วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

"ถอดรหัส มูลค่า (ราคา) “หุ้น” ของวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน กับวิสาหกิจไม่แสวงหากำไรแบบสหกรณ์"

มูลค่า (ราคา) “หุ้น” ของวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน หาได้จากสูตร

มูลค่าตามบัญชี = สินทรัพย์รวม - หนี้สินรวม

มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น = (สินทรัพย์รวม - หนี้สินรวม)/จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทออกและเรียกชำระแล้ว

มูลค่าหุ้นตามบัญชีต่อหุ้นสามัญ = (สินทรัพย์รวม – (หนี้สินรวม+ส่วนของผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ))/จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทออกเรียกชำระเงินค่าหุ้นแล้ว

หุ้น (Stock) ของวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน ถือเป็น “หลักทรัพย์” ตามมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ออนไลน์) อธิบายว่า หุ้น เป็นตราสารที่กิจการออกให้แก่ผู้ถือ (Holder) เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ โดยผู้ถือตราสารทุนจะมีฐานะเป็น "เจ้าของกิจการ" ซึ่งจะมีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการ รวมทั้งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล (Dividend) ซึ่งขึ้นอยู่กับผลกำไรและข้อตกลงของกิจการนั้น ๆ โดยทั่วไปหุ้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หุ้นสามัญ (Common Stock) กับ หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) (รายละเอียดโดยละเอียด โปรดติดตามในบทความฉบับเต็ม)

มูลค่าตามบัญชี (Book Value) เป็นมูลค่าของหุ้นสามัญหรือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของบริษัท (Net Asset Value) ตามงบดุลล่าสุดของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ที่คำนวณได้จากการนำสินทรัพย์รวมหักด้วยหนี้สินรวม (ส่วนของผู้ถือหุ้น) ส่วนการหามูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น ต้องหารด้วยจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วของบริษัท

มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) มีความหมายว่า หากบริษัทมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ และสามารถจะนำสินทรัพย์ที่มีอยู่แปรเป็นเงินสดตามมูลค่าที่ระบุในงบดุลและชำระหนี้สินต่าง ๆ ให้เจ้าหนี้ตามยอดหนี้ที่ปรากฏ ณ วันที่ในงบดุลแล้ว ผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินทุนต่อหุ้นคืนในจำนวนเท่ากับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น

มูลค่า (ราคา) “หุ้น” ของวิสาหกิจไม่แสวงหากำไรแบบสหกรณ์ หาได้จากสูตร

มูลค่าต่อหุ้น = (ทุนเรือนหุ้นทั้งหมด - (ขาดทุนสะสมคงเหลือ + หนี้สินทั้งสิ้น))/จำนวนหุ้นทั้งสิ้น

ทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน ที่สมาชิกแต่ละคนจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น แต่ไม่เกินหนึ่งในห้าของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด (มาตรา 33 (3)) เป็นทุนของสหกรณ์ (มาตรา 42) การที่สมาชิกมาถือหุ้นในสหกรณ์ก็เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของสหกรณ์ร่วมกัน และจะได้ร่วมกันดำเนินธุรกิจตามหลักการสหกรณ์ที่ 3 หุ้นที่สมาชิกแต่ละคนจะต้องถือช่วยให้สหกรณ์มีทุนหมุนเวียนอย่างเพียงพอในการดำเนินงาน (ไม่ต้องพึ่งพาแหล่งทุนภายนอก) เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ ทุนเรือนหุ้นของสมาชิกจึงถือเป็นทุนของสหกรณ์

การคำนวณมูลค่าต่อหุ้นของสหกรณ์ จะคำนวณเฉพาะในกรณีที่สหกรณ์ขาดทุนเกินทุนสำรองเท่านั้น เนื่องจากเจ้าของทุนต้องรับผิดชอบในส่วนที่ขาดทุนด้วย ตามมาตรา 42 ที่กำหนดว่า “สมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ” โดยนายทะเบียนสหกรณ์ได้กำหนดให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์กำหนดวิธีการจ่ายคืนค่าหุ้นในกรณีที่สหกรณ์ขาดทุนเกินทุนสำรองในข้อบังคับสหกรณ์ โดยให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นไปตามหลักการลงทุนซึ่งเจ้าของทุนต้องรับผิดชอบในส่วนที่ขาดทุนด้วย ซึ่งกรณีนี้สหกรณ์สามารถจ่ายคืนค่าหุ้นแก่สมาชิกน้อยกว่ามูลค่าหุ้นได้ เมื่อสหกรณ์มียอดขาดทุนเกินทุนสำรองที่มีอยู่ และเมื่อสหกรณ์เพิ่มมูลค่าเงินค่าหุ้นจ่ายคืนต่อหุ้น จะต้องไม่เกินมูลค่าหุ้นที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ (คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ 278/2549)

หากผลการดำเนินงานของสหกรณ์ยังไม่อยู่ในภาวะขาดทุนสะสม มูลค่าหุ้นที่สมาชิกถืออยู่กับสหกรณ์จะมีมูลค่าตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ ตามมาตรา 43 (5) แม้สหกรณ์จะมีกำไรมากเพียงใดมูลค่าต่อหุ้นของสหกรณ์ก็ยังคงที่เท่าเดิมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ กำไรในสหกรณ์จึงไม่มีผลต่อมูลค่าหุ้นที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับของสหกรณ์ แต่มีผลต่อความมั่นคงของสหกรณ์ด้วยการจัดสรรกำไรสุทธิเป็นทุนสำรอง มีผลต่อการอยู่ดี กินดี ของสมาชิกด้วยการจัดสรรเป็นเงินปันผลตามทุนเรือนหุ้นของสมาชิก จัดสรรเป็นเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนที่สมาชิกมาร่วมดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ และมีผลต่อสวัสดิการของสมาชิก ชุมชน และสังคม ด้วยการจัดสรรเป็นทุนต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของสมาชิกโดยที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ (มาตรา 60)

รหัสที่ต้องการถอดคือ สูตรการหา มูลค่า (ราคา) “หุ้น” ของวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน กับวิสาหกิจไม่แสวงหากำไรแบบสหกรณ์" ที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างกัน มันอธิบายให้เห็นเรื่อง แสวงหากำไร กับไม่แสวงหากำไรอย่างไร

ในมุมมองของผม มองว่า การที่วิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน กำหนดสูตรการคำนวน ว่า มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น = (สินทรัพย์รวม - หนี้สินรวม)/จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทออกและเรียกชำระแล้ว เพราะมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นมันสัมพันธ์กับผลประกอบการของบริษัท หากมีกำไร สินทรัพย์รวมก็เพิ่มขึ้น หุ้นก็มูลค่าเพิ่มขึ้น หากขาดทุนสินทรัพย์ก็ลดลง มูลค่าหุ้นก็ลดลง

ส่วนกรณีสหกรณ์คำนวณมูลค่าต่อหุ้น โดยกำหนดสูตร มูลค่าต่อหุ้น = (ทุนเรือนหุ้นทั้งหมด - (ขาดทุนสะสมคงเหลือ + หนี้สินทั้งสิ้น))/จำนวนหุ้นทั้งสิ้น

เนื่องจากกำไรมีผลต่อสินทรัพย์ แต่ไม่มีผลต่อมูลค่าหุ้น (กรณีไม่มีผลขาดทุนสะสม) เพราะข้อบังคับกำหนดมูลค่าหุ้นไว้คงที่ไม่ให้มีมูลค่าต่อหุ้นเกินกว่าที่กำหนด แต่เมื่อสหกรณ์มีผลขาดทุนสะสม สินทรัพย์ลดลง เพราะต้องเอาทุนสำรองมาชดเชยยอดขาดทุนจนหมดและไม่พอชดเชยยอดขาดทุน มูลค่าต่อหุ้นจะลดลงด้วย เนื่องจากสมาชิกต้องรับผิดชอบในส่วนที่ขาดทุนด้วย ตามมาตรา 42 ที่กำหนดว่า “สมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ”

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน หรือวิสาหกิจไม่แสวงหากำไรแบบสหกรณ์ ต่างก็ไม่อยากขาดทุนหรอกครับ โดยเฉพาะประชาชน แต่กรณีวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน ประชาชนบางคนเขายอมรับความเสี่ยงได้เมื่อเขาก็เข้าใจว่า High Risk - High Return หากวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุนขาดทุนเพราะปัจจัยเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) ที่มาจาก ปัจจัยมหภาค (Macro Factors) ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยี การเมือง กฎระเบียบต่าง ๆ ฯลฯ และปัจจัยจุลภาค (Micro Factors) ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรจำนวนมาก แต่สร้างรายได้ไม่คุ้มค่าเสื่อมราคา ความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk) ได้แก่ ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน (Interest Rates Risk) ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Risk) ซึ่งอาจส่งผลให้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดว่าจะได้รับจากการลงทุนลดลงไป ผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงเขาก็ยอมรับได้

ส่วนประชาชนผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์ ผู้ร่วมเป็นเจ้าของสหกรณ์ เขาไม่ต้องการมีความเสี่ยง และสหกรณ์ก็ไม่ใช่ตลาดทุน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี ปัจจัยเสี่ยงบางส่วนก็เป็นปัจจัยเดียวกันกับวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน อีกส่วนหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับการทำมาหาเลี้ยงชีพของสมาชิก ที่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศ รายได้ ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของสมาชิก หากสหกรณ์บริหารจัดการไม่ดี ก็มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน

ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และความพอเพียง ย่อมช่วยป้องกันปัญหาขาดทุนทั้งวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน และวิสาหกิจไม่แสวงหากำไรแบบสหกรณ์ แต่สหกรณ์ย่อมไม่เสี่ยงเลยหรือเสี่ยงน้อยที่สุดถ้าทุกฝ่ายในสหกรณ์ดำเนินกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันตามหลักการสหกรณ์ บนพื้นฐานความเชื่อร่วมกันว่า

การช่วยเหลือตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันจะช่วยแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การอยู่ดี กินดี เกิดความเป็นธรรม และเกิดสันติสุขในสังคม” อยู่บนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการช่วยตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ การดำเนินกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปตามหลักการสหกรณ์สากล 7 ข้อ ได้แก่ การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง (Voluntary and Open Membership) การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Member Control) การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก (Member Economic Participation) การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ (Autonomy and Independence) การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ (Education, Training, and Information) การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (Cooperation among Cooperatives) และการเอื้ออาทรต่อชุมชน (Concern for Community)

การจัดสวัสดิการที่เข้าข่ายการประกันชีวิตและการประกันภัย

ปัญหาหนี้ค้างนานในสหกรณ์ เป็นที่มาของการคิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นานา แม้มีเจตนาดี แต่ก็ต้องไม่ลืมหลักการที่ดีในการบริหารจัดการด้วยนะครับ หลักกฎหมาย หลักความเป็นธรรม หลักความรับผิดชอบ การพิจารณาใช้มาตรการต่าง ๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ต่อสหกรณ์ และการช่วยเหลือสมาชิก ต้องคำนึงถึงการสร้างวินัยทางการเงินและความเป็นธรรมแก่สมาชิกอื่น ตลอดจนให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง

กรณีที่มีการจัดสวัสดิการที่เข้าข่ายการประกันชีวิตและการประกันภัย เช่น การคุ้มครองหนี้ การช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน และการคุ้มครองมูลค่าหุ้น ขอให้พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้ครับ

1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 861 อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย

มาตรา 862

คำว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้

คำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คำว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินใช้ให้

มาตรา 869 อันคำว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้

มาตรา 889 ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

2. พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 18 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใด ๆ เว้นแต่จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต

3. พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 4 "วินาศภัย" หมายความว่า ความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาที่จะพึงประมาณเป็นเงินได้ และหมายความรวมถึงความสูญเสียในสิทธิ ผลประโยชน์ หรือรายได้ด้วย

มาตรา 17 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันภัยกับบุคคลใด ๆ เว้นแต่จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

4. พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 33 (3) “สหกรณ์จะตั้งขึ้นได้โดยการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ และต้อง มีทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน และสมาชิกแต่ละคนจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น แต่ไม่เกินหนึ่งในห้าของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด”

มาตรา 42 ในการชำระค่าหุ้น สมาชิกจะนำค่าหุ้นหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์ไม่ได้และสมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น และ เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง

สหกรณ์มีสิทธิ์นำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิก ผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้ และให้สหกรณ์มีสถานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น

มาตรา 43 (5) “ข้อบังคับของสหกรณ์อย่างน้อยต้องมีรายการ ทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้น มูลค่าของหุ้น การชำระค่าหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่น การขาย และการโอนหุ้น ตลอดจนการจ่ายคืนค่าหุ้น”

มาตรา 46 (2) “เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการ ให้สวัสดิการหรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว”

มาตรา 60 (4) การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ จ่ายเป็นทุนสะสมไว้ เพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของสหกรณ์ตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา 105/1 เพื่อส่งเสริมระบบสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ ให้ชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศมีอำนาจร่วมกับสหกรณ์สมาชิกของตน จัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ของสมาชิกสหกรณ์และครอบครัวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด

5. คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ 278/2549 เรื่อง ให้สหกรร์และชุมนุมสหกรณ์กำหนดเรื่อง การจ่ายคืนหุ้นในกรณีที่ขาดทุนเกินทุนสำรองที่มีอยู่ไว้ในข้อบังคับ

6. ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่สมาชิกสหกรณ์และครอบครัวโดยชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศร่วมกับสหกรณ์สมาชิก แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565

7. ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่สมาชิกสหกรณ์และครอบครัวโดยชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศร่วมกับสหกรณ์สมาชิก พ.ศ. 2564

8. ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 ข้อ 26 ข้อ 30 ข้อ 31 ข้อ 32 ข้อ 33 และ ข้อ 88

9. ประกาศกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่องการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ พ.ศ. 2563

10. ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563

11. ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการจัดชั้นคุณภาพลูกหนี้เงินกู้และการเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ พ.ศ. 2544

12. คำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องวิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ พ.ศ. 2547

13. บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่สมาชิกชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด (เรื่องเสร็จที่ 618/2560)

14. หนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1101/1026 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 เรื่อง การจัดสวัสดิการของสหกรณ์ มีลักษณะอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535

15. หนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1101.11/830 ลงวันที่ 23 มกราคม 2545 เรื่อง ห้ามสหกรณ์ดำเนินธุรกิจประกันชีวิต

16. หนังสือกรมการประกันภัย ที่ พณ 0503/4330 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 เรื่อง ตอบข้อหารือ

17. หนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1110/4365 ลงวันที่ 25 เมษายน 2543 เรื่อง แจ้งหลักเกณฑ์การกระทำการเป็นผู้รับประกันภัย โดยมิได้รับใบอนุญาต ของกรมการประกันภัย

18. หนังสือกรมการประกันภัย ที่ พณ 0502/2814 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2548 เรื่อง กองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ

19. หนังสือกรมการประกันภัย ที่ พณ 0502/2815 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2548 เรื่อง กองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ

ที่ปรึกษาของสหกรณ์

"ที่ปรึกษาของสหกรณ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในการให้ความเห็นหรือคำแนะนำแก่สหกรณ์โดยอาจมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้ แต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งรับจ้างทำงานให้แก่สหกรณ์โดยมีลักษณะของงานที่ใช้ความรู้ความสามารถพิเศษด้านเทคนิค หรือใช้ความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น ที่ปรึกษางานบัญชี ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศ (ข้อ 1 แห่ง กฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564)

ให้คณะกรรมการของสหกรณ์ขนาดใหญ่มีอำนาจหน้าที่จัดให้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมของกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ ที่ปรึกษาของสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสหกรณ์ (ข้อ 5 (2) แห่ง กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2564)

การกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาลของสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาของสหกรณ์ ให้เป็นไปตาม ข้อ 14 (1) แห่ง กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2564

การป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ในการดำเนินงานของสหกรณ์ ให้เป็นไปตาม ข้อ 18 (2) (3) (4) แห่ง กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2564

ปรึกษาของสหกรณ์ ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส เพราะขัดต่อ มาตรา 60 (3) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มีข้อแนะนำในการแต่งตั้งที่ปรึกษา ดังนี้

1. ข้อบังคับของสหกรณ์กำหนดไว้อย่างไร

2. ระเบียบสหกรณ์........................... จำกัด ว่าด้วยที่ปรึกษาของสหกรณ์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ พ.ศ. ........ กำหนดไว้อย่างไร

3. หนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1115/5690 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2562 เรื่อง คำแนะนำแนวทางการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของสหกรณ์ ซึ่งอ้างถึงหนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1108/2791 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 เรื่อง คำแนะนำแนวทางการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของสหกรณ์ มีสาระสำคัญดังนี้

1. คุณลักษณะของผู้ทรงคุณวุฒิ

1.1 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน

1.2 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบัญชี

1.3 ผู้ทรงคุณวุฒิค้านการบริหารจัดการ

1.4 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคำเนินธุรกิจ

2. คุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิที่ จะเป็นที่ปรึกษาของสหกรณ์ ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้

2.1 ไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ เพื่อสามารถให้คำแนะนำปรึกษาแก่สหกรณ์หรือคณะกรรมการคำเนินการได้อย่างอิสระ

2.2 มีประสบการณ์และผลงานในด้านการเงิน หรือการบัญชี หรือการบริหารจัดการหรือการดำเนินธุรกิจ เป็นที่ประจักษ์เป็นอย่างดี

3. การตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของสหกรณ์ให้ที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์รับทราบ โดยคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ควรพิจารณาคัดสรรผู้ทรงคุณวุฒิจากคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิในข้อ 2 เป็นหลัก

การดำเนินธุรกิจรับฝากเงินของสหกรณ์

รูปแบบการดำเนินธุรกิจการรับฝากเงินของสหกรณ์เป็นอย่างไร สหกรณ์รับฝากเงินจากใครได้บ้าง เงินรับฝากในสหกรณ์มีกี่ประเภท ผู้ฝากเงินเปิดบัญชีเงินฝากได้กี่บัญชี อัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากร้อยละเท่าไร และผู้ฝากเงินต้องเสียภาษีเงินได้กรณีได้รับดอกเบี้ยเงินรับฝากจากสหกรณ์ หรือไม่ อย่างไร ตลอดจนสหกรณ์สามารถให้ผลตอบแทนอื่นใดนอกจากดอกเบี้ยได้หรือไม่ มีรายละเอียดดังนี้ ครับ 

1. สหกรณ์รับฝากเงินจากใครได้บ้าง

สหกรณ์ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ และต้องมีกิจการร่วมกันตามประเภทของสหกรณ์ที่ขอจดทะเบียน (มาตรา 33 (1) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ลักษณะของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์แต่ละประเภท ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 33/1 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการ รับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากสมาชิกหรือสหกรณ์อื่น หรือสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งมีสมาชิกของสมาคมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคลากรหรือลูกจ้างไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้น เป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน ทั้งนี้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (มาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

สรุป สหกรณ์รับฝากเงินได้จาก 1) สมาชิก 2) สหกรณ์อื่น 3) สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งมีสมาชิกของสมาคมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน และ 4) นิติบุคคลซึ่งมีบุคลากรหรือลูกจ้างไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้น เป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน 

กรณี นิติบุคคลซึ่งมีบุคลากรหรือลูกจ้างไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้น “นิติบุคคล” หมายความว่า หน่วยงานหรือองค์กรที่มีฐานะนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นซึ่งเป็นต้นสังกัดของสมาชิกสหกรณ์ (ร่างระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินจากนิติบุคคล พ.ศ. ... นายทะเบียนสหกรณ์เห็นชอบให้สหกรณ์ถือใช้ระเบียบว่าด้วยเงินฝากจากนิติบุคคล ตามหนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1115/33 ลงวันที่ 28 กันยายน 2566) 

2. ประเภทเงินรับฝากที่สหกรณ์รับฝากได้มีกี่ประเภท

เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการรับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำ (มาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

สรุป ประเภทเงินรับฝากที่สหกรณ์รับฝากได้มี 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทออมทรัพย์ หรือประเภทประจำ ทั้งนี้ เงินฝากประเภทออมทรัพย์สามารถแยกได้เป็น 2 ชนิด คือ เงินฝากออมทรัพย์และออมทรัพย์พิเศษ ส่วนเงินฝากประเภทประจำสามารถแยกได้เป็น 2 ชนิด เช่นกัน คือ เงินฝากประจำและเงินฝากประจำที่ได้รับการยกเว้นภาษี (เงินฝากประจำที่ต้องฝากเท่า ๆ กันทุกเดือน ไม่น้อยกว่า 24 เดือน) (กรมส่งเสริมสหกรณ์) ซึ่งเงินฝากประจำที่ได้รับการยกเว้นภาษี คือเงินฝากในสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์เท่านั้น (มาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 664) พ.ศ. 2561) 

อนึ่ง เงินฝากออมทรัพย์พิเศษเป็นเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ซึ่งผู้ฝากจะต้องจ่ายเงินฝากคืนเมื่อผู้ฝากทวงถาม แต่กำหนดเงื่อนไขการฝาก – การถอนเงิน และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างจากเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป แต่ควรระวังว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะต้องไม่ให้ผูกกับเงื่อนเวลา เพราะจะเข้าลักษณะเงินฝากประจำ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) 

3. อัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากกำหนดได้ไม่เกินร้อยละเท่าไร

อัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากเป็นไปตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ โดยให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากสำหรับระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินทุกประเภทได้ไม่เกินร้อยละ...ปัจจุบันไม่เกินร้อยละ 3.75 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป (ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566) 

4. ผู้ฝากเงินต้องภาษีเงินได้กรณีได้รับดอกเบี้ยเงินรับฝากจากสหกรณ์ หรือไม่ อย่างไร

4.1) ผู้ฝากเงิน (สมาชิก) ฝากเงินประเภทประจำกับสหกรณ์ ถ้าบุคคล (สมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา) ดังกล่าวได้รับดอกเบี้ย จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร โดยทุกครั้งที่สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่สมาชิก สหกรณ์มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

อนึ่ง ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากันแต่ไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหกแสนบาท ให้ยกเว้นภาษีเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 664) พ.ศ. 2561)

4.2) ผู้ฝากเงิน (สมาชิก) ฝากเงินประเภทเงินฝากออมทรัพย์ไว้กับสหกรณ์ ถ้ามีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าว ผู้ฝากเงินไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์ เพราะได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (8) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร 

4.3 สหกรณ์ (ผู้ฝากเงินสหกรณ์ตามมาตรา 46 (5)) ไม่ใช่นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร 

4.4 สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ (ผู้ฝากเงินสหกรณ์ตามมาตรา 46 (5)) เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ถ้ามีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก 

4.5 นิติบุคคล (ผู้ฝากเงินสหกรณ์ตามมาตรา 46 (5)) เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ถ้ามีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก 

5. ผู้ฝากเงินกับสหกรณ์เปิดบัญชีเงินฝากได้จำนวนกี่บัญชี

5.1 เงินรับฝากออมทรัพย์ สหกรณ์ต้องกำหนดจำนวนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ว่าผู้ฝากรายหนึ่ง ๆ สามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ได้รายละไม่เกินกี่บัญชี สำหรับเงินฝากออมทรัพย์ควรให้ผู้ฝากเปิดได้เพียงบัญชีเดียว (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

5.2 เงินรับฝากออมทรัพย์พิเศษ สหกรณ์ต้องกำหนดเงื่อนไขการเปิดบัญชีและเอกสารประกอบการขอเปิดบัญชี โดยกำหนดจำนวนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษว่าผู้ฝากรายหนึ่ง ๆ สามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ได้รายละกี่บัญชี สำหรับเงินฝากออมทรัพย์พิเศษควรให้ผู้ฝากเปิดได้เพียงบัญชีเดียว หากสหกรณ์ต้องการระดมทุนอาจให้เปิดบัญชีมากกว่าหนึ่งบัญชีได้ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) 

อนึ่ง ตามร่างระเบียบว่าด้วยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ พ.ศ....... ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ แล้วเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 กำหนดให้ “ผู้ฝากคนหนึ่งเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษได้เพียงบัญชีเดียว”

5.3 เงินรับฝากประจำ สหกรณ์ต้องกำหนดเงื่อนไขการเปิดบัญชีและเอกสารประกอบการขอเปิดบัญชี โดยกำหนดจำนวนบัญชีเงินฝากประจำว่า ผู้ฝากรายหนึ่ง ๆ สามารถเปิดบัญชีเงินฝากประจำได้รายละไม่เกินกี่บัญชี โดยอาจกำหนดตามระยะเวลาการฝากก็ได้ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) 

อนึ่ง เงินฝากประจำ 24 เดือน (เฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์เท่านั้น) ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร และตามมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 664) พ.ศ. 2561 ผู้ฝากเงิน (สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์เท่านั้น) ต้องเปิดบัญชีเงินฝากขึ้นใหม่โดยเฉพาะแยกต่างหากจากบัญชีเงินฝากประเภทอื่น และผู้ฝากเงิน (สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์เท่านั้น) ผู้มีเงินได้ต้องมีบัญชีเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นี้บัญชีเดียว ตาม ข้อ 2 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 351) 

6. ระเบียบของสหกรณ์ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

ระเบียบของสหกรณ์ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ ตามมาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากสหกรณ์ได้ถือใช้ระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงิน...ที่เป็นไปตามร่างที่นายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว ก็ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์แล้ว และให้สหกรณ์ส่งสำเนาระเบียบให้นายทะเบียนสหกรณ์ทราบเท่านั้น 

กรณีสหกรณ์กำหนดระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงิน...ที่ไม่เป็นไปตามร่างที่นายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว สหกรณ์ต้องส่งระเบียบฯ ดังกล่าวให้นายทะเบียนสหกรณ์พิจารณา และต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ก่อนจึงจะใช้บังคับได้ 

7. การให้ผลตอบแทนอื่นใดนอกจากดอกเบี้ย

ห้ามมิให้สหกรณ์ (สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์) ให้ผลตอบแทนอื่นใดนอกจากดอกเบี้ย เว้นแต่เป็นของกำนัลแก่สมาชิกในโอกาสประเพณีนิยมที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไปและมีการให้แก่สมาชิกทุกรายที่เข้าเงื่อนไขซึ่งสหกรณ์กำหนดอย่างเท่าเทียมกัน (ข้อ 22 แห่งกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564)

วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

“สหกรณ์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Cooperatives for Sustainable Development)”

ในวาระวันสหกรณ์สากลครั้งที่ 101 ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่การสหกรณ์ผ่านบทความ เรื่อง “สหกรณ์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Cooperatives for Sustainable Development)”

อะไรคือสาเหตุสำคัญของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” และการสหกรณ์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร

ความเหลื่อมล้ำ (Disparity, Inequality) คือ ความไม่เท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ ความสามารถในการผลิต และการแบ่งปันกำไรส่วนเกินที่เกิดจากการผลิต ความไม่เท่าเทียมกันในการมีโอกาสได้รับการศึกษา ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณะ ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง ไร้อำนาจต่อรอง ไม่มีส่วนร่วมและได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้มีอำนาจเหนือกว่า การดูถูกเหยียดหยาม ไม่เป็นที่ยอมรับ ไร้ศักดิ์ศรีในสายตาของคนในสังคม และได้รับการปฏิบัติในสังคมอย่างไม่เสมอภาค

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลก

องค์การสหประชาชาติ (2020) ได้รายงานสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมของผู้คนไว้ในรายงาน เรื่อง WORLD SOCIAL REPORT 2020: INEQUALITY IN A RAPIDLY CHANGING WORLD โดยสรุปว่า สถานการณ์ความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงกับประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดยประชากรมากกว่าสองในสาม (ร้อยละ 71) ของประชากรโลก ยังคงมีรายได้ต่ำ รายได้และความมั่งคั่งกระจุกตัวในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สัดส่วนส่วนแบ่งรายได้ของคนรวยที่สุดกับคนจนที่สุดมีความห่างกันมากขึ้น

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของไทย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2561) อธิบายว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่ายระหว่างประชากรกลุ่มต่าง ๆ ของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศยังมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ในการดำเนินการผ่านมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้ประชากรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการกระจายรายได้จากกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงไปสู่ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การลดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างของรายได้ เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐให้ความสำคัญและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้นผ่านกลไกของภาครัฐและความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ การจัดสวัสดิการทางสังคม ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และที่อยู่อาศัย โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการกระจายรายได้ ในด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้สูงที่สุดต่อประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้น้อยที่สุด ที่ไม่เกิน 15 เท่า (ปัจจุบัน 22 เท่า) ภายในปี 2580 หรือมีค่า GINI coefficient ด้านรายได้ในระดับ 0.36

องค์การสหประชาชาติ สะท้อนว่าการพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ มุ่งการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้นล้มเหลว เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัจจัยสำคัญ 4 ประการ (Megatrends) ที่มีผลต่อความไม่เท่าเทียมกัน ได้แก่ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของเมือง และการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ

ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นได้อย่างไร “ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นจากการพัฒนา???”

คำว่าการพัฒนา (Development) ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้นำมาใช้เรียกการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป อันเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้แรงงานจากคนและสัตว์เป็นพลังงานจากเทคโนโลยี เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ต่างๆ ทำให้วิถีการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นักเศรษฐศาสตร์จึงนำคำว่าการพัฒนามาใช้เพื่อเรียกวิธีการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวยุโรปในขณะนั้นให้สูงขึ้น (ประสิทธิ์ สวาญาติ, 2518: 26-27 อ้างใน สนธยา พลศรี, 2547: 8)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาประเทศต่าง ๆ ต้องทำการปรับปรุงแก้ไขสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ให้คืนสู่สภาพเดิม บางประเทศได้รับเอกราชให้ปกครองตนเอง จึงต้องหาแนวทางในการพัฒนาประเทศของตน ทำให้คำว่าการพัฒนา แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ.1960 John F. Kenedy ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้นได้เสนอให้องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ปี ค.ศ.1960-1969 เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาของโลกซึ่งเป็นที่ยอมรับ และองค์การสหประชาชาติยังประกาศให้ปี ค.ศ.1970-1979 เป็นทศวรรษที่สองของการพัฒนาโลกต่อไป (สมยศ ทุ่งหว้า, 2534: 178-179 อ้างใน สนธยา พลศรี, 2547: 8) ซึ่งนับว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ นำคำว่าการพัฒนาไปใช้และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกันวาทกรรมความด้อยพัฒนา ก็ได้ถูกสถาปนาขึ้นมาพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของวาทกรรมการพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2545) สรุปว่า ความด้อยพัฒนา (Underdevelopment or Less-development) เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างในทางลบเมื่อพูดถึงประเทศหนึ่งประเทศใด ความด้อยพัฒนาที่พบเห็นโดยทั่วไปมักจะใช้กับประเทศในโลกที่สาม (The Third World) ที่มีลักษณะของความล้าหลัง (Backwardness) กล่าวคือประชาชนยังมีฐานะยากจน ประชาชนมีสุขภาพอนามัยไม่แข็งแรง หรือเต็มไปด้วยโรคระบาด มีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมที่ไม่อาศัยเทคโนโลยีใด ๆ ทั้งสิ้น

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2549) อธิบายไว้ว่า การพัฒนา (Development) เป็นประดิษฐกรรมทางประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่ได้รับความนิยมกันอย่างรวดเร็วและแพร่หลายในสังคมยุคปัจจุบัน การพัฒนาถูกสร้างขึ้นมาโดยประเทศมหาอำนาจตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหมายของการพัฒนาค่อนข้างมีความเป็นพลวัตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ในยุคเริ่มแรกของการพัฒนานั้น การพัฒนาหมายถึงการทำให้ทันสมัยอย่างสังคมตะวันตกโดยให้น้ำหนักไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาการเมือง ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย” (Modernization Theory) เมื่อเวลาผ่านมาจนผลของการพัฒนาได้ปรากฏให้ผู้คนในสังคมได้เห็นชัดว่าการพัฒนาได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ผู้คนในสังคมจำนวนมากยากจนลง แต่ผู้คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา จนมีที่มาของคำว่า “ด้อยพัฒนา” จึงทำให้เริ่มมีผู้คนในแวดวงการพัฒนาเริ่มออกมาต่อต้านแนวคิดการพัฒนาตามแบบของทฤษฎีความทันสมัย ก่อให้เกิดการต่อสู้กันทั้งทางแนวคิด ทฤษฎี และวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามากมายในปัจจุบัน เช่น การก่อเกิดของทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) ทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) และแนวความคิดว่าด้วยความด้อยพัฒนาแนวมาร์กซิสต์ใหม่ (Neo-Marxist) ทั้งหลายเป็นต้น

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย

ประเทศไทยในช่วงก่อนและต้นของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง (พ.ศ. 2504 – 2509) ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในสาขาเกษตร มีการลงทุนการใช้ที่ดินต่ำ ระดับ การใช้เทคโนโลยีและเทคนิคต่าง ๆ ล้าสมัย การถือครองที่ดินทางการเกษตรมีขนาดเล็ก เกษตรกรมีหนี้สินมาก (ถวัลย์ พลพืชน์, 2513: 46) ซึ่งลักษณะดังกล่าวของประเทศไทย ถูกทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยากจนและล้าหลังในสายตาของประเทศที่พัฒนาแล้ว ในสมัยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีมา และใช้วิธีการพัฒนาประเทศตามแบบประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา บทบาทที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาและธนาคารโลกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของไทยปรากฏชัดเจนในรายงานชื่อ “A Public Development Program for Thailand” ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำขึ้นโดยธนาคารโลก (World bank) ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่าธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ “The International Bank for Reconstruction and Development” โดยในรายงานดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์สถานภาพของประเทศไทย และมีข้อแนะนำด้านการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งนำมาเป็นแนวทางหลักในการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่งของไทย

เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” สะท้อนผลการพัฒนาประเทศนับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง ซึ่งการสะท้อนผลการพัฒนาดังกล่าวปรากฏในส่วนที่ 1 สรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ที่สะท้อนให้เห็นผลการพัฒนาที่ผ่านมาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 – 7 (พ.ศ.2504 – 2539) จนเป็นที่มาของ “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการวางแผนการพัฒนาประเทศ” นับตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เป็นต้นมาโดยเน้นการพัฒนาแบบองค์รวม (Holistic) ทั้งด้านการวางแผนและการดำเนินโครงการพัฒนา ไม่แยกพัฒนาเป็นส่วน ๆ ตามรายสาขาของเศรษฐกิจและสังคม หรือเป็นส่วน ๆ ตามพันธกิจของหน่วยงานต่าง ๆ เหมือนการพัฒนาสมัยแผนพัฒนาฯ ฉบับ 1 – 7 เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา มีส่วนร่วมการตัดสินใจในโครงการพัฒนาต่าง ๆ แบบ “ร่วมคิด ร่วมทำ” เป้าหมายสำคัญคือความสุมดุลในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านคน สังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลก

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นวาระสำคัญของการพัฒนาโลก โดยเป้าหมายที่ 10 ของ SDGs กำหนดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ (Reduce inequality within and among countries) ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลก สรุปได้ 3 ประเด็น ดังนี้

1) การส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกัน (Promote equal access to opportunities) โดยการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ช่วยขยายโอกาสและส่งเสริมการกระจายความสามารถที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

2) สร้างสภาพแวดล้อมของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำ (Institute a macroeconomic policy environment conducive to reducing inequality) โดยกำหนดนโยบายการเงินให้สามารถส่งเสริมความเท่าเทียมที่มากขึ้น ส่งเสริมการกระจายรายได้แล้ว การระดมทรัพยากรสำหรับนโยบายทางสังคม การคุ้มครองทางสังคม กำหนดวิธีการจัดสรรภาษีที่เป็นธรรม

3) จัดการกับอคติและการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง (Tackle prejudice and discrimination and promote the participation of disadvantaged groups in economic, social and political life) ด้วยการแก้ไขกฎหมายและกำหนดนโยบายเพื่อลดการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี และวางรากฐานเพื่อความเป็นธรรม

แนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของไทย

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2564) ได้จัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) มีวัตถุประสงค์เพื่อ “พลิกโฉมประเทศไทยสู่ สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยได้กำหนดค่าเป้าหมายของตัวชี้วัด ที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ไว้ว่า รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 8,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) อยู่ในระดับสูงมาก เท่ากับ 0.820 และความแตกต่างของความเป็นอยู่ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 และต่ำสุดร้อยละ 40 (Top 10 / Bottom 40) ต่ำกว่า 5 เท่า

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายการพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ตามหมุดหมายการพัฒนา ดังนี้หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง เป้าหมายที่ 3  เพิ่มศักยภาพและบทบาทของผู้ประกอบการเกษตรในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจของห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับส่วนแบ่งประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ตัวชี้วัดที่ 3.1 จำนวนสหกรณ์ภาคเกษตรในชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์เพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 18 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตัวชี้วัดที่ 3.2 จำนวนกลุ่มเกษตรกรในชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 6 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 7 การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์มและกิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิตของเกษตรกร กลยุทธ์ย่อยที่ 7.1 สนับสนุนบทบาทสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน) ในฐานะหน่วยธุรกิจของเกษตรกร ให้ทำหน้าที่สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์ม กิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยว และกระบวนการนำส่งผลผลิตจนถึงลูกค้าปลายทาง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเกษตรกร

กลยุทธ์ที่ 11 การยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กลยุทธ์ย่อยที่ 11.2 ยกระดับความความเข้มแข็งและความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพิ่มมูลค่าของสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสนับสนุนบทบาทภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาทั้งระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาในพื้นที่ในการเป็นผู้ให้บริการ ผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยีกับการปรับเปลี่ยนและต่อยอดธุรกิจการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลยุทธ์ย่อยที่ 11.3 ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาสหกรณ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและเอื้อกับการสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ อาทิ การปรับปรุงระบบการจัดทำบัญชีและการตรวจสอบทางการเงินให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นอิสระ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์ และสร้างความเชื่อมั่นของสมาชิกและประชาชนต่อระบบสหกรณ์

กลยุทธ์ที่ 12 การพัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยงภาคีต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกร และนักวิชาการในพื้นที่ ในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในการพัฒนาภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน กลยุทธ์ย่อยที่ 12.1 สนับสนุนบทบาทองค์กรหรือสภาเกษตรกรในกลไกความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการในแต่ละจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงการผลิตของเกษตรกรและการดำเนินธุรกิจการเกษตรของสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ความต้องการของภาคเอกชนในระดับจังหวัด การดำเนินภารกิจของส่วนราชการระดับจังหวัด และความเชี่ยวชาญของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการแบ่งปันข้อมูล องค์ความรู้ ทักษะ และผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเหมาะสมกับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ กลยุทธ์ย่อยที่ 12.2 ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับสถาบันเกษตรกร และเกษตรกรในรูปแบบธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด โดยมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 การพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่ อย่างยั่งยืน มีความพร้อมในการรับมือและปรับตัวต่อ การเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง กลยุทธ์ที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก กลยุทธ์ย่อยที่ 1.2 สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยสร้างเสริมองค์ความรู้ให้กับชุมชน จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างความสามารถในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงศักยภาพของพื้นที่ ส่งเสริมการพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีความปลอดภัย โดยใช้งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการวางแผนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สนับสนุนการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่าย ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมการถือหุ้นโดยสมาชิกในชุมชน สร้างความเข้มแข็งสถาบันการเงินในระดับชุมชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการและธุรกิจในชุมชน โดยให้สถาบันการเงินในพื้นที่มีบทบาทในการทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารเงินทุน สภาพคล่อง และการบริหารจัดการหนี้สินอย่างเป็นระบบ และพัฒนาสินเชื่อรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของชุมชน กลยุทธ์ย่อยที่ 1.3 ส่งเสริมการจัดการกลไกตลาดของท้องถิ่น เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภคในพื้นที่ รวมทั้งสร้างรายได้จากตลาดภายนอก โดยส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการห่วงโซ่อุปทำนในระดับพื้นที่ เพื่อลดความสูญเสียเนื่องจากการผลิตมากเกินความต้องการ ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่และภูมิภาค รวมทั้งรักษาคุณภาพของผลผลิต สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการกระจายสินค้าและบริการให้หมุนเวียนในพื้นที่และเมือง ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มเกษตรกร กระตุ้นกำรบริโภคให้สอดคล้องและสมดุลกับการผลิตในท้องถิ่น ตามแนวทางการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ปรับแก้กฎระเบียบและนโยบายของภาครัฐที่ก่อให้เกิดการรวมศูนย์สินค้าเกษตรบางประเภท และเป็นอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ผลิตในพื้นที่เดียวกับการบริโภค

สหกรณ์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วิธีการสหกรณ์ เป็นแนวคิดสำคัญในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศ ด้วยสหกรณ์เป็นรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้คนที่มารวมตัวกันเป็นองค์กรธุรกิจ ผู้คนในสังคมที่มารวมตัวกันเป็นสหกรณ์นั้นเป็นผู้ที่มีปัญหาและมีความต้องการเหมือนกัน คล้ายกัน มีความเชื่อร่วมกันเกี่ยวกับการพึ่งพาช่วยเหลือตนเองและระหว่างกัน มุ่งใช้การสหกรณ์ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจในสังคม ให้ความสำคัญของพลังการรวมคนมากกว่าพลังการรวมเงินหรือทรัพย์สิน เน้นการดำเนินธุรกิจระหว่างกันเองของสมาชิก กำไรส่วนเกินที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจใช้แบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมตามสัดส่วนที่สมาชิกแต่ละคนดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาสังคมให้แก่สมาชิก และสังคมภายนอก

ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ มีแนวทางชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการสะสมกำไรส่วนเกินที่มาจากการสร้างกำไรจากการลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะด้านแรงงาน ด้านการแย่งชิงเอาทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นปัจจัยการผลิตให้ได้มากที่สุด ตลอดจนด้านการขายสินค้าและบริการให้ได้มากที่สุด ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์มุ่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นอกจากสหกรณ์มุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการสะสมกำไรส่วนเกินดังกล่าวแล้ว ยังหนุนเสริมความเท่าเทียม ความเป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจ โดยไม่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกในด้านความสัมพันธ์ทางการผลิต ปัจจัยการผลิตของบรรดาสมาชิก ยังคงเป็นกรรมสิทธิของสมาชิก ขณะที่ปัจจัยการผลิตของสหกรณ์ก็นับว่าเป็นของสมาชิก โดยสมาชิกทั้งหมดร่วมกันเป็นเจ้าของ สมาชิกทั้งหมดมีอำนาจในการบริหารจัดการบรรดาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ตลอดจนบริหารกำไรส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานและดำเนินธุรกิจของสหกรณ์

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิธีการสหกรณ์ให้บรรลุเป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยและถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาที่นำแนวคิดสหกรณ์ไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน นำผลการศึกษามาเผยแพร่สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนโดยทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้สหกรณ์ร่วมกันขับเคลื่อนแนวคิดสหกรณ์ อย่างจริงจังผ่านแผนงาน/โครงการต่าง ๆ โดยมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง หนุนเสริมให้สหกรณ์มีอิสระในการพัฒนาตนเองตามแนวทางของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ ต้องส่งเสริมและคุ้มครองระบบสหกรณ์ ส่งเสริมการนำคุณค่า อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ เป็นแนวทางในการพัฒนาสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ชุมชน และสังคม ด้วยวิธีการเชิงคุณภาพซึ่งเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง รัฐ สหกรณ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...