วันศุกร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2566

แนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์และปรัชญาการศึกษากับงานพัฒนาสหกรณ์

จุดเริ่มต้นของการสหกรณ์

การสหกรณ์มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของผู้คน มูลเหตุการเกิดขึ้นของสหกรณ์ไม่ได้มีลักษณะที่มาจากการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับนายทุนตามทฤษฎีของ Karl Mark แต่การสหกรณ์เกิดมาจากแนวคิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน Robert Owen คิดค้นวิธีการสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชนชั้นกรรมมาชีพที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ได้รับแรงหนุนเสริมจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มขึ้นในปี 1760 Robert Owen คิดและวางรากฐานด้านการสหกรณ์ขึ้น เนื่องจากชนชั้นกรรมาชีพ ณ ขณะนั้นถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน เพราะนายทุนใช้เครื่องจักรเครื่องกลมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ และต่อรองกับชนชั้นกรรมมาชีพโดยการลดค่าจ้างแรงงาน Robert Owen จึงคิดค้นวิธีการสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชนชั้นกรรมมาชีพที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ได้รับแรงหนุนเสริมจากการปฏิบัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1760 แนวคิดการสหกรณ์ มีวิธีการพัฒนาการสหกรณ์ โดยเริ่มต้นจาก Co-operative Magazine ของชมรมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า A London Co-operative Society ในปี ค.ศ. 1824 วางรากฐานความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ผ่าน New Harmony community ในปี ค.ศ. 1826 และเกิด Rochdale Pioneers สหกรณ์ Rochdale จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 สมาชิกแรกเริ่ม 28 คน ทุนดำเนินงาน 28 ปอนด์ (ประมาณ 168 บาท อัตราแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น 1 ปอนด์ เท่ากับ 6 บาท) เริ่มซื้อขายในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1844 ช่วงแรกร้านค้าขายสินค้าพื้นฐานเพียง 5 รายการเท่านั้น ได้แก่ เนย แป้ง น้ำตาล ข้าวโอ๊ต และเทียน (Working Class Movement Library, ออนไลน์)

 

แนวคิดสหกรณ์มีการพัฒนาและแพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย การสหกรณ์ไทยใช้วิธีการสหกรณ์เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนเงินกู้ ซึ่งมีปฐมเหตุมากจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่เริ่มต้นมาจากสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) เมื่อปี พ.ศ. 2398 พระราชวรวงค์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยได้ทรงริเริ่มที่จะใช้แนวคิดสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนา ซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2458 และมีการก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ.2459 ชื่อว่าสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2459 (ค.ศ.1916) สมาชิกแรกเริ่ม 16 คน ทุนดำเนินงาน 3,080 บาท ซึ่งมาจากค่าธรรมเนียมแรกเข้า 80 บาท และเงินกู้จากแบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน) จำนวน 3,000 บาท (ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี) สหกรณ์ดำเนินธุรกิจโดยให้สมาชิกกู้ยืมเงินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี สมาชิกนำเงินกู้จากสหกรณ์ไปชำระหนี้เก่าที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เงินส่วนที่เหลือนำมาลงทุนทำนา (มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2561)

 

องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (International Co-operative Alliance, ICA) กำหนดหลักการสหกรณ์สากลซึ่งถือใช้กันทั่วโลก 7 หลักการ ได้แก่ การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง (Voluntary and Open Membership) การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Member Control) การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก (Member Economic Participation) การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ (Autonomy and Independence) การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ (Education, Training, and Information) การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (Cooperation among Cooperatives) และการเอื้ออาทรต่อชุมชน (Concern for Community) (ICA, ออนไลน์)

 

จากหลักการสหกรณ์สากลดังกล่าว สรุปได้ว่าสหกรณ์รวมคนที่มีปัญหาและมีความต้องการเหมือนกันหรือคล้ายกันด้านเศรษฐกิจและสังคม มาดำเนินธุรกิจร่วมกันบนพื้นฐานของความเชื่อเรื่องการช่วยเหลือตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตามประเพณีของผู้ก่อตั้ง สมาชิกสหกรณ์เชื่อในคุณค่าทางจริยธรรม ความซื่อสัตย์ ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และการเอื้ออาทรต่อผู้อื่น

 

การคุ้มครองระบบสหกรณ์

 

เพื่อให้การสหกรณ์เป็นกลไกสำคัญด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงเกิดแนวคิดการคุ้มครองระบบสหกรณ์ขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐของประเทศต่าง ๆ จะรับรองและสนับสนุนให้ผู้คนที่เชื่อในระบบสหกรณ์จัดตั้งสหกรณ์ของตนเองด้วยความเป็นอิสระและได้รับการคุ้มครองและหนุนเสริมจากรัฐ องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (International Co-operative Alliance: ICA) ได้ขับเคลื่อนการคุ้มครองระบบสหกรณ์ผ่านการประชุม ICA Congress โดยการประชุมครั้งที่สามในปี ค.ศ. 1897 ที่ Delft (Holland) ที่ประชุมมีมติเรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ หนุนเสริมความร่วมมือของขบวนการสหกรณ์ โดยผ่านกฎหมายที่เหมาะสมและหนุนเสริมความเข้มแข็งของสหกรณ์ (ICA, ออนไลน์)

 

แนวคิดการคุ้มครองระบบสหกรณ์ในประเทศไทยปรากฏครั้งแรกในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2471 โดยเหตุผลในการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ระบุว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพาะปลูกและจำพวกอื่น ๆ ที่มีกำลังทรัพย์น้อยแต่มีความต้องการ อย่างเดียวกัน หมู่ชนนั้น ๆ ควรได้รับอุดหนุนให้ตั้งสหกรณ์ขึ้นอีก เพื่อยังให้เกิดการประหยัดทรัพย์ การช่วยซึ่งกันและกันและการช่วยตนเอง เป็นทางอีกทางหนึ่งซึ่งเผยแผ่ความ จำเริญทรัพย์และจำเริญธรรมในบ้านเมืองให้ยิ่งขึ้น

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการตรากฎหมายสูงสุดที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญซึ่งแนวคิดการคุ้มครองระบบสหกรณ์ปรากฏในกฎหมายสูงสุดของประเทศครั้งแรกใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 มาตรา 69 โดยกำหนดให้ “รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มพูนผลผลิตทั้งในทางปริมาณและคุณภาพและพึงสนับสนุนการสหกรณ์เพื่อผลเช่นว่านั้นด้วย” ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ปรากฎแนวคิดการคุ้มครองระบบสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 44 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ หรือหมู่คณะอื่น

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 37 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ หรือหมู่คณะอื่น มาตรา 67 วรรคสอง รัฐพึ่งคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในด้านการผลิตและการ จำหน่ายผลผลิต โดยวิธีการประกันราคาหรือพยุงราคาตลอดจนการจัดระบบและควบคุมการผลิต และการจำหน่ายให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดหรือโดยวิธีอื่น และพึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์หรือวิธีอื่น

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 มาตรา 40 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ หรือหมู่คณะอื่น มาตรา 76 วรรคสาม รัฐพึ่งส่งเสริมคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในด้านการผลิต การ เก็บรักษาและการจำหน่ายผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่เป็น เป็นธรรม และพึ่งส่งเสริมให้ เกษตรกรรวมตัวกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ดังกล่าวโดยจัดตั้งเป็นสหกรณ์หรือวิธีอื่น

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 45 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น มาตรา 85 รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 64 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น มาตรา 84 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ (9) ส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ให้เป็นอิสระ และการรวมกลุ่มการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตลอดทั้งการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อดำเนินกิจการด้านเศรษฐกิจ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 42 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น มาตรา 75 วรรคสาม รัฐพึงส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ และกิจการวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของประชาชนและชุมชน

 

การขับเคลื่อนแนวคิดการคุ้มครองระบบสหกรณ์ โดยการตรากฎหมายสหกรณ์ให้เป็นกฎหมายเฉพาะที่เริ่มต้นจากพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ก็ได้มีวิวัฒนาการต่อมาเป็นลำดับ ดังนี้

 

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เพื่อกิจการของสหกรณ์ได้ขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ แต่กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2471 และแก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2477 จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ขึ้นใหม่ให้เหมาะสมแก่กาลสมัย เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์ให้ดีขึ้น

 

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง การบริหารจึงต้องดำเนินการโดยสมาชิกตามวิถีทางประชาธิปไตย อันเป็นการวางรากฐานของระบบเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ มาตรา 45 และมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์โดยรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์

 

จากการศึกษาแนวคิดการคุ้มครองระบบสหกรณ์ไทย พบว่า การคุ้มครองระบบสหกรณ์ คือ การที่รัฐส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมในรูปแบบสหกรณ์ ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินกิจการของสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็ง มีอิสระ ซึ่งเครื่องมือสำคัญในการคุ้มครองระบบสหกรณ์ คือการตรากฎหมายสหกรณ์ เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสหกรณ์ และสหกรณ์กับสังคม ในประเด็นรัฐกับสหกรณ์ จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับต่าง ๆ เน้นเรื่องการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมในรูปแบบสหกรณ์ ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินกิจการของสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็ง มีอิสระ ส่วนประเด็นสหกรณ์กับสังคมพระราชบัญญัติสหกรณ์ทุกฉบับไม่ได้ตราเป็นบทบัญญัติไว้ชัดเจน เพียงแต่กำหนดบทบาทหน้าที่ของสหกรณ์ที่พึงปฏิบัติตามกฎหมายสหกรณ์ อันจะก่อให้เกิดผลดีกับสหกรณ์ สมาชิก และสังคม หากไม่ปฏิบัติก็ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกำกับกับดูแล และหากไม่ปฏิบัติตามก็มีบทลงโทษ ส่วนหากมีกรณีขัดแย้งระหว่างสหกรณ์กับบุคคลภายนอกอันกระทบต่อความสงบเรียนร้อยของสังคมก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายอาญา

 

ด้วยเหตุที่การสหกรณ์ไทยมีจุดเริ่มต้นมาจากการริเริ่มส่งเสริมของรัฐให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน รัฐจึงกำหนดให้มีหน่วยงานของรัฐในการทำหน้าส่งเสริมและคุ้มครองการสหกรณ์ไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2458 ขณะนั้นเป็นแผนกหนึ่งในกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จากนั้นก็ได้มีการปรับเปลี่ยนงานส่งเสริมและคุ้มครองสหกรณ์ไปอยู่ภายใต้หน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมสหกรณ์กระทรวงพาณิชย์ (พ.ศ. 2463 - 2477) กระทรวงสหกรณ์ (พ.ศ. 2495 - 2506) ส่วนราชการสหกรณ์ในกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (พ.ศ. 2506 - 2515) กระทั่งจัดตั้งสถาปณากรมส่งเสริมสหกรณ์ขึ้น ในปี พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน

 

ลักษณะของงานพัฒนาสหกรณ์

 

งานส่งเสริมสหกรณ์ มีลักษณะเป็นสหสาขาวิชา (Multidisciplinary) ความรู้เฉพาะสำหรับนักส่งเสริมสหกรณ์ (นักวิชาการสหกรณ์) ในปัจจุบัน ได้แก่ สาขาเศรษฐศาสตร์ สาขาบัญชี สาขาบริหารธุรกิจ สาขานิติศาสตร์ สาขาธุรกิจเกษตร สาขาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ และสาขาสหกรณ์ แต่หากพิจารณาในมิติการพัฒนาสหกรณ์ จะพบเรื่องราวที่สำคัญใน 2 มิติ คือ มิติเรื่องการพัฒนาคนในสหกรณ์ และมิติเรื่องสหกรณ์ในฐานะที่เป็นองค์กรทางด้านเศรษฐกิจและสังคม นักส่งเสริมสหกรณ์จึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการพัฒนาองค์กร ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวจะช่วยให้นักส่งเสริมสหกรณ์มีความรู้ความเข้าในงานพัฒนาสหกรณ์ได้ลุ่มลึกมากขึ้น และปฏิบัติงานสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น

 

แนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์

 

แนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ เปรียบเหมือนแว่นขยายช่วยให้นักพัฒนาสหกรณ์มองเห็นปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในงานพัฒนาสหกรณ์ ได้อย่างที่เรียกว่า มีความไวทางทฤษฎีหมายความว่า แนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ จะช่วยให้นักพัฒนาเข้าใจปรากฏต่าง ๆ ที่พบเจอได้ง่ายขึ้นรวดเร็วขึ้น และหาแนวทางพัฒนาได้ตรงกับปัญหามากขึ้น เช่น ปัญหาหนี้ค้างนานของเกษตรกรสมาชิก หากมองด้วยแนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ จะพบว่าเป็นปัญเชิงโครงสร้าง หนี้ค้างนานไม่ใช่แค่การไม่นำเงินมาชำระหนี้ แต่มีที่มาของปัญหาลึกลงไปว่าหลุมพรางของทฤษฎีความทันสมัย (Modernization Theory) การปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ทฤษฎีความเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) กำหนดให้วิถีการผลิตของเกษตรกรเป็นแบบการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการค้า ต้นทุนการผลิตสูง ราคาขายผลผลิตไม่แน่นอน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ส่งผลให้เกษตรกรยิ่งผลิตยิ่งเป็นหนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้ค้างนานของเกษตรกรสมาชิก จึงไม่ใช่แค่วิธีการทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือมาตรการทางกฎหมาย แต่ต้องอาศัยกลไกภายในสหกรณ์และการหนุนเสริมจากภายนอกในการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ใช่มาตรการใดมาตรการหนึ่ง แต่ต้องอาศัยวิธีการที่หลากหลาย สิ่งสำคัญที่สุดต้องทำให้เกษตรกรสมาชิกเข้าใจปัญหาของตนเองให้ได้ เข้าใจปัญหาสหกรณ์ให้ได้ โดยมีนักพัฒนาสหกรณ์เป็นผู้หนุนเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และแก้ไขปัญหา เช่น เป็นผู้ช่วยให้เกิดกระบวนการค้นหาสาเหตุของปัญหา ช่วยวิเคราะห์สภาพปัญหา เชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ ตลอดจนเป็นผู้ช่วยในการค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหา สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และพัฒนาร่วมกัน

 

การพัฒนา (Development)

 

การพัฒนา เป็นประดิษฐกรรมทางประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่ได้รับความนิยมกันอย่างรวดเร็วและแพร่หลายในสังคมยุคปัจจุบัน การพัฒนาถูกสร้างขึ้นมาโดยประเทศมหาอำนาจตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหมายของการพัฒนาค่อนข้างมีความเป็นพลวัตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ในยุคเริ่มแรกของการพัฒนานั้น การพัฒนาหมายถึงการทำให้ทันสมัยอย่างสังคมตะวันตกโดยให้น้ำหนักไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาการเมือง ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย” (Modernization Theory) เมื่อเวลาผ่านมาจนผลของการพัฒนาได้ปรากฏให้ผู้คนในสังคมได้เห็นชัดว่าการพัฒนาได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เทียมกันในสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ผู้คนในสังคมจำนวนมากยากจนลง แต่ผู้คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา จนมีที่มาของคำว่า “ด้อยพัฒนา” จึงทำให้เริ่มมีผู้คนในแวดวงการพัฒนาเริ่มออกมาต่อต้านแนวคิดการพัฒนาตามแบบของทฤษฎีความทันสมัย ก่อให้เกิดการต่อสู้กันทั้งทางแนวคิด ทฤษฎี และวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามากมายในปัจจุบัน เช่น การก่อเกิดของทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) ทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) และแนวความคิดว่าด้วยความด้อยพัฒนาแนวมาร์กซิสต์ใหม่ (Neo-Marxist) ทั้งหลายเป็นต้น (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2549: 17-18)

 

หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาแนวคิดการพัฒนาถูกนำเสนอมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน แนวคิดการพัฒนามีบริบทและเป้าหมายที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งในบริบทของโลก ประเทศ สังคม ชุมชน และผู้คน ซึ่งวิธีการพัฒนาในบริบทต่าง ๆ นั้น ถูกกำหนดมาจากกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกัน โดยกระบวนทัศน์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 คือกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยม (Positivism) โดยเชื่อว่าความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วบนโลกใบนี้ ความจริงคือสิ่งที่สามารถค้นหาได้ด้วยกระบวนการที่ใช้เหตุและผล (การพิสูจน์) เป็นเครื่องมือ การพัฒนาภายใต้กระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยมมีความสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับอุดมการณ์ทุนนิยมเสรี (Capitalism) เช่น การพัฒนาการเกษตรของโลกด้วยแนวคิดการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านการพิสูจน์ ทดลอง เพื่อให้การผลิตอาหารเพิ่มจำนวนมากขึ้นเพียงพอต่อความต้องการของชาวโลก ตัวชี้วัดที่สำคัญของการปฏิวัติเขียวน่าจะเป็นจำนวนผู้หิวโหยที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงบนโลกใบนี้ แต่กลับเป็นตัวชี้วัดที่กล่าวถึงปริมาณการส่งออกสินค้าทางการเกษตรของประเทศที่ใช้แนวทางการพัฒนาแบบปฏิวัติเขียวที่ได้รับความสนใจมากกว่า

 

แม้กระบวนทัศน์ปฎิฐานนิยมและอุดมการณ์ทุนนิยมจะเคยถูกท้ายทายและถอดรื้ออย่างรุนแรงมาแล้วในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 โดยกลุ่มนักวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่เสนอกระบวนทัศน์เชิงตีความ (ผ่องพรรณ และ สุภาพ, 2553) และช่วงศตวรรษที่ 19 โดย Karl Marx ที่เสนออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ผ่านแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (Manifesto of the Communist Party) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848 (บุญศักดิ์, 2547) แต่กระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยมและอุดมการณ์ทุนนิยมยังคงทำหน้าที่ครอบงำการพัฒนาในบริบทต่าง ๆ ของโลกมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน แม้จะมีเหตุการณ์ที่เป็นหลักฐานสำคัญว่ากระบวนทัศน์และอุดมการณ์ดังกล่าวได้มีส่วนในการทำให้ลดทอนเป้าหมายของการพัฒนา คือการด้อยพัฒนาในบริบทต่างๆ ของโลกซึ่งมีผู้คนจำนวนมากถูกทำให้กลายเป็นผู้ด้อยพัฒนา

 

ปัจจุบันกระบวนทัศน์และอุดมการณ์กระแสหลักที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา ถูกท้าทายด้วยความคิดแบบถอดรื้อมากขึ้น แม้จะไม่ได้อยู่ในระดับที่ต่อสู้กันได้อย่างเท่าเทียม แต่ก็หลุดพ้นจากกรอบของกระบวนทัศน์และอุดมการณ์ดังกล่าวได้มากขึ้น แม้จะเป็นเพียงแค่บริบทเล็ก ๆ อย่างชุมชน หรือ ผู้คนบางกลุ่ม บางคน แต่ก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น การไม่ยอมจำนนต่อความรู้ ความจริงที่ถูกกำหนดโดยกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยมและอุดมการณ์ทุนนิยม ทำให้อำนาจ ความรู้ ความจริง ถูกเปลี่ยนมือ กระบวนการที่มากกว่าการถอดรื้อ แต่คือการรื้อสร้างคือคำตอบของการพัฒนาหรือไม่ ไม่อาจสรุปได้ แต่สิ่งที่สรุปได้คือ อำนาจ ความรู้ ความจริง ถ้าไม่ได้มากจาการครอบงำ แต่ได้มาจาการสำรวจตัวเอง สร้างความรู้ให้ตนเอง และคืนอำนาจให้กับตนเองน่าจะเป็นคำตอบของการพัฒนาเพื่อการปลดปล่อยในยุคปัจจุบัน

 

ในท่ามกลางความหลากหลายของแนวคิด-ทฤษฎีการพัฒนา คงไม่อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดอย่างไรจะสามารถช่วยเป็นกรอบในการปฏิบัติการพัฒนา ให้เป็นการพัฒนาที่ปลดปล่อยผู้คนจำนวนมากที่ถูกกดทับด้วยแนวทางการพัฒนาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้นการพิจารณาแนวคิด-ทฤษฎีใหม่ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการทำงานพัฒนาเพื่อการปลดปล่อย จึงเป็นหนทางที่นักพัฒนาฝ่ายทางเลือกจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้กันต่อไป ท่ามกลางการต่อสู้กันทางอุดมการณ์การพัฒนา เพื่อผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ความรู้ ความจริงในสังคมปัจจุบัน ซึ่งงานศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและนำเสนอแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ (Critical Postmodern) และคาดหวังว่าแนวคิดดังกล่าวอาจจะเป็นทางเลือกให้นักพัฒนากลุ่มที่ทำงานพัฒนาเพื่อการปลดปล่อยจะสามารถนำไปเป็นกรอบในการทำงานพัฒนา ตลอดจนผู้ที่สนใจศึกษาและวิจัย เพื่อให้เกิดการปลดปล่อยผู้คนในชุมชนชนบทไทยได้อย่างมีพลังมากขึ้น

 

ทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Theory)

 

ทฤษฎีวิพากษ์มีกรอบความคิดที่ปฏิเสธกระบวนการค้นหาความจริงทางสังคมโดยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ แต่ให้ความสำคัญกับความหมายในภาษา อุดมการณ์ของสังคม เชื่อว่าการแสวงหาความรู้มีเป้าหมายเพื่อการยกระดับจิตสำนึกของประชาชนผู้ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ให้มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง เน้นการสร้างความรู้ด้วยการกระทำ โดยใช้ความเชื่อ และอคติเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ เป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานมาจากสำนักคิด Marxist (Marxist Theory) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวใช้วิธีค้นหาความจริงที่เรียกว่า “วิภาษวิธี (Dialectic)” คือการอธิบายลักษณะความสัมพันธ์แบบกำหนดซึ่งกันและกัน (กาญจนา และ สมสุข, 2551) เป็นแนวคิดที่มีลักษณะร่วมกันกับแนวคิดเชิงตีความ (Interpretive Approach) กุญแจสำคัญของวิธีการแบบวิพากษ์คือการสร้างความรู้ด้วยการกระทำ ใช้ความเชื่อ และใช้อคติในการค้นหาความจริง เนื่องจากความจริงมีความซับซ้อน มีหลายชั้น (Multilayer) แต่ละชั้นของความเป็นจริงนั้นถูกอาบเคลือบไปด้วยสิ่งลวงตา (Illusion) มายาคติ (Myth) และความบิดเบือน (Distorted Thinking) (Neuman, 2006)

 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism Theory)

 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธความเชื่อที่ว่า ความรู้ ความจริง มีหนึ่งเดียวตามกระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยม แต่เชื่อว่าความรู้ ความจริง มีอยู่ทั่วไป ไม่มีลักษณะที่เฉพาะเจาะจงตายตัว สิ่งสำคัญที่ควรศึกษาคือความหมายที่หาได้จากภาษา เป็นแนวคิดที่สนใจในเรื่องของอำนาจที่แฝงอยู่ในความรู้ ความจริงที่ถูกผลิตออกมาโดยผ่านสิ่งที่เรียกวาทกรรมในสังคม กีรติ บุญเจือ (2545) สรุปว่า แนวโน้มของปรัชญาแนวหลังสมัยใหม่นิยมที่สำคัญได้แก่ การล้มล้างสมัยใหม่นิยม การไม่เชื่อว่าวิธีค้นหาความจริงแบบวิทยาศาสตร์จะให้ความจริงที่เป็นวัตถุวิสัย ไม่เชื่อว่าระบบความคิดของมนุษย์จะมีได้ในระบบเครือข่ายเดียว ไม่เชื่อว่าวัฒนธรรมของมนุษย์ก้าวหน้าเสมอ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาอะไรเป็นจุดอ้างอิง มีแต่ความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา หลังสมัยใหม่นิยมเชื่อว่า ความจริงที่ควรสนใจคือความหมายที่หาได้ในภาษา เชื่อว่ามนุษย์ควรมีท่าทีร่วมมือกันกับทุกสิ่งมากกว่ามุ่งเอาชนะหรือครอบครอง เชื่อว่าเหตุผลเป็นเพียงศิลปะชวนเชื่อ เชื่อว่าเอกภพไม่ใช่จักรกลล้วน ๆ แต่เป็นองคาพยพพิเศษที่มีการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าอารมณ์และความใฝ่ฝันเป็นความจริงที่มีค่าควรแก่การพิจารณาและศึกษา

 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์

 

เป็นแนวคิดที่มองความเป็นจริงว่าไม่ใช่สิ่งที่คงที่หรือมีอยู่แล้วอย่างกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยม แต่มองว่าความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดสร้างขึ้น เป็นอัตวิสัย (Subjective) แปรผันไปตามสภาพการณ์และบริบทของแต่ละปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งอาจส่องสะท้อนให้เห็นความจริงได้หลากหลายจากผู้คนที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเข้าถึงความจริงของแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์จึงต้องใช้ระบบคุณค่า การตีความ การรับรู้ ความรู้สึก ประสบการณ์ของบุคคลเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริง โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมพลังและปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการต่างๆ ด้วยวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ทางความคิด วิเคราะห์ระบบคุณค่า สัญลักษณ์ต่างๆ การส่องสะท้อนตนเอง เมื่อเผยให้เห็นความเป็นจริงต่างๆ แล้วจึงลงมือปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ชุมชน และสังคม ซึ่งการบูรณาการทฤษฎีวิพากษ์กับแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมให้กลายเป็นแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์นั้นมีรายละเอียดเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ วิธีการแสวงหาความรู้ และคุณค่าของความรู้

 

แนวคิดเรื่องทรัพยากรมนุษย์

 

แนวคิดด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชื่อว่า มนุษย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จัดอยู่ในทรัพยากรประเภทเกิดขึ้นและทดแทนใหม่ได้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติได้เช่นเดียวกับทรัพยากรอื่นๆ กำลังงานมนุษย์แบ่งออกได้เป็นสองทางคือ กำลังทางด้านร่างกาย และกำลังทางจิต โดยกำลังทางกายและกำลังทางจิตสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ หรือถูกลดทอนทำลายให้กลายเป็นกำลังที่ขาดประสิทธิภาพได้ (นิวัติ เรื่องพานิช, 2542: 287-289)

 

ในมิติด้านชุมชนเชื่อว่า มนุษย์คือมนุษย์ มนุษย์เป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์มีความคิด มีจิตใจ มนุษย์มีเหตุผลมีวิจารณญาณ มนุษย์สามารถตัดสินใจเองได้ มนุษย์เรียนรู้สิ่งต่างๆได้ทั้งทางนามธรรมและรูปธรรม มนุษย์สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองได้ตามความคิดของตน มนุษย์สามารถสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของตนให้เหมาะสม และสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ (นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์, 2550: 33)

ในมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า มนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ และเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์และความมั่งคั่งของประเทศชาติ (บุญคง หันจางสิทธิ์, 2549: 2) ทรัพยากรมนุษย์ในทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญได้แก่ แรงงาน และ ผู้ประกอบการ โดยแรงงาน หรือทรัพยากรมนุษย์ (Human Research) หรือทุนมนุษย์ (Human Capital) ได้แก่ แรงกาย แรงใจ ตลอดจนสติปัญญา ความรู้ และความคิด ที่มนุษย์ทุ่มเทให้แก่การผลิตสินค้าและบริการ โดยทั่วไปแบ่งแรงงานเป็น 3 ประเภท คือ 1) แรงงานฝีมือ 2) แรงงานกึ่งฝีมือ และ 3) แรงงานไร้ฝีมือ ผลตอบแทนของแรงงานเรียกว่าค่าจ้างและเงินเดือน (Wage and Salary) ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) คือผู้ทำหน้าที่รวบรวมปัจจัยการผลิต 3 ประเภท คือ ที่ดิน แรงงาน และทุน เพื่อทำการผลิตสินค้าและบริการ ค่าตอบแทนของผู้ประกอบการเรียกว่ากำไร (Profit) (วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2539: 3)

 

แนวคิดเรื่องชุมชน

 

นักสังคมวิทยา (Olsen, 1968: 91) ได้นิยามความหมายของชุมชนว่า หมายถึงองค์กรทางสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของสมาชิก แต่ยังสามารถช่วยให้สมาชิกสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆที่มีอยู่ร่วมกันได้ โดยทั่วไปชุมชนจะประกอบด้วยครอบครัวหลายครอบครัวมารวมกัน ด้วยความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพากันในด้านต่างๆ เช่น การทำมาหากิน การดูแลรักษาโรค สันทนาการ พิธีกรรมความเชื่อ  อย่างไรก็ตามอาจมีชุมชนของเผ่าบางแห่ง ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากครอบครัวขยายหรือวงศ์วานเดียวกันเท่านั้น (อ้างใน นภาภรณ์ หะวานนท์, เพ็ญสิริ จีระเดชากุล และ สุรวุฒิ ปัดไธสง, 2550: 34)

 

แนวคิดเรื่ององค์กร

 

ในสังคมขนาดใหญ่ มักมีความซับซ้อนในการจัดระเบียบ มีความหลากหลายทั้งในแง่วิธีการและการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม การที่บุคคลแต่ละกลุ่มมีเป้าหมาย มีความต้องการที่แตกต่างกัน สังคมจึงจำเป็นต้องมีการจัดองค์กร (Organizations) เพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างโดยยึดหลักที่เป็นสากล เพื่อให้สามารถสนองประโยชน์แก่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งองค์กรในสังคมประกอบด้วย องค์กรแบบราชการ และองค์กรสมัครใจ

 

องค์กรแบบราชการ เป็นองค์กรที่เป็นทางการ มีความหมายกว้างกว่าหน่วยราชการ ได้แก่กระทรวง กรม กองต่างๆ ที่เป็นของรัฐ รวมถึงบริษัท ห้างร้าน ธนาคาร รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ มีลักษณะการบริหารหรือการจัดองค์กร โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการจัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามส่วนสายบังคับบัญชา มีกฎระเบียบที่จะต้องยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ มีสิทธิอำนาจตามข้อกฎหมาย มีความชำนาญเฉพาะทางทางด้านอาชีพ และมีอำนาจในการตัดสินใจ ขณะที่องค์กรที่มีลักษณะเป็นสมาคมสมัครใจ มีทั้งกลุ่มที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสมาคมอาจยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์มีลักษณะที่สำคัญคือ สนองความต้องการหรือผลประโยชน์ส่วนบุคคล หรือของกลุ่มที่มีความสนใจร่วมกัน (ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544: 89-91)

 

ปรัชญาการศึกษากับงานพัฒนาสหกรณ์

 

การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้เพราะการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างความรู้ความสามารถให้แก่ทรัพยากรมนุษย์ การศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นพื้นฐานของการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน การให้การศึกษาจะเป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมและประเทศอย่างได้ผล การศึกษาจะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ดังนั้นเป้าหมายของทุก ๆ ประเทศจึงมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้กระบวนการทางการศึกษาเป็นสำคัญ

 

งานส่งเสริมหรืองานพัฒนาสหกรณ์ คืองานให้การศึกษา หลักการสหกรณ์ที่ 5 กำหนดให้สหกรณ์ให้การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ (Education, Training, and Information) เพื่อให้ผู้คนในขบวนการสหกรณ์และผู้คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ที่ถูกต้อง เป็นแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาการสหกรณ์ พัฒนาขบวนการสหกรณ์ พัฒนาสังคม และรักษาคุ้มครองระบบสหกรณ์ นักพัฒนาสหกรณ์จึงควรเข้าใจปรัชญาการศึกษาเพื่อกำหนดวิธีการแนะนำส่งเสริมงานพัฒนาสหกรณ์ให้สอดคล้องกับบริบทด้านคน องค์กร ชุมชน และสังคม ที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาสหกรณ์

 

แนวคิดพื้นฐานทางด้านปรัชญาการศึกษา

 

ปรัชญาการศึกษาที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาไทย มี 6 ลัทธิ ได้แก่ ลัทธิจิตนิยม นิรันตรนิยม (Perennialism) สารัตถนิยม (Essentialism) พิพัฒนาการนิยม (Progressivism) บูรณาการนิยมหรือปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) และอัตภาวะนิยม (Existentialism) ซึ่งทั้ง 6 ลัทธิมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้

 

1) ลัทธิจิตนิยม (Idealism) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของแนวความคิดตามลัทธิปรัชญานี้คือ พลาโต (Plato) นักปรัชญาเมธีชาวกรีก พลาโตเชื่อว่า “การศึกษา คือ การให้ความเจริญเติบโต เป็นการอบรมจิตใจให้มีระเบียบวินัย และให้รู้จักใช้ความคิดอย่างมีระบบระเบียบ” ความเชื่อของพลาโตจึงให้ความสำคัญต่อจิตใจมากกว่าอย่างอื่น ลัทธิจิตนิยมเชื่อว่า การศึกษา คือ การพัฒนาจิตใจ ส่งเสริมการพัฒนาทางคุณธรรม ศีลธรรม ศิลปะ การวินิจฉัยคุณค่าที่แท้จริงของคุณธรรมและจริยธรรม ในการจัดการศึกษาจึงเน้นการผลิตคนให้เป็นนักอักษรศาสตร์และศิลปศาสตร์โดยมีความคิดว่านักอักษรศาสตร์และศิลปศาสตร์จะเป็นผู้มีความรอบรู้ และเข้าใจชีวิตคนดีที่สุด ส่วนกระบวนการเรยนการสอนส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนในห้องเรียนและห้องสมุด โดยเน้นความสำคัญของการถ่ายทอดเนื้อหาวิชา (วิไล ตั้งจิตสมคิด, 2539)

 

2) นิรันตรนิยม (Perennialism) นักปรัชญาที่บุกเบิก คือ โรเบิร์ต เอ็ม ฮัทชินส์ (ค.ศ. 1899 – ค.ศ. 1979) เป็นคนสำคัญของปรัชญานี้และเป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการอุดมศึกษา เขากล่าวว่า ความสับสนที่เกิดขึ้นในระดับอุดมศึกษาในช่วงแรก ๆ ของศตวรรษที่ 20 มีสาเหตุมาจากเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญในสังคม 3 ประการ คือ 1) เกิดจากการเห็นแก่เงิน 2) เกิดจากความไม่เข้าใจในหลักประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ และ 3) ความคิดเห็นที่ผิดต่อการพัฒนา

 

3) สารัตถนิยม (Essentialism) ปรัชญาการศึกษาที่ยึดแนวผสมของปรัชญากลุ่ม Idealism และ Realism คำว่า Essentialism มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า “Essentia” ซึ่งหมายถึง สาระหรือแก่นสารที่จำเป็นหรือสารัตถะ (essence) ดังนั้นปรัชญานี้จึงเน้นในเรื่องที่น่าเชื่อถือและเป็นสาระที่สำคัญทั้งหลาย นักปรัชญาที่บุกเบิก ได้รับการยอมรับ คือ ศาสตราจารย์ วิลเลียม ซี แบกเลย์ แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน

 

4) พิพัฒนาการนิยม (Progressivism) เป็นปรัชญาการศึกษาที่มาจากลัทธิปรัชญา Pragmatism นักปรัชญาที่บุกเบิก การศึกษานี้ได้แก่ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) วิลเลี่ยม เจมส์ (William James) และชาร์ลส์ เพิร์ซ (Charles S. Peirce) ปรัชญานี้มีหลักการสำคัญ คือ การศึกษาคือชีวิต ไม่ใช่การเตรียมตัวเพื่อชีวิต การเรียนรู้นั้นต้องสัมพันธ์โดยตรงกับความสนใจของเด็ก โรงเรียนจะต้องส่งเสริมให้มีการร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน โรงเรียนจะต้องเป็นห้องปฏิบัติการที่เรียนรู้ชีวิตจริง และจะต้องเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย การเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหา บทบาทของครู ต้องไม่ใช่ผู้นำตลอดไป แต่ต้องเป็นผู้ให้คำแนะนำ และประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทั้งในด้านความคิดและ บุคลิกภาพที่ดีในสังคมที่พัฒนา

 

5) บูรณาการนิยมหรือปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) นักปรัชญาการศึกษา Reconstructionism แตกสาขามาจากปรัชญาการศึกษา Progressivism เพียงแต่มองสังคมกว้างกว่าลึกกว่า นักปรัชญาสาขา Reconstructionism เห็นว่าปรัชญา Progressivism เพียงแต่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมเท่านั้น ไม่เจาะลึกไปถึงการแก้ปัญหาของสังคม ยอร์ซ เอส เค้าทส์ และ ธีโอดอร์ บราเมลต์ (Theodore Brameld) เป็นผู้นำคนสำคัญของปรัชญาการศึกษานี้

 

6) อัตภาวะนิยม (Existentialism) เป็นปรัชญาการศึกษาที่เน้นให้ความเป็นตัวของตัวเองของผู้เรียนรู้จักเลือกและรับผิดชอบทางเลือกตัวเอง (responsible for his own fate) ผู้มีอิทธิพลในปรัชญาการศึกษานี้คือ เอ เอส นีล (A.S. Neil) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1883 – ค.ศ. 1973 นักปรัชญาที่บุกเบิกมีความสำคัญต่อปรัชญาการศึกษานี้คือ นีล

 

วิวัฒนาการและปรัชญาการศึกษาของไทย

 

ปรัชญาการศึกษาไทยเป็นแบบผสมผสานระหว่างแนวคิดของชาติตะวันตกและอิงพุทธศาสนาประเทศไทยมีประวัติความเป็นมากับการศึกษาเป็นเวลาอันยาวนาน แบ่งการจัดการศึกษาได้แบ่งออกเป็น 3 ยุค ดังมีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

1) การศึกษาไทยในสมัยโบราณ (.. 1781 – .. 2411) ยังไม่มีโรงเรียนแก่เด็กไทยในสมัยนั้นสามารถหาความรู้ได้จากที่บ้าน สำนักสงฆ์ วิชาที่สอนไม่ได้ตายตัว มีความรู้สามัญเพื่ออ่านออกเขียนได้ วิชาชีพ วิชา จริยศึกษา และศิลปะป้องกันตัว การเรียนของเด็กไทยในสมัยนั้นมุ่งเน้นให้เรียนไปเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันคือเรียนการอ่าน การเขียนและวิชาคำนวณ นอกจากการเรียนอ่านเขียน และคณิตศาสตร์แล้วเด็กไทยคงได้เรียนรู้วิชาชีพตามอย่างบรรพบุรุษ และศีลธรรมจากการบวชเรียน (วรัฏรยา หุ่นเจริญ, 2545: 11-12)

2) การศึกษาในสมัยปฏิรูปการศึกษา (.. 2412 – .. 2475) ผลจากการเข้ามาของชาวตะวันตกและการเปิดประเทศค้าขายกับตะวันตกนั้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านการเมืองการปกครอง และการศึกษาจึงได้มีความสำคัญขึ้นเพื่อพัฒนาคนเข้ามารับ ราชการนำไปสู่การเปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จึงทำให้มีการจัดทำแผนแม่บทในการศึกษาเรียกว่าโครงการศึกษาฉบับแรก พ.. 2441

3) การศึกษาสมัยปกครองตามระบอบประชาธิปไตย (.. 2475 - ปัจจุบัน) การศึกษามีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากต้องการพัฒนาคนให้เข้าใจระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นเรื่องของสิทธิของประชาชนในการเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายปกครอง โครงการศึกษาได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นแผนการศึกษาชาติ พ.. 2475 ต่อมาในปี พ.. 2503 ได้เปลี่ยนชื่อแผนการศึกษาชาติมาเป็นแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2503 และมีพระราชบัญญัติศึกษา แห่งชาติ พ.. 2542 เพื่อมุ่งหวังว่าคนไทยสามารถปรับตัวได้เหมาะสมกับสถานการณ์โลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงและเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพจึงได้จัดทำแผนการศึกษาระยะยาว 15 ปี เรียกว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ พ..2545-2559 (พรรณอร อุชุภาพ, 2546: 31)

 

จากวิวัฒนาการการศึกษาของไทยจะเห็นว่า กระบวนเปลี่ยนแปลงทางด้านการจัดการการศึกษาของไทยได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายนอกนั่นเองที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงฐานคิดของคนไทยเกี่ยวกับการเรียน เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการอธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เราอาจแบ่งการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการจัดการศึกษาของไทย ตามบริบทของการพัฒนา คือ การศึกษาของไทยภายใต้บริบทก่อนทันสมัย และการศึกษาของไทยภายใต้บริบทหลังทันสมัย

แนวคิดพื้นฐานการจัดการศึกษาของประเทศไทยในยุคก่อนทันสมัย

บริบทของสังคมไทยในช่วงก่อนทันสมัย (Pre-Modernization) กล่าวโดยสรุปคงเป็นไปตามสำนวนไทยที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว กล่าวคือ เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้คนในสังคมมีความเป็นอยู่สุขสบาย มีปัจจัยสี่เพียงพอต่อการดำรงชีพซึ่งส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรม ของคนในสังคม ดังที่พระธรรมปิฎก (2544:17-18) ได้สะท้อนให้เห็นว่าสภาพความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม ทำให้คนไทยมีคติทางด้านเทศะที่บอกว่า ที่นี่ดี เดี๋ยวนี้มีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปไหน และจากท่าทีจากจิตใจที่ไม่ต้องไปไหน ก็ส่งผลต่อแนวคิดทางกาละว่าเมื่อไรก็ได้ หรือพรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้าก็ได้ ทั้งนี้เพราะสภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากมายทำให้ไม่มีความบีบคั้น ไม่ต้องดิ้นรน ระแวงแย่งชิงทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพ คนสามารถเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน และไม่ค่อยถือสากันในเรื่องสิทธิจึงมักมีคำพูดว่า ไม่เป็นไร ซึ่งเมื่อมีสภาพเป็นอยู่สุขสบาย มีกินมีใช้พรั่งพร้อม ไม่มีอะไรบีบคั้นให้ต้องมุ่งไปทำ ประกอบกับคนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ที่มุ่งสอนให้คนเดินทางสายกลาง สอนให้กินอยู่แบบพอเพียง เน้นการให้ทานและแบ่งปัน อีกทั้งศาสนาพุทธยังสอนให้คนพัฒนาทางด้านจิตใจมากกว่าการพัฒนา สะสมทางด้านวัตถุ อีกทั้งยังสอนให้คนเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อควบคุมธรรมชาติ ซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมการผลิตในสังคม ทำให้สังคมไทยในยุคดังกล่าวมีวิธีการผลิตเพื่อการยังชีพเป็นหลัก  และเป็นการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้สิ่งแวดล้อมในช่วงขณะนั้นมีความสมดุล

แนวคิดพื้นฐานการจัดการศึกษาของประเทศไทยในยุคก่อนทันสมัย มีลักษณะการจัดการศึกษา รวมทั้งได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับ ความรู้  ผู้รู้ รวมทั้ง แหล่งการศึกษา ที่แตกต่างกันจากสภาพสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ตามที่ อรศรี  งามวิทยาพงศ์ (2549) และ ทิพวรรณ  ยุทธโยธิน(2528) ได้กล่าวไว้ว่า สังคมไทยในช่วงก่อนเข้าสู่ยุคความทันสมัย การจัดการศึกษาของสังคมไทยยังไม่มีระบบ ผู้เรียนจะศึกษาหาความรู้ตามความต้องการของตนเอง ซึ่ง ความรู้ ที่ผู้เรียนต้องการศึกษาในยุคนั้นจะต้องเป็นความรู้ในเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ความรู้เชิงทฤษฎี เช่น ความรู้การทำนา การตีมีด  การปั้นหม้อ  หรือความรู้เกี่ยวกับการผลิตเครื่องมือทำมาหากิน ฯลฯ

สำหรับ ผู้รู้ นั้น จะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือผู้รู้ที่มีความชำนาญด้านการประกอบอาชีพ ที่มีการปฏิบัติ ฝึกฝนจนชำนาญ มีความสามารถในการประยุกต์และจัดทำได้อย่างประณีต สวยงาม เช่นการตีมีด ต่อเรือ  ทำบาตร  การแกะสลัก ก็จะทำให้คนในสังคมยอมรับเป็นผู้รู้ และจะมีผู้ที่ต้องการมาเรียน โดยเข้ามาฝากตัวเป็นลูกศิษย์เพื่อศึกษา สำหรับผู้รู้อีกประเภทหนึ่ง ได้แก่ ผู้รู้ทีมีความรู้ด้านจิตวิญญาณ หรือผู้ที่มีความรู้เชื่อมโยงกับอำนาจที่มีอิทธิพลเหนือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นผี หรือนิพพานในพุทธศาสนา รวมทั้งผู้ที่สามารถเข้าถึงระบบธรรมชาติ เช่น ความสัมพันธ์ของธาตุทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ดวงดาว อิทธิพลของดวงดาว ฯ จนกระทั่งรักษาโรค สั่งสอน ชี้แนะ หรือแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติตนและการจัดการความสัมพันธ์กับผู้อื่นสิ่งอื่นให้ถูกต้อง บุคคลที่มีความรู้ดังกล่าวจะได้รับการยกย่องนับถือให้เป็น ผู้รู้ ในระดับสูงสุดของสังคม ส่วนมาก ได้แก่ พระภิกษุ หมอธรรม หรือหมอผี จากการที่สังคมในยุคนั้นให้นิยามของความรู้หมายถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพของตน ดังนั้น สถานที่สำหรับการศึกษา ในสังคมยุคก่อนทันสมัยจึงมีอยู่โดยทั่วไป ได้แก่ บ้านและครอบครัว วัด วังและสำนักปราชญ์ราชบัณฑิต

การพัฒนาไปสู่ความทันสมัยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.. 2504 ในยุคสงครามเย็น สืบเนื่องมาจนกระทั่งโลกเข้าสู่โลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ได้นำความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่มาสู่ระบบความสัมพันธ์ของชีวิตในระดับต่าง ๆ รวมทั้งระบบการศึกษาของไทย กล่าวคือกระบวนการเรียนรู้แบบของรัฐที่จัดขึ้นใหม่ มีวัตถุประสงค์ให้ความสำคัญสูงสุดแก่การเพิ่มพูนวัตถุ เงินรายได้ มีเนื้อหา แหล่งเรียนรู้ และกระบวนการแบบแยกส่วน ที่ไม่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive Learning) ในทางตรงข้าม ได้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของการแข่งขัน แบ่งแยก การติดต่อสื่อสารโดยผสานการใช้เทคโนโลยีมากกว่าการเรียนรู้จากบุคคล มีผลให้ระบบความสัมพันธ์ระดับต่าง ๆ ถูกลดทอนแยกส่วนไปสู่ระดับปัจเจก กระบวนการเรียนรู้ของบุคคลเป็นไปเพียงเพื่อเป็น"ผู้บริโภคและผู้ผลิตตามที่รัฐและธุรกิจต้องการ กินอยู่ตามแรงกระตุ้นของการโฆษณา ขาดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิตตนเองและชุมชน-สังคมส่วนรวม สังคมยุคพัฒนาจึงดำเนินมาโดยมีสมาชิกเป็นปัจเจกบุคคลที่เห็นแก่ตัวมากขึ้น เนื่องจากการศึกษา การทำงาน การดำรงชีวิตต้องแข่งขันมาก ยิ่งระบบการศึกษามุ่งการสร้างผลลัพธ์แบบสำเร็จรูป ความรู้เชิงปรนัย เทคนิค กระบวนการเรียนรู้ของสังคมยุคทันสมัยก็ยิ่งทำให้บุคคลขาดความคิดสร้างสรรค์ ขาดความใฝ่รู้ในเรื่องอื่น ๆ นอกตัว และแก้ไขปัญหาไม่เป็น จึงไม่สนใจการเมืองการปกครอง ฯลฯ ขาดจิตสำนึกส่วนรวมหรือจิตสำนึกสาธารณะ ให้ความสนใจแต่ความต้องการของตนเองเป็นสำคัญ ขาดความใส่ใจต่อปัญหานิเวศ ปัญหาสังคมอื่น ๆ เพราะคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง

กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวก็ได้รับการสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการพัฒนายุคทันสมัยได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรม คือความเจริญก้าวหน้าเติบโตของวัตถุ ซึ่งสามารถเห็นได้โดยง่าย ไม่ว่าความเจริญเติบโตของเมือง ชีวิตที่สะดวกสบายและ "ทันสมัย" ของคนเมืองและชนบท ในการอุปโภคบริโภค รูปแบบแปลกใหม่ของการค้าการบริการ ความบันเทิงอย่างใหม่ ฯลฯ ล้วนเป็นที่พึงพอใจของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะของคนชั้นกลางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการพัฒนาแบบใหม่โดยผ่านระบบการศึกษาและการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมบริการ แม้ในชนบทเอง การเกิดทางหลวงที่นำมาซึ่งความสะดวกสบายในการคมนาคมขนส่ง ระบบการชลประทาน เขื่อน การรักษาโรคแผนใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง การมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสบายในชีวิต เช่น ไฟฟ้า รถยนต์ ฯลฯ ผลการพัฒนาทางวัตถุอย่างรวดเร็วดังกล่าวได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนมีความเชื่อว่า การพัฒนาสังคมด้วยความรู้สมัยใหม่ การเข้าสู่โลกาภิวัตน์ จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งและความสุขให้แก่ชีวิตและสังคม ตามการโฆษณาของรัฐทั้งในอดีตและปัจจุบัน

การศึกษาในระบบยังถูกครอบงำด้วยการศึกษาแบบพาณิชย์ ที่มุ่งผลกำไร และตลาดที่สนับสนุนลัทธิปัจเจกนิยม (Individualism) ยิ่งทำให้เนื้อหา แหล่งเรียนรู้ของสังคมส่วนใหญ่อยู่ในกระแสเดียวกัน คือมุ่งผลิตซ้ำกระบวนการเรียนรู้เพื่อขยายวัฒนธรรมบริโภคนิยม อันเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ เนื่องจากกระตุ้นปัจเจกบุคคลให้แข่งขันแก่งแย่งกันแสวงหาความสุขทางวัตถุ และบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้ขีดจำกัดตามกำลังเงินและ ความพอใจของตนเป็นสำคัญ ก่อให้เกิดช่องว่างของคนมีและคนจนที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ที่สำคัญที่สุดคือ ส่งผลให้ระบบคิด-วิธีคิดแบบปัจเจกนิยมเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันก็ทำลายจริยธรรม จิตสำนึกทางสังคมหรือการคิดและทำเพื่อส่วนรวมให้อ่อนแอลงไปด้วย (อรศรี  งามวิทยาพงศ์, 2549: 47-84)

 

สรุป

การสหกรณ์ เป็นแนวคิดสำคัญหนึ่งในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศ โดยสหกรณ์เป็นรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้คนที่มารวมตัวกันเป็นองค์กรธุรกิจ ผู้คนในสังคมที่มารวมตัวกันเป็นสหกรณ์นั้นเป็นผู้ที่มีปัญหาและมีความต้องการเหมือนกัน คล้ายกัน มีความเชื่อร่วมกันเกี่ยวกับการพึ่งพาช่วยเหลือตนเองและระหว่างกัน มุ่งใช้การสหกรณ์ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจในสังคม ให้ความสำคัญของพลังการรวมคนมากกว่าพลังการรวมเงินหรือทรัพย์สิน เน้นการดำเนินธุรกิจระหว่างกันเองของสมาชิก กำไรส่วนเกินที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจใช้แบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมตามสัดส่วนที่สมาชิกแต่ละคนดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาสังคมให้แก่สมาชิก และสังคมภายนอก

 

ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ มีแนวทางชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการสะสมกำไรส่วนเกินที่มาจากการสร้างกำไรจากการลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะด้านแรงงาน ด้านการแย่งชิงเอาทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นปัจจัยการผลิตให้ได้มากที่สุด ตลอดจนด้านการขายสินค้าและบริการให้ได้มากที่สุด ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์มุ่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นอกจากสหกรณ์มุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการสะสมกำไรส่วนเกินดังกล่าวแล้ว ยังหนุนเสริมความเท่าเทียม ความเป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจ โดยไม่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกในด้านความสัมพันธ์ทางการผลิต กล่าวคือปัจจัยการผลิตทั้งหมด เช่น เครื่องจักร ป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ฯลฯ ของบรรดาสมาชิก ยังคงเป็นกรรมสิทธิของสมาชิก ขณะเดียวกันปัจจัยการผลิตทั้งหมด เช่น เครื่องจักร ป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ของสหกรณ์ก็นับว่าเป็นของสมาชิก โดยสมาชิกทั้งหมดร่วมกันเป็นเจ้าของ สมาชิกทั้งหมดมีอำนาจในการบริหารจัดการบรรดาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ตลอดจนบริหารกำไรส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานและดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ซึ่งแตกต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ชัดเจน

 

แนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์และปรัชญาการศึกษา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้นักพัฒนาสหกรณ์ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องงานพัฒนาสหกรณ์อย่างลุ่มลึกชัดแจ้งขึ้น โดยแนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์จะช่วยให้นักพัฒนาสหกรณ์มีความเข้าใจในปรากฎการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาสหกรณ์ ทั้งที่มาของปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การออกแบบการพัฒนาสหกรณ์ และการรักษาคุ้มครองระบบสหกรณ์ให้มีความมั่นคงก้าวหน้าสืบไป ส่วนปรัชญาการศึกษาจะช่วยให้นักพัฒนาสหกรณ์ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษากับงานพัฒนาสหกรณ์ มีความรู้ความเข้าใจปรัชญาการศึกษาที่อยู่เบื้องหลังวิธีการให้การศึกษาแต่ละรูปแบบ เนื่องจากการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับงานพัฒนาสหกรณ์ เนื่องจากแนวคิดสหกรณ์ไม่ใช่ลัทธิความเชื่อที่ใช้กำหนดระบบความคิดความเชื่อของผู้คน แต่การสหกรณ์เป็นทฤษฎีที่พิสูจน์ได้ ด้วยการดำเนินการตามหลักการสหกรณ์ ที่เรียกว่าวิธีการสหกรณ์ และสิ่งที่พิสูจน์ทฤษฎีสหกรณ์ก็คือ การบรรลุเป้าหมายของอุดมการณ์สหกรณ์ที่ว่า “การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม”

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...