วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

การดำเนินธุรกิจรับฝากเงินของสหกรณ์

รูปแบบการดำเนินธุรกิจการรับฝากเงินของสหกรณ์เป็นอย่างไร สหกรณ์รับฝากเงินจากใครได้บ้าง เงินรับฝากในสหกรณ์มีกี่ประเภท ผู้ฝากเงินเปิดบัญชีเงินฝากได้กี่บัญชี อัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากร้อยละเท่าไร และผู้ฝากเงินต้องเสียภาษีเงินได้กรณีได้รับดอกเบี้ยเงินรับฝากจากสหกรณ์ หรือไม่ อย่างไร ตลอดจนสหกรณ์สามารถให้ผลตอบแทนอื่นใดนอกจากดอกเบี้ยได้หรือไม่ มีรายละเอียดดังนี้ ครับ 

1. สหกรณ์รับฝากเงินจากใครได้บ้าง

สหกรณ์ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ และต้องมีกิจการร่วมกันตามประเภทของสหกรณ์ที่ขอจดทะเบียน (มาตรา 33 (1) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ลักษณะของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์แต่ละประเภท ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 33/1 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการ รับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากสมาชิกหรือสหกรณ์อื่น หรือสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งมีสมาชิกของสมาคมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคลากรหรือลูกจ้างไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้น เป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน ทั้งนี้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (มาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

สรุป สหกรณ์รับฝากเงินได้จาก 1) สมาชิก 2) สหกรณ์อื่น 3) สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งมีสมาชิกของสมาคมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน และ 4) นิติบุคคลซึ่งมีบุคลากรหรือลูกจ้างไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้น เป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน 

กรณี นิติบุคคลซึ่งมีบุคลากรหรือลูกจ้างไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้น “นิติบุคคล” หมายความว่า หน่วยงานหรือองค์กรที่มีฐานะนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นซึ่งเป็นต้นสังกัดของสมาชิกสหกรณ์ (ร่างระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินจากนิติบุคคล พ.ศ. ... นายทะเบียนสหกรณ์เห็นชอบให้สหกรณ์ถือใช้ระเบียบว่าด้วยเงินฝากจากนิติบุคคล ตามหนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ กษ 1115/33 ลงวันที่ 28 กันยายน 2566) 

2. ประเภทเงินรับฝากที่สหกรณ์รับฝากได้มีกี่ประเภท

เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการรับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำ (มาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

สรุป ประเภทเงินรับฝากที่สหกรณ์รับฝากได้มี 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทออมทรัพย์ หรือประเภทประจำ ทั้งนี้ เงินฝากประเภทออมทรัพย์สามารถแยกได้เป็น 2 ชนิด คือ เงินฝากออมทรัพย์และออมทรัพย์พิเศษ ส่วนเงินฝากประเภทประจำสามารถแยกได้เป็น 2 ชนิด เช่นกัน คือ เงินฝากประจำและเงินฝากประจำที่ได้รับการยกเว้นภาษี (เงินฝากประจำที่ต้องฝากเท่า ๆ กันทุกเดือน ไม่น้อยกว่า 24 เดือน) (กรมส่งเสริมสหกรณ์) ซึ่งเงินฝากประจำที่ได้รับการยกเว้นภาษี คือเงินฝากในสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์เท่านั้น (มาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 664) พ.ศ. 2561) 

อนึ่ง เงินฝากออมทรัพย์พิเศษเป็นเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ซึ่งผู้ฝากจะต้องจ่ายเงินฝากคืนเมื่อผู้ฝากทวงถาม แต่กำหนดเงื่อนไขการฝาก – การถอนเงิน และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างจากเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป แต่ควรระวังว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะต้องไม่ให้ผูกกับเงื่อนเวลา เพราะจะเข้าลักษณะเงินฝากประจำ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) 

3. อัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากกำหนดได้ไม่เกินร้อยละเท่าไร

อัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากเป็นไปตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ โดยให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากสำหรับระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินทุกประเภทได้ไม่เกินร้อยละ...ปัจจุบันไม่เกินร้อยละ 3.75 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป (ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566) 

4. ผู้ฝากเงินต้องภาษีเงินได้กรณีได้รับดอกเบี้ยเงินรับฝากจากสหกรณ์ หรือไม่ อย่างไร

4.1) ผู้ฝากเงิน (สมาชิก) ฝากเงินประเภทประจำกับสหกรณ์ ถ้าบุคคล (สมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา) ดังกล่าวได้รับดอกเบี้ย จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร โดยทุกครั้งที่สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่สมาชิก สหกรณ์มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

อนึ่ง ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากันแต่ไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหกแสนบาท ให้ยกเว้นภาษีเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 664) พ.ศ. 2561)

4.2) ผู้ฝากเงิน (สมาชิก) ฝากเงินประเภทเงินฝากออมทรัพย์ไว้กับสหกรณ์ ถ้ามีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าว ผู้ฝากเงินไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์ เพราะได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (8) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร 

4.3 สหกรณ์ (ผู้ฝากเงินสหกรณ์ตามมาตรา 46 (5)) ไม่ใช่นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร 

4.4 สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ (ผู้ฝากเงินสหกรณ์ตามมาตรา 46 (5)) เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ถ้ามีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก 

4.5 นิติบุคคล (ผู้ฝากเงินสหกรณ์ตามมาตรา 46 (5)) เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ถ้ามีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก 

5. ผู้ฝากเงินกับสหกรณ์เปิดบัญชีเงินฝากได้จำนวนกี่บัญชี

5.1 เงินรับฝากออมทรัพย์ สหกรณ์ต้องกำหนดจำนวนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ว่าผู้ฝากรายหนึ่ง ๆ สามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ได้รายละไม่เกินกี่บัญชี สำหรับเงินฝากออมทรัพย์ควรให้ผู้ฝากเปิดได้เพียงบัญชีเดียว (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

5.2 เงินรับฝากออมทรัพย์พิเศษ สหกรณ์ต้องกำหนดเงื่อนไขการเปิดบัญชีและเอกสารประกอบการขอเปิดบัญชี โดยกำหนดจำนวนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษว่าผู้ฝากรายหนึ่ง ๆ สามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ได้รายละกี่บัญชี สำหรับเงินฝากออมทรัพย์พิเศษควรให้ผู้ฝากเปิดได้เพียงบัญชีเดียว หากสหกรณ์ต้องการระดมทุนอาจให้เปิดบัญชีมากกว่าหนึ่งบัญชีได้ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) 

อนึ่ง ตามร่างระเบียบว่าด้วยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ พ.ศ....... ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ แล้วเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 กำหนดให้ “ผู้ฝากคนหนึ่งเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษได้เพียงบัญชีเดียว”

5.3 เงินรับฝากประจำ สหกรณ์ต้องกำหนดเงื่อนไขการเปิดบัญชีและเอกสารประกอบการขอเปิดบัญชี โดยกำหนดจำนวนบัญชีเงินฝากประจำว่า ผู้ฝากรายหนึ่ง ๆ สามารถเปิดบัญชีเงินฝากประจำได้รายละไม่เกินกี่บัญชี โดยอาจกำหนดตามระยะเวลาการฝากก็ได้ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) 

อนึ่ง เงินฝากประจำ 24 เดือน (เฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์เท่านั้น) ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร และตามมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 664) พ.ศ. 2561 ผู้ฝากเงิน (สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์เท่านั้น) ต้องเปิดบัญชีเงินฝากขึ้นใหม่โดยเฉพาะแยกต่างหากจากบัญชีเงินฝากประเภทอื่น และผู้ฝากเงิน (สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์เท่านั้น) ผู้มีเงินได้ต้องมีบัญชีเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นี้บัญชีเดียว ตาม ข้อ 2 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 351) 

6. ระเบียบของสหกรณ์ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

ระเบียบของสหกรณ์ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ ตามมาตรา 46 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากสหกรณ์ได้ถือใช้ระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงิน...ที่เป็นไปตามร่างที่นายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว ก็ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์แล้ว และให้สหกรณ์ส่งสำเนาระเบียบให้นายทะเบียนสหกรณ์ทราบเท่านั้น 

กรณีสหกรณ์กำหนดระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงิน...ที่ไม่เป็นไปตามร่างที่นายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว สหกรณ์ต้องส่งระเบียบฯ ดังกล่าวให้นายทะเบียนสหกรณ์พิจารณา และต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ก่อนจึงจะใช้บังคับได้ 

7. การให้ผลตอบแทนอื่นใดนอกจากดอกเบี้ย

ห้ามมิให้สหกรณ์ (สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์) ให้ผลตอบแทนอื่นใดนอกจากดอกเบี้ย เว้นแต่เป็นของกำนัลแก่สมาชิกในโอกาสประเพณีนิยมที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไปและมีการให้แก่สมาชิกทุกรายที่เข้าเงื่อนไขซึ่งสหกรณ์กำหนดอย่างเท่าเทียมกัน (ข้อ 22 แห่งกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564)

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...