วันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ (Central Financial Organization: CFO) ตอนที่ 1: การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์

ปัจจุบันกฎหมายสหกรณ์เปิดโอกาสให้ขบวนการสหกรณ์สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างกันได้ โดยสหกรณ์มีอำนาจกระทำการในการ รับฝากเงินจากสหกรณ์อื่นได้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (มาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงินได้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (มาตรา 46 ( 8 ) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) สหกรณ์สามารถฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์หรือสหกรณ์อื่น (มาตรา 62 (1) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ตลอดจนสหกรณ์สามารถซื้อหุ้นของชุมนุมสหกรณ์ (มาตรา 62 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินดังกล่าวควรต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการสหกรณ์ หลักการที่ 6 การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (Cooperation among Cooperatives) สหกรณ์พึงให้บริการแก่มวลสมาชิกอย่างเต็มที่ และสร้างความเข้มแข็งแก่ขบวนการสหกรณ์ โดยร่วมมือกันเป็นขบวนการตามโครงสร้างระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ 

การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากภายนอกระบบสหกรณ์ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ในหลาย ๆ กรณี ยังขาดการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอ จนบางกรณีสหกรณ์ผู้ฝากเงินไม่สามารถถอนเงินฝากกันได้ บางกรณีสหกรณ์ผู้กู้เงินไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สหกรณ์ผู้ให้กู้ได้ตามกำหนด หรือกรณีสหกรณ์สมาชิกนำเงินไปถือหุ้นในชุมนุมสหกรณ์แล้วมูลค่าหุ้นของชุมนุมฯ ด้อยค่าลง ปรากฎการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ทั้งสองฝ่าย 

การให้กู้ยืมเงินระหว่างสหกรณ์ การฝากเงินระหว่างสหกรณ์ และการนำเงินไปถือหุ้นในชุมนุมสหกรณ์ หากไม่สามารถชำระคืนกันได้ หรือกรณีมูลค่าหุ้นของชุมนุมฯ ด้อยค่าลง สหกรณ์ที่เป็นผู้ฝากเงิน ผู้ให้กู้เงิน และผู้นำเงินไปลงทุนในหุ้น จะต้องประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และบันทึกการด้อยค่าของเงินลงทุนทั่วไป เช่น หุ้นชุมนุมสหกรณ์ ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้ 

1. กรณีนำเงินไปฝากสหกรณ์อื่น

กรณีเงินฝากสหกรณ์อื่นที่มีกำหนดชำระคืนแล้วแต่สหกรณ์ผู้รับฝากไม่สามารถจ่ายคืนเงินฝากได้ให้สหกรณ์ผู้ฝากรายงานเงินฝากสหกรณ์อื่นที่ถอนไม่ได้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ และสหกรณ์ผู้ฝากต้องประมาณการค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญเต็มจำนวนเงินฝากที่ถอนคืนไม่ได้ (ข้อ 16 (1) แห่งระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีฯ พ.ศ. 2563) 

กรณีสหกรณ์ผู้รับฝากมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมเกินกึ่งหนึ่งของทุนเรือนหุ้นและงบแสดงฐานะการเงินมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า สหกรณ์ผู้รับฝากขาดสภาพคล่องไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายคืนเงินฝากได้ และไม่ได้ดำเนินการจัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานแต่อย่างใดให้สหกรณ์ผู้ฝากบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญเต็มจำนวนของเงินฝากนั้น แต่หากสหกรณ์ผู้รับฝากอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ให้สหกรณ์ผู้ฝากทยอยบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนปรับปรุงการดำเนินงานนั้น ถ้าสหกรณ์ผู้รับฝากมีฐานะการเงินดีขึ้นโดยงบแสดงฐานะการเงินของสหกรณ์ผู้รับฝากไม่ปรากฏผลขาดทุนสะสมแล้ว หรือสหกรณ์ผู้ฝากได้รับเงินฝากคืน ให้สหกรณ์ผู้ฝากระงับการบันทึกค่าเผื่อเงินฝากสหกรณ์อื่นสงสัยจะสูญ (ข้อ 16 (2) แห่งระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีฯ พ.ศ. 2563) 

2. กรณีให้เงินกู้ยืมแก่สหกรณ์อื่น

กรณีสหกรณ์ผู้ให้กู้เงินไม่สามารถเรียกเก็บชำระหนี้ได้ตามกำหนด ให้สหกรณ์ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้ที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้ ณ วันสิ้นปีทางบัญชี เพื่อปรับมูลค่าของลูกหนี้เงินกู้ โดยแสดงเป็นรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหักจากบัญชีลูกหนี้เงินกู้ในงบแสดงฐานะการเงิน ดังนี้ 

สหกรณ์ประเภทการเกษตร ประมง นิคม ร้านค้า บริการ และกลุ่มเกษตรกร ให้ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 ข้อ 26 และ ประกาศกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่องการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ พ.ศ. 2563 

สหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน (สามารถเรียกเก็บเงินงวดชำระหนี้จากสมาชิกโดยการหักจากเงินได้ ณ ที่จ่าย) ให้ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตาม ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 ข้อ 26 และบทเฉพาะกาล ข้อ 88 เป็นไปตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 และระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการจัดชั้นคุณภาพลูกหนี้เงินกู้และการเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ พ.ศ. 2544 

สหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน (ไม่สามารถเรียกเก็บเงินงวดชำระหนี้จากสมาชิกโดยการหักจากเงินได้ ณ ที่จ่าย) ให้ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 ข้อ 26 ตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 และคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องวิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ พ.ศ. 2547 

ทั้งนี้ เมื่อกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง ประกาศและมีผลบังคับใช้ ให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามกฎกระทรวงดังกล่าว 

3. กรณีซื้อหุ้นของชุมนุมสหกรณ์ แล้วมูลค่าหุ้นด้อยค่าลง สหกรณ์ผู้ถือหุ้นต้องดำเนินการ ดังนี้

บันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนทั่วไปทันทีที่มีหลักฐานสนับสนุนว่าเงินลงทุนทั่วไปด้อยค่า (ข้อ 22 (3) (3.1) แห่งระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีฯ พ.ศ. 2563) และ ให้สหกรณ์บันทึกการด้อยค่าของเงินลงทุนไว้ในบัญชีค่าเผื่อการปรับมูลค่าเงินลงทุนในงบแสดงฐานะการเงิน และบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยคำไว้ในบัญชีขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในงบกำไรขาดทุน (ข้อ 22 (3) (3.2 วรรคสอง) แห่งระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีฯ พ.ศ. 2563) 

การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ที่ขาดการบริหารจัดการความเสี่ยง จนเกิดกรณีชำระคืนกันไม่ได้ หรือมูลค่าการลงทุนด้อยค่าลง จะส่งผลต่อทั้งสหกรณ์ที่มีเงินเหลือและสหกรณ์ที่ขาดเงินทุน โดยสหกรณ์ที่นำเงินไปลงทุนหรือเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินอาจจะมีสินทรัพย์ลดลง หรือในบางกรณีอาจถึงขั้นขาดทุนจนมูลค่าหุ้นติดลบ ส่งผลต่อหมู่มวลสมาชิกผู้เป็นเจ้าของแท้จริงของสหกรณ์ ซึ่งต้องมีส่วนรับผิดชอบไปด้วยในกรณีที่ยินยอมให้สหกรณ์นำเงินไปลงทุนหรือให้สหกรณ์อื่นกู้เงิน ด้วยกฎหมายสหกรณ์กำหนดว่า “สมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ” (มาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) นำมาซึ่งความสั่นคลอนต่อระบบสหกรณ์โดยรวม 

ปัจจุบันฝ่ายกำกับดูแลได้ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ โดยสหกรณ์ผู้รับฝากเงินจากสหกรณ์อื่นต้องดำเนินการตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (มาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) การให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงินก็ต้องเป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (มาตรา 46 ( 8 ) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ตลอดจนกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 และระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการรับจดทะเบียนข้อบังคับเกี่ยวกับคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะอนุกรรมการการลงทุน พ.ศ. 2564


การช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ของฝ่ายกำกับดูแลดังกล่าว อาจช่วยป้องกันความเสี่ยงได้พอสมควร แต่คงไม่ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมดของสหกรณ์ เนื่องจากหากการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สหกรณ์ก็สามารถนำเงินไปลงทุนหรือให้สหกรณ์อื่นกู้ได้ แต่ความความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operation Risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ก็อาจยังไม่เพียงพอ องค์กรกลางทางการเงินของสหกรณ์ อาจเป็นอีกหนึ่งแนวคิดเพื่อให้การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...