วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chains : GVCs)

 จากห่วงโซ่คุณค่าชุมชน (Community Value Chains : CVCs) สู่ ห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chains : GVCs)

ตามประสาคนฟุ้งซ่าน ก็มักคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย วันนี้นึกครึ้ม ๆ ตามอากาศ ว่าเราจะสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร ให้เกิดผลที่เรียกว่า การสร้างความเข้มแข็งจากภายในเป็นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสถานการณ์ที่โครงสร้างรายได้ของประเทศ มาจากภาคการค้า+บริการ อุตสาหกรรม และภาคเกษตรตามลำดับ (ภาคเกษตรสัดส่วนรายได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับภาคการค้า+บริการ และภาคอุตสาหกรรม แต่ผู้คนที่อยู่ในภาคเกษตรกลับยังมีอยู่เป็นจำนวนมากแม้จะมีแนวโน้มจำนวนลดลง) นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ และซ้ำเติมในสภาวะวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัส Corona

รายงานประจำปีของธนาคารโลก (World Bank: WB) ที่ชื่อ World Development Report ปีนี้ ธนาคารโลกนำเสนอรายงาน ชื่อ World Development Report 2020: Trading for Development in The Age of Global Value Chains “การค้าเพื่อการพัฒนาในยุคของห่วงโซ่คุณค่าโลก

คำสำคัญคือ “Global Value Chains (GVCs)”

ผมสรุปเอาเองว่า GVCs คือ ห่วงโซ่คุณค่าโลก ลักษณะคล้าย ๆ การแบ่งงานกันทำตามหลักเศรษฐศาสตร์แต่ไม่ใช่ลักษณะของการแลกเปลี่ยนสินค้า แต่เป็นการส่งต่อผลผลิตจากต้นทาง สู่กลางทาง และปลายทางของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นการแบ่งงานกันผลิตตามศักยภาพ ใครถนัดอะไรก็ทำสิ่งนั้น แล้วก็ส่งต่อผลผลิต จนไปถึงผลิตภัณฑ์สุดท้าย มูลค่าทางธุรกิจก็จะเกิดขึ้นในทุก ๆ ห่วงโซ่คุณค่า เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ในตัวสินค้าหนึ่ง ๆ เช่น ในการผลิตรถยนต์ เทคโนโลยีมาจากประเทศหนึ่ง เหล็กมาจากประเทศหนึ่ง ยางรถยนต์มาจากประเทศหนึ่ง ชิ้นส่วนมาจากประเทศหนึ่ง และสุดท้ายก็มาจบตรงที่ประเทศผู้ประกอบรถยนต์ และจำหน่ายไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศต้นทางของแต่ห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตรถยนต์คันหนึ่ง

ธนาคารโลกกำหนดกรอบแนวคิดไว้ว่า GVCs จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันได้ แต่ละห่วงโซ่คุณค่าของโลกจะต้องขับเคลื่อนโดย Openness, Connectivity, Cooperation ผ่านกลไกของ GVCs ที่มีลักษณะ Hyperspecialization and firm-to-firm relationships อันจะนำไปสู่ Social and Environmental Protection เป็นแนวคิดที่สุดยอดจริง ๆ ครับ

เศรษฐกิจชุมชนเป็นฐานรากที่สำคัญ ถ้าลองขับเคลื่อนด้วยแนวคิดแบบ GVCs ดูบ้างโดยปรับเป็น CVCs: Community Value Chains “ห่วงโซ่คุณค่าชุมชนมันจะเป็นไปได้ไหม

รถยนต์คันหนึ่งมูลค่าเท่าไรก็ตาม ทำอย่างไรจะกระจายกำไรไปสู่ผู้คนในแต่ละห่วงโซ่คุณค่าของรถคันนี้อย่างยุติธรรมเท่าเทียม ถ้าเปลี่ยนจากรถยนต์เป็นสินค้าอื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าที่มีต้นทางของผลิตภัณฑ์เป็นผลผลิตทางการเกษตร ก็ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถ้ามันเป็นไปได้จริง ความเหลื่อมล้ำย่อมลดลงแน่นอน และเชื่อว่าหากความเหลื่อมล้ำมันเหลือน้อยหรือไม่มีเลย ประเทศต่าง ๆ จะรับมือกับวิกฤติการต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ปัญหาคือ มันจะเป็นจริงได้ปุ๊นิ ที่ การค้าโลกหนุนเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ โดยมีชุมชนเป็นฐานแบบ CVCs to GVCs ในเมื่อความขัดแย้งยังดำรงอยู่อย่างมากมายแม้ในท่างกลางวิกฤติ Where are  Cooperation?

ทางเลือก ทางรอด ของวิถีเกษตรไทย ด้วยแนวคิดสหกรณ์และแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน

 ปัญหาของเกษตรกรไทยในปัจจุบัน

หากย้อนอดีตไปเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา คำกล่าวที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวน่าจะสะท้อนภาพของวิถีเกษตรไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้เห็นภาพว่าการเกษตรในสมัยนั้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังมีความอุดมสมบูรณ์และเกษตรกรน่าจะมีความผาสุกในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับวิถีเกษตรไทยในยุคปัจจุบันนี้ คำกล่าวที่ว่า ในน้ำมียา ในนามีหนี้ก็น่าจะสะท้อนภาพของวิถีเกษตรไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เช่นกัน การเปลี่ยนผ่านจากการทำการเกษตรเพื่อการยังชีพ (Extensive Farming) ไปเป็นการทำการเกษตรเพื่อการค้าหรือการเกษตรแบบเข้มข้น (Intensive Farming) ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เนื่องจากการเกษตรเพื่อการค้านั้น เน้นการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เน้นผลผลิตต่อไร่ที่สูง ทำให้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญต่อประเพณีวัฒธรรมและภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับวิถีการผลิตที่สืบทอดกันมา ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น ผลสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลิตดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรไทยในปัจจุบันพึ่งตนเองไม่ได้ในวิถีการผลิตทางการเกษตร

ในปี 2555 ภาคเกษตรมีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) อยู่ที่เพียงร้อยละ 12.19 ของมูลค่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมด ขณะที่มีครัวเรือนเกษตร จำนวน 5.911 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 22.93 ล้านคน[1] และมีเนื้อที่ที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรถึง ร้อยละ 46.54 ของเนื้อที่ทั้งหมดประเทศไทย จะเห็นว่าปัจจุบันยังมีผู้คนจำนวนมากมายที่อยู่ในภาคเกษตร และยังใช้ทรัพยากรที่ดินมากกว่าภาคการผลิตอื่นๆ แต่กลับมีส่วนร่วมในมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพียง ร้อยละ 12.19 เท่านั้น และหากพิจารณาไปที่ครัวเรือนเกษตรกรจะพบว่า ครัวเรือนเกษตรมีรายได้สุทธิเฉลี่ยทั้งประเทศเพียง 57,448 บาท/ครัวเรือน ขณะที่มีหนี้สินเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 59,808 บาท/ครัวเรือน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556: 1-4) ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สินมากกว่ารายได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยยังพึ่งตนเองไม่ได้

ปัญหาดังกล่าวของเกษตรกรไทยผนวกกับวิถีสังคมปัจจุบันของเกษตรไทยที่เน้นการพึ่งพาทั้งจากภาครัฐและนายทุน แต่ไม่เน้นการพึ่งตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันเหมือนในอดีต ทำให้เกษตรกรไทยยังอยู่ในวังวนของการพึ่งตนเองไม่ได้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทางออกของปัญหาดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นได้ถ้าเกษตรกรไทยมีแนวทางการผลิตที่แตกต่างไปจากวิถีการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดสหกรณ์และแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนน่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่เกษตรกรไทยควรจะได้เรียนรู้ และทดลองปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตทางการเกษตรของตนเอง จากเดิมไปสู่วิถีการผลิตใหม่ เพื่อให้การดำเนินชีวิตในวิถีเกษตรสร้างความกินดี อยู่ดี มีความสุข พึ่งตนเองเองอย่างแท้จริง 

แนวคิดสหกรณ์

          แนวคิดเรื่องการสหกรณ์เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษโดย Robert Owen ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการสหกรณ์โลก เขามองเห็นปัญหาต่างๆ ของคนงานในโรงงานทอผ้า โดยเฉพาะการถูกเอารัดเอาเปรียบต่างๆ จากนายทุนเจ้าของโรงงาน ในปี ค.ศ.1800 เขาจึงคิดวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการซื้อโรงงานทอผ้าชื่อ NEW LANARK เป็นของตนเองและหุ้นส่วน เขาบริหารงานโดยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของคนงาน และที่เป็นพื้นฐานของการสหกรณ์ในเวลาต่อมาคือการที่เขาเปิดร้านค้าในโรงงานแบบใหม่ โดยเลือกสินค้าที่ดี และขายให้คนงานในราคาต่ำพอคุ้มทุน และยกประโยชน์ที่ได้จาการที่ร้านค้าสามารถซื้อของจำนวนมากในราคาต่ำลงให้แก่คนงาน (วิทยากร เชียงกูล, 2550: 13-15)

          แนวคิดสหกรณ์มีการพัฒนาและแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยโดยที่พระราชวรวงค์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยได้ทรงริเริ่มที่จะใช้แนวคิดสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนา ซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2458 และมีการก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ.2459 ชื่อว่าสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

          เนื้อหาสาระสำคัญของแนวคิดสหกรณ์ คือ สหกรณ์อยู่บนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการช่วยตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ มีความเชื่อร่วมกันที่ว่าการช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์ซึ่งจะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม โดยยึดแนวทางที่สหกรณ์ยึดถือปฏิบัติเพื่อให้คุณค่าของสหกรณ์เกิดผล เป็นรูปธรรม[2] 

แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน

ขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนในสังคมไทยกำเนิดขึ้นมาจากปัญหาของการปฏิวัติเขียว[3] (Green Revolution) ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตทางการเกษตรของไทย ซึ่งผลกระทบของการปฏิวัติเขียวที่เห็นได้ชัดเจนคือมีการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา ในขณะที่เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น โดยต้นทุนค่าปุ๋ยและสารเคมีนั้นคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ความหวังที่จะผลิตอาหารได้มากขึ้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวได้ทำลายระบบการผลิตแบบดั้งเดิมที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายๆ ชนิดในพื้นที่เดียวกัน การเกษตรแบบปฏิวัติเขียวส่งผลให้ เกษตรกรเป็นทาส ประเทศชาติไม่เป็นไทเนื่องจากการผลิตที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทยและการใช้ภูมิปัญญาของไทย การเดินตามแนวทางเกษตรกรรมเพื่อการพาณิชย์ มุ่งหวังการส่งออกเพื่อเงินตรา นำเข้าเทคโนโลยีการเกษตรจากตะวันตกที่เน้นการให้ผลผลิตสูงโดยละเลยการใช้ความหลากหลายระโยชน์ ล้วนส่งผลให้เกษตรกรพึ่งตนเองไม่ได้

          จากปัญหาทางการเกษตรดังกล่าว ทำให้เกษตรกร นักคิด นักพัฒนา หรือขบวนการภาคประชาชนได้พยายามหาทางออกโดยเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปลายทศวรรษ 2520 เกิดจากการผสมผสานองค์ความรู้ 3 ประการคือ

1) การรวบรวมองค์ความรู้และประสบการณ์ของเกษตรกรที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำการเกษตร เช่น ประสบการณ์ของพ่อมหาอยู่ สุนทรธัย จังหวัดสุรินทร์ ลุงฉลวย แก้วคง จังหวัดนครสวรรค์ ป๊ะหรน หมัดหลี จังหวัดสงขลา และผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น

2) การส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรแบบผสมผสาน เช่น การเลี้ยงปลานาข้าวขององค์กรพัฒนาเอกชน

3) การนำเอาประสบการณ์และแนวคิดเรื่องเกษตรกรรมทางเลือก (Alternative Agriculture) จากประเทศต่างๆ เช่น เกษตรกรรมธรรมชาติจากชาวนาญี่ปุ่นชื่อ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ประสบการณ์เกษตรกรรมอินทรีย์ในยุโรป เป็นต้น เข้ามาประสานและสังเคราะห์ขึ้นเป็นชุดความรู้และความคิดของคนไทยเอง

และในปี 2532 เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและเกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้ง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกขึ้นเป็นขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และในปี 2535 องค์กรพันธมิตร เช่น กลุ่มสันติอโศก มหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ร่วมกันจัดงาน สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือก ครั้งที่ 1ขึ้น อันถือว่าเป็นการเริ่มต้นขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างเป็นทางการของประเทศไทย (วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ, 2554: 149-152)

        เนื้อหาที่สำคัญที่สุดของแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนก็คือการผลิตทางการเกษตรที่สอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมชุมชน เน้นการพึ่งตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เน้นการผลิตที่ปลอดภัย ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายไม่ใช่ความมั่งคั่งทางวัตถุเป็นสำคัญ แต่ให้ความสำคัญต่อความกินดีอยู่ดีมีความสุขของเกษตรกร ชุมชน และสังคม อย่างยั่งยืน 

ต้นแบบความสำเร็จ จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ

          สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เป็นสหกรณ์ที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่สมาชิกและเกษตรกร ได้จัดทำโครงการพัฒนาการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างเครือข่ายร่วมกันในการแลกเปลี่ยนความรู้ของสมาชิกและคนในชุมชน เพื่อพัฒนาไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์เน้นความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งเสริมให้มีการผลิตเอง บริโภคเอง และยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน อีกทั้งช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสหกรณ์ได้ดำเนินการก่อตั้งตลาดเกษตรกร (FARMER MARKET) เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพสหกรณ์ที่มีคุณภาพ (Coopinthailand, 2557) ซึ่งในปี พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นปีสหกรณ์สากล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลแก่เกษตรกรตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในงานวันอาหารโลก 4 คน จากประเทศ มาเลเซีย มองโกเลีย สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และประเทศไทย คือ นางสาวสุมาลี ทองธีระ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด ในฐานะเกษตรกรผู้ผลิตข้าวและผักอินทรีย์ตำเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปลูกข้าวต้นเดี่ยวโดยใช้แหนแดง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยลดต้นทุน ได้ผลผลิตมาก ขายได้ราคา ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด สามารถสร้างตราสินค้าข้าวอินทรีย์ให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นทั้งในประเทศ และเตรียมพร้อมที่ขยายไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น จีนและภูฏาน เป็นต้น (เพ็ญพิชญา เตียว, 2555) 

ทางเลือก ทางรอดของเกษตรกรไทย

          จะเห็นว่าแนวคิดสหกรณ์และแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน มีเป้าหมายร่วมกันคือ นำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมและถ้าลงลึกไปในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่าวิธีการปฏิบัติของทั้งสองแนวคิดนั้นเอื้อต่อการช่วยให้เกษตรกรไทยพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการผลิต ขณะที่แนวคิดสหกรณ์เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งการสนับสนุนภาคการผลิต และภาคการตลาด โดยเฉพาะสหกรณ์ภาคเกษตรมีการดำเนินธุรกิจที่สามารถตอบสนองวงจรธุรกิจได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ดังนั้นหากเกษตรกรไทยนำแนวคิดทั้งสองไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนวิถีเกษตรของตน ของชุมชน ของสังคม เกษตรกรไทยก็อาจหลุดออกจากวังวนของการพึ่งตนเองไม่ได้ในวิถีเกษตร และเปลี่ยนไปเป็นเกษตรกรที่มีความกินดีอยู่ดีมีความสุข พึ่งตนเองได้ อย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิดสหกรณ์และแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน

 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

 

เพ็ญพิชญา เตียว.  2555.  ปลูกข้าวอินทรีย์ด้วยแหนแดง FAO ยอมรับ ผลิตผลคุณภาพ.  (ออนไลน์).  http://www.thairath.co.th/content/305780, 5 พฤษภาคม 2557.

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ.  2554.  ปฏิรูปเกษตรกรรมเพื่อความมั่นคงทางอาหาร: บทวิเคราะห์ และปฏิบัติการทางนโยบาย.  กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิชีววิถี.

วิทยา เชียงกูล.  2550.  หยุดวิกฤติซ้ำซาก ด้วยระบบสหกรณ์.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์.

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2556.  ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2555.  กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

Coopinthailand.  2557.  สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด(ออนไลน์).  http://www.coopinthailand.com/1517, 5 พฤษภาคม 2557.



[1] ขนาดครัวเรือนเกษตรเท่ากับ 3.88 คน/ครัวเรือน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556: 4)

[2] พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2553

[3] ความสำเร็จของการพัฒนาระบบการเกษตรโดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเพิ่มจำนวนผลผลิต โดยใช้การค้นคว้า วิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศเม็กซิโก เมื่อปี พ.ศ.2486 โดยมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ การก่อตั้งสถาบันข้าวนานาชาติหรืออีรี่ขึ้นในปี พ.ศ.2503 โดยมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์และมูลนิธิฟอร์ดที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น เป็นการเปลี่ยนแปลงการผลิตทางการเกษตรครั้งใหญ่ของโลกจนถูกเรียกขานว่าการปฏิวัติเขียว (Green Revolution)

จิตสำนึกสหกรณ์ (Cooperative Consciousness)

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 9 : จิตสำนึกสหกรณ์ (Cooperative Consciousness) 

ผมพยายามทำความเข้าใจกับคำว่า การคุ้มครองระบบสหกรณ์และตั้งใจจะเขียนให้เป็นตอนหนึ่งของ ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์แต่เมื่อลองเขียนดูแล้ว กลายเป็นเรื่องหนึ่งที่ยากที่สุดของผม ก็เลยหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ และหาโอกาสเหมาะ ๆ เมื่อสมองปลอดโปร่งพร้อมจะเขียน วันนี้ก็เลยลองหาข้อมูลดูอีกหน่อย พอดีเจอบทความชื่อ Cooperatives: A Short History เขียนโดย Jennifer Wilhoit เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 (ค.ศ.2005) เผยแพร่ทาง https://www.culturalsurvival.org/publications/cultural-survival-quarterly/cooperatives-short-history   

ผมอ่านเจอประโยคหนึ่งในบทความ ซึ่งทำให้ผมซึ้งในรสพระธรรมมากขึ้น จึงเปลี่ยนความตั้งใจมาเขียนเรื่อง จิตสำนึกสหกรณ์แทน เรื่องการคุ้มครองระบบสหกรณ์เดี่ยวค่อยว่ากัน ประโยคที่ดึงดูดความสนใจของผม คือ “Cooperatives are organizations of people who have the same needs.” ผมแปลเอาเองว่า สหกรณ์คือองค์กรของคนที่มีความต้องการเหมือนกันขยายความได้ว่า สหกรณ์เป็นองค์กรของผู้คนที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม มีความต้องการที่จะแก้ไขเยียวยาปัญหาดังกล่าว โดยเชื่อในการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มาร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิธีการสหกรณ์ ตามหลักการสหกรณ์ บนพื้นฐานอุดมการณ์สหกรณ์ 

ความเชื่อดังกล่าวก่อให้เกิดการสหกรณ์ที่เป็นรูปธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ประเทศอังกฤษ โดยสหกรณ์ Rochdale จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2387 (ค.ศ.1844) สมาชิกแรกเริ่ม 28 คน ทุนดำเนินงาน 28 ปอนด์ (ประมาณ 168 บาท อัตราแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น 1 ปอนด์ เท่ากับ 6 บาท) เริ่มซื้อขายในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2387 (ค.ศ.1844) ช่วงแรกร้านค้าขายสินค้าพื้นฐานเพียง 5 รายการเท่านั้น ได้แก่ เนย แป้ง น้ำตาล ข้าวโอ๊ต และเทียน การดำเนินการของ Rochdale Pioneer ก็เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของกรรมกรช่างทอผ้าที่มีรายได้ลดลง โดยได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงานคนในการทอผ้า รายได้ลดลง ค่าครองชีพเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น จึงจัดตั้งร้านสหกรณ์ Rochdale ขึ้นมาเพื่อช่วยลดค่าครองชีพ 

สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาเรื่องการสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวนา โดยมีการจัดตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2459 (ค.ศ.1916) สมาชิกแรกเริ่ม 16 คน ทุนดำเนินงาน 3,080 บาท ซึ่งมาจากค่าธรรมเนียมแรกเข้า 80 บาท และเงินกู้จากแบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน) จำนวน 3,000 บาท (ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี) สหกรณ์ดำเนินธุรกิจโดยให้สมาชิกกู้ยืมเงินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี สมาชิกนำเงินกู้จากสหกรณ์ไปชำระหนี้เก่าที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เงินส่วนที่เหลือนำมาลงทุนทำนา ช่วยให้ชาวนาไม่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินอันเกิดจากหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูง ณ ขณะนั้น 

จิตสำนึกที่ว่า สหกรณ์คือองค์กรของคนที่มีความต้องการเหมือนกัน เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์ให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง บรรลุเป้าหมายที่สำคัญคือ สมาชิกพึ่งพาตนเองได้ พึ่งพากันเองได้ แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของตนเองได้ บนพื้นฐานของความยุติธรรม และนำไปสู่สันติสุขร่วมกัน 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบัน มีสหกรณ์จำนวนหนึ่งไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแห่งอุดมการณ์สหกรณ์ได้ ปัจจัยสาเหตุก็คงมีหลากหลาย แต่ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ สหกรณ์ดังว่ามีบรรดาสมาชิกที่มีความต้องการแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน เช่น สมาชิกกลุ่มหนึ่งต้องการดอกเบี้ยงเงินฝากสูง ๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี กลุ่มหนึ่งต้องการเงินปันผลสูง ๆ กลุ่มหนึ่งต้องการดอกเบี้ยเงินกู้ถูก ๆ  ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการช่วยเหลือตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มันก็ไม่แตกต่างอะไรกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี 

แต่หากสมาชิกกลุ่มหนึ่งนำเงินมาฝากสหกรณ์เพราะเชื่อว่าเงินของตนเองนั้นช่วยเป็นทุนให้สหกรณ์นำไปดำเนินธุรกิจเพื่อช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกที่ขาดแคลนเงินทุน โดยเพื่อนสมาชิกกู้เงินไปในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด หรืออัตราเท่ากับตลาด แต่ในที่สุดก็ต่ำกว่าเพราะสมาชิกผู้กู้และชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย (ตรงเวลา) ได้เงินเฉลี่ยคืน ขณะที่ผู้ฝากเงินกับสหกรณ์ก็ได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าตลาดนิดหน่อย (โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยที่ได้รับ) ส่วนผู้ถือหุ้นก็ตระหนักว่าผลตอบแทนที่แท้จริงคือผลของการดำเนินธุรกิจที่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิกได้นั้นสำคัญกว่าเงินปันผล (ถ้าบริหารจัดการมีประสิทธิภาพย่อมได้รับเงินปันผลอยู่แล้วแต่ควรเป็นอัตราที่ไม่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากนัก) สหกรณ์เช่นนี้ก็ย่อมอยู่บนพื้นฐานของ สหกรณ์คือองค์กรของคนที่มีความต้องการเหมือนกัน

 

ขบวนการสหกรณ์ส่วนใหญ่คงไม่ประสงค์จะเห็นสหกรณ์เป็นองค์กรที่ดำเนินการแบบ จิตสำนึกที่ผิดพลาด (False Consciousness)”  ไม่อยู่บนพื้นฐาน สหกรณ์คือองค์กรของคนที่มีความต้องการเหมือนกัน เพราะนอกจากจะช่วยเหลือสมาชิกไม่ได้แล้ว ความยุติธรรมก็มักจะไม่เกิด สุดท้ายก็เกิดความขัดแย้ง ไม่สันติสุข

กำไรในระบบสหกรณ์ (ฉบับพอสังเขป)

ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 8 : กำไรในระบบสหกรณ์ (ฉบับพอสังเขป)

        ผมมีความสงสัยใคร่รู้ว่าสหกรณ์เป็นองค์กรแสวงหากำไรอย่างองค์กรธุรกิจอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือไม่ จึงได้ศึกษาหาความรู้ พอสังเขปดังนี้

ในทางเศรษฐศาสตร์ “กำไร” หมายถึง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นเนื่องจากการนำ “รายได้รวม” กับ “ค่าใช้จ่ายรวม” ซึ่งมักจะเรียกอย่างเป็นทางการว่า “กำไรสุทธิ” ของธุรกิจ

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของ Marx ในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” อธิบายเกี่ยวกับ ทฤษฎีมูลค่าส่วนเกิน ว่า การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานขึ้นจากระดับต่ำสุดนั้น ทำให้เกิดส่วนเกินเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นทุกช่วง และเมื่อใดก็ตามที่มีผลผลิตส่วนเกินขึ้นมาก็หมายความว่ามนุษย์สามารถผลิตได้มากกว่าที่ตนจำเป็นต้องบริโภค และดังนั้นก็จำต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อต่อสู้กันว่า ส่วนเกินที่เกิดขึ้นนี้จะถูกแบ่งกันอย่างไร มูลค่าส่วนเกินจะเท่ากับมูลค่าแรงงานที่ถูกสร้างขึ้นมาเกินไปจากต้นทุนที่ตัวแรงงานได้รับ เป็นวิธีของนายทุนที่จะแสวงหากำไรจากการขายสินค้า

จากสมการ กำไร = รายได้ - รายจ่าย ฉะนั้นถ้าอยากมีกำไรมาก ๆ ก็ต้องลดต้นทุนให้ต่ำลงที่สุด แต่การลดต้นทุนนั้นจะเป็นหนทางไหนอย่างไร จะยุติธรรม เป็นธรรมหรือไม่ ก็แล้วแต่อุดมการณ์ของผู้ประกอบกิจการ

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 "สหกรณ์" หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกสหกรณ์ผู้มีสัญชาติไทย โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

แล้วกำไรในระบบสหกรณ์เป็นอย่างไร

อาบ นคะจัด (2536) อธิบายว่า สหกรณ์คือองค์กรธุรกิจประเภทหนึ่งในระบบเศรษฐกิจการตลาดของประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับหุ้นส่วนและบริษัท ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ องค์การธุรกิจนิติบุคคลตามกฎหมายสหกรณ์ต่างจากองค์กรธุรกิจตาม ป.พ.พ. ในเรื่องสำคัญคือ วัตถุประสงค์และหลักการขององค์การธุรกิจต่างกัน และตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ต่างกัน สหกรณ์มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันส่วนวัตถุประสงค์ของหุ้นส่วนและบริษัทคือ ประสงค์จะแบ่งกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นแม้กฎหมายสหกรณ์จะกำหนดเรื่องการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ แต่คำว่ากำไรสุทธิที่บัญญัตินั้นเป็นเพียงคำศัพท์ทางการบัญชี ไม่ใช่กำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 เพราะในสหกรณ์เจ้าของและลูกค้าคือบุคคลคนเดียวกัน ราคาสินค้าและบริการที่สหกรณ์กำหนดขึ้น คือค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สหกรณ์เรียกจากสมาชิก เมื่อสิ้นปีการบัญชี หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว มีเงินเหลือจ่ายสุทธิ (กำไรสุทธิ) เท่าใด จึงต้องจัดสรรตามกฎหมายสหกรณ์

ทั้งนี้กฎหมายสหกรณ์ มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง การบริหารจึงต้องดำเนินการโดยสมาชิกตามวิถีทางประชาธิปไตย อันเป็นการวางรากฐานของระบบเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ มาตรา 45 และมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์โดยรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์

นุกูล กรยืนยงค์ (2554) อธิบายว่า สหกรณ์มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นตรงที่การรวมตัวกันของประชาชนเพื่อ ก่อตั้งสหกรณ์ และนำเงินมาลงทุนร่วมกันนั้น มิใช่เพื่อทำการค้ากับบุคคลอื่น หากแต่เป็นเพราะต้องการใช้สินค้าหรือบริการนั้นสำหรับตนเองเป็นประการสำคัญ มุ่งให้บริการแก่สมาชิกเป็นหลัก เป็นการสร้างประโยชน์ขึ้นแก่ตนเอง บริการตนเองโดยการร่วมกันทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เป็นการเรียกร้องจากผู้อื่น สหกรณ์ผู้บริโภคไม่จำเป็นที่จะต้องแสวงหาผลกำไรจากการทำธุรกิจ เนื่องจากทั้งเจ้าของและผู้ใช้บริการ (ลูกค้า) เป็นคนเดียวกัน หรือในกรณีที่เป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อการผลิตโดยมีสมาชิกเป็นเจ้าของและผู้ใช้แรงงาน ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่เจ้าของจะเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานเพราะเป็นคนเดียวกัน ไม่ว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะตกแก่เจ้าของ หรือแรงงาน ก็ย่อมเป็นของคนเดียวกันทั้งหมด

กำไรเป็นของสมาชิก (ไม่ใช่ของสหกรณ์) เนื่องจากสหกรณ์มีเป้าหมายหลักในการทำธุรกิจกับสมาชิก และมักใช้นโยบายราคาตลาดด้วยเหตุผลสำคัญ คือการหลีกเลี่ยงสงครามราคา ดังนั้น "กำไร" จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการดำเนินงานตามปกติ ของสหกรณ์ และถือว่าเป็นของสมาชิกทุกคนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ ผู้ที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์มากก็มีส่วนทำให้เกิดผลกำไรมากตามส่วน ดังนั้น สหกรณ์จึงมีวิธีการคืนกำไรนั้นกลับไปให้สมาชิกตามส่วนของการใช้บริการ โดยให้ที่ประชุมใหญ่ของบรรดาสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาตัดสินใจ

มูลค่าหุ้นของสหกรณ์จะคงที่ ไม่มีขึ้นลงเป็นมูลค่าเดียวกับมูลค่าที่ตราไว้ แต่จำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายจะไม่มีจำนวนจำกัด เนื่องจากหุ้นของสหกรณ์ไม่ใช่เงินลงทุนที่ใช้แสวงหาผลประโยชน์ แต่เป็นการลงทุนเพื่อผูกพันสมาชิกกับสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นเจ้าของและเพื่อให้ได้สิทธิในการใช้บริการในสหกรณ์ในฐานะสมาชิก

เงินทุนที่ได้จากสมาชิกในฐานะผู้เป็นเจ้าของกิจการ มีหน้าที่อย่างเดียวคือให้ดอกเบี้ยแก่สมาชิกในฐานะผู้ลงทุน และจะมีอัตราจำกัดเพียงเพื่อชดเชยค่าเสียโอกาสของเงินทุนดังกล่าว ด้วยเหตุที่สหกรณ์ให้ความสำคัญแก่การใช้บริการมากกว่าการลงทุนอย่างไรก็ตามในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจสหกรณ์อาจมีทุนจากแหล่งอื่น ๆ หรือในลักษณะอื่น ๆ ที่ต้องให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ยจ่าย) สูง ในระดับเดียวกับอัตราตลาด ซึ่งเป็นการจัดหามาเพื่อความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ เป็นการดำเนินธุรกิจทั่วไป จึงไม่ถือเป็นเงินทุนจากสมาชิกในฐานะเจ้าของ แม้ว่าจะได้มาจากสมาชิกก็ตาม เช่น เงินฝากที่สมาชิกฝากไว้กับสหกรณ์ ซึ่งเป็นเงินทุนของสหกรณ์ที่มีสมาชิกอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ ไม่ใช่ในฐานะเจ้าของ 

          ผมคงไม่อาจสรุปได้แบบเบ็ดเสร็จนะตอนนี้ เนื่องด้วยประสบการณ์และความรู้ยังน้อยนิดต้องเร่งศึกษา เมื่อเติบใหญ่จะได้มีวิชาไว้ทำงานเป็นที่พึ่งพาของประชาชน แต่ก็เชื่อเกินร้อยละ 99 แล้วครับว่า สหกรณ์ไม่ใช่องค์กรทางเศรษฐกิจที่แสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่เป็นองค์กรทางเศรษฐกิจที่มุ่งให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก ตามอุดมการณ์ หลักการ วิธีการ และคุณค่าสหกรณ์ เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข มุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เป้าหมายไม่ใช้การสั่งสมกำไรส่วนเกินเพื่อความมั่งคั่ง แต่มุ่งสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ พึ่งพากันเองได้ ในลักษณะที่เป็นธรรม และผาสุก

แม้จะมีการตอบข้อหารือ ข้อวินิจฉัย ของหน่อยงานต่าง ๆ ว่า สหกรณ์เข้าข่ายเป็นองค์กรแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ แต่นั้นก็เป็นเพียงการตีความตามกฎหมาย มิใช่การสรุปว่าสหกรณ์เป็นองค์กรที่แสวงหากำไรทางธุรกิจ อย่างเช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจทั่วไปในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง:

1. https://th.wikipedia.org/wiki/มูลค่าส่วนเกิน

2. นุกูล กรยืนยงค์. 2554.  หลักและวิธีการสหกรณ์ Co-operative Principles and Practices.  เอกสารประกอบการบรรยายวิชาหลักและวิธีการสหกรณ์.

3. พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542

4. อาบ นคะจัด.  2536.  คำอธิบายกฎหมายสหกรณ์ในฐานะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเกษตรและสถาบันเกษตรกรโดยย่อ.  สถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก)

5. อำไพ รุ่งอรุณ.  2519.  ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเฌศ.

ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และเหตุผลในการตรากฎหมายสหกรณ์

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 6 : การสหกรณ์กับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ตอนที่ 6.1 : ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และเหตุผลในการตรากฎหมายสหกรณ์ 

1. เสรีภาพของบุคคลในการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 มาตรา 44 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ หรือหมู่คณะอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 มาตรา 37 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ หรือหมู่คณะอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 มาตรา 40 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ หรือหมู่คณะอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 45 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 64 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 42 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น 

2. การส่งเสริมสนับสนุนระบบสหกรณ์ 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 มาตรา 69 รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มพูนผลผลิตทั้งในทางปริมาณและคุณภาพและพึงสนับสนุนการสหกรณ์เพื่อผลเช่นว่านั้นด้วย 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 มาตรา 67 วรรคสอง รัฐพึ่งคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในด้านการผลิตและการ จำหน่ายผลผลิต โดยวิธีการประกันราคาหรือพยุงราคาตลอดจนการจัดระบบและควบคุมการผลิต และการจำหน่ายให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดหรือโดยวิธีอื่น และพึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์หรือวิธีอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 มาตรา 76 วรรคสาม รัฐพึ่งส่งเสริมคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในด้านการผลิต การ เก็บรักษาและการจำหน่ายผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่เป็น เป็นธรรม และพึ่งส่งเสริมให้ เกษตรกรรวมตัวกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ดังกล่าวโดยจัดตั้งเป็นสหกรณ์หรือวิธีอื่น 

3. ส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 85 รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 84 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ (9) ส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ให้เป็นอิสระ และการรวมกลุ่มการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตลอดทั้งการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อดำเนินกิจการด้านเศรษฐกิจ 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 75 วรรคสาม รัฐพึงส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ และกิจการวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของประชาชนและชุมชน 

กฎหมายสหกรณ์ 

- พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2471

เหตุผลในการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2471 ระบุว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพาะปลูกและจำพวกอื่น ๆ ที่มีกำลังทรัพย์น้อยแต่มีความต้องการ อย่างเดียวกัน หมู่ชนนั้น ๆ ควรได้รับอุดหนุนให้ตั้งสหกรณ์ขึ้นอีก เพื่อยังให้เกิดการประหยัดทรัพย์ การช่วยซึ่งกันและกันและการช่วยตนเอง เป็นทางอีกทางหนึ่งซึ่งเผยแผ่ความ จำเริญทรัพย์และจำเริญธรรมในบ้านเมืองให้ยิ่งขึ้น 

- พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511

เหตุผลในการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 กิจการของสหกรณ์ได้ขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ แต่กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2471 และแก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2477 จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ขึ้นใหม่ให้เหมาะสมแก่กาลสมัย เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์ให้ดีขึ้น 

- พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542

เหตุผลในการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง การบริหารจึงต้องดำเนินการโดยสมาชิกตามวิถีทางประชาธิปไตย อันเป็นการวางรากฐานของระบบเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ มาตรา 45 และมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์โดยรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ 

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสหกรณ์

- ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสหกรณ์ตามรัฐธรรมนูญ ให้บุคลมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสหกรณ์ โดยรัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครอง

 

- ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสหกรณ์ตามกฎหมายสหกรณ์ กำหนดให้องค์กรรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่แนะนำ ส่งเสริม กำกับ ดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และกรอบของอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์

สหกรณ์กับปัญหาความยากจน

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 5 : ความร่วมมือคือลมหายใจของสหกรณ์

ตอนที่ 5.1 สหกรณ์กับปัญหาความยากจน 

ถ้าจะกล่าวว่าสหกรณ์เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนก็คงไม่ถูกนัก แต่ถ้าบอกว่าปัญหาความยากจนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการสหกรณ์ก็คงจะไม่ผิด 

เป้าหมายแห่งอุดมการณ์สหกรณ์ คือ การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์จึงมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ในปัจจุบันขบวนการสหกรณ์โลกยังมุ่งเน้นไปในมิติเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปัญหาภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง) และมิติทางวัฒนธรรมด้วย 

ว่ากันด้วยการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ว่ากันเฉพาะเจาะจงด้วยเรื่องความยากจน ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปว่าสหกรณ์แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างไร จะขอเล่าให้ฟังพอสังเขปเกี่ยวกับความยากจนดังนี้ 

ความยากจน (Poverty) มีคนให้ความหมายไว้หลากหลายและกว้างขวางทั้งในระดับสากลและไทย อดอยาก แร้นแค้น อนาถา ล้าหลัง ด้อยพัฒนาเป็นความยากจนด้วยหรือไม่ หลายคนใช้ความรู้สึกวัด หลายคนใช้วิธีการเชิงคุณภาพ (Qualitative Methods) หลายคนใช้วิธีการเชิงปริมาณ (Quantitative Methods) ญาณวิทยา (Epistemology) ต่างกัน กระบวนทัศน์ (Paradigm) ต่างกัน ความยากจนจึงแตกต่างหลากหลายอธิบายให้ครบถ้วนคงเป็นเรื่องยาก ผมจึงขอสรุปเกี่ยวกับความยากจนสั้น ๆ ว่า 

ความยากจนจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ความยากจนที่แท้จริง ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ และความยากจนเชิงโครงสร้าง 

ความยากจนที่แท้จริง คือสภาวะที่ผู้คนไม่สามารถแสวงหาปัจจัยต่าง ๆ มาเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needs) ของตนเองได้ โดยปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม 

ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ เป็นการวัดความยากจนทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยใช้ตัวชี้วัดด้านรายได้ เช่น ช่องว่างความยากจน (Poverty Gap Ratio) ความรุนแรงของปัญหาความยากจน (Severity of Poverty) เส้นความยากจน (Poverty line) สัดส่วนคนจน จำนวนคนจน และ ค่าสัมประสิทธิ์ จีนี่ (Gini coefficient) 

ความยากจนเชิงโครงสร้าง คือการอธิบายสาเหตุแห่งความยากจนจากโครงสร้างด้านต่าง ๆ ของสังคมที่ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำกัน ไม่เท่าเทียมกัน ในการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิเสรีภาพ คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นต้น 

การเกิดขึ้นของ Rochdale Pioneers ในปี ค.ศ. 1844 เพราะชนชั้นกรรมาชีพ ณ ขณะนั้นถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน เพราะนายทุนใช้เครื่องจักรเครื่องกลมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ และต่อรองกับชนชั้นกรรมมาชีพโดยการลดค่าจ้างแรงงาน 

การเกิดขึ้นของสหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ในปี พ.ศ.2459 เกิดขึ้นเพราะเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนามีปัญหาหนี้สินจนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน จากผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์กลายเป็นผู้เช่า ต้นเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนวิถีการผลิตทางการเกษตรจากการผลิตแบบดั้งเดิม (Primitive Cultivation) สู่ผลิตเพื่อการยังชีพ (Subsistence Farming) สู่การผลิตเพื่อการค้า (Intensive Farming) กลไกสำคัญของการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวคือ Bowring Treaty ที่ลงนามในปี พ.ศ.2398 ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับสหราชอาณาจักร 

การปฏิวัติอุตสาหกรรม ค.ศ.1760 สถาปนา ทุนนิยมยุโรป ทุนนิยมโลก” Bowring Treaty พ.ศ.2398 สถาปนา ทุนนิยมไทยเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต การสหกรณ์โลกที่เริ่มต้นจาก Co-operative Magazine ของชมรมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า A London Co-operative Society ในปี 1824 การสหกรณ์ไทยที่เริ่มต้นในปี 2457 มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าปฏิเสธทุนนิยม 

ย้อนกลับไปที่ความยากจน จะเห็นว่าการสหกรณ์มุ่งแก้ปัญหาความยากจนในมิติเชิงโครงสร้าง มุ่งแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ในการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิเสรีภาพ คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

อุดมการณ์สหกรณ์โลกก่อเกิดและตั้งอยู่มา 177 ปี อุดมการณ์สหกรณ์ไทยก่อเกิดและตั้งอยู่มา 105 ปี แนวทางปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ (หลักการสหกรณ์สากล) ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ไม่แน่นอน 

หลายสมาคมส่วนหนึ่งของชื่อมีคำว่า สหกรณ์แต่ดำเนินงานตามอุดมการณ์แบบทุนนิยม บางคนสถาปนาว่า สหกรณ์ทุนนิยม ผมฟังธงว่าไม่มีอยู่จริงในโลกทัศน์ของอุดมการณ์สหกรณ์ เพียงแต่ความจริงแล้วสมาคมนั้นไม่ใช่สหกรณ์ เพราะสหกรณ์มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าปฏิเสธทุนนิยม สหกรณ์ที่แท้จริงไม่แสวงหาความมั่งคั่ง แม้จะบันดาลความมั่งคั่งให้กับบรรดาสมาชิกก็ไม่ใช่สหกรณ์

 

สหกรณ์ที่แท้จริงสังเกตไม่ยากครับ เพียงแค่สัมผัสลมหายใจของสหกรณ์แท้ จะพบว่าลมหายใจนั้นเปี่ยมไปด้วย ความร่วมมือ ความเอื้ออาทร ความเท่าเทียม ความยุติธรรม และความผาสุก

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...