วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

กำไรในระบบสหกรณ์ (ฉบับพอสังเขป)

ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 8 : กำไรในระบบสหกรณ์ (ฉบับพอสังเขป)

        ผมมีความสงสัยใคร่รู้ว่าสหกรณ์เป็นองค์กรแสวงหากำไรอย่างองค์กรธุรกิจอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือไม่ จึงได้ศึกษาหาความรู้ พอสังเขปดังนี้

ในทางเศรษฐศาสตร์ “กำไร” หมายถึง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นเนื่องจากการนำ “รายได้รวม” กับ “ค่าใช้จ่ายรวม” ซึ่งมักจะเรียกอย่างเป็นทางการว่า “กำไรสุทธิ” ของธุรกิจ

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของ Marx ในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” อธิบายเกี่ยวกับ ทฤษฎีมูลค่าส่วนเกิน ว่า การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานขึ้นจากระดับต่ำสุดนั้น ทำให้เกิดส่วนเกินเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นทุกช่วง และเมื่อใดก็ตามที่มีผลผลิตส่วนเกินขึ้นมาก็หมายความว่ามนุษย์สามารถผลิตได้มากกว่าที่ตนจำเป็นต้องบริโภค และดังนั้นก็จำต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อต่อสู้กันว่า ส่วนเกินที่เกิดขึ้นนี้จะถูกแบ่งกันอย่างไร มูลค่าส่วนเกินจะเท่ากับมูลค่าแรงงานที่ถูกสร้างขึ้นมาเกินไปจากต้นทุนที่ตัวแรงงานได้รับ เป็นวิธีของนายทุนที่จะแสวงหากำไรจากการขายสินค้า

จากสมการ กำไร = รายได้ - รายจ่าย ฉะนั้นถ้าอยากมีกำไรมาก ๆ ก็ต้องลดต้นทุนให้ต่ำลงที่สุด แต่การลดต้นทุนนั้นจะเป็นหนทางไหนอย่างไร จะยุติธรรม เป็นธรรมหรือไม่ ก็แล้วแต่อุดมการณ์ของผู้ประกอบกิจการ

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 "สหกรณ์" หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกสหกรณ์ผู้มีสัญชาติไทย โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

แล้วกำไรในระบบสหกรณ์เป็นอย่างไร

อาบ นคะจัด (2536) อธิบายว่า สหกรณ์คือองค์กรธุรกิจประเภทหนึ่งในระบบเศรษฐกิจการตลาดของประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับหุ้นส่วนและบริษัท ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ องค์การธุรกิจนิติบุคคลตามกฎหมายสหกรณ์ต่างจากองค์กรธุรกิจตาม ป.พ.พ. ในเรื่องสำคัญคือ วัตถุประสงค์และหลักการขององค์การธุรกิจต่างกัน และตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ต่างกัน สหกรณ์มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันส่วนวัตถุประสงค์ของหุ้นส่วนและบริษัทคือ ประสงค์จะแบ่งกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นแม้กฎหมายสหกรณ์จะกำหนดเรื่องการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ แต่คำว่ากำไรสุทธิที่บัญญัตินั้นเป็นเพียงคำศัพท์ทางการบัญชี ไม่ใช่กำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 เพราะในสหกรณ์เจ้าของและลูกค้าคือบุคคลคนเดียวกัน ราคาสินค้าและบริการที่สหกรณ์กำหนดขึ้น คือค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สหกรณ์เรียกจากสมาชิก เมื่อสิ้นปีการบัญชี หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว มีเงินเหลือจ่ายสุทธิ (กำไรสุทธิ) เท่าใด จึงต้องจัดสรรตามกฎหมายสหกรณ์

ทั้งนี้กฎหมายสหกรณ์ มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง การบริหารจึงต้องดำเนินการโดยสมาชิกตามวิถีทางประชาธิปไตย อันเป็นการวางรากฐานของระบบเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ มาตรา 45 และมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์โดยรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์

นุกูล กรยืนยงค์ (2554) อธิบายว่า สหกรณ์มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นตรงที่การรวมตัวกันของประชาชนเพื่อ ก่อตั้งสหกรณ์ และนำเงินมาลงทุนร่วมกันนั้น มิใช่เพื่อทำการค้ากับบุคคลอื่น หากแต่เป็นเพราะต้องการใช้สินค้าหรือบริการนั้นสำหรับตนเองเป็นประการสำคัญ มุ่งให้บริการแก่สมาชิกเป็นหลัก เป็นการสร้างประโยชน์ขึ้นแก่ตนเอง บริการตนเองโดยการร่วมกันทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เป็นการเรียกร้องจากผู้อื่น สหกรณ์ผู้บริโภคไม่จำเป็นที่จะต้องแสวงหาผลกำไรจากการทำธุรกิจ เนื่องจากทั้งเจ้าของและผู้ใช้บริการ (ลูกค้า) เป็นคนเดียวกัน หรือในกรณีที่เป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อการผลิตโดยมีสมาชิกเป็นเจ้าของและผู้ใช้แรงงาน ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่เจ้าของจะเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานเพราะเป็นคนเดียวกัน ไม่ว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะตกแก่เจ้าของ หรือแรงงาน ก็ย่อมเป็นของคนเดียวกันทั้งหมด

กำไรเป็นของสมาชิก (ไม่ใช่ของสหกรณ์) เนื่องจากสหกรณ์มีเป้าหมายหลักในการทำธุรกิจกับสมาชิก และมักใช้นโยบายราคาตลาดด้วยเหตุผลสำคัญ คือการหลีกเลี่ยงสงครามราคา ดังนั้น "กำไร" จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการดำเนินงานตามปกติ ของสหกรณ์ และถือว่าเป็นของสมาชิกทุกคนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ ผู้ที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์มากก็มีส่วนทำให้เกิดผลกำไรมากตามส่วน ดังนั้น สหกรณ์จึงมีวิธีการคืนกำไรนั้นกลับไปให้สมาชิกตามส่วนของการใช้บริการ โดยให้ที่ประชุมใหญ่ของบรรดาสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาตัดสินใจ

มูลค่าหุ้นของสหกรณ์จะคงที่ ไม่มีขึ้นลงเป็นมูลค่าเดียวกับมูลค่าที่ตราไว้ แต่จำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายจะไม่มีจำนวนจำกัด เนื่องจากหุ้นของสหกรณ์ไม่ใช่เงินลงทุนที่ใช้แสวงหาผลประโยชน์ แต่เป็นการลงทุนเพื่อผูกพันสมาชิกกับสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นเจ้าของและเพื่อให้ได้สิทธิในการใช้บริการในสหกรณ์ในฐานะสมาชิก

เงินทุนที่ได้จากสมาชิกในฐานะผู้เป็นเจ้าของกิจการ มีหน้าที่อย่างเดียวคือให้ดอกเบี้ยแก่สมาชิกในฐานะผู้ลงทุน และจะมีอัตราจำกัดเพียงเพื่อชดเชยค่าเสียโอกาสของเงินทุนดังกล่าว ด้วยเหตุที่สหกรณ์ให้ความสำคัญแก่การใช้บริการมากกว่าการลงทุนอย่างไรก็ตามในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจสหกรณ์อาจมีทุนจากแหล่งอื่น ๆ หรือในลักษณะอื่น ๆ ที่ต้องให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ยจ่าย) สูง ในระดับเดียวกับอัตราตลาด ซึ่งเป็นการจัดหามาเพื่อความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ เป็นการดำเนินธุรกิจทั่วไป จึงไม่ถือเป็นเงินทุนจากสมาชิกในฐานะเจ้าของ แม้ว่าจะได้มาจากสมาชิกก็ตาม เช่น เงินฝากที่สมาชิกฝากไว้กับสหกรณ์ ซึ่งเป็นเงินทุนของสหกรณ์ที่มีสมาชิกอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ ไม่ใช่ในฐานะเจ้าของ 

          ผมคงไม่อาจสรุปได้แบบเบ็ดเสร็จนะตอนนี้ เนื่องด้วยประสบการณ์และความรู้ยังน้อยนิดต้องเร่งศึกษา เมื่อเติบใหญ่จะได้มีวิชาไว้ทำงานเป็นที่พึ่งพาของประชาชน แต่ก็เชื่อเกินร้อยละ 99 แล้วครับว่า สหกรณ์ไม่ใช่องค์กรทางเศรษฐกิจที่แสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่เป็นองค์กรทางเศรษฐกิจที่มุ่งให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก ตามอุดมการณ์ หลักการ วิธีการ และคุณค่าสหกรณ์ เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข มุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เป้าหมายไม่ใช้การสั่งสมกำไรส่วนเกินเพื่อความมั่งคั่ง แต่มุ่งสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ พึ่งพากันเองได้ ในลักษณะที่เป็นธรรม และผาสุก

แม้จะมีการตอบข้อหารือ ข้อวินิจฉัย ของหน่อยงานต่าง ๆ ว่า สหกรณ์เข้าข่ายเป็นองค์กรแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ แต่นั้นก็เป็นเพียงการตีความตามกฎหมาย มิใช่การสรุปว่าสหกรณ์เป็นองค์กรที่แสวงหากำไรทางธุรกิจ อย่างเช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจทั่วไปในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง:

1. https://th.wikipedia.org/wiki/มูลค่าส่วนเกิน

2. นุกูล กรยืนยงค์. 2554.  หลักและวิธีการสหกรณ์ Co-operative Principles and Practices.  เอกสารประกอบการบรรยายวิชาหลักและวิธีการสหกรณ์.

3. พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542

4. อาบ นคะจัด.  2536.  คำอธิบายกฎหมายสหกรณ์ในฐานะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเกษตรและสถาบันเกษตรกรโดยย่อ.  สถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก)

5. อำไพ รุ่งอรุณ.  2519.  ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเฌศ.

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...