วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

การศึกษาตามอัธยาศัยในบริบทสังคมไทย

 

ในสังคมมนุษย์ยุคบุพกาลมนุษย์ซึ่งวิวัฒนาการมาจากมนุษย์วานรดำรงชีวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาธรรมชาติ ต่อมามนุษย์เหล่านั้นเรียนรู้ที่จะเอาชนะธรรมชาติ เช่น รู้จักวิธีการจุดไฟ การเปลี่ยนจากการล่าสัตว์ มาเป็นการเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้เป็นอาหาร การรู้จักทำการเพาะปลูกแทนการหาของป่า การสร้างที่อยู่อาศัยแทนการอาศัยอยู่ตามถ้ำ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชนเล็กๆ เพื่อช่วยเหลือกัน จากสังคมบุพกาลวิวัฒนาการมาเป็นสังคมยุคทาส สังคมศักดินา และสังคมทุนนิยมในยุคปัจจุบัน (บุญศักดิ์ แสงระวี, 2548) การเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดจนมีวิวัฒนาการมาจนถึงสังคมมนุษย์ในปัจจุบันนี้นับได้ว่าเป็นการศึกษาเพื่อชีวิตอย่างแท้จริง กระทั่งต่อมาการศึกษาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจ ผู้รู้คือผู้มีอำนาจ ผู้รู้มากกว่าย่อมมีอำนาจมากกว่า เช่น ในสมัยกำเนิดศาสนาคริสต์ (พ.ศ.543-576) ผู้ที่ไม่รู้หลักศาสนาจนทำผิดหลักคริสต์ศาสนาจะต้องโทษรุนแรงสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต (ยุพาวดี วงศ์เพ็ญ, 2549: 111) ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เกิดภัยคุกคามอันเนื่องมาจากการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตก เกิดผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา การที่ประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกมีอำนาจเหนือประเทศอื่นๆทั่วโลกก็เพราะการศึกษาที่พัฒนาด้านอาวุธที่ทันสมัยกว่า ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน

แต่เดิมสังคมไทยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมแบบชุมชนบุพกาล (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2545: 16) มีการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษาของไทยสมัยนั้นตอบสนองต่อการดำรงชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง ตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัยจนถึงสมัยรัตโกสินทร์ตอนต้น การศึกษาของคนไทยยังคงอาศัย บ้าน วัด วัง เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นการศึกษาที่ไม่มีแบบแผนตายตัว (Informal Education) (ยุพาวดี วงศ์เพ็ญ, 2549: 280) จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งประเทศไทยได้รับภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมดังที่กล่าวมา ผู้นำของไทยในสมัยนั้นจึงใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนของประเทศเพื่อให้รอดพ้นจากภัยดังกล่าว ซึ่งนับเป็นยุคที่การศึกษาของไทยเปลี่ยนแปลงจากการศึกษาที่ไม่มีแบบแผน ไปสู่รูปแบบการศึกษาที่มีแบบแผนตามอย่างตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากระบบความคิด ประเพณี วัฒนธรรมของสังคมไทยในยุคนั้นเป็นอย่างมาก และสังคมไทยในยุคต่อมาก็ได้ยึดแนวทางการศึกษาสมัยดังกล่าวพัฒนาระบบการศึกษาไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาการศึกษาแบบไม่มีแบบแผนถูกลดบทบาท และไม่ให้ความสำคัญ จนในที่สุดก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาครั้งสำคัญในสังคมไทย โดยมีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปี พ.ศ.2542 ขึ้นมา เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มีข้อความที่กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาและอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม[1] ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการศึกษาของไทยมีผลต่อการพัฒนาประเทศ คน และ ชุมชนโดยสังเขปดังนี้

ผลกระทบต่อคน ด้านบวก การศึกษาทำให้คนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้รับการศึกษา (ในทางกฎหมาย) ทำให้ทุกคนได้รับการพัฒนา อย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้คนมีศักยภาพสามารถประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ เกิดวิทยาการและอาชีพใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง และการศึกษาทำให้คนได้มีโอกาสเลื่อนฐานะทางสังคม ขณะที่ด้านลบ การศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาในระบบสามารถรับคนเข้าไปสู่ระบบการศึกษาได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถตอบสนองผู้คนได้ทั้งหมด ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ที่ได้รับการศึกษากับผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษา (การศึกษาในระบบและนอกระบบ) ทำให้เกิดวาทกรรม ผู้มีการศึกษา และผู้ไร้การศึกษาซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้คนในสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านอื่นๆตามมา

ผลกระทบต่อชุมชนและสังคม ด้านบวก การศึกษามีการจัดรูปแบบองค์กรที่รับผิดชอบอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาวิทยาการด้านการศึกษา มีกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิต ชุมชนมีส่วนร่วมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต มีการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยี วัฒนธรรมการเรียนรู้ นอกจากมีการสร้างความรู้ความเข้าใจแล้ว ส่วนด้านลบพบว่า จากการที่นโยบายด้านการศึกษามุ่งเน้นเพื่อสนองตอบภาคเศรษฐกิจ ความรู้เป็นการหยิบยืมมาจากต่างประเทศ ทำให้ชุมชนมีความอ่อนแอ เนื่องจากไม่ได้พัฒนาความรู้ที่เหมาะสมกับชุมชน เป็นความรู้ที่ต้อง พึ่งพิง จากภายนอกชุมชน ประกอบกับเมื่อคนในชุมชนจบจากการศึกษาในระบบก็จะเข้าทำงานในสถานประกอบการไม่ได้นำความรู้กลับมาพัฒนาชุมชนของตน เพราะชุมชนไม่มีงานที่ตรงกับการศึกษาของตน

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จึงถูกปรับปรุงให้การศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กลับมาให้ความสำคัญกับการศึกษาที่ไม่มีแบบแผนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ถูกละเลยมานานหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ให้ความหมายของการการศึกษาไว้ว่า  การศึกษาคือกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยในพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดรูปแบบการศึกษาของไทยไว้ 3 รูปแบบได้แก่ การศึกษาในระบบ (Formal Education) การศึกษานอกระบบ (Non-Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยรูปแบบการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบเป็นองค์ประกอบของการศึกษาตลอดชีวิต[2]เพื่อตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลตามความสามารถในการเรียนรู้ ตามเงื่อนไข ปัจจัยต่างๆที่ทั้งเอื้ออำนวยและจำกัด

           

สาเหตุที่ต้องมีการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย

 

กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน กรมการศึกษานอกโรงเรียน (2542) กล่าวว่า ที่มาของแนวความคิดเกี่ยวกับการศึกษาตามอัธยาศัยของไทย เกิดจากวิกฤตของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าทางระบบสารสนเทศ ส่งผลกระทบให้มีการปรับแนวทางการจัดการศึกษาที่ต้องการให้การศึกษากับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อให้บุคคลสามารถศึกษาจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ทั้งจากคน บ้าน สถานที่ทำงาน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสื่อประเภทต่างๆ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ชุมชน และสังคมโดยรวมอย่างเหมาะสม

การศึกษาตามอัธยาศัยในแนวคิดดังกล่าวต้องมีการบริหารจัดการอย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย เนื่องจากในความเป็นจริงมีปัจจัยต่างๆ มากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองของบุคคล ดังนี้

1) ความไม่เท่าเทียมกันทางด้านเศรษฐกิจ ผู้มีฐานะดีกว่าจะมีโอกาสในการแสวงหาความรู้และประสบการณ์ให้กับตนเองได้มากกว่าคนยากจน ทำให้บุคคลมีอำนาจในการบริโภคความรู้ต่างกัน การลงทุนเพื่อการศึกษา การแสวงหาความรู้ด้วยตนเองแตกต่างกัน

2) ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ชุมชนเมืองมีระบบการบริการ มีแหล่งความรู้ มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ และมีเทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนรู้มากกว่าสังคมในชนบทโดยสิ้นเชิง ทำให้สังคมเมืองมีโอกาสทางการศึกษาดีกว่าสังคมชนบท

3) ความแตกต่างกันในด้านทักษะความสามารถของบุคคล ประชาชนจำนวนมากยังมีระดับการศึกษาต่ำ ขาดทักษะการแสวงหาความรู้ และการเรียนรู้ด้วยตนเอง อยู่ในครอบครัวหรือชุมชนที่ด้อยการศึกษา ไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้ตามรูปแบบของการศึกษาตามอัธยาศัยที่เหมาะสม

 

ขณะที่รายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2547ในเป้าหมายที่ 3 ที่ระบุว่าให้เด็กทุกคนทั้งหญิงและชายสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาภายในปี 2558 นั้นพบว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน (พ.ศ.2547) ประเทศไทยใกล้จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในไม่ช้านี้ แต่รายงานดังกล่าวระบุว่าความท้าทายที่แท้จริงของระบบการศึกษาไทย คือ เด็กไทยมีจุดอ่อนทางวิชาการ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ รวมทั้งขาดการฝึกฝนให้คิดเชิงสร้างสรรค์และคิดในเชิงวิพากษ์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ทุกเพศ ทุกวัย ดังนั้นประเทศไทยควรปฏิรูปการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาครู โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการขยายโอกาสการเรียนรู้นอกชั้นเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างทักษะชีวิต (Office of the National Economic and Social Development Board and United Nations Country Team in Thailand, 2004: 3)

 

การศึกษาตามอัธยาศัย

 

การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) เป็นวาทกรรมใหม่ของการศึกษาเรียนรู้ในสังคมไทยที่เพิ่งจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อไม่นานมานี้ โดยปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งได้กำหนดรูปแบบการศึกษาของไทยไว้ 3 แบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ (Formal Education) การศึกษานอกระบบ (Non-Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) ต่อมาในปี พ.ศ.2551 ได้มีการออกกฎหมายที่มีชื่อว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการศึกษาตามอัธยาศัยโดยสังเขปดังนี้

มาตรา 6 การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้ยึดหลัก () การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและวิถีชีวิตของผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย () การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายทั้งส่วนที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่วนที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษาและ () การจัดกรอบหรือแนวทางการเรียนรู้ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อผู้เรียน

มาตรา 11 เพื่อประโยชน์ในการจัดและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้ 1) จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ เช่น แหล่งการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนชุมชนสื่อและเทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ 3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีเครือข่าย ได้รับโอกาสในการจัดสรรทรัพยากรและเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการดำเนินงาน

 

แนวคิด ที่มา ปรัชญาการศึกษา และความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัย

 

แนวคิดและที่มาของการศึกษาตามอัธยาศัย

การศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้จากการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เป็นการเรียนรู้ตามความสนใจของมนุษย์โดยแท้จริงไม่มีระบบหรือระเบียบตายตัว แต่ปรับเปลี่ยนไปตามความสนใจของแต่ละบุคล เพื่อการดำรงชีวิตของแต่ละบุคคล แต่เมื่อมนุษย์ได้พยายามจัดการศึกษาโดยแยกเอากระบวนการศึกษาออกจากวิถีชีวิตของมนุษย์ กลายเป็นกระบวนการเพื่อเตรียมมนุษย์ให้มีศักยภาพเพื่อตอบสนองการผลิตในสาขาต่างๆ ผ่านระบบการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ ผลของการจัดการศึกษาดังกล่าวทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้มีโอกาสทางการศึกษากับผู้ที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา จึงมีการเรียกร้องให้มีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์อีกครั้ง โดยหันมาฟื้นฟูและพัฒนาการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมให้มนุษย์สามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความเหมาะ ความต้องการของตนเอง (อุดม เชยกีวงศ์, 2551: 74)

สำหรับประเทศไทยการเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยได้ถูกผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยปรากฏใน บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ ปีพ.ศ.2550 ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

มาตรา 303 ในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

(2) กฎหมายเพื่อการพัฒนาการศึกษาของชาติตามมาตรา 80 โดยส่งเสริมการศึกษาในระบบการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ตลอดชีวิต วิทยาลัยชุมชนหรือรูปแบบอื่น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับระบบการศึกษาทุกระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 176

 

            ปรัชญาการศึกษาที่อยู่เบื้องหลังของการศึกษาตามอัธยาศัย

ปรัชญาการศึกษาคือ แนวความคิด หลักการ และกฎเกณฑ์ ในการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษา ซึ่งนักการศึกษาได้ยึดเป็นหลักในการดำเนินการทางการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ปรัชญาการศึกษายังพยายามทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาของการศึกษาได้อย่างชัดเจน ปรัชญาการศึกษาจึงเปรียบเหมือนเข็มทิศนำทางให้นักการศึกษาดำเนินการทางศึกษาอย่างเป็นระบบ ชัดเจน และสมเหตุสมผล (นิรนาม, 2551: 8) ปรัชญาการศึกษาตะวันตกที่สำคัญได้แก่ ลัทธิจิตนิยม นิรันตรนิยม (Perennialism) สารัตถนิยม (Essentialism) พิพัฒนาการนิยม (Progressivism) บูรณาการนิยมหรือปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) และอัตภาวะนิยม (Existentialism) ซึ่งปรัชญาที่น่าจะอยู่เบื้องหลังของการศึกษาตามอัธยาศัยคือ ปรัชญาอัตภาวะนิยม ซึ่งมีแนวคิดของปรัชญาโดยสังเขปดังนี้

 

อัตภาวะนิยม (Existentialism) เป็นปรัชญาการศึกษาที่เน้นให้ความเป็นตัวของตัวเองของผู้เรียนรู้จักเลือกและรับผิดชอบทางเลือกตัวเอง (responsible for his own fate) ผู้มีอิทธิพลในปรัชญาการศึกษานี้คือ เอ เอส นีล (A.S. Neil) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.. 1883 – .. 1973 นักปรัชญาที่บุกเบิกมีความสำคัญต่อปรัชญาการศึกษานี้คือ นีล 

 

หลักการสำคัญของอัตภาวะนิยม

1) การศึกษาจะต้องมุ่งให้เด็กมีวินัยในตนเอง (Self discipline)

2) ปรัชญาการศึกษานี้เน้นให้แต่ละคนพัฒนาศักยภาพของตน เพื่อความสำเร็จ (to develop is fullest potential for self fulfillment)

3) ครูของปรัชญาการศึกษานี้ ไม่เพียงแต่จะต้องเป็นผู้มีความสำเร็จเท่านั้น แต่จะ ต้องมีความซื่อสัตย์ด้วย Existentialism insists not that the teacher be “successful” but that the teacher be honest) เพราะถ้าครูมีความซื่อสัตย์ ความเชื่อและไว้วางใจจะเกิดขึ้น

4) โรงเรียนต้องสนับสนุนให้นักเรียนมีความเป็นตัวของตัวเอง มีโอกาสและรู้จัก เลือกโดยอิสระ (พรรณอร อุชุภาพ, 2546: 8-15)

 

ความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัย

การศึกษาตามอัธยาศัยหมายความว่า กิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิตประจำวันของบุคคลซึ่งบุคคลสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาสความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล[3]

 

การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) คือ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันโดยปราศจากการกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้ที่ชัดเจน การศึกษาตามอัธยาศัยเป็นกระบวนการหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยวิธีการส่วนบุคคล ทั้งทางด้านทัศนคติ ความเชื่อ ทักษะ และความรู้ จากประสบการณ์ที่ได้รับจากการดำรงชีวิตประจำวัน และจากอิทธิพลของสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัว (UNESCO, 2008: 410)

 

การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นขณะที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาตามความต้องการของผู้เรียน (Independent and not-for-profit site created by a small group of educators, Online, 2008)

 

การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) หมายถึง การศึกษาที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการทำงาน บุคคล ครอบครัว สื่อ ชุมชน แหล่งความรู้ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความบันเทิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน และไม่มีการสอบ ไม่มีการรับประกาศนียบัตร มีหรือไม่มีสถานที่แน่นอนเรียนที่ไหนก็ได้ ลักษณะการเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อความรู้และนันทนาการ อีกทั้งไม่จำกัดเวลาเรียน สามารถเรียนได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นในทุกช่วงวัยตลอดชีวิต (สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2551: 108)

 

การศึกษาตามอัธยาศัยเป็นกระบวนการส่งเสริม ให้คนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อ พัฒนาความรู้ความคิดของตนได้อย่างกว้างขวาง และช่วยส่งเสริมการ เรียนรู้ของประชาชนให้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตัวอย่างแหล่งที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ประเพณีประจำท้องถิ่น ประจำชาติ ครอบครัว ศูนย์บริการการศึกษา (เช่น ห้องสมุด ศูนย์การเรียน สถานศึกษา) สถานที่สาธารณะ (เช่น หอศิลป พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สวน สาธารณะ ศูนย์การค้า) ซึ่งล้วนเป็นแหล่งกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วย ตนเอง (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2551)

 

การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การศึกษาที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการทำงาน จากบุคคล จากครอบครัว จากชุมชน จากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความบันเทิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน และไม่มีการสอน ไม่มีการรับประกาศนียบัตร มีหรือไม่มีสถานที่แน่นอน เรียนที่ไหนก็ได้ ลักษณะการเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อความรู้และนันทนาการ อีกทั้งยังไม่จำกัดเวลาเรียน สามารถเรียนได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นในทุกช่วงวัยตลอดชีวิต (กรมการศึกษานอกโรงเรียน, 2538: 83)

 

จากความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัยที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่า การศึกษาตามอัธยาศัยคือ การศึกษาที่เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะเรียนรู้ของมนุษย์แต่ละคนเพื่อตอบสนองการดำรงชีวิตของตนเองให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางสังคม และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยเป็นการศึกษาที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบของกฎระเบียบต่างๆ ไม่มีตัวชี้วัดจากผู้อื่นว่าการศึกษานั้นมีคุณค่าแค่ไหน อย่างไร เพราะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นจากความสนใจของแต่ละคน แต่การศึกษาเรียนรู้ดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับระบบคุณธรรม จริยธรรม ความเชื่อ ของสังคม ไม่สร้างความเดือนร้อนให้กับสังคม

 

ความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย

          การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียนที่ต้องการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว เป็นการเรียนรู้จากบุคคล จากแหล่งเรียนรู้ ในเวลา และโอกาสต่าง ๆ ดังนั้น ในกระบวนการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยจึงมีบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยแต่ละส่วนจะมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน ดังนี้

1) ผู้เรียน  เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ และสามารถเลือกรับ

บริการได้หลากหลายตามความต้องการของตน เมื่อพิจารณาในด้านผู้เรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ( 2549: 27) ได้จำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

ลักษณะแรก เป็นการพิจารณาในเชิงจิตวิทยาพัฒนาการ ซึ่งแบ่งกลุ่มคนออกเป็นช่วงวัยและภารกิจ คือ วัยเด็กแรกเกิด วัยเด็กเริ่มต้น วันเด็กตอนปลาย วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ตอนต้น วัยผู้ใหญ่ตอนปลาย และวัยผู้สูงอายุ

ลักษณะที่สอง เป็นการพิจารณาในเชิงของบทบาทและสถานภาพ เช่น กลุ่มเด็ก สตรี ผู้นำท้องถิ่น พระภิกษุ ผู้ดำเนินงานระดับอาชีพ (อาทิ หมอ วิศวกร ครู ฯลฯ)  ชนกลุ่มน้อย เป็นต้น

ดังนั้นในการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น การสร้างและปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้ ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเยาว์ และปลูกฝังเริ่มจากที่บ้าน และโรงเรียน รวมทั้งที่ทำงานในกรณีของผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน เป็นต้น

2) ผู้จัดแหล่งการเรียนรู้  ต้องมีการดำเนินการที่หลากลายตามศักยภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน โดยมีการบูรณาการความรู้ ปลูกฝังคุณธรรม และค่านิยมที่ดีงาม กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ประสานงานและส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย ควรมีบทบาทและหน้าที่ต่อผู้จัดการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนี้

2.1) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสร้างกรอบความคิดเกี่ยวกับการศึกษาตามอัธยาศัยกับกลุ่มเจ้าของเรื่องหรือเจ้าของเนื้อหาและเจ้าของสถานที่ โดยการสร้างกรอบความคิดของการศึกษาตามอัธยาศัยให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของบุคคลและองค์กรที่เป็นเจ้าของเรื่องหรือเจ้าของเนื้อหาหรือเจ้าของสถานที่หรือเจ้าของบริบทพื้นฐานของความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะทางที่จะจัดการศึกษาตามอัธยาศัยในเรื่องใด

2.2) กระตุ้นและสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มเจ้าของเรื่อง หรือเจ้าของเนื้อหาและเจ้าของสถานที่ ให้เห็นความสำคัญของตนเอง/หรือองค์กรที่มีต่อการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยในเนื้อหาสาระที่เป็นบทบาทและภารกิจหรือมีความเชี่ยวชาญชำนาญการเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน

2.3) ร่วมพัฒนาแนวทางและวิธีการเพื่อการถ่ายทอด หรือจัดการศึกษาตามอัธยาศัยสู่กลุ่มเป้าหมายผู้เรียน (รู้) ตามอัธยาศัย

2.4) จัดให้มีระบบ และมาตรฐานเพื่อการประเมินการยอมรับประสบการณ์และการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับผู้เรียน

3) ผู้ส่งเสริมและผู้สนับสนุน  ซึ่งเป็นผู้เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เรียนและผู้จัดการเรียนรู้ มีการดำเนินการที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศนั้น หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งคงไม่สามารถดำเนินการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยได้เพียงลำพัง ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายเพื่อการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการระดมทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งในระดับชุมชน และระดับประเทศ เพื่อบูรณาการทรัพยากรขององค์การเพื่อการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถจำแนกเครือข่ายการศึกษาตามอัธยาศัยออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

ลักษณะแรก เป็นเครือข่ายบุคคล ได้แก่ กลุ่มผู้รู้ในชุมชนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งบุคคลที่ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชุมชน เป็นต้น

ลักษณะที่สอง เป็นเครือข่ายที่เป็นองค์กร หรือเป็นสถาบัน ได้แก่ สถาบันขนาดเล็กที่สุกในชุมชนคือสถาบันครอบครัว สถาบันทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ฯ สถาบันการปกครอง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล ฯ มูลนิธิ  ชมรม สมาคม องค์กรเอกชนต่าง ๆ เป็นต้น

            สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ( 2549: 27) ได้กำหนดแนวทางในการแสวงหา พัฒนาและส่งเสริมเครือข่ายให้สามารถจัดและให้บริการการศึกษาตามอัธยาศัยให้สอดคล้องกับบทบาทภารกิจ ประสบการณ์และความชำนาญสามารถดำเนินการได้ ดังนี้

1) แสวงหาเครือข่าย โดยการสำรวจและศึกษากิจกรรมที่เครือข่ายต่าง ๆ ดำเนินการและ

จัดระบบข้อมูลเครือข่ายเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายอย่างเป็นระบบ

2) ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่าย โดยการวิเคราะห์บทบาทและภารกิจของเครือข่ายแต่ละ

เครือข่าย รวมทั้งความพร้อม และศักยภาพที่จะจัดและให้บริการการศึกษาตามอัธยาศัยทั้งในแง่เนื้อหา และองค์ความรู้ที่มีเทคนิคและกระบวนการถ่ายทอด ตลอดจนความพร้อมอื่น ๆ เพื่อดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพแต่ละเครือข่าย โดย

2.1) การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ทั้งในแง่ของการพัฒนาองค์ความรู้หรือเทคนิคการถ่ายทอดและกิจกรรม รวมทั้งการบริหารและจัดการ

2.2) การสนับสนุนงบประมาณ โดยตั้งงบประมาณเพื่ออุดหนุนแก่เครือข่าย หรือเป็นการระดมทุนและการบริจาคทรัพย์เพื่อสนับสนุนแก่เครือข่าย

2.3) การสร้างขวัญและกำลังใจ โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการให้รางวัลหรือประกาศเกียรติคุณแก่เครือข่าย

 

ประเภทของการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย

 

          จากคำนิยามของการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีหลักการสำคัญที่เป็นการเรียนรู้ด้วยผู้เรียนเองเป็นหลักในการกำหนดวิธีเรียน รวมทั้งเนื้อหาที่ต้องการเรียน  ดังนั้น การศึกษาตามอัธยาศัยจึงเป็นการเรียนที่มีการสอดแทรกในวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน ถึงแม้เป็นการเรียนที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าการศึกษาในระบบ หรือการศึกษานอกระบบ แต่การศึกษาตามอัธยาศัยก็ยังมีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้เรียน ผู้จัดแหล่งการเรียนรู้ รวมทั้งเครือข่ายผู้ส่งเสริมและสนับสนุน และเมื่อพิจารณาร่วมกับความหมายหลักของคำว่า การศึกษา ซึ่งครอบคลุมการจัดและส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เกิดความรู้ ทั้ง ทองปลิว  ชมชื่น (2546) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ( 2549) มีความเห็นสอดคล้องกันในการศึกษาตามอัธยาศัยสามารถจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ดังนี้

1) การศึกษาตามอัธยาศัยในวิถีชีวิต มีลักษณะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แม้มีการจัดกระทำก็มิใช่เพื่อการศึกษาโดยตรง ได้แก่ ครอบครัว สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ฯลฯ

2) การศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยโดยองค์กร สถาบัน เพื่อจุดประสงค์ของการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม  ได้แก่ งานและโปรแกรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา แหล่งความรู้ในชุมชน เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสนสถานและแหล่งศิลปวัฒนธรรม เช่น วัด โบสถ์ สุเหร่า หอศิลปะ อุทยานประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ศูนย์วิทยาศาสตร์ อุทยานการศึกษา พิพิธภัณฑ์เด็ก ศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ สื่อมวลชน สื่อสารสนเทศ แหล่งนันทนาการ สนามเด็กเล่น ศูนย์กีฬา สวนสาธารณ แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ หน่วยงานบริการองรัฐ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ตั้งอยู่ในชุมชน ศูนย์การแพทย์และการสาธารณสุข องค์กรเอกชน ซึ่งได้จัดส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ

3) การศึกษาตามอัธยาศัยตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกิจกรรมการเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในรูปแบบของเวทีชาวบ้าน การส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง และกิจกรรมการสำรวจชุมชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น กิจกรรมประเภทใช้สภาพแวดล้อมเป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น โครงการรักษ์แม่น้ำคูคลอง

4) การศึกษาตามอัธยาศัยโดยอาศัยงานวัฒนธรรม เกิดจากการผสมผสานการละเล่น การแสดงออก การเลียนแบบท่าทาง ซึ่งสามารถถ่ายทอดผ่านงานศิลปะการแสดงได้ตามแนวคิดเรื่องการเรียนเล่น (Play + Learn = PLEARN) ของ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวาณิช และการศึกษาปนความบันเทิง (Edutainment) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น สื่อพื้นบ้าน สื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการแสดงแบบจำลอง(Animation) กิจกรรมการแสดงละครใบ้ กราฟิก การ์ตูน เป็นต้น

            ในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น มีแนวคิดที่สำคัญประการหนึ่งคือ การที่ต้องการให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนตามอัธยาศัยด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้จัดกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัยต้องมีความเข้าใจหลักการของการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นอย่างดี รวมทั้งต้องมีการฝึกผู้ดำเนินการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการเฉพาะ และต้องมีการออกแบบวิธีการ รูปแบบการเรียนรู้ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของผู้เรียนด้วย

 

กิจกรรมการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย

          ในสภาพปัจจุบัน การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของประเทศไทยได้ดำเนินการในหลายรูปแบบ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ(2541: 196-198) ได้รวบรวมกิจกรรมการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยจำแนกออกเป็น

1) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของห้องสมุดต่าง ๆ ห้องสมุดเป็นแหล่งบริการความรู้ ข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ให้กับประชาชนที่สนใจและใฝ่แสวงหาความรู้ ห้องสมุดได้ทำหน้าที่ในการให้บริหารด้านการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกเพศทุกวัน ห้องสมุดในปัจจุบันมีหลายประเภท เช่น ห้องสมุดในสถาบันการศึกษา ห้องสมุดของหน่วยงานเอกชน ซึ่งห้องสมุดเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเรียนการสอนของโรงเรียน ตลอดจนการเรียนรู้ด้วยตนเองของประชาชนในลักษณะการศึกษาตามอัธยาศัย

2) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน  เครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน หมายถึง  แหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน เป็นทั้งแหล่งความรู้ที่เกิดจากการจัดตั้งหรือการจัดการ มีการจัดระบบการให้บริการความรู้ที่มีคุณค่า เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน สถานีอนามัยตำบล ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรประจำตำบล ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน รวมทั้งแหล่งความรู้ในชุมชนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น วัด บ่อเลี้ยงปลา สวนสมุนไพร เป็นต้น

3) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยโดยสื่อสารมวลชน สื่อสารมวลชนปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เนื่องจากปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ประกอบกับข้อมูลข่าวสารมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ สังคม จึงทำให้สื่อสารมวลชนเพิ่มความสำคัญยิ่งขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปสื่อสารมวลชนมีหน้าที่ให้การศึกษาตามอัธยาศัย ให้ความรู้ต่างๆ ทั้งในด้าน การเมือง อาชีพ เศรษฐกิจ สุขภาพอนามัย วิทยาศาสตร์ และการบันเทิง เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการทำงาน จากประสบการณ์ จากการฟัง จากการอ่าน และการศึกษาค้นคว้า โยมีสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ที่สำคัญ คือ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น

4) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของชุมชน เป็นแหล่งวิทยาการที่มีคุณค่าต่อบุคคลและสังคมเป็นอย่างยิ่ง ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ประกอบด้วย ภูมิปัญญาของผู้รู้ทางวัฒนธรรม และองค์ความรู้ของชุมชน ซึ่งได้รับการสั่งสมและการถ่ายทอดสืบมา

5) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยจากสื่อพื้นบ้าน การเรียนรู้จากสื่อพื้นบ้านเป็นการเรียนรู้จากการแสดงหรือการละเล่นที่แฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมชาวบ้านที่ได้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อความบันเทิง ความสนุกสนานเพลิดเพลิน  ตลอดจนการจรรโลงไว้ซึ่งแบบแผนประเพณีของสังคมและชุมชน สื่อพื้นบ้านมีบทบาทหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ คติค่านิยม และคุณธรรมอันดีงามโดยผ่านการแสดงของตัวละครต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมการแสดง ตัวอย่างสื่อพื้นบ้าน เช่น ลิเก หมอลำ ลำตัด เพลงลูกทุ่ง เป็นต้น

 

เป้าหมายของการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย

          การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น มีเป้าหมายที่สำคัญใน  2 ประการ คือ

1) ผู้เรียนได้รับความรู้และทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต กล่าวคือ แม้หลักการสำคัญของการศึกษาตามอัธยาศัย จะเป็นการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ เป็นการเรียนโดยไม่ได้กำหนดสถานที่ ไม่ได้กำหนดรูปแบบ  ไม่มีการระบุขั้นตอนการศึกษาไว้อย่างชัดเจน เป็นการเรียนที่ขึ้นอยู่กับผู้เรียนเป็นหลัก ทำให้การเรียนเป็นไปด้วยความสมัครใจ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพของการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น  หรือมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปได้ และในการประเมินและวัดผลการเรียนนอกจากสามารถวัดได้จากการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์แล้ว  ในหลักการผู้เรียนสามารถนำความรู้ในลักษณะผลการเรียนมาทำการเทียบโอนความรู้กับการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบได้อีกด้วย

2) ผู้เรียนได้เรียนรู้สาระที่สอดคล้องกับความสนใจและความจำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การศึกษาตามอัธยาศัย การเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนในภาคปฏิบัติในเรื่องที่ผู้เรียนมีความสนใจ เช่น ชาวนา มีความสนใจเทคนิควิธีการเพิ่มผลผลิตข้าว อาจเข้ามาศึกษาวิธีการเพิ่มผลผลิตข้าวจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชน หรือจากการพูดคุยกับเพื่อนชาวนาด้วยกัน และนำไปทดลองปฏิบัติ  ดังนั้น ผลการเรียนผู้เรียนสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองได้ทันที และมีความกลมกลืนกับวิถีชีวิตของตน จึงถือได้ว่าเป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพ

 

องค์กรที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย

          เนื่องจากการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้นองค์กรที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัยจึงมีความหลากหลายตามความต้องการของผู้เรียนรู้ โดยองค์กรที่สำคัญได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันสื่อมวลชน แหล่งนันทนาการ แหล่งชุมชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานให้บริการต่างๆของรัฐ สถานที่ทำงาน แหล่งภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงองค์กรเอกชนต่างๆ เป็นต้น (อุดม เชยกีวงศ์, 2551: 67-71)

 

เปรียบเทียบการศึกษาตามอัธยาศัยกับการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ

 

          แนวคิดการปฏิรูปการศึกษาของไทยได้ถูกตราเป็นกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี พ.ศ.2542 ซึ่งในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กล่าวถึงรูปแบบการจัดการศึกษาของไทยไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีความหมายโดยสังเขปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวดังนี้

          1) การศึกษาในระบบ หมายถึง เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน[4]

            2) การศึกษานอกระบบ หมายถึง หมายความว่า กิจกรรมการศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีรูปแบบ หลักสูตร วิธีการจัดและระยะเวลาเรียนหรือฝึกอบรมที่ยืดหยุ่นและหลากหลายตามสภาพความต้องการและศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายนั้นและมีวิธีการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานเพื่อรับคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเพื่อจัดระดับผลการเรียนรู้[5]

            3) การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง กิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิตประจำวันของบุคคลซึ่งบุคคลสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาส

ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล[6]

           

          จากความหมายโดยสังเขปดังกล่าวพบว่าการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบมีความเหมือนและต่างกันที่โครงสร้างของระบบการศึกษาของแต่ละรูปแบบ เช่น การการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบจำเป็นมีหลักสูตร มีการลงทะเบียนเรียน มีการสอบเพื่อประเมินและวัดผล ส่วนการศึกษาตามอัธยาศัยไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตรที่แน่นอนตายตัว และไม่จำเป็นต้องมีการสอบวัดผล เป็นต้น ดังข้อมูลเปรียบเทียบการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบในตารางที่ 1 และ 2

 

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย

 

การศึกษาในระบบ

การศึกษานอกระบบ

การศึกษาตามอัธยาศัย

มีหลักสูตร

มีหลักสูตร

ไม่มีหลักสูตร

มีเวลาเรียนที่แน่นอน

มีเวลาเรียนแน่นอน

ไม่จำกัดเวลาเรียน

จำกัดอายุ

ไม่จำกัดอายุ

ไม่จำกัดอายุ

มีการลงทะเบียน

มีการลงทะเบียน

ไม่มีการลงทะเบียน

มีการสอบ

มีการสอบหรือไม่มีการสอบก็ได้

ไม่มีการสอบ

มีประกาศนียบัตร

มีประกาศนียบัตร

ไม่มีประกาศนียบัตร

มีสถานที่เรียนแน่นอน

สถานที่เรียนไม่แน่นอน

สถานที่เรียนไม่แน่นอน

ที่มา: ปรับจาก อุดม เชยกีวงศ์ (2551)

 

 

 

 

 

 

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบการศึกษาในระบบโรงเรียนกับระบบการเรียนรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เป็นผลมาจากการศึกษาตามอัธยาศัย

 

 

ระบบโรงเรียน

ระบบการเรียนรู้

ภูมิปัญญาของชาวบ้าน

องค์กร

โรงเรียน/สถานศึกษา

องค์กรชุมชน ครอบครัว

กลุ่มเป้าหมาย

นักเรียน

คนในชุมชนทุกวัย

ผู้สอน

ครู

ปราชญ์ชาวบ้าน พระ วิทยากรท้องถิ่น ปู่ย่าตายาย

วิธีการจัดการเรียนการสอน

ในชั้นเรียน

ไม่มีชั้นเรียน

การสอน

เอาเนื้อหาวิชาในหลักสูตรเป็นตัวตั้ง

เอาปัญหาของชุมชนและปัญหาในชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้ง

การวัดผล

การสอบ

วัดผลด้วยตัวเองว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่

ระยะเวลา

มีระยะเวลาเรียนจบหลักสูตรที่แน่นอน

ไม่มีระยะเวลาที่แน่นอน การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

รูปแบบ

การศึกษาในระบบ

การศึกษาตามอัธยาศัย

การศึกษาหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ที่มา: สีลาภรณ์ นาครทรรพ (2538)

 ข้อเสนอแนะสำหรับกระบวนการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของประเทศไทย

 

1) พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ โดยการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบให้เกิดขึ้นในชุมชน และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ แหล่งที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ศาสนสถาน ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน สวนสาธารณะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น  สถานประกอบการ  ฯลฯ แหล่งการเรียนรู้ควรมีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในการให้การศึกษาและความรู้

2) ต้องคืนการจัดการศึกษาให้กับชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการจัดการศึกษาที่ผ่านมาคือ การที่ผู้จัดการศึกษาและผู้เรียนมีมุมมองที่แตกต่างกัน การให้ความสำคัญกับหน่วยงานผู้จัดมากทำให้เกิดนัยของการเป็นเจ้าของในการจัดการศึกษา ทำให้เกิดการครอบงำความคิด รวมทั้งเนื้อหาการเรียน การสอนไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ดังนั้น การคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้ชุมชน ทั้งการกำหนดกิจกรรมการศึกษา วิธีการเรียนการสอน ที่มีลักษณะเป็นการเฉพาะของชุมชน ซึ่งหากสามารถฟื้นฟูความรู้ รวมทั้งสามารถประยุกต์ภูมิปัญญาที่มีค่าของชุมชนมาสร้างเป็นกิจกรรมสำหรับการเรียนการสอนจะสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้เหมาะสมตามสภาพเหตุการณ์

3) ให้ความสำคัญกับบ้าน  ชุมชน  และสถานประกอบการ เพื่อทำให้การศึกษาตามอัธยาศัยสามารถเกิดได้ทุกที่ ต่อเนื่อง และตลอดเวลา เนื่องจากการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเนื้อหา เวลา สถานที่สำหรับการศึกษาด้วยตนเอง ดังนั้น องค์กรหรือสถาบันที่จัดการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจในวิถีชีวิตของผู้เรียน และองค์กรผู้จัดแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญที่ใกล้ชิดกับผู้เรียนมากที่สุด ได้แก่ บ้าน ชุมชน รวมทั้งสถานประกอบการที่บุคคลใช้เป็นสถานที่ประกอบอาชีพ ดังนั้น ในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย จึงให้ความสำคัญ พัฒนาศักยภาพด้านการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับกลุ่มหรือสถาบันดังกล่าวให้มีความสามารถจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4) พัฒนาสื่อ เทคโนโลยีในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ เป็นการพัฒนาทั้งตัวสื่อการเรียน การสอน และเครื่องมือ  อุปกรณ์ในการสื่อสาร เช่น สถานีวิทยุ  เป็นต้น เนื่องจากในปัจจุบันการสื่อสารมวลชนถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อประชาชนในระดับกว้าง ข้อมูลข่าวสารหารสื่อสารผ่านระบบสื่อสารมวลชนจะถึงผู้รับได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย จึงต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาสื่อทั้งในส่วนที่เป็นวัสดุ เช่น การผลิตรายการส่งเสริมการเรียนการสอน หรือในส่วนที่เป็นครุภัณฑ์ เช่น ระบบการส่งสัญญาณ  เป็นต้น

5) แสวงหามาตรการทางสังคม รวมทั้งกฎหมายเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนตามอัธยาศัย เช่น การเชิดชูผู้รู้ที่มีในท้องถิ่น,  การลดภาษีสำหรับหน่วยงาน  องค์กรที่ดำเนินการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อจูงใจให้ลงทุนเรื่องการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

6) สร้างกระแสสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้รู้ในชุมชน รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ของชุมชน ปรับทัศนคติทั้งฝ่ายผู้จัดแหล่งเรียนรู้ และประชาชนผู้รับการศึกษา นอกจากจะมีการสร้างความรู้ความเข้าใจแล้วยังต้องมีการกระตุ้นสร้างแรงจูงใจใฝ่รู้ มีหน่วยให้ข้อมูล ให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสนใจใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญและใช้ความรู้ที่ชุมชนสั่งสมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน โดยดำเนินการสืบค้นความรู้ที่จำเป็นและเป็นความต้องการของชุมชน  พร้อมทั้งรวบรวมจัดหมวดหมู่ของความรู้ จัดเก็บความรู้ให้เป็นระบบ สร้างระบบให้ประชาชนในชุมชนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่าย พัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนความรู้ของชุมชน ซึ่งผลของการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่องของประชาชนจะสามารถพัฒนาชุมชนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้

7) ส่งเสริม สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการพัฒนาหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้สามารถเป็นแกนนำในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายองค์กรผู้จัดแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย

 

การศึกษาตามอัธยาศัยกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน

 

            การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการจัดการศึกษาที่ตรงกับความมุ่งหมายของผู้เรียน อีกทั้งเป็นการให้ความสำคัญกับการนำความรู้ที่มีความเหมาะสมกับท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอน โดยภาพรวมผู้เข้ารับการศึกษาตามอัธยาศัยจึงสามารถนำความที่ได้รับไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง  ซึ่งประโยชน์ของการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน สามารถจำแนกได้ ดังนี้

 

            ประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

1) การพัฒนากระบวนการคิดของประชาชนให้มีลักษณะ คิดเป็น ซึ่งการ คิดเป็น นั้น

เป็นกระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาที่พิจารณาไตร่ตรองข้อมูลด้านตนเอง ชุมชน สังคมสิ่งแวดล้อม และข้อมูลวิชาการ ต่อจากนั้นจึงลงมือกระทำการ ถ้าสามารถแก้ปัญหาได้ กระบวนการคิดจะยุติลง  หากบุคคลยังไม่พอใจก็จะเข้าสู่กระบวนการคิดใหม่(อุ่นตา  นพคุณ,  2528:  29) จะเห็นได้ว่ากระบวนการของการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น เป็นกระบวนการศึกษามีหลักการสำคัญที่เริ่มจากความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก เป็นการเรียนรู้จากวิถีชีวิตประจำวัน ผู้เรียนเข้ามาเรียนรู้เพื่อต้องการขจัดปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดที่ตนเองประสบอยู่ให้หมดไป เป็นการเรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติงานจริง ดังนั้น กระบวนการการศึกษาตามอัธยาศัยจึงถือได้ว่าเป็นการบวนการพัฒนาการ คิดเป็น ของบุคคลได้เช่นกัน

            2) สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากการศึกษาตามอัธยาศัย หลักการที่สำคัญคือผู้เรียนต้องเป็นผู้กำหนดวิธีการเรียน กำหนดเวลา สถานที่ในการเรียนด้วยตนเอง เนื่องจากในชีวิตจริงมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ลูกจ้าง นายจ้าง ล้วนจะต้องเรียนรู้ทั้งสิ้นและจะต้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้ได้ความรู้ในการนำมาปรับใช้ต่อการดำเนินชีวิต บุคคลจึงจำเป็นต้องแสวงหาความรู้ที่เหมาะสมกับตนเองอย่างต่อเนื่อง จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว รวมทั้งการแสวงหาความรู้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้รู้ที่อยู่ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง  จากวิธีดังกล่าวเป็นการบ่มเพาะให้ประชาชนมีวัฒนธรรมการเรียนรู้เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในโอกาสต่อไป

 

          ประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน

            1) สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน กระบวนการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น ประกอบไปด้วย ฝ่ายผู้เรียน ฝ่ายผู้จัดแหล่งเรียนรู้ และฝ่ายเครือข่ายผู้สนับสนุน ดังนั้น ในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย จึงเป็นการส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมที่ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนในการจัดกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัยให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งกระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นพื้นฐานประการหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เมื่อชุมชนมีฐานการเรียนรู้ ที่เครือข่ายผู้สนับสนุนการเรียนรู้ได้จัดสร้างขึ้นรอบตัวผู้เรียน ความรู้จึงมีการถ่ายทอดหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา และต่อเนื่อง จึงเกิดการสะสมความรู้ของบุคคลตั้งแต่วัยเยาว์ เป็นการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ ค่านิยม ประเพณีต่าง ๆ เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ของประชาชน และเมื่อชุมชนมีการสร้างเครือข่าย พร้อมทั้งทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้สามารถสร้างชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป

            2) สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการเรียนรู้ของบุคคล หากสังคมใดสมาชิกในสังคมใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เป็นสังคมที่คนมีการศึกษา ประชาชนมีโอกาสเท่าเทียมกัน เป็นตลาดวิชาสามารถ เปิดโอกาสให้สถาบันจัดบริการความรู้แก่ประชาชน มีเครือข่ายการเรียนรู้ซึ่งผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ มีการพัฒนาตามความสนใจและเอกลักษณ์ของสมาชิกในสังคม จึงถือได้ว่าเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งการศึกษาตามอัธยาศัยสามารถพัฒนาสมาชิกในสังคมให้เป็นบุคคลผู้ใฝ่รู้ได้ หากทุกภาคส่วนผนึกกำลังกันพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้มีคุณภาพครอบคลุมความต้องการของสมาชิกในสังคม ซึ่งจะทำให้สมาชิกในสังคมเข้าถึงความรู้ได้ง่าย และจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในสังคม และสมาชิกในสังคมเป็นผู้ใฝ่รู้ ก็ส่งผลให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

ภาษาไทย

 

กรมการศึกษานอกโรงเรียน.  2538.  การศึกษาตามอัธยาศัย. กรุงเทพมหานครฯ. ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์.

กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน กรมการศึกษานอกโรงเรียน.  2542.  ประสบการณ์การจัดการศึกษานอกโรงเรียนอดีตถึงปัจจุบัน.  กรุงเทพมหานคร: รังษีการพิมพ์.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา.  2545.  ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพมหานครฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ทองปลิว  ชมชื่น.  2546การศึกษาตามอัธยาศัย.  นครปฐม:  โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร

บุญศักดิ์ แสงระวี.  2548.  วิวัฒนาการของสังคม.  กรุงเทพมหานครฯ: บริษัทตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด.

พรรณอร อุชุภาพ.  2546.  เอกสารประกอบการสอน รายวิชาการศึกษาและความเป็นครูไทยคณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏสกลนคร.

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย).  2552.  มูลนิธิข้าวขวัญ โรงเรียนของชาวนาไทย(ออนไลน์).  http://www.sathai.org/story_thai/007-KKF%20Story.htm, 14 มกราคม 2552

ยุพาวดี วงศ์เพ็ญ.  2549.  ประวัติศาสตร์การศึกษา.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

โรงเรียนบ้านแม่หลวงน้อย.  2552.  หลักสูตรการศึกษาตามอัธยาศัยของโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย.  (ออนไลน์).  http://www.oedp.in.th/document/mln.pdf, 12 มกราคม 2552.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.  2543.  รายงานสรุปการสัมมนา เรื่อง ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิต .  กรุงเทพมหานครโรงพิมพ์องค์การค้าคุรุสภา 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.  2541.  แนวทางการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา.  กรุงเทพมหานครสำนักพิมพ์พิมพ์ดี

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ.  2549.  รายงานการศึกษาวิจัย การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยขององค์กรและสถาบันในเขตตรวจราชการที่ 4นครปฐมโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร 

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.  2552.  เกี่ยวกับห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์.  (ออนไลน์).  http://elibrary.nfe.go.th/about.php, 13 มกราคา 2552.

สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงศึกษาธิการ2552.  ชุดวิชาการศึกษาตามอัธยาศัย.  (ออนไลน์)http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/alpha.htm, 12 มกราคม 2552.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.  2548.  รายงานการวิจัย เรื่อง รูปแบบ ยุทธศาสตร์ และแนวทางการบูรณาการการศาสนากับการศึกษาของวัดในพระพุทธศาสนา :กรณีการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย. (ออนไลน์).  http://www.onec.go.th/publication/48075/full48075.pdf, 28 ธันวาคม 2551.

            .  2551.  รายงานการติดตามและประเมินการจัดการเรียนรู้นอกระบบและตามอัธยาศัย ปี 2549-2550(ออนไลน์).  http://www.onec.go.th/publication/51035/full51035.pdf, 28 ธันวาคม 2551.

            .  2551.  ระบบการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ(ออนไลน์).  http://www.onec.go.th/publication/4017002/chapter3/page51.htm, 22 ธันวาคม 2551.

สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  2551.  การจัดการศึกษาตลอดชีวิต.  (ออนไลน์). http://hrd.obec.go.th/book/1/22.pdf, 28 ธันวาคม 2551.

สุมาลี  สังข์ศรี. 2544.  รายงานการวิจัยการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อสังคมไทยในศตวรรษที่ 21

กรุงเทพฯ:  โรงพิมพ์องค์การค้าคุรุสภา

สุทธิธรรม เลขวิวัฒน์.  2549.  เครือข่ายชุมชนพอเพียง.  กรุงเทพมหานครฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.

อุดม เชยกีวงศ์.  2551.  การส่งสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551.  กรุงเทพมหานครฯ: โรงพิมพ์แปลนพริ้นท์ติ้ง.

อุทยานการเรียนรู้.  2551.  TK Park อุทยานการเรียนรู้.  (ออนไลน์).  http://www.tkpark.or.th/index.aspx, 28 ธันวาคม 2551.

อุ่นตา  นพคุณ.  2528.  คิดเป็น.  กรุงเทพมหานคร:  กรุงสยามการพิมพ์.

 

 

ภาษาอังกฤษ

 

Independent and not-for-profit site created by a small group of educators.  2008.  Introducing informal education.  (Online).  http://www.infed.org, 28 December 2008

Office of the National Economic and Social Development Board and United Nations Country Team in Thailand.  2004.  Thailand Millennium Development Goals 2004Bangkok.

UNESCO.  2008.  EFA Global Monitoring Report 2009: Overcoming inequality: why governance matters.  Paris: UNESCO.

 

 

 

 

 

 

 

 

 



[1] พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

[2] การศึกษาตลอดชีวิต หมายความว่า การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

[3] พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551

 

[4] พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545

[5] พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551

[6] พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551

[7] โรงเรียนบ้านแม่หลวงน้อย.  2552.  หลักสูตรการศึกษาตามอัธยาศัยของโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย.  (ออนไลน์).  http://www.oedp.in.th/document/mln.pdf, 12 มกราคม 2552.

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2567

การจัดการ “เงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใด” ของสมาชิกสหกรณ์ที่ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต

เมื่อสมาชิกสหกรณ์ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต ข้อบังคับสหกรณ์ กำหนดว่า

1. เมื่อสมาชิกตาย ให้สหกรณ์แจ้งให้ผู้รับโอนประโยชน์ทราบ สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทของผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น

2. “ให้ผู้รับโอนประโยชน์ ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ต่อสหกรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่สมาชิกตายหรือได้รับแจ้งจากสหกรณ์ โดยให้แนบสำเนามรณบัตรที่ทางราชการออกให้แสดงว่าสมาชิกนั้น ๆ ได้ถึงแก่ความตายไปประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้พิจารณาและอนุมัติแล้ว สหกรณ์จะจ่ายเงินผลประโยชน์ดังกล่าว

3. “ภายในสี่สิบห้าวัน ในกรณีผู้มีสิทธิรับเงินผลประโยชน์ไม่ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ หรือผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับโอนประโยชน์ที่สมาชิกได้จัดทำให้สหกรณ์ถือไว้ไม่มีตัวอยู่ก็ดี เมื่อพ้นกำหนดอายุความฟ้องคดีให้สหกรณ์โอนจำนวนเงินดังกล่าวไปสมทบเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ทั้งสิ้น

กรณีปัญหา

สหกรณ์ไม่รู้ว่าสมาชิกเสียชีวิต เพราะไม่มีผู้ใดมาแจ้งต่อสหกรณ์ อีกทั้งสมาชิกก็มิได้ทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตายมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน เวลาเนิ่นนานผ่านไป (ไม่ได้บอกว่านานเท่าไร) ต่อมามีทายาทมาแจ้งขอรับเงินประโยชน์ในเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์ แต่สหกรณ์ก็ไม่รู้ว่ายังมีทายาทอื่นอีกหรือไม่ที่จะมาขอรับเงินประโยชน์ดังกล่าว เพราะสมาชิกสหกรณ์ที่เสียชีวิตก็มิได้ทำพินัยกรรมไว้ สหกรณ์จะพิจารณาอย่างไร

1. ข้อบังคับกำหนดว่า เมื่อสมาชิกตาย ให้สหกรณ์แจ้งให้ผู้รับโอนประโยชน์ทราบ สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทของผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น

ให้พิจารณาแยกเป็น 3 กรณี ดังนี้

1.1 กรณีสมาชิกทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่า หุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้ให้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน ตามมาตรา 42/2 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สหกรณ์จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ >>> ดู คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8873/2561

1.2 กรณีสมาชิกทำพินัยกรรมไว้ให้พิจารณาเนื้อหาในพินัยกรรม และดูว่าระหว่างพินัยกรรมกับหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ฯ เอกสารใดทำหลังสุด ก็ให้มีผลตามเอกสารฉบับหลังสุดนั้น >>> ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14885/2558

1.3 กรณีสมาชิกมิได้ทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ฯ และมิได้ทำพินัยกรรมต้องพิจารณาเรื่องการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่าง ๆ และอายุความฟ้องคดีมรดก

ทั้งนี้ เงินค่าหุ้น เงินปันผล และหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่าย เงินฝาก ตลอดจนทรัพย์สินอื่นใด ที่สมาชิกสหกรณ์พึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ เป็นมรดกของสมาชิกสหกรณ์ผู้ถึงแก่กรรม เพราะกฎหมายกำหนดให้กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ (ปพพ. มาตรา 1600)

การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่าง ๆ

ปพพ. มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ ย่า ตา ยาย

(6) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

การแบ่งทรัพย์มรดก

ปพพ. มาตรา 1630  ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย แล้วแต่กรณี ในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

ปพพ. มาตรา 1631 ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่

การแบ่งส่วนมรดกของทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่าง ๆ ให้ดู ปพพ. มาตรา 1632 1633 1634 1635 1636 1637 1638 ตลอดจนดูเรื่องการรับมรดกแทนที่กันในมาตรา 1639 1640 1641 1642 1643 1644 และ 1645

การจัดการมรดก

1) การจัดการมรดกโดยทายาทร่วมกันจัดการ

ปพพ. มาตรา 1745 ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับ เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้

2) การจัดการมรดกโดยผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

ปพพ. มาตรา 1711 ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล

ปพพ. มาตรา 1712  มาตรา 1712  ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้

(1) โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง

(2) โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม ให้เป็นผู้ตั้ง

ปพพ. มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์

(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ

การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

ปพพ. มาตรา 1718 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(2) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

(3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

2. ข้อบังคับสหกรณ์กำหนดว่า ให้สหกรณ์พิจารณาอายุความฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนดอายุความฟ้องคดีให้สหกรณ์โอนจำนวนเงินดังกล่าวไปสมทบเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ทั้งสิ้น

อายุความฟ้องคดีมรดก

ปพพ. มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม

ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

ปพพ. มาตรา 1755  อายุความหนึ่งปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก

อนึ่ง

ปพพ. มาตรา 1753 ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน

ดูกรณีศึกษาจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2508 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2545

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา

1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหกรณ์เพื่อขอรับเงินฝากคืน หรือในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุอื่น ๆ มิได้ไปติดต่อกับสหกรณ์เพื่อขอรับเงินฝากคืน ซึ่งทั้งสองกรณี สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพไม่มีภาระผูกพันที่สหกรณ์ต้องหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ สหกรณ์จะดำเนินการเกี่ยวกับเงินฝากค้างนานอย่างไรจึงจะถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย และไม่เกิดข้อพิพาทในภายหน้า

1.2 กรณีที่สมาชิกยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพแต่ไม่มาติดต่อสหกรณ์เลย

2. ข้อกฎหมาย

2.1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 2 วิธีเฉพาะการฝากเงิน

มาตรา 672  ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน

อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น

มาตรา 673  เมื่อใดผู้รับฝากจำต้องคืนเงินแต่เพียงเท่าจำนวนที่ฝาก ผู้ฝากจะเรียกถอนเงินคืนก่อนถึงเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ไม่ได้ หรือฝ่ายผู้รับฝากจะส่งคืนเงินก่อนถึงเวลานั้นก็ไม่ได้ดุจกัน

มาตรา 193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/30  อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี

2.2 พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 42/2 สมาชิกอาจทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่า หุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้ให้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน

2.3 ระเบียบสหกรณ์ฯ ว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ พ.ศ. …. กำหนดเรื่อง วิธีการคิดดอกเบี้ย และการจ่ายดอกเบี้ย ไว้ว่า ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้คำนวณเป็นรายวันตามยอดเงินคงเหลือและสหกรณ์จะนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินเข้าบัญชีเงินฝากในวันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ ให้ผู้ฝากรีบยื่นสมุดคู่ฝาก ณ สำนักงานสหกรณ์ เพื่อสหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ยให้และ ถ้าผู้ฝากไม่ถอนเงินฝากประจำเมื่อครบกำหนดพร้อมดอกเบี้ย จนพ้นกำหนดไปอีกเจ็ดวันก็เป็นอันถือว่าผู้ฝากตกลงฝากต้นเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยต่อไปอีกเท่าระยะเวลาเดิม

3. ข้อวินิจฉัย

3.1 ในกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต โดยไม่มีภาระผูกพันที่สหกรณ์ต้องหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ สหกรณ์จะจ่ายคืนเงินคงเหลือทั้งหมดในบัญชีเงินฝากให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจต่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น

3.2 ในกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกหรืออื่น ๆ โดยไม่มีภาระผูกพันที่สหกรณ์ต้องหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ ให้สหกรณ์แจ้งสมาชิกดำเนินการการถอนเงินฝากเพื่อปิดบัญชี

3.3 ในกรณีที่สมาชิก (ขาดจากสมาชิกภาพ) ทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ ไม่มาติดต่อขอถอนเงิน หรือกรณีที่สมาชิกยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพแต่ไม่มาติดต่อสหกรณ์เลย เป็นระยะเวลานานเกินกว่า 10 ปี จะถือว่าขาดอายุความในการเรียกคืนเงินฝากหรือไม่

หากสหกรณ์ยังคงนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินเข้าบัญชีเงินฝากในวันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ แม้สมาชิกตาม 3.3 จะไม่ได้มาติดต่อนานเกิน 10 ปี ก็จะไม่ถือว่าขาดอายุความ เพราะถือว่าสหกรณ์ได้ปฏิบัติการชำระดอกเบี้ยทุกระยะเวลา 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อผู้ฝากซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและอายุความจะสะดุดหยุดลงเรื่อยไปทุกระยะเวลา 1 ปี

ข้อสังเกต กรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ตามข้อบังคับ สมาชิกย่อมไม่มีสิทธิฝากเงินในสหกรณ์ ตามมาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สหกรณ์ต้องโอนบัญชีเงินรับฝากไปยังบัญชีเงินรอจ่ายคืน (เพื่องดคิดดอกเบี้ย) เมื่อสมาชิก (ขาดจากสมาชิกภาพ) ทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ ไม่ได้มาติดต่อนานเกิน 10 ปี จะถือว่าขาดอายุความในการเรียกคืนเงินฝาก

3.3 กรณีที่สมาชิกยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพแต่ไม่มาติดต่อสหกรณ์เลย หากสหกรณ์กำหนดเงื่อนไขบางประการ เพื่อระงับการคิดดอกเบี้ย (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ระเบียบสหกรณ์ฯ ว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ พ.ศ. …. กำหนดว่า

 

ในการส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากทุกครั้ง ให้ทำใบส่งเงินตามแบบพิมพ์ที่สหกรณ์กำหนดยื่นพร้อมด้วยสมุดคู่ฝากและจำนวนเงินฝากต่อเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ณ สำนักงานสหกรณ์ ทั้งนี้ ผู้ฝากหรือผู้อื่นจะเป็นผู้ส่งเงินก็ได้ เมื่อสหกรณ์ได้ลงบันทึกรายการจำนวนเงินฝากที่ได้รับนั้นในสมุดคู่ฝาก และตรวจสอบเป็นการถูกต้องแล้ว สหกรณ์จะคืนสมุดคู่ฝากให้ผู้ฝาก...

ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้คำนวณเป็นรายวันตามยอดเงินคงเหลือและสหกรณ์จะนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินเข้าบัญชีเงินฝากในวันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ ให้ผู้ฝากรีบยื่นสมุดคู่ฝาก ณ สำนักงานสหกรณ์ เพื่อสหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ยให้

เนื้อหาของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้สมาชิกต้องมาติดต่อสหกรณ์ทุกครั้งที่มีการฝาก-ถอนเงิน แต่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ย สหกรณ์จึงอาจกำหนดเนื้อหาในระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการไม่มาติดต่อสหกรณ์เป็นระยะเวลานาน เช่น การโอนบัญชีเงินรับฝากไปยังบัญชีเงินรอจ่ายคืน (เพื่องดคิดดอกเบี้ย) ทั้งนี้ ระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์จึงจะมีผลบังคับ

การใช้ FinTect ในสหกรณ์ โดยสหกรณ์มี Application ให้สมาชิกใช้บริการก็อาจแก้ไขปัญหาได้

การเก็บเงินค่ารักษาบัญชี (สำหรับบัญชีที่สมาชิกขาดการติดต่อเป็นระยะเวลานาน) ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง แต่ต้องกำหนดในระเบียบฯ ว่าด้วยการรับฝากเงินฯ และต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์จึงจะมีผลบังคับ

บทความนี้มีเจตนาเพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝากค้างนานเท่านั้น โดยเฉพาะกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพแล้วสำหรับเงินฝากจำนวนน้อย ๆ แต่สมาชิกยังติดต่อสหกรณ์เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะผู้เขียนเองก็มีเงินฝากในสหกรณ์จำนวนน้อยมาก ๆ แต่มีความเคลื่อนไหวตลอด ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ที่โอนเข้ามา เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืนที่สหกรณ์โอนเข้าบัญชีเงินฝากหลังจากประชุมใหญ่แล้ว

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2475

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6861/2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6885/2543

กลุ่มเกษตรกรไทย

ประเทศไทยได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140 และ 141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 (ส่วนที่ 8 กลุ่มเกษตรกร มาตรา 118 ทวิ - มาตรา 118 ฉ) ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนตามประกาศคณะปฏิวัติมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย วันที่ 1 พฤษภาคม 2515 จึงนับเป็นวันที่รัฐกำหนดให้กลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนตามกฎหมายมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งกลุ่มเกษตรกรไทยมีประวัติความเป็นมาและสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้

กลุ่มเกษตรกรกลุ่มแรกได้จัดตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ที่อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร โดยเรียกชื่อว่า "กลุ่มชาวนา" ชาวนาในสมัยนั้นส่วนมากเป็นผู้มีทุนทรัพย์น้อยและประสบอุปสรรคในการผลิตและการจำหน่าย นายจุล สิทธิพรหม ครูโรงเรียนประชาบาลจิตติวิทยาคารตำบลวังไทร อำเภอดลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพเสริมจากอาชีพครู มีความปรารถนาที่จะขจัดความเสียเปรียบของชาวนาที่ถูกพ่อค้าคนกลางบีบบังคับด้วยกลวิธีต่าง ๆ ในการซื้อ ขายข้าว และต้องการปรับปรุงวิธีการทำนาให้ดีขึ้น ถูกตามหลักวิชาการ รวมทั้งเชิดชูเกียรติและสิทธิ์ของชาวนา จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพ ขจัดความเสียเปรียบที่เกี่ยวกับการซื้อปัจจัยการผลิตและขายผลผลิตเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้สูงขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

ต่อมารัฐบาลได้ส่งสริมให้กลุ่มชาวนาขยายไปทั่วประเทศ โดยใช้การจดทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน แต่ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จนเมื่อมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงเกษตรและได้จัดตั้งกรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นในสังกัดกระทรวงเกษตร เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2510 จึงได้รวมเอางานของกลุ่มชาวสวน ชาวไร่ ซึ่งในขณะนั้นยังมีจำนวนไม่มากที่อยู่ในความดูแลของกรมกสิกรรมมารวมอยู่ในกลุ่มชาวนาของกรมส่งเสริมการเกษตร และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กลุ่มเกษตรกร"

ในปี พ.ศ. 2509 ประเทศไทยมีกลุ่มเกษตรกรในรูปต่าง ๆ คือกลุ่มชาวนา 1,647 กลุ่ม กลุ่มกสิกร 357 กลุ่ม และสมาคมชลประทานราษฎร์ 64 สมาคม รวมจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 86,660 ครอบครัว

การพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515 – 2519) รัฐบาลได้กำหนดแผนงานส่งเสริมสถาบันเกษตรกร มีโครงการสำคัญ คือ โครงการกลุ่มเกษตรซึ่งมีเป้าหมายจะขยายกลุ่มเกษตรกรระดับอำเภอได้ปีละ 1 ศูนย์ จะรวมกลุ่มระดับอำเภอได้ปีละ 5 อำเภอ และจะรวมกลุ่มระดับตำบลและหมู่บ้านปีละ 500 กลุ่ม โดยส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรในรูปต่าง ๆ ให้เหลือแต่เพียงกลุ่มเกษตรกรรูปเดียว โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและแพร่หลาย ในขั้นระดับอำเภอเป็นอย่างสูงเท่านั้น และให้สามารถแปรสภาพเป็นสหกรณ์ได้ต่อไป

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140 และ 141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนตามประกาศคณะปฏิวัติมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพและให้มีอำนาจหน้าที่แสวงหาทุนจากสถาบันการเงินของรัฐหรือของเอกชนมาดำเนินการให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น อันจะมีผลให้กลุ่มเกษตรกรเจริญเป็นปึกแผ่น และสามารถแปรสภาพเป็นสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการสหกรณ์ได้ หลังจากที่ได้มีประกาศคณะปฏิวัติแล้วในปีแรกได้มีการจดทะเบียนกลุ่มเกษตรกรเป็นนิติบุคคล 8 กลุ่ม มีสมาชิก 1,130 ครอบครัว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการส่งมอบภารกิจด้านการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคลจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ในการดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนจนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2542 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140 โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยมาตรา 119 กำหนดให้ในกรณีที่คณะบุคคลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแต่ยังไม่อาจรวมกันขัดตั้งเป็นสหกรณ์ตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ได้ จะจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาก็ได้ และให้กลุ่มเกษตรกรมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542

ในปี พ.ศ. 2547 ได้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 141 และได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2547 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542

ปัจจุบัน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) ประเทศไทยมีจำนวนกลุ่มเกษตรกรทั้งสิ้น 3,995 กลุ่ม โดยแยกเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีสถานะยังไม่เริ่มดำเนินการและดำเนินการ เรียกรวมเป็น สถานะ Active จำนวน 3,415 กลุ่ม และสถานะเลิกกลุ่มเกษตรกร (อยู่ระหว่างชำระบัญชี) เรียก สถานะ Non Active จำนวน 580 กลุ่ม จำนวนสมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั้งหมด 339,162 คน

ปริมาณธุรกิจกลุ่มเกษตรกรทั้งประเทศ ปี 2566 (ก.ย. 65 - ส.ค. 66) รวม 7,790.43 ล้านบาท โดยธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณธุรกิจมากที่สุด จำนวน 3,454.23 ล้านบาท รองลงมาคือธุรกิจให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิก จำนวน 2,365.10 ล้านบาท ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย จำนวน 1,002.93 ล้านบาท ธุรกิจแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 611.52 ล้านบาท ธุรกิจรับฝากเงิน จำนวน 301.34 ล้านบาท และธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร จำนวน 55.32 ล้านบาท ตามลำดับ

การพัฒนากลุ่มเกษตรกรไทยในปัจจุบันและอนาคต โดยแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566 – 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ประเด็นการเกษตร แผนย่อยการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เป้าหมายสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร) ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเข้มแข็งในระดับมาตรฐานเพิ่มขึ้น ได้กำหนดตัวชี้วัดสถาบันเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเข้มแข็งในระดับมาตรฐาน โดยกำหนดให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งในระดับที่ 1 และ 2 ร้อยละ 35 ในปี 2570 ร้อยละ 40 ในปี 2575 และร้อยละ 45 ในปี 2580 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) กำหนดให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งในระดับ 1 เพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 6 ในปี 2570 โดยเกณฑ์การประเมินระดับความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกร ประกอบด้วย 4 มิติ ซึ่งพิจารณาจาก (1) ความสามารถในการให้บริการสมาชิก (2) ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ (3) ประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร และ (4) ประสิทธิภาพของการบริหารงาน

ที่มา:

กฤษฎา ประศาสน์วุฒิ. 2548. การเพิ่มสมรรถนะนักส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร Module 2 กลุ่มและการบริหารงานกลุ่ม: ตำราชุดฝึกอบรมทางไกลผ่านดาวเทียม. ภาควิชาสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

กรมส่งเสริมสหกรณ์.  2567.  สารสนเทศกลุ่มเกษตรกร ปี พ.ศ. 2566.  ออนไลน์ https://itc.office.cpd.go.th/?view=article&id=323:farmer-groups-2023&catid=185:farmergroup-2566

กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์.  2566.  เกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกร.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.  2548 (พิมพ์ครั้งที่ 13).  เอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารแผนงานโครงการพัฒนาท้องถิ่นและชนบท.  ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

ทำไมเราต้องเชื่อว่า “สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร”

นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1844 ที่ Rochdale Pioneers ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ นับถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 180 ที่การสหกรณ์ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลก จนปัจจุบันโลกมีสหกรณ์กว่า 3 ล้านแห่ง และมีสมาชิกมากกว่าร้อย 12 ของประชากรโลก (ICA,ออนไลน์) 

มีคำถามหนึ่งเกิดขึ้นเสมอว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจแสวงหากำไรหรือไม่อย่างสหกรณ์ในบ้านเราก็มีการหยิบยกเอามาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาเป็นเหตุผลในการอธิบายว่า ถ้าสหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร แล้วจะมีการจัดสรรกำไรไปทำไม” “หากสหกรณ์ไม่แสวงหากำไร ไม่จัดสรรกำไร แล้วสมาชิกจะยังศรัทธาสหกรณ์อยู่หรือไม่อะไรประมาณนี้ 

ลองมาดูกันครับ ว่า Robert Owen บิดาแห่งลัทธิสังคมนิยมอังกฤษ และบิดาแห่งการสหกรณ์โลก มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของ กำไรว่าอย่างไร 

Robert Owen มีกิจสิ่งเดียวที่จะต้องกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงฐานะทางเศรษฐกิจของคนงาน คือ กำจัดผลกำไรให้สูญสิ้นไป เนื่องจากเขามองว่า กำไรคือสิ่งซึ่งล้ำค่าและอยู่เหนือราคาซื้อ ซึ่งตามลักษณะของกำไรแล้วเป็นสิ่งอยุติธรรม เพราะว่าราคาซื้อของสิ่งของสิ่งหนึ่งเท่านั้นที่เป็นราคาอันชอบธรรม สิ่งของจะต้องขายตามราคาที่ซื้อมากำไรเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยภยันตราย เช่น คนงานจะซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคได้จำนวนที่พวกเขาทำการผลิตได้อย่างไร ถ้าผลผลิตเหล่านั้นมีราคาเพิ่มขึ้นโดยบวกผลกำไรเข้าไป 

การกำจัดผลกำไรให้สูญสิ้นไป 

Robert Owen มองว่า เงินตราเข้ามาแทรกแซงในเรื่องการซื้อขายเป็นเหตุให้การขายสินค้าเกินกว่าราคาอันแท้จริง ซึ่งความลับของการทำผลกำไรคือ การซื้ออย่างถูกที่สุดที่พึงจะซื้อได้ แล้วขายไปอย่างแพงที่สุดที่พึงจะขายได้ โดยอาศัยเงินตรา 

ช่วงปี ค.ศ. 1800 – 1824 Robert Owen ได้ใช้แนวคิดสังคมนิยมโดยการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่คนงานในโรงงานทอผ้าและชุมชน ในเมือง New Lanark ประเทศสกอตแลนด์ จนแนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับไปทั่วยุโรป เนื่องจาก Robert Owen พิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กรอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องขูดรีดแรงงานส่วนเกินเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งเหมือนองค์กรอุตสาหกรรมทั่วไป แต่สามารถดำเนินธุรกิจอย่างมีกำไรที่เพียงพอได้โดยการแบ่งปันกำไรส่วนเกินกลับไปสู่แรงงานด้วยระบบสวัสดิการสังคม อันนำมาซี่งความเป็นอยู่ที่ดีของชนชั้นแรงงาน และชุมชนในเมือง New Lanark 

ในปี ค.ศ. 1832 ได้มีการก่อตั้งห้างสรรพสินค้าในกรุงลอนดอน ชื่อ The National Equitable Labour Exchange โดยวิธีการซื้อขายในห้างนี้ ไม่ใช้เงินตราเป็นสื่อกลาง แต่ใช้ บัตรแรงงานมูลค่าของบัตรคำนวณจากระยะเวลาที่ใช้แรงงานในการผลิตสินค้าหนึ่ง ๆ เช่น ใช้แรงงานผลิตสินค้าจำนวน 1 ชั่วโมง จะได้ 1 บัตร แล้วสามารถนำบัตรนั้นไปแลกสินค้าอื่น ๆ ได้ 

แนวคิดของ Robert Owen ดังกล่าว สอดคล้องกับทฤษฎีมูลค่าของ Karl Mark ที่ว่า ผลผลิตจากแรงงานมนุษย์ทุกอย่างจะต้องมี มูลค่า (Value) ในการใช้ อย่างไรก็ตาม คำว่ามูลค่าในการใช้ ก็มีความหมาย 2 แบบ เราอาจจะพูดถึง มูลค่าในการใช้ ของสินค้าหนึ่งและอาจจะพูดถึง มูลค่าในการใช้ ต่าง ๆ ได้อีกเมื่อเราหมายถึงสังคมหนึ่ง ๆ ที่มีการผลิต แต่มูลค่าการใช้เท่านั้น นั่นคือในสังคมที่ผลิตผลผลิตขึ้นมาเพื่อบริโภคโดยตรง ไม่ว่าจะบริโภคโดยผู้ผลิตเอง หรือโดยชนชั้นปกครองที่ได้ผลผลิตไปก็ตาม นอกจากผลผลิตจากแรงงานมนุษย์จะมีมูลค่าในการใช้แล้ว ก็ยังมีมูลค่าในการแลกเปลี่ยนได้อีกด้วย…” 

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา เมื่อสหกรณ์มีกำไรสุทธิประจำปี แล้วนำกำไรสุทธิดังกล่าวมาจัดสรร เหตุใดจึงบอกว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร 

ท่านอาจารย์ อาบ นคะจัด ได้อธิบายเรื่องกำไรในสหกรณ์ ไว้อย่างลุ่มลึกว่า สหกรณ์คือองค์กรธุรกิจประเภทหนึ่งในระบบเศรษฐกิจการตลาดของประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับหุ้นส่วนและบริษัท ตามมาตรา 1012 (อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ องค์การธุรกิจนิติบุคคลตามกฎหมายสหกรณ์ต่างจากองค์กรธุรกิจตาม ป.พ.พ. ในเรื่องสำคัญคือ วัตถุประสงค์และหลักการขององค์การธุรกิจต่างกัน และตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ต่างกัน สหกรณ์มีวัตถุประสงค์ “เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ส่วนวัตถุประสงค์ของหุ้นส่วนและบริษัทคือ “ประสงค์จะแบ่งกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น” แม้กฎหมายสหกรณ์จะกำหนดเรื่องการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ แต่คำว่ากำไรสุทธิที่บัญญัตินั้นเป็นเพียงคำศัพท์ทางการบัญชี ไม่ใช่กำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 เพราะในสหกรณ์เจ้าของและลูกค้าคือบุคคลคนเดียวกัน ราคาสินค้าและบริการที่สหกรณ์กำหนดขึ้น คือค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สหกรณ์เรียกจากสมาชิก เมื่อสิ้นปีการบัญชี หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว มีเงินเหลือจ่ายสุทธิ (กำไรสุทธิ) เท่าใด จึงต้องจัดสรรตามกฎหมายสหกรณ์ 

ท่านอาจารย์ นุกูล กรยืนยงค์ (2554) อธิบายว่า สหกรณ์มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นตรงที่การรวมตัวกันของประชาชนเพื่อ ก่อตั้งสหกรณ์ และนำเงินมาลงทุนร่วมกันนั้น มิใช่เพื่อทำการค้ากับบุคคลอื่น หากแต่เป็นเพราะต้องการใช้สินค้าหรือบริการนั้นสำหรับตนเองเป็นประการสำคัญ มุ่งให้บริการแก่สมาชิกเป็นหลัก เป็นการสร้างประโยชน์ขึ้นแก่ตนเอง บริการตนเองโดยการร่วมกันทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เป็นการเรียกร้องจากผู้อื่น สหกรณ์ผู้บริโภคไม่จำเป็นที่จะต้องแสวงหาผลกำไรจากการทำธุรกิจ เนื่องจากทั้งเจ้าของและผู้ใช้บริการ (ลูกค้า) เป็นคนเดียวกัน หรือในกรณีที่เป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อการผลิตโดยมีสมาชิกเป็นเจ้าของและผู้ใช้แรงงาน ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่เจ้าของจะเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานเพราะเป็นคนเดียวกัน ไม่ว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะตกแก่เจ้าของ หรือแรงงาน ก็ย่อมเป็นของคนเดียวกันทั้งหมด กำไรจึงเป็นของสมาชิก (ไม่ใช่ของสหกรณ์) เนื่องจากสหกรณ์มีเป้าหมายหลักในการทำธุรกิจกับสมาชิก และมักใช้นโยบายราคาตลาดด้วยเหตุผลสำคัญ คือการหลีกเลี่ยงสงครามราคา ดังนั้น "กำไร" จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการดำเนินงานตามปกติ ของสหกรณ์ และถือว่าเป็นของสมาชิกทุกคนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ ผู้ที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์มากก็มีส่วนทำให้เกิดผลกำไรมากตามส่วน ดังนั้น สหกรณ์จึงมีวิธีการคืนกำไรนั้นกลับไปให้สมาชิกตามส่วนของการใช้บริการ โดยให้ที่ประชุมใหญ่ของบรรดาสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาตัดสินใจ 

การจัดสรรตามกฎหมายสหกรณ์ในปัจจุบัน จำแนกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่กฎหมายบังคับให้จัด ได้แก่ การจัดสรรเป็นทุนสำรองของสหกรณ์เองเพื่อความมั่นคงของสหกรณ์ (ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10) จัดสรรเป็นเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (ร้อยละ 1 ไม่เกิน 30,000.00 บาท) กำไรส่วนที่เหลือเป็นการจัดสรรกลับคืนสู่สมาชิกผู้เป็นเจ้าของสหกรณ์ร่วมกัน ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินธุรกิจในสหกรณ์ โดยการจัดสรรเป็นเงินเฉลี่ยคืน (เป็นหลัก) และเงินปันผล กำไรส่วนที่เหลือ ก็จัดสรรเป็นทุนต่าง ๆ เพื่อสวัสดิการสมาชิกและครอบครัว เพื่อชุมชน เพื่อสังคม 

ทำไมเราต้องเชื่อว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร 

นั่นนะสิ ตอบยากนะ ... ผมว่า ถ้าเราเข้าใจว่า สหกรณ์เป็นวิสาหกิจไม่แสวงหากำไร การดำเนินงานของสหกรณ์จะมีแค่เป้าหมายเดียวเลยคือ จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมโดยการ ช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์ถ้าเข้าใจถูกต้องและเชื่อเหมือนกัน สหกรณ์ก็จะดำเนินงานตามแนวทางของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ การขูดรีดกำไรส่วนเกิน การแสวงหากำไรในสหกรณ์ก็จะไม่เกิดขึ้น ผมว่าสิ่งนี้แหละที่จะส่งผลให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง 

เอกสารอ้างอิง 

นุกูล กรยืนยงค์. 2554.  หลักและวิธีการสหกรณ์ Co-operative Principles and Practices.  เอกสารประกอบการบรรยายวิชาหลักและวิธีการสหกรณ์. 

อาบ นคะจัด.  2536.  คำอธิบายกฎหมายสหกรณ์ในฐานะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเกษตรและสถาบันเกษตรกรโดยย่อ.  สถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก) 

อำไพ รุ่งอรุณ.  2519.  ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเฌศ. 

ฮัด เจสสัน.  2477.  หนังสือคำสอนขั้นปริญญาตรี เรื่อง ลัทธิเศรษฐกิจ. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

เงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว

“ ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ มีมติจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีเป็นเงินปันผลตามหุ้นอัตราร้อยละ 5 ” หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ร้อยละ 5 ต่อหุ้น หรือ ...