วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์เจ้าหน้าที่สหกรณ์

 1. ข้อกฎหมาย

          1.1 พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

                   มาตรา 41 สหกรณ์ตามมาตรา 33/1 อาจรับสมาชิกสมทบได้

สมาชิกสมทบต้องเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งบรรลุนิติภาวะ เว้นแต่สหกรณ์ตาม มาตรา 33/1 (4) (6) หรือ (7) ที่ตั้งอยู่ในสถานศึกษาอาจรับผู้ศึกษาในสถานศึกษานั้นซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะให้เป็นสมาชิกสมทบได้

สมาชิกสมทบต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด

คุณสมบัติอื่น วิธีรับสมัคร และการขาดจากสมาชิกภาพ ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสมทบ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับโดยความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์

ห้ามมิให้สหกรณ์ให้สิทธิแก่สมาชิกสมทบในการนับชื่อของสมาชิกสมทบเข้าเป็นองค์ประชุมในการประชุมใหญ่ การออกเสียงในเรื่องใด ๆ หรือเป็นกรรมการดำเนินการ หรือกู้ยืมเงินเกินกว่าเงินฝากและทุนเรือนหุ้นของตนเองจากสหกรณ์

มาตรา 60 ในการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิ

กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรเป็นทุนสำรองและค่าบำรุงสันนิบาต สหกรณ์แห่งประเทศไทย ที่ประชุมใหญ่อาจจัดสรรได้ภายใต้ข้อบังคับ ดังต่อไปนี้

(1) จ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง สำหรับสหกรณ์แต่ละประเภท

(2) จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้ทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปี

(3) จ่ายเป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ

(4) จ่ายเป็นทุนสะสมไว้ เพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของสหกรณ์ตามที่กำหนดในข้อบังคับ

          1.2 ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการรับจดทะเบียนข้อบังคับเกี่ยวกับสมาชิกสมทบของสหกรณ์ พ.ศ.2563

          1.3 ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องความสัมพันธ์ของสมาชิกสมทบกับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์

                   1. ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสมทบของสหกรณ์จะต้องเป็นผู้ที่มีความสะดวกที่จะดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ และต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ในประกาศนี้

2. สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สมาชิกสมทบจะต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

2.1 เป็นบิดา มารดา สามี ภรรยาหรือบุตรของสมาชิก หรือ

2.2 เป็นบุคลากรหรือลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานต้นสังกัดเดียวกันกับสมาชิกและได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากหน่วยงานต้นสังกัดนั้น แต่ข้อบังคับไม่ได้กำหนดคุณสมบัติให้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้

3. สหกรณ์การเกษตร  สหกรณ์นิคม  สหกรณ์ประมง สหกรณ์บริการ และสหกรณ์ร้านค้า สมาชิกสมทบจะต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

3.1 เป็นบิดา มารดา สามี ภรรยาหรือบุตรของสมาชิก หรือ

3.2 เป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ที่ขาดคุณสมบัติเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหลักที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับ

2. คำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          2.1 หนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1108/346 ลงวันที่ 15 มกราคม 2550 เรื่อง การกำหนดระเบียบขึ้นถือใช้ของสหกรณ์

          การที่สหกรณ์กำหนดระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่มีผลทำให้ค่าใช้จ่ายของสหกรณ์เพิ่มขึ้นในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อกรรมการดำเนินการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์โดยตรงไม่สามารถกระทำได้ หากสหกรณ์กำหนดระเบียบขึ้นถือใช้เพื่อเป็นการให้สวัสดิการแก่กรรมการดำเนินการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ โดยการนำเงินจากการจัดสรรกำไรสุทธิที่เหลือจากการหักทุนสำรองและเงินบำรุงสันนิบาตสหกรณ์มาจัดเป็นสวัสดิการให้กู้ยืมแก่กรรมการดำเนินการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ การจัดสรรเงินทุนดังกล่าวตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 60 (4) ทุนสะสมไว้เพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของสหกรณ์นั้น ควรผ่านการจัดสรรมาเป็นลำดับตามที่กฎหมายกำหนดมาก่อน และการกำหนดระเบียบการให้เงินสงเคราะห์ในรูปเงินกู้ยืมควรให้เฉพาะเจ้าหน้าที่สหกรณ์เท่านั้น และต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการให้เงินสวัสดิการอื่นที่สหกรณ์กำหนดไว้ สำหรับการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและระยะเวลาการส่งชำระคืน สหกรณ์ควรกำหนดไม่ต่ำกว่า หรือระยะเวลานานกว่าที่สหกรณ์คิดกับสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งระเบียบดังกล่าวควรผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่โดยกำหนดเป็นวาระการประชุมที่ชัดเจน และเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ร่วมกันอภิปราย ซักถามอย่างละเอียดก่อนลงมติให้ความเห็นชอบ

          2.2 หนังสือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ กษ 0404/ ว 40 ลงวันที่ 29 เมษายน 2559 เรื่องแจ้งเวียนหนังสือจากกรมส่งเสริมสหกรณ์

การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ตามมาตรา 60 (4) เพื่อจ่ายเป็นทุนสะสมเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของสหกรณ์ตามที่กำหนดในข้อบังคับเห็นว่า กฎหมายสหกรณ์มีเจตนารมณ์ให้สหกรณ์สะสมทุนเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่างหากไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติของสหกรณ์จึงเป็นอำนาจและดุลยพินิจของที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีไว้เป็นทุนสวัสดิการหรือการสงเคราะห์แก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ สหกรณ์ควรจัดสรรทุนดังกล่าวเพียงทุนเดียว เช่น "เป็นทุนสวัสดิการหรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์" เมื่อสหกรณ์กำหนดระเบียบเพื่อรองรับการใช้จ่ายเงินของทุนสะสมดังกล่าวก็สามารถจำแนกเป็นเงินสวัสดิการหรือการสงเคราะห์ของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ตามเจตนารมณ์ได้ แต่ทั้งนี้กเกณฑ์และจำนวนเงินที่จะให้สวัสดิการหรือเงินกู้แก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ต้องไม่ดีกว่าหรือสูงกว่าสมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์

2.3 คำแนะนำวิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับระเบียบของสหกรณ์ว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ (บันทึกข้อความ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ 0406/12491 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2533)

1. ความพร้อมของสหกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ที่ประสงค์จะกำหนดให้มีระเบียบว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงาน ควรกระทำต่อเมื่อสหกรณ์นั้นมีฐานะการเงินมั่นคงและมีเงินส่วนเหลือจากการทำธุรกิจปกติกับสมาชิกโดยทั่วไปของสหกรณ์เป็นที่เพียงพอแล้วจึงจะมีวามพร้อมในการแบ่งปันความช่วยเหลือไปให้แก่พนักงานของสหกรณ์ได้บ้าง ในการนี้ ให้ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ที่มีการกำหนดระเบียบว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ขึ้นถือใช้ให้ข้อสังเกตไว้ในรายงานการสอบบัญชีด้วยว่าสหกรณ์มีความพร้อมในการช่วยเหลือสงเคราะห์พนักงานหรือไม่เมื่อพิจารณาเทียบกับความเพียงพอในการให้บริการด้านต่าง ๆ แก่สมาชิกในระหว่างปีและความมั่นคงของฐานะการเงินของสหกรณ์ขณะนั้น

2. การพิจารณาวงเงินช่วยเหลือสงเคราะห์พนักงาน ตามหลักการในระเบียบว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ดังกล่าว สหกรณ์จะจ่ายเงินยืมเพื่อสงเคราะห์พนักงานทั้งหลายได้ไม่เกินจำนวนเงินที่คำนวณจากยอดคงเหลือตามบัญชีต่าง ๆ ในข้อ 3. (1) ถึง (4) รวมกัน

3. บัญชีที่เกี่ยวข้อง

1) "บัญชีทุนสะสมเพื่อวงเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงาน" ใช้บันทึกรายการเงินที่สหกรณ์โอนจัดสรรจากกำไรสุทธิประจำปีเพื่อกันเป็นวงเงินสำหรับการสงเคราะห์พนักงาน ยอดคงเหลือของบัญชีนี้จะแสดงในงบดุลหัวข้อทุนสะสมตามข้อบังคับ ระเบียบและอื่น ๆ  อย่างไรก็ตาม หากสหกรณ์เห็นว่าวงเงินที่จะให้พนักงานสหกรณ์กู้ยืมซึ่งคำนวณได้จากบัญชีอื่นนอกเหนือจากบัญชีนี้มีเพียงพอแล้วให้สหกรณ์โอนปิดบัญชีทุนสะสมเพื่อวงเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานนี้เข้าบัญชีเงินสำรองต่อไป

2) "บัญชีเงินสะสมพนักงาน" ใช้บันทึกรายการเงินฝากสะสมของพนักงานที่สหกรณ์หักไว้เป็นปกติตามระเบียบว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ยอดคงเหลือจากบัญชีนี้จะแสดงในงบดุลภายใต้หัวข้อหนี้สินอื่น

3) "บัญชีเงินรับฝากประจำจากพนักงาน" ใช้บันทึกรายการเงินรับฝากจากพนักงาน ซึ่งสหกรณ์ทำโครงการไว้เฉพาะเพื่อกองทุนสงเคราะห์ โดยให้บันทึกบัญชีแยกต่างหากจากบัญชีเงินรับฝากประจำที่สหกรณ์รับฝากสมาชิกทั่วไป ยอดคงเหลือของบัญชีนี้จะแสดงในงบดุลภายใต้หัวข้อหนี้สินหมุนเวียนโดยแสดงแยกเฉพาะออกจากรายการเงินรับฝาก เพื่อให้เห็นซัด

4) "บัญชีเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงาน" ใช้บันทึกรายการรับเงินอุดหนุน เงินบริจาคเงินช่วยเหลือ หรือเงินอื่นใดที่ได้รับจากบุคคล องค์การ หรือสถาบันเพื่อกองทุนสงเคราะห์ รวมทั้งใช้บันทึกรายการดอกผลที่เกิดจากเงินกองทุนสงเคราะห์ อาทิเช่น ค่าตอบแทนและค่าปรับที่ได้รับจากพนักงานผู้ยืม ฯลฯ ยอดคงเหลือของบัญชีนี้จะแสดงในงบดุลภายใต้หัวข้อหนี้สินอื่น โดยให้แสดงต่อจากรายการเงินสะสมพนักงาน

อนึ่ง ถ้าสหกรณ์ประสงค์จะจัดสรรเงินเฉลี่ยคืนให้กับพนักงานที่ร่วมกิจกรรมกับเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงาน ให้โอนจัดสรรจาก "บัญชีเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงาน" นี้แทนการจัดสรรจากกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ ทั้งนี้การคำนวณเงินเฉลี่ยคืนควรคิดจากยอดดอกผลที่เกิดจากเงินกองทุนฯ ในระหว่างปี อันได้แก่ค่าตอบแทนและค่าปรับที่ได้รับจากพนักงานเท่านั้น

5) "บัญชีลูกหนี้เงินยืมพนักงาน" ใช้บันทึกรายการที่สหกรณ์จ่ายเงินยืมเพื่อเป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือแก่พนักงาน โดยบันทึกพนักงานผู้ยืมไว้เป็นลูกหนี้ของสหกรณ์ ยอดคงเหลือของบัญชีนี้จะแสดงในงบดุลหัวข้อลูกหนี้อื่น

ทั้งนี้ ให้สหกรณ์จัดทำบัญชีย่อยเพื่อเป็นรายละเอียดประกอบบัญชีแยกประเภท (2) , (3) และ

(5) ที่ระบุไว้ข้างต้นด้วย

2.4 แนวทางปฏิบัติกรณีหักเงินค่าจ้างเป็นเงินสะสมของพนักงาน (หนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1110/10165 ลงวันที่ 15 กันยายน 2543)

ลักษณะของเงินกองทุนสะสมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน หากจะมีขึ้นจะต้องเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในสถานประกอบกิจการด้วยความสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงาน โดยที่มาของเงินทุนอาจเกิดจากเงินสะสมของลูกจ้างฝ่ายเดียวหรือนายจ้างจ่ายเงินสมทบให้อีกส่วนหนึ่งด้วยก็ได้ โดยต้องไม่กำหนดเงื่อนไขให้เงินสะสมเป็นเงินประกันความเสียหายจากการทำงาน และต้องจัดทำข้อตกลงระหว่างพนักงานกับสหกรณ์ไว้อย่างชัดเจน 

3. ข้อเสนอแนะ

          เจ้าหน้าที่สหกรณ์สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบของสหกรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 41 และ ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการรับจดทะเบียนข้อบังคับเกี่ยวกับสมาชิกสมทบของสหกรณ์ พ.ศ. 2563 และประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องความสัมพันธ์ของสมาชิกสมทบกับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ และเมื่อเป็นสมาชิกสมทบของสหกรณ์แล้วก็ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...