วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

มูลค่าหุ้นกับหลักการสหกรณ์ข้อที่ 3

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 2 : หลักการ และวิธีการสหกรณ์ (Cooperative Principles and Cooperative Methods)

ตอนที่ (พิเศษ) : มูลค่าหุ้นกับหลักการสหกรณ์ข้อที่ 3 

ปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจาก สมาชิกที่พ้นจากสมาชิกภาพแล้วไม่ได้เงินค่าหุ้นคืน ผมไม่รู้ว่าปัญหานี้มีมานานแค่ไหน เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ปัจจุบันผมต้องแนะนำส่งเสริมอธิบายเรื่องนี้อยู่เนือง ๆ ปัญหาสมาชิกที่พ้นจากสมาชิกภาพแล้วไม่ได้เงินค่าหุ้นคืน เนื่องจากมูลค่าหุ้นลดน้อยถอยลงด้อยค่าจนมีค่าต่ำกว่าศูนย์บาทต่อหุ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ลองทำความเข้าใจกันดูครับ

ทำความเข้าใจเรื่องหุ้นในสหกรณ์ตามกฎหมาย

พ.ร.บ.สหกรณ พ.ศ.2471

มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า

(6) จำกัดสินใช้ให้หมายความว่า สมาชิกแห่งสหกรร์อันได้จดทะเบียนแล้วนั้น ต้องหนี้สินของสหกรณ์จำกัดเพียงไม่เกินราคาหุ้นของตนที่ยังส่งไม่ครบ

(7) ไม่จำกัดสินใช้ให้หมายความว่า สมาชิกแห่งสหกรร์อันได้จดทะเบียนแล้วนั้น ทุกคนต้องรับใช้หนี้สินของสหกรณ์รวมกันและแทนกันไม่มีจำกัด

มาตรา 14 สมาชิกซึ่งออกจากสหกรณ์ไปนั้นต้องมีส่วนร่วมรับแบกหนี้สหกรณ์ตามจำนวนเงินที่สหกรณ์เป็นหนี้อยู่เมื่อวันซึ่งตนออกมีกำหนดสองปี นับแต่วันที่ออกจากสมาชิก

พ.ร.บ.สหกรณ พ.ศ.2511

มาตรา 7 สหกรณ์มีสองชนิด

1) สหกรณ์จำกัด คือสหกรณ์ซึ่งสมาชิกมีความรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

2) สหกรณ์ไม่จำกัด คือสหกรณ์ซึ่งสมาชิกทุกคนมีความรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของสหกรณ์โดยไม่จำกัด

มาตรา 11 (3) มีทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กันและผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกแต่ละคนต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น แต่ต้องไม่เกินหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมด

มาตรา 14 ข้อบังคับของสหกรณ์จำกัดอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(5) ทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้น มูลค่าของหุ้น การชำระค่าหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่น การขายและการโอนหุ้น ตลอดจนการจ่ายคืนค่าหุ้น

มาตรา 20 ในการชำระค่าหุ้น สมาชิกจะหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์จำกัดไม่ได้

พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไข

มาตรา 42 ในการชำระค่าหุ้น สมาชิกจะนำค่าหุ้นหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์ไม่ได้และสมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น และเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธิ์นำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้ และให้สหกรณ์มีสถานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น

ลองมาดูที่วรรคสองตรงข้อความว่า เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธิ์นำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้

ลองพิจารณาให้ชัดลงไปอีกว่า เงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่ตรงนี้แหละครับที่สำคัญ

สมการบัญชีกำหนดว่า สินทรัพย์=หนี้สิน+ทุน (ของสหกรณ์)

สหกรณ์ที่เข้มแข็งดำเนินงานตามอุดมการณ์ หลักการ วิธีการสหกรณ์ และมีธรรมาภิบาล สมการบัญชีดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่มาจากส่วนที่เป็นทุนที่งอกเงย ทุนที่งอกเงยส่วนใหญ่มาจากการถือหุ้นของสมาชิกและการจัดสรรกำไรสุทธิเข้าสู่ทุนต่าง ๆ ของสหกรณ์ โดยเฉพาะทุนสำรอง

อนึ่ง หากสหกรณ์ดำเนินการโดยไม่ยึดถือศรัทธาอุดมการณ์ หลักการ ไม่ดำเนินงานด้วยวิธีการสหกรณ์ สมการบัญชีดังกล่าว สินทรัพย์จะมีสัดส่วนของหนี้สินกับทุนที่แตกต่างออกไป กล่าวคือหนี้สินจะมีมากขึ้น ๆ และหากมีการขาดทุนไปเรื่อย ๆ ทุนที่มีอยู่ก็จะหดหายไป หนี้สินก็ต้องชดใช้ ทุนก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการถูกนำไปชดใช้หนี้สิน

การคำนวณมูลค่าหุ้นเพื่อให้สะท้อนผลการดำเนินงานของสหกรณ์จึงมีความสำคัญยิ่งตามเจตนารมณ์ มาตรา 42 ตรงที่บัญญัติว่า สมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือและ เงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์ได้ออกแนวปฏิบัติการคำนวณมูลค่าหุ้นไว้ในคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องแนวปฏิบัติในการจ่ายคืนค่าหุ้น กรณีสหกรณ์/ชุมนุมสหกรณ์ขาดทุนสะสม พ.ศ.2549 ซึ่งคำแนะนำนี้ใช้คู่กับคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ 278/2549 โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าการคำนวณมูลค่าหุ้นตามคำแนะนำดังกล่าวสะท้อนสมการบัญชีได้ดีที่สุดแล้ว

ตอนเที่ยงวันนี้ผมดูหนังเรื่อง Justice League ตอนที่นางเอกกำลังต่อสู้กับอสูรผู้มีร่างกายใหญ่ยักษ์และมีฤทธิ์มาก อสูรถามนางเอกว่าเจ้าจะสู้ข้าทำไม นัยว่าสู้ไปก็มีแต่แพ้และต้องตาย นางเอกตอบว่า “I am a believer.” แปลว่าฉันมีศรัทธา ผมนี่ดวงตาเห็นธรรมเลย นึกถึงอุดมการณ์ และหลักการสหกรณ์ขึ้นมาทันที ไม่ได้โม้นะนี่

ผมไม่ได้ศรัทธาอุดมการณ์ และหลักการสหกรณ์เพราะว่าผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ แต่ผมศรัทธาเพราะผมศึกษาจนรับรู้และเข้าใจว่า การสหกรณ์นี้มีคุณค่าต่อสังคมโลกเพียงใด วันนี้พรุ่งนี้หากผมไม่ได้ทำงานในแวดวงสหกรณ์ ผมก็ยังคงมีศรัทธาต่อการสหกรณ์ตลอดไป ไม่มีอะไรมาเปลี่ยน เพราะผมเชื่อแล้วศรัทธาแล้วจริง ๆ

ย้อนกลับมาที่ปัญหาความขัดแย้งเรื่องสมาชิกที่พ้นจากสมาชิกภาพแล้วไม่ได้เงินค่าหุ้นคืน มันก็สะท้อนให้เห็นเรื่องความศรัทธาอย่างชัดเจนเช่นกัน ทำไมสมาชิกยังเข้าใจว่าจะต้องได้เงินค่าหุ้นคืนทั้ง ๆ ที่สหกรณ์ขาดทุนสะสมจนมูลค่าหุ้นติดลบ จากประสบการณ์ของผมอธิบายในเชิงกฎหมายก็แค่พอทำให้เข้าใจได้บางส่วนแต่ความไม่พอใจยังคงคุกรุ่น แต่พออธิบายด้วยหลักการสหกรณ์ข้อที่ 3 สมาชิกดังกล่าวก็มีท่าทีหายโมโหลงไปได้มากทีเดียว

การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก (Member Economic Participation) สมาชิกต้องเชื่อและศรัทธาในอุดมการณ์สหกรณ์ว่าจะพาหลุดพ้นจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ตรงนี้สำคัญมากว่าสหกรณ์ไม่ใช่พื้นที่แสวงหากำไรส่วนเกินเพื่อสะสมความมั่งคั่งแบบไม่รู้จบ แต่สหกรณ์มุ่งแสวงหา การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมด้วยการร่วมมือกันเองของหมู่มวลสมาชิกภายในสหกรณ์ ในการดำเนินธุรกิจ และกิจกรรมต่าง ๆ

การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม เกิดขึ้นตั้งแต่สหกรณ์เริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม ไม่ใช้เกิดขึ้นตอนสิ้นปีบัญชีแล้วมาดูผลการดำเนินงานในงบการเงินว่าเกิดผลกำไรเท่าไร จะแบ่งปันกันอย่างไร ฉะนั้นหากสมาชิกสหกรณ์ทุกคนร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมในระบบสหกรณ์ ตามหลักการสหกรณ์ข้อ 3 และข้ออื่น ๆ ให้ครบทั้ง 7 ข้อ ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ คงไม่มี หรือจะมีก็คงน้อยเต็มที เพราะสมาชิกทุกคนที่ศรัทธาในสหกรณ์จะเข้าใจว่า การกินดี อยู่ดีนั้น มันต้องอยู่บนพื้นฐานของ ความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมด้วยเสมอและตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...