วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2567

วาทกรรมการพัฒนาว่าด้วยการสหกรณ์ไทย: บทแรก ว่าด้วยความเข้าใจเบื้องต้น

 การสหกรณ์มีความสำคัญต่อสังคมไทยในหลากหลายมติ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ตลอดจนเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยไทย วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสหกรณ์ไทยส่วนใหญ่มุ่งพรรณนาให้เห็นถึงความเป็นมา จากจุดเริ่มต้นที่มีการศึกษาเรื่องการสหกรณ์ในปี พ.ศ. 2457 การก่อตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ในปี พ.ศ. 2459 และเรื่องราวระหว่างเส้นทางพัฒนาในแง่มุมหลากหลาย วรรณกรรมหลายเรื่องได้อธิบายให้เห็นถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อผลการพัฒนาสหกรณ์ไทยในแต่ละยุคสมัยของการพัฒนาสหกรณ์ 

การศึกษาการสหกรณ์ไทยด้วยแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ โดยการวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนา อาจช่วยให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างไปจากวรรณกรรมว่าด้วยการสหกรณ์ที่ผ่านมา โดยการวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทย จะช่วยให้เห็นถึงกระบวนการในการสร้างวาทกรรม การปฏิบัติการของวาทกรรม การต่อสู้ทางวาทกรรม ผลของวาทกรรม และกระบวนทัศน์ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาสหกรณ์ไทย ช่วยเผยให้เห็นถึงคุณค่าเชิงอุดมการณ์ และผลประโยชน์ในการพัฒนาการสหกรณ์ไทย อันจะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการพัฒนาการสหกรณ์ไทยในปัจจุบันและอนาคต 

คำถามสำคัญในวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทย คือ มีวาทกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการสหกรณ์ไทย กระบวนการในการสร้างวาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทยเป็นอย่างไร การปฏิบัติการของวาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทยเป็นอย่างไร มีการต่อสู้ทางวาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทยอย่างไรบ้าง ผลการต่อสู้ทางวาทกรรมเป็นอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาการสหกรณ์ไทย อุดมการณ์และผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาการสหกรณ์ไทยเป็นอย่างไร กระบวนทัศน์การพัฒนาการสหกรณ์ไทยที่ผ่านมามีความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของการสหกรณ์ไทยหรือไม่ อย่างไร และมีทางเลือกอื่นใดหรือไม่ 

การวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ไทย จะช่วยให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องและผู้คนทั่วไปที่สนใจเรื่องการสหกรณ์ มีความเข้าใจการสหกรณ์ไทยในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างข้อเสนอเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับกระบวนทัศน์การพัฒนา ที่สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขของการพัฒนาการสหกรณ์ไทยต่อไป 

ความเข้าใจเบื้องต้น 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ (Critical Postmodern Concept) 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ เกิดขึ้นจากการบูรณาการระหว่างทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Paradigm) ของสำนักคิด Frankfurt School โดยมี Jurgern Harbermas เป็นบุคลที่นำเสนอแนวคิดดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism) โดยมี Michel Foucault เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลสูงมากต่อการนำเสนอแนวคิดดังกล่าว แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาต่อจากทฤษฎีวิพากษ์ ลัทธิล่าอาณานิคม แนวคิดการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy) และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Boje, 2001 อ้างใน Koscianski, 2003) หลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์สร้างช่องว่างที่สำคัญระหว่างปัจเจกกับสังคม สนใจในการตรวจสอบทางจริยธรรมต่อสภาวะเชิงวัตถุในสังคมโลกหลังสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังตระหนักถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ในการตรวจสอบจริยธรรมเหล่านั้นด้วย (Koscianski, 2003) 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์เป็นแนวคิดที่มองความเป็นจริงว่าไม่ใช่สิ่งที่คงที่หรือมีอยู่แล้วอย่างกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยม (Positivism) แต่มองว่าความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดสร้างขึ้น เป็นอัตวิสัย (Subjective) แปรผันไปตามสภาพการณ์และบริบทของแต่ละปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งอาจส่องสะท้อนให้เห็นความจริงได้หลากหลายจากผู้คนที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเข้าถึงความจริงของแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์จึงต้องใช้ระบบคุณค่า การตีความ การรับรู้ ความรู้สึก ประสบการณ์ของบุคคลเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริง โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมพลังและปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการต่างๆ ด้วยวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ทางความคิด วิเคราะห์ระบบคุณค่า สัญลักษณ์ต่างๆ การส่องสะท้อนตนเอง เมื่อเผยให้เห็นความเป็นจริงต่างๆ แล้วจึงลงมือปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ชุมชน และสังคม ซึ่งการบูรณาการทฤษฎีวิพากษ์กับแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมให้กลายเป็นแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์นั้นมีรายละเอียดเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ วิธีการแสวงหาความรู้ และคุณค่าของความรู้ 

แนวคิดเรื่องวาทกรรม (Discourse) และการวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) 

แนวคิดเรื่องวาทกรรม และการวิเคราะห์วาทกรรม เป็นแนวคิดที่กลุ่มนักปรัชญาและกลุ่มนักคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ให้ความสำคัญว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่สามารถสะท้อนความเป็นจริงของสังคมได้ เนื่องจากนักคิดในกลุ่มนี้เชื่อว่าภาษามีความสำคัญที่สามารถกำหนดความเป็นไปของมนุษย์ได้ 

นักคิดชาวฝรั่งเศส Michel Foucault และนักคิดชาวเยอรมัน Jurgens Habermas ของสำนักแฟรงค์เฟิร์ต เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามีอิทธิพลมากต่อการเสนอทฤษฎีการสื่อสารในทวีปยุโรป Foucault  มีแนวคิดที่โดดเด่นมากใน 3 เรื่อง คือ 1) ความรู้เฉพาะยุค (Episteme) หรือการฟอร์มตัวของวาทกรรม (Discursive Formations) 2) ระเบียบวิธีศึกษาแนววงศาวิทยา (Archaeological – Genealogical Method of Inquiry) และ 3) แนวคิดเรื่องอำนาจ ส่วน Habermas มีความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเป็นวิธีการที่ไม่เพียงพอที่จะศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ เขาจึงเน้นการสื่อสารและการให้เหตุผล เขาเสนอทฤษฎีประสิทธิผลของการสื่อสาร (Communication Competence) หรือชื่อทางการว่า Universal Pragmatics (อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท, 2550: 224-226) 

จากการสรุปของ จันทนี เจริญศรี (2545) ประกอบกับการสรุปของ กาญจนา แก้วเทพ และสมสุข หินวิมาน (2551) พบว่าพื้นฐานของแนวคิดการวิเคราะห์วาทกรรม ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดวิภาษวิธี หรือ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอาเล็คติค (Dialectical Materialism) แนวคิดหรือกระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์ (Critical Sciences Paradigm) และแนวคิดการรื้อสร้าง (Deconstruction) ซึ่งการรื้อสร้าง (Deconstruction) คือวิธีการอ่านตัวบท (Text) ที่ทำให้ค้นพบความหมายอื่นๆ ที่ตัวบทกดทับเอาไว้ เป็นการหาความหมายหรือความหมายอื่นๆ (Polysemy) ซึ่งความหมายอื่นๆ หมายถึง ความคลุมเครือของคำหรือวลีที่มีความหมายมากกว่าสองอย่างขึ้นไปเมื่อใช้ในบริบทที่ต่างกัน วิธีการรื้อถอนจะแสวงหารายละเอียดว่าตัวบทได้บดบังเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของตัวมันเองเอาไว้โดยไม่รู้ตัว เงื่อนไขเหล่านี้แย้งกับตรรกะที่ตัวบทนั้นเสนอออกมา การวิเคราะห์หาจุดที่ระบบกดทับไว้พบแล้วดึงออกมาให้เห็นจะเป็นการรื้อสร้างของตัวบทนั้นๆ เผยให้เห็นความย้อนแย้งในโครงสร้างเดิม วิธีการรื้อสร้างคือ การรื้อให้เห็นความหมายที่ถูกกดไว้ (Ward, 1977: 211-212 อ้างใน สุภางค์ จันทวานิช, 2551: 234-235) 

วาทกรรม (Discourse) 

Discourse เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน โดยมาจากคำว่า Discursus เป็นคำนามที่ผันมาจากคำว่า Discurrere ซึ่งเป็นคำกิริยา แปลว่า การวิ่งไปมาระหว่างที่ตรงนี้กับที่ซึ่งไกลออกไป Discourse คือการพูด การคุย ที่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีความยาวของคำเหล่านั้นเท่าไร เป็นการพูดที่เป็นไปโดยธรรมชาติ มีเจตนาตรงไปตรงมาไม่มีนัยแอบแฝง ซึ่ง Discourse หรือวาทกรรมในที่นี่มีความหมายแตกต่างไปจากการสัมมนาหรือการพูดในที่ประชุมที่ต้องการผลจากการพูด (Conference) ในสังคมฝรั่งเศส วาทกรรม มีความหมายใกล้เคียงกับ การพูดคุย (Chat) การสนทนา (Chinwag) การสนทนาอย่างอิสระ (Free Conversation) การสื่อสารที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน (Improvisation) การแสดงออก (Expose) การเล่าเรื่อง (Narration) บทสรุป (Perolation) ภาษา (Langage) หรือคำสาบาน (Parole) วาทกรรมในความหมายต่างๆ เหล่าเป็นวาทกรรมในความหมายทางภาษาที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งห่างไกลมากจากการให้ความหมายของ Habermas เขาได้ให้ความหมายของวาทกรรมไว้ว่า วาทกรรมคือการสื่อสารที่อ้างถึงเกี่ยวกับเหตุผลที่ค้นพบ โดยการให้ความหมายดังกล่าวของ Habermas ใกล้เคียงกับการให้ความหมายของ Foucault ที่กล่าวว่าวาทกรรมเป็นสิ่งที่ออกมาจากความรู้สึกต่อต้านแข็งขืนต่อกฎระเบียบต่างๆ เป็นสิ่งที่อยู่ท่ามกลางระหว่างรูปแบบของภาษาศาสตร์และเหตุผลส่วนตัวของบุคคลในการใช้ภาษา (Timothy J. Armstrong, 1992: 99-100) วาทกรรม จึงเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการสร้างความหมาย เป็นภาษาชนิดหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารลึกกว่าภาษาโดยทั่วไป วาทกรรมใช้สื่อความหมายเชิงสัญญะออกมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอิทธิพลต่อทัศนคติ วิธีคิด ของผู้คนในสังคม 

การวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) 

การวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) คือการพยายามศึกษาและสืบค้นถึงกระบวนการ ขั้นตอน ลำดับเหตุการณ์ และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในการสร้างเอกลักษณ์และความหมายให้กับสรรพสิ่งที่ห่อหุ้มเราอยู่ในสังคมในรูปแบบของวาทกรรมและภาคปฏิบัติการของวาทกรรม (Discursive Practice) ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำ (Hegemony) ในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ อย่างไรบ้าง มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคล สถาบัน สถานที่ เหตุการณ์อะไรบ้าง และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้าง ตลอดจนรวมไปถึงการเก็บกด ปิดกั้น สิ่งเหล่านี้ของวาทกรรมมีอย่างไร หัวใจของวิเคราะห์วาทกรรมอยู่ที่การพิจารณาค้นหาว่าด้วยวิธีการหรือกระบวนการใดที่สิ่งต่างๆ ในสังคมถูกทำให้กลายเป็นวัตถุเพื่อการศึกษาหรือการพูดถึงของวาทกรรม (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2551: 98) 

วิธีการวิเคราะห์วาทกรรมตามแนวคิดของ Foucalt มี 2 วิธี ได้แก่ วิธีการ Archaeology และ Genealogy ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ขุดค้นและแกะรอยไปตามช่วงชั้นและเครือข่ายของบริบททางประวัติศาสตร์เพื่อหาความจริงที่ถูกปิดบังอำพรางด้วยอำนาจแห่งวาทกรรม (เยาวนุช เวศร์ภาดา , 2545: 19) 

Archaeology เยาวนุช เวศร์ภาดา (2545) สรุปไว้ว่า เครื่องมือวิเคราะห์วาทกรรมที่เรียกว่า Archaeology เป็นวิธีการวิเคราะห์ปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นวาทกรรมหนึ่งๆ ทีละชิ้นทีละส่วนที่มาประมวลกันเข้าแล้วเกิดเป็นวาทกรรมใหม่ๆ เท่ากับเป็นการทำความเข้าใจเงื่อนไขกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดให้วาทกรรมดำรงอยู่ วิธีการวิเคราะห์วาทกรรมแบบ Archaeology จึงเป็นวิธีที่ช่วยเผยให้เห็นเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นวาทกรรมนั้นๆ ในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละบริบท ดังนั้นประวัติศาสตร์ในมุมมองของ Foucalt จึงไม่ใช่เรื่องของกระแสเวลาที่ก้าวต่อเนื่อง แต่เป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ใหม่ของกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายในวาทกรรมต่างๆ ขณะที่ ธีรยุทธ บุญมี (2551) สรุปไว้ว่า Foucault กล่าวถึง การวิเคราะห์วาทกรรมในแนวโบราณคดีทางความรู้ (Archeology of Knowledge) แทนที่จะใช้แนวประวัติศาสตร์ทางความคิด (History of Idea) ว่าแนวประวัติศาสตร์ความคิดปกติมักมองพัฒนาการความคิดอย่างเป็นของสูง เป็นพัฒนาการของสิ่งดีงาม หรือเป็นเหตุเป็นผลมากเกินไป ประวัติศาสตร์ความคิดปกติมองพัฒนาการความคิดเป็นความต่อเนื่อง เป็นเส้นทางเดียวที่ละเอียดอ่อนหรือก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ มากเกินไป ไม่มองเป็นการก้าวกระโดดที่เกิดจากความหลากหลายเหตุปัจจัยที่ต้องการการวิเคราะห์พิจารณาอย่างถี่ถ้วนในช่วงประวัติศาสตร์หนึ่งๆ  การศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดแนวปกติ ความผิดพลาดที่แฝงฝังอยู่ นั่นคือ ภายใต้ความคิดหนึ่งยังมีสิ่งหรือความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง การค้นหาสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังต้องทำผ่านภาษาหรือวาทกรรม การศึกษาแนวนี้จึงเป็นการขยายตัวของวาทกรรมต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ส่วนแนวทาง Archeology ต้องการศึกษาวาทกรรมแบบให้จำกัดอยู่ในตัวของมันเองให้มากที่สุด 

Genealogy ธีรยุทธ บุญมี (2551) สรุปว่า Genealogy เป็นวิธีวิทยาในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่ง Foucault พัฒนาต่อมาจากวิธีแบบ Archeology ซึ่งถ้ามองว่า Archeology คือการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ความคิดในรูปแบบใหม่ ก็อาจมองได้ว่า Genealogy เป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ซึ่งกว้างกว่าประวัติศาสตร์ของความคิด Genealogy สืบเนื่องวิธีคิดแบบ Archeology คือไม่มองว่าสิ่งใดเป็นแก่นแท้ เป็นสิ่งสากลแน่นอนคงตัว หรือมีสิ่งที่เป็นประจักษ์ชัดเจนอยู่แล้ว แต่มองว่าทุกประเด็นแนวคิดที่เราศึกษาถูกสร้างขึ้น สังเคราะห์ขึ้น โดยวาทกรรมและอำนาจ ทั้งยังมีลักษณะไม่ต่อเนื่อง แต่มีลักษณะกลายรูป แปรรูปด้วย การสรุปดังกล่าวสอดคล้องกับ เยาวนุช เวศร์ภาดา (2545) สรุปว่า Genealogy เป็นวิธีแก้ไขจุดอ่อนของ Archaeology ที่ให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์รูปแบบ ทฤษฎี และระบบกฎเกณฑ์ จนละเลยอำนาจบางอย่างที่ถูกผลิตควบคู่กันไปกับวาทกรรมนั้นๆ นั่นคือ การสถาปนาอำนาจแห่งความจริง หรือที่เรียกว่า ระบอบของสัจจะ (Regime of Truth) ที่ค้ำจุนวาทกรรมนั้นๆ ให้ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นสัจจะ Genealogy มุ่งเผยให้เห็นว่าวาทกรรมที่ได้รับการสถาปนาให้กลายเป็นสัจจะนั้น มีกลวิธีในการกำราบ ปราบปราม ปิดกั้นวาทกรรมย่อยอื่นๆ ไม่ให้ปรากฏตัวอย่างไร ขณะเดียวกันวาทกรรมย่อยต่างๆ ก็พยายามดิ้นรนที่จะเผยตัวเองหรือต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ในการสถาปนาวาทกรรมของตนขึ้นมาบ้าง 

โดยสรุปแล้วการวิเคราะห์วาทกรรมคือ การพยายามจะที่เปิดเผยให้เห็นถึงกระบวนการในการสร้างวาทกรรมและผลของการปฏิบัติการของวาทกรรมว่ามีความเป็นมาอย่างไร เกี่ยวข้องกับใครและอะไรบ้าง และสร้างผลกระทบอย่างไร โดยมีวิธีการวิเคราะห์วาทกรรมสองวิธีตามแนวคิดของ Foucalt ได้แก่ วิธีการ Archaeology และ Genealogy การวิเคราะห์วาทกรรมมุ่งอธิบายปรากฏการทางสังคม โดยเชื่อว่าปรากฏการทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งถูกสร้างขึ้นมาจากกระบวนการทางภาษาที่มีจุดมุ่งหมายให้วาทกรรมที่ถูกสร้างมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนในสังคม โดยเฉพาะทางด้านความเชื่อ ซึ่งมักเรียกกันว่า วาทกรรมหลัก” (Dominant Discourse) หรือที่ Foucalt เรียกว่า “Episteme” การวิเคราะห์วาทกรรมดังกล่าวจะเผยให้เห็นวัตถุประสงค์ของผู้สร้างวาทกรรม และอาจสร้างวาทกรรมอีกชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้วาทกรรมหลัก โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ความคิดของผู้คน ไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวาทกรรมหลัก 

บทบาทและความสำคัญของการวิเคราะห์วาทกรรม 

จากความหมายของวาทกรรม และการวิเคราะห์วาทกรรมดังที่กล่าวมา ทำให้เห็นว่าการการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์ด้วยการวิเคราะห์วาทกรรมนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ซ่อนอยู่ในกระบวนทัศน์ต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนทัศน์การพัฒนา ซึ่งสามารถสรุปบทบาทและความสำคัญของการวิเคราะห์วาทกรรม โดยสรุปจากงานเขียนของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2549) ได้ดังต่อไปนี้ 

1) ช่วยให้มองเห็นประเด็นปัญหาอื่นที่ไม่ได้พูดถึงกันหรือสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นอื่นซึ่งหมายถึงเอกลักษณ์หรือตัวตนของสิ่งนั้นๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพื่อนำไปสู่การพูดถึงสิ่งที่ไม่ได้มีการพูดถึง ที่เป็นผลมาจากระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่วาทกรรมนั้นๆ กำหนดขึ้น 

2) ทำให้เห็นถึงฐานของการเป็นวาทกรรมของสิ่งนั้น การวิเคราะห์วาทกรรมจึงเป็นความพยายามเผยให้เห็นถึงฐานะการเป็นวาทกรรมในเรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องของการพัฒนาแห่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสร้างเอกลักษณ์หรือตัวตนชนิดหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า ความด้อยพัฒนาในฐานะที่เป็นความเป็นอื่นหรือคู่ตรงข้ามของ การพัฒนาด้วยการผูกขาดรูปแบบ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงสังคมว่ามีเพียงแบบเดียว คือ แบบของสังคมตะวันตก และทำหน้าที่กดทับ ปิดกั้น วัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาพื้นบ้านในประเทศโลกที่สามไว้ ภายใต้เอกลักษณ์หรือตัวตนที่เรียกว่า ความด้อยพัฒนา 

3) สามารถทำให้มนุษย์ฉีกออกไปจากกระแสหลักหรือวาทกรรมหลัก เพื่อแสวงหารูปแบบอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องผูกยึดติดกับเรื่องที่ถูกครอบงำหรือกำลังจะถูกครอบงำ 

4) เป็นการเปิดโปงเผยให้เห็นธาตุแท้ หรือฐานะความเป็นวาทกรรมของสรรพสิ่งในสังคม โดยแสดงให้เห็นว่าวาทกรรมคือระบบของอำนาจ ระบบของการผลิตหรือสร้าง และการเก็บกดปิดกั้นที่ยิ่งใหญ่ วาทกรรมเป็นเรื่องของระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ เงื่อนไขและความเป็นไปได้ของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง วาทกรรมพยายามปิดบังฐานะของตัวเองในรูปของความรู้ ความจริง ความเป็นธรรมชาติ หรือความเป็นปกติธรรมดา เพื่อช่วงชิงการนำในการสร้างหรือกำหนดกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกรอบในการพูด เขียนถึง อธิบาย ทำความเข้าใจ ตลอดทั้งการตัดสินสิ่งนั้นๆ  

5) การวิเคราะห์วาทกรรมช่วยให้เรามอง ความรู้ในฐานะที่เป็นทัศนะหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงสูงสุดหรือสัจธรรม แต่เป็นเพียงทัศนะหนึ่งว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่มีความเป็นสากลหรือเป็นธรรมชาติแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่การที่วาทกรรมชุดหนึ่งสามารถกลายสภาพเป็น ความรู้และ ความจริงได้นั้น ก็เพราะมีกระบวนการเฉพาะบางอย่างทำให้กลายเป็นเช่นนั้น ดังนั้นการวิเคราะห์วาทกรรมจึงทำให้มองเห็นถึงอำนาจ ความรุนแรง มากกว่าเรื่องของข้อเท็จจริง 

6) การวิเคราะห์วาทกรรมช่วยให้เราเห็นว่า งานเขียนทางวิชาการต่างๆ มิได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางหรือเป็นวิทยาศาสตร์อย่างที่มักนิยมเข้าใจกัน แต่งานเขียนเหล่านี้ทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง คือ ประการแรก สร้างและตรึงเอกลักษณ์ภาพลักษณ์ รวมตลอดถึงความหมายของสิ่งที่เป็นวาทกรรมชุดหนึ่งขึ้นมา  ดังนั้น การวิเคราะห์วาทกรรมจึงช่วยให้เราเห็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าธรรมดาสามัญ และไม่มีปัญหา อย่างหนังสือ ตำรา หรืองานเขียนทางวิชาการ รวมถึงตัวนักวิชาการเองในฐานะที่เป็นผู้เขียนผู้แต่งนั้น จริงๆ แล้วมีปัญหาและความยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก ประการที่สอง ในฐานะที่เป็นวาทกรรมชุดหนึ่ง ย่อมมิใช่เรื่องของความรู้ เทคนิค วิทยาการ ความจริงล้วนๆ อย่างที่นิยมเข้าใจกัน แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำในการสร้าง และกำหนดกฎเกณฑ์ว่าอะไรเป็นและอะไรไม่เป็น ในรูปของวาทกรรม และการทำให้วาทกรรมที่สร้างขึ้นมาเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากกว่าเป็นมันจะเป็นจริงโดยตัวของมันเอง ในทำนองเดียวกัน การวิเคราะห์วาทกรรมทำให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดชัดแจ้งหรือชัดเจนในตัวของมันเอง มีแต่ถูกทำให้ชัดแจ้งผ่านมาตรฐาน กฎเกณฑ์ เงื่อนไขบางชนิด การวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า เหตุการณ์และ การทำให้เป็นประเด็นปัญหาทำให้เห็นว่า สรรพสิ่งในสังคมเป็นเรื่องของการสร้าง หรือสถาปนาขึ้นของวาทกรรมมากกว่าเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วล้วนแต่เป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากเรื่องของอำนาจในการสร้างความรู้ และความจริง 

7) การวิเคราะห์วาทกรรมช่วยให้เราสามารถสงสัย ตั้งคำถาม และตรวจสอบบรรดาสรรพสิ่งในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายสภาพเป็น ประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างวิพากษ์รุนแรง มากกว่าเป็นสิ่งที่คุ้นเคย เคยชิน และยอมรับโดยปราศจากการตั้งคำถาม ตรวจสอบ ดังนั้น สำหรับการวิเคราะห์วาทกรรมแล้วไม่มีสิ่งใดที่ได้รับการยกเว้นหรือยอมรับโดยปราศจากการตั้งคำถามหรือตรวจสอบ ขณะเดียวกันก็ไม่มองสรรพสิ่งในฐานะที่หยุดนิ่ง เป็นเอกภาพ แน่นอน และตายตัว แต่ลื่นไหลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นกับการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำในการนิยาม สร้างความหมายให้กับสิ่งนั้นๆ 

8) การวิเคราะห์วาทกรรมเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับการต่อสู้ในสังคมและระหว่างสังคมให้กว้างไกลไปจากเดิมที่วนเวียนอยู่แต่เรื่องของการเมืองแบบสถาบัน เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเพิ่มพื้นที่การต่อสู้ในเรื่องของวาทกรรมเข้าไป 

วาทกรรมกับ อำนาจ ความรู้ ความจริง อุดมการณ์ และผลประโยชน์ 

วาทกรรมมีความเชื่อมโยงกับ อำนาจ ความรู้ ความจริง อัตลักษณ์ และผลประโยชน์ เพราะภาษาและวาทกรรมที่ถูกเลือกมาใช้ในการสื่อสารล้วนแฝงไว้ด้วยความคิดบางประการของสังคมผ่านผู้ใช้ภาษา และผ่านการกระทำทางสังคมที่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อัตลักษณ์ และอุดมการณ์ทางสังคมบางประการย่อมแทรกและทอดตัวอยู่ท่ามกลางภาษาที่ถูกใช้เหล่านั้น การศึกษาตีความข้อมูลทางภาษาในเชิงวาทกรรมย่อมทำให้เห็นอำนาจ อัตลักษณ์และอุดมการณ์ที่แฝงอยู่เบื้องหลัง (กฤษดาวรรณ หงศ์ดารมภ์ และ จันทิมา เอียมานนท์, 2549: 10) 

วาทกรรมการพัฒนา (Development Discourse) 

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2549) อธิบายไว้ว่า การพัฒนา (Development) เป็นประดิษฐกรรมทางประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่ได้รับความนิยมกันอย่างรวดเร็วและแพร่หลายในสังคมยุคปัจจุบัน การพัฒนาถูกสร้างขึ้นมาโดยประเทศมหาอำนาจตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหมายของการพัฒนาค่อนข้างมีความเป็นพลวัตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ในยุคเริ่มแรกของการพัฒนานั้น การพัฒนาหมายถึงการทำให้ทันสมัยอย่างสังคมตะวันตกโดยให้น้ำหนักไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาการเมือง ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย” (Modernization Theory) เมื่อเวลาผ่านมาจนผลของการพัฒนาได้ปรากฏให้ผู้คนในสังคมได้เห็นชัดว่าการพัฒนาได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เทียมกันในสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ผู้คนในสังคมจำนวนมากยากจนลง แต่ผู้คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา จนมีที่มาของคำว่า ด้อยพัฒนา จึงทำให้เริ่มมีผู้คนในแวดวงการพัฒนาเริ่มออกมาต่อต้านแนวคิดการพัฒนาตามแบบของทฤษฎีความทันสมัย ก่อให้เกิดการต่อสู้กันทั้งทางแนวคิด ทฤษฎี และวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามากมายในปัจจุบัน เช่น การก่อเกิดของทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) ทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) และแนวความคิดว่าด้วยความด้อยพัฒนาแนวมาร์กซิสต์ใหม่ (Neo-Marxist) ทั้งหลายเป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2566

การงดออกเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์

 จากประสบการณ์การเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ พบว่ามีหลายครั้งที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ต้องลงมติในวาระพิจารณาที่สำคัญ และปรากฏว่า มีกรรมการบางส่วนงดออกเสียง ในฐานะเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ที่เข้าร่วมประชุมจะแนะนำเรื่องนี้อย่างไรดี

 

สหกรณ์ที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายสหกรณ์ (ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มีฐานะเป็นนิติบุคคล (มาตรา 37) มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้แทนสหกรณ์ โดยเมื่อแรกตั้งสหกรณ์คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ได้รับมอบหมายการทั้งปวงจากคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ภายหลังการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก (มาตรา 40)

 

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คนซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก (มาตรา 50 วรรคแรก) คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ (มาตรา 51) ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ข้อบังคับของสหกรณ์ และมติที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก (มาตรา 51/1)

 

สหกรณ์ต้องกำหนดประเภทสหกรณ์ (มาตรา 43 (2)) วัตถุประสงค์ (มาตรา 43 (3)) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน (มาตรา 43 (6)) ตลอดจนการเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งและการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (มาตรา 43 (9)) ไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์

 

เพื่อให้เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ (มาตรา 43 (3)) และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน (มาตรา 43 (6)) ให้สหกรณ์กำหนดอำนาจกระทำการไว้ให้ขัดเจนในข้อบังคับ (มาตรา 46)

 

จากข้อกฎหมายดังที่กล่าวมาจะเห็นว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้แทนสหกรณ์ในการดำเนินการต่าง ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ซึ่งการใช้อำนาจของคณะกรรมการดำเนินการนั้นต้องใช้ในนามคณะกรรมการดำเนินการ ไม่ใช่ใช้อำนาจโดยกรรมการคนหนึ่งคนใด กฎหมายจึงกำหนดเรื่อง การประชุมของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (มาตรา 43 (9))

 

การประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เป็นการดำเนินที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของผู้แทนสหกรณ์ ในเรื่องสำคัญต่าง ๆ อาทิ การรับทราบผลการดำเนินงาน การติดตามผลการดำเนินงาน การพิจารณาเพื่อดำเนินการ การพิจารณาอนุมัติงบประมาณ การพิจารณาถือใช้ระเบียบ การอนุมัติเงินกู้ การนำเงินไปลงทุน การอนุมัติงบประมาณรายจ่าย การพิจารณาเกี่ยวกับวินัยของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ และดำเนินการต่าง ๆ (ดูอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการในข้อบังคับของสหกรณ์) บางเรื่องเป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ แต่ที่ประชุมใหญ่ก็ได้อนุมัติเป็นกรอบอย่างกว้าง ๆ ไว้ เมื่อจะดำเนินการจริง ๆ ก็ต้องอาศัยมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการก่อน

 

การลงมติของคณะกรรมการดำเนินการในวาระพิจารณาเพื่อตัดสินใจกระทำการต่าง ๆ ในฐานะผู้แทนสหกรณ์จึงต้องเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของที่ประชุมใหญ่ อยู่บนพื้นฐานเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก

 

วิธีการออกเสียงเพื่อลงมติของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ จะอาศัยแนวทางตามกฎหมายใด ๆ ให้พึงตระหนักว่ากฎหมายสหกรณ์กำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างไร ข้อบังคับของสหกรณ์กำหนดไว้อย่างไร ดังนี้

 

ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ทั้งนี้ กรรมการผู้ใดขาดประชุมคณะกรรมการดำเนินการติดต่อกันสามครั้งโดยไม่มีเหตุอันควร กรรมการดำเนินผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความจำเริญแก่สหกรณ์ ในกรณีคณะกรรมการดำเนินการกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ หรือกระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก อันเป็นเหตุให้สหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการหรือฐานะการเงิน ตามรายงานการสอบบัญชีหรือตามรายงานการตรวจสอบ เป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่ในกรณี การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ การควบสหกรณ์ การแยกสหกรณ์ การเลิกสหกรณ์ ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมาประชุม ทั้งนี้ ถ้าในปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเฉพาะตัว ผู้นั้นจะออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้ (ข้อบังคับสหกรณ์)

 

การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”

 

มีคำถามว่า กรรมการผู้หนึ่งผู้ใดจะงดออกเสียงในวาระพิจารณาเพื่อการวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ได้หรือไม่ และหากกรรมการงดออกเสียงจะส่งผลประการใด มีข้อกฎหมายให้พิจารณา ดังนี้

 

มาตรา 51/2 บัญญัติว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายต่อสหกรณ์ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

(2) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์

(3) ดำเนินกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ หรือขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการ ที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์

เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้ใดมีส่วนร่วมในการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้นั้นต้องรับผิดร่วมกันกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ในความเสียหายต่อสหกรณ์

 

มาตรา 51/3 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 51/2 ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) พิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ร่วมกระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์

(2) ได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยปรากฏในรายงานการประชุมหรือได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม

 

จากข้อกฎหมายดังกล่าว สมมติว่า ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการครั้งหนึ่ง คณะกรรมการลงมติอันเป็นการดำเนินกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ โดย สหกรณ์แห่งนี้ข้อบังคับกำหนดให้มีกรรมการ 15 คน (ประธาน 1 คน และกรรมการ 14 คน) ปรากฏว่าวันประชุมมีกรรมการมาประชุม 14 คน (เป็นวาระการประชุมกรรมการฯ ที่ไม่มีวาระการเสนอให้ที่ประชุมใหญ่แก้ไขข้อบังคับ) มีกรรมการลงมติให้ดำเนินการ 8 คน กรรมการลงมติไม่เห็นด้วย 3 คน กรรมการงดออกเสียง 3 คน และกรรมการไม่มาประชุมเนื่องจากป่วยหนัก 1 คน (มีใบลาหรือหลักฐานการป่วย) ผลของมติกรรมการ ที่ส่งผลต่อการดำเนินการของสหกรณ์ จะส่งผลอย่างไรต่อกรรมการที่ลงมติครั้งนี้

1) กรรมการที่ลงมติให้ดำเนินการ 8 คน ต้องรับผิดตามมาตรา 51/2

2) กรรมการที่ลงมติไม่เห็นด้วย 3 คน ไม่ต้องรับผิด แต่ต้องบันทึกรายงานการประชุมให้ชัดเจน (มาตรา 51/3)

3) กรรมการที่ไม่มาประชุมเพราะป่วย ไม่ต้องรับผิด

4) กรรมการที่งดออกเสียง 3 คน ต้องร่วมรับผิด เพราะมิได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (รู้ว่าผิดก็ยังเฉย) แต่หากได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม ก็ไม่ต้องรับผิด

 

ทั้งนี้จะเห็นว่า การจดบันทึกรายงานการประชุมของสหกรณ์มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมใหญ่ก็ดี หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือการประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ตลอดจนการประชุมอื่น ๆ เช่น การประชุมกลุ่มสมาชิก การจดบันทึกรายงานการประชุมต้องมีรายละเอียดที่ครบถ้วน มีการอ้างอิงข้อกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติที่ประชุมใหญ่ มีการอ้างถึงความจำเป็น วิธีการ และผลที่จะเกิด แสดงให้เห็นเจตนาที่ชัดแจ้ง

 

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ในแต่ละปีมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เนื่องจากกรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้ง ให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของกรรมการ ดำเนินการสหกรณ์ทั้งหมดโดยวิธีจับฉลาก และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ (วรรค 2 มาตรา 50) ฉะนั้น หากจดบันทึกรายงานการประชุมไว้ไม่ชัดแจ้ง และหากมีข้อสงสัยที่จะต้องวินิจฉัย ก็จะต้องเสียเวลาในการสืบหาเจตนาที่แท้จริง หากจะต้องดำเนินการทางกฎหมายก็ใช้เป็นหลักฐานที่ไม่มีน้ำหนัก

 

อนึ่ง หากพิจารณาจากวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการของสหกรณ์ ตามประเภทสหกรณ์ที่จัดตั้งและจดทะเบียนตามกฎหมาย ผมมองไม่เห็นเลยว่ามีเรื่องใดบ้างที่กรรมการจะงดออกเสียง เพราะมันมีแต่เรื่องที่ทำได้กับทำไม่ได้ ประกอบกับสหกรณ์มีบรรดาระเบียบต่าง ๆ ซึ่งกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการ ยิ่งช่วยให้การลงมติออกเสียงต่าง ๆ ง่ายมากกว่าที่จะงดออกเสียง ทั้งนี้หากไม่แน่ใจจริง ๆ ก็อาจหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะดำเนินการลงมติก็ยิ่งป้องกันความผิดพลาดเสียหาย

 

ทั้งนี้ การงดออกเสียงในการประชุมอื่น ๆ ในองค์กรอื่น ๆ จะทำได้หรือไม่ได้ให้พิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และข้อบังคับการประชุมของแต่ละองค์กร ใช่ว่าการงดออกเสียงจะเป็นการแสดงเจตนาที่เป็นสากล นำมาใช้ได้ในทุก ๆ องค์กร โดยเฉพาะในสหกรณ์ ผมเห็นว่าการงดออกเสียงไม่ได้เกิดประโยชน์อันใดต่อสหกรณ์เลย อาจเข้าข่าย “งดเว้นกระทำการ” เสียด้วยซ้ำ (ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ)

ตัวอย่างข้อบังคับการประชุมขององค์กรอื่น ๆ และข้อวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับ “การงดออกเสียง”

 

1) ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 57 (1) กำหนดการออกเสียงลงคะแนน 3 ความเห็น คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และไม่ออกเสียง ทั้งนี้รัฐสภาได้อธิบายเพิ่มเติมว่า งดเว้นการออกเสียง หมายถึง การที่สมาชิกสภาไม่ออกเสียงหรืองดการแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติหรือข้อปรึกษาที่ต้องมีการลงมติในที่ประชุมสภา คะแนนเสียงของสมาชิกสภาที่งดเว้นการออกเสียงไม่นำมานับรวมเป็นเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จึงไม่มีผลในทางสนับสนุนหรือคัดค้านฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีที่ใช้เสียงข้างมากธรรมดาในการชี้ขาดญัตติหรือข้อปรึกษานั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการชี้ขาด การงดเว้นการออกเสียงก็อาจมีผลเท่ากับเป็นการไม่เห็นด้วยกับญัตตินั้นได้ เช่น ในกรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 151 ซึ่งกำหนดให้มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การงดเว้นการออกเสียงจึงทำให้เกิดผลเท่ากับว่าไม่เห็นด้วยกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนั้นนั่นเอง (https://library.parliament.go.th/th/node/4180)

 

2) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การหามติของ ก.อบต.จังหวัด กรณีกรรมการลงมติเห็นชอบ น้อยกว่าจํานวนกรรมการที่งดออกเสียง (เรื่องเสร็จที่ 1178/2558) สรุปว่า การนับคะแนนเสียงต้องนับจากเสียงที่ลงคะแนนโดยให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นมติของคณะกรรมการ ส่วนการงดออกเสียงเป็นการไม่ลงคะแนนเสียงจึงไม่อาจนับเป็นเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยมีการอธิบายเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียง ว่า

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า โดยทั่วไปหลักการหามติของคณะกรรมการโดยการนับคะแนนเสียงนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ

 

(1) เสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple Majority) หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของผู้ซึ่งประกอบเป็นองค์ประชุมและได้ออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในเรื่องนั้น การงดออกเสียงลงคะแนนหรือไม่อยู่ในที่ประชุมไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมไม่ถือว่าเป็นการออกเสียงจึงไม่อาจนับคะแนนเหล่านั้นไปรวมกับการออกเสียงลงคะแนนของฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้

 

(2) เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (Absolute Majority) หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนทั้งหมด ซึ่งอาจกำหนดให้เกินกึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น เช่น สองในสาม หรือสามในสี่ของสมาชิกหรือกรรมการทั้งหมดหรือเท่าที่มีอยู่ ในกรณีนี้การหามติของที่ประชุมจึงต้องให้ได้คะแนนเสียงตามที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะมีผู้ลงคะแนนเสียงเท่าใด มาประชุมเท่ใด หรืองดออกเสียงเท่าใด คะแนนเสียงที่จะถือเป็นมติได้ต้องได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้เท่านั้น

 

3) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การลงมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องเสร็จที่ 263/2565 สรุปว่า แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ประกอบกับข้อ 21 แห่งระเบียบคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เนื่องจากกฎหมายและระเบียบดังกล่าวมิได้บัญญัติให้มีการนับคะแนนเสียงข้างมากไว้เป็นอย่างอื่น การนับคะแนนเสียงในกรณีนี้จึงต้องถือหลักการนับคะแนนเสียงข้างมากธรรมดาที่จะต้องนับคะแนนเสียงเฉพาะแต่กรรมการผู้ซึ่งออกเสียงลงคะแนนในเรื่องดังกล่าวเท่านั้น ส่วนกรรมการที่งดออกเสียงย่อมไม่อาจนำมานับเป็นคะแนนเสียงได้ อนึ่ง คณะกรรมการเป็นองค์กรกลุ่ม ประกอบด้วยบุคคลซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและมีความรู้ความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน การทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการก็เพื่อให้มีองค์ประกอบที่มาจากบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันปรึกษาหารือ ระดมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกันเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นมติ ซึ่งเมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ แล้ว

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า กฎหมายประสงค์ที่่จะให้มีคณะกรรมการที่มีความคล่องตัวและเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม ประกอบกับมาตรา 17 (9) และมาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯกำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจหน้าที่พิจารณากำหนดโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 80 มาตรา 81 มาตรา 82 และมาตรา 83 รวมทั้งฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตลอดจนมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง โดยคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทำผิด ดังนั้น กรรมการเสียงข้างน้อยและกรรมการที่งดออกเสียงจึงมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาลงมติในวาระพิจารณาการกำหนดจำนวนค่าปรับทางปกครอง…

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 57 (1) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การหามติของ ก.อบต.จังหวัด กรณีกรรมการลงมติเห็นชอบ น้อยกว่าจํานวนกรรมการที่งดออกเสียง (เรื่องเสร็จที่ 1178/2558) จะเห็นว่า การกำหนดเรื่องการออกเสียงเป็นเรื่องที่ต้องกำหนดไว้ในข้อบังคับ หรือข้อบังคับการประชุมของแต่ละองค์กร แต่หากไม่ได้กำหนดเรื่อง “การงดออกเสียงไว้” หรือกำหนดเพียง “ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก” หากมีกรณีปัญหาให้ต้องวินิจฉัย เช่น คะแนนเสียงข้างมากน้อยกว่าคะแนนงดออกเสียง จะต้องวินิจฉัยตามแนวทาง เรื่องเสร็จที่ 1178/2558 แต่ในกรณีของสหกรณ์ก็ให้พิจารณาตามข้อกฎหมายที่ได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน

ปัญหาทางการเงินที่สำคัญของสังคมไทยในปัจจุบันคือปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต ปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเทียบกับในอดีตหรือเทียบกับต่างประเทศ โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 1/65 พบว่าสถาบันรับฝากเงินและสถาบันการเงินอื่น มียอดเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) รวมทั้งสิ้น 14.64 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแล้ว จะพบว่า ไตรมาส 1/65 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 89.2% ต่อจีดีพี ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/64 ซึ่งหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 90.0% ต่อจีดีพี (ประชาชาติธุรกิจ, 25 สิงหาคม 2565) ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ชี้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 89.3% และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้

 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนดังกล่าว หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาสำคัญจนกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทย หนี้ครัวเรือนคือหนี้ที่ประชาชนกู้ยืมจากผู้ให้กู้ สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการนอกระบบ หรือแหล่งเงินกู้อื่น ๆ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายตามความต้องการที่แตกต่างกันไป โดยการก่อหนี้หรือการกู้ยืมเงินนั้นช่วยให้เราสามารถใช้จ่ายได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และยามจำเป็นเกินกว่ารายได้และเงินออมที่มีอยู่ อย่างไรก็ดี การก่อหนี้เปรียบเสมือนการนำรายได้ในอนาคตมาใช้ แม้จะทำให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในปัจจุบัน แต่ในอนาคตผู้กู้จำเป็นต้องทยอยชำระหนี้คืนทำให้รายได้ที่หามาเหลือใช้น้อยลง และหากครัวเรือนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจก่อหนี้มากเกินไปก็จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจผ่านทางการบริโภคของครัวเรือนในอนาคตจะลดลง และความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดน้อยลง ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ยืม ในกรณีที่การผิดนัดชำระหนี้มีจำนวนมาก ระบบการเงินจะได้รับความเสียหายจนไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติและกระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2562)

 

ด้านสถานการณ์ทางการเงินของสมาชิกสหกรณ์ในระบบสหกรณ์พบว่า สัดส่วนเงินออมต่อสมาชิกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มีอัตราต่ำกว่าสัดส่วนหนี้สินต่อสมาชิกซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า แสดงให้เห็นว่าสมาชิกส่วนใหญ่ยังมีปัญหาหนี้สินเช่นเดียวกับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของประเทศ

 

นอกจากปัญหาหนี้สินที่กล่าวมา ปัญหาที่สำคัญอีกประการคือปัญหาอาชญากรรมทางการเงิน เช่น การทุจริต หลอกลวง ยักยอก หากเกิดขึ้นในระบบสหรณ์ ก็จะส่งผลให้สมาชิกเดือดร้อน ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการให้บริการทางการเงินของสหกรณ์ และหากปัญหาดังกล่าวมีความถี่สูง มีความเสียหายจำนวนมาก ก็อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสหกรณ์โดยรวม

 

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงินให้แก่สมาชิกได้อย่างไร

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน ขับเคลื่อนภายใต้กรอบแนวคิดการวางแผนการเงินส่วนบุคคล และกรอบแนวคิดเทคโนโลยีทางการเงิน

 

กรอบแนวคิดการวางแผนการเงินส่วนบุคคล

เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเงินหรือรายได้ที่ได้มาและวางแผนใช้เงินนั้นให้ตรงตามจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ทางการเงินที่ได้มาอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนทางการเงินประกอบด้วย การวางแผนกระแสเงินสด (รายรับ-รายจ่าย) การวางแผนการออม การวางแผนการลงทุน การวางแผนภาษี การวางแผนประกันภัย การวางแผนเกษียณ และการวางแผนมรดก โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ของครัวเรือน สร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้กับครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนเกิดการใช้จ่ายและการก่อหนี้ที่เกินตัว ให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุน รวมถึงรู้จักวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยง การปลดเปลื้องหนี้เดิม และช่วยส่งเสริมความมั่นคงและปลอดภัยในระบบการเงินของสหกรณ์โดยรวม

 

กรอบแนวคิดเทคโนโลยีการเงิน

เทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: Fintech) มักถูกนำมาใช้ในการเรียกบริษัท กลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการให้บริการด้านการเงินและการลงทุนให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น Fintech อาจจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ Traditional Fintech และ Emergent Fintech

 

Traditional Fintech เป็นธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่ภาคการเงินโดยทั่วไป เช่น บริษัทผู้พัฒนาบริการ Internet Banking หรือ Mobile Banking ให้แก่สถาบันการเงินเป็นต้น

 

ส่วน Emergent Fintech เป็นธุรกิจหรือกลุ่มผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโยลีเพื่อลดบทบาท หรือกำจัดตัวกลางทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น Paypal เป็นต้น Fintech ช่วยลดต้นทุนและเวลาในการทำธรุกรรมทางการเงินและการลงทุน ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน (พิมรักษ์ พรหมปาลิต, ออนไลน์)

 

เทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech) กำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันจนแทบจะขาดไม่ได้ หนึ่งในพัฒนาการด้าน FinTech ที่เด่นชัดที่สุดของไทยคือ การพัฒนามาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงินที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment) ให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถรับชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการขยายช่องทางการรับชำระเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ทำให้ร้านค้ามีต้นทุนต่ำลง ประชาชนยังสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือได้ (Mobile Banking) โดยไม่ต้องจำชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านให้ยุ่งยาก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล หรือ Biometrics ที่เพียงแค่สแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้า ผู้ใช้บริการก็สามารถยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งาน Mobile Banking ได้ นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังเริ่มใช้ Biometrics ในการเปิดบัญชีเงินฝาก เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความถูกต้องแม่นยำของการยืนยันตัวลูกค้า เป็นส่วนเสริมนอกเหนือจากการตรวจสอบโดยพนักงาน ด้วยเทคโนโลยีการใช้ข้อมูล Biometrics ที่กำลังจะมีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต การพัฒนาระบบ National Digital Identity (NDID) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลการพิสูจน์ยืนยันตัวตนลูกค้าระหว่างหน่วยงาน ด้วยวิธีที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง จะช่วยให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานหลายครั้งเช่น การเปิดบัญชีและการขอสินเชื่อกับผู้ให้บริการรายใหม่ได้สะดวกมากขึ้น โดยใช้หลักการตรวจสอบยืนยันข้อมูลกับหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือผู้ให้บริการที่เคยรู้จักตัวตนของผู้ขอใช้บริการแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดการให้บริการใหม่อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น Digital Lending หรือ Bio-Payment อาทิ การชำระเงินด้วยใบหน้าและลายนิ้วมือ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, ออนไลน์)

 

นอกจากเทคโนโลยีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้งานโดยตรงที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ยังมีเทคโนโลยีเบื้องหลัง หรือ เทคโนโลยี “หลังบ้าน” ที่จะเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานของผู้ให้บริการ ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ถูกลง ได้แก่

1) เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) เช่น เทคโนโลยี Blockchain ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินมากที่สุด ด้วยคุณลักษณะเด่นของ Blockchain ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลชุดเดียวกัน โดยข้อมูลไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ที่เดียว มี ระบบ Consensus ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องรับทราบและยอมรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล ทำให้ข้อมูลในระบบมีความโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือสูง สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา และมั่นคงปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ โดยในภาคการเงินไทย ได้เริ่มมีการนำ Blockchain มาใช้ในการให้บริการหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) ที่ช่วยให้สถาบันการเงินมีกระบวนการผลิต จัดเก็บ และนำส่งหนังสือค้ำประกันที่รวดเร็ว ปลอดภัย และน่าเชื่อถือได้ดีกว่าในรูปแบบกระดาษ ซึ่งนั่นหมายถึงประโยชน์ต่อภาคธุรกิจที่จะสามารถมั่นใจได้ว่าหนังสือค้ำประกันมีความถูกต้อง แม่นยำและลดต้นทุนในการจัดเก็บและนำส่งหนังสือค้ำประกันไปให้กับคู่ค้าอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำเอา Blockchain เข้ามาใช้เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง และรวดเร็วมากขึ้นด้วย

 

2) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) คือการสร้างความฉลาด ความเข้าใจ ความรู้ ที่มีในมนุษย์ให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดย AI นั้นสามารถประยุกต์ใช้ในการให้ บริการทางการเงินได้หลากหลาย อาทิ การรู้จำตัวอักษร (Optical Character Recognition: OCR) เช่น การอ่านข้อมูลบัตรประชาชน ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว และลดความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลผิด การรู้จำคำพูด (Speech Recognition) เช่น การพูดคำสั่งเมื่อโทรเข้า Call Center ที่เป็นระบบอัตโนมัติที่เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และการเรียนรู้ของเครื่อง หรือ Machine Learning ที่สามารถเรียนรู้ และทำนายข้อมูลได้ผ่านการศึกษาและสร้างอัลกอริทึม (Algorithm) ในภาคการเงินได้เริ่มมีการนำ AI เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ โปรแกรมตอบกลับการสนทนาผ่านตัวอักษรแบบอัตโนมัติ (Chatbot) ซึ่งช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการและลดการใช้แรงงานมนุษย์ลง การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินคุณภาพของลูกค้าผู้ขอกู้เงินด้วย AI ที่ใช้ Machine Learning ในการเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต ลักษณะการใช้จ่ายและการชำระเงิน เพื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ วงเงินปล่อยกู้ที่เหมาะสม มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

 

3) เทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลแอปพลิเคชัน (Application Programming Interface: API) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลแอปพลิเคชัน (Application) หรือระบบงานต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทั้งสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้นตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการบนพื้นฐานของความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการจัดการความปลอดภัยที่เหมาะสม (ธนาคารแห่งประเทศไทย, ออนไลน์)

 

กิจกรรมสร้างสุขทางการเงิน

1. กิจกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน กิจกรรมส่งเสริมการออม กิจกรรมคลินิกแก้หนี้ กิจกรรมที่ปรึกษาทางการเงิน ให้แก่สมาชิก

 

2. กิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินสหกรณ์ (Cooperative FinTech) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก พัฒนาระบบการให้บริการทางการเงินแก่สมาชิกที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง และสร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิกในการใช้บริการทางการเงินของสหกรณ์ เกิดความพึงพอใจในความสะดวก รวดเร็ว และความถูกต้องแม่นยำของการให้บริการทางการเงิน อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของสมาชิก ช่วยให้สมาชิกสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมั่นใจ ลดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของสหกรณ์ (Operation Risk) ช่วยให้สหกรณ์มีต้นทุนการบริการทางการเงินที่ต่ำลง

 

สหกรณ์สร้างสุขทางการเงิน มีเป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้แก่สมาชิกสหกรณ์ ป้องกันไม่ให้สมาชิกก่อภาระหนี้ที่เกินตัว ส่งเสริมให้สมาชิกให้ความสำคัญกับการออมทรัพย์ ช่วยให้สมาชิกรู้จักวางแผนการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน สร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิกในการใช้บริการทางการเงินของสหกรณ์ ให้เกิดความพึงพอใจในความสะดวก รวดเร็ว และความถูกต้องแม่นยำของการให้บริการทางการเงิน อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของสมาชิก ช่วยให้สมาชิกสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมั่นใจ ลดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของสหกรณ์ ช่วยให้สหกรณ์มีต้นทุนการบริการทางการเงินที่ต่ำลง ช่วยให้สหกรณ์บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก โดยวิธีร่วมกันดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ร่วมกัน อันจะนำมาซึ่งการกินดี อยู่ดี ของสมาชิกอย่างยั่งยืนต่อไป

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...