้ มีหน่วยให้ข้อมูล ให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสนใจใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญและใช้ความรู้ที่ชุมชนสั่งสมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน โดยดำเนินการสืบค้นความรู้ที่จำเป็นและเป็นความต้องการของชุมชน  พร้อมทั้งรวบรวมจัดหมวดหมู่ของความรู้ จัดเก็บความรู้ให้เป็นระบบ สร้างระบบให้ประชาชนในชุมชนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่าย พัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนความรู้ของชุมชน ซึ่งผลของการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่องของประชาชนจะสามารถพัฒนาชุมชนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้

7) ส่งเสริม สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการพัฒนาหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้สามารถเป็นแกนนำในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายองค์กรผู้จัดแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย

 

การศึกษาตามอัธยาศัยกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน

 

            การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการจัดการศึกษาที่ตรงกับความมุ่งหมายของผู้เรียน อีกทั้งเป็นการให้ความสำคัญกับการนำความรู้ที่มีความเหมาะสมกับท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอน โดยภาพรวมผู้เข้ารับการศึกษาตามอัธยาศัยจึงสามารถนำความที่ได้รับไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง  ซึ่งประโยชน์ของการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน สามารถจำแนกได้ ดังนี้

 

            ประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

1) การพัฒนากระบวนการคิดของประชาชนให้มีลักษณะ คิดเป็น ซึ่งการ คิดเป็น นั้น

เป็นกระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาที่พิจารณาไตร่ตรองข้อมูลด้านตนเอง ชุมชน สังคมสิ่งแวดล้อม และข้อมูลวิชาการ ต่อจากนั้นจึงลงมือกระทำการ ถ้าสามารถแก้ปัญหาได้ กระบวนการคิดจะยุติลง  หากบุคคลยังไม่พอใจก็จะเข้าสู่กระบวนการคิดใหม่(อุ่นตา  นพคุณ,  2528:  29) จะเห็นได้ว่ากระบวนการของการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น เป็นกระบวนการศึกษามีหลักการสำคัญที่เริ่มจากความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก เป็นการเรียนรู้จากวิถีชีวิตประจำวัน ผู้เรียนเข้ามาเรียนรู้เพื่อต้องการขจัดปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดที่ตนเองประสบอยู่ให้หมดไป เป็นการเรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติงานจริง ดังนั้น กระบวนการการศึกษาตามอัธยาศัยจึงถือได้ว่าเป็นการบวนการพัฒนาการ คิดเป็น ของบุคคลได้เช่นกัน

            2) สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากการศึกษาตามอัธยาศัย หลักการที่สำคัญคือผู้เรียนต้องเป็นผู้กำหนดวิธีการเรียน กำหนดเวลา สถานที่ในการเรียนด้วยตนเอง เนื่องจากในชีวิตจริงมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ลูกจ้าง นายจ้าง ล้วนจะต้องเรียนรู้ทั้งสิ้นและจะต้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้ได้ความรู้ในการนำมาปรับใช้ต่อการดำเนินชีวิต บุคคลจึงจำเป็นต้องแสวงหาความรู้ที่เหมาะสมกับตนเองอย่างต่อเนื่อง จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว รวมทั้งการแสวงหาความรู้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้รู้ที่อยู่ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง  จากวิธีดังกล่าวเป็นการบ่มเพาะให้ประชาชนมีวัฒนธรรมการเรียนรู้เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในโอกาสต่อไป

 

          ประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน

            1) สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน กระบวนการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น ประกอบไปด้วย ฝ่ายผู้เรียน ฝ่ายผู้จัดแหล่งเรียนรู้ และฝ่ายเครือข่ายผู้สนับสนุน ดังนั้น ในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย จึงเป็นการส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมที่ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนในการจัดกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัยให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งกระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นพื้นฐานประการหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เมื่อชุมชนมีฐานการเรียนรู้ ที่เครือข่ายผู้สนับสนุนการเรียนรู้ได้จัดสร้างขึ้นรอบตัวผู้เรียน ความรู้จึงมีการถ่ายทอดหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา และต่อเนื่อง จึงเกิดการสะสมความรู้ของบุคคลตั้งแต่วัยเยาว์ เป็นการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ ค่านิยม ประเพณีต่าง ๆ เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ของประชาชน และเมื่อชุมชนมีการสร้างเครือข่าย พร้อมทั้งทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้สามารถสร้างชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป

            2) สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการเรียนรู้ของบุคคล หากสังคมใดสมาชิกในสังคมใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เป็นสังคมที่คนมีการศึกษา ประชาชนมีโอกาสเท่าเทียมกัน เป็นตลาดวิชาสามารถ เปิดโอกาสให้สถาบันจัดบริการความรู้แก่ประชาชน มีเครือข่ายการเรียนรู้ซึ่งผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ มีการพัฒนาตามความสนใจและเอกลักษณ์ของสมาชิกในสังคม จึงถือได้ว่าเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งการศึกษาตามอัธยาศัยสามารถพัฒนาสมาชิกในสังคมให้เป็นบุคคลผู้ใฝ่รู้ได้ หากทุกภาคส่วนผนึกกำลังกันพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้มีคุณภาพครอบคลุมความต้องการของสมาชิกในสังคม ซึ่งจะทำให้สมาชิกในสังคมเข้าถึงความรู้ได้ง่าย และจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในสังคม และสมาชิกในสังคมเป็นผู้ใฝ่รู้ ก็ส่งผลให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

ภาษาไทย

 

กรมการศึกษานอกโรงเรียน.  2538.  การศึกษาตามอัธยาศัย. กรุงเทพมหานครฯ. ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์.

กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน กรมการศึกษานอกโรงเรียน.  2542.  ประสบการณ์การจัดการศึกษานอกโรงเรียนอดีตถึงปัจจุบัน.  กรุงเทพมหานคร: รังษีการพิมพ์.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา.  2545.  ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพมหานครฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ทองปลิว  ชมชื่น.  2546การศึกษาตามอัธยาศัย.  นครปฐม:  โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร

บุญศักดิ์ แสงระวี.  2548.  วิวัฒนาการของสังคม.  กรุงเทพมหานครฯ: บริษัทตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด.

พรรณอร อุชุภาพ.  2546.  เอกสารประกอบการสอน รายวิชาการศึกษาและความเป็นครูไทยคณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏสกลนคร.

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย).  2552.  มูลนิธิข้าวขวัญ โรงเรียนของชาวนาไทย(ออนไลน์).  http://www.sathai.org/story_thai/007-KKF%20Story.htm, 14 มกราคม 2552

ยุพาวดี วงศ์เพ็ญ.  2549.  ประวัติศาสตร์การศึกษา.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

โรงเรียนบ้านแม่หลวงน้อย.  2552.  หลักสูตรการศึกษาตามอัธยาศัยของโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย.  (ออนไลน์).  http://www.oedp.in.th/document/mln.pdf, 12 มกราคม 2552.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.  2543.  รายงานสรุปการสัมมนา เรื่อง ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิต .  กรุงเทพมหานครโรงพิมพ์องค์การค้าคุรุสภา 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.  2541.  แนวทางการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา.  กรุงเทพมหานครสำนักพิมพ์พิมพ์ดี

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ.  2549.  รายงานการศึกษาวิจัย การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยขององค์กรและสถาบันในเขตตรวจราชการที่ 4นครปฐมโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร 

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.  2552.  เกี่ยวกับห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์.  (ออนไลน์).  http://elibrary.nfe.go.th/about.php, 13 มกราคา 2552.

สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงศึกษาธิการ2552.  ชุดวิชาการศึกษาตามอัธยาศัย.  (ออนไลน์)http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/alpha.htm, 12 มกราคม 2552.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.  2548.  รายงานการวิจัย เรื่อง รูปแบบ ยุทธศาสตร์ และแนวทางการบูรณาการการศาสนากับการศึกษาของวัดในพระพุทธศาสนา :กรณีการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย. (ออนไลน์).  http://www.onec.go.th/publication/48075/full48075.pdf, 28 ธันวาคม 2551.

            .  2551.  รายงานการติดตามและประเมินการจัดการเรียนรู้นอกระบบและตามอัธยาศัย ปี 2549-2550(ออนไลน์).  http://www.onec.go.th/publication/51035/full51035.pdf, 28 ธันวาคม 2551.

            .  2551.  ระบบการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ(ออนไลน์).  http://www.onec.go.th/publication/4017002/chapter3/page51.htm, 22 ธันวาคม 2551.

สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  2551.  การจัดการศึกษาตลอดชีวิต.  (ออนไลน์). http://hrd.obec.go.th/book/1/22.pdf, 28 ธันวาคม 2551.

สุมาลี  สังข์ศรี. 2544.  รายงานการวิจัยการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อสังคมไทยในศตวรรษที่ 21

กรุงเทพฯ:  โรงพิมพ์องค์การค้าคุรุสภา

สุทธิธรรม เลขวิวัฒน์.  2549.  เครือข่ายชุมชนพอเพียง.  กรุงเทพมหานครฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.

อุดม เชยกีวงศ์.  2551.  การส่งสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551.  กรุงเทพมหานครฯ: โรงพิมพ์แปลนพริ้นท์ติ้ง.

อุทยานการเรียนรู้.  2551.  TK Park อุทยานการเรียนรู้.  (ออนไลน์).  http://www.tkpark.or.th/index.aspx, 28 ธันวาคม 2551.

อุ่นตา  นพคุณ.  2528.  คิดเป็น.  กรุงเทพมหานคร:  กรุงสยามการพิมพ์.

 

 

ภาษาอังกฤษ

 

Independent and not-for-profit site created by a small group of educators.  2008.  Introducing informal education.  (Online).  http://www.infed.org, 28 December 2008

Office of the National Economic and Social Development Board and United Nations Country Team in Thailand.  2004.  Thailand Millennium Development Goals 2004Bangkok.

UNESCO.  2008.  EFA Global Monitoring Report 2009: Overcoming inequality: why governance matters.  Paris: UNESCO.

 

 

 

 

 

 

 

 

 



[1] พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

[2] การศึกษาตลอดชีวิต หมายความว่า การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

[3] พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551

 

[4] พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545

[5] พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551

[6] พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551

[7] โรงเรียนบ้านแม่หลวงน้อย.  2552.  หลักสูตรการศึกษาตามอัธยาศัยของโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย.  (ออนไลน์).  http://www.oedp.in.th/document/mln.pdf, 12 มกราคม 2552.

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว

“ ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ มีมติจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีเป็นเงินปันผลตามหุ้นอัตราร้อยละ 5 ” หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ร้อยละ 5 ต่อหุ้น หรือ ...