วันอังคารที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2566

แนวคิดสหกรณ์

 แนวคิดเรื่องการสหกรณ์เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษโดย Robert Owen ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการสหกรณ์โลก เขามองเห็นปัญหาต่าง ๆ ของคนงานในโรงงานทอผ้า โดยเฉพาะการถูกเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ จากนายทุนเจ้าของโรงงาน ในปี ค.ศ. 1800 เขาจึงคิดวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการซื้อโรงงานทอผ้าชื่อ NEW LANARK เป็นของตนเองและหุ้นส่วน เขาบริหารงานโดยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของคนงาน และที่เป็นพื้นฐานของการสหกรณ์ในเวลาต่อมาคือการที่เขาเปิดร้านค้าในโรงงานแบบใหม่ โดยเลือกสินค้าที่ดี และขายให้คนงานในราคาต่ำพอคุ้มทุน และยกประโยชน์ที่ได้จาการที่ร้านค้าสามารถซื้อของจำนวนมากในราคาต่ำลงให้แก่คนงาน (วิทยากร เชียงกูล, 2550: 13-15)

Robert Owen คิดและวางรากฐานด้านการสหกรณ์ เนื่องจากชนชั้นกรรมาชีพ ณ ขณะนั้นถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน เพราะนายทุนใช้เครื่องจักรเครื่องกลมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ และต่อรองกับชนชั้นกรรมมาชีพโดยการลดค่าจ้างแรงงาน Robert Owen จึงคิดค้นวิธีการสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชนชั้นกรรมมาชีพที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ได้รับแรงหนุนเสริมจากการปฏิบัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1760 แนวคิดการสหกรณ์ มีวิธีการพัฒนาการสหกรณ์ โดยเริ่มต้นจาก Co-operative Magazine ของชมรมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า A London Co-operative Society ในปี ค.ศ. 1824 วางรากฐานความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ผ่าน New Harmony community ในปี ค.ศ. 1826 และเกิด Rochdale Pioneers สหกรณ์ Rochdale จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 สมาชิกแรกเริ่ม 28 คน ทุนดำเนินงาน 28 ปอนด์ (ประมาณ 168 บาท อัตราแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น 1 ปอนด์ เท่ากับ 6 บาท) เริ่มซื้อขายในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1844 ช่วงแรกร้านค้าขายสินค้าพื้นฐานเพียง 5 รายการเท่านั้น ได้แก่ เนย แป้ง น้ำตาล ข้าวโอ๊ต และเทียน (Working Class Movement Library, ออนไลน์)        

          แนวคิดสหกรณ์มีการพัฒนาและแพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยโดยที่พระราชวรวงค์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยได้ทรงริเริ่มที่จะใช้แนวคิดสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนา ซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2458 และมีการก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ.2459 ชื่อว่าสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2459 (ค.ศ.1916) สมาชิกแรกเริ่ม 16 คน ทุนดำเนินงาน 3,080 บาท ซึ่งมาจากค่าธรรมเนียมแรกเข้า 80 บาท และเงินกู้จากแบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน) จำนวน 3,000 บาท (ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี) สหกรณ์ดำเนินธุรกิจโดยให้สมาชิกกู้ยืมเงินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี สมาชิกนำเงินกู้จากสหกรณ์ไปชำระหนี้เก่าที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เงินส่วนที่เหลือนำมาลงทุนทำนา (มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2561)

          พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับการสหกรณ์ไว้ ใน ปาถกฐาสหกรณ์บางรูปในอินเดีย ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงแสดงที่ สามัคยาจารย์สมาคม พ.ศ.2467 (กรมสหกรณ์, 2480) ความโดยสรุปที่สำคัญว่า สหกรณ์เป็นวิธีจัดการรูปแบบหนึ่ง ซึ่งบุคคลหลายคนเข้ารวมกันโดยความสมัครของตนเอง ในฐานที่เป็นมนุษย์เท่านั้น แลโดยความมีสิทธิเสมอหน้ากันหมด เพื่อจะบำรุงตัวเองให้เกิดความจำเริญในทางทรัพย์ ศัพท์ “สหกรณ์” เป็นคำแปลอังกฤษว่า โคโอเปเรชั่น แปลเป็นไทยว่า “ทำด้วยกัน” หมายเอาชุมนุมแห่งบุคคล ซึ่งพร้อมกันทำการเอาประโยชน์ด้วยกันในทางทรัพย์โดยวิธีการอันสุจริต ในสหกรณ์บางชนิดจำเป็นที่บุคคลเหล่านั้นจะต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีด้วยอีกชั้นหนึ่ง สหกรณ์ถือหลักว่าสมาชิกทุกคนต้องสมัคร แลต้องดำเนินการด้วยความเสมอหน้ากันในหมู่สมาชิก ข้อที่ต้องเอาหลักความสมัครก็เพราะเหตุว่าคนที่เข้าเป็นสมาชิกล้วนแต่เป็นผู้มีประสงค์ตรงกับความมุ่งหมายของสหกรณ์ทั้งนั้น ข้อที่สมาชิกต้องเสมอหน้ากัน ก็เพราะคนที่รู้สึกความต้องการจริง ๆ มักจะเป็นคนเล็กคนน้อยแลคนจน ย่อมจะไม่ไว้เนื้อวางตัวให้สูงกว่าเพื่อน แท้จริงหมู่คนเช่นนั้นจะดำเนินการได้สะดวก ก็ต่อเมื่อเสมอหน้ากันหมด หลักการสำคัญ 4 หลักการ ได้แก่

หลักการที่ 1 สหกรณ์นั้นเกิดเพราะความอัตคัดเป็นเหตุ ความอัตคัดนั้นทำให้คนคิดหาช่องทางที่จะปลดเปลื้องความลำบากต่าง ๆ จึงเป็นเครื่องให้สมาชิกสหกรณ์เข้ารวบรวมกัน สมาชิกทุกคนเป็นผู้ไม่มีทุน เพราะฉะนั้นเงินทุนจะเป็นหลักแห่งการรวบรวมกันก็ไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคนอัตคัดนั้นจะเข้ารวมกันในฐานะคนมีทุนไม่ได้ เมื่อเช่นนั้นก็ไม่มีทางอื่นนอกจากสมาชิกจะเข้ารวมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ธรรมดาเท่านั้นเอง ไม่ใช่ในฐานะคนมั่งมี หรือในฐานะอย่างอื่น ซึ่งไม่สามัญในพวกของตน ข้อนี้ทำให้สหกรณ์ผิดกับบริษัทหุ้นส่วนหรือบริษัทค้าขายอย่างอื่น ซึ่งคนเข้ารวมกันใบนฐานะที่เป็นผู้มีทุน

หลักการที่ 2 ถ้าคนมารวมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ธรรมดา เพื่อให้สำเร็จความประสงค์ซึ่งมีสามัญในหมู่ของตน ก็ไม่ควรจะมีความผิดเพี้ยนกันในระหว่างสมาชิกในทางที่จะให้สำเร็จสามัญประสงค์ เหตุดังนั้นสมาชิก ไม่ว่าเป็นผู้ดีหรือเป็นไพร่ ไม่ว่ามั่งมีหรือจน เมื่อเข้ามาในสหกรณ์แล้วต้องเสมอหน้ากันหมด หลักการปกครองสหกรณ์นั้น คือสมาชิกทุกคนมีเสียงคนละเสียงเสมอกันในที่ประชุมใหญ่ กิจการทั่งปวงต้องเดินตามความเห็นคนข้างมาก แต่สมาชิกทุกคนจะมาพร้อมกันการทำงานของสหกรณ์เสมอไป ก็จะเป็นการอุ้ยอ้าย ทำให้การงานติดขัด เพราะพร้อมกันบ้างไม่พร้อมกันบ้าง จึงต้องเลือกพวกตัวเองเป็นกรรมการแทนคนทั้งหมด แต่กรรมการจะทำการอันใดให้ผิดไปจากความประสงค์ของคนทั้งหมดไม่ได้ ในการแสดงความประสงค์ก็ดี ในการเลือกกรรมการก็ดี สมาชิกทุก ๆ คน ออกเสียงได้เสมอกัน ไม่มีใครต่ำหรือสูงกว่ากันเลย เหตุดังนั้นจึงกล่าวว่าสมาชิกสหกรณ์เสมอหน้ากันหมด

หลักการที่ 3 ผู้จะเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ต้องเข้าด้วยความเต็มใจของตนเองทั้งนั้น ผู้ที่เข้าสหกรณ์โดยมิได้สมัครเข้ามาด้วยน้ำใสใจจริงนั้น คงจะไม่ได้ประโยชน์จากสหกรณ์หรือเป็นประโยชน์แก่สหกรณ์จริงจังเลย

หลักการที่ 4 สหกรณ์ทำการเพื่อประโยชน์แก่ตนเองเท่านั้น ไม่เผื่อแผ่ไปถึงคนนอกสหกรณ์เป็นอันขาด เป็นต้นว่าเงินของสหกรณ์จะเอาไปให้คนอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกู้ไม่ได้ สมาชิกสหกรณ์เข้ารวมกัน เพราะมีความประสงค์เหมือนกันทุกคน แลตั้งสหกรณ์ขึ้นเป็นเครื่องจะให้สำเร็จสามัญประสงค์ของสมาชิก ไม่ใช่ของคนอื่น เพราะฉะนั้นหลักที่ 4 จึงเป็นหลักสำคัญ ซึ่งกฎหมายสหกรณ์มักจะกล่าวไว้แทบทุกประเทศ ถ้ากิจการของสหกรณ์มิได้ทำเพื่อประโยชน์เฉพาะในหมู่สมาชิกของตน ต่างว่าจะมีสหกรณ์เดินรถรางให้คนอื่นโดยสารได้ด้วย เช่นนี้จะเรียกว่าสหกรณ์จริง ๆ ก็ไม่ไสด้เสียแล้ว ข้อนี้อาจทำให้เห็นว่า สหกรณ์เป็นยวิธีการซึ่งเห็นแก่ตัวเองถ่ายเดียว แต่มีข้อแก้ว่าสหกรณ์นั้น ถ้าใครอยากเข้า และถ้ามิได้เป็นผู้บกพร่องตามข้อบังคับ ก็อาจเข้าได้ อนึ่งสหกรณ์นั้นเป็นวิธีการสำหรับให้คนรวมกันช่วยตัวเอง ผู้ที่มิได้เข้ามามีส่วนช่วยสหกรณ์ จะให้สหกรณ์ช่วยข้างเดียวก็ไม่ได้อยู่เอง

หลักสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือสมาชิกทุกคนต้องซื่อ ต้องเป็นคนดี ถ้าใครไม่ซื่อ ตัวเองก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากสหกรณ์ยืนยาวไป และจะให้โทษแก่สหกรณ์เป็นอันมาก ข้อยนี้สำคัญนัก ท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจได้โดยที่ไม่ต้องชี้แจงละเอียด ข้อบังคับสหกรณ์วางบัญญัติไว้ละเอียดเพื่อจะกันไม่ให้คนที่ไม่ซื่อ แลไม่ดีเข้ามาในสหกรร์ได้ แต่อย่างนั้นก็ยังไม่ค่อยฟัง

ความมุ่งหมายของสหกรณ์ การจัดสหกรณ์ที่เป็นแก่นแท้ ๆ ควรเรียกได้ว่าหัวใจสหกรณ์นั้นมีอยู่ 2 ข้อ คือ การออมทรัพย์ และการช่วยกันช่วยตัวเอง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. การออมทรัพย์ ใจความข้อนี้ก็คือการสงวนเงินหรือทรัพย์อื่น ๆ สะสมไว้ให้มีมากขึ้น ๆ วิธีทำคือเขม็ดแขม่เข้าของเงินทองของตน ใช้แต่ที่ควรใช้แลจำเป็นต้องใช้ ถ้าหากจะเปลืองไปก็ให้เปลืองไปโดยได้ประโยชน์แลกเปลี่ยนให้เต็มที่ ส่วนทรัพย์ที่จะหาได้ก็ให้ได้เต็มเมล็ดเต็มหน่วย มิให้ขาดตกบกพร่องไป

2. การช่วยกันช่วยตัวเอง เป็นวิธีที่ใช้เพื่อจะออมทรัพย์นั้นด้วย คนเราโดยมากถ้าจะมัวแต่คอยให้ผู้อื่นช่วยอยู่แล้ว ก็ไม่อาจจำเริญรุ่งเรืองไปได้ เพราะไม่มีคนจะมาคอยช่วย เมื่อไม่มีใครคอยช่วย ก็ต้องช่วยตัวเอง ตามธรรมดามนุษย์คนทุกคนต้องการจะช่วยตัวเองอยู่เสมอแล้ว แต่การช่วยตัวเองในการทรัพย์สินเงินทองนั้น ย่อมมีเลห์เหลี่ยมมาก ดูไม่เห็นง่าย ๆ การช่วยตัวเองในการทรัพย์สินเงินทองนั้น ลำพังคน ๆ เดียวมักจะช่วยไม่ค่อยไหว เพราะมีกำลังกาย กำลังทรัพย์ แลกำลังปัญญาน้อย จึงต้องรวมกำลังกันหลาย ๆ คน ร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียว ต่างคนต่างช่วยกันให้สำเร็จ เมื่อช่วยกันสำเร็จธุระไปทั้งหมู่แล้ว ธุระของตัวเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในหมู่ ก็พลอยสำเร็จไปด้วย

ผลของการจัดสหกรณ์ประเภทหาทุน

1. ผลในทางธรรม สหกรณ์มีอิทธิพลอย่าใหญ่หลวงในทางการบำรุงธรรมปฏิบัติ โดยเหตุที่บรรดาสมาชิกสหกรณ์จะต้องรับผิดชอบร่วมกันและแทนกันในหนี้สินของสหกรณ์ สมาชิกทุกคนจึงจำเป็นต้องกวดขันสอดส่องดูแลซึ่งกันและกันเพื่อกำจัดเสียซึ่งความประพฤติอันเสเพลเลวทรามต่าง ๆ ของเพื่อนสมาชิก

2. ผลในทางการศึกษา การจัดสหกรณ์ประเภทหาทุนนั้นเป็นการส่งเสริมพวกชาวนาให้เกิดสติปัญญา ทำให้เป็นผู้รู้จักคิดอ่าน มีความเข้าใจในกิจการ และสำนึกในความรับผิดชอบ ชาวนาได้เรียนส่างใดไปแล้วก็ยังขวนขวายที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้นอีก และประสงค์ที่จะมีความรู้ทางหนังสือ เพื่อสามารถอ่านรายงานการประชุม ทำบัญชี หรือตรวจดูสมุดบัญชีได้

3. ผลในทางสังคม ผลของสหกรณ์มนทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยเหมือนกัน สหกรณ์ประเภทหาทุนให้สมาชิกกู้เงินมิใช่เพียงเพื่อให้สมาชิกชำระหนี้เดิม ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยแพงและเพื่อใช้จ่ายในทางก่อให้เกิดผลงอกเงย เช่น ซื้อปุ๋ย เมล็ดพืช ปลูกบ้าน ซื้อที่ดิน ฯลฯ เท่านั้น แต่ยังให้กู้เพื่อใช้จ่ายในพิธีกรรมตามลัทธิประเพณี เช่น การสมรส การณาปนกิจ และพิธีการทางศาสนาอีกด้วย นับว่าเป็นความช่วยเหลือให้สมาชิกได้ปฏิบัติกิจตามควรแก่ความนิยมในทางสังคม

4. ผลในทางเศรษฐกิจ อันความเจริญรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจนั้น ย่อมอาศัยการประหยัดหรือการออมทรัพย์เป็นฐานที่ตั้ง ความมั่งคั่งจะเพิ่มพูนขึ้นได้ ก็โดยมีการออมทรัพย์มาก่อนและประเทศใดจะเจริญสมบูรณ์ก็เนื่องจากพลเมืองของประเทศนั้นออมทรัพย์ไว้ได้มาก การประหยัดหรือการออมทรัพย์นี้เป็นหัวใจสำคัญของสหกรณ์

5. ผลในทางปกครอง สหกรณ์เป็นชุมนุมที่เลือกคน และดัดแปลงอัธยาศัยใจคคนให้เข้าระเบียบที่ว่า จะต้องประพฤติดีและชอบด้วยทำนองคลองธรรมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นการละเมิดต่อบทกฎหมายของบ้านเมือง ถ้าสมาชิกผู้ใดฝ่าฝืนกติกาดังกล่าวนี้ก็ต้องออกจากสหกรณ์

ปัจจุบัน องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (International Co-operative Alliance, ICA) กำหนดหลักการสหกรณ์สากลซึ่งถือใช้กันทั่วโลก 7 หลักการ ได้แก่ การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง (Voluntary and Open Membership) การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Member Control) การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก (Member Economic Participation) การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ (Autonomy and Independence) การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ (Education, Training, and Information) การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (Cooperation among Cooperatives) และการเอื้ออาทรต่อชุมชน (Concern for Community) (ICA, ออนไลน์)

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552 นายทะเบียนสหกรณ์ ได้ออกประกาศทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยคุณค่าสหกรณ์ อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ เพื่อความเป็นเอกภาพในการส่งเสริมและพัฒนาการสหกรณ์ และเพื่อธํารงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของการสหกรณ์ไทย นายทะเบียนสหกรณ์เห็นควรกําหนดนิยามของคุณค่าสหกรณ์ อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ไว้ดังนี้

1. คุณค่าของสหกรณ์ (Cooperative values) สหกรณ์อยู่บนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการช่วยตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์

2. อุดมการณ์สหกรณ์ (Cooperative Ideology) คือ ความเชื่อร่วมกันที่ว่าการช่วยตนเอง และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์จะนําไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

3. หลักการสหกรณ์ (Cooperative Principles) คือ แนวทางที่สหกรณ์ยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้คุณค่าของสหกรณ์เกิดผลเป็นรูปธรรม หลักสหกรณ์สากล 7 ประการ ได้แก่

หลักการที่ 1 การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง (Voluntary and Open Membership) สหกรณ์เป็นองค์การโดยสมัครใจที่เปิดรับบุคคลทุกคนซึ่งสามารถใช้บริการของสหกรณ์ได้ โดยปราศจากการกีดกันทางเพศ สังคม เชื้อชาติ การเมือง หรือศาสนา และบุคคลนั้นต้องเต็มใจรับผิดชอบในฐานะสมาชิก

หลักการที่ 2 การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Member Control) สหกรณ์เป็นองค์การประชาธิปไตยที่ควบคุมโดยมวลสมาชิก ซึ่งมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการกําหนดนโยบาย และการตัดสินใจของสหกรณ์ ไม่ว่าชายหรือหญิงที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนสมาชิกต้องมีความรับผิดชอบต่อมวลสมาชิก สมาชิกของสหกรณ์ขั้นปฐมมีสิทธิออกเสียงเท่าเทียมกัน (หนึ่งคนหนึ่งเสียง) ส่วนสหกรณ์ในระดับอื่นก็จัดให้เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย

หลักการที่ 3 การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจไตยของสมาชิก (Member Economic Participation) มวลสมาชิกพึงร่วมทุนกับสหกรณ์ของตนอย่างเท่าเทียมกัน และควบคุมการใช้เงินทุนตามวิถีประชาธิปไตย โดยปกติอย่างน้อยส่วนหนึ่งของทุนต้องมีทรัพย์สินส่วนรวมของสหกรณ์ และสมาชิกพึงได้รับผลตอบแทนจากเงินทุน (ถ้ามี) อย่างจํากัด ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นสมาชิก เหล่าสมาชิก จะจัดสรรเงินส่วนเกินเพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างหรือทั้งหมดดังต่อไปนี้ คือ เพื่อพัฒนาสหกรณ์ของตนโดยอาจจัดเป็นกองทุนสํารองซึ่งอย่างน้อยส่วนหนึ่งจะไม่นํามาแบ่งปันกัน เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ให้สมาชิกตามส่วนธุรกรรมที่ตนทํากับสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ ที่มวลสมาชิกเห็นชอบ

หลักการที่ 4 การปกครองตนเอง และความเป็นอิสระ (Autonomy and Independence) สหกรณ์เป็นองค์การอิสระที่ช่วยตนเองภายใต้การควบคุมของสมาชิก หากสหกรณ์นั้น ๆ ทําข้อตกลงร่วมกับองค์การอื่น ๆ รวมถึงรัฐบาล หรือแสวงหาทุนจากแหล่งภายนอก ต้องมั่นใจได้ว่าการกระทำของสหกรณ์เช่นนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมแบบประชาธิปไตย โดยมวลสมาชิก รวมถึงยังคงดํารงความเป็นอิสระของสหกรณ์ไว้ได้

 

หลักการที่ 5 การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ (Education, Training and Information) สหกรณ์พึงให้การศึกษา และการฝึกอบรมแก่บรรดาสมาชิก ผู้แทนจากการเลือกตั้ง ผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถช่วยพัฒนาสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิผล สหกรณ์จึงให้ข่าวสาร ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน และผู้นําทางความคิด เกี่ยวกับคุณลักษณะ และประโยชน์ของการสหกรณ์

หลักการที่ 6 การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (Cooperation among Cooperatives) สหกรณ์พึงให้บริการแก่มวลสมาชิกอย่างเต็มที่ และสร้างความเข้มแข็งแก่ขบวนการสหกรณ์ โดยร่วมมือกันเป็นขบวนการตามโครงสร้างระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ

หลักการที่ 7 การเอื้ออาทรต่อชุมชน (Concern for Community) สหกรณ์พึงดําเนินงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนของตน ตามนโยบายที่มวลสมาชิกให้ความเห็นชอบ

4. วิธีการสหกรณ์ (Cooperative Practices) คือ การนําหลักการสหกรณ์มาประยุกต์ใช้ในการดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ของมวลสมาชิกและชุมชน โดยไม่ละเลยหลักการธุรกิจที่ดี

          โดยสรุปแนวคิดสหกรณ์ คือ สหกรณ์อยู่บนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการช่วยตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ มีความเชื่อร่วมกันที่ว่าการช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์ซึ่งจะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม โดยยึดแนวทางที่สหกรณ์ยึดถือปฏิบัติเพื่อให้คุณค่าของสหกรณ์เกิดผล เป็นรูปธรรม

          การดำเนินงานของสหกรณ์ตามหลักการที่ 2 การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Member Control) มีรูปแบบโครงการสร้างการบริหารงานสหกรณ์ ดังนี้

          1) สมาชิกสหกรณ์ เป็นเจ้าของสหกรณ์ร่วมกัน ใช้อำนาจในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ในการเลือกตั้งและถอดถอนประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ตรวจสอบกิจการ มีอำนาจในการอนุมัติงบการเงินประจำปี กำหนดแผนงาน กำหนดแผนงบประมาณ การแก้ไขข้อบังคับสหกรณ์ การกำหนดระเบียบบางระเบียบที่เป็นอำนาจโดยตรงของสมาชิกผ่านที่ประชุมใหญ่ เช่นระเบียบที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายและทรัพย์สินของสหกรณ์ เป็นต้น

          2) คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความจำเริญแก่สหกรณ์ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสหกรณ์

          3) ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานทั้งปวงของสหกรณ์ ทั้งด้านการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และด้านปฏิบัติการในการดำเนินธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ รวมทั้งการประเมินผลการควบคุมภายใน การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศของสหกรณ์ และการตรวจสอบในเรื่องต่าง ๆ ตามที่ข้อบังคับกำหนด

          4) เจ้าหน้าที่สหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทั่วไปและรับผิดชอบเกี่ยวกับบรรดากิจการประจำของสหกรณ์ ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการ หรือคณะกรรมการอื่น ๆ   ของสหกรณ์มอบหมายหรือตามที่ควรกระทำ เพื่อให้กิจการในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี ตามที่กำหนดในข้อบังคับ และระเบียบสหกรณ์ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และข้อบังคับการทำงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...