วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

"ถอดรหัส มูลค่า (ราคา) “หุ้น” ของวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน กับวิสาหกิจไม่แสวงหากำไรแบบสหกรณ์"

มูลค่า (ราคา) “หุ้น” ของวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน หาได้จากสูตร

มูลค่าตามบัญชี = สินทรัพย์รวม - หนี้สินรวม

มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น = (สินทรัพย์รวม - หนี้สินรวม)/จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทออกและเรียกชำระแล้ว

มูลค่าหุ้นตามบัญชีต่อหุ้นสามัญ = (สินทรัพย์รวม – (หนี้สินรวม+ส่วนของผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ))/จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทออกเรียกชำระเงินค่าหุ้นแล้ว

หุ้น (Stock) ของวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน ถือเป็น “หลักทรัพย์” ตามมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ออนไลน์) อธิบายว่า หุ้น เป็นตราสารที่กิจการออกให้แก่ผู้ถือ (Holder) เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ โดยผู้ถือตราสารทุนจะมีฐานะเป็น "เจ้าของกิจการ" ซึ่งจะมีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการ รวมทั้งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล (Dividend) ซึ่งขึ้นอยู่กับผลกำไรและข้อตกลงของกิจการนั้น ๆ โดยทั่วไปหุ้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หุ้นสามัญ (Common Stock) กับ หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) (รายละเอียดโดยละเอียด โปรดติดตามในบทความฉบับเต็ม)

มูลค่าตามบัญชี (Book Value) เป็นมูลค่าของหุ้นสามัญหรือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของบริษัท (Net Asset Value) ตามงบดุลล่าสุดของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ที่คำนวณได้จากการนำสินทรัพย์รวมหักด้วยหนี้สินรวม (ส่วนของผู้ถือหุ้น) ส่วนการหามูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น ต้องหารด้วยจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วของบริษัท

มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) มีความหมายว่า หากบริษัทมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ และสามารถจะนำสินทรัพย์ที่มีอยู่แปรเป็นเงินสดตามมูลค่าที่ระบุในงบดุลและชำระหนี้สินต่าง ๆ ให้เจ้าหนี้ตามยอดหนี้ที่ปรากฏ ณ วันที่ในงบดุลแล้ว ผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินทุนต่อหุ้นคืนในจำนวนเท่ากับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น

มูลค่า (ราคา) “หุ้น” ของวิสาหกิจไม่แสวงหากำไรแบบสหกรณ์ หาได้จากสูตร

มูลค่าต่อหุ้น = (ทุนเรือนหุ้นทั้งหมด - (ขาดทุนสะสมคงเหลือ + หนี้สินทั้งสิ้น))/จำนวนหุ้นทั้งสิ้น

ทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน ที่สมาชิกแต่ละคนจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น แต่ไม่เกินหนึ่งในห้าของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด (มาตรา 33 (3)) เป็นทุนของสหกรณ์ (มาตรา 42) การที่สมาชิกมาถือหุ้นในสหกรณ์ก็เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของสหกรณ์ร่วมกัน และจะได้ร่วมกันดำเนินธุรกิจตามหลักการสหกรณ์ที่ 3 หุ้นที่สมาชิกแต่ละคนจะต้องถือช่วยให้สหกรณ์มีทุนหมุนเวียนอย่างเพียงพอในการดำเนินงาน (ไม่ต้องพึ่งพาแหล่งทุนภายนอก) เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ ทุนเรือนหุ้นของสมาชิกจึงถือเป็นทุนของสหกรณ์

การคำนวณมูลค่าต่อหุ้นของสหกรณ์ จะคำนวณเฉพาะในกรณีที่สหกรณ์ขาดทุนเกินทุนสำรองเท่านั้น เนื่องจากเจ้าของทุนต้องรับผิดชอบในส่วนที่ขาดทุนด้วย ตามมาตรา 42 ที่กำหนดว่า “สมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ” โดยนายทะเบียนสหกรณ์ได้กำหนดให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์กำหนดวิธีการจ่ายคืนค่าหุ้นในกรณีที่สหกรณ์ขาดทุนเกินทุนสำรองในข้อบังคับสหกรณ์ โดยให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นไปตามหลักการลงทุนซึ่งเจ้าของทุนต้องรับผิดชอบในส่วนที่ขาดทุนด้วย ซึ่งกรณีนี้สหกรณ์สามารถจ่ายคืนค่าหุ้นแก่สมาชิกน้อยกว่ามูลค่าหุ้นได้ เมื่อสหกรณ์มียอดขาดทุนเกินทุนสำรองที่มีอยู่ และเมื่อสหกรณ์เพิ่มมูลค่าเงินค่าหุ้นจ่ายคืนต่อหุ้น จะต้องไม่เกินมูลค่าหุ้นที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ (คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ 278/2549)

หากผลการดำเนินงานของสหกรณ์ยังไม่อยู่ในภาวะขาดทุนสะสม มูลค่าหุ้นที่สมาชิกถืออยู่กับสหกรณ์จะมีมูลค่าตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ ตามมาตรา 43 (5) แม้สหกรณ์จะมีกำไรมากเพียงใดมูลค่าต่อหุ้นของสหกรณ์ก็ยังคงที่เท่าเดิมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ กำไรในสหกรณ์จึงไม่มีผลต่อมูลค่าหุ้นที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับของสหกรณ์ แต่มีผลต่อความมั่นคงของสหกรณ์ด้วยการจัดสรรกำไรสุทธิเป็นทุนสำรอง มีผลต่อการอยู่ดี กินดี ของสมาชิกด้วยการจัดสรรเป็นเงินปันผลตามทุนเรือนหุ้นของสมาชิก จัดสรรเป็นเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนที่สมาชิกมาร่วมดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ และมีผลต่อสวัสดิการของสมาชิก ชุมชน และสังคม ด้วยการจัดสรรเป็นทุนต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของสมาชิกโดยที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ (มาตรา 60)

รหัสที่ต้องการถอดคือ สูตรการหา มูลค่า (ราคา) “หุ้น” ของวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน กับวิสาหกิจไม่แสวงหากำไรแบบสหกรณ์" ที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างกัน มันอธิบายให้เห็นเรื่อง แสวงหากำไร กับไม่แสวงหากำไรอย่างไร

ในมุมมองของผม มองว่า การที่วิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน กำหนดสูตรการคำนวน ว่า มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น = (สินทรัพย์รวม - หนี้สินรวม)/จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทออกและเรียกชำระแล้ว เพราะมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นมันสัมพันธ์กับผลประกอบการของบริษัท หากมีกำไร สินทรัพย์รวมก็เพิ่มขึ้น หุ้นก็มูลค่าเพิ่มขึ้น หากขาดทุนสินทรัพย์ก็ลดลง มูลค่าหุ้นก็ลดลง

ส่วนกรณีสหกรณ์คำนวณมูลค่าต่อหุ้น โดยกำหนดสูตร มูลค่าต่อหุ้น = (ทุนเรือนหุ้นทั้งหมด - (ขาดทุนสะสมคงเหลือ + หนี้สินทั้งสิ้น))/จำนวนหุ้นทั้งสิ้น

เนื่องจากกำไรมีผลต่อสินทรัพย์ แต่ไม่มีผลต่อมูลค่าหุ้น (กรณีไม่มีผลขาดทุนสะสม) เพราะข้อบังคับกำหนดมูลค่าหุ้นไว้คงที่ไม่ให้มีมูลค่าต่อหุ้นเกินกว่าที่กำหนด แต่เมื่อสหกรณ์มีผลขาดทุนสะสม สินทรัพย์ลดลง เพราะต้องเอาทุนสำรองมาชดเชยยอดขาดทุนจนหมดและไม่พอชดเชยยอดขาดทุน มูลค่าต่อหุ้นจะลดลงด้วย เนื่องจากสมาชิกต้องรับผิดชอบในส่วนที่ขาดทุนด้วย ตามมาตรา 42 ที่กำหนดว่า “สมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ”

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน หรือวิสาหกิจไม่แสวงหากำไรแบบสหกรณ์ ต่างก็ไม่อยากขาดทุนหรอกครับ โดยเฉพาะประชาชน แต่กรณีวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน ประชาชนบางคนเขายอมรับความเสี่ยงได้เมื่อเขาก็เข้าใจว่า High Risk - High Return หากวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุนขาดทุนเพราะปัจจัยเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) ที่มาจาก ปัจจัยมหภาค (Macro Factors) ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยี การเมือง กฎระเบียบต่าง ๆ ฯลฯ และปัจจัยจุลภาค (Micro Factors) ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรจำนวนมาก แต่สร้างรายได้ไม่คุ้มค่าเสื่อมราคา ความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk) ได้แก่ ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน (Interest Rates Risk) ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Risk) ซึ่งอาจส่งผลให้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดว่าจะได้รับจากการลงทุนลดลงไป ผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงเขาก็ยอมรับได้

ส่วนประชาชนผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์ ผู้ร่วมเป็นเจ้าของสหกรณ์ เขาไม่ต้องการมีความเสี่ยง และสหกรณ์ก็ไม่ใช่ตลาดทุน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี ปัจจัยเสี่ยงบางส่วนก็เป็นปัจจัยเดียวกันกับวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน อีกส่วนหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับการทำมาหาเลี้ยงชีพของสมาชิก ที่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศ รายได้ ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของสมาชิก หากสหกรณ์บริหารจัดการไม่ดี ก็มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน

ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และความพอเพียง ย่อมช่วยป้องกันปัญหาขาดทุนทั้งวิสาหกิจแสวงหากำไรในตลาดทุน และวิสาหกิจไม่แสวงหากำไรแบบสหกรณ์ แต่สหกรณ์ย่อมไม่เสี่ยงเลยหรือเสี่ยงน้อยที่สุดถ้าทุกฝ่ายในสหกรณ์ดำเนินกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันตามหลักการสหกรณ์ บนพื้นฐานความเชื่อร่วมกันว่า

การช่วยเหลือตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันจะช่วยแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การอยู่ดี กินดี เกิดความเป็นธรรม และเกิดสันติสุขในสังคม” อยู่บนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการช่วยตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ การดำเนินกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปตามหลักการสหกรณ์สากล 7 ข้อ ได้แก่ การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง (Voluntary and Open Membership) การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Member Control) การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก (Member Economic Participation) การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ (Autonomy and Independence) การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ (Education, Training, and Information) การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (Cooperation among Cooperatives) และการเอื้ออาทรต่อชุมชน (Concern for Community)

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...