วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

อุดมการณ์สหกรณ์ (Cooperative Ideology)

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 1 : อุดมการณ์สหกรณ์ (Cooperative Ideology) 

ผู้คนที่ยึดแนวทางสหกรณ์ในการดำเนินชีวิตเชื่อว่า “การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม” ความเชื่อดังกล่าว เรียกว่า “อุดมการณ์สหกรณ์” 

อุดมการณ์นั้นสำคัญไฉน ขออธิบายพอสังเขป ดังนี้

คำว่าอุดมการณ์ (Ideology) เป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน “อุดมการณ์” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ว่าหมายถึง อุดมคติอันสูงส่งที่จูงใจมนุษย์ให้พยายามบรรลุถึง ขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้คำนิยามว่าหมายถึง หลักการที่วางระเบียบไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีนักวิชาการบางคนให้ความหมายของ Ideology ว่า “อุดมคติ” (Ideal) ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ว่าหมายถึง จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน

Merriam Webster’s New Biographical Dictionary (2021: Online) ให้ความหมายของ Ideology ว่าคือ การอธิบายว่าด้วยระบบของแนวคิดที่เกี่ยวกับชีวิต และวัฒนธรรมความเชื่อของคน มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอธิบายลักษณะเฉพาะทางความคิดของบุคคล กลุ่มคน หรือสังคม ตลอดจนการอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎี และเป้าหมายที่ก่อขึ้นเป็นระบบความเชื่อทางการเมืองของสังคม 

คำว่าอุดมการณ์ เริ่มใช้กันครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ปีค.ศ.1797 โดยนักวิชาการชาวฝรั่งเศสชื่อ Antoine Louis Claude Destuttde Tracy เขาใช้คำนี้เรียกการศึกษาอย่างมีระบบของพวกพบแสงสว่าง (Enlightenment) ในช่วงศตวรรษที่ 18 ถึง 19 โดยที่คนกลุ่มนี้เชื่อว่าความรู้ที่แท้จริงสามารถหาได้โดยอาศัยประสบการณ์ เชื่อว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถนำมาใช้ปรับปรุงสังคมและสภาวการณ์ทางการเมืองได้ คำว่า Ideology ในบริบทนี้จึงถูกแปลว่า ศาสตร์แห่งความรู้ที่แน่นอน (Science of Ideas) 

กลุ่ม Marxist ใช้คำว่าอุดมการณ์ในความหมายเชิงประเมินค่า Marx ใช้คำนี้โดยหมายความว่า “ความเชื่อหรือความคิดที่ผิด (False Consciousness)” ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญสามประการ คือ 1) ความคิดที่ผิดนี้ไม่นับรวมความคิดของพวก Marxist 2) ความคิดที่ผิดบางชนิดที่เกิดจากความเข้าใจผิด หรือการตั้งสมมติฐานผิด ไม่นับรวมเป็นความคิดที่ผิดพลาด และ 3) ความคิดที่ผิดที่ถือเป็นอุดมการณ์นั้นต้องเป็นความเชื่อที่มีผลทางการปฏิบัติในสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นความเชื่อของคนทั้งกลุ่ม เช่น ความเชื่อทางศาสนา ความคิดแบบจิตนิยม ความคิดเหล่านี้ Marx ถือเป็นความคิดที่ผิดหรืออุดมการณ์ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งสิ้น 

Marx อธิบายว่าอุดมการณ์มีลักษณะทางสังคม ในแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละสังคม แต่ละกลุ่มคนมีอุดมการณ์ทั้งร่วมและต่างกัน ทฤษฎีอุดมการณ์ของ Marx เสนอให้สนใจตอบปัญหาพื้นฐาน 3 ประการ ประการแรกความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ประการที่สองความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นมาทำไม และประการสุดท้ายความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นมาทำหน้าที่อะไรบ้าง Marx ได้สรุปกฎพื้นฐานของความสำพันธ์ระหว่างตัวแปร 3 ตัว คือ อุดมการณ์ จิตสำนึก และการปฏิบัติการทางสังคมไว้ว่า “จิตสำนึกของคนเกิดมาจากปฏิบัติการในชีวิตจริง และความคิดหรืออุดมการณ์ของคนไม่ได้เกิดมาจากตัวเขาคนเดียว และไม่ได้หล่นมาจากฟากฟ้า หากแต่เกิดมาจากความสัมพันธ์ที่ตัวเขาและกลุ่มที่มีต่อกันและกัน โดยตัวแปรทั้ง 3 นี้มีความสัมพันธ์ในเชิงวิภาษวิธี คือต่างกำหนดซึ่งกันและกัน” 

ขณะที่ Althusser ให้นิยามของอุดมการณ์ว่าเป็น ชุดความคิดหรือกรอบวิธีคิด (Set of Idea or Conceptual Framework) ที่ได้รับการติดตั้งไว้สำหรับการทำความเข้าใจตัวเรา โลก และสังคม หรือ กรอบวิธีคิดในการสร้างความหมายต่อตัวเราและโลกรอบตัว 

โดยสรุปแล้ว อุดมการณ์เป็นความเชื่อที่มีผลทางการปฏิบัติในสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นความเชื่อของคนทั้งกลุ่ม เป็นกรอบวิธีคิดในการสร้างความหมายต่อตัวเราและโลกรอบตัว 

อุดมการณ์สหกรณ์ มีที่มาอย่างไร

Robert Owen (The Father of English Socialism and The Father of World Cooperative) คิดและวางรากฐานด้านการสหกรณ์ เนื่องจากชนชั้นกรรมาชีพ ณ ขณะนั้นถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน เพราะนายทุนใช้เครื่องจักรเครื่องกลมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ และต่อรองกับชนชั้นกรรมมาชีพโดยการลดค่าจ้างแรงงาน Robert Owen จึงคิดค้นวิธีการสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชนชั้นกรรมมาชีพที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ได้รับแรงหนุนเสริมจากการปฏิบัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มขึ้นในปี 1760 แนวคิดการสหกรณ์ มีวิธีการพัฒนาการสหกรณ์ โดยเริ่มต้นจาก Co-operative Magazine ของชมรมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า A London Co-operative Society ในปี 1824 วางรากฐานความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ผ่าน New Harmony community ในปี 1826 และเกิด Rochdale Pioneers ในปี 1844 

การสหกรณ์ไทยเริ่มก่อตัวขึ้นปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และเกิดขึ้นต้นรัชกาลที่ 6 โดยพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เป็นผู้ทรงวางรากฐานด้านการสหกรณ์ และทรงตั้งสหกรณ์แห่งแรกขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ชื่อ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ 

คำชี้แจงเรื่องสหกรณ์ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ แสดงแก่สมาชิกสหกรณ์ประเภทหาทุนในจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 ส่วนหนึ่งว่า

“...คนที่มาร่วมกันเข้าเป็นสหกรณ์ประเภทหาทุนนี้โดยมากความมุ่งหมายในชั้นแรกมีอยู่ คือ จะกู้เงินดอกเบี้ยตํ่ามาใช้หนี้เก่าซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยสูง และเมื่อเหลือใช้หนี้แล้วก็เอาไว้เป็นทุนทำนาต่อไปบ้าง”

ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรไทยในสมัยนั้นยากจนและมีหนี้สิน สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ เมื่อแรกตั้งมีสมาชิก 16 คน มีทุนดำเนินงาน 3,080 บาท เป็น ค่าธรรมเนียมแรก เข้า 80 บาท และเงินทุนซึ่งกู้จากแบงก์สยามกัมมาจล เป็นจำนวน 3,000 บาท ธนาคารฯ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 สหกรณ์ให้สมาชิกกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 สมาชิกเอาเงินกู้ที่ได้ไปชำระหนี้ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 12 ที่เหลือจึงเอามาลงทุนทำนา 

มูลเหตุของการเกิดขึ้นของ Rochdale Pioneers และสหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ มีบริบทที่แตกต่างกัน (สังคมแรงงานกับสังคมเกษตร) แต่เหมือนกันคือถูกเอารัดเอาเปรียบ แรงงานอังกฤษถูกกดค่าแรงงาน ขณะที่เกษตรกรสยามถูกขูดรีดดอกเบี้ย 

การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม” จึงเป็นความเชื่อระดับที่อยู่เหนือกระบวนทัศน์ (Paradigm) มีความลึกซึ้ง มีเป้าหมายปลดเปลื้องพันธนาการอันเกิดจากความไม่ยุติธรรมเท่าเทียม ให้เกิดการกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

 

ผมเขียนอธิบาย “อุดมการณ์สหกรณ์”เพื่อให้ผู้คนที่สนใจและผู้คนในขบวนการสหกรณ์ได้ตระหนักว่า หากเรายังยึดมั่นในอุดมการณ์สหกรณ์ หากเรามีความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสหกรณ์ วิธีการดำเนินงานของสหกรณ์ก็จะอำนวยให้เกิดผลดีแก่ผู้คนในขบวนการสหกรณ์และสังคมโดยรวม

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...