วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 1. กรณีปัญหา

1.1 กรณีลูกจ้างเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ นายจ้างต้องทำหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าลูกจ้างที่เกษียณอายุ หรือไม่ อย่างไร

1.2 นายจ้างต้องทำหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าลูกจ้าง กรณีลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน หรือไม่ อย่างไร

2. ข้อกฎหมาย

2.1 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 17 วรรคสอง ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย

มาตรา 17/1 ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบตามมาตรา 17 วรรคสอง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับนับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผลตามมาตรา 17 วรรคสอง โดยให้จ่ายในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน

มาตรา 118 วรรคสอง การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

มาตรา 118/1 วรรคหนึ่ง การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้หถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง

2.2 ระเบียบสหกรณ์ ว่าด้วยข้อบังคับการทำงาน

การเลิกจ้าง การเลิกจ้าง หมายถึง เจ้าหน้าที่สหกรณ์ที่ได้ให้พ้นสภาพการเป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ โดยสหกรณ์เลิกจ้าง หรือไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานอันเนื่องจากเจ้าหน้าที่ขาดคุณสมบัติในการทำงาน มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ยุบหน่วยงาน เลิกกิจการ เกษียณอายุ หรือกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือได้รับโทษทางวินัย และเหตุตามระเบียบ ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ 

ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะ ดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้ครอบคลุมการปฏิบัติงานทุกสี่ปี

การเลิกจ้างดังกล่าว สหกรณ์จะแจ้งผล และวันเลิกจ้างให้เจ้าหน้าที่ทราบเป็นหนังสือ โดยจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้าหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้าง เว้นแต่เจ้าหน้าที่ที่จ้างไว้โดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน หรือเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด และไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย 

ในกรณีที่สหกรณ์ไม่อาจบอกกล่าวล่วงหน้าได้ สหกรณ์จะจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

การสิ้นสุดการจ้างตามสัญญาจ้าง หากสหกรณ์กำหนดเงื่อนไขระยะเวลาการจ้างในสัญญาจ้างไว้เป็นรายบุคคลอย่างไร ก็ให้ระยะเวลาการจ้างสิ้นสุดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างเป็นรายบุคคลนั้น 

3. ข้อวินิจฉัย

3.1 หากลูกจ้างเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ นายจ้างต้องทำหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าลูกจ้างที่เกษียณอายุ

3.2 นายจ้างต้องทำหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าลูกจ้าง กรณีลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน

สหกรณ์ไม่จำกัดสินใช้ สหกรณ์จำกัดสินใช้ และสหกรณ์จำกัด กับหุ้น มูลค่าหุ้น การรับใช้หนี้สินของสหกรณ์ของสมาชิกสหกรณ์ และการจ่ายคืนมูลค่าหุ้น

 ข้อกฎหมาย

1. พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471

มาตรา 4

(6) จำกัดสินใช้ ให้หมายความว่า สมาชิกแห่งสหกรณ์อันได้จดทะเบียนแล้วนั้น ต้องรับใช้หนี้สิ้นของสหกรณ์จำกัด เพียงไม่เกินราคาหุ้นของตนที่ยังส่งไม่ครบ

(7) ไม่จำกัดสินใช้ให้หมายความว่า สมาชิกแห่งสหกรณ์อันได้จดทะเบียนแล้วนั้นทุกคนต้องรับใช้หนี้สินของสหกรณ์รวมกันและแทนกันไม่มีจำกัด

2. พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511

มาตรา 7

(1) สหกรณ์จำกัด คือสหกรณ์ซึ่งสมาชิกมีความรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

(2) สหกรณ์ไม่จำกัด คือสหกรณ์ซึ่งสมาชิกทุกคนมีความรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของสหกรณ์โดยไม่จำกัด

3. พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 33 สหกรณ์จะตั้งขึ้นได้โดยการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดา สมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ และต้อง

(3) มีทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน และสมาชิกแต่ละคนจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น แต่ไม่เกินหนึ่งในห้าของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด

มาตรา 42 ในการชำระค่าหุ้น สมาชิกจะนำค่าหุ้นหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์ไม่ได้และสมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น และ เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธิ์นำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิก ผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้ และให้สหกรณ์มีสถานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น

มาตรา 43 ข้อบังคับของสหกรณ์อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(5) ทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้น มูลค่าของหุ้น การชำระค่าหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่น การขาย และการโอนหุ้น ตลอดจนการจ่ายคืนค่าหุ้น

4. คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ 278/2549 เรื่อง ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์กำหนดเรื่อง การจ่ายคืนค่าหุ้นในกรณีที่ขาดทุนเกินทุนสำรองที่มีอยู่ไว้ในข้อบังคับ

5. คำแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจ่ายคืนค่าหุ้น กรณีสหกรณ์/ชุมนุมสหกรณ์ขาดทุนสะสม พ.ศ. 2549

สภาพคล่องของธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย

หลักการของสหกรณ์ Rochdale ในยุคแรกเริ่ม กำหนดเรื่องการค้าด้วยเงินสด (Cash trading) แสดงว่าสมัยนั้นไม่มีลูกหนี้การค้า จ่ายสด งดเชื่อ เบื่อทวงแล้วระหว่าง การค้าด้วยเงินสด กับการขายเชื่อ มันมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร 

ประสิทธิภาพของธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย เราวัดกันด้วยสภาพคล่อง (Liquidity) ซึ่งดูได้จากอัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ และอายุเฉลี่ยของสินค้า 

อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory turnover) (ครั้ง) มาจากต้นทุนสินค้าขายหารด้วยสินค้าคงเหลือถั่วเฉลี่ย จำนวนครั้งยิ่งมากยิ่งดี เพราะแสดงให้เห็นว่าธุรกิจมีความสามารถในการขายสินค้าคงเหลือสูง ช่วยรักษาสภาพคล่องให้กับธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการเน่าเสีย ความเสียหาย การโจรกรรม หรือความล้าสมัยทางเทคโนโลยีของสินค้า 

อายุเฉลี่ยของสินค้า (Day in Inventory) (วัน) มาจาก 365 วันหารด้วยอัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ แสดงความสามารถในการขาย ยิ่งขายได้เร็ว ระยะเวลาสั้น ยิ่งดี 

การค้าด้วยเงินสดนั้นดีแท้แน่นอน ตามที่อธิบายแล้ว แต่การขายเชื่อก็อาจจะจำเป็น เนื่องจากในยุคที่การค้าขายเป็นพระเอกของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน การแข่งขันมีสูง การให้สินเชื่อหรือการขายเชื่อ เป็นกลยุทธในการแข่งขัน หรือมองอีกด้านหนึ่งอาจเป็นการช่วยเหลือกัน หรืออีกด้านหนึ่งหวังกำไร 2 เด้ง เพราะขายเชื่อบวกดอกเบี้ยไปในตัว แต่การขายเชื่อก็ต้องระมัดระวัง ถ้ามีทุนน้อย ถ้าลูกหนี้การค้าผิดนัด จะมีค่าใช้จ่ายค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ตามเกณฑ์ต่อไปนี้ 

ลูกหนี้การค้าค้างชำระ เกินกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ร้อยละ 10 

ลูกหนี้การค้าค้างชำระ เกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ร้อยละ 20 

ลูกหนี้การค้าค้างชำระ ค้างชำระเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ร้อยละ 50 

ลูกหนี้การค้าค้างชำระ ค้างชำระเกินกว่า 2 ปี ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ร้อยละ 100

การกำกับดูแลกิจการที่ดีและการสร้างระบบคุ้มครองการเงินของสหกรณ์

ธันวาคม 2557 สำนักพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ (ชื่อเดิม) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการสร้างระบบคุ้มครองการเงินของสหกรณ์ เนื้อหาส่วนหนึ่งในหลักการและเหตุผลของโครงการฯ ผ่านมาตั้ง 8 ปีแล้ว ยังทันสมัยอยู่เลย ความว่าดังนี้ (ผมปรับนิดหน่อย) 

...ปัจจุบันเงินออมของสมาชิกสหกรณ์ (ทุนเรือนหุ้น+เงินฝาก) ไม่เพียงพอต่อความต้องการกู้เงินของสมาชิก ทำให้สหกรณ์มีข้อจำกัดในการบริการสมาชิก แม้ว่าจะมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กองทุนพัฒนาสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ต่าง ๆ แต่การให้บริการก็ยังไม่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง และมีข้อจำกัดในการให้บริการ สหกรณ์ต้องกู้ยืมกันเอง และกู้ยืมสถาบันการเงินอื่น ในขณะที่บางสหกรณ์ยังขาดการการกับควบคุมที่มีประสิทธิภาพจึงมีความเสี่ยง 

ในอดีตการดำเนินงานของสหกรณ์ไม่ค่อยมีความเสี่ยงเพราะส่วนใหญ่เงินทุนมาจากการสะสมทุนเรือนหุ้นและนำมาให้กู้แก่สมาชิกในระยะเวลาที่ไม่ยาวนานมากนัก จึงไม่จำเป็นต้องควบคุมความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity risk) และความเสี่ยงจากการไม่ได้รับเงินที่ให้กู้คืน (Default risk) 

แต่ปัจจุบันความเสี่ยงทั้งสองประการของสหกรณ์มีมากขึ้น อันเนื่องมาจากสหกรณ์อาศัยแหล่งเงินทุนระยะสั้นจากการรับฝากเงินจากสมาชิกสหกรณ์ด้วยกัน และการกู้ยืมจากภายนอกมากขึ้น ในขณะที่บทบาทของทุนเรือนหุ้นซึ่งถือเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวกลับลดลง และในทางกลับกันสหกรณ์ให้เงินกู้แก่สมาชิกยาวขึ้น (จำนวนงวดเพิ่มขึ้น) เป็นลำดับ และเงินกู้บางประเภทไม่มีหลักประกัน แสดงว่าสหกรณ์เริ่มดำเนินธุรกิจแบบ Mismatch มากขึ้นซึ่งไม่ต่างจากสถาบันการเงินอื่น และสหกรณ์ส่วนหนึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น มีปัญหาเงินล้นสหกรณ์ ต้องนำไปลงทุนหาผลประโยชน์อื่นจากภายนอก ซึ่งกฎหมายสหกรณ์ก็ได้ขยายขอบเขตการลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น การให้กู้ยืมแก่สหกรณ์อื่น การฝากเงินในสหกรณ์อื่น การลงทุนในหลักทรัพย์ เป็นต้น จึงทำให้ความเสี่ยงของสหกรณ์มีมากขึ้นกว่าในอดีตมาก 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินในด้านสภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์ พบว่าหนี้สินหมุนเวียนต่อสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่า 1 เท่า (ประมาณ 1- 2 เท่า) ซึ่งหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่ คือ เงินรับฝากของสมาชิก ดังนั้น หากเกิดวิกฤตการณ์ที่ทำให้สมาชิกขาดความเชื่อมั่นในสหกรณ์ มีความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operation Risk) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) และความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) และไม่มีการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ที่มีประสิทธิภาพ อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อระบบสหกรณ์และสมาชิกโดยรวม ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ 

วัตถุประสงค์ เพื่อให้สหกรณ์มีแนวทางในการสร้างระบบคุ้มครองการเงินของสหกรณ์ เพื่อจัดหากลไกการแก้ไข และให้ความช่วยเหลือสหกรณ์ยามเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินแก่สหกรณ์ และเพื่อพัฒนาเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงของสหกรณ์สำหรับเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการเงินของสหกรณ์ 

ผ่านไป 5 ปี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เหตุผลความจำเป็นในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสหกรณ์ฉบับนี้ เพื่อให้การพัฒนาและการสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิก ให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเกิดประโยชน์ต่อระบบสหกรณ์ของประเทศ 

ผ่านไป 7 ปี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 กฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรร์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และในอีกไม่ช้า กฎกระทรวงที่จะออกตามความในมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก็คงจะออกมาอีกให้ครบถ้วน เพื่อการสร้างระบบคุ้มครองการเงินของสหกรณ์ ให้เกิดการพัฒนาและการสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิก ให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเกิดประโยชน์ต่อระบบสหกรณ์ของประเทศ หนุนเสริมการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิกในระบบสหกรณ์ให้สูงขึ้น นำมาซึ่งการกินดี อยู่ดี มีความยุติธรรม และเกิดสันติสุขในสังคม ตามอุดมการณ์สหกรณ์อยู่บนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการช่วยตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์

ประเด็นปัญหากฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 ข้อเท็จจริง

1. คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ มีมติรับบุคคลเข้าทำงานเป็นลูกจ้างสหกรณ์ 2 ตำแหน่ง โดยตกลงกับลูกจ้างว่า มีระยะเวลาทดลองงาน 90 วัน หากผ่านการประเมินก็จะบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์

2. คณะกรรมการดำเนินการไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบฯ ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และข้อบังคับการทำงานฯ เรื่องการรับสมัคร และขั้นตอนการการคัดเลือก

3. สหกรณ์จ่ายตค้าจ้างเป็นรายวัน โดยไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่ลูกจ้างทดลองงานไม่มาทำงาน

4. เมื่อครบระยะเวลาทดลองงาน 90 วันนายจ้างมีแนวคิดที่จะ เลื่อนการบรรจุลูกจ้างเป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์ โดยอ้างว่ารอให้สหกรณ์จัดทำงบการเงินประจำปีเสร็จสิ้น และรู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของสหกรณ์ เนื่องจากสหกรณ์อยู่ในภาวะขาดทุน และอาจอาจทุนเพิ่มขึ้น

ข้อกฎหมาย

1. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 5

นายจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง ...

ลูกจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

สัญญาจ้างหมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้างและตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

ค่าจ้างหมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

ค่าจ้างในวันทำงานหมายความว่า ค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ

มาตรา 14 ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างให้ถูกต้องตามสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 118 วรรคท้าย ...การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

2. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

มาตรา 576 ถ้าตามพฤติการณ์ไม่อาจจะคาดหมายได้ว่างานนั้นจะพึงทำให้เปล่าไซร้ ท่านย่อมถือเอาโดยปริยายว่ามีคำมั่นจะให้สินจ้าง

มาตรา 577 นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย

ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนก็ได้เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย

ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา 578 ถ้าลูกจ้างรับรองโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายว่าตนเป็นผู้มีฝีมือพิเศษ หากมาปรากฏว่าไร้ฝีมือเช่นนั้นไซร้ ท่านว่านายจ้างชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียได้

มาตรา 579 การที่ลูกจ้างขาดงานไปโดยเหตุอันสมควรและชั่วระยะเวลาน้อยพอสมควรนั้น ท่านว่าไม่ทำให้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

มาตรา 580 ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือจารีตประเพณีว่าจะพึงจ่ายสินจ้างเมื่อไร ท่านว่าพึงจ่ายเมื่องานได้ทำแล้วเสร็จ ถ้าการจ่ายสินจ้างนั้นได้กำหนดกันไว้เป็นระยะเวลาก็ให้พึงจ่ายเมื่อสุดระยะเวลาเช่นนั้นทุกคราวไป

มาตรา 581 ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้วลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้

มาตรา 582 ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไรท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่งในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

มาตรา 584 ถ้าจ้างแรงงานรายใดมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นนายจ้าง ท่านว่าสัญญาจ้างเช่นนั้นย่อมระงับไปด้วยมรณะแห่งนายจ้าง

มาตรา 585 เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร่และงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร

มาตรา 586 ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้ เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ แต่จะต้องเป็นดังต่อไปนี้ คือ

(1) สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง และ

(2) ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร

มาตรา 820 ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดีรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

มาตรา 822 ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนไซร้ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับ แล้วแต่กรณี

มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

มาตรา 824 ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน

มาตรา 825 ถ้าตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยเห็นแก่อามิสสินจ้างเป็นทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นอันบุคคลภายนอกได้ให้เป็นลาภส่วนตัวก็ดี หรือให้คำมั่นว่าจะให้ก็ดี ท่านว่าตัวการหาต้องผูกพันในสัญญาซึ่งตัวแทนของตนได้ทำนั้นไม่ เว้นแต่ตัวการจะได้ยินยอมด้วย

ข้อวินิจฉัย

1. “พนักงานรายวัน” หมายความว่า ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน วันใดไม่ได้ทำงานก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง ยกเว้น วันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันที่นายจ้างกำหนดให้เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงจะได้รับค่าจ้าง ซึ่งจะแตกต่างจาก “พนักงานรายเดือน” ซึ่งหมายความว่า ลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างเหมาจ่ายเป็นรายเดือน วันอาทิตย์หรือวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่ต้องมาทำงานก็ยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติ รวมทั้งวันหยุดอื่น ๆ อีกที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละองค์กร

2. สัญญากับลูกจ้างรายวันโดยกำหนดว่ามาทำงานวันไหนก็จ่ายเฉพาะวันที่มาทำงาน อาจขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นโมฆะเพราะลูกจ้างรายวันต้องมีงานให้ทำตลอด เว้นแต่วันหยุดประจำสัปดาห์ถึงไม่ต้องจ่าย หรือไม่นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างเพราะต้องถือว่าจ้างลูกจ้างเข้ามาแล้ว แต่นายจ้างไม่มีงานให้ทำเองนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทน กรณีลูกจ้างรายวันทดลองงานได้หรือไม่ กฎหมายแรงงานมีลูกจ้างอยู่ประเภทเดียวตามคำนิยามของกฎหมายคือ “ลูกจ้าง” กฎหมายคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง ดังนั้นไม่ว่าจะไปเรียกชื่ออะไรก็เป็นลูกจ้าง เมื่อเป็นลูกจ้าง อะไรที่กฎหมายกำหนดให้การคุ้มครองเอาไว้ก็ได้สิทธิทุกประการ การทดลองงานอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการเขียนไว้ในข้อสัญญา โดยข้อสัญญาดังกล่าวจะขัดกับสิ่งที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดคุ้มครองลูกจ้างเอาไว้ไม่ได้ “เหตุผลของการไม่ผ่านการทดลองงาน” ของลูกจ้างรายวัน ที่อ้างได้คือ

๑) ไม่มีความสามารถในการทำงาน ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น

๒) พฤติกรรมส่วนตัว การเข้ากับเพื่อนร่วมงาน ทัศนคติมีมาตรฐานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

คำว่า “มาตรฐาน” นายจ้างจะมีเครื่องมือ หรือแบบประเมินซึ่งสร้างขึ้นมาและใช้เป็นการทั่วไปไม่ได้เจาะจงเป็นการเฉพาะกับลูกจ้างคนใดคนหนึ่ง เมื่อทดลองงานลูกจ้างรายวันแล้วไม่ผ่านการทดลองงานก็จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบการจ่ายค่าจ้างด้วย ข้อสังเกต จริง ๆ ไม่ต้องทดลองงานก็ได้ หากทำงานช่วงแรกสัก 2 เดือน หรือ 3 เดือน หรือทำงาน 1 ปี ทำงาน 10 ปี ทำงาน 20 ปี ก็มีหลักการเดียวกัน คือ ถ้าหย่อนสมรรถภาพในการทำงานก็เลิกจ้างได้ เพียงแต่เมื่อทำงานเกิน 120 วันก็จะต้องจ่ายค่าชดเชย(https://area3.labour.go.th/2015-12-03-04-55-08/1015-ให้ลูกจ้างรายวันมาทำงานบางวัน-วันไหนไม่มาก็ไม่จ่ายได้หรือไม่)

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...