วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

สหกรณ์กับปัญหาความยากจน

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 5 : ความร่วมมือคือลมหายใจของสหกรณ์

ตอนที่ 5.1 สหกรณ์กับปัญหาความยากจน 

ถ้าจะกล่าวว่าสหกรณ์เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนก็คงไม่ถูกนัก แต่ถ้าบอกว่าปัญหาความยากจนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการสหกรณ์ก็คงจะไม่ผิด 

เป้าหมายแห่งอุดมการณ์สหกรณ์ คือ การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์จึงมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ในปัจจุบันขบวนการสหกรณ์โลกยังมุ่งเน้นไปในมิติเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปัญหาภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง) และมิติทางวัฒนธรรมด้วย 

ว่ากันด้วยการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ว่ากันเฉพาะเจาะจงด้วยเรื่องความยากจน ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปว่าสหกรณ์แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างไร จะขอเล่าให้ฟังพอสังเขปเกี่ยวกับความยากจนดังนี้ 

ความยากจน (Poverty) มีคนให้ความหมายไว้หลากหลายและกว้างขวางทั้งในระดับสากลและไทย อดอยาก แร้นแค้น อนาถา ล้าหลัง ด้อยพัฒนาเป็นความยากจนด้วยหรือไม่ หลายคนใช้ความรู้สึกวัด หลายคนใช้วิธีการเชิงคุณภาพ (Qualitative Methods) หลายคนใช้วิธีการเชิงปริมาณ (Quantitative Methods) ญาณวิทยา (Epistemology) ต่างกัน กระบวนทัศน์ (Paradigm) ต่างกัน ความยากจนจึงแตกต่างหลากหลายอธิบายให้ครบถ้วนคงเป็นเรื่องยาก ผมจึงขอสรุปเกี่ยวกับความยากจนสั้น ๆ ว่า 

ความยากจนจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ความยากจนที่แท้จริง ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ และความยากจนเชิงโครงสร้าง 

ความยากจนที่แท้จริง คือสภาวะที่ผู้คนไม่สามารถแสวงหาปัจจัยต่าง ๆ มาเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needs) ของตนเองได้ โดยปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม 

ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ เป็นการวัดความยากจนทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยใช้ตัวชี้วัดด้านรายได้ เช่น ช่องว่างความยากจน (Poverty Gap Ratio) ความรุนแรงของปัญหาความยากจน (Severity of Poverty) เส้นความยากจน (Poverty line) สัดส่วนคนจน จำนวนคนจน และ ค่าสัมประสิทธิ์ จีนี่ (Gini coefficient) 

ความยากจนเชิงโครงสร้าง คือการอธิบายสาเหตุแห่งความยากจนจากโครงสร้างด้านต่าง ๆ ของสังคมที่ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำกัน ไม่เท่าเทียมกัน ในการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิเสรีภาพ คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นต้น 

การเกิดขึ้นของ Rochdale Pioneers ในปี ค.ศ. 1844 เพราะชนชั้นกรรมาชีพ ณ ขณะนั้นถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน เพราะนายทุนใช้เครื่องจักรเครื่องกลมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ และต่อรองกับชนชั้นกรรมมาชีพโดยการลดค่าจ้างแรงงาน 

การเกิดขึ้นของสหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ในปี พ.ศ.2459 เกิดขึ้นเพราะเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนามีปัญหาหนี้สินจนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน จากผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์กลายเป็นผู้เช่า ต้นเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนวิถีการผลิตทางการเกษตรจากการผลิตแบบดั้งเดิม (Primitive Cultivation) สู่ผลิตเพื่อการยังชีพ (Subsistence Farming) สู่การผลิตเพื่อการค้า (Intensive Farming) กลไกสำคัญของการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวคือ Bowring Treaty ที่ลงนามในปี พ.ศ.2398 ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับสหราชอาณาจักร 

การปฏิวัติอุตสาหกรรม ค.ศ.1760 สถาปนา ทุนนิยมยุโรป ทุนนิยมโลก” Bowring Treaty พ.ศ.2398 สถาปนา ทุนนิยมไทยเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต การสหกรณ์โลกที่เริ่มต้นจาก Co-operative Magazine ของชมรมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า A London Co-operative Society ในปี 1824 การสหกรณ์ไทยที่เริ่มต้นในปี 2457 มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าปฏิเสธทุนนิยม 

ย้อนกลับไปที่ความยากจน จะเห็นว่าการสหกรณ์มุ่งแก้ปัญหาความยากจนในมิติเชิงโครงสร้าง มุ่งแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ในการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิเสรีภาพ คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

อุดมการณ์สหกรณ์โลกก่อเกิดและตั้งอยู่มา 177 ปี อุดมการณ์สหกรณ์ไทยก่อเกิดและตั้งอยู่มา 105 ปี แนวทางปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ (หลักการสหกรณ์สากล) ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ไม่แน่นอน 

หลายสมาคมส่วนหนึ่งของชื่อมีคำว่า สหกรณ์แต่ดำเนินงานตามอุดมการณ์แบบทุนนิยม บางคนสถาปนาว่า สหกรณ์ทุนนิยม ผมฟังธงว่าไม่มีอยู่จริงในโลกทัศน์ของอุดมการณ์สหกรณ์ เพียงแต่ความจริงแล้วสมาคมนั้นไม่ใช่สหกรณ์ เพราะสหกรณ์มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าปฏิเสธทุนนิยม สหกรณ์ที่แท้จริงไม่แสวงหาความมั่งคั่ง แม้จะบันดาลความมั่งคั่งให้กับบรรดาสมาชิกก็ไม่ใช่สหกรณ์

 

สหกรณ์ที่แท้จริงสังเกตไม่ยากครับ เพียงแค่สัมผัสลมหายใจของสหกรณ์แท้ จะพบว่าลมหายใจนั้นเปี่ยมไปด้วย ความร่วมมือ ความเอื้ออาทร ความเท่าเทียม ความยุติธรรม และความผาสุก

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...