วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์เจ้าหน้าที่สหกรณ์

 1. ข้อกฎหมาย

          1.1 พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

                   มาตรา 41 สหกรณ์ตามมาตรา 33/1 อาจรับสมาชิกสมทบได้

สมาชิกสมทบต้องเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งบรรลุนิติภาวะ เว้นแต่สหกรณ์ตาม มาตรา 33/1 (4) (6) หรือ (7) ที่ตั้งอยู่ในสถานศึกษาอาจรับผู้ศึกษาในสถานศึกษานั้นซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะให้เป็นสมาชิกสมทบได้

สมาชิกสมทบต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด

คุณสมบัติอื่น วิธีรับสมัคร และการขาดจากสมาชิกภาพ ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสมทบ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับโดยความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์

ห้ามมิให้สหกรณ์ให้สิทธิแก่สมาชิกสมทบในการนับชื่อของสมาชิกสมทบเข้าเป็นองค์ประชุมในการประชุมใหญ่ การออกเสียงในเรื่องใด ๆ หรือเป็นกรรมการดำเนินการ หรือกู้ยืมเงินเกินกว่าเงินฝากและทุนเรือนหุ้นของตนเองจากสหกรณ์

มาตรา 60 ในการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิ

กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรเป็นทุนสำรองและค่าบำรุงสันนิบาต สหกรณ์แห่งประเทศไทย ที่ประชุมใหญ่อาจจัดสรรได้ภายใต้ข้อบังคับ ดังต่อไปนี้

(1) จ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง สำหรับสหกรณ์แต่ละประเภท

(2) จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้ทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปี

(3) จ่ายเป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ

(4) จ่ายเป็นทุนสะสมไว้ เพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของสหกรณ์ตามที่กำหนดในข้อบังคับ

          1.2 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการรับจดทะเบียนข้อบังคับเกี่ยวกับสมาชิกสมทบของสหกรณ์ พ.ศ.2563

          1.3 ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องความสัมพันธ์ของสมาชิกสมทบกับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์

                   1. ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสมทบของสหกรณ์จะต้องเป็นผู้ที่มีความสะดวกที่จะดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ และต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ในประกาศนี้

2. สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สมาชิกสมทบจะต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

2.1 เป็นบิดา มารดา สามี ภรรยาหรือบุตรของสมาชิก หรือ

2.2 เป็นบุคลากรหรือลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานต้นสังกัดเดียวกันกับสมาชิกและได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากหน่วยงานต้นสังกัดนั้น แต่ข้อบังคับไม่ได้กำหนดคุณสมบัติให้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้

3. สหกรณ์การเกษตร  สหกรณ์นิคม  สหกรณ์ประมง สหกรณ์บริการ และสหกรณ์ร้านค้า สมาชิกสมทบจะต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

3.1 เป็นบิดา มารดา สามี ภรรยาหรือบุตรของสมาชิก หรือ

3.2 เป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ที่ขาดคุณสมบัติเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหลักที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับ

2. คำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          2.1 หนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1108/346 ลงวันที่ 15 มกราคม 2550 เรื่อง การกำหนดระเบียบขึ้นถือใช้ของสหกรณ์

          การที่สหกรณ์กำหนดระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่มีผลทำให้ค่าใช้จ่ายของสหกรณ์เพิ่มขึ้นในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อกรรมการดำเนินการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์โดยตรงไม่สามารถกระทำได้ หากสหกรณ์กำหนดระเบียบขึ้นถือใช้เพื่อเป็นการให้สวัสดิการแก่กรรมการดำเนินการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ โดยการนำเงินจากการจัดสรรกำไรสุทธิที่เหลือจากการหักทุนสำรองและเงินบำรุงสันนิบาตสหกรณ์มาจัดเป็นสวัสดิการให้กู้ยืมแก่กรรมการดำเนินการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ การจัดสรรเงินทุนดังกล่าวตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 60 (4) ทุนสะสมไว้เพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของสหกรณ์นั้น ควรผ่านการจัดสรรมาเป็นลำดับตามที่กฎหมายกำหนดมาก่อน และการกำหนดระเบียบการให้เงินสงเคราะห์ในรูปเงินกู้ยืมควรให้เฉพาะเจ้าหน้าที่สหกรณ์เท่านั้น และต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการให้เงินสวัสดิการอื่นที่สหกรณ์กำหนดไว้ สำหรับการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและระยะเวลาการส่งชำระคืน สหกรณ์ควรกำหนดไม่ต่ำกว่า หรือระยะเวลานานกว่าที่สหกรณ์คิดกับสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งระเบียบดังกล่าวควรผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่โดยกำหนดเป็นวาระการประชุมที่ชัดเจน และเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ร่วมกันอภิปราย ซักถามอย่างละเอียดก่อนลงมติให้ความเห็นชอบ

          2.2 หนังสือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ กษ 0404/ ว 40 ลงวันที่ 29 เมษายน 2559 เรื่องแจ้งเวียนหนังสือจากกรมส่งเสริมสหกรณ์

การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ตามมาตรา 60 (4) เพื่อจ่ายเป็นทุนสะสมเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของสหกรณ์ตามที่กำหนดในข้อบังคับเห็นว่า กฎหมายสหกรณ์มีเจตนารมณ์ให้สหกรณ์สะสมทุนเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่างหากไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติของสหกรณ์จึงเป็นอำนาจและดุลยพินิจของที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีไว้เป็นทุนสวัสดิการหรือการสงเคราะห์แก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ สหกรณ์ควรจัดสรรทุนดังกล่าวเพียงทุนเดียว เช่น "เป็นทุนสวัสดิการหรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์" เมื่อสหกรณ์กำหนดระเบียบเพื่อรองรับการใช้จ่ายเงินของทุนสะสมดังกล่าวก็สามารถจำแนกเป็นเงินสวัสดิการหรือการสงเคราะห์ของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ตามเจตนารมณ์ได้ แต่ทั้งนี้กเกณฑ์และจำนวนเงินที่จะให้สวัสดิการหรือเงินกู้แก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ต้องไม่ดีกว่าหรือสูงกว่าสมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์

2.3 คำแนะนำวิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับระเบียบของสหกรณ์ว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ (บันทึกข้อความ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ 0406/12491 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2533)

1. ความพร้อมของสหกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ที่ประสงค์จะกำหนดให้มีระเบียบว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงาน ควรกระทำต่อเมื่อสหกรณ์นั้นมีฐานะการเงินมั่นคงและมีเงินส่วนเหลือจากการทำธุรกิจปกติกับสมาชิกโดยทั่วไปของสหกรณ์เป็นที่เพียงพอแล้วจึงจะมีวามพร้อมในการแบ่งปันความช่วยเหลือไปให้แก่พนักงานของสหกรณ์ได้บ้าง ในการนี้ ให้ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ที่มีการกำหนดระเบียบว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ขึ้นถือใช้ให้ข้อสังเกตไว้ในรายงานการสอบบัญชีด้วยว่าสหกรณ์มีความพร้อมในการช่วยเหลือสงเคราะห์พนักงานหรือไม่เมื่อพิจารณาเทียบกับความเพียงพอในการให้บริการด้านต่าง ๆ แก่สมาชิกในระหว่างปีและความมั่นคงของฐานะการเงินของสหกรณ์ขณะนั้น

2. การพิจารณาวงเงินช่วยเหลือสงเคราะห์พนักงาน ตามหลักการในระเบียบว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ดังกล่าว สหกรณ์จะจ่ายเงินยืมเพื่อสงเคราะห์พนักงานทั้งหลายได้ไม่เกินจำนวนเงินที่คำนวณจากยอดคงเหลือตามบัญชีต่าง ๆ ในข้อ 3. (1) ถึง (4) รวมกัน

3. บัญชีที่เกี่ยวข้อง

1) "บัญชีทุนสะสมเพื่อวงเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงาน" ใช้บันทึกรายการเงินที่สหกรณ์โอนจัดสรรจากกำไรสุทธิประจำปีเพื่อกันเป็นวงเงินสำหรับการสงเคราะห์พนักงาน ยอดคงเหลือของบัญชีนี้จะแสดงในงบดุลหัวข้อทุนสะสมตามข้อบังคับ ระเบียบและอื่น ๆ  อย่างไรก็ตาม หากสหกรณ์เห็นว่าวงเงินที่จะให้พนักงานสหกรณ์กู้ยืมซึ่งคำนวณได้จากบัญชีอื่นนอกเหนือจากบัญชีนี้มีเพียงพอแล้วให้สหกรณ์โอนปิดบัญชีทุนสะสมเพื่อวงเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานนี้เข้าบัญชีเงินสำรองต่อไป

2) "บัญชีเงินสะสมพนักงาน" ใช้บันทึกรายการเงินฝากสะสมของพนักงานที่สหกรณ์หักไว้เป็นปกติตามระเบียบว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ยอดคงเหลือจากบัญชีนี้จะแสดงในงบดุลภายใต้หัวข้อหนี้สินอื่น

3) "บัญชีเงินรับฝากประจำจากพนักงาน" ใช้บันทึกรายการเงินรับฝากจากพนักงาน ซึ่งสหกรณ์ทำโครงการไว้เฉพาะเพื่อกองทุนสงเคราะห์ โดยให้บันทึกบัญชีแยกต่างหากจากบัญชีเงินรับฝากประจำที่สหกรณ์รับฝากสมาชิกทั่วไป ยอดคงเหลือของบัญชีนี้จะแสดงในงบดุลภายใต้หัวข้อหนี้สินหมุนเวียนโดยแสดงแยกเฉพาะออกจากรายการเงินรับฝาก เพื่อให้เห็นซัด

4) "บัญชีเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงาน" ใช้บันทึกรายการรับเงินอุดหนุน เงินบริจาคเงินช่วยเหลือ หรือเงินอื่นใดที่ได้รับจากบุคคล องค์การ หรือสถาบันเพื่อกองทุนสงเคราะห์ รวมทั้งใช้บันทึกรายการดอกผลที่เกิดจากเงินกองทุนสงเคราะห์ อาทิเช่น ค่าตอบแทนและค่าปรับที่ได้รับจากพนักงานผู้ยืม ฯลฯ ยอดคงเหลือของบัญชีนี้จะแสดงในงบดุลภายใต้หัวข้อหนี้สินอื่น โดยให้แสดงต่อจากรายการเงินสะสมพนักงาน

อนึ่ง ถ้าสหกรณ์ประสงค์จะจัดสรรเงินเฉลี่ยคืนให้กับพนักงานที่ร่วมกิจกรรมกับเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงาน ให้โอนจัดสรรจาก "บัญชีเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงาน" นี้แทนการจัดสรรจากกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ ทั้งนี้การคำนวณเงินเฉลี่ยคืนควรคิดจากยอดดอกผลที่เกิดจากเงินกองทุนฯ ในระหว่างปี อันได้แก่ค่าตอบแทนและค่าปรับที่ได้รับจากพนักงานเท่านั้น

5) "บัญชีลูกหนี้เงินยืมพนักงาน" ใช้บันทึกรายการที่สหกรณ์จ่ายเงินยืมเพื่อเป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือแก่พนักงาน โดยบันทึกพนักงานผู้ยืมไว้เป็นลูกหนี้ของสหกรณ์ ยอดคงเหลือของบัญชีนี้จะแสดงในงบดุลหัวข้อลูกหนี้อื่น

ทั้งนี้ ให้สหกรณ์จัดทำบัญชีย่อยเพื่อเป็นรายละเอียดประกอบบัญชีแยกประเภท (2) , (3) และ

(5) ที่ระบุไว้ข้างต้นด้วย

2.4 แนวทางปฏิบัติกรณีหักเงินค่าจ้างเป็นเงินสะสมของพนักงาน (หนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1110/10165 ลงวันที่ 15 กันยายน 2543)

ลักษณะของเงินกองทุนสะสมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน หากจะมีขึ้นจะต้องเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในสถานประกอบกิจการด้วยความสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงาน โดยที่มาของเงินทุนอาจเกิดจากเงินสะสมของลูกจ้างฝ่ายเดียวหรือนายจ้างจ่ายเงินสมทบให้อีกส่วนหนึ่งด้วยก็ได้ โดยต้องไม่กำหนดเงื่อนไขให้เงินสะสมเป็นเงินประกันความเสียหายจากการทำงาน และต้องจัดทำข้อตกลงระหว่างพนักงานกับสหกรณ์ไว้อย่างชัดเจน 

3. ข้อเสนอแนะ

          เจ้าหน้าที่สหกรณ์สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบของสหกรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 41 และ ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการรับจดทะเบียนข้อบังคับเกี่ยวกับสมาชิกสมทบของสหกรณ์ พ.ศ. 2563 และประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องความสัมพันธ์ของสมาชิกสมทบกับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ และเมื่อเป็นสมาชิกสมทบของสหกรณ์แล้วก็ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์

การกำหนดหลักประกันการทำงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์

 1. ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1.1 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

        มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่นหรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี

มาตรา 51 ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันเพื่อการใด ๆ จากฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก

ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กให้แก่บุคคลอื่น

ในกรณีที่นายจ้างจ่ายเงินหรือประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลอื่น เป็นการล่วงหน้าก่อนมีการจ้าง ขณะแรกจ้าง หรือก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างในแต่ละคราว มิให้ถือว่าเป็นการจ่ายหรือรับค่าจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้น และห้ามมิให้นายจ้างนำเงินหรือประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวมาหักจากค่าจ้างซึ่งต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กตามกำหนดเวลา

มาตรา 144 นายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) มาตรา 10 ...

1.2 ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551

ข้อ 4 ลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างจะเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ ได้แก่

(1) งานสมุห์บัญชี

(2) พนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน

(3) งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่าคือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาว

(4) งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างหรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง

(5) งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน

(6) งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ

(7) งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงิน หรือการ ธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

ข้อ 5 หลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานมีสามประเภท

(1) เงินสด

(2) ทรัพย์สิน

(3) การค้ำประกันด้วยบุคคล

ข้อ 6 ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันเป็นเงินสด จำนวนเงินที่เรียกหรือรับต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ

ข้อ 7 ในกรณีที่เงินประกันซึ่งนายจ้างเรียกหรือรับไว้ตามข้อ 6 ลดลง เนื่องจากนำไปชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างตามเงื่อนไขของการเรียกหรือรับเงินประกัน หรือตามข้อตกลง หรือได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันเพิ่มได้เท่าจำนวนเงินที่ลดลงดังกล่าว

ข้อ 8 ให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชี ให้ลูกจ้างทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน

ค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้นายจ้างเป็นผู้ออก

ข้อ 9 ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันเป็นทรัพย์สิน ทรัพย์สินที่เรียกหรือรับเป็นหลักประกันได้ ได้แก่ทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

(1) สมุดเงินฝากประจำธนาคาร

(2) หนังสือค้ำประกันของธนาคาร

ทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นต้องมีมูลค่าไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ โดยให้นายจ้างเป็นผู้เก็บรักษาหลักประกันไว้

ห้ามมิให้นายจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้ลูกจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ไนทรัพย์สินตาม (1) เป็นของนายจ้าง หรือของบุคคลอื่น

ข้อ 10 ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน โดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวัน โดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ

ให้นายจ้างจัดทำหนังสือสัญญาค้ำประกันสามฉบับ โดยให้นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ค้ำประกันเก็บไว้ฝ่ายละฉบับ

ข้อ 11 ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันตามข้อ 5 หลายประเภทรวมกัน เมื่อคำนวณจำนวนมูลค่าของหลักประกันทุกประเภทรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ

ข้อ 12 ในกรณีที่นายจ้างได้เรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างเป็นทรัพย์สินหรือให้บุคคลค้ำประกัน ซึ่งลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามข้อ 4 แต่มิใช่ทรัพย์สินตามข้อ 9 หรือมีจำนวนมูลค่าของหลักประกันเกินจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้นายข้างดำเนินการให้มีหลักประกัน ไม่เกินจำนวนมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

1.3 (ร่าง) ระเบียบสหกรณ์ ….. จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ พ.ศ. …. (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

          ข้อ 19 ในการจ้างหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ ห้ามมิให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากเจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างของสหกรณ์ ไม่ว่าเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคล เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพ ของงานที่ทำนั้น เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของสหกรณ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ได้ และในกรณีที่สหกรณ์เรียกหรือรับหลักประกันหรือทำสัญญาประกันกับเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ เพื่อชดใช้ความเสียหายที่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ เป็นผู้กระทำ เมื่อสหกรณ์เลิกจ้างหรือเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้สหกรณ์คืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ยถ้ามีให้แก่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สหกรณ์เลิกจ้าง หรือเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี

          ลักษณะหรือสภาพของงานที่สหกรณ์จะเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ ได้แก่

(1) งานสมุห์บัญชี

(2) งานเจ้าหน้าที่เก็บหรือจ่ายเงิน

(3) งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า

(4) งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของสหกรณ์หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของสหกรณ์

(5) งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน

(6) งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ

(7) งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับโอนหรือรับจัดส่งเงิน หรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

ข้อ 20 หลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานมี 3 ประเภท ได้แก่

(1) เงินสด

(2) ทรัพย์สิน

(3) การค้ำประกันด้วยบุคคล

          ในกรณีที่สหกรณ์เรียกหรือรับหลักประกันเป็นเงินสด จำนวนเงินที่เรียกหรือรับต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ได้รับ และในกรณีที่เงินประกันซึ่งสหกรณ์รับไว้ดังกล่าวลดลง เนื่องจากนำไปชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ตามเงื่อนไขของการเรียก หรือรับเงินประกันหรือตามข้อตกลง หรือได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์แล้วสหกรณ์จะเรียกหรือรับเงินประกันเพิ่มได้เท่าจำนวนเงินที่ลดลง

ข้อ 21 ให้สหกรณ์นำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์แต่ละคน และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชี ให้เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน ค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินการดังกล่าวให้สหกรณ์เป็นผู้ออก

ข้อ 22 ในกรณีที่สหกรณ์เรียกหรือรับหลักประกันเป็นทรัพย์สิน ทรัพย์สินที่เรียกหรือรับเป็นหลักประกันได้ ได้แก่ทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(1) สมุดเงินฝากประจำธนาคาร

(2) หนังสือค้ำประกันของธนาคาร

          ทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นต้องมีมูลค่าไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ได้รับ โดยให้สหกรณ์เป็นผู้เก็บรักษาหลักประกันไว้

          ห้ามมิให้สหกรณ์แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์แก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตาม 22 (1) เป็นของสหกรณ์ หรือของบุคคลอื่น

ข้อ 23 ในกรณีที่สหกรณ์เรียกหรือรับหลักประกัน โดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่สหกรณ์เรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ได้รับ

ให้สหกรณ์จัดทำหนังสือสัญญาค้ำประกันสามฉบับ โดยให้สหกรณ์ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ และผู้ค้ำประกันเก็บไว้ฝ่ายละฉบับ

ข้อ 24 ในกรณีที่สหกรณ์เรียกหรือรับหลักประกันตามข้อ 20 หลายประเภทรวมกัน เมื่อคำนวณจำนวนมูลค่าของหลักประกันทุกประเภทรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ได้รับ

ข้อ 25 ในกรณีที่สหกรณ์ได้เรียกหรือรับหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์เป็นทรัพย์สินหรือให้บุคคลค้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ที่มีลักษณะและสภาพของงานตามข้อ 19 แต่มิใช่ทรัพย์สินตามข้อ 22 หรือมีจำนวนมูลค่าของหลักประกันเกินกว่าหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสหกรณ์ได้รับ ให้สหกรณ์ดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินจำนวนมูลค่าของหลักประกันที่กำหนด

ข้อ 26 ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาทบทวนฐานะของผู้ค้ำประกัน และหลักประกันทุกปี ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบว่าหลักประกันนั้นมีราคาเพียงพอที่จะคุ้มกับความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ และเพื่อแก้ปัญหากรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่กรรม หรือมีฐานะทรุดโทรมลง หรือหลักประกัน มีราคาเปลี่ยนแปลงในทางที่ลดลง อนึ่ง เมื่อปรากฏว่าหลักประกันเปลี่ยนแปลงในทางลดลงให้คณะกรรมการดำเนินการรีบดำเนินการเรียกหลักประกันจากเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ เพื่อเติมให้เพียงพอที่จะคุ้มกับลักษณะและปริมาณงานในความรับผิดชอบทันที

ถ้าคณะกรรมการดำเนินการละเลยไม่ปฏิบัติตาม ข้อ 19 หรือข้อ 25 คณะกรรมการดำเนินการจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สหกรณ์ ฐานละเว้นไม่ปฏิบัติ ตามหน้าที่โดยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจนครบจำนวนให้แก่สหกรณ์

1 ปี มี 9 เดือน เกี่ยวข้องอย่างไร หรือไม่ กับปีทางบัญชีของสหกรณ์ภาคการเกษตรส่วนใหญ่ของไทย

เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2483 เป็นวันที่ประกาศ พระราชบัญญัติ ปีประดิทิน พุทธศักราช 2493 

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การเปลี่ยนวันเริ่มต้นปีใหม่ จากวันที่ 1 เมษายน สิ้นสุด 31 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่ 1 มกราคม สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ให้สอดคล้องกับปฏิทินสากลที่ใช้กันทั่วโลก

การนับระยะเวลาในรอบปีแบบเดิม (1 เมษายน - 31 มีนาคม) เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งก่อนหน้านั้นวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับ วันขึ้น 1 ค่ำเดือนห้า ตามปฏิทินจันทรคติ และก่อนหน้านั้น วันขึ้นปีใหม่คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย

พ.ร.บ. ปีประดิทิน พุทธศักราช 2493 มีผลบังคับใช้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ตาม พ.ร.บ. ปีประดิทิน พ.ศ. 2493 ก่อนหน้าวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2483 วันปีใหม่ไทยตรงกับวันที่ 1 เมษายน เมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ทำให้ปี พ.ศ.2493 มีจำนวนเดือนหายไป 3 เดือน คือ มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม

1 ปี มี 9 เดือน จึงมีความเป็นมาเช่นนี้แล

แต่ที่ผมสนใจก็คือ การนับรอบปีแบบเดิม (1 เมษายน - 31 มีนาคม) มันไปสอดคล้องกับการนับปีทางบัญชีของสหกรณ์การเกษตรส่วนใหญ่ในประเทศไทย ไม่รู้ว่าเพราะเหตุผลใด (ยังไม่ได้ศึกษา) สหกรณ์การเกษตรส่วนใหญ่จึงเริ่มต้นปีทางบัญชี วันที่ 1 เมษายน และสิ้นสุด 31 มีนาคม

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 เป็นวันที่มีสหกรณ์แห่งแรกเกิดขึ้นในประเทศไทย คือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสิ้นใช้ ในขณะนั้นประเทศไทย ก็นับระยะเวลาในรอบปีแบบ (1 เมษายน - 31 มีนาคม) ก็สอดคล้องกันกับการนับระยะเวลาทางปีบัญชีของสหกรณ์ในขณะนั้น และยาวนานมาจนปัจจุบันนี้

ยังไม่สรุปว่าปีทางบัญชีของสหกรณ์การเกษตรส่วนใหญ่ สอดคล้องกับการนับรอบปีแบบสมัย 1 เมษายน พ.ศ. 2432 - 16 ตุลาคม พ.ศ.2483 หรือไม่ อย่างไร เอาแค่ให้เห็นร่องรอย 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/A/419.PDF

https://library.parliament.go.th/sites/default/files/assets/files/works/academic%20office/radio%20scripts/pdf/2561-01/NALT-radioscript-rr2561-jan5.pdf

ทุนเรือนหุ้นของสมาชิกสหกรณ์

“…หลักการสหกรณ์มุ่งหวังการรวมคนเป็นสำคัญมากกว่าที่จะให้สมาชิกมุ่งการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนเช่นผู้ประกอบการของธุรกิจเอกชนทั่วไป ดังนั้นมูลค่าหุ้นของสหกรณ์ที่กำหนดในข้อบังคับจะมีมูลค่าต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีกำลังทรัพย์น้อยสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ได้ และสมาชิกสามารถที่จะถือหุ้นเพิ่มได้ตลอดเวลาหรืออาจลดส่งค่าหุ้นได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ... (ปรีชา สุวรรณทัต และทรงพล พนาวงศ์, 2555: 57) 

...โดยเหตุที่ตามหลักสหกรณ์ไม่มีจุดมุ่งหมายให้สมาชิกมาแสวงหากำไรจาการนำเงินมาลงทุนในสหกรณ์เหมือนกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ดังนั้น หลักสหกรณ์โดยทั่วไปจะจำกัดดอกเบี้ยที่ให้กับทุนเรือนหุ้น ซึ่งโดยปกติสหกรร์ควรจ่ายเงินปันผลตามหุ้นให้แก่สมาชิกในอัตราไม่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์...(ปรีชา สุวรรณทัต และทรงพล พนาวงศ์, 2555: 65) 

พอดีมีคนคุยให้ฟังว่า...ปัจจุบันสหกรณ์ (บางแห่ง) แบกรับภาระที่จะต้องจ่ายเงินปันผลให้กับสมาชิกเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดที่จะให้สมาชิกสามารถถอนหุ้นคืนได้โดยที่ยังคงสภาพความเป็นสมาชิกสหกรกรณ์อยู่ โดยจะแก้ไขข้อบังคับให้สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ 

ร่างข้อบังคับของสหกรณ์เขียนว่า “…สมาชิกจะโอนหรือถอนหุ้นในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้…” (ดู พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ.2542 และฉบับที่แก้ไข มาตราที่เกี่ยวข้องกับทุนเรือนหุ้น ได้แก่ มาตรา 33 (3) มาตรา 42 มาตรา 42/2 และมาตรา 43 (5)) 

ผมเองก็ไม่ทราบหรอกครับว่าจริง ๆ แล้วหากจะดำเนินการดังกล่าวมันทำได้หรือไม่อย่างไร แต่มีความคิดดังนี้ 

ทุนเรือนหุ้นของสมาชิกจัดว่าเป็นทุนภายในของสหกรณ์ที่แท้จริง จากสมการบัญชีที่ว่า สินทรัพย์=หนี้สิน+ทุน (ทุนเรือนหุ้น+ทุนสำรอง+ทุนสะสมอื่น ๆ) แต่ในทางการบริหารงาน ก็จะนับเงินฝากของสมาชิกเป็นทุนภายในของสหกรณ์ด้วย แม้ในทางบัญชีเงินฝากของสมาชิกจะอยู่ฝั่งหนี้สินก็ตาม 

ทุนเรือนหุ้นจึงเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ เพราะมันมาจากสมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์ทุกคน มีมากมีน้อยก็มีความเป็นเจ้าของสหกรณ์เท่ากัน แต่ความสำเร็จของสหกรณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหุ้นว่ามีมากมีน้อยแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกผู้เป็นเจ้าของสหกรณ์มาดำเนินธุรกิจร่วมกับสหกรณ์มากน้อยแค่ไหน 

การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ เมื่อเกิดผลกำไร กำไรที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า

1. การบริหารงาน การบริหารธุรกิจมีประสิทธิภาพ

2. ต้นทุนการดำเนินงานต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะใช้ทุนของตนเอง (ทุนเรือนหุ้น+เงินฝากของสมาชิก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด และข้อยกเว้นที่สมาชิกผู้ฝากเงินออมทรัพย์กับสหกรณ์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (8) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร)

3. สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์มาก 

เมื่อมีกำไรเราจะจัดสรรอย่างไร

1. การบริหารงาน การบริหารธุรกิจมีประสิทธิภาพ ก็จัดสรรเป็นโบนัสกรรมการและฝ่ายจัดการ อัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ

2. ต้นทุนการดำเนินงานต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะใช้ทุนของตนเอง เมื่อมีกำไรก็จัดสรรเป็นเงินปันผลในอัตราตามที่คำนวณต้นทุนเงินในการดำเนินธุรกิจ

3. สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์มาก ก่อให้เกิดผลกำไรก็จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนในอัตราที่เหมาะสม 

ทั้งนี้ เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนได้รับการยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2514 มาตรา 3 

การที่บอกว่า...สหกรณ์หลายแห่งแบกรับภาระที่จะต้องจ่ายเงินปันผลให้กับสมาชิกเป็นจำนวนมากจึงต้องกลับไปทบทวนว่าอัตราเงินปันผลที่จ่ายนั้นได้คำนวณตามต้นทุนเงินในการดำเนินธุรกิจหรือไม่ มีปัจจัยอื่นที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการคำนวณหรือไม่ 

ถ้าเรายึดหลักการที่ว่า หลักการสหกรณ์มุ่งหวังการรวมคนเป็นสำคัญมากกว่าที่จะให้สมาชิกมุ่งการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทุนเรือนหุ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผูกสัมพันธ์และเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของการช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามอุดมการณ์สหกรณ์ 

ถ้าจะแก้ปัญหา สหกรณ์ (บางแห่ง) แบกรับภาระที่จะต้องจ่ายเงินปันผลให้กับสมาชิกเป็นจำนวนมาก ควรแก้ที่การกำหนดอัตราจ่ายเงินปันผลให้เหมาะสมกว่าเดิม ดีกว่าที่จะแก้ ข้อบังคับหรือบรรดากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สมาชิกสามารถถอนหุ้นคืนได้ แต่ยังคงสภาพความเป็นสมาชิก ... แก้แบบนี้จะดีกว่าไหมครับ 

ข้อกฎหมาย

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 33 สหกรณ์จะตั้งขึ้นได้โดยการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิกโดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ และต้อง

(3) มีทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน และสมาชิกแต่ละคนจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น แต่ไม่เกินหนึ่งในห้าของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด

มาตรา 42 ในการชำระค่าหุ้น สมาชิกจะนำค่าหุ้นหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์ไม่ได้และสมาชิกมีความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น และเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธินำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้ และให้สหกรณ์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น

มาตรา 42/2 สมาชิกอาจทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ ในเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน

มาตรา 43 ข้อบังคับของสหกรณ์อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(5) ทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้น มูลค่าของหุ้น การชำระค่าหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่น การขายและการโอนหุ้น ตลอดจนการจ่ายคืนค่าหุ้น

แนวทางการกำหนดวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ กรณีงบการเงินไม่เป็นปัจจุบัน

 1. ข้อเท็จจริง/คำถาม

          กรณีงบการเงินประจำปีของสหกรณ์ ไม่เป็นปัจจุบัน สหกรณ์ดังกล่าวจะมีแนวทางในการกำหนดวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ อย่างไร สามารถกำหนดได้หรือไม่ สหกรณ์จะกำหนดวาระการประชุมใหญ่อย่างไร ต้องขอความเห็นชอบต่อนายนายทะเบียนหรือไม่ อย่างไร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์/ผู้ตรวจการสหกรณ์ต้องดำเนินการอย่างไร

2. ข้อกฎหมาย

          1.1 พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

                   มาตรา 47 การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ จะต้องจำกัดอยู่ภายในวงเงินที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นชอบ

1.2 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ พ.ศ.2561 (ประกาศ ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2561)

          ข้อ 5 วงเงินการกู้ยืมหมายถึง วงเงินที่สหกรณ์จะสามารถก่อหนี้ภาระผูกพันได้ในภายหน้าซึ่งจำกัดสำหรับรอบปีทางบัญชีหนึ่ง ๆ ตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542

          ข้อ 7.2.1 พิจารณาจากทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ตามงบทดลอง ณ วันสิ้นเดือนสุดท้ายก่อนวันประชุมใหญ่

          ข้อ 9.3 งบการเงินประจำปีของปีทางบัญชีปัจจุบันซึ่งผ่านการตรวจสอบและแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชีแล้ว หรือรายงานประจำปี และงบทดลอง ณ วันสิ้นเดือนสุดท้ายก่อนวันประชุมใหญ่ ยกเว้นสหกรณ์ที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในปีแรกให้ใช้เฉพาะงบทดลอง ณ วันสิ้นเดือนสุดท้ายก่อนวันประชุมใหญ่

           ข้อ 10 เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบวงเงินการกู้ยืมของสหกรณ์แล้วคณะกรรมการดำเนินการจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์และแผนการดำเนินงานที่กำหนด และสหกรณ์จะต้องรายงานขอความเห็นชอบกำหนดวงเงินการกู้ยืมต่อนายทะเบียนสหกรณ์ทุกปี ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังไม่มีการประชุมใหญ่สามัญประจำ ให้สหกรณ์สามารถถือใช้วงเงินการกู้ยืมในปีก่อนไปพลางแต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์

1.3 ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง คำนิยามวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ (ประกาศ ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2561)

          2. วงเงินที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นชอบ หมายถึง วงเงินที่สหกรณ์จะสามารถก่อหนี้ภาระ

ผูกพันได้ ซึ่งจำกัดสำหรับรอบปีทางบัญชีหนึ่ง ๆ ตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542

          1.4 บันทึกข้อความกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1115/64 ลงวันที่ 6 มกราคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีสหกรณ์ไม่ส่งสำเนารายงานประจำปีและงบการเงินประจำปีต่อนายทะเบียนสหกรณ์

                   1. กรณีสหกรณ์ไม่ส่งสำเนารายงานประจำปีและ/หรืองบการเงินประจำปีต่อนายทะเบียนสหกรณ์เป็นเวลา 1 - 2 ปี ทั้งนี้ ให้รวมถึงกรณีผู้สอบบัญชีรายงานว่าไม่อาจสอบบัญชีสหกรณ์ได้เพราะเหตุไม่มีหลักฐานทางบัญชีให้ตรวจสอบในปีบัญชีใดให้ถือว่าสหกรณ์ไม่ส่งงบการเงินประจำปีบัญชีนั้นด้วย ให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) หากสหกรณ์ไม่สามารถจัดทำงบการเงินประจำปีให้แล้วเสร็จเพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและเสนอให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ถือว่าสหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการหรือฐานะการเงิน ตามมาตรา 22 วรรคหนึ่ง ที่จะต้องใช้อำนาจตามที่ได้รับมอบสั่งการให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว รวมทั้งจะถือเป็นเหตุในการไม่รับพิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ตามความข้อ 9 ของระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ พ.ศ.2561 เนื่องจากไม่หราบฐานะการเงินที่แท้จริงของสหกรณ์

3. ข้อวินิจฉัย

          หากสหกรณ์ไม่สามารถจัดทำงบการเงินประจำปีให้แล้วเสร็จเพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและเสนอให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ ถือเป็นเหตุถือเป็นเหตุในการไม่รับพิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ของนายทะเบียนสหกรณ์ ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ พ.ศ.2561 

4. คำแนะนำ

          4.1 คำแนะนำสำหรับสหกรณ์

          แม้นายทะเบียนสหกรณ์จะไม่รับพิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ ด้วยเหตุงบการเงินไม่เป็นปัจจุบัน แต่ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีสหกรณ์ควรกำหนดไว้เป็นวาระเพื่อพิจารณา เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่รับทราบปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไขร่วมกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

วาระเพื่อพิจารณา        วงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์

                   ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ตามข้อบังคับของสหกรณ์ให้ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจกำหนดวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันสำหรับปีหนึ่ง ๆ ไว้ตามที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินงาน วงเงินซึ่งกำหนดดังว่านี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ ทั้งนี้ความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ เป็นไปตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ พ.ศ.2561 และประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง คำนิยามวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์

                   ณ วันที่........................ (วันที่สหกรณ์สามารถจัดทำงบการเงินประจำปีให้แล้วเสร็จเพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและเสนอให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ ได้ล่าสุด) สหกรณ์ได้ก่อหนี้ภาระผูกพันไว้แล้ว ตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง คำนิยามวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ เป็นเงินจำนวน ..............บาท ประกอบด้วย

                   1) จำนวนเงินที่เบิกจากวงเงินเบิกเกินบัญชี หรือเงินกู้ยืมอื่นใดในลักษณะเดียวกัน จำนวน ..... บาท (ถ้าไม่มีไม่ต้องใส่ข้อนี้)

2) จำนวนเงินกู้คงเหลือเฉพาะส่วนที่ได้รับเงินกู้แล้วของสัญญาเงินกู้ที่ระบุการจ่ายเงินกู้หลายงวด จำนวน ..... บาท (ถ้าไม่มีไม่ต้องใส่ข้อนี้)

3) จำนวนเงินกู้คงเหลือของทุกสัญญาที่ระบุเงื่อนไขให้สหกรณ์รับเงินกู้เพียงวดเดียวหรือครั้งเดียว จำนวน ..... บาท (ถ้าไม่มีไม่ต้องใส่ข้อนี้)

4) จำนวนเงินที่ระบุในตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการค้ำประกันการกู้ยืมหรือการค้ำประกันอื่นซึ่งสหกรณ์เป็นผู้ออกและยังไม่ได้ชำระเงินตามที่ระบุในตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน ..... บาท (ถ้าไม่มีไม่ต้องใส่ข้อนี้)

5) จำนวนเงินที่รับฝากจากสหกรณ์อื่น แต่ทั้งนี้ ไม่นับรวมจำนวนเงินที่ชุมนุมสหกรณ์ฝากจากสหกรณ์สมาชิก จำนวน ..... บาท (ถ้าไม่มีไม่ต้องใส่ข้อนี้)

6) จำนวนเงินที่สหกรณ์ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ค้ำประกัน จำนวน ..... บาท (ถ้าไม่มีไม่ต้องใส่ข้อนี้)

หนี้ภาระผูกพันที่สหกรณ์ได้ก่อไว้แล้วดังกล่าว อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นหากสหกรณ์ไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ตามกำหนด ซึ่งหนี้ที่เพิ่มขึ้นอาจมาจากดอกเบี้ยจ่าย และค่าปรับ ตามที่กำหนดกันไว้ ดังนั้นสหกรณ์จึงต้องให้ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจกำหนดวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันสำหรับปีหนึ่ง ๆ ไว้ตามที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินงาน วงเงินซึ่งกำหนดดังว่านี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

แต่เนื่องจากสหกรณ์ไม่สามารถจัดทำงบการเงินประจำปีให้แล้วเสร็จเพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและเสนอให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ ถือเป็นเหตุถือเป็นเหตุในการไม่รับพิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ของนายทะเบียนสหกรณ์ ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ พ.ศ.2561 จึงแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ พิจารณาไม่อนุมัติให้สหกรณ์ก่อหนี้สินเพิ่มขึ้น (หนี้สินตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง คำนิยามวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์) และร่วมกันพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกันต่อไป 

มติที่ประชุม      ที่ประชุมใหญ่มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่อนุมัติให้สหกรณ์ก่อหนี้สินเพิ่มขึ้น (หนี้สินตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง คำนิยามวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์) ให้สหกรณ์เร่งดำเนินการจัดทำงบการเงินประจำปีให้แล้วเสร็จเพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและเสนอให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ โดยปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ .............. ลงวันที่ ..................(ถ้ามีคำสั่งนายทะเบียนให้สหกรร์แก้ไขข้อบกพร่อง) และเมื่อจัดทำงบการเงินเป็นปัจจุบันแล้ว สหกรณ์จะได้กำหนดวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่อไป 

          4.2 คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์/ผู้ตรวจการสหกรณ์

                   การที่สหกรณ์ไม่ดำเนินการหรือไม่สามารถดำเนินการยื่นเสนอขอความเห็นชอบวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์/ผู้ตรวจการสหกรณ์ รายงานให้นายทะเบียนสหกรณ์ทราบ ว่าสหกรณ์ไม่สามารถกำหนดวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ ได้ให้เป็นไปตาม มาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ พ.ศ.2561 เพื่อให้นายทะเบียนสหกรณ์ใช้อำนาจตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ และกำกับดูแลสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือสั่งให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวตามมาตรา 22 (1) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อไป

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...