วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ทุนเรือนหุ้นของสมาชิกสหกรณ์

“…หลักการสหกรณ์มุ่งหวังการรวมคนเป็นสำคัญมากกว่าที่จะให้สมาชิกมุ่งการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนเช่นผู้ประกอบการของธุรกิจเอกชนทั่วไป ดังนั้นมูลค่าหุ้นของสหกรณ์ที่กำหนดในข้อบังคับจะมีมูลค่าต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีกำลังทรัพย์น้อยสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ได้ และสมาชิกสามารถที่จะถือหุ้นเพิ่มได้ตลอดเวลาหรืออาจลดส่งค่าหุ้นได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ... (ปรีชา สุวรรณทัต และทรงพล พนาวงศ์, 2555: 57) 

...โดยเหตุที่ตามหลักสหกรณ์ไม่มีจุดมุ่งหมายให้สมาชิกมาแสวงหากำไรจาการนำเงินมาลงทุนในสหกรณ์เหมือนกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ดังนั้น หลักสหกรณ์โดยทั่วไปจะจำกัดดอกเบี้ยที่ให้กับทุนเรือนหุ้น ซึ่งโดยปกติสหกรร์ควรจ่ายเงินปันผลตามหุ้นให้แก่สมาชิกในอัตราไม่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์...(ปรีชา สุวรรณทัต และทรงพล พนาวงศ์, 2555: 65) 

พอดีมีคนคุยให้ฟังว่า...ปัจจุบันสหกรณ์ (บางแห่ง) แบกรับภาระที่จะต้องจ่ายเงินปันผลให้กับสมาชิกเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดที่จะให้สมาชิกสามารถถอนหุ้นคืนได้โดยที่ยังคงสภาพความเป็นสมาชิกสหกรกรณ์อยู่ โดยจะแก้ไขข้อบังคับให้สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ 

ร่างข้อบังคับของสหกรณ์เขียนว่า “…สมาชิกจะโอนหรือถอนหุ้นในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้…” (ดู พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ.2542 และฉบับที่แก้ไข มาตราที่เกี่ยวข้องกับทุนเรือนหุ้น ได้แก่ มาตรา 33 (3) มาตรา 42 มาตรา 42/2 และมาตรา 43 (5)) 

ผมเองก็ไม่ทราบหรอกครับว่าจริง ๆ แล้วหากจะดำเนินการดังกล่าวมันทำได้หรือไม่อย่างไร แต่มีความคิดดังนี้ 

ทุนเรือนหุ้นของสมาชิกจัดว่าเป็นทุนภายในของสหกรณ์ที่แท้จริง จากสมการบัญชีที่ว่า สินทรัพย์=หนี้สิน+ทุน (ทุนเรือนหุ้น+ทุนสำรอง+ทุนสะสมอื่น ๆ) แต่ในทางการบริหารงาน ก็จะนับเงินฝากของสมาชิกเป็นทุนภายในของสหกรณ์ด้วย แม้ในทางบัญชีเงินฝากของสมาชิกจะอยู่ฝั่งหนี้สินก็ตาม 

ทุนเรือนหุ้นจึงเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ เพราะมันมาจากสมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์ทุกคน มีมากมีน้อยก็มีความเป็นเจ้าของสหกรณ์เท่ากัน แต่ความสำเร็จของสหกรณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหุ้นว่ามีมากมีน้อยแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกผู้เป็นเจ้าของสหกรณ์มาดำเนินธุรกิจร่วมกับสหกรณ์มากน้อยแค่ไหน 

การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ เมื่อเกิดผลกำไร กำไรที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า

1. การบริหารงาน การบริหารธุรกิจมีประสิทธิภาพ

2. ต้นทุนการดำเนินงานต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะใช้ทุนของตนเอง (ทุนเรือนหุ้น+เงินฝากของสมาชิก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด และข้อยกเว้นที่สมาชิกผู้ฝากเงินออมทรัพย์กับสหกรณ์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (8) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร)

3. สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์มาก 

เมื่อมีกำไรเราจะจัดสรรอย่างไร

1. การบริหารงาน การบริหารธุรกิจมีประสิทธิภาพ ก็จัดสรรเป็นโบนัสกรรมการและฝ่ายจัดการ อัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ

2. ต้นทุนการดำเนินงานต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะใช้ทุนของตนเอง เมื่อมีกำไรก็จัดสรรเป็นเงินปันผลในอัตราตามที่คำนวณต้นทุนเงินในการดำเนินธุรกิจ

3. สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์มาก ก่อให้เกิดผลกำไรก็จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนในอัตราที่เหมาะสม 

ทั้งนี้ เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนได้รับการยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2514 มาตรา 3 

การที่บอกว่า...สหกรณ์หลายแห่งแบกรับภาระที่จะต้องจ่ายเงินปันผลให้กับสมาชิกเป็นจำนวนมากจึงต้องกลับไปทบทวนว่าอัตราเงินปันผลที่จ่ายนั้นได้คำนวณตามต้นทุนเงินในการดำเนินธุรกิจหรือไม่ มีปัจจัยอื่นที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการคำนวณหรือไม่ 

ถ้าเรายึดหลักการที่ว่า หลักการสหกรณ์มุ่งหวังการรวมคนเป็นสำคัญมากกว่าที่จะให้สมาชิกมุ่งการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทุนเรือนหุ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผูกสัมพันธ์และเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของการช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามอุดมการณ์สหกรณ์ 

ถ้าจะแก้ปัญหา สหกรณ์ (บางแห่ง) แบกรับภาระที่จะต้องจ่ายเงินปันผลให้กับสมาชิกเป็นจำนวนมาก ควรแก้ที่การกำหนดอัตราจ่ายเงินปันผลให้เหมาะสมกว่าเดิม ดีกว่าที่จะแก้ ข้อบังคับหรือบรรดากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สมาชิกสามารถถอนหุ้นคืนได้ แต่ยังคงสภาพความเป็นสมาชิก ... แก้แบบนี้จะดีกว่าไหมครับ 

ข้อกฎหมาย

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 33 สหกรณ์จะตั้งขึ้นได้โดยการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิกโดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ และต้อง

(3) มีทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน และสมาชิกแต่ละคนจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น แต่ไม่เกินหนึ่งในห้าของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด

มาตรา 42 ในการชำระค่าหุ้น สมาชิกจะนำค่าหุ้นหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์ไม่ได้และสมาชิกมีความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น และเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธินำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้ และให้สหกรณ์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น

มาตรา 42/2 สมาชิกอาจทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ ในเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน

มาตรา 43 ข้อบังคับของสหกรณ์อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(5) ทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้น มูลค่าของหุ้น การชำระค่าหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่น การขายและการโอนหุ้น ตลอดจนการจ่ายคืนค่าหุ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...