วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ประเด็นปัญหากฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 ข้อเท็จจริง

1. คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ มีมติรับบุคคลเข้าทำงานเป็นลูกจ้างสหกรณ์ 2 ตำแหน่ง โดยตกลงกับลูกจ้างว่า มีระยะเวลาทดลองงาน 90 วัน หากผ่านการประเมินก็จะบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์

2. คณะกรรมการดำเนินการไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบฯ ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และข้อบังคับการทำงานฯ เรื่องการรับสมัคร และขั้นตอนการการคัดเลือก

3. สหกรณ์จ่ายตค้าจ้างเป็นรายวัน โดยไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่ลูกจ้างทดลองงานไม่มาทำงาน

4. เมื่อครบระยะเวลาทดลองงาน 90 วันนายจ้างมีแนวคิดที่จะ เลื่อนการบรรจุลูกจ้างเป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์ โดยอ้างว่ารอให้สหกรณ์จัดทำงบการเงินประจำปีเสร็จสิ้น และรู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของสหกรณ์ เนื่องจากสหกรณ์อยู่ในภาวะขาดทุน และอาจอาจทุนเพิ่มขึ้น

ข้อกฎหมาย

1. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 5

นายจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง ...

ลูกจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

สัญญาจ้างหมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้างและตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

ค่าจ้างหมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

ค่าจ้างในวันทำงานหมายความว่า ค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ

มาตรา 14 ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างให้ถูกต้องตามสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 118 วรรคท้าย ...การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

2. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

มาตรา 576 ถ้าตามพฤติการณ์ไม่อาจจะคาดหมายได้ว่างานนั้นจะพึงทำให้เปล่าไซร้ ท่านย่อมถือเอาโดยปริยายว่ามีคำมั่นจะให้สินจ้าง

มาตรา 577 นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย

ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนก็ได้เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย

ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา 578 ถ้าลูกจ้างรับรองโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายว่าตนเป็นผู้มีฝีมือพิเศษ หากมาปรากฏว่าไร้ฝีมือเช่นนั้นไซร้ ท่านว่านายจ้างชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียได้

มาตรา 579 การที่ลูกจ้างขาดงานไปโดยเหตุอันสมควรและชั่วระยะเวลาน้อยพอสมควรนั้น ท่านว่าไม่ทำให้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

มาตรา 580 ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือจารีตประเพณีว่าจะพึงจ่ายสินจ้างเมื่อไร ท่านว่าพึงจ่ายเมื่องานได้ทำแล้วเสร็จ ถ้าการจ่ายสินจ้างนั้นได้กำหนดกันไว้เป็นระยะเวลาก็ให้พึงจ่ายเมื่อสุดระยะเวลาเช่นนั้นทุกคราวไป

มาตรา 581 ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้วลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้

มาตรา 582 ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไรท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่งในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

มาตรา 584 ถ้าจ้างแรงงานรายใดมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นนายจ้าง ท่านว่าสัญญาจ้างเช่นนั้นย่อมระงับไปด้วยมรณะแห่งนายจ้าง

มาตรา 585 เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร่และงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร

มาตรา 586 ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้ เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ แต่จะต้องเป็นดังต่อไปนี้ คือ

(1) สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง และ

(2) ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร

มาตรา 820 ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดีรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

มาตรา 822 ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนไซร้ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับ แล้วแต่กรณี

มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

มาตรา 824 ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน

มาตรา 825 ถ้าตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยเห็นแก่อามิสสินจ้างเป็นทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นอันบุคคลภายนอกได้ให้เป็นลาภส่วนตัวก็ดี หรือให้คำมั่นว่าจะให้ก็ดี ท่านว่าตัวการหาต้องผูกพันในสัญญาซึ่งตัวแทนของตนได้ทำนั้นไม่ เว้นแต่ตัวการจะได้ยินยอมด้วย

ข้อวินิจฉัย

1. “พนักงานรายวัน” หมายความว่า ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน วันใดไม่ได้ทำงานก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง ยกเว้น วันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันที่นายจ้างกำหนดให้เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงจะได้รับค่าจ้าง ซึ่งจะแตกต่างจาก “พนักงานรายเดือน” ซึ่งหมายความว่า ลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างเหมาจ่ายเป็นรายเดือน วันอาทิตย์หรือวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่ต้องมาทำงานก็ยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติ รวมทั้งวันหยุดอื่น ๆ อีกที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละองค์กร

2. สัญญากับลูกจ้างรายวันโดยกำหนดว่ามาทำงานวันไหนก็จ่ายเฉพาะวันที่มาทำงาน อาจขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นโมฆะเพราะลูกจ้างรายวันต้องมีงานให้ทำตลอด เว้นแต่วันหยุดประจำสัปดาห์ถึงไม่ต้องจ่าย หรือไม่นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างเพราะต้องถือว่าจ้างลูกจ้างเข้ามาแล้ว แต่นายจ้างไม่มีงานให้ทำเองนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทน กรณีลูกจ้างรายวันทดลองงานได้หรือไม่ กฎหมายแรงงานมีลูกจ้างอยู่ประเภทเดียวตามคำนิยามของกฎหมายคือ “ลูกจ้าง” กฎหมายคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง ดังนั้นไม่ว่าจะไปเรียกชื่ออะไรก็เป็นลูกจ้าง เมื่อเป็นลูกจ้าง อะไรที่กฎหมายกำหนดให้การคุ้มครองเอาไว้ก็ได้สิทธิทุกประการ การทดลองงานอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการเขียนไว้ในข้อสัญญา โดยข้อสัญญาดังกล่าวจะขัดกับสิ่งที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดคุ้มครองลูกจ้างเอาไว้ไม่ได้ “เหตุผลของการไม่ผ่านการทดลองงาน” ของลูกจ้างรายวัน ที่อ้างได้คือ

๑) ไม่มีความสามารถในการทำงาน ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น

๒) พฤติกรรมส่วนตัว การเข้ากับเพื่อนร่วมงาน ทัศนคติมีมาตรฐานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

คำว่า “มาตรฐาน” นายจ้างจะมีเครื่องมือ หรือแบบประเมินซึ่งสร้างขึ้นมาและใช้เป็นการทั่วไปไม่ได้เจาะจงเป็นการเฉพาะกับลูกจ้างคนใดคนหนึ่ง เมื่อทดลองงานลูกจ้างรายวันแล้วไม่ผ่านการทดลองงานก็จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบการจ่ายค่าจ้างด้วย ข้อสังเกต จริง ๆ ไม่ต้องทดลองงานก็ได้ หากทำงานช่วงแรกสัก 2 เดือน หรือ 3 เดือน หรือทำงาน 1 ปี ทำงาน 10 ปี ทำงาน 20 ปี ก็มีหลักการเดียวกัน คือ ถ้าหย่อนสมรรถภาพในการทำงานก็เลิกจ้างได้ เพียงแต่เมื่อทำงานเกิน 120 วันก็จะต้องจ่ายค่าชดเชย(https://area3.labour.go.th/2015-12-03-04-55-08/1015-ให้ลูกจ้างรายวันมาทำงานบางวัน-วันไหนไม่มาก็ไม่จ่ายได้หรือไม่)

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...