วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

จิตวิญญาณสหกรณ์ (Cooperative Spirit)

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 3 : จิตวิญญาณสหกรณ์ (Cooperative Spirit) 

ผมเขียนเรื่องความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ ตอนที่ 1 อุดมการณ์สหกรณ์ และ ตอนที่ 2 หลักการ และวิธีการสหกรณ์ โดยยังไม่ได้กล่าวถึงอย่างจริงจังเกี่ยวกับความหมายของสหกรณ์ และคุณค่าสหกรณ์ ซึ่งจะอธิบาย 2 เรื่องนี้ในเรื่องจิตวิญญาณสหกรณ์ 

เมื่อปี ค.ศ. 2012 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีแห่งสหกรณ์สากล (The International Year of Cooperatives) โดยเน้นถึงการมีส่วนร่วมของสหกรณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะผลกระทบต่อการลดความยากจน การสร้างงาน และการรวมกลุ่มทางสังคม ด้วยแนวคิด “Cooperative Enterprises Build a Better World” 

ท่าน Ban Ki-moon เลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น กล่าวไว้ว่า การขับเคลื่อนค่านิยมสหกรณ์อย่างอย่างโดดเด่นชัดแจ้ง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสหกรณ์เป็นรูปแบบธุรกิจที่ยืดหยุ่นและทำงานได้มีประสิทธิภาพ สามารถประสบความสำเร็จได้แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ความสำเร็จนี้ช่วยป้องกันไม่ให้ครอบครัวและชุมชนจำนวนมากต้องตกอยู่ในความยากจน 

มีการนำประเด็นเกี่ยวกับปีแห่งสหกรณ์สากล ไปขยายความต่อใน The Cooperative Spirit and its Many Manifestations ซึ่งมีการอธิบาย จิตวิญญาณสหกรณ์ ว่าเป็นการรู้แจ้งเห็นจริงเรื่องความร่วมมือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การให้ความสำคัญต่อชุมชน ซึ่งความร่วมมือในระดับต่าง ๆ ระหว่างผู้คนทั่วโลกคือเครืองมือสำคัญของวิวัฒนาการต่อไปของโลก 

ICA อธิบายให้นิยามความหมายของคำว่า สหกรณ์ (Definition of a Cooperative) และคุณค่าสหกรณ์ (Cooperative values) ว่า 

สหกรณ์ คือสมาคมอิสระที่เกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลโดยสมัครใจ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรที่เป็นเจ้าของร่วมกันตามหลักประชาธิปไตย 

คุณค่าสหกรณ์ ตั้งอยู่บนค่านิยมของการช่วยเหลือตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาคเท่าเทียม ความยุติธรรม และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตามแนวทางของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ ตามความเชื่อของสมาชิกในคุณค่าทางจริยธรรม ความซื่อสัตย์ ความโปร่งใสเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคมและความเอื้ออาทรต่อชุมชน 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

1. https://www.un.org/en/events/coopsyear/

2. https://www.ru.org/index.php/economics/405-the-cooperative-spirit-and-its-many-manifestations

3. https://www.ica.coop/en/cooperatives/cooperative-identity#definition-of-a-cooperative

มูลค่าหุ้นกับหลักการสหกรณ์ข้อที่ 3

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 2 : หลักการ และวิธีการสหกรณ์ (Cooperative Principles and Cooperative Methods)

ตอนที่ (พิเศษ) : มูลค่าหุ้นกับหลักการสหกรณ์ข้อที่ 3 

ปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจาก สมาชิกที่พ้นจากสมาชิกภาพแล้วไม่ได้เงินค่าหุ้นคืน ผมไม่รู้ว่าปัญหานี้มีมานานแค่ไหน เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ปัจจุบันผมต้องแนะนำส่งเสริมอธิบายเรื่องนี้อยู่เนือง ๆ ปัญหาสมาชิกที่พ้นจากสมาชิกภาพแล้วไม่ได้เงินค่าหุ้นคืน เนื่องจากมูลค่าหุ้นลดน้อยถอยลงด้อยค่าจนมีค่าต่ำกว่าศูนย์บาทต่อหุ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ลองทำความเข้าใจกันดูครับ

ทำความเข้าใจเรื่องหุ้นในสหกรณ์ตามกฎหมาย

พ.ร.บ.สหกรณ พ.ศ.2471

มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า

(6) จำกัดสินใช้ให้หมายความว่า สมาชิกแห่งสหกรร์อันได้จดทะเบียนแล้วนั้น ต้องหนี้สินของสหกรณ์จำกัดเพียงไม่เกินราคาหุ้นของตนที่ยังส่งไม่ครบ

(7) ไม่จำกัดสินใช้ให้หมายความว่า สมาชิกแห่งสหกรร์อันได้จดทะเบียนแล้วนั้น ทุกคนต้องรับใช้หนี้สินของสหกรณ์รวมกันและแทนกันไม่มีจำกัด

มาตรา 14 สมาชิกซึ่งออกจากสหกรณ์ไปนั้นต้องมีส่วนร่วมรับแบกหนี้สหกรณ์ตามจำนวนเงินที่สหกรณ์เป็นหนี้อยู่เมื่อวันซึ่งตนออกมีกำหนดสองปี นับแต่วันที่ออกจากสมาชิก

พ.ร.บ.สหกรณ พ.ศ.2511

มาตรา 7 สหกรณ์มีสองชนิด

1) สหกรณ์จำกัด คือสหกรณ์ซึ่งสมาชิกมีความรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

2) สหกรณ์ไม่จำกัด คือสหกรณ์ซึ่งสมาชิกทุกคนมีความรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของสหกรณ์โดยไม่จำกัด

มาตรา 11 (3) มีทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กันและผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกแต่ละคนต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น แต่ต้องไม่เกินหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมด

มาตรา 14 ข้อบังคับของสหกรณ์จำกัดอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(5) ทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้น มูลค่าของหุ้น การชำระค่าหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่น การขายและการโอนหุ้น ตลอดจนการจ่ายคืนค่าหุ้น

มาตรา 20 ในการชำระค่าหุ้น สมาชิกจะหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์จำกัดไม่ได้

พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไข

มาตรา 42 ในการชำระค่าหุ้น สมาชิกจะนำค่าหุ้นหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์ไม่ได้และสมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น และเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธิ์นำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้ และให้สหกรณ์มีสถานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น

ลองมาดูที่วรรคสองตรงข้อความว่า เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธิ์นำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้

ลองพิจารณาให้ชัดลงไปอีกว่า เงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่ตรงนี้แหละครับที่สำคัญ

สมการบัญชีกำหนดว่า สินทรัพย์=หนี้สิน+ทุน (ของสหกรณ์)

สหกรณ์ที่เข้มแข็งดำเนินงานตามอุดมการณ์ หลักการ วิธีการสหกรณ์ และมีธรรมาภิบาล สมการบัญชีดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่มาจากส่วนที่เป็นทุนที่งอกเงย ทุนที่งอกเงยส่วนใหญ่มาจากการถือหุ้นของสมาชิกและการจัดสรรกำไรสุทธิเข้าสู่ทุนต่าง ๆ ของสหกรณ์ โดยเฉพาะทุนสำรอง

อนึ่ง หากสหกรณ์ดำเนินการโดยไม่ยึดถือศรัทธาอุดมการณ์ หลักการ ไม่ดำเนินงานด้วยวิธีการสหกรณ์ สมการบัญชีดังกล่าว สินทรัพย์จะมีสัดส่วนของหนี้สินกับทุนที่แตกต่างออกไป กล่าวคือหนี้สินจะมีมากขึ้น ๆ และหากมีการขาดทุนไปเรื่อย ๆ ทุนที่มีอยู่ก็จะหดหายไป หนี้สินก็ต้องชดใช้ ทุนก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการถูกนำไปชดใช้หนี้สิน

การคำนวณมูลค่าหุ้นเพื่อให้สะท้อนผลการดำเนินงานของสหกรณ์จึงมีความสำคัญยิ่งตามเจตนารมณ์ มาตรา 42 ตรงที่บัญญัติว่า สมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือและ เงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์ได้ออกแนวปฏิบัติการคำนวณมูลค่าหุ้นไว้ในคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องแนวปฏิบัติในการจ่ายคืนค่าหุ้น กรณีสหกรณ์/ชุมนุมสหกรณ์ขาดทุนสะสม พ.ศ.2549 ซึ่งคำแนะนำนี้ใช้คู่กับคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ 278/2549 โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าการคำนวณมูลค่าหุ้นตามคำแนะนำดังกล่าวสะท้อนสมการบัญชีได้ดีที่สุดแล้ว

ตอนเที่ยงวันนี้ผมดูหนังเรื่อง Justice League ตอนที่นางเอกกำลังต่อสู้กับอสูรผู้มีร่างกายใหญ่ยักษ์และมีฤทธิ์มาก อสูรถามนางเอกว่าเจ้าจะสู้ข้าทำไม นัยว่าสู้ไปก็มีแต่แพ้และต้องตาย นางเอกตอบว่า “I am a believer.” แปลว่าฉันมีศรัทธา ผมนี่ดวงตาเห็นธรรมเลย นึกถึงอุดมการณ์ และหลักการสหกรณ์ขึ้นมาทันที ไม่ได้โม้นะนี่

ผมไม่ได้ศรัทธาอุดมการณ์ และหลักการสหกรณ์เพราะว่าผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ แต่ผมศรัทธาเพราะผมศึกษาจนรับรู้และเข้าใจว่า การสหกรณ์นี้มีคุณค่าต่อสังคมโลกเพียงใด วันนี้พรุ่งนี้หากผมไม่ได้ทำงานในแวดวงสหกรณ์ ผมก็ยังคงมีศรัทธาต่อการสหกรณ์ตลอดไป ไม่มีอะไรมาเปลี่ยน เพราะผมเชื่อแล้วศรัทธาแล้วจริง ๆ

ย้อนกลับมาที่ปัญหาความขัดแย้งเรื่องสมาชิกที่พ้นจากสมาชิกภาพแล้วไม่ได้เงินค่าหุ้นคืน มันก็สะท้อนให้เห็นเรื่องความศรัทธาอย่างชัดเจนเช่นกัน ทำไมสมาชิกยังเข้าใจว่าจะต้องได้เงินค่าหุ้นคืนทั้ง ๆ ที่สหกรณ์ขาดทุนสะสมจนมูลค่าหุ้นติดลบ จากประสบการณ์ของผมอธิบายในเชิงกฎหมายก็แค่พอทำให้เข้าใจได้บางส่วนแต่ความไม่พอใจยังคงคุกรุ่น แต่พออธิบายด้วยหลักการสหกรณ์ข้อที่ 3 สมาชิกดังกล่าวก็มีท่าทีหายโมโหลงไปได้มากทีเดียว

การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก (Member Economic Participation) สมาชิกต้องเชื่อและศรัทธาในอุดมการณ์สหกรณ์ว่าจะพาหลุดพ้นจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ตรงนี้สำคัญมากว่าสหกรณ์ไม่ใช่พื้นที่แสวงหากำไรส่วนเกินเพื่อสะสมความมั่งคั่งแบบไม่รู้จบ แต่สหกรณ์มุ่งแสวงหา การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมด้วยการร่วมมือกันเองของหมู่มวลสมาชิกภายในสหกรณ์ ในการดำเนินธุรกิจ และกิจกรรมต่าง ๆ

การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม เกิดขึ้นตั้งแต่สหกรณ์เริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม ไม่ใช้เกิดขึ้นตอนสิ้นปีบัญชีแล้วมาดูผลการดำเนินงานในงบการเงินว่าเกิดผลกำไรเท่าไร จะแบ่งปันกันอย่างไร ฉะนั้นหากสมาชิกสหกรณ์ทุกคนร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมในระบบสหกรณ์ ตามหลักการสหกรณ์ข้อ 3 และข้ออื่น ๆ ให้ครบทั้ง 7 ข้อ ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ คงไม่มี หรือจะมีก็คงน้อยเต็มที เพราะสมาชิกทุกคนที่ศรัทธาในสหกรณ์จะเข้าใจว่า การกินดี อยู่ดีนั้น มันต้องอยู่บนพื้นฐานของ ความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมด้วยเสมอและตลอดไป

หลักการ และวิธีการสหกรณ์ (Cooperative Principles and Cooperative Methods)

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 2 : หลักการ และวิธีการสหกรณ์ (Cooperative Principles and Cooperative Methods) 

ความเดิมตอนที่แล้ว ผมเขียนเรื่องอุดมการณ์สหกรณ์ อธิบายพอสังเขปเกี่ยวกับเรื่อง อุดมการณ์ และที่มาของอุดมการณ์สหกรณ์ ก่อนจะเข้าเรื่องหลักการ และวิธีการสหกรณ์ ผมขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุดมการณ์เพิ่มเติมอีกนิดว่า 

วิธีการที่จะทำให้อุดมการณ์ดำรงอยู่ได้จะต้องผ่านเครื่องมือที่ใช้ติดตั้งระบบวิธีคิด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากลไกทางสังคม ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็นสองประเภท คือ กลไกด้านการปราบปราม (Repressive State Apparatus: RSA) หมายถึงกลไกเกี่ยวกับการใช้กำลัง ความรุนแรง การบังคับกดขี่ และกลไกด้านอุดมการณ์ (Ideological State Apparatus: ISA) หมายถึงกลไกสังคมที่ทำงานในเชิงอุดมการณ์หรือกำหนดกรอบพฤติกรรมความเชื่อของคนในสังคมให้รู้สึกเต็มใจที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม 

อุดมการณ์มีภาคปฏิบัติการ (Practices) ที่จะทำให้อุดมการณ์ต่าง ๆ ได้รับการผลิตซ้ำและดำรงไว้ในชีวิตประจำวันของผู้คน ปฏิบัติการของอุดมการณ์ (Ideological Practices) สามารถสรุปได้ดังนี้ 

1) การทำให้ดูราวกับเป็นธรรมชาติ (Naturalization) ภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ไม่ได้อยู่ในระดับของจิตสำนึกแบบง่าย ๆ อุดมการณ์ทำงานลึกลงไปในจิตไร้สำนึก (Unconscious) ทำให้เราไม่ได้ตระหนักถึงและรู้สึกราวกับว่ากระบวนการนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเป็นไปโดยปริยาย (Naturalized/Taken-for-Granted) โดยผ่านกลไกต่าง ๆ 

2) การผสมกันระหว่างความจริงกับจินตนาการ (Real-and-Seemingness) การทำงานของอุดมการณ์จะใช้วิธีการผสมเรื่องจริงกับเรื่องลวงจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย วิธีการดังกล่าวเกี่ยวโยงกับเรื่องของการสื่อสารเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่เราสัมผัสผ่านสื่อเป็นโลกแห่งจินตนาการ แต่อีกด้านหนึ่งในฐานะเป็นผู้รับสารก็มีโลกแห่งความจริงบางอย่างอยู่ล้อมรอบตัวเรา 

3) การสร้างชุดโครงสร้างสัมพันธ์ (Structuralist Set of Relations) อุดมการณ์จะทำงานผ่านชุดโครงสร้างสัมพันธ์ (Structuralist Set of Relations) ลำดับแรกจะมีการแบ่งขั้วความหมายออกเป็นความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้าม (Binary of Positions) และลำดับถัดมาจะมีการกำหนดชั้นของคุณค่า (Hierarchy of Values) ลงไว้ในขั้วความสัมพันธ์นั้น 

4) การผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ (Reproduction of Ideology) Althusser เชื่อว่าในมิติของจิตสำนึกและความคิดเองต้องมีการทำหน้าที่ผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ (Ideological Reproduction) มีคำถามที่สำคัญคือ ใครมีอำนาจในการผลิตซ้ำทางอุดมการณ์ และกระบวนการผลิตซ้ำดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร 

สรุปได้ว่า อุดมการณ์เพียงแค่ด้วยตัวมันเองไม่สามารถขับเคลื่อนผู้คนในสังคมให้ไปสู่เป้าหมายตามที่ต้องการได้ มันจะต้องมีภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ดังที่ได้อธิบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ แล้วอุดมการณ์สหกรณ์มีภาคปฏิบัติการอย่างไร มีรายละเอียดดังนี้ครับ 

องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (International Cooperative Alliance: ICA) ได้อธิบายเกี่ยวกับความหมายของสหกรณ์ (Definition of a Cooperative) คุณค่าสหกรณ์ (Cooperative values)  และ หลักการสหกรณ์ (Cooperative Principles) ไว้ ซึ่งขบวนการสหกรณ์ทั่วโลกได้ยึดถือเป็นแนวความเข้าใจเดียวกัน 

ซึ่งมีรายละเอียดดังจะได้อธิบายต่อไป แต่ผมจะขอข้ามเรื่องความหมายของสหกรณ์ และคุณค่าสหกรณ์ไปก่อน 

ICA อธิบายว่า หลักการสหกรณ์คือ การนำคุณค่าสหกรณ์ไปสู่การปฏิบัติ (The cooperative principles are guidelines by which cooperatives put their values into practice.) 

สำหรับผมเข้าใจว่า หลักการสหกรณ์เป็นแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่า การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมหมายความว่าผู้คนที่เชื่อมั่นยึดถือว่า การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม” เชื่ออย่างเดียวไม่พอต้องปฏิบัติการตามแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ด้วย จึงจะบรรลุเป้าหมาย การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม 

แนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ในความเข้าใจของผม ประกอบไปด้วย 

1. การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง (Voluntary and Open Membership) เจตนารมณ์ของหลักการสหกรณ์นี้อยู่บนพื้นฐานของการยอมรับนับถือกันโดยไม่จำกัดหรือกีดกันเรื่องความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในมิติต่าง ๆ  หนุนเสริมภราดรภาพระหว่างผู้คนในสังคม

2. การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Member Control) กล่าวได้ว่าเป็นหลักการที่หนุนเสริมยกชูสิทธิและเสรีภาพของผู้คนให้เท่าเทียมกัน จะเหลื่อมล้ำดำขาวมากจากไหน ใครตีตราให้คุณค่าอย่างไร แต่ถ้าเข้ามาอยู่ในระบบสหกรณ์แล้ว คนสหกรณ์ย่อมเท่ากันทุกคน 

3. การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก (Member Economic Participation) ผู้คนที่เข้าร่วมขบวนการสหกรณ์ตั้งแต่จุดแรกเริ่มเดิมที มีที่มาจากการถูกขูดรีดกำไรส่วนเกิน (ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ไม่ยุติธรรม และสาเหตุอื่น) ตามที่ผมอธิบายไว้แล้ว ตอนที่ 1 : อุดมการณ์สหกรณ์ (Cooperative Ideology) จึงเชื่อในอุดมการณ์สหกรณ์ว่าจะพาหลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าว ตรงนี้สำคัญมากว่าสหกรณ์ไม่ใช่พื้นที่แสวงหากำไรส่วนเกินเพื่อสะสมความมั่งคั่งแบบไม่รู้จบ แต่สหกรณ์มุ่งแสวงหา การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมด้วยการร่วมมือกันเองของคนสหกรณ์ภายในสหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจ และกิจกรรมต่าง ๆ การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม เกิดขึ้นตั้งแต่สหกรณ์เริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม ไม่ใช้เกิดขึ้นตอนสิ้นปีบัญชีแล้วมาดูผลการดำเนินงานในงบการเงินว่าเกิดผลกำไรเท่าไร จะแบ่งปันกันอย่างไร (เดี่ยวจะได้อธิบายเป็นการเฉพาะในตอนต่อไปเรื่อง กำไรในระบบสหกรณ์”) ฉะนั้นการที่สมาชิกสหกรณ์ทุกคนร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมในระบบสหกรณ์ จึงนำพาให้เป้าหมายของอุดมการณ์บรรลุผล 

4. การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ (Autonomy and Independence) ผู้คนที่ถูกขูดรีดกำไรส่วนเกินเมื่อได้ตกลงปลงใจเข้าร่วมขบวนการสหกรณ์แล้ว ย่อมตระหนักว่าความเปิดกว้างไม่กีดกันของสหกรณ์ ความเท่าเทียมกันของคนสหกรณ์ การมีส่วนร่วมแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในสหกรณ์ นั้นหอมหวานและสุขใจแค่ไหน จึงต้องหวงแหนโดยรักษาความดีงามต่าง ๆ ในระบบสหกรณ์ไว้ เพื่อให้สหกรณ์ยังปฏิบัติการเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางอุดมการณ์สหกรณ์ของทุกคนไว้ ไม่ให้ถูกครอบงำแทรกแซง จนสหกรณ์ไม่ได้ทำหน้าที่ของมันตามอุดมการณ์สหกรณ์ 

5. การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ (Education, Training, and Information) ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy) เปรียบเสมือนหัวใจของแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ โลกเปลี่ยนผ่านจากยุคสู่ยุค จาก pre-modern modern สู่ post-modern ในแต่ละยุคแต่ละสมัยนักคิด นักปรัชญา ได้สถาปณา อำนาจ ความรู้ ความจริง ตลอดจนอุดมกาณ์ของเรื่องราวต่าง ๆ ไว้มากมาย ความเชื่อบางความเชื่อยังดำรงอยู่จากอดีตสู่ปัจจุบัน หลายความเชื่อถูกลบล้าง ถอดรื้อ และสร้างใหม่ การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ เพื่อให้ผู้คนในขบวนการสหกรณ์และผู้คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ที่ถูกต้อง จึงเป็นแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาการสหกรณ์ พัฒนาขบวนการสหกรณ์ พัฒนาสังคม และรักษาคุ้มครองระบบสหกรณ์ไว้ตราบเท่าที่การสหกรณ์ยังสามารถนำพาผู้คนสู่เป้าหมายแห่งอุดมกาณ์สหกรณ์ 

6. การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (Cooperation among Cooperatives) ปัญหาการถูกขูดรีดกำไรส่วนเกิน (ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ไม่ยุติธรรม และสาเหตุอื่น) นำพาผู้คนที่ต้องการหลุดจากปัญหาดังกล่าวมาร่วมกันขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์ ความเชื่อความศรัทธาในเรื่อง การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันก่อให้เกิด Rochdale Pioneers ในปี ค.ศ. 1844 ก่อให้เกิด สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ในปี พ.ศ.2459 เอกสารชื่อ Measuring the Size and Scope of the Cooperative Economy: Results of the 2014 Global Census on Co-operatives เผยแพร่ใน https://www.un.org/esa/socdev/documents/2014/coopsegm/grace.pdf ระบุว่า ปี ค.ศ.2014 มีสหกรณ์ทั่วโลกจำนวน 2.6 ล้านแห่ง สมาชิกกว่า 1,000 ล้านคน จาก 145 ประเทศ การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในสหกรณ์ 1 แห่ง ก่อให้เกิด การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม ฉันใด การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ ก็ย่อมก่อให้เกิด การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมโลกฉันนั้น 

7. การเอื้ออาทรต่อชุมชน (Concern for Community) ขบวนการสหกรณ์ไม่สามารถพาทุกคนในสังคมขึ้นขบวนการสหกรณ์ไปสู่ การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม ได้ เนื่องจากแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์วางไว้ว่า การเป็นสมาชิกต้องเป็นไปโดยสมัครใจและเปิดกว้าง แม้สหกรณ์จะเปิดกว้าง แต่ถ้าผู้คนยังไม่เข้าใจ และยังไม่สมัครใจ เขาก็ย่อมยังไม่เข้าสู่ระบบสหกรณ์ ขบวนการสหกรณ์มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ ตลอดจนแบ่งปัน การกินดี อยู่ดี ความเป็นธรรม และสันติสุขสู่ทุกคนในชุมชนและสังคม โดยมุ่งหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะพาทุกคนขึ้นขบวนการสหกรณ์ไปด้วยกันโดยความสมัครใจและเปิดกว้างอย่างแท้จริง 

แนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ หรือหลักการสหกรณ์ดังกล่าวจะบรรลุเป้าหมายเชิงอุดมการณ์สหกรณ์ได้ ก็ด้วยการลงมือปฏิบัติการ หรือที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกว่า วิธีการสหกรณ์

 

ถ้าอธิบายแบบสั้นมาก ๆ วิธีการสหกรณ์ คือการนำหลักการสหกรณ์สากลทั้ง 7 ข้อ มาปฏิบัติ แต่ผมจะขออธิบายขยายความอีกหน่อยว่า ต้องปฏิบัติไปบนพื้นฐานของการคุ้มครองระบบสหกรณ์ และคุ้มครองสังคม สหกรณ์ปกครองตนเองและความเป็นอิสระก็จริง แต่ต้องไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคม และต้องรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อสังคมมีตัวบทกฎหมายในการคุ้มครองสังคม วิธีการสหกรณ์ ก็ต้องสอดคล้องกับบริบทและกฎระเบียบของสังคมนั้น ๆ ด้วย หลักการสหกรณ์สากลจึงมีเจตนารมณ์ที่เป็นแก่นแท้ให้เกิดการตอบสนองต่อเป้าหมายแห่งอุดมการณ์สหกรณ์ เมื่อนำหลักการสหกรณ์สากลมาปฏิบัติการก็ให้รักษาแก่นแท้นั้นไว้ แต่ปรับให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมต่าง ๆ เพื่อสมเจตนา มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

อุดมการณ์สหกรณ์ (Cooperative Ideology)

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 1 : อุดมการณ์สหกรณ์ (Cooperative Ideology) 

ผู้คนที่ยึดแนวทางสหกรณ์ในการดำเนินชีวิตเชื่อว่า “การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม” ความเชื่อดังกล่าว เรียกว่า “อุดมการณ์สหกรณ์” 

อุดมการณ์นั้นสำคัญไฉน ขออธิบายพอสังเขป ดังนี้

คำว่าอุดมการณ์ (Ideology) เป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน “อุดมการณ์” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ว่าหมายถึง อุดมคติอันสูงส่งที่จูงใจมนุษย์ให้พยายามบรรลุถึง ขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้คำนิยามว่าหมายถึง หลักการที่วางระเบียบไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีนักวิชาการบางคนให้ความหมายของ Ideology ว่า “อุดมคติ” (Ideal) ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ว่าหมายถึง จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน

Merriam Webster’s New Biographical Dictionary (2021: Online) ให้ความหมายของ Ideology ว่าคือ การอธิบายว่าด้วยระบบของแนวคิดที่เกี่ยวกับชีวิต และวัฒนธรรมความเชื่อของคน มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอธิบายลักษณะเฉพาะทางความคิดของบุคคล กลุ่มคน หรือสังคม ตลอดจนการอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎี และเป้าหมายที่ก่อขึ้นเป็นระบบความเชื่อทางการเมืองของสังคม 

คำว่าอุดมการณ์ เริ่มใช้กันครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ปีค.ศ.1797 โดยนักวิชาการชาวฝรั่งเศสชื่อ Antoine Louis Claude Destuttde Tracy เขาใช้คำนี้เรียกการศึกษาอย่างมีระบบของพวกพบแสงสว่าง (Enlightenment) ในช่วงศตวรรษที่ 18 ถึง 19 โดยที่คนกลุ่มนี้เชื่อว่าความรู้ที่แท้จริงสามารถหาได้โดยอาศัยประสบการณ์ เชื่อว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถนำมาใช้ปรับปรุงสังคมและสภาวการณ์ทางการเมืองได้ คำว่า Ideology ในบริบทนี้จึงถูกแปลว่า ศาสตร์แห่งความรู้ที่แน่นอน (Science of Ideas) 

กลุ่ม Marxist ใช้คำว่าอุดมการณ์ในความหมายเชิงประเมินค่า Marx ใช้คำนี้โดยหมายความว่า “ความเชื่อหรือความคิดที่ผิด (False Consciousness)” ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญสามประการ คือ 1) ความคิดที่ผิดนี้ไม่นับรวมความคิดของพวก Marxist 2) ความคิดที่ผิดบางชนิดที่เกิดจากความเข้าใจผิด หรือการตั้งสมมติฐานผิด ไม่นับรวมเป็นความคิดที่ผิดพลาด และ 3) ความคิดที่ผิดที่ถือเป็นอุดมการณ์นั้นต้องเป็นความเชื่อที่มีผลทางการปฏิบัติในสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นความเชื่อของคนทั้งกลุ่ม เช่น ความเชื่อทางศาสนา ความคิดแบบจิตนิยม ความคิดเหล่านี้ Marx ถือเป็นความคิดที่ผิดหรืออุดมการณ์ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งสิ้น 

Marx อธิบายว่าอุดมการณ์มีลักษณะทางสังคม ในแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละสังคม แต่ละกลุ่มคนมีอุดมการณ์ทั้งร่วมและต่างกัน ทฤษฎีอุดมการณ์ของ Marx เสนอให้สนใจตอบปัญหาพื้นฐาน 3 ประการ ประการแรกความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ประการที่สองความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นมาทำไม และประการสุดท้ายความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นมาทำหน้าที่อะไรบ้าง Marx ได้สรุปกฎพื้นฐานของความสำพันธ์ระหว่างตัวแปร 3 ตัว คือ อุดมการณ์ จิตสำนึก และการปฏิบัติการทางสังคมไว้ว่า “จิตสำนึกของคนเกิดมาจากปฏิบัติการในชีวิตจริง และความคิดหรืออุดมการณ์ของคนไม่ได้เกิดมาจากตัวเขาคนเดียว และไม่ได้หล่นมาจากฟากฟ้า หากแต่เกิดมาจากความสัมพันธ์ที่ตัวเขาและกลุ่มที่มีต่อกันและกัน โดยตัวแปรทั้ง 3 นี้มีความสัมพันธ์ในเชิงวิภาษวิธี คือต่างกำหนดซึ่งกันและกัน” 

ขณะที่ Althusser ให้นิยามของอุดมการณ์ว่าเป็น ชุดความคิดหรือกรอบวิธีคิด (Set of Idea or Conceptual Framework) ที่ได้รับการติดตั้งไว้สำหรับการทำความเข้าใจตัวเรา โลก และสังคม หรือ กรอบวิธีคิดในการสร้างความหมายต่อตัวเราและโลกรอบตัว 

โดยสรุปแล้ว อุดมการณ์เป็นความเชื่อที่มีผลทางการปฏิบัติในสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นความเชื่อของคนทั้งกลุ่ม เป็นกรอบวิธีคิดในการสร้างความหมายต่อตัวเราและโลกรอบตัว 

อุดมการณ์สหกรณ์ มีที่มาอย่างไร

Robert Owen (The Father of English Socialism and The Father of World Cooperative) คิดและวางรากฐานด้านการสหกรณ์ เนื่องจากชนชั้นกรรมาชีพ ณ ขณะนั้นถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน เพราะนายทุนใช้เครื่องจักรเครื่องกลมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ และต่อรองกับชนชั้นกรรมมาชีพโดยการลดค่าจ้างแรงงาน Robert Owen จึงคิดค้นวิธีการสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชนชั้นกรรมมาชีพที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ได้รับแรงหนุนเสริมจากการปฏิบัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มขึ้นในปี 1760 แนวคิดการสหกรณ์ มีวิธีการพัฒนาการสหกรณ์ โดยเริ่มต้นจาก Co-operative Magazine ของชมรมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า A London Co-operative Society ในปี 1824 วางรากฐานความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ผ่าน New Harmony community ในปี 1826 และเกิด Rochdale Pioneers ในปี 1844 

การสหกรณ์ไทยเริ่มก่อตัวขึ้นปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และเกิดขึ้นต้นรัชกาลที่ 6 โดยพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เป็นผู้ทรงวางรากฐานด้านการสหกรณ์ และทรงตั้งสหกรณ์แห่งแรกขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ชื่อ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ 

คำชี้แจงเรื่องสหกรณ์ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ แสดงแก่สมาชิกสหกรณ์ประเภทหาทุนในจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 ส่วนหนึ่งว่า

“...คนที่มาร่วมกันเข้าเป็นสหกรณ์ประเภทหาทุนนี้โดยมากความมุ่งหมายในชั้นแรกมีอยู่ คือ จะกู้เงินดอกเบี้ยตํ่ามาใช้หนี้เก่าซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยสูง และเมื่อเหลือใช้หนี้แล้วก็เอาไว้เป็นทุนทำนาต่อไปบ้าง”

ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรไทยในสมัยนั้นยากจนและมีหนี้สิน สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ เมื่อแรกตั้งมีสมาชิก 16 คน มีทุนดำเนินงาน 3,080 บาท เป็น ค่าธรรมเนียมแรก เข้า 80 บาท และเงินทุนซึ่งกู้จากแบงก์สยามกัมมาจล เป็นจำนวน 3,000 บาท ธนาคารฯ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 สหกรณ์ให้สมาชิกกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 สมาชิกเอาเงินกู้ที่ได้ไปชำระหนี้ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 12 ที่เหลือจึงเอามาลงทุนทำนา 

มูลเหตุของการเกิดขึ้นของ Rochdale Pioneers และสหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ มีบริบทที่แตกต่างกัน (สังคมแรงงานกับสังคมเกษตร) แต่เหมือนกันคือถูกเอารัดเอาเปรียบ แรงงานอังกฤษถูกกดค่าแรงงาน ขณะที่เกษตรกรสยามถูกขูดรีดดอกเบี้ย 

การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม” จึงเป็นความเชื่อระดับที่อยู่เหนือกระบวนทัศน์ (Paradigm) มีความลึกซึ้ง มีเป้าหมายปลดเปลื้องพันธนาการอันเกิดจากความไม่ยุติธรรมเท่าเทียม ให้เกิดการกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

 

ผมเขียนอธิบาย “อุดมการณ์สหกรณ์”เพื่อให้ผู้คนที่สนใจและผู้คนในขบวนการสหกรณ์ได้ตระหนักว่า หากเรายังยึดมั่นในอุดมการณ์สหกรณ์ หากเรามีความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสหกรณ์ วิธีการดำเนินงานของสหกรณ์ก็จะอำนวยให้เกิดผลดีแก่ผู้คนในขบวนการสหกรณ์และสังคมโดยรวม

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน

 แนวคิดพื้นฐาน 

คำว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน มีคำสำคัญ 3 คำ คือคำว่า การพัฒนาคำว่า ทรัพยากรมนุษย์และคำว่า ชุมชนโดยคำทั้งสามครอบคลุมใน 3 มิติ คือ มิติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับปัจเจก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับองค์กร และการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีแนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคำสำคัญดังกล่าวโดยสังเขปดังนี้ 

            แนวคิดเรื่องการการพัฒนา

การพัฒนา (Development) เป็นประดิษฐกรรมทางประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่ได้รับความนิยมกันอย่างรวดเร็วและแพร่หลายในสังคมยุคปัจจุบัน การพัฒนาถูกสร้างขึ้นมาโดยประเทศมหาอำนาจตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหมายของการพัฒนาค่อนข้างมีความเป็นพลวัตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ในยุคเริ่มแรกของการพัฒนานั้น การพัฒนาหมายถึงการทำให้ทันสมัยอย่างสังคมตะวันตกโดยให้น้ำหนักไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาการเมือง ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย” (Modernization Theory) เมื่อเวลาผ่านมาจนผลของการพัฒนาได้ปรากฏให้ผู้คนในสังคมได้เห็นชัดว่าการพัฒนาได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เทียมกันในสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ผู้คนในสังคมจำนวนมากยากจนลง แต่ผู้คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา จนมีที่มาของคำว่า ด้อยพัฒนา จึงทำให้เริ่มมีผู้คนในแวดวงการพัฒนาเริ่มออกมาต่อต้านแนวคิดการพัฒนาตามแบบของทฤษฎีความทันสมัย ก่อให้เกิดการต่อสู้กันทั้งทางแนวคิด ทฤษฎี และวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามากมายในปัจจุบัน เช่น การก่อเกิดของทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) ทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) และแนวความคิดว่าด้วยความด้อยพัฒนาแนวมาร์กซิสต์ใหม่ (Neo-Marxist) ทั้งหลายเป็นต้น (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2549: 17-18) 

          แนวคิดเรื่องทรัพยากรมนุษย์

แนวคิดด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชื่อว่า มนุษย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จัดอยู่ในทรัพยากรประเภทเกิดขึ้นและทดแทนใหม่ได้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติได้เช่นเดียวกับทรัพยากรอื่นๆ กำลังงานมนุษย์แบ่งออกได้เป็นสองทางคือ กำลังทางด้านร่างกาย และกำลังทางจิต โดยกำลังทางกายและกำลังทางจิตสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ หรือถูกลดทอนทำลายให้กลายเป็นกำลังที่ขาดประสิทธิภาพได้ (นิวัติ เรื่องพานิช, 2542: 287-289)

ในมิติด้านชุมชนเชื่อว่า มนุษย์คือมนุษย์ มนุษย์เป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์มีความคิด มีจิตใจ มนุษย์มีเหตุผลมีวิจารณญาณ มนุษย์สามารถตัดสินใจเองได้ มนุษย์เรียนรู้สิ่งต่างๆได้ทั้งทางนามธรรมและรูปธรรม มนุษย์สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองได้ตามความคิดของตน มนุษย์สามารถสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของตนให้เหมาะสม และสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ (นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์, 2550: 33)

ในมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า มนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ และเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์และความมั่งคั่งของประเทศชาติ (บุญคง หันจางสิทธิ์, 2549: 2) ทรัพยากรมนุษย์ในทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญได้แก่ แรงงาน และ ผู้ประกอบการ            โดยแรงงาน หรือทรัพยากรมนุษย์ (Human Research) หรือทุนมนุษย์ (Human Capital) ได้แก่ แรงกาย แรงใจ ตลอดจนสติปัญญา ความรู้ และความคิด ที่มนุษย์ทุ่มเทให้แก่การผลิตสินค้าและบริการ โดยทั่วไปแบ่งแรงงานเป็น 3 ประเภท คือ 1) แรงงานฝีมือ 2) แรงงานกึ่งฝีมือ และ 3) แรงงานไร้ฝีมือ ผลตอบแทนของแรงงานเรียกว่าค่าจ้างและเงินเดือน (Wage and Salary) ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) คือผู้ทำหน้าที่รวบรวมปัจจัยการผลิต 3 ประเภท คือ ที่ดิน แรงงาน และทุน เพื่อทำการผลิตสินค้าและบริการ ค่าตอบแทนของผู้ประกอบการเรียกว่ากำไร (Profit) (วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2539: 3)

 

          แนวคิดเรื่องชุมชน

นักสังคมวิทยา (Olsen, 1968: 91) ได้นิยามความหมายของชุมชนว่า หมายถึงองค์กรทางสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของสมาชิก แต่ยังสามารถช่วยให้สมาชิกสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆที่มีอยู่ร่วมกันได้ โดยทั่วไปชุมชนจะประกอบด้วยครอบครัวหลายครอบครัวมารวมกัน ด้วยความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพากันในด้านต่างๆ เช่น การทำมาหากิน การดูแลรักษาโรค สันทนาการ พิธีกรรมความเชื่อ  อย่างไรก็ตามอาจมีชุมชนของเผ่าบางแห่ง ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากครอบครัวขยายหรือวงศ์วานเดียวกันเท่านั้น (อ้างใน นภาภรณ์ หะวานนท์, เพ็ญสิริ จีระเดชากุล และ สุรวุฒิ ปัดไธสง, 2550: 34) 

แนวคิดเรื่ององค์กร

ในสังคมขนาดใหญ่ มักมีความซับซ้อนในการจัดระเบียบ มีความหลากหลายทั้งในแง่วิธีการและการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม การที่บุคคลแต่ละกลุ่มมีเป้าหมาย มีความต้องการที่แตกต่างกัน สังคมจึงจำเป็นต้องมีการจัดองค์กร (Organizations) เพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างโดยยึดหลักที่เป็นสากล เพื่อให้สามารถสนองประโยชน์แก่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งองค์กรในสังคมประกอบด้วย องค์กรแบบราชการ และองค์กรสมัครใจ

องค์กรแบบราชการ เป็นองค์กรที่เป็นทางการ มีความหมายกว้างกว่าหน่วยราชการ ได้แก่กระทรวง กรม กองต่างๆ ที่เป็นของรัฐ รวมถึงบริษัท ห้างร้าน ธนาคาร รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ มีลักษณะการบริหารหรือการจัดองค์กร โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการจัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามส่วนสายบังคับบัญชา มีกฎระเบียบที่จะต้องยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ มีสิทธิอำนาจตามข้อกฎหมาย มีความชำนาญเฉพาะทางทางด้านอาชีพ และมีอำนาจในการตัดสินใจ

องค์กรที่มีลักษณะเป็นสมาคมสมัครใจ มีทั้งกลุ่มที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสมาคมอาจยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์มีลักษณะที่สำคัญคือ สนองความต้องการหรือผลประโยชน์ส่วนบุคคล หรือของกลุ่มที่มีความสนใจร่วมกัน (ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544: 89-91) 

แนวคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ครอบคลุมใน 3 มิติ คือ 1) มนุษย์ในฐานะปัจเจกชน 2) มนุษย์ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชน และ 3) มนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรขององค์กร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

แนวคิดเรื่องการพัฒนามนุษย์ในระดับปัจเจก

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึงกระบวนการส่งเสริมการพัฒนาทั้งกำลังทางกายและกำลังทางจิตของมนุษย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องพัฒนามนุษย์ให้มีความเป็นอยู่ดี มีการศึกษา มีอนามัยที่ดี มีความรู้ ความชำนาญ และได้รับการพัฒนาทางด้านคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กันไป (นิวัติ เรื่องพานิช, 2542: 287-289) โดยวิธีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเรียน การอบรม การฝึกหัด และการฝึกปฏิบัติ เป็นต้น (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 13) 

แนวคิดเรื่องการพัฒนาชุมชน

การพัฒนาชุมชนหมายถึง กระบวนการทำงานอย่างหนึ่ง และเป็นกลยุทธ์ กลยุทธ์หนึ่ง ซึ่งมีจุดหมายปลายทางสูงสุดอยู่ที่การพัฒนาคนให้มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม (วิรัช เตียงหงษากุล, 2529: 3) การพัฒนาชุมชน (Community Development) มีที่มาจากคำว่า การศึกษามวลชน” (Mass Education) เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1948 อันเป็นผลมาจากรายงานเกี่ยวกับการศึกษามวลชนในสังคมแอฟริกัน (Mass Education in African Society) รายงานฉบับนี้เสนอแนะให้รัฐบาลอังกฤษกำหนดนโยบายการปกครองอาณานิคมในทวีปแอฟริกา ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ร่วมควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาตินำวิธีการพัฒนาชุมชนไปใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้การพัฒนาชุมชนมีความเป็นสากล โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี ค.ศ.1960-1969 เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนา และกำหนดให้ปี ค.ศ.1970-1979 เป็นทศวรรษที่ 2 แห่งการพัฒนา ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนมาจากหลักการเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันทั้งรูปร่าง มันสมอง และจิตใจ มนุษย์จึงไม่มีความเท่าเทียมกัน แต่โดยข้อเท็จจริงมนุษย์ทุกคนมีสิทธิและความเสมอภาคในการมีโอกาสที่จะกระทำสิ่งต่างๆ สิทธิและโอกาสที่จะก้าวหน้า ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนเกิดจากการผสมผสานหลักการเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์เข้ากับความหมายของการพัฒนาชุมชนที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและโอกาสในการประสบผลสำเร็จในชีวิตของคน (สนธยา พลศรี, 2547: 41-43) 

แนวคิดเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือ กระบวนการที่พนักงานขององค์กรได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในแนวทางที่ได้วางแผนให้ได้มาซึ่งความสามารถ หรือทำให้ความสามารถแหลมคมขึ้นซึ่งจำเป็นต่อการทำหน้าที่ต่างๆที่สัมพันธ์กับบทบาทที่คาดหวังในปัจจุบันและอนาคต เพื่อพัฒนาความสามารถทั่วไปในฐานะปัจเจกบุคคลเพื่อที่เขาจะได้สามารถค้นพบและสำรวจศักยภาพภายในของเขา และวัตถุประสงค์ของการพัฒนาองค์การ วัฒนธรรมองค์การที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับผู้บังคับบัญชา ทีมงาน และความร่วมมือของหน่วยย่อยต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งทำประโยชน์ให้กับองค์กร เกิดพลัง และความภาคภูมิใจของพนักงาน (ที วี ราว อ้างใน ชาญชัย อาจินสมาจาร, 2550: 28) 

ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนกับมิติด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม 

          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนเป็นแนวคิดการพัฒนาที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ กล่าวคือ เป็นการพัฒนาที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมิติต่างๆทางด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม เนื่องจากมนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ใช้องค์ประกอบต่างๆเหล่านั้นเพื่อการดำเนินชีวิตในสังคม ซึ่งมีรายละเอียดของความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงต่างๆดังนี้ 

          1) การศึกษา

          การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้เพราะการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างความรู้ความสามารถให้แก่ทรัพยากรมนุษย์ โดยที่สามารถจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัยในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ใช้การศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน และการให้การศึกษาจะเป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมและประเทศอย่างได้ผล การศึกษาจะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ดังนั้นเป้าหมายของทุก ๆ ประเทศจึงมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้กระบวนการทางการศึกษาเป็นสำคัญ การลงทุนทางการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลในทุก ๆ ประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 20) 

          2) สังคมและวัฒนธรรม

          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทัศนะทางสังคมวิทยานั้นมีมิติการพัฒนาที่แตกต่างกัน ทั้ง

ในระดับบุคคลและสังคม โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ตามสภาพประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของสังคม เพื่อให้สมาชิกของสังคมสามารถอยู่รอด ภายใต้การควบคุมทางสังคมอย่างเหมาะสม (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 15) 

          3) เศรษฐกิจ

          ในทางเศรษฐศาสตร์มักจะให้ความสำคัญกับระบบการผลิต โดยพยายามให้เกิดผลผลิตสูงมากที่สุด ในกระบวนการผลิตนั้น ประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ คือที่ดิน (Land) แรงงาน (Labour) และ ทุน (Capital) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ต่างยอมรับว่าแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เป็นหนทางนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของชาติ แรงงานนั้นจะต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะและความชำนาญในการทำงานมี ความสามารถในการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยมีที่ดินและทุน เป็นปัจจัย สนับสนุนให้การผลิตนั้นประสบผลสำเร็จมากขึ้น (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 53) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติทางเศรษฐศาสตร์ จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคนเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการผลิตสินค้าและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามความต้องการของผู้ประกอบการ และตลาดซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดความต้องการในระดับสูงสุด 

          4) การเมือง

          ในทางรัฐศาสตร์นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพราะการเมือง การปกครอง เป็นตัวจักรที่สำคัญในการบริหารประเทศ โดยเกี่ยวข้องกับการกำหนด กฎเกณฑ์ นโยบาย หลักการต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารและพัฒนาประเทศ สาขารัฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับมนุษย์ในฐานะที่มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเมือง การปกครองได้แนวคิดทฤษฎีทางรัฐศาสตร์มีหลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีการเมือง คลาสสิค ทฤษฎีการเมืองปัจจุบัน ทฤษฎีประชาธิปไตยสมัยปัจจุบัน ทฤษฎีองค์การและการตัดสินใจ ทฤษฎีมนุษยสัมพันธ์ในองค์การ และทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น ในแต่ละทฤษฏีดังกล่าวข้างต้นต่างมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการพัฒนาความรู้ความเข้าใจให้ทุกคนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยมุ่งเน้นให้เข้าใจในสิทธิของตนเองต่อการปกครอง (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 14) 

          5) สิ่งแวดล้อม

          ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกกำหนดมาจากสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์แตกต่างกัน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะแตกต่างกันด้วย มนุษย์เป็นผู้ที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิตในแทบจะทุกด้าน และจะขาดแคลนสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เลย เช่น อากาศ น้ำ แสงอาทิตย์ ป่าไม้ แผ่นดิน เป็นต้น พฤติกรรมความเชื่อของมนุษย์จึงมักถูกกำหนดด้วยปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ให้มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เช่น วิถีชีวิตของชาวเขาที่อาศัยอยู่บนดอย มักจะแตกต่างจากการดำรงชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่ม เป็นต้น และเมื่อจำนวนมนุษย์เพิ่มมากขึ้นดังเช่นในปัจจุบัน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยิ่งมีความสำคัญต่อมนุษย์มากขึ้น เพราะความต้องการใช้ของมนุษย์มากขึ้น แต่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรมนุษย์จึงมีความสำคัญมากในปัจจุบัน โดยมนุษย์ในฐานะผู้บริโภคจะบริหารจัดการอย่างไรให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด สามารถตอบสนองความต้องการใช้ของมนุษย์ต่อไปได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงให้มีพอใช้ไปจนถึงคนรุ่นต่อไปด้วย

แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์เกิดความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยยึดแนวทางและวิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้แก่ การถนอมรักษา การฟื้นฟู การลดปริมาณของเสีย การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน การสงวนและนำสิ่งอื่นมาใช้ทดแทน การสำรวจทรัพยากร และการประดิษฐ์ของเทียมขึ้นใช้ (ศศินา ภารา, 2550: 284-285) 

          6) จริยธรรม

          มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีสัญชาติญาณต้องการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การที่มนุษย์ที่มีความแตกต่างกันมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน หรือสังคม จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับร่วมกันเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ซึ่งเนื้อหาของกฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการปฏิบัติต่อกันของผู้คน หลักจริยธรรมถือเป็นกฎเกณฑ์หนึ่งที่สำคัญในการหล่อหลอมให้มนุษย์เชื่อและปฏิบัติตาม ซึ่งหลักจริยธรรมส่วนใหญ่มีที่มาจากศาสนา โดยทุกศาสนาต่างมีปรัชญาแนวคิดต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ แตกต่างกัน เช่น ศาสนาพุทธเชื่อว่า มนุษย์ต้องการแสวงหาหนทางที่หลุดพ้นและความสงบสุขทางด้านอารมณ์และจิตใจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวพุทธศาสตร์นั้นเน้นในเรื่องการพัฒนาอารมณ์ จิตใจ คุณธรรม จริยธรรม ให้อยู่ในสังคมไว้อย่างมีความสุข มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อไปเพื่อให้สังคมน่าอยู่ สงบสุข (ภัทรธิรา ผลงาม, 2548: 14) 

          จากความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนกับมิติด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อมและจริยธรรมดังที่กล่าวมา จะเห็นว่าแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบริบทต่างๆดังกล่าวอย่างมาก และมีอิทธิพลต่อกันซึ่งสามารถสรุปความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างกันได้ดังแผนภาพที่ 1.

จากแผนภาพที่ 1. แสดงกรอบแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน ซึ่งวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีวัตถุนิยมแบบประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) ของ คาร์ล มาร์ก เป็นแนวทาง ซึ่งในการพิจารณาประวัติศาสตร์จะต้องแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ

            1) พลังการผลิต (Productive Forces) คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เป็นวิธีการที่มนุษย์ขัดแย้งเอาชนะธรรมชาติเรียกว่า วิธีการผลิตหรือเทคโนโลยี

            2) ความสัมพันธ์ในการผลิต (Relations of Production) คือโครงสร้างเศรษฐกิจหรือระบบกรรมสิทธิ์ ซึ่งกำหนดว่าใครเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตนี้จะกำหนดต่อไปว่า ใครจะได้ส่วนเกินที่เหลือจากการบริโภค

            3) โครงสร้างส่วนบน (Superstructure) คือระบบกฎหมาย ระบบการเมือง วัฒนธรรม และระบบความคิด (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2546: 153)

จากแผนภาพจะเห็นว่าทรัพยากรมนุษย์ในฐานะพลังการผลิตของสังคม อาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชน หลายๆชุมชนรวมเป็นสังคม และภายในสังคมมีการแบ่งงานกันทำ โดยจัดตั้งเป็นองค์กรต่างๆ โดยใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าและบริการ มีการพัฒนาพลังการผลิตของตนเอง (การศึกษา การอบรม เทคโนโลยี) เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนและสังคมได้ ในด้านความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่อกัน และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เกิดวัฒนธรรมชุมชนในชุมชน และวัฒนธรรมองค์กรภายในองค์กร และก่อให้เกิดระบบความสัมพันธ์ทางการผลิต (ระบบเศรษฐกิจ) ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เกิดขึ้นก็จะกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งอาจจะถูกกำหนดมาจากพลังการผลิต หรือโครงสร้างส่วนบนผ่านนโยบายของรัฐ ซึ่งโครงสร้างส่วนบนก็ถูกกำหนดมาจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลังการผลิตทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม (การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย)

ในระบบความสัมพันธ์ดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการของมนุษย์ ที่เป็นพลังการผลิตพื้นฐานของชุมชนและสังคม ความสัมพันธ์ทางการผลิต ตลอดจนนโยบายของรัฐ จะต้องสอดคล้องอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นพลังการผลิต สังคมโดยรวมจึงจะเกิดความสมดุลและสงบสุข แต่หากการพัฒนาไม่มีความสมดุลจนส่งผลให้พลังการผลิตเปลี่ยน จะทำให้ความสัมพันธ์ในการผลิตและระบบกรรมสิทธิ์เปลี่ยน จะเกิดการขัดแย้งกับโครงสร้างส่วนบนซึ่งพยายามรักษาสถานะเดิมไว้ ทำให้เกิดการปฏิวัติสังคม และโครงสร้างส่วนบนจะต้องเปลี่ยนจนสอดคล้องกับพลังการผลิตในที่สุด 

แนวทางและเป้าหมายของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน 

แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนจะต้องมีความสอดคล้องกับสภาพภูมิ-สังคมของแต่ละพื้นที่ คำนึงถึงฐานทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายของคน ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม การเคารพในสิทธิมนุษยชน และหลักประชาธิปไตย โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการพัฒนา เช่น การศึกษา การฝึกอบรม การสนับสนุนด้านงบประมาณ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างชุมชน ระหว่างองค์กร การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ เป็นต้น โดยเป้าหมายของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ละดับบุคคล องค์กร และชุมชน เพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์ในระดับต่างๆ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า มีศักยภาพในการผลิตเพื่อการบริโภคของตนเอง และทำประโยชน์ให้กับองค์กรและชุมชน เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีจริยธรรมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมโดยรวมเกิดความเจริญงอกงาม มีความมั่นคง และผาสุก ตลอดไปอย่างยั่งยืน 

สรุป 

          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ และบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมนุษย์ ซึ่งได้แก่บริบททางด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์มีศักยภาพในการดำเนินวิถีชีวิตไปตามสภาพแวดล้อมและสังคมอย่างเหมาะสม โดยใช้วิธีการต่างๆที่เหมาะสมกับความเชื่อ ทัศนคติ วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ใน ภูมิ-สังคมต่างๆ เช่น การเรียนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา การฝึกอบรม การทดลองเป็นต้น ที่ผ่านมามนุษย์ได้ใช้วิธีการต่างๆเพื่อการพัฒนาตนเองและผู้คนในสังคม ซึ่งรวมถึงสังคมโลกด้วย แต่การพัฒนาที่ผ่านมาผู้คนได้ยึดแนวทางการพัฒนาที่เป็นกระแสหลักมากเกินไป โดยทำตามๆกันไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้แนวคิดการพัฒนาที่ไม่ใช่กระแสหลักถูกเบียดขับ กลายเป็นแนวทางชายขอบ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ และไม่ให้คุณค่า ทำให้แนวทางการพัฒนาชายขอบขาดการพัฒนาต่อยอดและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตกับผู้คนในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้คนในสังคมได้รับการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมด้านการให้คุณค่าของผู้คนในสังคม เช่น องค์ความรู้ท้องท้องถิ่นต่างๆ ที่แม้จะมีประโยชน์ มีคุณค่า แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งผู้คนในสังคมและผู้คนในท้องถิ่นเอง ขณะที่เครื่องมือการพัฒนาในแนวทางหลักยังไม่สามารถตอบสนองต่อผู้คนได้อย่างทั่วถึงครอบคลุม เกิดภาวะที่เรียกว่าชุมชนอ่อนแอ ชุมชนล่มสลาย เพราะสมาชิกในชุมชนที่เข้าไม่ถึงเครื่องมือการพัฒนากระแสหลักได้ละทิ้งแนวทางพื้นฐานของตนเอง เพื่อแสดงหาการพัฒนากระแสหลักที่ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับ

            การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนจึงควรเป็นการพัฒนาที่สมดุล ให้คุณค่ากับแนวทางการพัฒนาทุกรูปแบบที่มีประโยชน์ โดยยึดความต้องการของหน่วยย่อยต่างๆในสังคมเป็นพื้นฐาน แนวทางหลักในการพัฒนาสังคมโดยรวมต้องบูรณาการความหลากหลายต่างๆมีอยู่ ให้สามารถตอบสนองมนุษย์และชุมชนที่หลากหลายในสังคมได้อย่างเท่าเทียม ผู้มีหน้าที่บริหารสังคมต้องกล้าชี้ให้เห็นว่าแนวทางใดที่เป็นการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม และต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เลือกใช้แนวทางการพัฒนาที่เชื่อว่าจะสามารถตอบสนองต่อผู้คนทุกๆคน ทุกๆกลุ่มในสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ยึดถือแนวทางการพัฒนากระแสหลักแต่เพียงอย่างเดียว 

บรรณานุกรม 

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา.  2546.  ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชาญชัย อาจินสมาจาร.  2550.  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.  2549.  วาทกรรมการพัฒนา.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา.

นภาภรณ์ หะวานนท์, เพ็ญสิริ จีระเดชากุล และ สุรวุฒิ ปัดไธสง.  2550.  ทฤษฎีฐานรากในเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ บรรณาธิการ.  2550.  กถา พัฒนากร.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพมหานครฯ: บริษัท รำไทยเพรส จำกัด.

นิวัติ เรื่องพานิช.  2542.  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานครฯ: ลินคอร์น โปรโมชั่น.

บุญคง หันจางสิทธิ์.  2549.  เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานครฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

ภัทรธิรา ผลงาม.  2548.  เอกสารประกอบการสอนรายวิชา ทรัพยากรมนุษย์กับการพัฒนา (ออนไลน์).  http://www.rds.phd.lru.ac.th/Dr.patthira/tomra04/, 28 กันยายน 2551.

ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  2544.  สังคมและวัฒนธรรม.  พิมพ์ครั้งที่ 7.  กรุงเทพมหานครฯ: บริษัทด่านสุธาการพิมพ์ จำกัด.

วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน.  2539.  เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เศรษฐศาสตร์สำหรับบุคคลทั่วไป.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพมหานครฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิรัช เตียงหงษากุล.  2529.  หลักการพัฒนาชุมชน: บทบาทของสถาบันการศึกษากับการพัฒนาชุมชนชนบท.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

สนธยา พลศรี, 2547.  ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพมหานครฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

ศศินา ภารา.  2550.  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  กรุงเทพมหานครฯ: บริษัท ส.เอเซียเพรส (1989) จำกัด.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.  2551.  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 พ.ศ.2550-2554 (ออนไลน์).  http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=90, 28 กันยายน 2551.


เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...