วันศุกร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2566

การจ้างทำของในสหกรณ์

 สหกรณ์ที่ประสงค์จะจ้างบุคคล (บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ทำงานที่มีลักษณะเป็นการ จ้างทำของ ตาม มาตรา 587 ที่มิใช่การจ้างงานตาม มาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สหกรณ์ต้องพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และระเบียบฯ ว่าด้วยการจัดซื้อและจัดจ้างของสหกรณ์ โดยระเบียบสหกรณ์ฯ ว่าด้วยการจัดซื้อและจัดจ้างของสหกรณ์ กำหนดว่า การจ้าง” หมายความว่า การจัดจ้างทำพัสดุ และหมายความรวมถึงการจัดจ้างทำของ การรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการจ้างเหมาบริการ 

เมื่อมีการจ้างทำของในสหกรณ์ สหกรณ์ก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น เรื่องการลา การทำงานล่วงเวลา เรื่องค่าชดเชย ฯลฯ และไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่สหกรณ์ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และระเบียบสหกรณ์ฯ ว่าด้วยการจัดซื้อและจัดจ้างของสหกรณ์ โดยดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำโครงการหรือแผนการดำเนินงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ (ยกเว้นกรณีเร่งด่วน ถ้าหากล่าช้าอาจเกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ อาจดำเนินการไปก่อนได้ และรายงานให้ที่ประชุมใหญ่ทราบในคราวประชุมใหญ่ฯ ครั้งต่อไป) การกำหนดวิธีการจัดจ้าง การจัดทำรายงานขอจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุผลและความจำเป็นในการจ้าง รายละเอียดของงานที่จะจ้าง วงเงินในการจ้าง กำหนดเวลาให้งานแล้วเสร็จ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทำหน้าที่พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวิธีการจัดจ้างต่าง ๆ เช่น การจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ การตรวจการจ้าง การทำสัญญาจ้าง และการกำหนดค่าปรับ เป็นต้น

 

การจ้างทำของในสหกรณ์ ต้องพึงระวังไม่ให้เข้าข่ายเป็นการหลีกเลี่ยงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณา ได้แก่ มาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดสาระสำคัญของการจ้างแรงงานว่า เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ให้ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ ผลสำเร็จของงานจึงไม่เป็นสาระสำคัญในการจ่ายค่าจ้าง และระหว่างการทำงานนายจ้างมีอำนาจสั่งการหรือบังคับบัญชาลูกจ้างได้ ส่วนการจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับจ้างทำการงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแก่การงานที่ทำนั้น ผลสำเร็จของการงานที่รับจ้างจึงเป็นสาระสำคัญในการรับสินจ้าง และระหว่างทำงานผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจสั่งการหรือบังคับบัญชาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...