วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2566

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ (Central Financial Organization: CFO) ตอนที่ 2: องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ บทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์

ความเดิมตอนที่ 1: การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินของขบวนการสหกรณ์ (สหกรณ์ที่มีเงินเหลือและสหกรณ์ที่ขาดเงินทุน) โดยการให้เงินกู้ยืม-การกู้ยืม การฝาก-การรับฝาก และการถือหุ้นในชุมนุมสหกรณ์ ซึ่งการเชื่อมโยงทางการเงินดังกล่าวทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากภายนอกระบบสหกรณ์ แต่ในบางกรณียังขาดการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอ จนไม่สามารถถอนเงินฝากกันได้ ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ตามกำหนด หรือมูลค่าหุ้นของชุมนุมฯ ด้อยค่าลง ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ทั้งสองฝ่าย 

การนำเสนอในตอนที่ 2: องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ บทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ เป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ บทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ และความเป็นไปได้ที่องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ จะช่วยหนุนเสริมให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ มีความเสี่ยงลดลง และมีความเข้มแข็งมากขึ้นและสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ 

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ (Central Financial Organization: CFO) คืออะไร

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ คือ องค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ มีอำนาจกระทำการในการรับฝากเงินจากสหกรณ์สมาชิก ให้เงินกู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิก ออกหุ้นให้สหกรณ์สมาชิกถือ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ออกตราสารการเงิน และอื่น ๆ ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ในประเทศไทยมีดังนี้ 

แนวคิดเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์

1) ชุมนุมสหกรณ์ (Cooperative Federations)

กฎหมายกำหนดให้มีชุมนุมสหกรณ์ครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ พุทธศักราช 2471 โดยมาตรา 10 (2) กำหนดว่า ถ้าเป็นสมาคมซึ่งเป็นชุมนุมสหกรณ์ ต้องมีผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนสหกรณ์นั้น ๆ ลงนามแทนทุกสหกรณ์...สมาคมซึ่งมีสหกรณ์เป็นสมาชิกนั้นให้จดทะเบียนได้แต่จำกัดสินใช้เท่านั้น... 

ต่อมาพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 กำหนดให้สหกรณ์ตั้งแต่สามสหกรณ์ขึ้นไป ที่ประสงค์จะร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ที่เข้าร่วมกันนั้น อาจรวมกันจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ได้ (มาตรา 72) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ให้ชุมนุมสหกรณ์กระทำการตามมาตรา 21 (รายละเอียดใน พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2511) ได้ และจะกระทำการออกหุ้นกู้เพื่อประโยชน์ของชุมนุมสหกรณ์ก็ได้ในการออกหุ้นกู้นี้ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันว่าด้วยหุ้นกู้มาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 80) 

ในปัจจุบันชุมนุมสหกรณ์จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยชุมนุมสหกรณ์สหกรณ์ตั้งแต่ห้าสหกรณ์ขึ้นไปที่ประสงค์จะร่วมกันดำเนินกิจการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ที่เข้าร่วมกันนั้น อาจรวมกันจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ได้ ชุมนุมสหกรณ์ใดจะมีฐานะเป็นชุมนุมสหกรณ์ระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ จะต้องตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยประโยชน์แก่บรรดาสหกรณ์ในภูมิภาคหรือทั่วประเทศที่เป็นสหกรณ์ประเภทเดียวกัน หรือต่างประเภทกัน เพื่อประกอบธุรกิจของสหกรณ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด (มาตรา 101) และให้ชุมนุมสหกรณ์มีอำนาจกระทำการได้ตามมาตรา 46 (รายละเอียดใน พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (มาตรา 105) ตลอดจนให้ชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศมีอำนาจร่วมกับสหกรณ์สมาชิกของตน จัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ของสมาชิกสหกรณ์และครอบครัวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด (มาตรา 105/1) 

ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 มีชุมนุมสหกรณ์ทั้งสิ้นจำนวน 135 แห่ง จำแนกเป็นชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจำนวน 110 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ประมงจำนวน 2 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์นิคมจำนวน 1 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 11 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ร้านค้าจำนวน 2 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์บริการจำนวน 5 แห่ง และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำนวน 4 แห่ง ทั้งนี้เป็นชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังไม่เริ่มดำเนินการจำนวน 1 แห่ง และเป็นชุมนุมสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชีจำนวน 33 แห่ง จำแนกเป็น ชุมนุมสหกรร์การเกษตรจำนวน 30 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์ร้านค้าจำนวน 1 แห่ง ชุมนุมสหกรณ์บริการจำนวน 1 แห่ง และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำนวน 1 แห่ง (กรมส่งเสริมสหกรณ์, ออนไลน์) 

2) ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ (Bank for Cooperative)

รัฐบาลได้ตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2490 โดยธนาคารเพื่อการสหกรณ์ให้บริการทางการเงินแก่สหกรณ์ทั่วไปเพื่อนำเงินทุนไปให้สมาชิกสหกรณ์กู้อีกต่อหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 รัฐบาลได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยได้รับโอนกิจการจากธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2509 - 2519 ธ.ก.ส. กำหนดบทบาทไปสู่ธนาคารพัฒนาชนบท มุ่งลดบทบาทเงินกู้นอกระบบ ให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่อเพื่อการผลิต (ศิริลักษณ์ นามวงศ์ และประเสริฐ จรรยาสุภาพ, 161-164) 

3) ธนาคารสหกรณ์ (Cooperative Bank)

ในปี พ.ศ. 2494 และ พ.ศ. 2496 มีการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์ในจังหวัด 2 จังหวัด คือ ธนาคารสหกรณ์เชียงใหม่ ฯ และ ธนาคารสหกรณ์อุตรดิตถ์ ฯ โดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ซึ่งมีธนาคารเพื่อการสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางให้แก่ธนาคารสหกรณ์จังหวัดทั้งสอง ธนาคารสหกรณ์จังหวัด มีลักษณะเป็นชุมนุมสหกรณ์ชนิดผสม มีสมาชิกประกอบด้วยสหกรณ์ท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่สหกรณ์หาทุนชนิดไม่จำกัดสินใช้และสหกรณ์ประเภทอื่น เช่น สหกรณ์ขายข้าว ร้านสหกรณ์รวมทั้งบุคคลธรรมดาเข้าเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งผลการดำเนินงานของธนาคารสหกรณ์ทั้งสองธนาคารได้ผลเป็นที่พอใจ เป็นธนาคารของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน เป็นลักษณะธนาคารสหกรณ์อย่างแท้จริง 

กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ กระทรวงสหกรณ์ในสมัยนั้น มีนโยบายขยายธนาคารสหกรณ์ไปในทุกจังหวัด แต่ระบบสถาบันการเงินของสหกรณ์ซึ่งกำลังจะขยายตัวต้องหยุดดำเนินธุรกิจลง จากผลของพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งมีบทบัญญัติว่า "ธนาคารพาณิชย์จะตั้งขึ้นได้ก็แต่ในรูปบริษัทจำกัด" (ปัจจุบัน พ.ร.บ. ธนาคาร พ.ศ. 2505 ถูกยกเลิกไปโดย มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551) มีผลให้ธนาคารสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง ต้องเปลี่ยนประเภทเป็นสหกรณ์ประเภทชุมนุมสหกรณ์การเกษตรตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2511 ส่งผลให้ชุมนุมสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง เปลี่ยนไปทำธุรกิจด้านการตลาด และธุรกิจบริการให้แก่สหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอ (กรมส่งเสริมสหกรณ์, 2559: 77) 

นโยบายของรัฐเกี่ยวกับองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์

วาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี การสหกรณ์ไทย (พ.ศ. 2559) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์และแนวทางในการดำเนินงานตามข้อเสนอสาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบการผลิตการตลาดและการเงินสหกรณ์ กลยุทธ์ที่ 3.3 เชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินของสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์, 2559: 4-5) 

ในปี พ.ศ. 2558 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำโครงการ ประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์โดยเครือข่ายทางการเงินในระบบสหกรณ์เป็นแนวคิดสำคัญในการสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ มีการนำเสนอรูปแบบเครือข่ายทางการเงินในระบบสหกรณ์ 4 รูปแบบ ได้แก่

1) กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมกิจการและคุ้มครองเงินฝากของสหกรณ์สมาชิกสมาชิก คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์มีแหล่งเงินทุนมาจากเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์ทุนสำรอง (ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (ร้อยละ 1 ของเงินรับฝาก) ทั้งนี้สหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโรด้วย 

2) สถาบันระดับยอด (APEX): เครือข่ายการเงินระหว่างสหกรณ์ประเภทเดียวกัน เพื่อส่งเสริมกิจการ คุ้มครองเงินฝาก และให้ชุมนุมสหกรณ์ ที่ได้รับการยกระดับเป็น APEX จัดสรรเงินเป็นทุนเสริมสภาพคล่องของสหกรณ์สมาชิกได้ คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์มีแหล่งเงินทุนมาจากเงิน กพส. เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์ทุนสำรอง (ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (ร้อยละ 1 ของเงินรับฝาก) ทั้งนี้สหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร และได้รับการประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จากกรมส่งเสริมสหกรณ์หรือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ไม่ต่ำกว่าระดับหนี้ด้อยคุณภาพ (Sub Prime) 

3) ศูนย์กลางการเงินสหกรณ์ (CFF) เพื่อส่งเสริมกิจการ คุ้มครองเงินฝาก จัดสรรเงินเป็นทุนเสริมสภาพคล่องของสหกรณ์สมาชิก และนำเงินกองทุนไปฝากหรือลงทุนได้ตามที่คณะกรรมการกำหนด คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์มีแหล่งเงินทุนมาจากเงิน กพส. เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์ทุนสำรอง (ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ) เงินของสหกรณ์สมาชิกที่จัดสรรตามเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (ร้อยละ 1 ของเงินรับฝาก) ทั้งนี้สหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร และได้รับการประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จากกรมส่งเสริมสหกรณ์หรือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ไม่ต่ำกว่าระดับหนี้ด้อยคุณภาพ (Sub Prime) 

4) ธนาคารสหกรณ์ (Cooperative Bank) โดยมีวิธีการจัดตั้ง 2 แนวทางได้แก่

4.1) สหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ ขอจัดตั้งและขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถาบันการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย แหล่งที่มาของเงินทุนมาจากเงินของสหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี

4.2) สหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ เข้าเป็นสมาชิก Co-op Fund Window ใน ธ.ก.ส. โดย ธ.ก.ส. ประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของสหกรณ์สมาชิก และเป็นแหล่งเงินทุนให้สหกรณ์สมาชิก ต่อมารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังถ่ายโอนความเป็นเจ้าของของ ธ.ก.ส. สู่สหกรณ์ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูง โดยแหล่งเงินมาจากเงินของสหกรณ์สมาชิกและชุมนุมสหกรณ์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย คุ้มครองเงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ผู้ฝากเงินเต็มจำนวน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี 

แนวคิดองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ ช่วยให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์เข้มแข็ง และสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ ได้อย่างไร 

1) มีหลักการและเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคง ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มข้น การบริหารจัดการความเสี่ยงจะมีความชัดเจนเนื่องเป็นกฎที่ต้องปฏิบัติ ช่วยให้บริหารจัดการความเสี่ยงมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยมีการบริหารจัดการความเสี่ยงหลัก 5 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operation Risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) และความเสี่ยงด้านการตลาด (Market Risk) 

2) สร้างความเชื่อมั่นให้แก่สหกรณ์สมาชิก และสมาชิกสหกรณ์ เนื่องจากมีหลักเกณฑ์การคุ้มครองเงินฝากที่ชัดเจนและเข้มข้นกว่าการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ ประกาศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 และกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ที่ออกตามความในมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

3) ลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพของการให้สินเชื่อ เนื่องจากสหกรณ์สมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร และต้องได้รับการประเมินระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ตลอดจนองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ต้องพิจารณาการให้เงินกู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) 

4) การลงทุนของสหกรณ์สมาชิกจะมีความเสี่ยงลดลงและมีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์จะทำหน้าที่เป็นผู้ลงทุนแทนสหกรณ์สมาชิก มีการบริหารจัดการโดยมืออาชีพ 

สรุป

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ไทยในปัจจุบันที่มีบทบาทต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ ได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์ต่าง ๆ ที่มีสถานะดำเนินงานทั้งสิ้นจำนวน 101 แห่ง มีสหกรณ์สมาชิกจำนวน 4,612 แห่ง (กรมส่งเสริมสหกรณ์, ออนไลน์) 

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้จัดทำสารสนเทศทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ปี 2565 พบว่าชุมนุมสหกรณ์ทั้งหมด มีทุนดำเนินงานรวมกันทั้งสิ้น 189,764.51 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้สินจำนวน 149,040.58 ล้านบาท หรือร้อยละ 78.54 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น และทุนของสหกรณ์จำนวน 40,723.93 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.46 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 

สินทรัพย์ของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเงินให้กู้ยืม 79,258.09 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.77 ของสินทรัพย์ทั้งสิ้น โดยเป็นเงินให้กู้ยืมระยะยาวสุทธิ ร้อยละ 84.92 ของเงินให้กู้ยืมทั้งสิ้น สินทรัพย์รองลงมาเป็นเงินลงทุนของสหกรณ์ 78,175.28 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.19 ของสินทรัพย์ทั้งสิ้น โดยเป็นเงินลงทุนระยะยาว ร้อยละ 81.23 ของเงินลงทุนทั้งสิ้น แสดงว่าในภาพรวมชุมนุมสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการปล่อยเงินให้กู้ยืมซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์ 

หนี้สินของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝาก 125,701.04 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.24 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น หรือร้อยละ 84.34 ของหนี้สินทั้งสิ้น เป็นเงินรับฝากจากสมาชิก ร้อยละ 95.60 ของเงินรับฝากทั้งสิ้น หนี้สินรองลงมาเป็นเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารและเงินกู้ยืมระยะสั้น 20,899.12 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.01 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้นหรือร้อยละ 14.02 ของหนี้สินทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าการก่อหนี้ของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝากสมาชิกซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนภายใน ซึ่งช่วยลดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของชุมนุมสหกรณ์และลดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระจากการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้อื่น 

ทุนของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นทุนเรือนหุ้น 37,926.33 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.99 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น หรือร้อยละ 93.13 ของทุนของชุมนุมสหกรณ์ รองลงมาเป็นทุนสำรองจำนวนเงิน 3,817.55 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.01 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น ส่วนที่เหลือเป็นกำไร (ขาดทุน) สุทธิประจำปี ทุนสะสมตามข้อบังคับ ระเบียบและอื่น ๆ ส่วนเกินจากการตีราคาสินทรัพย์ กำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น และขาดทุนสะสม ตามลำดับ 

รายได้ชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่มาจากรายได้ธุรกิจหลัก ร้อยละ 97.16 รองลงมาเป็นรายได้อื่น ร้อยละ 2.14 และรายได้เฉพาะธุรกิจ ร้อยละ 0.70 ของรายได้ทั้งสิ้น ส่วนค่าใช้จ่ายของชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนธุรกิจหลัก ร้อยละ 77.53 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 5.02 และค่าใช้จ่ายเฉพาะธุรกิจ 3.18 ของรายได้ทั้งสิ้น สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง จึงส่งผลให้ชุมนุมสหกรณ์มีกำไรเพียง ร้อยละ 14.27 ของรายได้ทั้งสิ้นการดำเนินงานของชุมนุมสหกรณ์มีกำไรสุทธิ จำนวน 61 แห่ง หรือร้อยละ 61.00 ของจำนวนชุมนุมสหกรณ์ที่รวบรวมข้อมูลได้ทั้งสิ้น มีชุมนุมสหกรณ์ จำนวน 39 แห่ง หรือร้อยละ 39.00 ของจำนวนสหกรณ์รวบรวมข้อมูลได้ทั้งสิ้นที่ประสบผลขาดทุนสุทธิ (กรมตรวจบัญชีสหกรณ์: 2566, 116-126) 

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่าชุมนุมสหกรณ์ทั้งหมดที่มีสถานะดำเนินงาน ต่างก็ได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ และการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการของแต่ละชุมนุมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ส่วนใหญ่บริหารงานมีประสิทธิภาพช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเงินและด้านอื่น ๆ ให้แก่บรรดาสหกรณ์สมาชิก แต่ก็ยังมีชุมนุมสหกรณ์บางส่วนที่ยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารงาน เช่น บางแห่งมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิประจำปี บางแห่งมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมจนทุนของชุมนุมสหกรณ์ติดลบ และมีชุมนุมสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชีจำนวน 33 แห่ง เป็นต้น

 

ฉะนั้น เพื่อให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ และความเป็นไปได้ที่องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ จะช่วยหนุนเสริมให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ มีความเสี่ยงลดลง และมีความเข้มแข็งมากขึ้นและสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ จะต้องขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อยกระดับความเข้มแข็งขององค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการพิจารณารูปแบบองค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์แบบอื่น ๆ ที่หนุนเสริมต่อการสร้างความเข้มแข็งและสร้างระบบคุ้มครองทางการเงินสหกรณ์ เพื่อให้ขบวนการสหกรณ์ในประเทศไทยมีความมั่นคงปลอดภัยในการเชื่อมโยงธุรกิจทางการเงิน สร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ตลอดจนเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และสังคมมีความเชื่อมั่นในระบบการเงินของสหกรณ์ไทย

วันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ (Central Financial Organization: CFO) ตอนที่ 1: การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์

ปัจจุบันกฎหมายสหกรณ์เปิดโอกาสให้ขบวนการสหกรณ์สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างกันได้ โดยสหกรณ์มีอำนาจกระทำการในการ รับฝากเงินจากสหกรณ์อื่นได้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (มาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงินได้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (มาตรา 46 ( 8 ) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) สหกรณ์สามารถฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์หรือสหกรณ์อื่น (มาตรา 62 (1) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ตลอดจนสหกรณ์สามารถซื้อหุ้นของชุมนุมสหกรณ์ (มาตรา 62 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินดังกล่าวควรต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการสหกรณ์ หลักการที่ 6 การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (Cooperation among Cooperatives) สหกรณ์พึงให้บริการแก่มวลสมาชิกอย่างเต็มที่ และสร้างความเข้มแข็งแก่ขบวนการสหกรณ์ โดยร่วมมือกันเป็นขบวนการตามโครงสร้างระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ 

การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากภายนอกระบบสหกรณ์ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ในหลาย ๆ กรณี ยังขาดการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอ จนบางกรณีสหกรณ์ผู้ฝากเงินไม่สามารถถอนเงินฝากกันได้ บางกรณีสหกรณ์ผู้กู้เงินไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สหกรณ์ผู้ให้กู้ได้ตามกำหนด หรือกรณีสหกรณ์สมาชิกนำเงินไปถือหุ้นในชุมนุมสหกรณ์แล้วมูลค่าหุ้นของชุมนุมฯ ด้อยค่าลง ปรากฎการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ทั้งสองฝ่าย 

การให้กู้ยืมเงินระหว่างสหกรณ์ การฝากเงินระหว่างสหกรณ์ และการนำเงินไปถือหุ้นในชุมนุมสหกรณ์ หากไม่สามารถชำระคืนกันได้ หรือกรณีมูลค่าหุ้นของชุมนุมฯ ด้อยค่าลง สหกรณ์ที่เป็นผู้ฝากเงิน ผู้ให้กู้เงิน และผู้นำเงินไปลงทุนในหุ้น จะต้องประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และบันทึกการด้อยค่าของเงินลงทุนทั่วไป เช่น หุ้นชุมนุมสหกรณ์ ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้ 

1. กรณีนำเงินไปฝากสหกรณ์อื่น

กรณีเงินฝากสหกรณ์อื่นที่มีกำหนดชำระคืนแล้วแต่สหกรณ์ผู้รับฝากไม่สามารถจ่ายคืนเงินฝากได้ให้สหกรณ์ผู้ฝากรายงานเงินฝากสหกรณ์อื่นที่ถอนไม่ได้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ และสหกรณ์ผู้ฝากต้องประมาณการค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญเต็มจำนวนเงินฝากที่ถอนคืนไม่ได้ (ข้อ 16 (1) แห่งระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีฯ พ.ศ. 2563) 

กรณีสหกรณ์ผู้รับฝากมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมเกินกึ่งหนึ่งของทุนเรือนหุ้นและงบแสดงฐานะการเงินมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า สหกรณ์ผู้รับฝากขาดสภาพคล่องไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายคืนเงินฝากได้ และไม่ได้ดำเนินการจัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานแต่อย่างใดให้สหกรณ์ผู้ฝากบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญเต็มจำนวนของเงินฝากนั้น แต่หากสหกรณ์ผู้รับฝากอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ให้สหกรณ์ผู้ฝากทยอยบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนปรับปรุงการดำเนินงานนั้น ถ้าสหกรณ์ผู้รับฝากมีฐานะการเงินดีขึ้นโดยงบแสดงฐานะการเงินของสหกรณ์ผู้รับฝากไม่ปรากฏผลขาดทุนสะสมแล้ว หรือสหกรณ์ผู้ฝากได้รับเงินฝากคืน ให้สหกรณ์ผู้ฝากระงับการบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญ (ข้อ 16 (2) แห่งระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีฯ พ.ศ. 2563) 

2. กรณีให้เงินกู้ยืมแก่สหกรณ์อื่น

กรณีสหกรณ์ผู้ให้กู้เงินไม่สามารถเรียกเก็บชำระหนี้ได้ตามกำหนด ให้สหกรณ์ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้ที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้ ณ วันสิ้นปีทางบัญชี เพื่อปรับมูลค่าของลูกหนี้เงินกู้ โดยแสดงเป็นรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหักจากบัญชีลูกหนี้เงินกู้ในงบแสดงฐานะการเงิน ดังนี้ 

สหกรณ์ประเภทการเกษตร ประมง นิคม ร้านค้า บริการ และกลุ่มเกษตรกร ให้ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 ข้อ 26 และ ประกาศกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่องการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ พ.ศ. 2563 

สหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน (สามารถเรียกเก็บเงินงวดชำระหนี้จากสมาชิกโดยการหักจากเงินได้ ณ ที่จ่าย) ให้ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตาม ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 ข้อ 26 และบทเฉพาะกาล ข้อ 88 เป็นไปตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 และระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการจัดชั้นคุณภาพลูกหนี้เงินกู้และการเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ พ.ศ. 2544 

สหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน (ไม่สามารถเรียกเก็บเงินงวดชำระหนี้จากสมาชิกโดยการหักจากเงินได้ ณ ที่จ่าย) ให้ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 ข้อ 26 ตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 และคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องวิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ พ.ศ. 2547 

ทั้งนี้ เมื่อกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง ประกาศและมีผลบังคับใช้ ให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามกฎกระทรวงดังกล่าว 

3. กรณีซื้อหุ้นของชุมนุมสหกรณ์ แล้วมูลค่าหุ้นด้อยค่าลง สหกรณ์ผู้ถือหุ้นต้องดำเนินการ ดังนี้

บันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนทั่วไปทันทีที่มีหลักฐานสนับสนุนว่าเงินลงทุนทั่วไปด้อยค่า (ข้อ 22 (3) (3.1) แห่งระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีฯ พ.ศ. 2563) และ ให้สหกรณ์บันทึกการด้อยค่าของเงินลงทุนไว้ในบัญชีค่าเผื่อการปรับมูลค่าเงินลงทุนในงบแสดงฐานะการเงิน และบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยคำไว้ในบัญชีขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในงบกำไรขาดทุน (ข้อ 22 (3) (3.2 วรรคสอง) แห่งระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีฯ พ.ศ. 2563) 

การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ที่ขาดการบริหารจัดการความเสี่ยง จนเกิดกรณีชำระคืนกันไม่ได้ หรือมูลค่าการลงทุนด้อยค่าลง จะส่งผลต่อทั้งสหกรณ์ที่มีเงินเหลือและสหกรณ์ที่ขาดเงินทุน โดยสหกรณ์ที่นำเงินไปลงทุนหรือเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินอาจจะมีสินทรัพย์ลดลง หรือในบางกรณีอาจถึงขั้นขาดทุนจนมูลค่าหุ้นติดลบ ส่งผลต่อหมู่มวลสมาชิกผู้เป็นเจ้าของแท้จริงของสหกรณ์ ซึ่งต้องมีส่วนรับผิดชอบไปด้วยในกรณีที่ยินยอมให้สหกรณ์นำเงินไปลงทุนหรือให้สหกรณ์อื่นกู้เงิน ด้วยกฎหมายสหกรณ์กำหนดว่า “สมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ” (มาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) นำมาซึ่งความสั่นคลอนต่อระบบสหกรณ์โดยรวม 

ปัจจุบันฝ่ายกำกับดูแลได้ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ โดยสหกรณ์ผู้รับฝากเงินจากสหกรณ์อื่นต้องดำเนินการตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (มาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) การให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงินก็ต้องเป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (มาตรา 46 ( 8 ) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ตลอดจนกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 และระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการรับจดทะเบียนข้อบังคับเกี่ยวกับคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะอนุกรรมการการลงทุน พ.ศ. 2564


การช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ของฝ่ายกำกับดูแลดังกล่าว อาจช่วยป้องกันความเสี่ยงได้พอสมควร แต่คงไม่ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมดของสหกรณ์ เนื่องจากหากการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สหกรณ์ก็สามารถนำเงินไปลงทุนหรือให้สหกรณ์อื่นกู้ได้ แต่ความความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operation Risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ก็อาจยังไม่เพียงพอ องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ อาจเป็นอีกหนึ่งแนวคิดเพื่อให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

แนวคิดการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทย

 รากเหง้าของปัญหาหนี้สินเกษตรกร

การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้วิถีเกษตรไทยเปลี่ยนไปอย่างมากเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2398 ที่มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring treaty) ระหว่างรัฐสยามกับประเทศอังกฤษ และเหตุการณ์ที่สำคัญครั้งที่สองได้แก่การปฏิวัติแนวคิดการผลิตทางการเกษตรที่เรียกว่าการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ที่เริ่มขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2493 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อให้เกิดแนวคิดการพัฒนาการเกษตรของไทย ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสามระยะ ได้แก่ ระยะก่อนการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (Bowring Treaty) ระยะหลังทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง และระยะหลังการปฏิวัติเขียว (Green Revolution)

ระยะก่อนทำสนธิสัญญาเบาว์ริง หากย้อนไปถึงสมัยกรุงสุโขทัยวิถีเกษตรสมัยนั้นใช้แนวคิดการทำการเกษตรเพื่อการยังชีพเพื่อการบริโภคภายในเท่านั้น สมัยกรุงศรีอยุธยา มีแนวคิดการพัฒนาเป็นระบบมากขึ้นแต่ยังเป็นไปเพื่อการยังชีพ การผลิตเพื่อการบริโภคภายในอาณาจักร หากมีเหลือจากการบริโภคจึงจะส่งไปขายต่างประเทศ สมัยกรุงธนบุรี มีลักษณะเป็นการเกษตรเพื่อการยังชีพเท่านั้น สมัยรัตนโกสินทร์ก่อนปี พ.ศ.2398 ยังคงมีลักษณะการผลิตเพื่อการยังชีพ และเพื่อการค้า (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2545: 252-254)

ระยะหลังทำสนธิสัญญาเบาว์ริง แนวคิดการค้าเสรีภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้เข้ามามีบทบาทกับประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ 154 ปีก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตในสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรม สนธิสัญญาเบาว์ริง ว่าด้วยการค้าเสรีอันเป็นระเบียบโลกใหม่ของโลกในยุคลัทธิจักรวรรดินิยมอาณานิคมตะวันตก ลงนามกันระหว่างอังกฤษและสยามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ.2398 ในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จฯ พระราชินีนาถวิกตอเรีย และสยามสมัยราชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สนธิสัญญานี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศสยาม มีผลบังคับใช้เป็นเวลาถึง 70 กว่าปี จนกระทั่งมีการแก้ไขและค่อยๆยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2461 และสนธิสัญญาดังกล่าวหมดบทบาทอย่างแท้จริงในปี พ.ศ.2482 ในสมัยรัฐธรรมนูญนิยมของรัฐบาลพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ที่มีการแก้ไขและลงนามในสนธิสัญญาใหม่ทั้งหมดกับโลกตะวันตก ข้อตกลงหลักๆในสนธิสัญญาเบาว์ริงที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่สำคัญคือ ภาษีขาเข้ากำหนดแน่นอนไว้ที่ร้อยละ 3 สินค้าขาออกจะถูกเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวไม่ว่าจะเป็นภาษีภายใน หรือผ่านแดน หรือส่งออกก็ตาม พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อขายโดยตรงกับชาวนาสยามโดยปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลที่สาม และถ้าฝ่ายสยามยอมให้สิ่งใดๆ แก่ชาติอื่น นอกจากหนังสือสัญญานี้ ก็จะต้องยอมให้อังกฤษ และคนในบังคับของอังกฤษเหมือนกัน (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ กัณฐิกา ศรีอุดม, 2547: 12-15)

พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม (2522: 45-80) ได้สรุปไว้ว่า ผลกระทบของสนธิสัญญาเบาว์ริงที่มีต่อสังคมเกษตรไทย มีหลายประการ อันได้แก่ เรื่องการเปลี่ยนแปลงจากระบบการค้าแบบผูกขาดผู้เดียว (Monopoly) มาเป็นระบบการค้าแบบผูกขาดโดยคนมากกลุ่ม (Oligopoly) เรื่องการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตพืชหลายชนิด เปลี่ยนมาเป็นการผลิตพืชเฉพาะเพื่อการค้า และผลกระทบที่มีต่อพลังการผลิต ความสัมพันธ์ทางการผลิต และวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อปัจจัยทางการผลิตของเกษตรกรไทยอันได้แก่ แรงงาน ที่ดิน ทุน และวีธีการผลิต

ระยะหลังการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) การปฏิวัติเขียว เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2473 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีการเริ่มทำวิจัยเพื่อให้ได้พืชและสัตว์พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง (High Yeild Varieties: HYV) เช่น การใช้พันธุ์ข้าวโพดลูกผสม การใช้เทคนิคการผลิตทางชีววิธี (Biological Production) อันประกอบด้วยผลผลิต โครงสร้างของพืช การแก่ การเก็บเกี่ยวปริมาณอาหารพืชที่ต้องการ การผลิตพืชอุตสาหกรรม การใช้เทคนิคด้านพันธุกรรม (Genetic Technique) การใช้สารเคมี และเครื่องจักรกลเกษตรสมัยใหม่ เพื่อส่งเสริมเผยแพร่นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเหล่านี้แก่ประเทศโลกที่สาม ให้สามารถพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ให้ภาคการเกษตรมีผลผลิตสูง และเพิ่มอาหารแก่ประชาชน โดยการจัดตั้งสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute: IRRI) ที่ประเทศฟิลิปปินส์ การจัดตั้งศูนย์วิจัยการพัฒนาพืชผักแห่งเอเชีย (Asian Vegetable Research and Development Center: AVRDC) ที่ประเทศใต้หวัน เป็นต้น  (สิน พันธุ์พินิจ, 2545: 20-21)

การปฏิวัติเขียวในประเทศไทยเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2493 โดยความช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ส่งนักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตร 2 คน เพื่อเข้ามาช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศไทย ได้แก่ Haris H. Love นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล เพื่อมาช่วยเหลือในโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และ Robert L. Pendleton นักปฐพีวิทยา เพื่อมาแนะนำเกี่ยวกับการสำรวจและปรับปรุงบำรุงดิน การปฏิวัติเขียวดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรของไทยหลายด้าน เช่น การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการเพิ่มต้นทุนในการผลิต ขณะเดียวกันได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกร ได้แก่ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนเกษตร ปัญหาสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชและโรคระบาด ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมด้านการเกษตรในประเทศไทย (วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สุริบนต์ ธัญกิจจานุกิจ และคณะ, 2551: 49-237)

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตในสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรมที่เปลี่ยนจากการผลิตเพื่อการยังชีพ ไปเป็นการผลิตเพื่อการค้ากับต่างประเทศ การให้ความสำคัญกับภาคเกษตรลดลง หันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งหากพิจารณาจากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยจะพบว่าระบบเศรษฐกิจของไทยมีลักษณะพึ่งพิงการส่งออกมากขึ้น ในอดีตประเทศไทยส่งสินค้าเกษตรขั้นปฐม ได้แก่ ข้าว ไม้สัก ยางพารา และดีบุก แต่ภายหลังเมื่อมีการใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับต่างๆ ที่ผ่านมาสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยได้เปลี่ยนเป็นสินค้าอุตสาหกรรม

การเปลี่ยนแปลงด้านพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตดังที่กล่าวมาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรในชุมชนชนบทไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกถึงปัจจุบัน ผลจากการพัฒนาประเทศไทยตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2528-2538 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 10 แต่เป็นการเติบโตที่ขาดการวางแผนล่วงหน้า โดยเฉพาะการวางแผนด้านพลังการผลิต ซึ่งก็คือทรัพยากรมนุษย์ของไทยไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งแนวทางการพัฒนาที่ผ่านมาเป็นแนวทางที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชากรในเมืองมากกว่าชาวบ้านในชนบท นโยบายพัฒนาจากบนลงล่างส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่คือชนชั้นสูงทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของประเทศ ซึ่งดูได้จากความไม่เท่าเทียมทางด้านรายได้ของประชากรระหว่างกลุ่มคนรวยและคนยากจน รายได้ของภาคการเกษตรต่ำกว่าเมื่อเทียบกับรายได้ของคนในเมือง อาชีพเกษตรกรจึงกลายเป็นอาชีพที่ไม่น่าทำ แรงงานภาคเกษตรจำนวนมากอพยพเข้าไปหางานที่มีรายได้มากกว่าในเมือง เกิดปัญหาสังคมในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดความไม่มั่นคงเป็นอย่างมาก การพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาที่ทำลายธรรมชาติ ในยุคแรกไทยเน้นการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ไม้ ในระยะต่อมาการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ส่งผลให้เกิดมลพิษทางน้ำและทางอากาศเป็นอย่างมาก (Bello, Walden., Cunningham, Shea and Kheng Poh Li, 2000: 87, 363-364)

รายงานการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2545 ครั้งที่ 25 ที่จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในหัวข้อเรื่อง “ห้าทศวรรษภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย” ในหัวข้อ “บทบาทของภาคเกษตรกับชนบทไทย” (2545: (2-45)-(2-52)) สรุปได้ว่า ปัจจุบันภาคเกษตรในฐานะเป็นแหล่งรายได้มีความสำคัญต่อครัวเรือนในชนบทลดน้อยลง เนื่องจากไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายและเป็นแหล่งรายได้ที่มีความเสี่ยงเนื่องจากการเติบโตและพัฒนาภาคการเกษตรมีปัญหาในเชิงคุณภาพและมีปัญหาเฉพาะพื้นที่ เช่น ปัญหาความเสี่ยงในด้านการผลิตและราคาซึ่งเป็นปัญหาทั้งระดับไร่นาและระดับประเทศ ปัญหาคุณภาพแรงงานในชนบทมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการอพยพออกของคนหนุ่มสาว ปัญหาเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม เป็นต้น จนเป็นที่มาของการตั้งคำถามกันว่า “ภาคเกษตรเป็นที่มาของรายได้ ความมั่งคั่ง หรือเป็นที่มาของความยากจนในชนบท”

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรไทยในชนบทเป็นจำนวนมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จนเป็นที่มาแห่งความยากจนของผู้คนในชนบท ยิ่งผลิตยิ่งเป็นหนี้ สูญเสียที่ดินทำกิน ประสบกับปัญหาสุขภาพเนื่องจากใช้สารเคมีเพื่อการผลิตอย่างเข้มข้น วิถีชีวิตแบบการพึ่งตนเอง พึ่งชุมชน เปลี่ยนเป็นต้องพึ่งพิงบุคคลภายนอก เช่น พ่อค้าคนกลาง พ่อค้าสารเคมีการเกษตร และภาครัฐ สอดคล้องกับแนวคิดของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (2545: 115-116) ว่าในปัจจุบันทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นการพัฒนาแบบทุนนิยม แบบที่ถ่ายโอนทรัพย์ออกจากชุมชนหมู่บ้าน เพื่อเลี้ยงดูเมืองและเพื่อส่งออกต่างประเทศ ไม่ใช่การพัฒนาทุนนิยมแบบที่เพิ่มประสิทธิผลในกิจการอุตสาหกรรมแบบที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุโรป การพัฒนาของทุนนิยมในประเทศไทยจึงเป็นไปในลักษณะที่ผลประโยชน์หรือผลได้ของการพัฒนาตกเป็นของคนเพียงกลุ่มเดียว เมืองกับชนบทแตกต่างกันมาก ชนชั้นนายทุนและข้าราชการแตกต่างมากถ้าเทียบกับชนชั้นชาวนา ความเจริญกระจุกตัว ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ปัจจุบันครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งจากนอกภาคเกษตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมาสัดส่วนรายได้จากภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมดของครัวเรือนเกษตรกร ในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา รายได้ต่อหัวของประชากรเกษตรคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 5 ของรายได้ต่อหัวของประชากรนอกภาคเกษตร (คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545: (2-46)-(2-51)) ขณะที่ตัวเลขหนี้ต่อครัวเรือนเกษตรกรกลับสูงขึ้นในทุก ๆ ปี อาทิ ปี พ.ศ. 2544 มีเกษตรกรเป็นหนี้ถึง 4.4 ล้านครอบครัว ปี พ.ศ. 2547 มีเกษตรกรเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.7 ล้านครอบครัว และปี พ.ศ. 2549 มีเกษตรเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีก 5.8 ล้านครอบครัว (ผู้จัดการรายสัปดาห์, 2551)

สถานการณ์หนี้สินของเกษตรกรไทยในปัจจุบัน

ปัญหาทางการเงินที่สำคัญของสังคมไทยในปัจจุบันคือปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต ปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเทียบกับในอดีตหรือเทียบกับต่างประเทศ โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 1/65 พบว่าสถาบันรับฝากเงินและสถาบันการเงินอื่น มียอดเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) รวมทั้งสิ้น 14.64 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP แล้ว พบว่า ไตรมาส 1/65 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 89.2% ต่อ GDP ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/64 ซึ่งหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 90.0% ต่อ GDP (ประชาชาติธุรกิจ, 25 สิงหาคม 2565) ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ชี้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 89.3% และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2562) รายงานหนี้สินของครัวเรือนเกษตร ปี 2562 ว่า ครัวเรือนที่มีรายได้หลักจากการทำเกษตร ในปี 2562 จำนวน 2,857,625 ครัวเรือน หนี้สินของครัวเรือนเกษตรที่เป็นหนี้ พ.ศ. 2554 – 2562 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ปี 2554 จำนวน 140,404 บาท/ครัวเรือน ปี 2556 จำนวน 168,119 บาท/ครัวเรือน ปี 2558 จำนวน 200,689 บาท/ครัวเรือน ปี 2560 จำนวน 239,034 บาท/ครัวเรือน และ ปี 2562 จำนวน 253,295 บาท/ครัวเรือน

เดชรัต สุขกำเนิด (2565) สรุปว่า รายได้ของเกษตรกรไทยลดลงร้อยละ 27 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 หรือเพิ่มขึ้นจาก 221,490 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 269,159 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2564 ในจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีเกษตรกรลูกหนี้ถึงร้อยละ 41 ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำ และยังมีเกษตรกรลูกหนี้ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) อีกเกือบ 1.4 ล้านราย และในจำนวนลูกหนี้สูงอายุดังกล่าว มีเกือบ 180,000 ราย ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หรือ NPL)

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2565) วิเคราะห์ว่า ร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรไทยมีหนี้สิน และมีหนี้ปริมาณมากเฉลี่ยถึง 450,000 บาทต่อครัวเรือน อันดับหนี้คงค้างต่อครัวเรือนแยกตามวัตถุประสงค์ในการกู้ พบว่าร้อยละ 30 ของครัวเรือนมีหนี้คงค้างเกิน 500,000 บาท และครัวเรือนใช้หนี้สินในหลายวัตถุประสงค์ รวมถึงการกู้เพื่อชำระหนี้อื่น แสดงให้เห็นว่าการก่อหนี้สินเป็นเครื่องมือจัดการทางการเงินอย่างรอบด้านของครัวเรือนจริง ๆ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2566) ได้รายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร ระหว่าง ปี 2561 – 2565 พบว่าในปี 2565 ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสด จำนวน 420,198 บาท มาจาก รายได้เงินสดทางการเกษตร จำนวน 206,310 บาท/ครัวเรือน และรายได้เงินสดนอกภาคการเกษตร จำนวน 213,888 บาท/ครัวเรือน มีรายจ่ายเงินสด จำนวน 306,608 บาท โดยมีรายจ่ายเงินสดทางการเกษตร จำนวน 126,039 บาท/ครัวเรือน และรายจ่ายเงินสดนอกภาคการเกษตร จำนวน 180,569 บาท โดยรายจ่ายเงินสดนอกภาคการเกษตรจำแนกเป็น เพื่อการการบริโภค จำนวน 65,996 บาท และเพื่อการการอุปโภค และอื่น ๆ จำนวน 114,572 บาท รายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตร จำนวน 80,271 บาท รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือน จำนวน 294,159 บาท เงินสดคงเหลือก่อนชำระระหนี้ จำนวน 113,590 บาท อายุเฉลี่ยหัวหน้าครัวเรือน 59.44 ปี ขนาดครัวเรือน 3.68 คน/ครัวเรือน ขนาดแรงงาน อายุ 15-64 ปี 2.48 คน/ครัวเรือน ขนาดเนื้อที่ถือครอง จำนวน 24.92 ไร่/ครัวเรือน

แหล่งเงินกู้ยืมภาคเกษตร

มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2558) วิเคราะห์ว่า แหล่งเงินให้กู้ยืมแก่ภาคการเกษตรไทยจำแนกออกเป็น 5 กลุ่มหลัก (ไม่รวมแหล่งเงินนอกระบบ) ประกอบด้วย ธ.ก.ส. สหกรณ์ภาคการเกษตร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนภายใต้การกำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารพาณิชย์ พบว่าในปี 2557 หนี้สินภาคการเกษตรที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. มีสัดส่วนมากที่สุดหรือประมาณร้อยละ 80.40 รองลงมาคือ หนี้สินภาคการเกษตรที่มีอยู่กับธนาครพาณิชย์ ร้อยละ 10.08 สหกรณ์ภาคการเกษตร ร้อยละ 8.16 กองทุนภายใต้การกำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 1.01 และกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ร้อยละ 0.34 ตามลำดับ

ขณะที่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2565) วิเคราะห์ว่า แหล่งเงินกู้ที่ครัวเรือนเกษตรกรกู้มีความหลากหลาย โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) ถือเป็นแหล่งเงินกู้หลักและมีสัดส่วนในมูลหนี้ของเกษตรกรมากที่สุด ทั้งนี้ 5 แหล่งเงินกู้หลักประกอบด้วย สถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ ร้อยละ 65 ของครัวเรือน แหล่งเงินกู้นอกระบบ เช่น เงินเชื่อร้านค้า ญาติ หรือนายทุน ร้อยละ 31 ของครัวเรือน บริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง ร้อยละ 28 ของครัวเรือน และ สหกรณ์ ร้อยละ 22 ของครัวเรือน

สาเหตุของปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร

พิสัณฑ์ โบว์สุวรรณ และคณะ (2565) สรุปว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตของเกษตรกรที่เปลี่ยนไปในทิศทางวัตถุนิยมตามกระแสสังคมที่อิงสังคม วัฒนธรรมชาติตะวันตกมาก นโยบายของภาครับที่ผิดพลาดในการสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ และการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรแบบนโยบายประชานิยมก่อให้เกิดหนี้สินที่สะสม

ขณะที่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2565) สรุปว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้และยากจน ใด้แก่ เกษตรกรเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต เงินทุน ความรู้และทักษะด้านต่างๆ (lack of access) เช่น เกษตรกรยากจนเข้าไม่ถึงสินเชื่อ และไม่มีเงินออม เกษตรกรขาดศักยภาพ (lack of capacity) ด้านต่างๆ เช่น ขาดความสามารถด้านการเพาะปลูกด้านการจัดการความเสี่ยงภาคเกษตร ตลอดจนเกษตรกรขาดความพยายาม (lack of effort) เช่น เกษตรกรอยากรวยแต่ไม่อยากทำงานหนัก โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ การดำเนินมาตรการหรือนโยบายของรัฐที่ช่วยเหลือนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีความหวังและความเชื่อที่ภาครัฐจะยื่นมือเข้าช่วยเสมอ

ผลกระทบของปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร

สาเหตุของปัญหาหนี้สินภาคการเกษตรที่กล่าวมาส่งผลให้ ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้น้อย รายได้ไม่แน่นอนสูง และมีปัญหาสภาพคล่อง โดยร้อยละ 27 ของครัวเรือนมีรายได้รวมทั้งปีไม่พอรายจ่ายจำเป็น ร้อยละ 42 มีรายได้เหลือจากการใช้จ่ายจำเป็นไม่พอชำระหนี้ และไม่พอลงทุนในการทำเกษตรรอบต่อไป รายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจบริหารจัดการได้ยาก (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2565) การที่หนี้สินของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อการจำกัดอำนาจซื้อของครัวเรือน การจำกัดทางเลือกในการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างการผลิตของเกษตรกร การส่งต่อหนี้สินไปยังคนรุ่นลูกหลาน และการขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้กว้างขึ้นอีกในระยะยาว (เดชรัต สุขกำเนิด, 2565)

การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2565) เสนอว่า การแก้ปัญหาระบบการเงินฐานรากให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพต้องให้ความสำคัญกับ

1) การสร้างข้อมูลเกษตรกรที่ครอบคลุมทั้งด้านสินเชื่อแหล่งสำคัญต่าง ๆ พฤติกรรมทางการเงินและศักยภาพที่แท้จริงของครัวเรือน ตลอดถึงการสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลการใช้ข้อมูลของสถาบันการเงินในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การปล่อยสินเชื่อ และการแก้หนี้ที่เหมาะสม และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันของสถาบันการเงินเกษตรกรต่าง ๆ

2) การออกแบบเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์การพัฒนาของครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ โดยเอาความเข้าใจปัญหาของครัวเรือนเป็นที่ตั้ง ปรับเปลี่ยนจากเครื่องมือทางการเงินแบบ one size fit all มาเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ครัวเรือนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

3) การเพิ่มบทบาทของสถาบันการเงินระดับชุมชน ให้มีบทบาทในการให้บริการทางการเงินแก่เกษตรกร อย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยสถาบันเหล่านี้มักมีความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์กับเกษตรกรมากพอ ทำให้มีต้นทุนต่ำในการวิเคราะห์สินเชื่อ และการติดตามการใช้เงินกู้ ตลอดจนอาจมีกลไกในการติดตามการชำระหนี้ การสร้างความตระหนักรู้ และการสร้างวินัยทางการเงินให้กับเกษตรกร

4) การปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับศักยภาพและเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับการเก็บและใช้ข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของครัวเรือนในการออกแบบแผนการชำระหนี้ที่ตรงความสามารถในการชำระและโครงสร้างของรายรับของครัวเรือนนั้น ๆ เพื่อให้ครัวเรือนสามารถชำระและปลดหนี้ได้จริงในระยะยาว และควรให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องให้กับเจ้าหนี้และพนักงานสินเชื่อในสาขาต่าง ๆ ในการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนได้ในวงกว้าง

5) การใช้หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากระตุ้นให้ครัวเรือนหันมาชำระหนี้คืน โดยต้องให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลสินเชื่อที่เหมาะสม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์หนี้ของครัวเรือน การใช้หลักการการดุน หรือ nudge ในการจูงใจ และสร้างวินัยในการชำระหนี้ ทั้งนี้แนวทางอาจแตกต่างกันไปตามลูกหนี้แต่ละประเภท

6) การขยายผล หมอหนี้เกษตรกรชุมชน ซึ่งจะเป็นตัวกลางที่มาช่วยเกษตรกรประสานงานและแก้หนี้ร่วมกับสถาบันการเงินต่าง ๆ

7) การเติมหนี้ใหม่อย่างทั่วถึง ตอบโจทย์และยั่งยืนขึ้น

8) การใช้ข้อมูลเพื่อช่วยให้การปล่อยสินเชื่อตรงศักยภาพและความเสี่ยงของครัวเรือนมากขึ้น โดยอาจปล่อยมากขึ้นในกลุ่มที่เสี่ยงน้อยและมีศักยภาพสูง และปล่อยน้อยลงในกลุ่มเสี่ยงสูงและศักยภาพต่ำ และปล่อยในวิสัยที่ครัวเรือนยังสามารถชำระคืนได้

9) การทำประกันสินเชื่อที่คุ้มครองภาระหนี้ของเกษตรกรจากความไม่แน่นอนหลัก ๆ ของรายได้ เช่น ภัยพิบัติ หรือราคาตกต่ำ โดยสถาบันการเงินอาจทำประกันสินเชื่อทั้งหมด และส่งต่อบางส่วนของเบี้ยประกันให้กับครัวเรือนเกษตรกรในรูปแบบของดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

10) การทบทวนรูปแบบของสินเชื่อที่ใช้การค้ำประกันกลุ่มให้ยั่งยืนขึ้น โดยพยายามถอดบทเรียนจากกลไกการติดตามการชำระหนี้จากสถาบันการเงินชุมชน หรือปรับเปลี่ยนไปใช้สถาบันการเงินเป็นตัวกลางในการติดตามการชำระหนี้แทน

11) การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้ครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการแก้หนี้ เพื่อช่วยให้ครัวเรือนบางกลุ่มสามารถมีรายได้พอที่จะชำระและปลดหนี้เก่าได้ และที่สำคัญคือเพื่อช่วยให้ทุกกลุ่มมีรายได้สูงขึ้น และภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นจนไม่ต้องพึ่งพิงสินเชื่อมากเกินไป และไม่ต้องกลับก่อหนี้เกินศักยภาพอีก โดยแนวทางสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของครัวเรือนเกษตรกร ได้แก่ การส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ การเพิ่มการเข้าถึงตลาดและมูลค่าของผลผลิต การลดความเสี่ยง การพัฒนาบุคลากรในครัวเรือน และการให้ความสำคัญกับการมีแหล่งรายได้เสริมนอกภาคเกษตร

12) การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและความรู้ความเท่าทันทางการเงิน มีความจำเป็นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากความเสี่ยงที่สูง โดยการพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลและราคาที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างความเท่าทันทางการเงิน โดยต้องให้ความสำคัญทั้งกับการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในการใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารจัดการเงินและการบริหารจัดการหนี้ ตลอดถึงการใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการกระตุกให้ครัวเรือนออมและมีวินัยทางการเงิน เพื่อครัวเรือนจะได้ไม่กลับไปพึ่งพิงสินเชื่อมากเกินไปอีก

13) การปรับเปลี่ยนนโยบายช่วยเหลือของรัฐเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง ซึ่งมีความสำคัญที่สุดก็ว่าได้ในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้ยั่งยืนได้จริง โดยอาจจะต้องปรับเปลี่ยนจากนโยบายเดิม ๆ ที่เน้นการช่วยเหลือระยะสั้นและอาจสร้างแรงจูงใจที่บิดเบี้ยว ไปเป็นนโยบายที่เน้นช่วยให้ครัวเรือนสามารถชำระและปลดหนี้ได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน

พิสัณฑ์ โบว์สุวรรณ และคณะ (2565) เสนอว่า แนวทางแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตรต้องมุ่งเน้นที่พฤติกรรมการดำรงตนของเกษตรกร เพิ่มเติมความรู้ทางการเกษตรและการเงิน การบัญชี ปรับเปลี่ยนเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต รัฐบาลควรเลือกกำหนดนโยบายทางการเกษตรในลักษณะที่ผสมผสานที่ สามารถพึ่งพาตนเอง ภาครัฐควรกำหนดและนำนโยบายการเสริมสร้าง วิสาหกิจชุมชน ที่เป็นรูปธรรม และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา

เดชรัต สุขกำเนิด (2565) เสนอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร ดังนี้

1) ตั้งเป้าหมายในการปรับโครงสร้างหนี้และการรับซื้อหนี้สินของเกษตรกร อย่างน้อยที่สุดให้ครอบคลุมเกษตรกรที่ศักยภาพการชำระหนี้ต่ำ 2 ล้านราย และเกษตรกรผู้สูงอายุ 1.4 ล้านราย โดยจัดทำแผนงาน แนวทาง และมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี

2) สนับสนุนงบประมาณในการรับซื้อหนี้ของกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรให้เพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยให้ครอบคลุมเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ ไม่น้อยกว่า 100,000 ราย หรือต้องมีงบประมาณสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2566-2570

3) สนับสนุนการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการช่วยดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของ ธกส. สหกรณ์ และกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ ในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร

4) ติดตามการดำเนินการในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการดำเนินการลดภาระหนี้ของเกษตรกรอย่างจริงจัง รวมถึงสำรวจตรวจสอบว่ามีการดำเนินการตามกฎหมาย ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของการคิดดอกเบี้ยปรับ และตัดชำระหนี้สิน

ฐานข้อมูลเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ 14 หน่วยงาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 เพื่อร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูลที่สามารถสะท้อนสถานะหนี้และศักยภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรกรจากการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในการศึกษาและสร้างความเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้กำหนดนโยบายและสถาบันการเงินสามารถนำไปใช้ออกแบบและผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนขึ้น โดยฐานข้อมูลครัวเรือนเกษตรกรที่จะนำมาเชื่อมโยงกันภายใต้ความร่วมมือนี้ ประกอบไปด้วย ฐานข้อมูลหนี้สินและทรัพย์สินของครัวเรือนจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ปศุสัตว์ ประมง และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จากกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และการยางแห่งประเทศไทย ฐานข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพในการทำเกษตร เช่น การจดทะเบียนมาตรฐานสินค้าและการทำเกษตรอินทรีย์จาก กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ฐานข้อมูลที่สะท้อนโครงสร้างอาชีพ รายได้ และความยากจนในหลายมิติของเกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จากสำนักงานปลัดการทรวงการคลัง ฐานข้อมูลรายได้และสวัสดิการ จากกรมการพัฒนาชุมชน และฐานข้อมูลความเหมาะสมในการทำการเกษตร จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ข้อมูลที่ได้จากความร่วมมือครั้งนี้จะมีประโยชน์กับหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายและสถาบันการเงินในการผลักดันแนวทางในการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรอย่างเป็นองค์รวม อันจะนำมาซึ่งประโยชน์กลับไปสู่ครัวเรือนเกษตรกรในวงกว้าง ได้แก่ การใช้ข้อมูลในการศึกษา ออกแบบและผลักดันแนวทางการแก้หนี้เดิมที่สามารถช่วยให้ครัวเรือนชำระหนี้ได้มากขึ้นและสามารถปลดหนี้ได้ในระยะยาว การใช้ข้อมูลในการออกแบบแนวทางการปล่อยหนี้ใหม่อย่างยั่งยืน ทั่วถึง ตอบโจทย์ และตามข้อมูลความเสี่ยงที่แท้จริงของครัวเรือน และการใช้ข้อมูลในการออกแบบแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกัน ความรู้ทางการเงิน และการผสานการแก้หนี้กับโครงการเพิ่มรายได้และศักยภาพของครัวเรือนเกษตรกร (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2566)

“จากเส้นทางสายไหม (Silk Road) สู่เส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road)”

 สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) กษัตริย์กรีกได้เดินทัพจากยุโรปมาเอเชียในสมัยนั้น ทำให้โลกตะวันตกและตะวันออกเชื่อมถึงกันเป็นครั้งแรก ต่อมา ในรัชสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ (Emperor Wu of Han) จักรพรรดิจีนราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty) ได้ส่งเสริมให้มีการค้าขาย-แลกเปลี่ยนสินค้ากับชนเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่บนเส้นทางที่เรียกว่า “ทางสายไหม (Silk Road)” สินค้าที่สำคัญในตอนนั้นก็คือหยกและผ้าไหม

เส้นทางสายไหม เป็นเครือข่ายการค้าโบราณที่เชื่อมต่อชุมชนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ผ่านกองคาราวานพ่อค้าที่เดินทางจากประเทศของตนไปค้าขายยังดินแดนต่าง ๆ เส้นทางสายไหมมีระยะทางยาวกว่า 4 พันไมล์ เริ่มต้นจากเมืองฉางอัน (Chang’an) ทางตอนกลางของประเทศจีน ข้ามผ่านทะเลทรายในเอเชียกลางไปสิ้นสุดที่เมืองแอนติออค (Antioch) ในประเทศตุรกี เส้นทางสายไหมไม่ได้มีเฉพาะเส้นทางบกเท่านั้น ทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ก็มีความสำคัญ โดยได้เชื่อมต่อแผ่นดินจีนกับเมืองท่าต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงภาคใต้ของไทยในสมัยโบราณ ก่อนข้ามผ่านมหาสมุทรอินเดียและทะเลแดงไปบรรจบที่กรุงโรม ศูนย์กลางของโลกในขณะนั้น

เส้นทางสายไหมถูกลดความสำคัญลง เมื่อ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาเลียนค้นพบทวีปอเมริกาใน ค.ศ. 1492 ชาวตะวันตกหันไปแสวงหาความมั่งคั่งจากทวีปใหม่ เกิดเป็นเส้นทางการค้ามหาสมุทรแอตแลนติกที่เชื่อมต่อยุโรป แอฟริกา และอเมริกาเข้าด้วยกัน เส้นทางสายไหมที่มีมาแต่โบราณจึงหมดความสำคัญลงในเวลาต่อมา (https://www.moneybuffalo.in.th/his.../introduction-silk-road)

ปี พ.ศ. 2556 ธานาธิบดี สี จิ้นผิงประกาศยุทศาสตร์การพัฒนา One Belt One Road (OBOR) เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างจีนกับบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่อยู่บนเส้นทางระหว่างจีนกับยุโรป OBOR แสวงหาการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นนฐานด้านการคมนาคม พลังงาน การค้า และการสื่อสาร รวมทั้งด้านอื่น ๆ มุ่งผลักดันการเชื่อมโยงและเส้นทางการค้าในภูมิภาค เพิ่มบทบาทของบริษัทจีนในเวทีสากล และเพิ่มการเข้าถึงตลาดโลกของจีน เป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากยุทธศาสตร์ออกสู่ตลาดโลก (Going Out Strategy) ของจีน

OBOR เปรียบเสมือนเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ วงแหวนเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 โดยวงแหวนเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านทางเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก ส่วนเส้นทางสายไหมทางทะเล จะเชื่อมจีนกับยุโรป ผ่านเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกา นอกจากสองเส้นทางการเชื่อมต่อหลักดังกล่าว OBOR ยังรวมถึงการพัฒนาโครงข่ายการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และเส้นทางเพิ่มเติมที่จะเชื่อมต่อกับ 2 ระเบียงเศรษฐกิจสำคัญ

วิสัยทัศน์ OBOR ให้ความสำคัญกับศักยภาพของการขยายความร่วมมือและการลงทุน เพื่อผลประโยชน์ของจีน และของบรรดาประเทศที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานยังอยู่ในระดับด้อยพัฒนา การเพิ่มขึ้นของแหล่งเงินทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานจะได้รับการต้อนรับอย่างดีจากบรรดาประเทศตลอดเส้นทาง OBOR อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โครงการฯ จะสามารถบรรลุพันธะสัญญาที่ว่าจะพัฒนาแบบ “ได้กันทั้งสองฝ่าย” (WIN-WIN) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้การไหลเวียนของการเงินโครงการจะมีความยั่งยืน ไม่ก่อผลกระทบอันตราย และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ (Inclusive Development International, Online)

OBOR แบ่งเป็นเส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt : One Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road : One Road) มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน OBOR จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประชาคมโลก เนื่องจากเป็นนโยบายการพัฒนาที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นนโยบายที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากที่สุดของโลก ทั้งนี้ เพราะ OBOR เชื่อมโยง 65 ประเทศ ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เอเชียใต้ และยุโรป ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่บน OBOR มีประชากรวมกัน คิดเป็นร้อยละ 62.3 ของทั้งประชากโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมกัน คิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP โลก และมีการบโภคภาคครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 24 ของการบริโภคในครัวเรือนของทั้งโลก และ OBOR จะเป็นโครงการที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด (http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/saimai/2/saimai.html)

แม้ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจใด ๆ ภายใต้โครงการ OBOR แต่ไทยมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการที่จะแสดงบทบาทนำในการเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนกับจีน ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงโครงการต่าง ๆ ระหว่างจีน - อาเซียน อันจะเป็นการเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย – จีน ให้แน่นแฟนมากขึ้น (http://www.cuti.chula.ac.th/trir.../saimainew/saimainew.html)

เส้นทางสายไหมใหม่ จะช่วยหนุนเสริมพี่น้องเกษตรไทยได้อย่างไร ขบวนการสหกรณ์ไทยโดยเฉพาะสหกรณ์ภาคการเกษตร มองเรื่องนี้อย่างไร มีการเตรียมตัวอย่างไร ผมว่าน่าสนใจครับ

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...