วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

“สหกรณ์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Cooperatives for Sustainable Development)”

ในวาระวันสหกรณ์สากลครั้งที่ 101 ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่การสหกรณ์ผ่านบทความ เรื่อง “สหกรณ์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Cooperatives for Sustainable Development)”

อะไรคือสาเหตุสำคัญของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” และการสหกรณ์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร

ความเหลื่อมล้ำ (Disparity, Inequality) คือ ความไม่เท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ ความสามารถในการผลิต และการแบ่งปันกำไรส่วนเกินที่เกิดจากการผลิต ความไม่เท่าเทียมกันในการมีโอกาสได้รับการศึกษา ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณะ ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง ไร้อำนาจต่อรอง ไม่มีส่วนร่วมและได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้มีอำนาจเหนือกว่า การดูถูกเหยียดหยาม ไม่เป็นที่ยอมรับ ไร้ศักดิ์ศรีในสายตาของคนในสังคม และได้รับการปฏิบัติในสังคมอย่างไม่เสมอภาค

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลก

องค์การสหประชาชาติ (2020) ได้รายงานสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมของผู้คนไว้ในรายงาน เรื่อง WORLD SOCIAL REPORT 2020: INEQUALITY IN A RAPIDLY CHANGING WORLD โดยสรุปว่า สถานการณ์ความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงกับประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดยประชากรมากกว่าสองในสาม (ร้อยละ 71) ของประชากรโลก ยังคงมีรายได้ต่ำ รายได้และความมั่งคั่งกระจุกตัวในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สัดส่วนส่วนแบ่งรายได้ของคนรวยที่สุดกับคนจนที่สุดมีความห่างกันมากขึ้น

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของไทย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2561) อธิบายว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่ายระหว่างประชากรกลุ่มต่าง ๆ ของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศยังมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ในการดำเนินการผ่านมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้ประชากรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการกระจายรายได้จากกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงไปสู่ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การลดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างของรายได้ เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐให้ความสำคัญและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้นผ่านกลไกของภาครัฐและความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ การจัดสวัสดิการทางสังคม ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และที่อยู่อาศัย โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการกระจายรายได้ ในด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้สูงที่สุดต่อประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้น้อยที่สุด ที่ไม่เกิน 15 เท่า (ปัจจุบัน 22 เท่า) ภายในปี 2580 หรือมีค่า GINI coefficient ด้านรายได้ในระดับ 0.36

องค์การสหประชาชาติ สะท้อนว่าการพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ มุ่งการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้นล้มเหลว เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัจจัยสำคัญ 4 ประการ (Megatrends) ที่มีผลต่อความไม่เท่าเทียมกัน ได้แก่ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของเมือง และการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ

ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นได้อย่างไร “ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นจากการพัฒนา???”

คำว่าการพัฒนา (Development) ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้นำมาใช้เรียกการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป อันเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้แรงงานจากคนและสัตว์เป็นพลังงานจากเทคโนโลยี เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ต่างๆ ทำให้วิถีการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นักเศรษฐศาสตร์จึงนำคำว่าการพัฒนามาใช้เพื่อเรียกวิธีการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวยุโรปในขณะนั้นให้สูงขึ้น (ประสิทธิ์ สวาญาติ, 2518: 26-27 อ้างใน สนธยา พลศรี, 2547: 8)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาประเทศต่าง ๆ ต้องทำการปรับปรุงแก้ไขสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ให้คืนสู่สภาพเดิม บางประเทศได้รับเอกราชให้ปกครองตนเอง จึงต้องหาแนวทางในการพัฒนาประเทศของตน ทำให้คำว่าการพัฒนา แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ.1960 John F. Kenedy ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้นได้เสนอให้องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ปี ค.ศ.1960-1969 เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาของโลกซึ่งเป็นที่ยอมรับ และองค์การสหประชาชาติยังประกาศให้ปี ค.ศ.1970-1979 เป็นทศวรรษที่สองของการพัฒนาโลกต่อไป (สมยศ ทุ่งหว้า, 2534: 178-179 อ้างใน สนธยา พลศรี, 2547: 8) ซึ่งนับว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ นำคำว่าการพัฒนาไปใช้และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกันวาทกรรมความด้อยพัฒนา ก็ได้ถูกสถาปนาขึ้นมาพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของวาทกรรมการพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2545) สรุปว่า ความด้อยพัฒนา (Underdevelopment or Less-development) เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างในทางลบเมื่อพูดถึงประเทศหนึ่งประเทศใด ความด้อยพัฒนาที่พบเห็นโดยทั่วไปมักจะใช้กับประเทศในโลกที่สาม (The Third World) ที่มีลักษณะของความล้าหลัง (Backwardness) กล่าวคือประชาชนยังมีฐานะยากจน ประชาชนมีสุขภาพอนามัยไม่แข็งแรง หรือเต็มไปด้วยโรคระบาด มีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมที่ไม่อาศัยเทคโนโลยีใด ๆ ทั้งสิ้น

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2549) อธิบายไว้ว่า การพัฒนา (Development) เป็นประดิษฐกรรมทางประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่ได้รับความนิยมกันอย่างรวดเร็วและแพร่หลายในสังคมยุคปัจจุบัน การพัฒนาถูกสร้างขึ้นมาโดยประเทศมหาอำนาจตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหมายของการพัฒนาค่อนข้างมีความเป็นพลวัตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ในยุคเริ่มแรกของการพัฒนานั้น การพัฒนาหมายถึงการทำให้ทันสมัยอย่างสังคมตะวันตกโดยให้น้ำหนักไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาการเมือง ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย” (Modernization Theory) เมื่อเวลาผ่านมาจนผลของการพัฒนาได้ปรากฏให้ผู้คนในสังคมได้เห็นชัดว่าการพัฒนาได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ผู้คนในสังคมจำนวนมากยากจนลง แต่ผู้คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา จนมีที่มาของคำว่า “ด้อยพัฒนา” จึงทำให้เริ่มมีผู้คนในแวดวงการพัฒนาเริ่มออกมาต่อต้านแนวคิดการพัฒนาตามแบบของทฤษฎีความทันสมัย ก่อให้เกิดการต่อสู้กันทั้งทางแนวคิด ทฤษฎี และวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามากมายในปัจจุบัน เช่น การก่อเกิดของทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) ทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) และแนวความคิดว่าด้วยความด้อยพัฒนาแนวมาร์กซิสต์ใหม่ (Neo-Marxist) ทั้งหลายเป็นต้น

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย

ประเทศไทยในช่วงก่อนและต้นของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง (พ.ศ. 2504 – 2509) ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในสาขาเกษตร มีการลงทุนการใช้ที่ดินต่ำ ระดับ การใช้เทคโนโลยีและเทคนิคต่าง ๆ ล้าสมัย การถือครองที่ดินทางการเกษตรมีขนาดเล็ก เกษตรกรมีหนี้สินมาก (ถวัลย์ พลพืชน์, 2513: 46) ซึ่งลักษณะดังกล่าวของประเทศไทย ถูกทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยากจนและล้าหลังในสายตาของประเทศที่พัฒนาแล้ว ในสมัยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีมา และใช้วิธีการพัฒนาประเทศตามแบบประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา บทบาทที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาและธนาคารโลกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของไทยปรากฏชัดเจนในรายงานชื่อ “A Public Development Program for Thailand” ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำขึ้นโดยธนาคารโลก (World bank) ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่าธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ “The International Bank for Reconstruction and Development” โดยในรายงานดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์สถานภาพของประเทศไทย และมีข้อแนะนำด้านการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งนำมาเป็นแนวทางหลักในการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่งของไทย

เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” สะท้อนผลการพัฒนาประเทศนับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง ซึ่งการสะท้อนผลการพัฒนาดังกล่าวปรากฏในส่วนที่ 1 สรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ที่สะท้อนให้เห็นผลการพัฒนาที่ผ่านมาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 – 7 (พ.ศ.2504 – 2539) จนเป็นที่มาของ “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการวางแผนการพัฒนาประเทศ” นับตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เป็นต้นมาโดยเน้นการพัฒนาแบบองค์รวม (Holistic) ทั้งด้านการวางแผนและการดำเนินโครงการพัฒนา ไม่แยกพัฒนาเป็นส่วน ๆ ตามรายสาขาของเศรษฐกิจและสังคม หรือเป็นส่วน ๆ ตามพันธกิจของหน่วยงานต่าง ๆ เหมือนการพัฒนาสมัยแผนพัฒนาฯ ฉบับ 1 – 7 เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา มีส่วนร่วมการตัดสินใจในโครงการพัฒนาต่าง ๆ แบบ “ร่วมคิด ร่วมทำ” เป้าหมายสำคัญคือความสุมดุลในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านคน สังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลก

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นวาระสำคัญของการพัฒนาโลก โดยเป้าหมายที่ 10 ของ SDGs กำหนดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ (Reduce inequality within and among countries) ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลก สรุปได้ 3 ประเด็น ดังนี้

1) การส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกัน (Promote equal access to opportunities) โดยการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ช่วยขยายโอกาสและส่งเสริมการกระจายความสามารถที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

2) สร้างสภาพแวดล้อมของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำ (Institute a macroeconomic policy environment conducive to reducing inequality) โดยกำหนดนโยบายการเงินให้สามารถส่งเสริมความเท่าเทียมที่มากขึ้น ส่งเสริมการกระจายรายได้แล้ว การระดมทรัพยากรสำหรับนโยบายทางสังคม การคุ้มครองทางสังคม กำหนดวิธีการจัดสรรภาษีที่เป็นธรรม

3) จัดการกับอคติและการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง (Tackle prejudice and discrimination and promote the participation of disadvantaged groups in economic, social and political life) ด้วยการแก้ไขกฎหมายและกำหนดนโยบายเพื่อลดการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี และวางรากฐานเพื่อความเป็นธรรม

แนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของไทย

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2564) ได้จัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) มีวัตถุประสงค์เพื่อ “พลิกโฉมประเทศไทยสู่ สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยได้กำหนดค่าเป้าหมายของตัวชี้วัด ที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ไว้ว่า รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 8,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) อยู่ในระดับสูงมาก เท่ากับ 0.820 และความแตกต่างของความเป็นอยู่ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 และต่ำสุดร้อยละ 40 (Top 10 / Bottom 40) ต่ำกว่า 5 เท่า

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายการพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ตามหมุดหมายการพัฒนา ดังนี้หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง เป้าหมายที่ 3  เพิ่มศักยภาพและบทบาทของผู้ประกอบการเกษตรในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจของห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับส่วนแบ่งประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ตัวชี้วัดที่ 3.1 จำนวนสหกรณ์ภาคเกษตรในชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์เพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 18 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตัวชี้วัดที่ 3.2 จำนวนกลุ่มเกษตรกรในชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 6 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 7 การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์มและกิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิตของเกษตรกร กลยุทธ์ย่อยที่ 7.1 สนับสนุนบทบาทสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน) ในฐานะหน่วยธุรกิจของเกษตรกร ให้ทำหน้าที่สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์ม กิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยว และกระบวนการนำส่งผลผลิตจนถึงลูกค้าปลายทาง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเกษตรกร

กลยุทธ์ที่ 11 การยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กลยุทธ์ย่อยที่ 11.2 ยกระดับความความเข้มแข็งและความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพิ่มมูลค่าของสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสนับสนุนบทบาทภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาทั้งระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาในพื้นที่ในการเป็นผู้ให้บริการ ผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยีกับการปรับเปลี่ยนและต่อยอดธุรกิจการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลยุทธ์ย่อยที่ 11.3 ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาสหกรณ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและเอื้อกับการสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ อาทิ การปรับปรุงระบบการจัดทำบัญชีและการตรวจสอบทางการเงินให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นอิสระ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์ และสร้างความเชื่อมั่นของสมาชิกและประชาชนต่อระบบสหกรณ์

กลยุทธ์ที่ 12 การพัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยงภาคีต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกร และนักวิชาการในพื้นที่ ในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในการพัฒนาภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน กลยุทธ์ย่อยที่ 12.1 สนับสนุนบทบาทองค์กรหรือสภาเกษตรกรในกลไกความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการในแต่ละจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงการผลิตของเกษตรกรและการดำเนินธุรกิจการเกษตรของสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ความต้องการของภาคเอกชนในระดับจังหวัด การดำเนินภารกิจของส่วนราชการระดับจังหวัด และความเชี่ยวชาญของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการแบ่งปันข้อมูล องค์ความรู้ ทักษะ และผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเหมาะสมกับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ กลยุทธ์ย่อยที่ 12.2 ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับสถาบันเกษตรกร และเกษตรกรในรูปแบบธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด โดยมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 การพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่ อย่างยั่งยืน มีความพร้อมในการรับมือและปรับตัวต่อ การเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง กลยุทธ์ที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก กลยุทธ์ย่อยที่ 1.2 สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยสร้างเสริมองค์ความรู้ให้กับชุมชน จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างความสามารถในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงศักยภาพของพื้นที่ ส่งเสริมการพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีความปลอดภัย โดยใช้งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการวางแผนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สนับสนุนการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่าย ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมการถือหุ้นโดยสมาชิกในชุมชน สร้างความเข้มแข็งสถาบันการเงินในระดับชุมชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการและธุรกิจในชุมชน โดยให้สถาบันการเงินในพื้นที่มีบทบาทในการทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารเงินทุน สภาพคล่อง และการบริหารจัดการหนี้สินอย่างเป็นระบบ และพัฒนาสินเชื่อรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของชุมชน กลยุทธ์ย่อยที่ 1.3 ส่งเสริมการจัดการกลไกตลาดของท้องถิ่น เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภคในพื้นที่ รวมทั้งสร้างรายได้จากตลาดภายนอก โดยส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการห่วงโซ่อุปทำนในระดับพื้นที่ เพื่อลดความสูญเสียเนื่องจากการผลิตมากเกินความต้องการ ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่และภูมิภาค รวมทั้งรักษาคุณภาพของผลผลิต สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการกระจายสินค้าและบริการให้หมุนเวียนในพื้นที่และเมือง ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มเกษตรกร กระตุ้นกำรบริโภคให้สอดคล้องและสมดุลกับการผลิตในท้องถิ่น ตามแนวทางการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ปรับแก้กฎระเบียบและนโยบายของภาครัฐที่ก่อให้เกิดการรวมศูนย์สินค้าเกษตรบางประเภท และเป็นอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ผลิตในพื้นที่เดียวกับการบริโภค

สหกรณ์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วิธีการสหกรณ์ เป็นแนวคิดสำคัญในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศ ด้วยสหกรณ์เป็นรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้คนที่มารวมตัวกันเป็นองค์กรธุรกิจ ผู้คนในสังคมที่มารวมตัวกันเป็นสหกรณ์นั้นเป็นผู้ที่มีปัญหาและมีความต้องการเหมือนกัน คล้ายกัน มีความเชื่อร่วมกันเกี่ยวกับการพึ่งพาช่วยเหลือตนเองและระหว่างกัน มุ่งใช้การสหกรณ์ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจในสังคม ให้ความสำคัญของพลังการรวมคนมากกว่าพลังการรวมเงินหรือทรัพย์สิน เน้นการดำเนินธุรกิจระหว่างกันเองของสมาชิก กำไรส่วนเกินที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจใช้แบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมตามสัดส่วนที่สมาชิกแต่ละคนดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาสังคมให้แก่สมาชิก และสังคมภายนอก

ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ มีแนวทางชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการสะสมกำไรส่วนเกินที่มาจากการสร้างกำไรจากการลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะด้านแรงงาน ด้านการแย่งชิงเอาทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นปัจจัยการผลิตให้ได้มากที่สุด ตลอดจนด้านการขายสินค้าและบริการให้ได้มากที่สุด ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์มุ่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นอกจากสหกรณ์มุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการสะสมกำไรส่วนเกินดังกล่าวแล้ว ยังหนุนเสริมความเท่าเทียม ความเป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจ โดยไม่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกในด้านความสัมพันธ์ทางการผลิต ปัจจัยการผลิตของบรรดาสมาชิก ยังคงเป็นกรรมสิทธิของสมาชิก ขณะที่ปัจจัยการผลิตของสหกรณ์ก็นับว่าเป็นของสมาชิก โดยสมาชิกทั้งหมดร่วมกันเป็นเจ้าของ สมาชิกทั้งหมดมีอำนาจในการบริหารจัดการบรรดาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ตลอดจนบริหารกำไรส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานและดำเนินธุรกิจของสหกรณ์

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิธีการสหกรณ์ให้บรรลุเป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยและถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาที่นำแนวคิดสหกรณ์ไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน นำผลการศึกษามาเผยแพร่สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนโดยทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้สหกรณ์ร่วมกันขับเคลื่อนแนวคิดสหกรณ์ อย่างจริงจังผ่านแผนงาน/โครงการต่าง ๆ โดยมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง หนุนเสริมให้สหกรณ์มีอิสระในการพัฒนาตนเองตามแนวทางของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ ต้องส่งเสริมและคุ้มครองระบบสหกรณ์ ส่งเสริมการนำคุณค่า อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ เป็นแนวทางในการพัฒนาสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ชุมชน และสังคม ด้วยวิธีการเชิงคุณภาพซึ่งเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง รัฐ สหกรณ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...