วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

หลักการ และวิธีการสหกรณ์ (Cooperative Principles and Cooperative Methods)

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 2 : หลักการ และวิธีการสหกรณ์ (Cooperative Principles and Cooperative Methods) 

ความเดิมตอนที่แล้ว ผมเขียนเรื่องอุดมการณ์สหกรณ์ อธิบายพอสังเขปเกี่ยวกับเรื่อง อุดมการณ์ และที่มาของอุดมการณ์สหกรณ์ ก่อนจะเข้าเรื่องหลักการ และวิธีการสหกรณ์ ผมขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุดมการณ์เพิ่มเติมอีกนิดว่า 

วิธีการที่จะทำให้อุดมการณ์ดำรงอยู่ได้จะต้องผ่านเครื่องมือที่ใช้ติดตั้งระบบวิธีคิด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากลไกทางสังคม ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็นสองประเภท คือ กลไกด้านการปราบปราม (Repressive State Apparatus: RSA) หมายถึงกลไกเกี่ยวกับการใช้กำลัง ความรุนแรง การบังคับกดขี่ และกลไกด้านอุดมการณ์ (Ideological State Apparatus: ISA) หมายถึงกลไกสังคมที่ทำงานในเชิงอุดมการณ์หรือกำหนดกรอบพฤติกรรมความเชื่อของคนในสังคมให้รู้สึกเต็มใจที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม 

อุดมการณ์มีภาคปฏิบัติการ (Practices) ที่จะทำให้อุดมการณ์ต่าง ๆ ได้รับการผลิตซ้ำและดำรงไว้ในชีวิตประจำวันของผู้คน ปฏิบัติการของอุดมการณ์ (Ideological Practices) สามารถสรุปได้ดังนี้ 

1) การทำให้ดูราวกับเป็นธรรมชาติ (Naturalization) ภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ไม่ได้อยู่ในระดับของจิตสำนึกแบบง่าย ๆ อุดมการณ์ทำงานลึกลงไปในจิตไร้สำนึก (Unconscious) ทำให้เราไม่ได้ตระหนักถึงและรู้สึกราวกับว่ากระบวนการนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเป็นไปโดยปริยาย (Naturalized/Taken-for-Granted) โดยผ่านกลไกต่าง ๆ 

2) การผสมกันระหว่างความจริงกับจินตนาการ (Real-and-Seemingness) การทำงานของอุดมการณ์จะใช้วิธีการผสมเรื่องจริงกับเรื่องลวงจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย วิธีการดังกล่าวเกี่ยวโยงกับเรื่องของการสื่อสารเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่เราสัมผัสผ่านสื่อเป็นโลกแห่งจินตนาการ แต่อีกด้านหนึ่งในฐานะเป็นผู้รับสารก็มีโลกแห่งความจริงบางอย่างอยู่ล้อมรอบตัวเรา 

3) การสร้างชุดโครงสร้างสัมพันธ์ (Structuralist Set of Relations) อุดมการณ์จะทำงานผ่านชุดโครงสร้างสัมพันธ์ (Structuralist Set of Relations) ลำดับแรกจะมีการแบ่งขั้วความหมายออกเป็นความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้าม (Binary of Positions) และลำดับถัดมาจะมีการกำหนดชั้นของคุณค่า (Hierarchy of Values) ลงไว้ในขั้วความสัมพันธ์นั้น 

4) การผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ (Reproduction of Ideology) Althusser เชื่อว่าในมิติของจิตสำนึกและความคิดเองต้องมีการทำหน้าที่ผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ (Ideological Reproduction) มีคำถามที่สำคัญคือ ใครมีอำนาจในการผลิตซ้ำทางอุดมการณ์ และกระบวนการผลิตซ้ำดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร 

สรุปได้ว่า อุดมการณ์เพียงแค่ด้วยตัวมันเองไม่สามารถขับเคลื่อนผู้คนในสังคมให้ไปสู่เป้าหมายตามที่ต้องการได้ มันจะต้องมีภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ดังที่ได้อธิบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ แล้วอุดมการณ์สหกรณ์มีภาคปฏิบัติการอย่างไร มีรายละเอียดดังนี้ครับ 

องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (International Cooperative Alliance: ICA) ได้อธิบายเกี่ยวกับความหมายของสหกรณ์ (Definition of a Cooperative) คุณค่าสหกรณ์ (Cooperative values)  และ หลักการสหกรณ์ (Cooperative Principles) ไว้ ซึ่งขบวนการสหกรณ์ทั่วโลกได้ยึดถือเป็นแนวความเข้าใจเดียวกัน 

ซึ่งมีรายละเอียดดังจะได้อธิบายต่อไป แต่ผมจะขอข้ามเรื่องความหมายของสหกรณ์ และคุณค่าสหกรณ์ไปก่อน 

ICA อธิบายว่า หลักการสหกรณ์คือ การนำคุณค่าสหกรณ์ไปสู่การปฏิบัติ (The cooperative principles are guidelines by which cooperatives put their values into practice.) 

สำหรับผมเข้าใจว่า หลักการสหกรณ์เป็นแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่า การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมหมายความว่าผู้คนที่เชื่อมั่นยึดถือว่า การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม” เชื่ออย่างเดียวไม่พอต้องปฏิบัติการตามแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ด้วย จึงจะบรรลุเป้าหมาย การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม 

แนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ในความเข้าใจของผม ประกอบไปด้วย 

1. การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง (Voluntary and Open Membership) เจตนารมณ์ของหลักการสหกรณ์นี้อยู่บนพื้นฐานของการยอมรับนับถือกันโดยไม่จำกัดหรือกีดกันเรื่องความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในมิติต่าง ๆ  หนุนเสริมภราดรภาพระหว่างผู้คนในสังคม

2. การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Member Control) กล่าวได้ว่าเป็นหลักการที่หนุนเสริมยกชูสิทธิและเสรีภาพของผู้คนให้เท่าเทียมกัน จะเหลื่อมล้ำดำขาวมากจากไหน ใครตีตราให้คุณค่าอย่างไร แต่ถ้าเข้ามาอยู่ในระบบสหกรณ์แล้ว คนสหกรณ์ย่อมเท่ากันทุกคน 

3. การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก (Member Economic Participation) ผู้คนที่เข้าร่วมขบวนการสหกรณ์ตั้งแต่จุดแรกเริ่มเดิมที มีที่มาจากการถูกขูดรีดกำไรส่วนเกิน (ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ไม่ยุติธรรม และสาเหตุอื่น) ตามที่ผมอธิบายไว้แล้ว ตอนที่ 1 : อุดมการณ์สหกรณ์ (Cooperative Ideology) จึงเชื่อในอุดมการณ์สหกรณ์ว่าจะพาหลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าว ตรงนี้สำคัญมากว่าสหกรณ์ไม่ใช่พื้นที่แสวงหากำไรส่วนเกินเพื่อสะสมความมั่งคั่งแบบไม่รู้จบ แต่สหกรณ์มุ่งแสวงหา การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมด้วยการร่วมมือกันเองของคนสหกรณ์ภายในสหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจ และกิจกรรมต่าง ๆ การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม เกิดขึ้นตั้งแต่สหกรณ์เริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม ไม่ใช้เกิดขึ้นตอนสิ้นปีบัญชีแล้วมาดูผลการดำเนินงานในงบการเงินว่าเกิดผลกำไรเท่าไร จะแบ่งปันกันอย่างไร (เดี่ยวจะได้อธิบายเป็นการเฉพาะในตอนต่อไปเรื่อง กำไรในระบบสหกรณ์”) ฉะนั้นการที่สมาชิกสหกรณ์ทุกคนร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมในระบบสหกรณ์ จึงนำพาให้เป้าหมายของอุดมการณ์บรรลุผล 

4. การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ (Autonomy and Independence) ผู้คนที่ถูกขูดรีดกำไรส่วนเกินเมื่อได้ตกลงปลงใจเข้าร่วมขบวนการสหกรณ์แล้ว ย่อมตระหนักว่าความเปิดกว้างไม่กีดกันของสหกรณ์ ความเท่าเทียมกันของคนสหกรณ์ การมีส่วนร่วมแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในสหกรณ์ นั้นหอมหวานและสุขใจแค่ไหน จึงต้องหวงแหนโดยรักษาความดีงามต่าง ๆ ในระบบสหกรณ์ไว้ เพื่อให้สหกรณ์ยังปฏิบัติการเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางอุดมการณ์สหกรณ์ของทุกคนไว้ ไม่ให้ถูกครอบงำแทรกแซง จนสหกรณ์ไม่ได้ทำหน้าที่ของมันตามอุดมการณ์สหกรณ์ 

5. การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ (Education, Training, and Information) ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy) เปรียบเสมือนหัวใจของแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ โลกเปลี่ยนผ่านจากยุคสู่ยุค จาก pre-modern modern สู่ post-modern ในแต่ละยุคแต่ละสมัยนักคิด นักปรัชญา ได้สถาปณา อำนาจ ความรู้ ความจริง ตลอดจนอุดมกาณ์ของเรื่องราวต่าง ๆ ไว้มากมาย ความเชื่อบางความเชื่อยังดำรงอยู่จากอดีตสู่ปัจจุบัน หลายความเชื่อถูกลบล้าง ถอดรื้อ และสร้างใหม่ การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ เพื่อให้ผู้คนในขบวนการสหกรณ์และผู้คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ที่ถูกต้อง จึงเป็นแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาการสหกรณ์ พัฒนาขบวนการสหกรณ์ พัฒนาสังคม และรักษาคุ้มครองระบบสหกรณ์ไว้ตราบเท่าที่การสหกรณ์ยังสามารถนำพาผู้คนสู่เป้าหมายแห่งอุดมกาณ์สหกรณ์ 

6. การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (Cooperation among Cooperatives) ปัญหาการถูกขูดรีดกำไรส่วนเกิน (ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ไม่ยุติธรรม และสาเหตุอื่น) นำพาผู้คนที่ต้องการหลุดจากปัญหาดังกล่าวมาร่วมกันขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์ ความเชื่อความศรัทธาในเรื่อง การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันก่อให้เกิด Rochdale Pioneers ในปี ค.ศ. 1844 ก่อให้เกิด สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ในปี พ.ศ.2459 เอกสารชื่อ Measuring the Size and Scope of the Cooperative Economy: Results of the 2014 Global Census on Co-operatives เผยแพร่ใน https://www.un.org/esa/socdev/documents/2014/coopsegm/grace.pdf ระบุว่า ปี ค.ศ.2014 มีสหกรณ์ทั่วโลกจำนวน 2.6 ล้านแห่ง สมาชิกกว่า 1,000 ล้านคน จาก 145 ประเทศ การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในสหกรณ์ 1 แห่ง ก่อให้เกิด การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม ฉันใด การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ ก็ย่อมก่อให้เกิด การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมโลกฉันนั้น 

7. การเอื้ออาทรต่อชุมชน (Concern for Community) ขบวนการสหกรณ์ไม่สามารถพาทุกคนในสังคมขึ้นขบวนการสหกรณ์ไปสู่ การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม ได้ เนื่องจากแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์วางไว้ว่า การเป็นสมาชิกต้องเป็นไปโดยสมัครใจและเปิดกว้าง แม้สหกรณ์จะเปิดกว้าง แต่ถ้าผู้คนยังไม่เข้าใจ และยังไม่สมัครใจ เขาก็ย่อมยังไม่เข้าสู่ระบบสหกรณ์ ขบวนการสหกรณ์มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ ตลอดจนแบ่งปัน การกินดี อยู่ดี ความเป็นธรรม และสันติสุขสู่ทุกคนในชุมชนและสังคม โดยมุ่งหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะพาทุกคนขึ้นขบวนการสหกรณ์ไปด้วยกันโดยความสมัครใจและเปิดกว้างอย่างแท้จริง 

แนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ หรือหลักการสหกรณ์ดังกล่าวจะบรรลุเป้าหมายเชิงอุดมการณ์สหกรณ์ได้ ก็ด้วยการลงมือปฏิบัติการ หรือที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกว่า วิธีการสหกรณ์

 

ถ้าอธิบายแบบสั้นมาก ๆ วิธีการสหกรณ์ คือการนำหลักการสหกรณ์สากลทั้ง 7 ข้อ มาปฏิบัติ แต่ผมจะขออธิบายขยายความอีกหน่อยว่า ต้องปฏิบัติไปบนพื้นฐานของการคุ้มครองระบบสหกรณ์ และคุ้มครองสังคม สหกรณ์ปกครองตนเองและความเป็นอิสระก็จริง แต่ต้องไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคม และต้องรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อสังคมมีตัวบทกฎหมายในการคุ้มครองสังคม วิธีการสหกรณ์ ก็ต้องสอดคล้องกับบริบทและกฎระเบียบของสังคมนั้น ๆ ด้วย หลักการสหกรณ์สากลจึงมีเจตนารมณ์ที่เป็นแก่นแท้ให้เกิดการตอบสนองต่อเป้าหมายแห่งอุดมการณ์สหกรณ์ เมื่อนำหลักการสหกรณ์สากลมาปฏิบัติการก็ให้รักษาแก่นแท้นั้นไว้ แต่ปรับให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมต่าง ๆ เพื่อสมเจตนา มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...