วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

การกำกับดูแลกิจการที่ดีและการสร้างระบบคุ้มครองการเงินของสหกรณ์

ธันวาคม 2557 สำนักพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ (ชื่อเดิม) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการสร้างระบบคุ้มครองการเงินของสหกรณ์ เนื้อหาส่วนหนึ่งในหลักการและเหตุผลของโครงการฯ ผ่านมาตั้ง 8 ปีแล้ว ยังทันสมัยอยู่เลย ความว่าดังนี้ (ผมปรับนิดหน่อย) 

...ปัจจุบันเงินออมของสมาชิกสหกรณ์ (ทุนเรือนหุ้น+เงินฝาก) ไม่เพียงพอต่อความต้องการกู้เงินของสมาชิก ทำให้สหกรณ์มีข้อจำกัดในการบริการสมาชิก แม้ว่าจะมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กองทุนพัฒนาสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ต่าง ๆ แต่การให้บริการก็ยังไม่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง และมีข้อจำกัดในการให้บริการ สหกรณ์ต้องกู้ยืมกันเอง และกู้ยืมสถาบันการเงินอื่น ในขณะที่บางสหกรณ์ยังขาดการการกับควบคุมที่มีประสิทธิภาพจึงมีความเสี่ยง 

ในอดีตการดำเนินงานของสหกรณ์ไม่ค่อยมีความเสี่ยงเพราะส่วนใหญ่เงินทุนมาจากการสะสมทุนเรือนหุ้นและนำมาให้กู้แก่สมาชิกในระยะเวลาที่ไม่ยาวนานมากนัก จึงไม่จำเป็นต้องควบคุมความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity risk) และความเสี่ยงจากการไม่ได้รับเงินที่ให้กู้คืน (Default risk) 

แต่ปัจจุบันความเสี่ยงทั้งสองประการของสหกรณ์มีมากขึ้น อันเนื่องมาจากสหกรณ์อาศัยแหล่งเงินทุนระยะสั้นจากการรับฝากเงินจากสมาชิกสหกรณ์ด้วยกัน และการกู้ยืมจากภายนอกมากขึ้น ในขณะที่บทบาทของทุนเรือนหุ้นซึ่งถือเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวกลับลดลง และในทางกลับกันสหกรณ์ให้เงินกู้แก่สมาชิกยาวขึ้น (จำนวนงวดเพิ่มขึ้น) เป็นลำดับ และเงินกู้บางประเภทไม่มีหลักประกัน แสดงว่าสหกรณ์เริ่มดำเนินธุรกิจแบบ Mismatch มากขึ้นซึ่งไม่ต่างจากสถาบันการเงินอื่น และสหกรณ์ส่วนหนึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น มีปัญหาเงินล้นสหกรณ์ ต้องนำไปลงทุนหาผลประโยชน์อื่นจากภายนอก ซึ่งกฎหมายสหกรณ์ก็ได้ขยายขอบเขตการลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น การให้กู้ยืมแก่สหกรณ์อื่น การฝากเงินในสหกรณ์อื่น การลงทุนในหลักทรัพย์ เป็นต้น จึงทำให้ความเสี่ยงของสหกรณ์มีมากขึ้นกว่าในอดีตมาก 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินในด้านสภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์ พบว่าหนี้สินหมุนเวียนต่อสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่า 1 เท่า (ประมาณ 1- 2 เท่า) ซึ่งหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่ คือ เงินรับฝากของสมาชิก ดังนั้น หากเกิดวิกฤตการณ์ที่ทำให้สมาชิกขาดความเชื่อมั่นในสหกรณ์ มีความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operation Risk) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) และความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) และไม่มีการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ที่มีประสิทธิภาพ อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อระบบสหกรณ์และสมาชิกโดยรวม ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ 

วัตถุประสงค์ เพื่อให้สหกรณ์มีแนวทางในการสร้างระบบคุ้มครองการเงินของสหกรณ์ เพื่อจัดหากลไกการแก้ไข และให้ความช่วยเหลือสหกรณ์ยามเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินแก่สหกรณ์ และเพื่อพัฒนาเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงของสหกรณ์สำหรับเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการเงินของสหกรณ์ 

ผ่านไป 5 ปี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เหตุผลความจำเป็นในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสหกรณ์ฉบับนี้ เพื่อให้การพัฒนาและการสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิก ให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเกิดประโยชน์ต่อระบบสหกรณ์ของประเทศ 

ผ่านไป 7 ปี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 กฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรร์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และในอีกไม่ช้า กฎกระทรวงที่จะออกตามความในมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก็คงจะออกมาอีกให้ครบถ้วน เพื่อการสร้างระบบคุ้มครองการเงินของสหกรณ์ ให้เกิดการพัฒนาและการสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิก ให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเกิดประโยชน์ต่อระบบสหกรณ์ของประเทศ หนุนเสริมการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิกในระบบสหกรณ์ให้สูงขึ้น นำมาซึ่งการกินดี อยู่ดี มีความยุติธรรม และเกิดสันติสุขในสังคม ตามอุดมการณ์สหกรณ์อยู่บนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการช่วยตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...