วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2567

การจัดการ “เงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใด” ของสมาชิกสหกรณ์ที่ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต

เมื่อสมาชิกสหกรณ์ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต ข้อบังคับสหกรณ์ กำหนดว่า

1. เมื่อสมาชิกตาย ให้สหกรณ์แจ้งให้ผู้รับโอนประโยชน์ทราบ สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทของผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น

2. “ให้ผู้รับโอนประโยชน์ ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ต่อสหกรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่สมาชิกตายหรือได้รับแจ้งจากสหกรณ์ โดยให้แนบสำเนามรณบัตรที่ทางราชการออกให้แสดงว่าสมาชิกนั้น ๆ ได้ถึงแก่ความตายไปประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้พิจารณาและอนุมัติแล้ว สหกรณ์จะจ่ายเงินผลประโยชน์ดังกล่าว

3. “ภายในสี่สิบห้าวัน ในกรณีผู้มีสิทธิรับเงินผลประโยชน์ไม่ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ หรือผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับโอนประโยชน์ที่สมาชิกได้จัดทำให้สหกรณ์ถือไว้ไม่มีตัวอยู่ก็ดี เมื่อพ้นกำหนดอายุความฟ้องคดีให้สหกรณ์โอนจำนวนเงินดังกล่าวไปสมทบเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ทั้งสิ้น

กรณีปัญหา

สหกรณ์ไม่รู้ว่าสมาชิกเสียชีวิต เพราะไม่มีผู้ใดมาแจ้งต่อสหกรณ์ อีกทั้งสมาชิกก็มิได้ทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตายมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน เวลาเนิ่นนานผ่านไป (ไม่ได้บอกว่านานเท่าไร) ต่อมามีทายาทมาแจ้งขอรับเงินประโยชน์ในเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์ แต่สหกรณ์ก็ไม่รู้ว่ายังมีทายาทอื่นอีกหรือไม่ที่จะมาขอรับเงินประโยชน์ดังกล่าว เพราะสมาชิกสหกรณ์ที่เสียชีวิตก็มิได้ทำพินัยกรรมไว้ สหกรณ์จะพิจารณาอย่างไร

1. ข้อบังคับกำหนดว่า เมื่อสมาชิกตาย ให้สหกรณ์แจ้งให้ผู้รับโอนประโยชน์ทราบ สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทของผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น

ให้พิจารณาแยกเป็น 3 กรณี ดังนี้

1.1 กรณีสมาชิกทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่า หุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้ให้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน ตามมาตรา 42/2 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สหกรณ์จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ >>> ดู คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8873/2561

1.2 กรณีสมาชิกทำพินัยกรรมไว้ให้พิจารณาเนื้อหาในพินัยกรรม และดูว่าระหว่างพินัยกรรมกับหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ฯ เอกสารใดทำหลังสุด ก็ให้มีผลตามเอกสารฉบับหลังสุดนั้น >>> ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14885/2558

1.3 กรณีสมาชิกมิได้ทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ฯ และมิได้ทำพินัยกรรมต้องพิจารณาเรื่องการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่าง ๆ และอายุความฟ้องคดีมรดก

ทั้งนี้ เงินค่าหุ้น เงินปันผล และหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่าย เงินฝาก ตลอดจนทรัพย์สินอื่นใด ที่สมาชิกสหกรณ์พึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ เป็นมรดกของสมาชิกสหกรณ์ผู้ถึงแก่กรรม เพราะกฎหมายกำหนดให้กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ (ปพพ. มาตรา 1600)

การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่าง ๆ

ปพพ. มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ ย่า ตา ยาย

(6) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

การแบ่งทรัพย์มรดก

ปพพ. มาตรา 1630  ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย แล้วแต่กรณี ในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

ปพพ. มาตรา 1631 ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่

การแบ่งส่วนมรดกของทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่าง ๆ ให้ดู ปพพ. มาตรา 1632 1633 1634 1635 1636 1637 1638 ตลอดจนดูเรื่องการรับมรดกแทนที่กันในมาตรา 1639 1640 1641 1642 1643 1644 และ 1645

การจัดการมรดก

1) การจัดการมรดกโดยทายาทร่วมกันจัดการ

ปพพ. มาตรา 1745 ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับ เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้

2) การจัดการมรดกโดยผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

ปพพ. มาตรา 1711 ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล

ปพพ. มาตรา 1712  มาตรา 1712  ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้

(1) โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง

(2) โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม ให้เป็นผู้ตั้ง

ปพพ. มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์

(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ

การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

ปพพ. มาตรา 1718 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(2) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

(3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

2. ข้อบังคับสหกรณ์กำหนดว่า ให้สหกรณ์พิจารณาอายุความฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนดอายุความฟ้องคดีให้สหกรณ์โอนจำนวนเงินดังกล่าวไปสมทบเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ทั้งสิ้น

อายุความฟ้องคดีมรดก

ปพพ. มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม

ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

ปพพ. มาตรา 1755  อายุความหนึ่งปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก

อนึ่ง

ปพพ. มาตรา 1753 ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน

ดูกรณีศึกษาจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2508 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2545

ไม่มีความคิดเห็น:

การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ ในงานพัฒนาสหกรณ์

หลักการสหกรณ์ หลักการที่ 5 ว่าด้วย การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ ( Education, Training and Information) สหกรณ์พึงให้การศึกษา และการฝึกอบรมแก่...